สิ่งมีชีวิตข้างถนน..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 พฤษภาคม 2010 เวลา 0:56 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1267

วันนี้เดินทางจากมุกดาหารเข้าเมืองขอนแก่น ระหว่างทางแวะฉี่ขอบป่าข้างถนนเขต อ.คำชะอี


ระหว่างทำธุระนั้นหูผมได้ยินเสียงกรอบแกลบ จนรู้สึกได้ว่าเหมือนมีการเดินบนใบไม้แห้ง ผมเดาออกว่าน่าจะมีสัตว์ตัวเล็กๆเดินที่พื้นตามใบไม้แห้ง เพราะเคยมีประสบการณ์ปลวกกินใบไม้แห้งเสียงดังคล้ายๆกัน เมื่อเสร็จธุระก็ก้มมองที่พื้น และบริเวณรอบๆ โอ้ โห….เต็มไปหมดเลย

เจ้าหนอนกระดืบ กระดืบ ตามใบไม้ที่พื้นและตามต้นไม้ทุกต้น ผมกระโดดโหยง..รีบไปที่รถคว้ากล้องมาถ่ายเก็บไว้ ถ่ายไปก็กระโดดโหยง โหยง เพราะสยิวหากเขากระโดดมาเกาะขากางเกง

เดาเอาว่า ฝนตกใหม่ๆต้นไม้ผลิใบไม้อ่อนออกมา เจ้าหนอนเหล่านี้มีอาหารก็เดินขบวนไปราชประสงค์ เฮ้ย…เดินขบวนมากินเลี้ยงใบไม้อ่อนกัน อิอิ


กรณีการรับนักศึกษาพยาบาลโควตา..

23 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 พฤษภาคม 2010 เวลา 23:04 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 723

“…..การจะรับนักศึกษาพยาบาลในโควตาดีเด่น ด้านการเป็นผู้นำ และจิตอาสา จะกำหนดจุดตัดสินอย่างไรดีค่ะ หากต้องหาจุดที่ชัดเจน ที่คิดไว้คือ มีคำรับรอง มีหลักฐานเชิงประจักษ์ค่ะ…”

ข้าเจ้าขอออกตัวว่าเป็นผู้รู้เรื่องน้อย แต่ขอแสดงความคิดเห็นบ้าง

  1. การรับนักศึกษาพยาบาลในโควตาดีเด่น….”จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติด้านการเป็นผู้นำ และจิตอาสา” ….. ก่อนจะไปรายละเอียด ต้องถามต่อว่ามีคุณสมบัติอะไรอีก ที่เป็นที่พึงประสงค์ของการเป็นพยาบาลที่ดี เช่น มีจิตใจเอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารี ฯลฯ กำหนดมาให้ครบถ้วนตามต้องการ อย่าลืมคุณสมบัติพยาบาลในสายตาชาวบ้านด้วย
  2. หากกำหนดคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว ก็หาผู้เข้าใจเรื่องนี้ อธิบายคุณสมบัติ นั้นๆให้ละเอียดยิบว่าเป็นเช่นไร เช่นการเป็นผู้นำนั้นในความหมายของการเป็นพยาบาลต้องการการเป็นผู้นำนั้นรายละเอียดคืออะไร….จิตอาสา รายละเอียดคืออะไร ฯลฯ
  3. เมื่อได้ครบถ้วน ก็จัดทำเป็นแบบสำรวจคุณสมบัติดังกล่าวให้ครบถ้วนทุกด้าน แล้วให้ผู้สนใจเอาใบรับสมัครนี้ไปศึกษาแล้วเขียนสมัคร ให้ผู้ปกครองลงนามด้วย อีกใบสมัครหนึ่งให้ผู้นำชุมชนเป็นผู้กรอกแบบสำรวจนั้นด้วย และให้แสดงความจริงใจในการตอบนั้นๆ
  4. ในแบบสำรวจนั้นควรที่จะมีแบบอัตนัยให้แสดงความคิดเห็นด้วย
  5. ทั้งข้อ 2 และข้อ 3 นั้นอาจเกิดการเบี่ยงเบนได้ เช่น ใช้อิทธิพลกรอกแบบสำรวจนั้นๆเพื่อให้ลูกหลานเข้ามาเรียน ซึ่งก็อาจมีเหตุการณ์นี้จริงๆ เพราะสังคมไทยมีภาพนี้อยู่ในทุกจุดจริงๆ
  6. มีอีกขั้นตอนหนึ่งคือ หลังจากที่ทุกคนส่งใบสมัครตามนั้นแล้ว สถาบันเอามารวบรวมแล้วจัดกลุ่มตามความเหมาะสมเช่น กลุ่ม A ดีเยี่ยม กลุ่ม B น่าสนใจ กลุ่ม C รอการพิสูจน์
  7. เมื่อได้กลุ่มผู้สมัครดังข้อ 6 แล้ว ก็จัดทีมงานออกไปสัมภาษณ์ในพื้นที่โดยตรงเลย ไปดูของจริงของครอบครัว พูดคุยกับเจ้าตัว พูดคุยกับญาติพี่น้อง พูดคุยกับเพื่อนบ้าน พระ ครู ผู้นำ ฯลฯ (พิจารณาเอาตามความเหมาะสม) ทั้งนี้เพื่อประเมินภาพจริงของผู้สมัครบุคคลนั้นๆ
  8. เอาข้อมูลทั้ง ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 7 มาประชุมแล้วลงมติการคัดเลือกโดยพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดดังกล่าว

รายละเอียดนี้มีการจัดทำแล้วในกรณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คัดเลือกนักศึกษาโควตาเข้าเรียนพิเศษ….

ผู้ที่คัดเลือกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองและคณะ สมัยนั้นผมทำงานในพื้นที่ชนบทตามหมู่บ้านชายแดนไทยที่จังหวัดสุรินทร์ และเห็นการทำงานแล้วทึ่งต่อการเอาจริงเอาจังในการคัดเลือกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เด็กดีจริงๆ


แด่น้องอึ่ง..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:55 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1330

พอฝนตกลงมา อาหารธรรมชาติของพี่น้องอีสานก็มีมากมาย

นี่คือน้องอึ่ง ที่มีวางขายในตลาดราตรี มุกดาหาร

ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ขาดตัว

ถามว่าเอาไปทำอะไรกิน อ้าวพี่น้องอีสานตอบหน่อย…..


วิเคราะห์ เฮงซวย..

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 เวลา 0:38 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1249

บ่อยครั้งที่เราได้ยินคนพูดว่า ร้องเพลงคนละคีย์ เล่นเพลงคนละคีย์

บ่อยมากๆ นั่งฟังพระเทศน์แล้วไม่รู้เรื่อง เพราะพระท่านพูดคนละภาษากับผู้ฟัง อธิบายได้คือ พระท่านเอาหลักธรรมมาเทศน์ ที่มีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าปุถุชนจะฟังเพียงผ่านหูเท่านั้นแล้วเข้าใจ คำบางคำอาจจะต้องปฏิบัติเป็นแรมปีจึงจะเข้าใจลึกซึ้งถึงความหมายนั้นๆ เช่น มหาสติปัฏฐาน 4 (การเห็นกายในกาย การเห็นเวทนาในเวทนา การเห็นจิตในจิต และการเห็นธรรมในธรรม)
ยกตัวอย่าง การพิจารณาให้เห็น เวทนา ในเวทนา หมายถึง เข้าใจในเวทนาจริงๆอย่างถูกต้อง เห็นเวทนาตามความเป็นจริงไม่ถูกครอบงําโดยกิเลส หรือทิฎฐุปาทาน(ยึดมั่นในความเชื่อของตนเองอย่างผิดๆ)
เห็นว่าสักแต่เพียงกระบวนการทางธรรม(ชาติ)เป็นปกติอย่างนี้ตลอดกาล เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ไปยึดมั่นหรือถือมั่นให้เป็นอุปาทานในเวทนาหรือการเสพรสความรู้สึกรับรู้ ในอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นนั้น (ข้อมูลจาก www.kammatan.com)

ถามว่าการที่ปุถุชนคนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ เดินไปทำบุญที่วัดแล้วพระท่านพูดว่า “ให้ญาติโยมมั่นพิจารณา เวทนาในเวทนานะ…” เราจะเข้าใจไหม ผมเชื่อว่ามีน้อยคนนักที่จะเข้าใจ ตรงนี้เองที่ผมเรียกว่า พูดกันคนละภาษา เล่นเพลงคนละคีย์

ผมเรียนหนังสือกับท่านอาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี สมัย มช.ปี 2512 นั้น ท่านเพิ่งกลับมาจากนอก และกำลังดังเป็นพลุแตก เข้ามาสอนวิชา Art appreciation เดือนแรกฟังท่านไม่รู้เรื่องเลย อะไรโลกิยะ อะไรโลกุตระ จนพวกเราเรียก Art อัปรีย์ อิอิ

การที่พระคุณเจ้าเอาสาระของมหาสติปัฏฐาน 4 มากล่าวนั้น ท่านกล่าวด้วยฐานของท่านที่มีความรู้ ความเข้าใจ มากกว่าปุถุชน กล่าวในฐานที่ท่านพัฒนาจิตไปนั่งอยู่ในสภาวธรรมนั้นๆ คำพูดของท่าน สาระของท่านจึงอยู่เหนือคนทั่วไปจะเข้าใจท่านได้

เช่นเดียวกับท่านอาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี ท่านศึกษาและปฏิบัติด้านโลกุตระธรรมมามากมายจนจิตท่านขึ้นไปแขวนลอยอยู่ที่ตรงนั้น สิ่งที่ท่านพูด ทำ คิด อ่าน จึงมีภาษาออกมาที่อยู่บนฐานของธรรมที่ท่านสถิตที่ตรงนั้น ดูได้จากงานของท่าน

แน่นอนท่านอาจารย์ ดร.โสรีย์ ท่านรู้ เข้าใจ ปฏิบัติ ฝึกฝนจิตสำนึกของท่านในทางปรัชญาธรรมมากกว่าเราๆ ท่านๆ หลายคำที่ท่านแสดงความเห็น เราจึงต้องตั้งสติ ฟังอย่างโยนิโสมนสิการ แต่กระนั้นมิอาจเข้าใจได้ทั้งหมด ต้องฟังซ้ำ ขอคำอธิบายเพิ่มเติม และเหมือนท่านควบคุมสติให้นิ่งสงบอยู่ในมิตินั้น จึงไม่ง่ายนักที่เราจะเข้าใจท่าน

เมื่อเราใช้มิติของปุถุชนไปสอบถามท่าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่ท่านอยู่ในมิตินั้นๆ ท่านอาจจะรำคาญกับคำถามแบบนี้ ท่านย่อมกล่าวคำที่ไม่เสนาะหูออกมา ด้วยความที่เป็นศิลปิน ภาษาที่ใช้จึงบาดหู ที่ในชีวิตปกติเราไม่ค่อยได้ยินคำนี้บ่อยนัก ผมเองพยายามปรับตัวตั้งนานกว่าจะพยายามเขย่งตัวเองขึ้นไปฟังสาระในคำกล่าวต่างๆของท่าน

คนพูดพูดด้วยคีย์หนึ่ง คนฟังฟังด้วยอีกคีย์หนึ่ง

นั่นคือ ป้าหวานอยู่ในคีย์หนึ่ง ขณะที่อาจารย์ขึ้นไปอยู่ในอีกคีย์หนึ่ง

ความต่างตรงนี้เองที่เป็นที่มาของคำว่า..เฮงซวย.. หากผมเป็นคนพูดคำถามนั้น ผมก็โดน เฮงซวย เป็นสองเท่า..


ร้อน แล้วก็ฝน..

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 เวลา 21:34 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 728

วันนี้ที่ขอนแก่น ร้อนตับแตกตั้งแต่เช้ายันเที่ยง

(ความร้อนในรูปนี้ถ่ายเมื่อวาน ไม่ใช่วันนี้)

พอบ่าย ฟ้าเริ่มมีเมฆฝน มากขึ้น มากขึ้น


มองไปทางทิศใต้ เหมือนฟ้าปิด ฝนกระหน่ำไกล ความร้อนกลับเย็นลงเหลือ 32 องศา แล้วฝนก็ตกลงมา แต่ไม่มากอย่างที่คาดคิด


สงสัยลูกนี้ถล่มสวนป่า อย่างข่าว “คอน”


Walk through learning (WTL)สวนป่า

432 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 เวลา 21:22 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 11459

ผมชอบกิจกรรมเดินสวนป่าที่พ่อครูบาฯเป็นผู้นำ กลุ่มผู้สนใจเดินตาม จะหยุดเป็นช่วงๆ แล้วพ่อครูบาก็แนะนำพืชนั้นๆ และความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกัน

ผมนึกถึง Walk through Survey (WTS) ซึ่งเป็นเทคนิคชนิดหนึ่งของ กระบวนการมีส่วนร่วมประเมินสภาพชุมชนชนบทแบบเร่งด่วน Participatory Rapid Appraisal หรือ PRA ที่เราใช้สำหรับสำรวจสภาพพื้นที่โดยรวมของชุมชน หรือพื้นที่เป้าหมายที่เราจะเข้าไปทำงานว่ามีสภาพด้วยตาประจักษ์นั้นเป็นเช่นใด แล้วจัดทำเป็นรายงานระดับต่างๆขึ้นมา

สาระสำคัญของ WTS ใน PRA นั้นคือการค้นหา Key informance (KI) ในชุมชนนั้นๆที่เป็นผู้รู้เรื่องชุมชนดีที่สุดและเข้าใจลักษณะสภาพทางกายภาพของพื้นที่ชุมชนทั้งหมด ซึ่งอาจจะมากกว่า 1 คนแล้วพากันเดินดูสภาพชุมชนทั้งหมด โดยมี KI เป็นผู้อธิบายเรื่องราวทุกเรื่องที่เดินผ่านไปแต่ละก้าว ทีมงานจะซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญมากที่สุด แล้วทำการบันทึกไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้อาจทำแผนที่แบบต่างๆทางกายภาพประกอบด้วย อาจถ่ายรูป อาจวาดภาพประกอบ ฯ

ข้อมูลที่ได้มานั้น ทีมงานจะนำมารวบรวมไว้ จัดหมวดหมู่ความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลนั้นๆ และอาจจะนำไปสู่การสังเคราะห์ เพื่อให้เห็นศักยภาพ จุดเด่น จุดด้อย และอื่นๆที่มีคุณค่าต่อองค์ความรู้และการนำไปใช้ประโยชน์ โดยมากทีมงานที่จะทำ WTS นั้นจะเป็น Multi disciplinary ทั้งนี้เพื่อให้ทีมงานแต่ละด้านใช้ความถนัดของตัวเองเจาะข้อมูลที่สำคัญๆออกมา เพื่อความสมบูรณ์
ในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ต่อไป

สวนป่าอาจจะดัดแปลงมาใช้ได้ ประเด็นคือ ต้องมีผู้ที่มีความรู้ เข้าใจและเคยใช้ WTS มาช่วยจัดทำ Session design ซึ่งก็จะขึ้นกับการกำหนดเป้าหมายว่าการเดินครั้งนี้เพื่ออะไร คาดหวังมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราสามารถจะ design ออกมาได้ และในกรณีที่พ่อครูเป็น KI เพราะเป็นเจ้าของสวนป่า แต่อาจจะมี Facilitator หรือกระบวนกร ช่วยเสริมในการขยายความ ตั้งประเด็นคำถาม กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฯลฯ

เมื่อสิ้นสุด WTL อาจจะจัดการแบ่งกลุ่ม โดยให้โจทย์แต่ละกลุ่มอาจจะเหมือนกันหรือต่างกันก็แล้วแต่เพื่อให้ทำการสรุป ยกตัวอย่าง

กลุ่มที่ 1 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อพืชที่พบที่สามารถกินได้ พืชสมุนไพร พืชอาหารสัตว์ ฯลฯ
พร้อมเอาใบพืชนั้นมาแสดงด้วย

กลุ่มที่ 2 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้วาดแผนที่ และสิ่งสำคัญที่พบทั้งหมดตลอดเส้นทางที่เดิน

กลุ่มที่ 3 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อพืชไม้ยืนต้นที่เอาไปใช้ประโยชน์ต่างๆได้ พร้อมเอาใบพืชนั้นมาแสดงด้วย

กลุ่มที่ 4 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อสัตว์ทุกชนิดที่พบ คุณค่า อันตราย พร้อมเอาหลักฐานเช่น ขน รูป หรือวาดรูป ตำแหน่งที่พบ แสดงด้วย
ฯลฯ


การแบ่งกลุ่มอาจจะแบ่งก่อน walk through ก็ย่อมได้ แล้วแต่วัตถุประสงค์

วิทยากร หรือพ่อครูบา อาจจะพูดให้น้อยที่สุด แล้วให้ กลุ่มต่างๆนั้นซักถามเพื่อเขาจะได้ความรู้แล้วเอาไปรวบรวมตามโจทย์ที่มอบหมายให้ ฯลฯ สารพัดที่จะดัดแปลงให้เกิดการเรียนรู้

หากจะเอาหลักการของท่านไร้กรอบ ที่จอมป่วนเอามาพูดบ่อยๆว่า Learn how to learn นั้นอาจจะเน้น
ดัง diagram นี้

คือมอบโจทย์ให้แล้วแต่ละกลุ่มหาคำตอบเอง ไปเรียนรู้เอง ไปหาข้อมูลเอง ไปสัมผัสเอง

การกระทำ walk through learning แบบนี้เป็นการใช้กระบวนการเรียนรู้มาช่วย แทนที่พ่อครูจะเดินเล่า อธิบายไปเรื่อยๆ โดยมีคนเดินตามจำนวนมากไม่ได้สนใจ ไม่ฟัง เมื่อเดินจบอาจไม่ได้เรียนรู้อะไร เท่าไหร่นัก ยกเว้นคนที่สนใจจริงๆ

โจทย์ อาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ให้กลุ่มหนึ่งไปเรียนรู้เรื่องราวของวัว.. ไก่ต่างๆในสวนป่า ฯ และให้เขาไปหาความรู้เอง อาจจะแนะบ้างว่าไปหาความรู้ได้ที่ไหนบ้าง กรณีวัวนั้น พ่อครูอาจเอาคนเลี้ยงวัวในสวนป่าเป็นครู แทนพ่อครู เป็นการใช้ทรัพยากรคนในสวนป่าเพิ่มขึ้นอีก พ่อครูค่อยมาเติมเอาทีหลัง

ตอนกลุ่มมาสรุปที่สนุกคือ ระหว่างการเรียนรู้ให้เก็บหลักฐานมาแสดงด้วย เช่น ใบไม้ทุกชนิดที่เรียนรู้มา เปลือกไม้ กิ่งไม้ หรือวาดรูปมา หรือถ่ายรูปมา หรือ ฯ…. เอาหลักฐานเหล่านี้มาติดที่กระดาษให้เป็นหมวดหมู่ หรือแล้วแต่กลุ่มจะออกแบบเอง…

การสรุปนั้นควรที่จะเน้นดังนี้

  • ความรู้ที่ได้
  • ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเดิน จากการสัมผัส จากการพบปะ ฯ
  • กระบวนการเรียนรู้มีกี่วิธี แต่ละวิธีเป็นอย่างไรบ้าง จะโน้มนำไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร
  • เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับระบบนิเวศ ป่า พืช พืชและสัตว์ คน-พืช-สัตว์-ป่า ฯลฯ
  • การเรียนรู้เป็นกลุ่มเป็นเช่นไรบ้าง
  • ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่สามารถสร้างสรรค์ ดัดแปลงได้มากมายโดยเฉพาะท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ ศิลปินแบบออต หรือนักคิดสร้างสรรค์ต่างๆ แล้วแต่วัตถุประสงค์ แล้วแต่เงื่อนไขวันนั้นๆ ฤดูกาลนั้นๆ องค์ประกอบของทีมผู้สนับสนุน ฯลฯ

สวนป่ายังเล่นอะไรได้อีกมากมายครับ..


เดี้ยง..

18 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤษภาคม 2010 เวลา 21:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1270

เมื่อวันที่กลับมาจากสวนป่านัดกันว่าคนข้างกายจะต้องไปพบทันตแพทย์ แต่ก็เลื่อนไปเพราะเธอต้องไปงานสวดศพที่อุดร กลับมาจนดึกดื่นก็มานั่งเร่งเขียนรายงานให้ ITTO อีก

วันเสาร์ทั้งวันก็เร่งเขียนอีก ตกกลางคืนได้เรื่องเลย

สักสองทุ่ม เธอจะเดินไปอาบน้ำ แล้วก็เกิดมึนหัว แบบบ้านหมุน และปวดหัวมากๆจนร้องโอดโอย อยากอาเจียน อยากเข้าห้องน้ำวุ่นวายไปหมด ผมก็ตกใจ…


เมื่อหลายสิบปีก่อนที่เชียงใหม่ เราพักที่โรงแรมแถวช้างเผือก เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แบบว่าขยับตัวไม่ได้ จะเวียนหัวจนทนไม่ไหว จะอาเจียน ต้องไปเอานายแพทย์มาดูที่ห้องพัก นายแพทย์ก็ดีเหลือเกินหิ้วร่วมยามาดูจนหายปกติ


อาการแบบนี้หายไปนานมาเกิดขึ้นอีกเมื่อคืนก่อน ผมโทรหาเพื่อนที่เป็นแพทย์ก็ไม่ได้ จึงโทรไปปรึกษาแพทย์ที่ขอนแก่นราม เพราะเราสนิทกับคุณหมอที่นั่นสมัยคุณแม่เป็นคนไข้ที่นั่นหลายปี หมอไม่อยู่เวร จึงตัดสินใจเรียนรถ Ambulance มารับ กว่าจะเอาตัวลงจากชั้นสองได้เล่นกันทุลักทุเลเพราะเธอขยับไม่ได้ อาเจียนตลอด


เลยได้นอนที่โรงพยาบาล ได้ยาฉีดแก้อาเจียน ให้น้ำเกลือ ค่อยยังชั่ว

เช้ามาคุณหมออรทัย เจ้าประจำมาดูอาการก็ทักว่าเคยเป็นมาใช่ไหม เอาหละ โปแตสเซี่ยมต่ำ น้ำในหูผิดปกติ ต้องดูอย่างละเอียดอีกที นอนให้น้ำเกลือและยาต่างๆก็ดีขึ้น โอย ผมกลายเป็นบุรุษพยาบาลไปแล้ว.. วันนี้ออกจาก รพ.แล้วกลับมานั่งตาแป๋วอยู่ที่บ้านแล้ว อิอิ


น่ากลัวอาการแบบนี้นะครับ เพราะเธอช่วยตัวเองไม่ได้เลยช่วงที่บ้านหมุน ปวดหัว แบบขยับไม่ได้ คุณหมอแนะนำให้นอนหลับตาเท่านั้น พักเฉยๆ หากปวดหัวก็ต้องทานยาแก้ปวด แล้วเมื่อพอเคลื่อนไหวได้ก็ไปพบแพทย์ ซึ่งต้องมีคนช่วยช่วงที่มันเป็นขึ้นมา….นี่คือสิ่งที่ต้องวางแผนในอนาคต..หากผมไม่อยู่แล้วเธอเป็นขึ้นมาก็ยุ่ง..

สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญนะพี่น้อง หมอตา ป้าหวานเตือนพวกเราเสมอ เอาใจใส่สุขภาพกันหน่อย

ระหว่างเธอนอนที่ รพ.ผมก็ถือโอกาสถ่ายรูปขอนแก่นในมุมต่างๆมาให้ดูกันครับ..


สัตว์ประหลาดที่สวนป่า

196 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤษภาคม 2010 เวลา 15:18 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4316

สมัยที่ทำงานกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง นครสวรรค์นั้น เราเข้าป่าไปดูความอุดมของป่า ผมเองพบเห็นทั้งพืช สัตว์หลายชนิดแบบไม่เคยเห็นมาก่อน นักป่าไม้อธิบายเป็นฉากๆ คุณหมอแผนใหม่และแผนโบราณต่างพูดตรงกันว่า ความอุดมของป่าคือสุขภาพของมนุษย์ เพราะยังมีพืชพันธุ์ไม้ป่าอีกจำนวนมากที่เรายังไม่ทราบสรรพคุณทางยาของเขา หากป่าหมด ความอุดมเหล่านี้ก็หมด อันตรายของมนุษย์ก็เข้าสู่วิกฤตอีกมุมหนึ่งด้วย


ผมยอมรับความจริงนี้ และตระหนัก สำนึกในการปลูกป่าเป็นยิ่งนัก การอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของป่านั้นมีคุณค่ามากมายที่เราคิดไม่ถึง สมกับคำกล่าวว่า “ป่าอยู่ได้โดยไม่ต้องมีคน แต่คนอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีป่า” เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการไทยก็เดินทางเข้าป่าทั้งไทย ลาว เขมร เวียตนาม เพื่อค้นหาพืชชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางรักษาโรคมะเร็ง เขาต้องการค้นหาว่าพืชชนิดนี้มีกี่สายพันธุ์ อยู่ที่ไหนบ้าง ธรรมชาติของเขาเป็นเช่นไร และพืชชนิดนี้ ต่างสถานที่กันจะมีคุณสมบัติทางยาแตกต่างกันอย่างไร มากน้อยแค่ไหน..


เย็นวันที่เราประชุมกันนั้น พอตกค่ำก่อนหยุดประชุม คุณคอน พาผมไปดูสัตว์ประหลาดตัวนี้ ซึ่งเกาะอยู่ที่เสาโรงงานปั้นอิฐใกล้ที่เรานั่งประชุมนั้นเอง ค่ำแล้วถ่ายได้ไม่ชัด รุ่งเช้าก่อนเดินทางกลับ ผมจึงย่องไปถ่ายรูปใหม่

เดาเอาว่าเป็นแมลงชนิดหนึ่ง ธรรมชาติของเขาจะสร้างเกราะกำบังตัวอ่อนที่อยู่ภายใน ก็กลายเป็นสองชั้นไป ความปลอดภัยสูงมากขึ้น


มหัศจรรย์ชีวิต มหัศจรรย์ธรรมชาติ นี่ถ้าเป็นนักกีฏวิทยาคงมานั่งนอนที่โรงปั้นอิฐนี่เพื่อเฝ้าศึกษาวงจรชีวิตสัตว์แปลกหน้าตัวนี้นะครับ


ประชุมย่อยเฮฮาศาสตร์

516 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤษภาคม 2010 เวลา 10:26 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 9191

บ่ายวันนั้น พ่อครูกล่าวว่าสวนป่าวันนี้มากันมากหน้าหลายตาอยากจะประชุมปรึกษาหารือกัน ทุกคนก็เห็นด้วย หลังจากที่มอบหมายงานให้ทีมงานอ.โสรีย์แล้ว คอน ก็หิ้วเก้าอี้ไปก่อนเพื่อนเลย เดินสวนทางกับผมก็บอกว่าเดี๋ยวประชุมกันที่โรงปั้นอิฐ เอาเก้าอี้มาด้วยคนละตัว


สักพักใหญ่ๆ ประมาณ 5 โมงเย็น ทุกคนก็หอบหิ้วเก้าอี้ไปนั่งล้อมวงที่ลานหน้าโรงปั้นอิฐชายป่า ห่างไกลจากบ้านพักและทีม อ.โสรีย์พอสมควร ความที่ใครต่อใครก็เอาเก้าอี้มาฝากเพื่อนๆด้วยพบว่าเก้าอี้เกิน อิอิ.. ผมนับดูมี 14 คนรวมทั้งผมด้วย

นั่งมองหน้ากัน ก็ยังไม่มีใครพูดอะไร ต่างจับคู่คุยส่วนตัวกัน ผมก็เลยเอ่ยขึ้นมาว่า หากไม่มีประเด็นผมก็เสนอว่า ลองที่ประชุมนี้ให้มุมมองสถานการณ์เฮฮาศาสตร์ปัจจุบันนี้หน่อยว่า แต่ละคนคิดเห็นเช่นไรบ้าง ผมเองประสงค์ว่าต่างมุมมองอาจจะช่วยให้เราเห็นเฮฮาศาสตร์ในภาพรวมๆปัจจุบันของเรามากขึ้น และจะบ่งบอกถึงกลุ่มในหลายเรื่องในอนาคต

ยังไม่มีใครกล่าวอะไรในประเด็นนี้ พอดีพ่อครูก็เอ่ยขึ้นมาว่า กลุ่มเรามีเฮย่อยๆหลายครั้ง มีพวกเราไปกันมากบ้างน้อยบ้าง บางคนจะรู้สึกอะไรบ้างไหม ? ผมฟังแล้วรับรู้ได้ว่าพ่อครูเป็นห่วงความรู้สึกลูกหลานทุกคน..

หลายคนในที่ประชุมพิเศษแห่งนี้ต่างก็กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า คงไม่มีใครน้อยเนื้อต่ำใจอะไรหรอก เพราะแต่ละคนก็มีเงื่อนไขเฉพาะ ไม่สามารถลงตัวไปร่วมเฮได้ทุกแห่ง เพราะพวกเฮมีหลากหลายอาชีพ หน้าที่การงาน …

ประเด็นต่อไปพ่อครูกล่าวว่า เฮฮาศาสตร์ก่อเกิดมาก็เข้าหลายปีแล้ว แต่สมาชิกไม่ขยายเท่าไหร่ พวกเราคิดกันอย่างไรบ้างล่ะ

เพื่อนบางท่านกล่าวแสดงความเห็นว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องมีสมาชิกมากๆ ยิ่งมีมากยิ่งมีปัญหามาก คุมกันไม่อยู่ บริหารไม่ได้ ก็มีตัวอย่างให้เห็น จำนวนน้อยๆก็ไม่เป็นไร ค่อยๆขยายไปตามธรรมชาติของมันเอง

พ่อครูและท่านอื่นแสดงความเห็นต่อว่า ดูเหมือนกลุ่มเฮจะต่อติดกับ “ร่มธรรม” ได้ดี โดยเฉพาะที่ตัวท่านอาจารย์ไร้กรอบ ก็อย่างที่รับรู้กัน สิ่งเหล่านี้มันเป็นธรรมชาติของมันเอง เฮฮาศาสตร์มีลักษณะเฉพาะของมัน ที่ต้องเป็นคนประเภทนี้เท่านั้นที่จะก้าวเข้ามาได้ ไม่ใช่วิเศษ พิเศษ เลอเลิศอะไร มันก็ธรรมดานี่แหละ แต่มันมีความเป็นธรรมดาในธรรมดา..

การพูดกันพอจะออกรสก็มืดค่ำกันทีเดียว แม่ครัวที่จะเตรียมอาหารเย็นก็นั่งอยู่ในวงนี่ จึงจำเป็นต้องยุติลงแบบไม่จบประเด็น เพราะเป็นห่วงทีมงานอาจารย์โสรีย์จะหิวข้าว

แต่เป็นวงคุยที่ออกจะเครียดๆ ดูหน้าตาแต่ละคนไม่ค่อยยิ้มเท่าไหร่เลยนะ

ผมน่ะบันทึกเสียงไว้ในเครื่อง แต่เอาเข้าจริงหาไม่พบว่าเอาไปซ่อนไว้ตรงไหน เพื่อนๆช่วยกันเติมหน่อยนะครับ ทั้งที่ได้คุยกันและความคิดเห็นเพิ่มเติม

นะคร๊าบบบบบ


พนักงานดีเด่น..

71 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 เวลา 8:55 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3077

รูปนี้ไม่เกี่ยวกับสาระที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็เอามาดูกันเฉยๆ อ่ะ

ระหว่างทำธุระผมชอบเอาหนังสือไปอ่าน วันก่อนยังติดใจประโยคน่าคิดดังนี้ครับ

“พนักงานดีเด่นประจำเดือน คือ

ตัวอย่างของคนที่ได้รับคำชมเชยจากผู้บริหาร

แต่สูญเสียเพื่อนร่วมงานไปพร้อมๆกัน”

ไม่ต้องการคำอธิบายตรงนี้ แต่ทุกท่านสามารถเอาไปวิเคราะห์และเป็นแง่คิดได้บ้างนะครับ


พ่อครูบาฯ กับผึ้ง..

615 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 32089

วันที่ไปจ่ายตลาดที่สตึกวันนั้น ผมเดินตามแม่ครัว บังเอิญผมไปเห็นคุณยายท่านนี้นั่งขายรังผึ้งอยู่ มีหลายรังครับ ผมจึงนั่งลงถามคุณยาย


บางทราย: คุณยายผึ้งรังนี้ราคาเท่าไหร่ครับ ผมชี้ไปที่รังใหญ่นั่น

คุณยาย: รังนี้ราคา 70 บาทจ้า

บางทราย: คุณยายไปเอามาจากไหนครับ

คุณยาย: ไปรับเขามา เขาเอามาจากหลายที่ตามชายแดน

บางทราย: คุณยายมานั่งขายทุกวันเลยหรือ…

คุณยาย: มาขายทุกวันแหละจ้า..

…..


ผมนึกย้อนไปถึงพ่อครูบาฯ เย็นวันนั้นพ่อครูเล่าให้ฟังว่า

คุณแม่ผมท่านอายุมากแล้ว ไม่สบายหนักมากคุณหมอไม่รับแล้ว พ่อครูบอกว่า ตัดสินใจเอามาสวนป่า พร้อมชี้มือไปที่อาคารหลังเล็กนั่น เอามาอยู่ที่นี่ ใจก็คิดว่าจะเอาอย่างไรดีกับแม่…

พ่อครูไม่รู้จะรักษาแม่อย่างไร ข้าวปลากินไม่ได้แล้ว ก็ไปเอารังผึ้งมา คัดเลือกเอาเฉพาะลูกผึ้งที่เป็นตัวอ่อนของผึ้งที่อยู่ในรัง บีบเอาน้ำลูกผึ้งมาผสมกับน้ำผึ้ง หยอดใส่ปากแม่ ค่อยๆทำไป พอดีแม่พอกลืนกินได้ พบว่าอาการแม่ดีวันดีคืน ถึงกับลุกขึ้นมาฝึกเดินใหม่ได้จากการนอนแบบกับพื้น

พ่อครู เล่าว่า คุณแม่มีอายุยืนต่อมาถึง 7 ปี…

สาธุ สาธุ สาธุ..


อากาศร้อน กับไอศกรีมครูปู

19 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 เวลา 23:04 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 880

ถามว่าที่สวนป่าอากาศร้อนไหม

ป๊าด…ร้อนซิครับ ก็เหมือนๆทุกแห่งแหละ ผมว่า ก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเราก็ควรที่จะสัมผัสแบบนี้บ้าง เพื่อจะได้รับรสของความเป็นธรรมชาติที่ผันแปรไป

ผมเองนั้นเป็นคนขี้ร้อน เหงื่อมาก หยดติ๋งๆเลยหละ เวลาผมขับรถผมก็ต้องใส่ถุงมือ ใครไม่ทราบก็ว่า อีตานี่ดัดจริต..แต่จำเป็นครับมิเช่นนั้นพวงมาลัยแฉะ เหนียวเหนอะหนะไปด้วยเหงื่อที่ออกจากฝ่ามือ  อิอิ

เหตุนี้เอง เวลามาทีไปที พี่น้องเราก็กอดกัน ผมหละเขินๆอายๆที่ข้างหลังเสื้อผมแฉะไปหมด.. ขออภัยพี่น้องด้วยครับ..


ระหว่างวันหนึ่งผมอาสาขับรถให้แม่บ้านไปจ่ายตลาดเพื่อจะเอามาทำอาหารกัน มีแม่หวี ป้าหวาน ครูปู ออต ไปจ่ายตลาดกัน ระหว่างทาง แม่ครัวจำเป็นก็แลกเปลี่ยนกันว่าจะเอานั่นเอานี่ มาทำอาหารนั่นนี่ ทำของหวานนั่นนี่

แล้วครูปูก็เสนอว่า ต้มถั่วเขียวกันดีกว่า เอามาทำไอศกรีม กินแก้ร้อน ….

ผมแอบยิ้มๆ เพราะครูปูเป็นคนใต้ คนข้างกายผมก็เป็นคนใต้และทำเจ้าต้มถั่วเขียวแช่เย็นเป็นไอศกรีมกินกันประจำ นี่ก็กินก่อนจะมาสวนป่าด้วย อิอิ.. ผมเฉยๆทำไม่รู้ไม่ชี้ ใจนึกสนับสนุน เพราะมันเข้าท่าน่ะซี..

แล้วครูปูทำการต้มถั่วเขียว 1 หม้อใหญ่ แล้วเอาไปใส่ในช่องเย็น แช่ไว้จนแข็งเหมือนไอศกรีม แล้วก็ยกออกมา เมื่อมื้อกลางวัน วันนี้เอง

อร่อยครับ เหมาะกับบรรยากาศ อากาศ ..

หากใครสนใจลองทำดูนะครับ ผมแนะนำว่า หลังจากต้มถั่วเขียว เคี่ยวให้ยุ่ย สักหน่อย ตักใส่ถ้วยเล็กๆ ทิ้งให้เย็น แล้วเอาใส่ตู้เย็นช่องแช่แข็ง แล้วทิ้งข้ามคืนก็จะแข็งเป็นไอศกรีม เวลาเอามากิน บ้านผมนิยมเอานมสดใส่ลงไปด้วย แล้วก็เอาช้อนตักกิน…ซี๊ดดดดดด อร่อย เหมาะกับอากาศร้อนๆแบบนี้ครับ

ขอบคุณครูปูครับที่เอาใจใส่พวกเรา ใครๆได้ลิ้มรสไอศกรีมถั่วเขียวต้มกันทั่วหน้า อร่อย…

ครูปูน่ารักที่ซู๊ดด


ไอศกรีมที่สวนป่า

103 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:13 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 6785

ผมจำชื่ออ้ายท่านนี้ไม่ได้แล้ว

สายวันนั้น ทุกคนมายืนล้อมอ้ายท่านนี้เพื่อซื้อไอศกรีมแบบทำเองดูดแก้ร้อนกัน ช่วงเวลาหนึ่งครุปูกับผมยืนตรงนั้น ครูปูเลี้ยงไอศกรีมผมและหลายๆคน (ขอบคุณมากๆครับ) ผมถามว่าทราบได้อย่างไรว่าในสวนป่านี้มีคนมาหลายคนแล้วเข้ามาขายไอศกรีม

อ้ายตอบว่า ก็ผ่านมาที่ถนนใหญ่เห็นรถบัสเข้ามาก็เลยขับตามมาครับ ไอ้ติมนี่ไปรับเขามาอีกที

อ้าย พรุ่งนี้จะมีคนมาอีก อ้ายจะมาไหมล่ะ อ้ายตอบว่าหากมีคนก็มาซิครับ

เออ..งั้นก็จะโทรบอกเอาไหมว่ามีคนเข้ามาสวนป่าตอนไหน มีโทรศัพท์ไหมล่ะ จะได้บอกได้

อ้าย งุ่นง่านเล็กๆ เขินๆ แล้วก็บอกว่า ผมไม่มีโทรศัพท์ครับ

เราก็ถามต่อว่า อ้าว…งั้นก็ส่งข่าวบอกไม่ได้ซิว่าพรุ่งนี้ตอนไหนจะมีคนเข้ามาในสวนป่านี้..จะได้มาขายไง ขายดีนะ อากาศร้อนๆเช่นนี้ ใครๆก็อยากกินไอศกรีม

ครูปูกับผมพยายามหาทางให้ อ้าย มาขายในสวนป่าให้ได้ แต่ติดตรงที่ว่าจะบอกอย่างไร…

คุยไปมาสักพัก อ้ายบอกว่า ได้ ได้ เดี๋ยวผมทำได้

ครูปู รีบถามทันทีว่า อ้าย..จะหาเงินไปซื้อมือถือหรือ ไม่เอานะ ไม่สมควร ไม่จำเป็น..

อ้ายทำหน้า ปูเลี่ยนๆ เราก็เลยหาทางออกให้ว่า เอางี้ซี ทุกครั้งผ่านถนนใหญ่มาทางนี้ก็แวะมาดูซะหน่อยว่ามีคนจำนวนมากมาที่สวนป่านี่หรือเปล่า..

….

ครูปู และท่านอื่นๆอุดหนุน อ้าย ไปมากพอสมควร ผมก็ว่าน่าจะมากพอที่จะกระตุ้นให้อ้ายท่านนี้ คงต้องแวะมาสวนป่าทุกครั้งที่ผ่านมา…

ไอศกรีม ของอ้าย บรรเทาความร้อนไปได้โขทีเดียวครับ คนที่เป็นแฟนประจำน่าจะเป็น คอน.. อิอิ


ไฮกุ จากสวนป่า..

41 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 เวลา 20:49 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3101

สวนป่าเพื่อสหกัลยาณมิตร “บ้านมกรา” มีหลายรายการ ผมชอบ session ของ ออต เหมือนทุกคน เพราะความเป็น artist ของออต ที่ออกแบบ session ได้สวยงาม โดยเฉพาะ ไฮกุ ที่เอาไปสัมพันธ์กับผัสสะที่เกิดขึ้นกับคนๆนั้น

ออตเริ่มด้วยการแจก เมล็ดมะรุมคนละเมล็ด ให้ทุกคนพิจารณาแล้วใส่ปาก ค่อยๆ อม กัด เคี้ยว แล้วค่อยๆพิจารณารสสัมผัสที่เกิดขึ้น แล้วให้เขียนผัสสะนั้นออกมาเป็น “ไฮกุ” น่ารักซะ และมีความหมายมากครับ ชอบมากที่แต่ละคนแสดงออกมา ซึ่งมันบอกอะไรหลายอย่าง

เห็นลูกศิษย์ท่าน อ.โสรีย์ หน้าเบ้ เมื่อเคี้ยวเมล็ด ส่ายหน้า แล้วทำท่าจะคายทิ้ง อาจเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เธอสัมผัส และเธออาจไม่รู้มาก่อนว่านั่นคือ สมุนไพรที่มีคุณค่าทางยา

ออต อ่านไฮกุ แต่ละคน มีความหมายกว้างแล้วแต่ท่านนั้นๆจะแสดงออกมา แม้ว่าจะเป็นไฮกุแบบไทยๆแต่มีความหมายครับ

รอบต่อไป ออตแจก ใบผักฮว้านง๊อก สมุนไพรลือลั่นที่มาจากเวียตนาม และเป็นอาหารเราบางมือที่แสนอร่อย ออตให้ร่างรูปขอบใบผักนี้ พิจารณาแล้วเคี้ยวมัน รับรส แล้วเขียนไฮกุ


บ้าน อาหาร น้ำ ยา ป่าปัจจัย

ไม่มีเราเขายัง

ไม่มีเขาเราสิ้นเผ่าพันธุ์

สุดท้าย ออตทิ้งโจทย์ให้ทุกคนไปทำการบ้านมา คือ ให้ไปถ่ายรูปอะไรก็ได้ในสวนป่า แล้วเอารูปนั้นมาเขียนไฮกุ แล้วเอามาดูกันในเวลากลางคืน

ไฮกุนั้นเป็นวีธีการเขียนกวีของญี่ปุ่นที่ผมไม่รู้จักเท่าไหร่ ผ่านๆตาบ้างแต่ก็ชอบ แต่ไม่เคยเขียน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกครับ ออตกล่าวว่า ไฮกุมี สามบรรทัด บรรทัดที่ 1 มี 7 คำ บรรทัดที่ 2 มี 5 คำ บรรทัดที่ 3 มี 7 คำ

รูปภาพข้างบนนั้นเป็นรูปที่ถ่ายป่าสวนป่าจากที่พักชั้นบนของอาคาร 6 เหลี่ยม เช้าวันนั้นด้วยมือถือ แล้วเอามาแต่งเป็นขาวดำ แล้วเอามาทดลองแต่งไฮกุแบบ ไม่เค๊ย ไม่เคย

ก็แค่มาเล่าให้เพื่อนๆฟังน่ะครับ


พันธุ์ใหม่..

43 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:57 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2630

 

 

พันธุ์ใหม่อ่ะ..

ตัดต่อพันธุ์กรรมเจ้าสามเกลอออกมาได้อย่างเนี๊ยะ..
อิอิ

(แหล่งข้อมูล: Reader’s Digest)


เมื่อสวนป่าต้อนรับ..

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:25 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3147

เชิญคร๊าบบบบ….

สวนป่ายินดีต้อนรับ คร๊าบบบ

จับจองที่พักเอาตามสบาย ชอบมุมไหนเอาเล้ยยยยย

อ้าว…ป้าจุ๋มควงใครมาน่ะครับ..อิอิ

(แหล่งที่มา: Reader’s Digest)


อารมณ์ขันชาวบล็อก..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 เวลา 8:42 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 681

โปรดระวัง บล็อก อิอิ

(แหล่งที่มา: Reader’s Digest)


การ์ด..

31 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1352

ดำเว้ย…เตรียมตัวไว้เอ็ง

ได้ข่าวมาว่ารัฐบาลประกาศไม่รับรองความปลอดภัยแกนนำและการ์ด

ได้ข่าวอีกว่า การ์ดเริ่มทยอยหลบเข้ากลีบเมฆไปบ้างแล้ว..

เดี๋ยวเขาจะมาเอาเราไปเป็นการ์ดว่ะ..

เอ็งเตรียมตัวไว้ให้พร้อมตลอด 24 ชั่วโมงนะ

ลงชื่อ…. แดงเองว่ะ


แดงยืนหยัด..

21 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:13 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 954

แดงยืนหยัดกัดไม่ปล่อย ว่ะ..


แสดงความเห็นต่อโจทย์พ่อครูบาฯ 2

อ่าน: 2872

โจทย์ ที่พ่อครูบาฯตั้งไว้ ว่า จะเอาความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ออกไปพัฒนาวิถีชุมชนอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไร..??

ยกที่ 1 ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยมีข้อจำกัด หากท่านอธิการบดีสั่งรวบรวมนวัตกรรมทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเอามากองรวมกัน ทั้ง Hard & soft innovation ผมก็คิดว่ายังทำงานภายใต้ข้อจำกัดของกรอบระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ของระบบมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะยืดหยุ่นมากกว่าระบบราชการทั่วไปก็ตาม แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


มหาวิทยาลัย

ยกที่ 2 นวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยผลิตขึ้นมานั้น “มาจากความต้องการของชุมชน หรือมาจากความอยากรู้ของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย” แตกต่างกันมากนะครับ เพราะความต้องการของชนบทนั้นจะถูกออกแบบนวัตกรรมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพชนบทเพราะเป็นตัวตั้ง แต่หากนวัตกรรมนั้นมาจากคณาจารย์อยากทำ อาจจะไม่เหมาะ ไม่สอดคล้องกับชนบท หรืออาจจะต้องถูกดัดแปลงอีกมากก็ได้ เหมือนที่พ่อครูกล่าวว่าเพลงลูกกรุงนั้นจะเอาไปให้ลูกทุ่งร้องนั้นมันคนละคีย์กันครับ แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


ชุมชนชนบท

ยกที่ 3 แม้ว่าจะรู้ความต้องการของชนบท หรือความอยากของคณาจารย์สอดคล้องกับความต้องการของชนบท กระบวนการเอานวัตกรรมไปสู่ชนบทนั้นคืออย่างไร บ้าง อบรม หรือศึกษาดูงาน หรือทั้งสองอย่าง หรือ ฝึกทำ หรือทำแปลงสาธิต หรือตั้งศูนย์เรียนรู้ หรือ ลองผิดลองถูกกันไป หรือ…..ใครเป็นคนออกแบบกระบวนการนี้ เอาละให้เกษตรกรมีส่วนร่วม แต่กระบวนการให้มีส่วนร่วมก็มีรายละเอียดมากมาย บ่อยครั้งนวัตกรรมนั้นนำเสนอโดยคนข้างนอก ให้ชาวบ้านออกความเห็นสองสามคนแล้วก็บอกว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมแล้ว โดยทั้งกระบินั้นมาจากคนข้างนอกผลักดันมากกว่า แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


ชาวบ้าน

ยกที่ 4 ชนบทไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีทั้งน่ารักน่าชัง ทั้งน่าสงสารและน่าตียิ่งนัก ข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยนั้นเรื่องหนึ่งคือเวลาที่มีกำหนดตายตัว งานชิ้นนี้ต้องทำภายใน สามเดือน แปดเดือน แต่หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นั้น บางเรื่องต้องใช้เวลาเข้าใจมากมาย โดยเฉพาะส่วนลึกที่เป็น soft side ราชการมักให้ผู้ใหญ่บ้านเชิญชาวบ้านเป้าหมายมาประชุมที่ศาลาวัด ท่านทราบไหมว่าชาวบ้านที่มานั่งทั้งหมดนั้นน่ะ แต่ละคนมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง หากไม่เข้าใจแล้วจะทำงานพัฒนาอย่างไรล่ะ มันก็แค่เอาลงไปใช่ไหม… ในทางการแพทย์เขาใช้คำว่า Triage ในทางการพัฒนาชนบทเราก็ใช้คำนี้เราต้องเข้าใจรายบุคคล รายครัวเรือน แล้วจึงรู้ตื้นลึกหนาบางของปัญหาแต่ละคน แล้วการเยียวยารักษาจึงจะเหมาะสมถูกต้อง สอดคล้อง เพราะปัญหาแต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน หรือเหมือนกันแต่หนักเบาไม่เท่ากัน อาจจะหนักเท่ากันแต่เงื่อนไขแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ครอบครัวอาจจะเหมือนกัน แต่บุคลิกภาพแต่ละคนแตกต่างกัน…. เราต้องแยกแยะ จำแนก จัดกลุ่ม จัดหมู่ จัดพวกของคนและปัญหาออกมาแล้วก็แก้ไขกันไปตามเหตุปัจจัยแต่ละคน งานแบบนี้จะมาแล้วไปแบบราชการนั้นไม่ได้ ต้องลงคลุกคลีตีโมงกันพักใหญ่ๆ หากมาแล้วไป ไม่มีความผูกพันเลย ชาวบ้านก็หลอกกินเอาได้ โดยที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

ยกที่ 5 การทำงานชนบทไม่เหมือนการผสมสารเคมีในห้องทดลอง เมื่อเอาไฮโดรเจนสองส่วนมาผสมกับอ๊อกซีเจนหนึ่งส่วนแล้วจะได้น้ำออกมาทันที (H2O) แต่คนมีพื้นฐาน มีที่มาที่ไป มีฐานประวัติชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และชุมชน สิ่งแวดล้อม แม้เอาการฝึกอบรมเข้าไป เอาการศึกษาดูงานเข้าไป เอาเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเข้าไป แต่บ่อยครั้งยังต้องการปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย และไม่เหมือนกัน ชนบทที่สุรินทร์ กับที่สกลนครเงื่อนไขก็แตกต่างกัน แล้วทำอย่างไรล่ะมหาวิทยาลัยที่มีเงื่อนไข ข้อจำกัดมากมาย ผู้บริหารเข้าใจก็ดีไป หากไม่เข้าใจ ทีมงานอาจถูกฆ่าตายในทางการทำงานก็เป็นได้


ยกที่ 6 ส่วนที่สำคัญยิ่งคือ ด้าน Soft side ของตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน เราเอาชาวบ้านมาฝึกทหารก่อนที่จะเอาออกไปประจำการในสนามจริง เพราะอะไร ทุกท่านคงหาคำตอบได้ การที่พระคุณเจ้ามุ่งสู่หนทางละวางทั้งหมดก้าวเข้าสู่นิพพานนั้น สมณะรูปนั้นๆต้องฝึกฝนตนเองนานนับชั่วชีวิตทีเดียว หากเราจะสนับสนุนให้ชาวบ้านเดินทางไปสู่แนวทางการพึ่งตนเองนั้น การจะไปพูดไปจาเพียงไม่กี่คำนั้นคงไม่สำเร็จ โดยเฉพาะการทำอย่างไรจะขจัดคราบไคลของลัทธิบริโภคนิยม ค่านิยมของทุน แล้วก้าวเดินบนเส้นทางที่ต้องถูกยั่วยวนตลอดเวลานั้น เป็นเรื่องการต่อสู้ภายในทั้งสิ้น กระบวนการพัฒนาจึงทำงานด้านในด้วย เราอาจจะประสบผลสำเร็จในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป้าหมาย แต่ล้มเหลวลงหมดเพราะเกษตรกรคนนั้น ครอบครัวนั้นหลงใหลกับการบริโภค ที่ไม่มีวันจบสิ้น แต่งานพัฒนาชนบทไม่เน้นเรื่องนี้ เพราะเห็นผลยาก รายงานยาก ประเมินผลยาก สำเร็จยาก สร้างอาคารเสร็จก็รีบถ่ายรูปรายงานว่าทำสำเร็จแล้ว แต่การเอาอาคารไปใช้ประโยชน์นั้นถ่ายรูปไปครั้งเดียวก็อ้างไปหลายปี ทั้งที่การใช้ประโยชน์มีแค่ 6 เดือนแรกเท่านั้น…ผมจึงทึ่งกับ CUSO ที่หลังโครงการจบไปแล้ว 6 ปีเขาจึงมาประเมินผล..??!!


ยกที่ 7 องค์ประกอบที่สำคัญ ที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ ผู้นำชุมชน พี่เลี้ยงจากภายนอก key person ในชุมชน ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญมาก แต่ก็ขึ้นกับศักยภาพของแต่ละชุมชน จากบทเรียนเราพบว่า หมู่บ้านไหนผู้นำดีดี เท่ากับทำงานเสร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วทีเดียว ตรงข้ามหากผู้นำในชุมชนไม่มี หรือไม่ดีก็เหนื่อยหน่อย หลายกิจกรรมก็ล้มลุกคลุกคลานเพราะขาดผู้รับผิดชอบ ขาดการรับลูกอย่างต่อเนื่อง เพราะขาดความตระหนัก หรือการให้ความสำคัญ ผู้นำชุมชนดีดีหายาก ยิ่งในปัจจุบันถูกการเมืองระบบใหญ่ระดับประเทศ และการเมืองท้องถิ่นระดับตำบลทาสีแดงไปหมด บทบาทที่เหมาะที่ควรก็ถูกเบี่ยงเบนไปเพื่อผลประโยชน์เสียสิ้น

ยกที่ 8 ระบบการเรียนรู้ในชุมชน ระหว่างชุมชน… การท่องเที่ยวไปในโลกกว้างย่อมเสริมสร้างโลกทัศน์ยิ่งนัก เห็นทั้งส่วนเล็กและใหญ่ เห็นแนวโน้ม เห็นที่ตั้งของปัญหาว่าอยู่ส่วนไหนของสังคม ของประเทศ ของการดำรงชีวิตอย่างมีสุข ปัจจุบันจึงต้องมีองค์กร และเครือข่าย เพราะการโดดเดี่ยวนั้นคือจุดอ่อนด้อย การรวมกลุ่มคือพลัง หากกลุ่มดี ระบบดี ก็พากันเดินทางไปข้างหน้าอย่างมีพลัง เพราะชุมชนเดิมของเรานั้นไม่ได้โดดเดี่ยว ชุมชนเดิมของเราเดินไปด้วยกัน พร้อมๆกัน จูงมือไปกัน ระบบกลุ่ม เครือข่ายจึงเอื้อให้นวัตกรรมต่างๆถูกถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งด้วยตัวของมันเอง บทเรียนตรงเหนือบ้านอาจจะถูกดัดแปลงไปอีกนวัตกรรมหนึ่งเมื่อเอาไปทำที่ท้ายบ้าน การเกิดขึ้น พัฒนา และถ่ายทอดนวัตกรรมนั้นต้องอาศัยกลุ่ม เครือข่าย… เครือข่ายคือระบบการเรียนรู้ในชุมชน..


ยกที่ 9 ย้ำเรื่องการเห็นคนชนบทต้องเห็นให้ทั้งหมด.. ความหมายคือ การที่ชาวบ้านเดินเข้ามาหาเราและเข้าร่วมกิจกรรมของเรานั้น เราไม่ใช่รู้จักชาวบ้านคนนั้นเท่านั้น ไม่พอ เราต้องรู้เรื่องราวของครอบครัวเขาทั้งหมด ทั้ง Hard & soft side อย่างที่เฮียตึ๋งและท่านไร้กรอบกล่าว ทางคริสตชนเรียกว่ารู้ทั้งครบ ตัวอย่าง นาย ทักษิณ เป็นเกษตรกรที่ก้าวเข้ามาร่วมกิจกรรมตามหลักการของเราในเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีตารางการปฏิบัติชัดเจน แต่แล้วเขาหายตัวไปถึงสองเดือนไม่ได้ทำตามกำหนดที่คุยกันไว้ ต่อมาทราบว่า เขาต้องตัดสินใจลงไปหางานทำเพื่อหาเงินด่วนไปให้ลูกที่จะเปิดเทอมที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง..?? งานการเพิ่มผลผลิตจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย… เมื่อเราคุยกันจึงทราบรายละเอียดถึงความจำเป็นสุดๆของเขา..ตัวอย่างที่สอง นายจตุพร เข้าร่วมกิจกรรมการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ ที่มีกำหนดว่าจะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์เมื่อครบกำหนด จะต้องพ่นปุ๋ยน้ำหมักทางใบเมื่อครบกำหนด แต่นายจตุพรไม่ได้ทำเขาหายไปสองสัปดาห์ ต่อมาเรารู้ว่าเขาขึ้นป่าไปยิงบ่าง กระรอก หรือสัตว์ป่า ต้องการกินสัตว์ป่าเพราะมันอร่อยมากกว่าเนื้อหมูที่ตลาด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการกินของชาวบ้านแถบนี้ ทำให้การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังของเขาไม่ถูกปฏิบัติตามกำหนด ผลผลิตก็ไม่ได้สูงสุด การบันทึกข้อมูลก็สะดุด…


ทั้งหมดนี้คือเพียงบางส่วนเท่านั้น

นี่คือบทเรียน นี่คือข้อสรุป และนี่คือของจริง หากมหาวิทยาลัยจะเดินทางเข้าชนบทเอาความรู้ไปลงสู่ชนบท ลองเอาประสบการณ์เหล่านี้ไปพิจารณาดูเถิดครับ



Main: 0.11139798164368 sec
Sidebar: 0.048332929611206 sec