ตอบคำถามอาม่า
อ่าน: 8546
ช่วยกันสะท้อนปัญหาของชนบท
เอาชนบทที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันก็แล้วกัน
- เวลาเราทำงานในชนบทแบบนี้เรามักแบ่งพื้นที่เป็นระบบภูมินิเวศ เป็นฐานการแบ่ง ส่วนจะเน้นภูมินิเวศเกษตร ภูมินิเวศวัฒนธรรม ภูนิเวศประวัติศาสตร์หรือจะผสมผสานกันก็แล้วแต่ฐานคิดแต่ละคน แต่ละองค์กร ส่วนที่โครงการเน้นระบบภูมินิเวศเกษตรวัฒนธรรม ทั้งนี้เพราะว่าที่ดงหลวงมีความแตกต่างจากที่อื่นๆคือ เป็นเขตเชิงภูเขา ประชากรเป็นชนเผ่าไทโซ่ หรือไทโส้ หรือบรู หากพูดตามภาษาราชการก็ต้องเรียกว่า “ราษฎรไทยเชื้อสายโซ่”
-
สภาพพื้นที่ที่เป็นระบบนิเวศแบบเชิงเขามีทั้งข้อเด่นและข้อด้อย
ข้อเด่น: คือ มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่นๆเพราะทรัพยากรป่ายังมีอยู่มาก ป่าคือทุกอย่างในวิถีชีวิตของชนเผ่านี้ ขาดเหลืออะไรก็เข้าป่า อยากได้เงินใช้ก็เข้าป่า ทำการผลิตก็ต้องอิงป่า เลี้ยงสัตว์แรงงานเช่นวัวควาย แล้วก็ปล่อยขึ้นป่า วันวันไม่มีอะไรทำก็ขึ้นป่าไปหายิงสัตว์ เก็บหมากไม้ น้ำผึ้ง และผลผลิตอื่นๆจากป่า แทนที่จะมุ่งทำการผลิตในที่ดินของตัวเอง หรือทำควบคู่ไป แต่ไม่ได้ใส่ใจการผลิตในพื้นที่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่เป็นระบบนิเวศแบบที่ราบลุ่ม เพราะไม่มีป่า
ข้อด้อย: สภาพพื้นที่เชิงเขาจะมีพื้นที่ทำการผลิตไม่มาก เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ก็ขยายไม่ได้มาก หรือขยายก็เป็นการบุกรุกทำลายป่าไม้โดยตรง ดังนั้นพื้นที่ถือครองต่อครัวเรือนต่อคนจึงไม่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ราบโดยเฉลี่ย ซึ่งมีผลต่อการผลิตข้าวไม่เพียงพอบริโภค หากไม่ใช่เทคนิคการผลิตที่เหมาะสมเข้ามาแทนที่การผลิตแบบเดิมๆ ปัญหาข้าวไม่พอกินก็รุนแรงมากขึ้น
-
สภาพปัญหาที่พบ อาจจะกล่าวเป็นสองนัย คือนัยการสำรวจปัญหาตามระบบราชการ กับสภาพปัญหาจากการวิเคราะห์ของเราที่ลงไปทำงานในพื้นที่
สภาพปัญหาตามระบบราชการสำรวจพบว่า
3.1 ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกษตรกรตอบคือ การขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ยามปลูกข้าวนาปีฝนก็ทิ้งช่วง หลังนาอยากปลูกพืชบ้างก็ไม่มีน้ำ (เอาปัญหาก่อนนะครับ ไม่ได้กล่าวทางแก้ไข)
3.2 ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
3.3 ปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม โรคแมลง
3.4 ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง เพราะใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่มากขึ้นเหมือนพื้นที่ราบลุ่ม เช่นการไถนาด้วยรถไถใหญ่ การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สารเคมี และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเพื่อการเกษตร
3.5 ฯลฯ
ส่วนนัยปัญหาที่เราวิเคราะห์เองเห็นดังต่อไปนี้
1) ปัญหาการส่งเสริมการเกษตรที่ผิดพลาด ไม่ต้องการโจมตีราชการ แต่เป็นการเคลื่อนตัวของสังคมไปตามกระแสโลก ที่ไหนๆก็เป็นเช่นนั้น ทุกประเทศ คือหลังการปฏิวัติเขียวกรมส่งเสริมการเกษตรก็มีนโยบายปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวและพืชต่างๆ ให้แก่เกษตรกร จนพันธุ์ข้างท้องถิ่นสูญหายไปมาก ข้างพันธุ์ใหม่ที่ได้มาก็ต้องใช้ต้นทุนสูงเพราะต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ อ่อนแอต่อโรคต้องใช้ยาปราบโรคปราบศัตรูพืช ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคอื่นๆไปด้วย ปัจจุบันเริ่มหันกลับไปเป็นเกษตรอินทรีย์ แล้วแต่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรเพราะเกษตรกรไม่ใช่เปลี่ยนข้ามวันข้ามคืน เพราะสังคมไทยคือสังคมเกษตรกรรม
2) ปัญหาที่ใหญ่มาก และแก้ยากคือ ลัทธิบริโภคนิยมที่มากับระบบธุรกิจ ที่มากับการสื่อสารทุกรูปแบบ โดยเฉพาะคนนอกที่เข้าไปในชุมชนเป็นผู้แพร่ลัทธินี้ไปโดยไม่รู้ตัว ทุกครัวเรือนมุ่งหวังจะมีรถมอเตอร์ไซด์ให้ได้ รถอีแต๊ก และไฝ่ฝันจะมีรถปิคอัพ โรคมือถือระบาด โดยเฉพาะวัยรุ่นในชุมชน ต้องมีมือถือ ต้องมีมอเตอร์ไซด์ แถมใช้เวลาไม่เกิดประโยชน์ ไม่ได้ใช้เวลาเพื่อทำการผลิต ช่วยเหลือครอบครัวอย่างมีสำนึกตรงข้ามกลับเป็นตัวบริโภคที่ไม่เกิดประโยชน์
3) การขับเคลื่อนสังคมไปตามระบบทุน ส่งผลกระทบกว้างขวางไปมดทุกด้านทุกเรื่อง สิ่งที่เราพูดกันมากแต่ไม่ได้มีกิจกรรมเสริมสร้างอย่างจริงจังนั้นคือ การจางตัว หรือการสลายตัวของทุนทางสังคม ที่เป็นฐานสำคัญยิ่งของระบบสังคมชุมชน ระบบการพึ่งตัวเอง และพึ่งพาอาศัยกัน ไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงวัฒนธรรมชุมชน แถมดูถูก ไม่เห็นคุณค่า การไม่ปฏิบัติตามวัฒนธรรม ประเพณีก็คือการไม่จุนเจือพลังสังคมด้านที่สำคัญ สังคมเคลื่อนตัวไป วิถีคนกลุ่มหนึ่งเปลี่ยนไป ก็ออกห่างวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของไทย แถมไปรับของใหม่และห่างไกลแบบเดิมและไม่เข้าใจถึงสาระที่เป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรมที่เป็นประเพณี ระบบเจ้าโคตรที่เคยมีบทบาทที่ดีมากๆในชุมชนก็ค่อยๆจางลง จางลง ระบบการปกครองสมัยใหม่เข้าไปแทนที่คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.
4) ปัญหาเฉพาะของพื้นที่ดงหลวงที่ผมเห็นและแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ ลัทธิความเชื่อผี ตอนแรกๆไม่คิดว่าจะมีผลมากน้อยแค่ไหน ยิ่งทำงานไปนานเข้า เฝ้าสังเกตปรากฎการณ์ต่างๆในชุมชน พบว่า ความเชื่อเหล่านี้มีทั้งดีและไม่ดี ดีคือเป็นตัวข่มมิให้ใครออกนอกลู่นอกทาง ตี่ในทางไม่ดีคือ เกิดการใช้เป็นเครื่องมือ เกิดการเกรง เกิดการไม่กล้ากระทำในหลายอย่างที่มีส่วนเสริมสร้างการเติบโตขององค์กร ชุมชน เรื่องนี้เป็นความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ เราคนนอกไม่มีทางเข้าใจและไม่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ เช่น ชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องปอบ การกระทำของปอบ อิทธิฤทธิ์ของปอบ ไม่ต้องการให้ใครทำอะไรโดดเด่นเกินหน้าตาคนอื่นๆ เช่น ใครปลูกพืชขายได้เงินทองก็ต้องเงียบๆ ไม่อิสระ และหากปลุกพืชเศรษฐกิจขายได้ราคาดี ปีหน้าคนนั้นน่าที่จะขยายพื้นที่การผลิตมากขึ้น แต่ไม่ เพราะไม่ต้องการทำงานเกินหน้าคนอื่นเพราะความเกรงกลัวปอบมากระทำ เป็นเรื่องราวเฉพาะพื้นที่
ทั้งหมดนี้ สรุป เอามาให้นะครับ
มีข้อมูลเก่าๆที่อาจจะช่วยให้เห็นประเด็นกว้างขึ้น อาท่าโปรดดูข้างล่างนี้ด้วยครับ
จากหลักการสู่การปฏิบัติไม่ง่ายเหมือนพูด http://lanpanya.com/bangsai/archives/879
อุปสรรคของการพึ่งตนเองของชาวบ้านที่
http://lanpanya.com/bangsai/archives/927
ความพอเพียงของสังคมดงหลวงโบราณ http://lanpanya.com/bangsai/archives/543