18 องศา C ที่ KKN
อ่าน: 5925
อุณหภูมิอากาศที่ขอนแก่นเมื่อเช้า 18 องศา C
มาพร้อมกับน้ำ แต่ที่บ้านยังไม่มีผลอะไร
อุณหภูมิอากาศที่ขอนแก่นเมื่อเช้า 18 องศา C
มาพร้อมกับน้ำ แต่ที่บ้านยังไม่มีผลอะไร
ลูกสาวโทรมาบอกว่า ฟังข่าวน้ำท่วมชัยภูมิแล้วไม่สบายใจ เพราะกำลังจะไหลไปสู่ขอนแก่น ผมก็อยู่มุกดาหาร คุณตุ๊ก็ร่อนไปทั่วประเทศ ด้วยงานวิจัยหลาย เรื่องในมือ ลูกสาวขอร้องให้กลับบ้านไปดูหน่อย ผมถือโอกาสเอาของใช้ส่วนตัวกลับบ้าน…. ขอนแก่น
มาถึงบ้านก็ได้รับซองเอกสารจากท่านแฮนดี้ ที่รักของผมจากไชยา พอเปิดออกมาก็ ชื่นใจเหลือเกิน อาจารย์แฮนดี้ส่งหนังสือบกกวี ใต้ฟ้ากะลาครอบ ของท่านอาจารย์จุมพล วัฒน์บุณย์ มาให้ผม ตามที่ท่านเคยกล่าวไว้…
ข้าวของยังไม่ได้เก็บเลยผมเอาหนังสือไปนั่งอ่านใต้ร่มไม้หลังบ้าน มุมโปรดของผม โอ้..พระเจ้า ท่านอาจารย์จุมพล ท่านให้ความกรุณาเขียนบทกวีกล่าวถึงผมด้วย ผมขนลุกซู่ทีเดียว..
ผมและท่านไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่เราเชื่อมกันเพราะท่านอาจารย์แฮนดี้ ขอบพระคุณท่านแฮนดี้มากๆครับ
ท่านอาจารย์จุมพล ท่านเมตตา ข้าน้อยมากทีเดียว ที่กรุณาร่ายกวีถึงบางทราย
ผมเพียงอ่านสี่ห้าหน้าตามเวลาที่มีอยู่เบื้องต้นนี้ ทำให้ผมนึกถึง ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่เป็นคนใต้ที่ผมเคารพท่าน ชื่นชมท่านมาก และสะสมผลงานของท่านไว้
ผมแปลกใจว่าทำไมคนใต้ถึงมีศิลปินด้านนี้ หลายต่อหลายท่าน คนรุ่นเดียวกับผมก็มีคนที่ใกล้ชิดกับฝ่ายภรรยาผมก็คือ คุณ “จี๊ด” จีรนันท์ พิตรปรีชา(ประเสริฐกุล) ที่ลูกชาย แทนไท กำลังดังในจอทีวี คุณแม่ของคุณจี๊ดมีศักดิ์เป็นอาของภรรยาผม เธอก็เป็นนักเขียน ที่โด่งดังที่สุดก็คือ “ใบไม้ที่หายไป” อีกคนคือ พนม นันทพฤกษ์ หรือ สถาพร ศรีสัจจัง อาจารย์ที่ มอ.เข้าใจว่าเออรี่ไปแล้ว สถาพรเป็นศิลปินแห่งชาติทีเดียว เมื่อต้นปีก็โทรมาหาผมชวนให้ไปเที่ยวบ้านสวนของเขา เราทำกิจกรรมสมัยเรียนที่ มช.ด้วยกัน เขาโด่งดังมาจาก “โศลกแดง” ตั้งแต่เรียนหนังสือ เพื่อนรักอีกคนคือ รศ.ประสิทธิ์ ทองแจ่ม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี เราพักบ้านเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกันมา
และอีกหลายท่าน…ที่เป็นคนใต้…
ใต้ฟ้ากะลาครอบ ของท่านอาจารย์จุมพลนั้น ผมชอบมากเพราะท่านหยิบสิ่งในชีวิตประจำวันที่ท่านประสบ มาเขียนเป็นกวี กลอนในรูปแบบต่างๆมากมาย สื่อความหมายเรื่องราวได้ชัดเจนและรื่นไหล ท่านจะสอดแทรกหลักธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน ความเหมาะสม ถูกต้อง …. เรื่องราวที่ท่านจารลงไปนั้นผมคิดว่านี่คือประวัติศาสตร์บอกเล่าด้วยซ้ำไป วันเวลาที่เคลื่อนตัวไปนั้นตัวหนังสือกวีของท่านจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าทีเดียวครับ
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์จุมพล วัฒน์บุณย์ ผู้จารบทกวีใต้ฟ้ากะลาครอบ และขอบคุณท่านอาจารย์แฮนดี้ที่นำส่งสารที่มีคุณค่านี้ไปให้ผมครับ…
นับได้ 37 ปีที่ผ่านมาครบวันที่ 14 ตุลาคม อีกรอบหนึ่ง นึกย้อยไปผมยังไม่เดียงสานักในหลายด้าน แต่หัวใจรักความยุติธรรม เกรียดการเอารัดเอาเปรียบ และอยากเห็นบ้านเมืองอยู่กันอย่างมีความสุข จะเรียกอุดมคติหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมก็ว่าสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในทุกทั่วตัวคน เพียงแต่ไม่ได้กล่าวออกมาเท่านั้น
“คนเหมือนกันแต่โอกาสทำให้คนต่างกัน” นี่คือคำกล่าวของพวกเราสมัยนั้น เราจึงไม่รอคอยโอกาสแต่แสวงหามัน สร้างมันขึ้นมา เราทำในสิ่งที่นักศึกษาผู้มีหัวใจบริสุทธิ์พึงจะคิดได้ทำได้ โดยมีรุ่นพี่คอยให้ความรู้ความเข้าใจ มีอาจารย์กลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนคนหนุ่มรุ่นใหม่ทำกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคม
สิ่งแรกๆที่ทำได้เลยทันทีคือการศึกษาโลก โดยการอ่านหนังสือหลักคิดต่างๆ เชิญผู้รู้มาพูดมาเคาะกะโหลก จนกระทั่งจัดเวทีอภิปราย ใครมีความสามารถทางการพูดก็ขึ้นเวที ใครพูดไม่เก่งก็อยู่เบื้องหลัง ช่วยโน่นช่วยนี่ แล้วก็ชวนกันออกชนบทกัน
แม้ว่าจะมีการออกค่ายพัฒนาชนบทอยู่แล้วแต่เรามองว่านั่นเป็นแค่การไปสงเคราะห์ การพัฒนาจริงๆต้องพัฒนาคน ความคิด ระบบคิด ควบคู่ไปกับกิจกรรมในวิถีประจำวัน ใครๆเขาเรียกกลุ่มนี้ว่าพวกบ้ากิจกรรม พวก Activist หนักเข้าก็เรียกพวกซ้าย ทำอะไรก็ขวางๆสังคมสมัยนั้น เช่นเขาสนุกกับการเต้นรำ ก็ไปพังงานเขาซะ สมัยนั้น เดป กับ มอส ดังระเบิดเถิดเทิง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ค่าตัวแพงที่สุด เราก็ต่อต้าน ทั้งๆที่หลายคนก็แอบชื่นชอบอยู่ลึกๆ นึกย้อนไปก็ขำๆ หากมองอย่างเป็นหลักการก็คือ เขากำลังปรับเปลี่ยนซึ่งต้องใช้เวลาบ้าง มากน้อยต่างกัน เพียงแต่ว่า รวมๆแล้วคิดเหมือนกัน ใกล้เคียงกัน ก็จูงมือกันมาทำกิจกรรม แต่รายละเอียดยังแอบใส่กางเกงเดฟ กางเกงมอสอยู่เล้ยยยยย ห้า ห้า ห้า..
การอ่าน และแลกเปลี่ยนกันดูจะดุเดือดมาก ทุกเทอมเราจะมี “ค่ายศึกษา” ไม่ได้ไปสร้างส้วม สร้างโรงเรียนอะไรที่ไหน แต่ไปตั้งค่ายใช้แรงงานกับชาวบ้านแล้วก็มีเวลามาแลกเปลี่ยน พูดคุยกันในประเด็นต่างๆ มีรุ่นพี่พี่ที่เขาเจ๋ง มาเป็นหลักในการนำการพูดคุย บ่อยครั้งก็เชิญวิทยากรดังๆจากกรุงเทพฯไปพูดคุยกับเรา ไม่ว่าจะเป็น พี่อนุช อาภาภิรมย์ พี่วิทยากร เชียงกูร เจ้าของกวีอมตะ ..ฉันจึงมาหาความหมาย…. อาจารย์ผสม เพชรจำรัส แม้สองกุมารสยาม เจ้าของมติชนในปัจจุบันนี้ มิต้องพูดถึง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ธีรยุทธ์ บุญมี… ฯลฯ
เป็นการลับสมองในเรื่องสังคม เรื่องบ้านเมือง มากกว่าเรื่องส่วนตัว ทำให้เรามองดูเด็กที่แตกต่างออกไปไร้สาระ แต่ก็เข้าใจ เพราเราเรียนในสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน เราสัมผัสชุมชนตั้งแต่เกิดและย้ำลงไปด้วยระบบคิดเมื่อเราออกไปช่วยชาวนาชาวไร่มากกว่าจะจับคู่กันถลุงเงินพ่อแม่ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
มิได้อวดตัวว่าทำดีทำถูก หลายอย่างก็สลัดคราบวัยรุ่นไม่หมดหรอก เช่นกินเหล้า ดูดบุหรี่ แอบฟังเพลงเดอะ บิทเทิ้ล เดอร์-คาร์เพนเทอร์ ฯลฯ แม้เหร่สาวๆที่ถูกใจ จนกระทั่งจับคู่กันไปจนอยู่กินด้วยกันจนปัจจุบันก็มีหลายคู่ แต่รับผิดชอบกันดี มิเช่นนั้น ถูกวิภาควิจารย์ไม่ได้ผุดได้เกิด
เมื่อการกวาดล้างเกิดขึ้น กลุ่มทั้งกลุ่มก็เข้าป่า จูงมือกันไปสายใครสายมัน หลุดรอดเรามาได้ก็เพราะเราจบแล้ว ทำงานชนบทแล้ว เขาหาตัวเราไม่พบ เลยอดเข้าไปเลย เวลาถัดมาเขาออกมาตามหาจนพบ แต่บอกว่า ไม่ต้องเข้า ทำงานแบบนี้มีประโยชน์ต่อสังคมดีแล้ว
น้องๆ พี่ๆ สละชีพไปหลายคน คิดถึงไอ้เติบ ตานี เขาเป็นน้องที่คณะ เป็นคนปัตตานี เรารักใคร่กันมาก เติบ เป็นคนตรงไปตรงมาตามนิสัยคนใต้ สนใจไฝ่รู้และจริงจังทุกอย่าง น้องสละชีพเพราะพกระเบิดในป่าแล้วเกิดพลาด กว่าจะเอาศพออกมาได้ ก็หลายสิบปี พี่น้องต้องเดินหาที่ฝังศพแล้วขุดเอากระดูกมาทำพิธีกรรมทางศาสนาให้
ต่างคนต่างเลือกเส้นทางที่ตนเองชอบ ถนัด หลายคนเป็นนักการเมืองทั้งเหลืองทั้งแดง กล่าวถึงไปบ้างแล้ว บางคนเป็นพ่อค้าเล็กๆเงียบๆ แต่มีกิจกรรมที่สนับสนุนพี่น้องที่เคยไปขออาศัยข้าวปลาอาหารกินสมัยอยู่ป่า บางคนมุ่งหน้าเรียนจนจบเมืองนอกเมืองนาเป็นครูบาอาจารย์โด่งดัง
ส่วนผมพึงพอใจที่จะเดินบนเส้นทางชนบทต่อไป
14 ตุลาสร้างให้ผมเกิดมาอีกครั้งในมุมจิตสำนึกเล็กๆ
ก็ขอจบสิ้นที่มุมนี้ก็แล้วกัน
รำลึกถึงอุดมการณ์ 14 ตุลา..
การประชุมพี่น้องโส้ครั้งนั้น คุยกันว่า
วันนี้ชาวบ้านเตรียมจักตอกเพื่อใช้มัดข้าวในนาที่กำลังจะต้องเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว
ข้าวมีหลายประเภท ข้าวที่เก็บเกี่ยวก่อนเรียก “ข้าวไร่”
ถัดมาที่ต้องเก็บเกี่ยวเรียงไปคือ “ข้าวดอ”
แล้ว “ข้าวกลาง” และที่ล่าที่สุดคือ “ข้าวนาปี”
พี่น้องโส้คนหนึ่งพูดมาว่า
…ตอนนี้ปิดเทอมเด็กเต็มบ้าน พอจะเกี่ยวข้าวโรงเรียนก็เปิด แทนที่จะได้อาศัยแรงงานเด็กบ้างก็กลายเป็นภาระต้องดูแลลูกก่อนไปโรงเรียนอีก งานในนาก็ยุ่ง ทำไมไม่ปิดโรงเรียนให้สอดคล้องกับการทำนา ถามกระทรวงศึกษาหน่อยซิอาจารย์…
…แต่ก่อนเราหยุดวันพระ เพื่อให้ชาวบ้านไปทำบุญกัน
ทุกวันนี้เราหยุดเสาร์ อาทิตย์ นี่ไงเล่าเด็กมันถึงห่างวัด ห่างธรรม…
…การจัดการศึกษานี้เอาอะไรมาเป็นตัวตั้งล่ะ
ไหนบอกว่าเอาท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง…
อือ…น่าคิด
งามสง่าจริงๆ ยามเจ้าร่อนไปอย่างอิสรเสรี
แค่กางปีกที่ใหญ่และแข็งแรง รับลมแล้วร่อนเร่ไป
สายตาที่ดีที่สุดของเจ้านั้น สอดส่องมองหาเหยื่อ
เพื่อยังชีพสำหรับวันนี้ ไม่เคยกักตุน
ไม่ละโมบ ไม่ซับซ้อน อิ่มก็พอ หิวก็ออกไปหาใหม่
ลองพิจารณารูปนี้ดีดีหน่อย ท่านจะเห็น “คอก” ท่านลองเดาซิว่าเขาใช้คอกนี้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ความจริงแคร่ที่เห็นนี้เรามานั่งนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว เพราะบ้านหลังนี้คือบ้านของผู้นำเครือข่ายไทบรู ที่เรางานด้วย พ่อหวัง คือเจ้าของบ้านและเป็นผู้นำเครือข่ายนี้
แรกสุดผมแปลกใจที่เห็น คอก มาอยู่ตรงนี้ เมื่อสอบถามพ่อหวังผมก็อ๋อ ทันที คือพ่อหวังมีหลานน้อยอายุ 11 เดือน และที่บ้านหลังนี้ยังทำเป็นร้านค้าโชว์ห่วย เพิ่มรายได้จากการทำนาทำสวน ด้านหนึ่งหลานน้อยเป็นภาระ แต่เป็นภาระที่ทุกคนมีความสุข
ยามที่พ่อหวังอยู่บ้านขายสินค้า และดูแลหลาน ภรรยาก็ไปสวน เมื่อคราวที่พ่อหวังไปสวน ภรรยาก็มาขายสินค้าและดูแลหลาน สลับกัน ทั้งพ่อหวังและภรรยาเหมือนคนทั่วไปที่รักหลานยิ่งกว่าลูก อยู่ใกล้ๆไม่ห่าง ยามนอนก็ไกวเปล ยามตื่นก็อุ้ม เอาของเล่นให้เล่นตามประสา หิวก็เอานมป้อน..ฯลฯ
ภาระที่มีความสุขนี้คือปัญหาเล็กๆ ยามที่มีคนมาซื้อสินค้า ก็ต้องหอบหิ้วหลาน กระเตงไปขายสินค้าด้วย แต่หากต้องไปขายน้ำมัน ที่เรียกปั้มหลอดนั้นเอาเด็กไปด้วยก็ไม่ดี ก็ต้องเอานอนเล่นที่แค่นั้น แล้วรีบวิ่งไปขายแล้วกลับมาดูแล แต่ก็พลาดจนได้ เมื่อการซื้อขายต้องใช้เวลานาน หลานตกแคร่ไปครั้งหนึ่ง แต่โชคดีที่ช่วงนั้นมีสิ่งรองรับ หลานจึงไม่เป็นอะไร
เมื่อแรงงานมีเพียงแค่นี้ และมีงานสวนงานนาที่ต้องทำ ทางออกคือทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงหลานด้วยทำภารกิจไปด้วยอย่างปลอดภัย แล้วนวัตกรรม “คอก” ก็ออกมา แบบง่ายๆ ไม้ไร่บ้านเรามีมากมาย ทำให้ถี่ และขัดให้กลมไม่มี ข้อหรือร่องรอยที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่เด็ก….
พ่อหวังบอกว่า..อาจารย์ เมื่อวันก่อน เจ้าหน้าที่อำเภอมาเห็นเข้าก็บอกว่า ระวังนะนี่มันผิดหลักการดูแลเด็ก ผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิเด็ก อะไรก็ไม่รู้มากมาย เจ้าหน้าที่ท่านนั้นกล่าวกับพ่อหวัง..
เล่นเอา ชาวบ้านคนหนึ่งที่อยู่กับวิถีชุมชนเชิงภูเขามาตลอดชีวิตจนมาถึงครึ่งค่อยอายุแล้วมาโดนคำติของเจ้าหน้าที่ท่านนั้นเข้าก็ สะอึก..
อาจารย์ดูซิ หลานผมหัดยืนได้ โดยการใช้มือจับไม้กลมๆนี่ และเขาก็หัดเดินด้วย วนไปมาในนี้ ปลอดภัย เบื่อก็นั่งเล่นตุ๊กตา เมื่อเราว่างเราก็อุ้มออกมาข้างนอก เมื่อมีภาระเราก็เอาเขาใส่ในนี้ และเราก็อยู่ในสายตาเขาตลอด เขาก็อยู่ในสายตาเราตลอด และเราก็ไม่ใช่ว่าจะขังเขาไปนาน เป็นปีปีเมื่อไหร่….
พ่อหวังแสดงทัศนะส่วนตัวที่ขัดแย้งกับคำติของเจ้าหน้าที่อำเภอท่านนั้น…
ผมนั้นเห็นด้วยกับพ่อหวังเต็มๆ…
ท่านคิดอย่างไรเล่าครับ..
ข
การเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น มีอยู่ตลอดเวลา ทุกคนรู้ดี การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปด้วยกฎของธรรมชาติ และเป็นไปตามเหตุปัจจัย
สังคมสิ่งมีชีวิต นี่สิ แม้ว่าอยู่ภายใต้กฎแห่งธรรมชาติเช่นกัน แต่ ความมีชีวิต มีจิตวิญญาณนั่นแหละที่เป็นเหตุปัจจัยใหญ่ที่ไปเร่งให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลง และขาดความสมดุล ยิ่งจิตวิญญาณนั้นมีกิเลสครอบงำ ก็ยิ่งทวีคูณการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
ใครก็ไม่ทราบกล่าวไว้ว่า “ทรัพยากรธรรมชาติมีไว้เพียงพอสำหรับทุกคนในโลกนี้ แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนโลภอันเนื่องมาจากกิเลส..”
จะเรียกศิลปะ เราก็ไม่ใช่ศิลปิน
จะเรียกการ์ตูน เราก็ไม่ใช่การ์ตูนนิสต์
แค่ตื่นขึ้นมา เห็นไอหมอกติดกระจกด้านนอกของห้องพัก
คราวไปเยือนเหนือ
เลยนึกเล่นสนุกๆ เอื้อมมือไปขีดเขียนด้านนอกกระจกหน้าต่าง
เกิดการรวมตัวของไอหมอกกลายเป็นหยดน้ำไหลลงเป็นทางยาว
เลยถ่ายรูปไว้เล่นๆ
แก้ความเมื่อยล้าจากงานเขียน มาแหย่อุ้ย อึ่งอ๊อบ น้องอึ่ง อารามและใครๆอีกหลายคนที่จะไปหงสาด้วยแผนที่ google earth
เส้นทางจากด่านห้วยโก๋นฝั่งไทยไปด่านลาว แล้วก็เดินทางไปหงสา ระหว่างทางผ่านเมืองเงิน
เรามีมุมมองคำว่าเมืองของเรากับคำว่าเมืองของลาวนั้นแตกต่างกัน เมืองของเขานั้นก็คือหมู่บ้านที่มีอดีตในประวัติศาสตร์ เป็นหมู่บ้านที่มีลักษณะชนบทแบบบ้านเรา ตรงข้ามคำว่าเมืองของเรานั้นคือตึกรามบ้านช่องเป็นสมัยใหม่หมดแล้ว แต่ที่นั่น ยังเดิมๆ ผมอ่านว่าเพราะชุมชน “เมือง” ของเขานั้นมีสภาพปิด มานาน การคมนาคม คิดต่อสื่อสารกับชุมชนอื่นๆ ยากลำบากมาก ทำให้การเปลี่ยนแปลงมีน้อยมาก นี่คือเสน่ห์ของเมืองเงิน เมืองหงสา เหมือนเราไปชมตลาดสามชุก แล้วบางคนก็อ้าปากค้างว่า ยังมีชุมชนแบบนี้อีกหรือ
เมืองหงสาดูแบบนี้แล้วมีพื้นที่กว้างใหญ่มากกว่าเมืองเงิน มีชุมชนที่ใหญ่กว่า ประชากรมากกว่า ความยากลำบากของการคมนาคมต้องให้อาวเปลี่ยนเล่าให้ฟัง นี่เองที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงมีน้อย ท่านที่ชอบความเดิมๆของชนบทนั้นเดาได้เลยว่า มีของดีโบราณมากมายในชุมชน เช่น เสื้อผ้าเดิมๆ วิถีชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ไม้สอย การอุปโภคบริโภค ภาษา ฯลฯ ยังเดิมๆ อิอิ น่าอนุรักษ์ไว้เน๊าะ ไม่ให้เปลี่ยนแปลง..
ภาพนี้ให้เห็นเส้นทางระหว่างเมืองเงินกับหงสาที่ต้องผ่านยอดเขาโค้งไปมา ถนนเป็นลูกรังบนภูเขาที่มีหลายตอนเป็นดินเหนียว เป็นฝุ่น เป็นร่อง เป็นหน้าผา เป็นทางแคบๆ ฯลฯ ใครที่ชอบลุยๆละก็สมใจครับ ปัจจุบันบ้านเราเกือบจะไม่มีชุมชนแบบนี้แล้ว ยกเว้นชาวเขาบางพื้นที่
มีข้อมูลว่า ถนนเส้นนี้มีแผนงานจะพัฒนาเป็นถนนลาดยางที่เรียกถนนดำ โดย WB หรือ ADB นี่แหละ เดาซิว่าหากทำเสร็จอะไรเกิดขึ้นบ้าง พี่ไทยคงขับรถไปเที่ยวกันเหมือนเราเที่ยวลาวใต้ที่ “หลี่ผี” “จำปาสัก” “ปราสาทวัดภู” ฯลฯ ไปแย่งกันกินกันใช้ และเอาวัฒนธรรมสมัยใหม่ไปแพร่โดยอัตโนมัติ
เราไม่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง
แต่เราปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงที่เกินความสมดุล
ลุงเอกติดต่อมาอยากพาคณะ สสสส ไปดูงานเรื่องความขัดแย้ง ในอีสานขอแนะนำด้วย
เลยถือโอกาสนี้คุยเรื่องนี้ซะหน่อย อีสานหรือที่ไหนๆก็มีเรื่องความขัดแย้งทั่วไป ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นเล็กๆไปจนถึงระดับชาติ มีผลประโยชน์เป็นพันล้านหมื่นล้านทีเดียว แต่ผมไม่เข้าไปลงรายละเอียด ในแต่ละเรื่อง แค่เฉียดไปเฉียดมา
เรื่องที่ 1 เขื่อนราศีไศล นี่อมตะนิรันดร์กาล เพราะคาราคาซังมานานเต็มที การสร้างเขื่อนมีประโยชน์หลายประการ ตั้งแต่เก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรและอื่นๆ เป็นแหล่งเลี้ยงปลา และให้ชาวบ้านจับปลาได้ ฯ แต่ผลเสียก็มีกรณีเขื่อนราศีไศลนั้นกระทบมากเพราะหน้าเขื่อนเป็นทาม เป็นบุ่ง ในพื้นที่กว่างใหญ่มาก คนภาคอื่นไม่รู้จัก แม้คนอีสานจำนวนมากก็ไม่รู้จัก บุ่ง ทาม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีคุณค่าทางระบบนิเวศเมื่อไปสร้างเขื่อนเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง ไปกระทบบุ่งทามที่น้ำจะท่วมตลอดทำลายระบบนิเวศบุ่ง ทามสิ้นและบุ่ง ทามมีความผูกพันกับวิถีชีวิตประชาชนรอบๆบริเวณนั้นมานานแสนนานและคนจำนวนมากอาศัยบุ่ง ทามนี้ ก็เกิดความขัดแย้งกันซิทีนี้
เรื่องที่ 2 แหล่งแร่โปแตส ที่อุดรธานี การเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ก็มีทั้งข้อดีข้อพึงระมัดระวัง ข้อดีก็เอาแร่ธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์เสีย แต่กระบวนการขุดแร่นั้นกระทบต่อพื้นที่ ชุมชน อาชีพของประชาชนในท้องถิ่นนั้น …
เรื่องที่ 3 การขุดเจาะแก๊สที่ภูฮ่อม รอยต่อขอนแก่นกับหนองบัวลำภู แล้วเอาแก๊สมาใช้ โดยต่อท่อยาวมหาศาลมาโผล่ที่น้ำพองขอนแก่น โดยบริษัท เฮสส์ ได้รับการประมูลมา การขุดเจาะแก๊ส การฝังท่อแก๊ส ล้วนสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนแถบนั้นมากมาย ต่อสู้กันไม่จบสิ้น
เรื่องที่ 4 โรงงงานผลิตกระดาษกับการบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งกลิ่นน้ำเสียนั้น อยู่น้ำพองบางทีลมพัดมาถึงตัวเมืองขอนแก่น แล้วคนแถบนั้นจะอยู่อย่างไร การผลิตกระดาษนั้นต้องใช้ต้นไม้ ทั้งไผ่ ยูคาลิปตัส และอื่นๆ เอามากองเป็นภูเขาเลากา เกิดอะไรขึ้นบ้าง หนึ่งก็คือ เกิดแมลงที่ชอบเจาะกินเนื้อไม้ ที่เรียกมอด มหาศาล เป็นกองทัพ เกิดขึ้นเพราะมีไม้กองอยู่รอการเอาเข้าโรงงาน แล้วจำนวนมากมายของมอดมันขยายเข้าไปในหมู่บ้านซิ ตายๆ ตายๆ ไม้ไร่ แคร่ที่ชาวบ้านชอบเอามานั่งเล่นคุยกันใต้ถุนบ้าน โดนมอดกัดกิน วินาจสันตโร นั่งๆอยู่บันก็บินมาชนคน …
โอย เยอะไปหมด
ที่แนะนำลุงเอกนั้นให้ไปพบเพื่อนรัก NGO ใหญ่อีสาน ที่นำหน้าชาวบ้านเดินขบวนมามากมายมานอนหน้ากระทรวงเกษตรก็มี คนนี้ออกทีวีบ่อย ตอนนี้เข้าสู่ระบบการเมืองท้องถิ่นคือ นายกอบต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ที่ไม่มีคอรับชั่น การมาพบพูดคุยกับ บำรุง คะโยธาในวันที่ 14 ตุลานี้ น่าจะได้ภาพอีสานทั้งอีสานด้วยซ้ำไป เพราะ บำรุงต่อสู้มาตลอด เป็นผู้กว้างขวางมากคนหนึ่งที่จัดการเรื่องความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ…
การมาพบของทีม สสสส ครั้งนี้กับบำรุงน่าสนใจ ผมจะแอบไปร่วมด้วยครับ
คงได้พบกับหมอเจ๊ด้วยนะครับ
เครื่องเดิมที่ใช้เป็นของส่วนตัว จอพัง frame แตก แป้นหลุด เพราะใช้งานหนัก พอมาเมื่อสองปีที่ผ่านมาโครงการซื้อเครื่องให้้ใช้ตอนนี้โครงการจะปิด ต้องโอนเครื่องให้ราชการ เลยไปถอยเครื่องมาใหม่ มาลอง set เครื่องเพื่อใช้งานต่อไป
วันนี้เดินทางกลับมาขอนแก่น ผ่านพื้นที่ชลประทานเขื่อนลำปาว กาฬสินธุ์ พื้นที่ทำงานเก่าของผม โห…นาบางแปลงเกี่ยวข้าวแล้ว ขณะที่บางจุดที่มุกดาหาร เพิ่งมีการดำนาซ่อมไปเมื่อต้นเดือน
พื้นที่ชลประทาน เขื่อนลำปาวนั้น ไม่สนใจว่าฝนจะมาหรือไม่ แค่ขอน้ำจากชลประทาน น้ำก็มาถึงแปลง ไม่ได้ถ่ายรูปมา
ตอนอยู่ลำปาวเราก็ตระเวนไปประชุมสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ ปรึกษาหารือเรื่องการปลูกข้าว มีปัญหาอะไรไหม นักเกษตรทำหน้าที่เต็มที่ น้ำมีปัญหาไหม หากมีก็ประชุมปรึกษาหารือกันระหว่างสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำกับนักชลประทานและนักเกษตร
มีเกษตรกรหลายคนที่ลงมาขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ก็เลิกอาชีพขับรถกลับไปทำนาดีกว่า.. เพราะน้ำดี
ส่วนใหญ่ก็มีปัญหาซ้ำๆ และชาวบ้านก็คุ้นเคยกับการแก้ปัญหา เจ้าหน้าที่แทบไม่ต้องทำอะไรมากนัก เพราะชาวบ้านรู้ดีอยู่แล้ว
ระบบชลประทานเป็นนวัตกรรมผสมผสานระหว่างนักเทคนิคกับนักสังคมและนักส่งเสริมเกษตร ทำงานด้วยกัน ปรึกษาหารือกัน และแลกเปลี่ยนเหตุและผลต่อกันทั้งหมดเพื่อประโยชน์ชาวบ้าน…
หากพิจารณารายละเอียดแล้ว เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานได้เปรียบหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับเกษตรกรนอกเขตชลประทาน ลำปาวมีพื้นที่รับประโยชน์สูงมากถึง 100,000 ไร่ และส่วนมากไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำ เพราะพื้นที่รับน้ำกว้างมาก ขณะที่เขื่อนอื่นๆมักมีปัญหาปริมาณน้ำทุกปี
หลายท่านไม่เชื่อว่าที่มีมีการเลี้ยงกุ้งน้ำกร่อย ใครอยากกินกุ้งเผาสดๆต้องมาลำปาว มีร้านกุ้งเผามากมาย กุ้งน้ำกร่อยทำอย่างไรหรือ….
เขาไปบรรทุกน้ำทะเลมาผสมกับน้ำเขื่อน แล้วเลี้ยงกุ้งครับ หลายปีก่อนนั้นเกิดปัญหาใหญ่ เพราะน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งนั้นถูกปล่อยลงแปลงนาข้างเคียง แต่พบว่า ข้าวงามมาก งามมาก มาก งามจนไม่มีรวงข้าว ที่เขาเรียกว่า เฝือใบ… บริษัทใหญ่ของไทยที่แหละไปส่งเสริม…
ได้อย่างหนึ่ง อีกหลายอย่างเสีย….
หากไปถามเด็กๆว่า 1+1 เท่ากับเท่าไหร่ เด็กๆคงรีบยกมือแล้วบอกว่า ถ้าหนูตอบถูกต้องให้ขนมหนูนะ แล้วรีบแย่งกันตอบว่า 2 ครับ, ค่ะ
หากไปถามแม่ค้าในตลาด แม่ค้าคงค้อนสามตลบ แล้วก็ด่าอีกสามกระบุง เสียงบ่นตามหลังมาว่า มันจะบ้ารึ มาถามอะไรแบบนี้ โน่นไปถามเด็กประถมโน้นไป๊…
หากไปถามนักฟิสิกส์ จบ ดร. มาจากอเมริกา นักฟิสิกส์ จะมองหน้าผู้ถามแล้วก็ทำคิ้วขมวด แล้วตอบว่า เออ.. มันแล้วแต่ว่า 1 ตัวแรกมันเป็นสารชนิดไหน มีมวลเท่าไหร่ มันมีความร้อนในตัวมันกี่เซลเซียส มันอยู่นิ่งๆหรือว่าเคลื่อนที่ ด้วยความเร็วเท่าไหร่ ในองศาเท่าไหร่ของเส้นระนาบ….?????
หากไปถามนักสังคมสงเคราะห์ เขาก็จะถามว่า มันขึ้นกับว่า 1 แรกนั้นเป็น หนูแอน น่าร๊ากกกก หรือเปล่า และ 1 ตัวที่สองเป็นฟีล์ม รูปหล่อสะบัดโลกใช่หรือไม่
หากไปถามนักคณิตศาสตร์ ที่จบมาจากเยอรมัน ก็คงคิดว่า อีตาคนนี้จะมาไม้ไหนกันวะ.. แล้วก็อาจจะบอกไปว่า อันนี้เป็นกระบวนวิธีการนำเข้าสู่บทเรียนแบบ เรียนสนุก ลุกนั่งสบาย รึเปล่า อิอิ…..เอิ๊ก… (แซวเล่นเด้อครับ)
ที่สำนักงานใหญ่แห่งหนึ่ง ท่าน CEO สัมภาษณ์สาวๆ เพื่อเอามาทำงานเป็นฝ่ายบัญชี แล้วตั้งคำถามว่า นี่หนู ตอบซิว่า 1 + 1 เป็นเท่าไหร่จ๊ะ….
หนูแหม่ม ตอบว่า ก็ เท่ากับ 2 ซิคะท่าน…. ท่าน CEO มองหน้าแล้วก็ชี้นิ้วไปที่ประตูว่า ไปเลย มาทางไหนไปทางนั้นเลย….
ท่าน CEO ถามน้อง จีจี้ ว่า แล้วหนูคิดว่าคำตอบมันเป็นเท่าไหร่จ๊ะ….
หนู จีจี้..ยิ้มหวานที่สุดแล้วตอบว่า: “แหม..ท่านค๊ะ อันนี้ก็แล้วแต่ท่านละค่ะ ว่าจะให้เป็นเท่าไหร่ ได้หมดเลยค่ะ…”
ท่าน CEO ตบมือแปะๆ เก่งมากหนู จีจี้ พรุ่งนี้มาทำงานได้เลยนะครับ
“ประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเป็นใหญ่
แต่ประโยชน์ของประชาชนต้องเป็นใหญ่
หากประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนที่บ้าบอก็มี
บ้านเมืองก็ฉิบหายหมด..”
…ท่านพุทธทาส…
กำลังรื้อถอนผลงานของกลุ่มผู้ที่อ้างว่ารักชาติ เชิดชูประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย ในความหมายของเขาคือการทำลายอย่างนั้นหรือ
จะให้เด็กรุ่นหลังเรียนรู้อะไรจากคนรุ่นนี้ในความหมายของคำว่าประชาธิปไตย ในเมื่อการกระทำแบบนี้ เขาอ้างว่านี่คือกลุ่มรักชาติ รักประชาธิปไตย
หากการเคลื่อนตัวของสังคม ประเทศชาติเต็มไปด้วยอารมณ์เหนือเหตุผล
เราก็กำลังก้าวลงสู่หุบเหวแห่งความพินาจ สิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน
โปรดใช้สติเถิด..
นานมาแล้วผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ช๊อคความรู้สึกผมมาก ผู้เขียนฆ่าตัวตายโดยการดื่มสารพิษและพยายามตั้งสติบันทึกความรู้สึกนั้นๆออกมาเป็นอักษรว่าคนที่กำลังจะตายแบบเขานั้นเป็นอย่างไร คิดอะไร ฯลฯ มันหดหู่ และกระตุกความคิดมากมายทีเดียว….
ผมเคยเขียนถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ “เดินสู่อิสรภาพ” ของอาจารย์ ประมวล เพ็งจันทร์ ผมอยากที่จะเขียนถึงอีกเพราะผมชอบ สำหรับท่านที่ไม่เคยรู้จักเล่มนี้ขอแนะนำสั้นๆว่า ประมวล เพ็งจันทร์เป็นชาว สุราษฎร์ เกาะสมุย จบปริญญาเอกด้านปรัชญาจากอินเดียแล้วไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่แล้ววันหนึ่งก็ลาออกจากราชการและเดินด้วยเท้าจากเชียงใหม่กลับบ้านเกิด
ระหว่างการเดินทางนั้นไม่มีเงินติดตัว ด้วยความตั้งใจเช่นนั้นค่ำไหนนอนนั่น ทำการบันทึกว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วเรื่องราวต่างๆก็ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ที่มีความหนาถึง 500 หน้า
ผมสนใจสภาวะด้านในของอาจารย์ ประมวล ที่สะท้อนออกมาระหว่างการกระทำที่มนุษย์สมัยนี้ไม่มีใครทำ ส่วนตัวผมคิดว่าจิตใจด้านในนั้นจะอยู่ในสภาวะที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับจิตใจมนุษย์ที่มุ่งหาความสุขความสะดวกสบาย นี่เองที่ผมชอบมากๆว่าทุกย่างก้าว เกิดอะไรบ้าง และคิดอะไรบ้าง อาจารย์เผชิญการต่อสู้ด้านในมากมายซึ่งดูเหมือนอาจารย์ก็รู้ว่าจะต้องเผชิญอะไรบ้าง
อาจารย์เห็นสังคมด้านปรกติ และอีกด้านหนึ่งที่ยังพบอยู่ในสังคมไทยเรา เห็นความงดงามสิ่งนั้น ได้เสพสุขกับภาพ การสัมผัส และความรู้สึกที่เกิดขึ้นแม้ในจิตใจของช่วงเวลานั้นๆ ถ่ายทอดมาเป็นภาษา แม้ว่าว่าภาษาจะมีข้อจำกัดในตัวมันเอง ผู้อ่านก็สัมผัสส่วนลึกนั้นได้จริงๆ เช่น การที่อาจารย์กำหนดการเดินครั้งนี้ว่าไม่เอาเงินติดตัวไปเลยจะขอใช้ความเป็นมนุษย์อยู่รอดให้ได้ ในสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยตามชุมชนที่อาจารย์เดินผ่านไป
เดาซิครับว่า การอยู่รอดของชีวิตในสภาวะไม่มีเงินตรานั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีทั้งการมองมาด้วยคำถาม ไม่ไว้ใจ ระมัดระวัง รวมไปถึงสงสาร อยากช่วยเหลือ..
อาจารย์ได้สรุปความคิด ความรู้สึกที่สัมผัสมาอย่างข้างบนนั้น จากบทนี้มีความคิดเกิดขึ้นมากมายว่า สังคมเงินตราจะพัฒนาไปสู่จุดจบแบบไหนในอนาคต
ผมมีความรู้สึกว่าพัฒนาการสังคมนั้นทำให้มนุษย์ยิ่งออกห่างไกลความเป็นธรรมชาติ และการอยู่รอดที่พอดี มิใช่การเสพ หรือการบริโภคที่ทำลายธรรมชาติอย่างมากมายในปัจจุบันนี้
อาจเพราะอาจารย์เป็นผู้ยึดหลักศาสนาและความเป็นผู้มีฐานคิดแบบปรัชญา การตัดสินใจเดินครั้งนั้น ผมคิดว่ามิใช่อาจารย์ได้ค้นพบอิสรภาพของตัวเองแล้ว ยังได้สอนให้เราได้ย้อนมาทบทวนการดำรงชีวิตได้อย่างแรงทีเดียวครับ
ในหน้าสุดท้ายของ “เดิอนสู่อิสรภาพ”นั้นอาจารย์สรุปว่า
ชีวิต…..ยังมีความสุขในแบบที่เราไม่เคยรู้จักอีกเยอะแยะ
ขอบพระคุณอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์เป็นอย่างสูง ที่ชี้ให้เห็นชีวิตที่ควรจะเป็นนั้นมีอยู่..
(หมายเหตุ: ลายเส้นในฉบับนี้เป็นฝีมือพี่เทพศิริ สุขโสภาด้วยครับ)
เราตั้งคำถามแก่กลุ่มผู้อาวุโสของเครือข่ายไทบรูดงหลวง ที่มีอายุสูงกว่า 55 ปีขึ้นไป เราพบข้อมูลในเรื่องวิถีชีวิตมากมายค่อนข้างละเอียด หลายเรื่องเราไม่ทราบมาก่อน บางเรื่องเราไม่คิดว่าจะมีอยู่ และเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ชาวบ้านไม่ได้อธิบายหากเราไม่ตั้งคำถาม และบางเรื่องเราก็ยังนึกไม่ออกว่าจะตั้งคำถามอะไร แต่ข้อมูลมีอยู่ เรากะว่าทิ้งเวลาไว้ให้เราทบทวนข้อมูลที่ได้แล้วจะกลับมาสอบถามเพิ่มเติม แม้ว่าจะยังไม่ถึงที่สุดแต่ก็เห็นภาพที่ชัดเจน เราทดลองเอาข้อมูลมาจัดหมวดหมู่โดยใช้ Mind map ก็ได้แผนภาพดังกล่าวนี้
เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราเอามาจัดหมวดหมู่ในรูปแบบใหม่ เพื่อง่ายต่อการพิจารณาให้เข้ากับหลักปัจจัย 4 เราจะได้ข้อมูลดังแผนภาพ
เมื่อเราพิจารณาข้อมูลเราพบว่าสามารถจัดหมวดหมู่ให้เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ที่วิถีสังคมดงหลวงโบราณสร้างขึ้นและมาครบถ้วน ดูแผนภาพต่อไปนี้
เมื่อเราให้สีที่แตกต่างกันเราก็เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 แน่นอนครับเกษตรกรไม่ได้ทำกิจกรรมทั้งหมด ในแต่ละครอบครัว เช่น แต่ละครอบครัวไม่ได้ปลูกถั่วทุกชนิด แต่ถั่วทุกชนิดนั้นมีปลูกอยู่ในชุมชน และอาจจะมากกว่านี้ ข้อมูลเหล่านี้คือความหลากหลายของชนิดพืชและกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ถ้วน ทั้งหมดนี้ทำเอง ปลูกเอง สร้างขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อหามา อย่างมากก็แลกเปลี่ยนกัน
เมื่อมีเวลาเราให้ชาวบ้านเล่าเรื่องข้าวสมัยนั้น ว่าแต่ละพันธุ์นั้นเป็นเช่นไรบ้าง ลักษณะพันธุ์ สี ขนาด วิธีปลูก การเก็บเกี่ยว การบริโภค การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษา ความนิยมในการบริโภค ฯลฯ พิลึกพิลั่นจริงๆ ที่เราเสียดาย ว่าความรู้เหล่านั้นกำลังสูญหายไปกับการเคลื่อนตัวของสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่…
ยกตัวอย่างข้าวพันธุ์ซอด(เป็นเสียงที่เราฟังเอามาบันทึก หากผิดเพี้ยนก็ขออภัย) ชาวบ้านบอกว่าเมล็ดใหญ่ น้ำหนักมาก ไม่สามารถเกี่ยวได้เมล็ดมันจะร่วงต้องใช้วิธีรูดเอาเมล็ดจากรวงใส่ภาชนะเลย จินตนาการไปมือไม้ชาวบ้านที่ทำงานหนักแบบนี้คงจะหยาบกร้าน ข้าวที่นิยมมากที่สุดคือ อีน้อยกับซอด
ที่มหัศจรรย์คือ ครอบครัวหนึ่งนั้นมีที่ดินปลูกข้าวประมาณ 2-3 ไร่ มากสุดไม่เกิน 5 ไร่ และปลูกทุกอย่างผสมผสานลงไปในแปลงข้าวไร่นั่นแหละ นี่คือแปลงพืชผสมผสานจริงๆ มีทุกอย่างที่กินได้อยู่ในสวนนี่เอง
แต่ต้องเฝ้าตลอดมิเช่นนั้น ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินพืชผัก เพราะหมูป่ามากินหมด ต้องตีเกราะ เคาะวัตถุให้มีเสียงดังๆ หมูป่าจะได้หนีไป นอกจากหมูป่าก็มีนก ลิง ทั้งนกทั้งลิงมันมาเป็นฝูงหากเผลอลงกันละก็ปีนั้นไม่ได้กินข้าวแล้ว ต้องหาของไปแลกข้าวแล้ว ฯลฯ
สรุป