หมอก

192 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 มกราคม 2011 เวลา 13:04 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6781

หลังบ้านเป็นทุ่งในฤดูแล้ง เป็นบึง และแก้มลิงในฤดูฝน

เมื่อเช้าวานมีหมอกลงจัด สักพัก พออาทิตย์ขึ้นก็จางหายไป

อยากเขียน แต่ไม่ได้เขียนบันทึก

เพราะการทำรายงานล้นมือจริงๆ 4 โครงการ

ว่างเว้นการเขียนรายงานไปนาน กลับมาอีกที

ล่อกันหน้ามืดเลย

ปลายเดือนไปเวียงจันเก็บข้อมูลเพิ่มเติม แล้วก็เขียนรายงาน

กลางเดือนหน้า ก็ต้องส่งรายงาน

สิ้นเดือนนี้ก็ส่งรายงาน

รากงอกอยู่บนเก้าอี้นี่แหละ อิอิ

ก็มันอาชีพของเรา ไม่ได้บ่น แค่เปรยเฉยๆ อิอิ


กล้วย

68 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 มกราคม 2011 เวลา 15:26 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1677

กล้วยน้ำว้าหวีงามนี้ ในตลาดขอนแก่นขาย 20-25 บาท

ในห้างสูงขึ้นไปอีก 10-15 บาท

สมัยก่อนราคา 3-5 บาทต่อหวี แจกแถมกันไม่หวาดไหว

ปลูกง่าย ขึ้นง่าย ไม่ต้องดูแลมากมายใดๆ

คุณค่าเหลือหลาย ดัดแปลงเป็นของหวานได้มากมาย แล้วแต่ถนัด แล้วแต่ชอบ

แต่กล้วยน้ำว้าหวีที่ห้อยโตงเตงนี่ อยู่ที่ร้านอาหารสมาคมกีฬาเมืองปากซัน ลาว

กินฟรีครับ ใครเข้ามาเป็นแขกของร้านเสร็จสิ้นอาหาร

อยากกินกล้วยก็เดินมาเอาไปกินตามใจปรารถนา เจ้าของร้านให้ฟรี

จะเรียกว่า เทคนิคการขายอาหาร หรือการเอื้อเฟื้อ หรือน้ำใจก็แล้วแต่

นอกจากกินเสร็จแล้วผมหิ้วมันกลับห้องไปอีกครึ่งหวี อิอิ


อุบัติเหตุ ๑

240 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 มกราคม 2011 เวลา 10:22 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2842

ที่หยิบเรื่องนี้มาเขียนบันทึกเพราะต้องการเตือนตัวเองและทุกท่านที่ใช้รถใช้ถนน ทั้งขับเองและนั่งโดยสาร


เมื่อคราวที่ผมเดินทางไปเมืองไชยบุรี ลาว ที่เพิ่งกลับมานั้น มีเรื่องตื่นเต้นทั้งขาไปขากลับ ผมเดินทางจากเวียงจันไปหลวงพระบาง ส่วนเจ้านายและทีมงานเดินทางจากกรุงเทพฯไปหลวงพระบาง ผมไปถึงช้าครึ่งชั่วโมงตามกำหนดการของเครื่องบิน


เมื่อทุกคนพร้อมหน้าก็นั่งรถไปสองคัน เจ้านายนั่งรวมกันที่คันหน้า เป็น Ford Everest ส่วนผมนั่ง Vigo เนื่องจากเลยเที่ยงมาแล้วจึงไปแวะกินเฝ๋อที่ร้านดังในเมืองหลวงพระบาง แล้วก็เดินทางต่อไปยังเมืองไชยบุรี

วันนั้นเมฆครึ้มไปหมด และมีละอองฝนโปรยปรายลงมาตอนอยู่ที่สนามบิน คนขับรถบอกว่าเมื่อคืนมีฝนตกมาพอสมควรด้วย ระหว่างเดินทางไปไชยบุรีนั้น ถนนเส้นนี้อาว์เปลี่ยนใช้มาเยอะ และสภาพถนนก็พอๆกับเส้นหลวงพระบาง-เมืองหงสากระมัง ปกติหากฝนไม่ตก ก็จะมีฝุ่นตลบอบอวล หากฝนตกก็จะเป็นโคลน ทำให้นึกถึงสมัยอยู่สะเมิง ที่เราคุยกันว่ามีเพียงสองฤดูคือ ฤดูฝุ่นกับโคลน สภาพชนบทในลาวก็คือเมืองไทยเมื่อสามสิบสี่สิบปีที่แล้ว

คนขับรถ Vigo ของผมนั้นมี Director บริษัทที่ผมต้องเป็นผู้ Monitor งานนั่งไปด้วยโดยเขาสละสิทธิ์ให้ผมนั่งหน้า เขานั่งข้างหลังโดยมีเครื่องใช้สำนักงานเต็มไปหมด คนขับรถคันที่ผมนั่งขับดีมาก ระมัดระวังตลอด มารยาทดี และบ่นว่าคันหน้าขับเร็วไปหน่อยเพราะตามไม่ค่อยทัน ซึ่งเขาบอกว่า เจ้า Everest นั่นเป็นโชคอับ นิ่มกว่า Vigo ที่เป็นแหนบ ซึ่งสะเทือนมากกว่าเมื่อเจอะทางขรุขระ การนั่งรถคันนิ่มๆทำให้ขับได้เร็วกว่า ส่วนคันที่สะเทือนมากกว่า คนขับก็ห่วงเจ้านายที่เป็น Director จึงขับช้าลงมา

ขับไปสักสี่สิบนาทียังไมถึงเมืองนาน ก็เกิดอุบัติเหตุกับเจ้า Everest คันข้างหน้าที่เจ้านายผมนั่งมาสามคน รถแฉลบลงข้างทางในลักษณะดังภาพ พวกเรามาถึงทุกคนยังนั่งอยู่ในรถ ดูเหมือนคนขับรถพยายามเอารถขึ้นแต่สุดวิสัยเสียแล้ว


ทุกคนลงจากรถ ผมเข้าไปถามว่ามีใครบาดเจ็บบ้างไหม เมื่อไม่มีก็คิดกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรเอารถขึ้นมาให้ได้ ดูสภาพแล้วโชคดีมากๆที่ข้างถนนไม่ลึกมากนัก และมีป่าละเมาะรองรับการไถลรื่นลงไปรองรับรถแบบนิ่มๆ

คนขับรถคันที่ผมนั่งมาเปลี่ยนขึ้นไปขับเจ้า Everest ให้คนขับรถเดิมระงับจิตใจที่ตกใจพาเจ้านายลงไปข้างทาง.. เขาตัดสินใจพยายามกลับเอาหัวรถย้อนไปทางที่ลงมา เนื่องจากเป็นรถ 4WD สักครู่เดียวก็เอาขึ้นมาได้ คนขับรถคันของผมพยายามบอกเปลี่ยนรถกันขับ เขาอธิบายว่าเพื่อให้เจ้านายนั่งข้างในอุ่นใจมากขึ้นว่าคนขับใหม่มารักษาความปลอดภัยให้ใหม่แล้ว แต่คนขับรถเดิมไม่ยอม บอกว่า ไม่เป็นไร พยายามจะขับไปดีดีต่อไป

เราผ่านท่าเดื่อซึ่งเป็นจุดข้ามแม่น้ำโขง เมื่อข้ามก็ไปถึงเมืองไชยบุรีบ่ายมากแล้ว ทุกคนตัดสินใจเข้าที่พักและไม่ไปสนามตามกำหนดการเดิม เพราะวันนี้โชคไม่ดีแล้วเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ ใจเสีย ขอกินอาหารอร่อยๆเย็นนี้ปลอบขวัญก็แล้วกัน…

ผมทำงานพัฒนาชนบทมาหลายที่หลายแห่ง หนทางยากลำบากมากกว่านี้ก็เคยอยู่มาแล้ว รถที่ใช้ ตั้งแต่ Toyota ที่ต้องใส่โซ่ล้อ เมื่อเจอะถนนลื่น และเป็นหลุม บ่อ เป็นโคลน เคยใช้จีพอเมริกันที่ซดน้ำมันยังกะอูฐ แค่วิ่งจากท่าพระเข้าเมืองขอนแก่นไม่กี่กิโลก็…แด….ก น้ำมันไปเป็นร้อยบาทแล้ว ยังไปติดหล่มในหมู่บ้านชนบท อดข้าวก็เคยมาแล้ว…

แต่สิ่งหนึ่งที่รถที่ทำงานประเภทนี้ไม่ขาดเลยก็คือ ชุดยาสามัญประจำบ้านที่เรียก First Aids จำเป็นต้องมีติดรถทุกคัน และคนขับรถต้องคอยตรวจตราว่าใช้อะไรหมดไปแล้วบ้างต้องเติมให้มีครบพร้อมใช้ตลอดเวลาที่ออกสนาม ไม่รวมไปถึง มีด เลื่อย ค้อน ขวาน เครื่องมือรถประจำ และเครื่องมือสื่อสารที่เราใช้ประจำ เช่น วอล์กกี้ ทอล์กกี้ ในรัศมี 5 กม.ต้องใช้ได้ นี่เป็นมาตรฐานฝรั่งที่ผมทำงานด้วยและเอามาใช้ตลอด (ปัจจุบันมีมือถือแล้ว เราจึงควรมีหมายเลขที่จำเป็นติดเครื่องไว้นะครับ)

และได้ใช้จริงๆ แม้ทีมงานจะไม่ได้ใช้ ก็เคยได้ช่วยเหลือรถ หรือชาวบ้านที่ประสบอุบัติเหตุบนเส้นทาง หรือในหมู่บ้านที่เราไปทำงานก็เคยผ่านมาแล้ว

วันนั้นผมจึงเสนอทันทีว่า ท่าน Director กรุณาจัดหา First Aids มาประจำรถเถอะนะครับ หนักก็เป็นเบานะครับ ท่านก็รับปากทันที….

แม้แต่รถส่วนตัวผมที่บ้านยังมีเลยครับ ก็ใครจะไปรู้ว่าข้างหน้าที่เราเดินทางไปนั้นจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง.. เพื่อนๆเตรียมหาเอาไว้เถอะครับ ราคาไม่กี่สตางค์หรอก คุ้มค่ากับร่างกายและชีวิตเป็นไหนๆ…


ย้อมสี

103 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 มกราคม 2011 เวลา 20:17 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2773

วันนี้ไปเดินตลาดข้างๆบ้าน นับวันคนก็แน่นมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าก็มีหน้าใหม่ๆ ทั้งสาว ทั้งหนุ่ม ทั้งแก่เฒ่า ผมเดาเอาว่าที่มีคนมากๆเพราะสถานที่เป็นตลาดแบบพื้นบ้านคือ ใช้ซอยในหมู่บ้านเป็นแบบแบกะดิน กับมีโต๊ะมาตั้ง และทั้งหมดเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านและบ้านใกล้ๆ สถานที่ตั้งอยู่ชานเมือง สภาพติดเมือง ติดชนบท ชาวบ้านจึงมีมาก สินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นบ้าน


ผมมักจะซื้อข้าวโพดข้าวเหนียว สับปะรดที่ขอแกนมาด้วย เพราะทั้งหมาทั้งคนชอบแกน และผลไม้ต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คือกล้วยน้ำว้า ต้องมีติดบ้านเพราะทั้งคนทั้งหมาชอบกินเช่นกัน

วันนี้มีความแปลกเพิ่มขึ้นในตลาด เห็นที่มุมหนึ่งมีเด็กๆไปรุมกันเต็มจึงเดินเข้าไปดูว่าเป็นสินค้าอะไร จ๊ากสสส เจ้าลูกไก่น้อยสีสันจัดจ้านเต็มกล่องเลย เด็กๆ ต่างก็ซื้อเอาไปคนละสามตัว ห้าตัว ถูกใจเด็กยิ่งนัก


ราคาตัวละ 5 บาท หากที่ไม่ได้ย้อมสีตัวละ 10 บาท เป็ดก็ 10 บาท

ถาม เอาสีอะไรมาย้อม

ตอบ ก็สีธรรมชาติทั่วไปนี่แหละ

ถาม มันอยู่นานไหม

ตอบ ก็โตขึ้นมันก็ค่อยๆหลุด จางไป

ถาม ทำไมเอามันมาย้อมเสียล่ะ

ตอบ มันเป็นตัวผู้

เท่านั้นเองผมก็ร้องอ๋อ….ฉลาดนี่ เพราะไก่ตัวผู้นั้นไม่ตกไข่ ลูกไก่ขายใครก็ไม่ได้ ไม่มีใครซื้อ ยกเว้นพวกเอาไปเลี้ยงเพื่อเอาเนื้อ การเอามาย้อมสี เป็นการดัดแปลงสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า….และก็ได้ผลจริงๆ ล่อใจเด็กให้ตกอยู่ในความน่ารักของลูกไก่ย้อมสี….

ใครจะเอาตัวอย่างไป ก็ไม่ว่ากันนะครับ


ปลดปล่อย

40 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 มกราคม 2011 เวลา 23:04 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 861

ขณะที่นั่งคอยเพื่อนมารับไปประชุมที่โรงแรมในเมืองเวียงจัน ผมนั่งดูข่าวเช้ากับ Receptionist ของโรงแรมแห่งนี้ซึ่งเป็นผู้ชายอายุสัก 50 ต้นๆ เขาเริ่มพูดว่า ดูข่าวเด็กวัยรุ่นไทยยิงปืนใส่คนแล้วเขากล่าวว่า

ผมนึกถึงสมัยก่อนในประเทศลาวนั้นมีสภาพแบบสังคมไทยปัจจุบัน คือ มีแก๊งคนทราม มากมาย ทั้งที่เป็นนักเลง และเป็นพวกลูกหลานผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงาน พวกคนรวย พวกนี้สั่งข้าวกินแล้วไม่จ่ายเงิน ขับรถเสียงดัง ฉกฉวยเอาของที่ตัวเองอยากได้ ใครต่อต้านก็ทำร้าย ใครหือหรือจะต่อสู้ก็ยิงทิ้งเลย สุดจะเอาตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง…

ชาวบ้านเอือมระอา เอาผิดไม่ได้ พวกนั้นก็เห่อเหิม สังคมปั่นป่วน และสถานการณ์แบบนี้ คือ สถานการณ์ที่ผลักดันให้ประชาชนเดินเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติลาว

เขากล่าวอีกว่า..ตอนปลดปล่อยนครเวียงจันนั้น ทหารป่าเกือบไม่ได้ทำอะไรมาก คนที่ถูกกระทำมาก่อน ชาวบ้านที่เอือมระอากับพวกเอาเปรียบสังคมนั้นลุกฮือขึ้นมาจัดการเองด้วยซ้ำไป

เมื่อปลดปล่อย ได้จับเอาคนกลุ่มนั้นไปอยู่ในพื้นที่เฉพาะ เอาข้าวเปลือกไปให้แล้วให้ปลูกข้าวกินเอง เมื่อหมดแล้วก็แก้ปัญหาเอง ดิ้นรนเอง ลงมือทำทุกอย่างเอง…พากันเข็ดหลาบหมด..

สังคมลาวปัจจุบันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเอาจริงจังกับเรื่องเหล่านี้มาก ใครไปก็เห็น…..

ผมเองก็ยืนยันว่าตำรวจในประเทศลาวนั้นจับแหลก เอาจริง แม้จะมีพวกปลายแถวบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผมพอใจมาก ยิ่งเมื่อลงไปดูหมู่บ้านที่มีระเบียบหมู่บ้านเอง ที่เคยเอามาเขียนบันทึกไปแล้ว ผมยิ่งรู้สึกดีดีมากกับส่วนนี้ของสังคมลาว

หันกลับมาเมืองไทย..ยังเห็นข่าวรุนแรงทุกวัน…

หรือจะให้ปลดปล่อย… อิอิ


ศรัทธา

19 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 มกราคม 2011 เวลา 6:39 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 616

 

 

 

วัฒนธรรมที่สตรีชาวลาวพึงปฏิบัติต่อสงฆ์

บ่งบอกอะไร จงบอกมา สัก 10 อย่าง

(ยามเช้าที่ไชยบุรี ลาว)


เมฆเมืองลาว

385 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 มกราคม 2011 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4094

มาดูพื้นที่งานที่ Xayabouri ลาว ซึ่งจะต้องมาทำ งานคล้ายของอาว์เปลี่ยนที่ Hongsa

เอารูปเก่าที่เคยถ่ายที่เวียงจันมาฝากกันครับ


รูปดีดีในลิ้นชัก

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 มกราคม 2011 เวลา 21:55 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1390

มีรูปที่หลายคนพึงพอใจเก็บไว้ในลิ้นชักมากมาย

ที่ยังไม่ได้เอามาให้เพื่อนชม

มีความคิดดีดีมากมายที่ทุกท่านยังไม่ได้แสดงออกมา


บางมุมของความพอเพียงในชุมชน

111 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 มกราคม 2011 เวลา 20:19 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3017

นี่เป็นบทความเก่า ขอนำมาแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะนำเสนอต่อพ่อครูในการที่ระดมความคิดเห็นเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ต่อการวางหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง…”

มีโอกาสศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของไทโซ่ดงหลวงก่อน พ.ศ. 2500 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง น่าสนใจ น่าจะเป็นตัวแทนสังคมไทยโบราณได้ กรณีหนึ่ง เพราะเราไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านี้อีก และเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มีทางนึกออกว่าบรรพบุรุษของเขาเคยมีความเป็นอยู่อย่างไรกันมาบ้าง

เนื่องจากสัญชาติญาณแห่งการอยู่รอด และภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์พัฒนาการมีชีวิตอยู่รอดนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามระดับของความฉลาดของมนุษย์ แต่น่าจะมีสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน และสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา รวมทั้งไทโซ่ ที่นับถือผีกับพุทธไปพร้อมๆกัน หลักการของพุทธย่อมมีส่วนไม่มากก็น้อยในการนำมาเป็นแนวทางการดำรงชีวิต

หลักการหนึ่งของการดำรงชีวิตของศาสนาพุทธคือการยังชีวิตด้วยปัจจัย 4 อย่างพอดี ไม่เบียดเบียนโลกและตัวเอง ตีความง่ายๆคือหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง

เมื่อศึกษาสังคมโบราณของไทโซ่ดงหลวง และเชื่อว่าที่อื่นๆก็คงคล้ายคลึงกัน แล้วไปสอดคล้องกับหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง แต่หลักนี้จะให้สมบูรณ์ต้องมีอีกปัจจัยหนึ่งเข้ามาเชื่อมด้วยคือ วัฒนธรรมชุมชนแบบพึ่งพาอาศัยกัน” “ทุนทางสังคม เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ” และความจริงน่าจะเป็น ปัจจัยที่ 5 ของความพอเพียง”
ด้วยซ้ำไป


หลักการนี้ยังสะท้อนไปถึง หลักความพอเพียงที่ในหลวงท่านพระราชทานลงมาด้วยว่า ทั้งหมดนั้นจะต้องอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน ของสังคมด้วย มิเช่นนั้นจะเป็นปัจเจกชน ซึ่งสังคมไม่ได้เป็นเช่นนั้น และในชีวิตจริงๆก็ไม่มีใครที่จะพึ่งตัวเองได้ครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันด้วยเพราะเราไม่สามารถมีความสมบูรณ์ตลอดเวลาด้วยปัจจัย 4

ท่านที่นำหลักความพอเพียงไปใช้ได้โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญนี้ด้วย

ความจริงการพึ่งพาอาศัยกันนั้นรวมอยู่ในหลักความพอเพียง แต่มักไม่ได้พูดถึง หรือไม่ได้เน้นกัน หลายท่านไม่ได้พูดถึงด้วยซ้ำไป เพราะเห็นเป็นประเด็นย่อย แต่จากการเฝ้าสังเกตสังคมชนบทนั้น วัฒนธรรมชุมชนเป็นแกนหลัก เป็นโครงสร้างหลักด้วยซ้ำไป

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ เมื่อพ่อไปทอดแหได้ปลามามาก พ่อก็แบ่งให้เพื่อนบ้าน ไปให้คุณยายนั่น คุณตาคนนี้ เพราะแก่เฒ่าหากินไม่สะดวก

ที่ดงหลวง เมื่อชาวบ้านเดินผ่านแปลงผัก ก็ตะโกนขอผักไปกินกับลาบหน่อยนะ เจ้าของแปลงก็ตะโกนตอบอนุญาตให้เอาไปเถอะ สังคมภาคเหนือจะมีคนโท หรือหม้อดินใส่น้ำตั้งไว้หน้าบ้าน ใครที่เดินผ่านไปมาหิวน้ำก็ตักกินเอาได้เลย มันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา สวยงาม เอื้ออาทรกัน พึ่งพากัน เพราะไม่มีใครที่มีปัจจัยสมบูรณ์ไปตลอดเวลา ยามมีก็มี ยามขาดก็ขาด ก็ได้อาศัยญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในชุมชนนั่นแหละช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจ ไม่ได้คิดค่าเป็นเงินเป็นทองแต่อย่างใด

ชาวบ้านจะสร้างบ้าน ก็บอกกล่าวกัน ชายอกสามศอกสี่ศอกก็มาช่วยเหลือกัน ตามความถนัด ไม่ได้รับเหมาเอาเงินทองแต่อย่างใด ความมีน้ำใจ ความมีบุญคุณ ความกตัญญู ช่วยเหลือเอื้ออาทร ทั้งหมดนี้แสดงออกโดย “การให้” ให้วัตถุ ให้แรงงาน ให้อภัย ให้ปัจจัยต่างๆ และให้ใจ คือรากเหง้าของสังคม คือทุนทางสังคม คือแรงเกาะเกี่ยวทางสังคม ที่ทำให้เราสงบ สันติ มานานแสนนาน และเป็นฐานของหลักความพอเพียง เป็นฐานของการสร้างความพอดีของปัจจัย 4 อันมีฐานรากสำคัญมาจากหลักการทางพุทธศาสนา แต่แปลกใจที่งานพัฒนาประเทศชาติ สังคมไม่ได้เอาหลักการนี้เป็นตัวตั้ง กลับเอารายได้เป็นตัวตั้ง

เราตั้งคำถามแก่กลุ่มผู้อาวุโสของเครือข่ายไทบรูดงหลวง ที่มีอายุสูงกว่า 55 ปีขึ้นไป เราพบข้อมูลในเรื่องวิถีชีวิตมากมายค่อนข้างละเอียด หลายเรื่องเราไม่ทราบมาก่อน บางเรื่องเราไม่คิดว่าจะมีอยู่ และเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ชาวบ้านไม่ได้อธิบายหากเราไม่ตั้งคำถาม และบางเรื่องเราก็ยังนึกไม่ออกว่าจะตั้งคำถามอะไร แต่ข้อมูลมีอยู่

เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราเอามาจัดหมวดหมู่ในรูปแบบใหม่ เพื่อง่ายต่อการพิจารณาให้เข้ากับหลักปัจจัย 4 เราจะได้ข้อมูลดังแผนภาพ


เมื่อเราพิจารณาข้อมูลเราพบว่าสามารถจัดหมวดหมู่ให้เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ที่วิถีสังคมดงหลวงโบราณสร้างขึ้นและมาครบถ้วน ดูแผนภาพต่อไปนี้


เมื่อเราให้สีที่แตกต่างกันเราก็เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 แน่นอนเกษตรกรไม่ได้ทำกิจกรรมทั้งหมด เช่น แต่ละครอบครัวไม่ได้ปลูกถั่วทุกชนิด แต่ถั่วทุกชนิดนั้นมีปลูกอยู่ในชุมชน และอาจจะมากกว่านี้ ข้อมูลเหล่านี้คือความหลากหลายของชนิดพืชและกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ทั้งหมดนี้ทำเอง ปลูกเอง สร้างขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อหามา อย่างมากก็แลกเปลี่ยนกัน

เราให้ชาวบ้านเล่าเรื่องข้าวสมัยนั้น ว่าแต่ละพันธุ์นั้นเป็นเช่นไรบ้าง ลักษณะพันธุ์ สี ขนาด วิธีปลูก การเก็บเกี่ยว การบริโภค การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษา ความนิยมในการบริโภค ฯลฯ พิลึกพิลั่นจริงๆ ที่เราเสียดาย ว่าความรู้เหล่านั้นกำลังสูญหายไปกับการเคลื่อนตัวของสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่

ยกตัวอย่างข้าวพันธุ์ซอด(เป็นเสียงที่เราฟังเอามาบันทึก หากผิดเพี้ยนก็ขออภัย) ชาวบ้านบอกว่าเมล็ดใหญ่ น้ำหนักมาก ไม่สามารถเกี่ยวได้เมล็ดมันจะร่วงต้องใช้วิธีรูดเอาเมล็ดจากรวงใส่ภาชนะเลย จินตนาการไปมือไม้ชาวบ้านที่ทำงานหนักแบบนี้คงจะหยาบกร้าน ข้าวที่นิยมมากที่สุดคือ อีน้อยกับซอด

ที่มหัศจรรย์คือ ครอบครัวหนึ่งๆนั้นมีที่ดินปลูกข้าวประมาณ 2-3 ไร่ มากสุดไม่เกิน 5 ไร่ และปลูกทุกอย่างผสมผสานลงไปในแปลงข้าวไร่นั่นแหละ นี่คือแปลงพืชผสมผสานจริงๆ มีทุกอย่างที่กินได้อยู่ในสวนนี่เอง ที่เรียกแปลงสมรม แปลงสัมมาปิ ในแปลงจะมีข้าว มีพืชถั่ว มีพืชผักสวนครัว มีพืชไร่ รวมไปถึงพืชสมุนไพร ครบถ้วนในแปลงเดียวกันนั้น ผสมปนเปกันไป ไม่ได้แยกพื้นที่ปลูกเช่นปัจจุบัน


แต่ต้องเฝ้าตลอดมิเช่นนั้น ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินพืชผัก เพราะหมูป่ามากินหมด ต้องตีเกราะ เคาะวัตถุให้มีเสียงดังๆ หมูป่าจะได้หนีไป นอกจากหมูป่าก็มีนก ลิง ทั้งนกทั้งลิงมันมาเป็นฝูงหากเผลอลงกันละก็ปีนั้นไม่ได้กินข้าวแล้ว ต้องหาของไปแลกข้าวแล้ว ฯลฯ

สรุป

  • ลักษณะวิถีชีวิตของคนดงหลวงสมัยก่อนนั้นอยู่กับธรรมชาติ แต่องค์ประกอบวิถีชีวิตที่มีสภาพแวดล้อมแบบเดิมนี้นั้น ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว แต่หลักการเรื่องวัฒนธรรมเอื้ออาทรกันนั้นยังใช้ได้อยู่เสมอหากเราสืบสานคุณค่ากันไว้
  • เมื่อองค์ประกอบของสังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย การควบคุมตัวเองให้ตั้งมั่นอยู่ในหลักศาสนา และวัฒนธรรมชุมชนจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
  • ความพอเพียงไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ละครอบครัวต้องพิจารณาเอาบนฐานเงื่อนไขของตัวเอง
  • อย่างที่กล่าวว่า ไม่มีใครสมบูรณ์ ดังนั้นความพอเพียงนอกจากครอบครัวจะเป็นหลักที่จะต้องสร้างขึ้นมาแล้ว ชุมชนต้องร่วมมือกันสืบสานวัฒนธรรมเอื้อาทรแก่กัน


สุขจากการไม่มี

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 มกราคม 2011 เวลา 20:15 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1413

“เขาบอกให้เราซื้อของเพื่อความสุขสบาย แต่ซื้อแล้วก็ไม่มากพอจะทำให้เรามีความสุข เราจึงซื้อมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทำให้มีความสุข แถมทำให้เราตกเป็นเหยื่อง่ายขึ้น เราเหมือนแกะที่มีสุนัขเห่าอยู่ด้านซ้ายคอยเตือนให้วิตกกับวิกฤตทางการเงินของโลก และความจริงที่ว่า เราอาจตกงานได้ ส่วนสุนัขเห่าอีกตัวทางขวามือก็เตือนให้เราซื้อประกันวงเงินสูงๆเผื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เรามัวแต่ทำงานเพื่ออนาคตโดยไม่มีโอกาสอยู่กับปัจจุบัน”


“ความไม่พอใจถึงขีดสูงสุดเมื่อปี 2541 ระหว่างพักร้อนที่ฮาวายกับภรรยา เราวางแผนจะพักผ่อนกันให้สุขเต็มที่ตามแบบแผนการใช้ชีวิตในโรงแรมห้าดาว.. ตลอดสามสัปดาห์ เราพบว่าไม่มีคนจริงๆสักคน มีแต่นักแสดง พนักงานแสดงบทบาทเป็นมิตรและมีน้ำใจ ส่วนแขกเล่นบท ‘ดูสิ ฉันเป็นคนสำคัญนะ’ ….”

“ผมไม่เคยถามตัวเองว่าอะไรสำคัญต่อตัวเอง ผมแค่ถามว่าอะไรที่เป็นไปได้”

ข้างบนนี้ เป็นคำกล่าวของนาย คาร์ล ราเบเดอร์ ซึ่งเป็นเศรษฐีชาวออสเตรียคนหนึ่ง ที่สละทรัพย์สมบัติทั้งหมดเพื่อช่วยคนอื่นและตัวเอง


นายคาร์ลเป็นนักธุรกิจคนดังแห่งวงการผลิตภัณฑ์เครื่องใช้และของตกแต่งบ้าน เขาเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อประกาศว่าจะขายทุกอย่างที่ครอบครองเพื่อช่วยเหลือคนยากจนในละตินอเมริกา และอเมริกากลาง

เขาวางแผนไปใช้ชีวิตบนภูเขา เตรียมแผนเปลี่ยนเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ หนังสือสองกล่อง และเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว….

********

ในชีวิตที่ดิ้นรนในปัจจุบันนี้เราจะเห็นเรื่องราวจากข้อความข้างบนนี้สักกี่ครั้ง เพราะทุกคนหันหน้าวิ่งไปสู่ความมั่งคั่ง และไหลไปตามกระแสที่ทุนได้สร้างสายพานให้เราเดิน

น่าคิดมาก สำหรับบทความชิ้นนี้ใน รีดเดอร์ส ไดเจสท์ เรื่อง “สุขจากการไม่มี” หน้า 64 ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูลชิ้นนี้ครับ


 


อย่าไปเชื่อแต่ควรฟัง

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 มกราคม 2011 เวลา 9:50 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1112

 

 

นั่งอ่านดวงเมืองไทย “ปีเถาะ 2554″ ของ โสรัจจะ

ในสกุลไทย เมืองไทยจะเข้าสู่วิกฤติหนักหนาอีกแล้ว…

เฮ่อ อ่านแล้วก็

อย่าไปเชื่อแต่ควรฟัง

( ใครอยากรู้เขาพยากรณ์ว่าอย่างไร ไปหาอ่านเอาเองนะ )


แสงสุดท้ายปี 2553

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2011 เวลา 22:58 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1056

“แสงสุดท้ายของปี 2553 ที่บึงบอระเพ็ด นครสวรรค์”

หากท่านมีเวลาบ้าง เชิญไปใกล้ชิดธรรมชาติทางน้ำที่บึงแห่งนี้ครับ

ผมเสนอสองเวลาคือ ไม่เช้ามืด ก็ยามเย็น เช่าเรือออกไปกลางบึง

ผ่านวัชพืชต่างๆ ผ่านดงดอกบัว และฝูงนกหลากสายพันธ์

ที่มาหาอาหารกิน ลมพัดเย็นๆ ลอยเรือนิ่งๆ ชื่นชมธรรมชาตน้ำรอบตัว

พร้อมกับแสงแรกหรือสุดท้ายของวัน

ท่านจะตรึงตาตรึงใจไปอีกนานทีเดียว..


เที่ยวไป บ่นไป

497 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2011 เวลา 20:58 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 14441

กลับจากวิเศษชัยชาญแล้วก็เลยไปนอนค้างที่นครสวรรค์ ผมมีเป้าหมายสองสามอย่าง พิจารณาทำตามเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยคือเวลา และสถานการณ์แต่ละช่วงที่เราเดินทาง เพราะกึ่งสบายๆ คนข้างกายยืนยันที่พักไว้แล้วจึงไม่รีบเร่ง เป้าหมายแรกอยากให้ลูกสาวได้ความรู้ไปด้วย เราจึงเลี้ยวรถเข้าเมืองอุทัยธานี ตั้งใจทำสองอย่าง คือ ไปขึ้นเขาสะแกกรัง และไปกราบพี่สมพงษ์ สุทธิวงษ์ พี่ใหญ่ที่เคยทำงานด้วยกันมา และผมก้าวเข้าสู่วงการงานพัฒนาชุมชนก็มีพี่คนนี้เป็นผู้สอน อบรม ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้


หลายท่านไม่ทราบว่าที่เขาสะแกกรังที่ตัวจังหวัดอุทัยธานีนั้นมีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างไร ผมต้องการให้ความรู้กับลูกสาวเลยพาขึ้นภูเขาลูกนี้ แล้วเล่าประวัติศาสตร์ของภูเขากลางเมืองนี้ที่ชื่อสะแกกรังว่า เป็นที่ตั้งของพระบรมรูปพระปฐมบรมราชานุสรณ์รัชการที่ 1 เพราะชุมชนโบราณที่นี่คือแผ่นดินเกิดของพระบรมชนกของพระองค์ท่าน


ในหลวงองค์ปัจจุบันก็เคยเสด็จมาทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์เมื่อ 30 ปีเศษมาแล้ว ท่านที่สนใจลองเข้าไปดูข้อมูลละเอียดที่ google นะครับ

ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเขาสะแกกรังแห่งนี้ต่อประเทศไทยคือ เป็นการปักหมุดทำแผนที่ประเทศไทยครั้งแรก ขอคัดลอกข้อมูลที่ผมเคย Post ไว้ ดังนี้

รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญ ในการทำแผนที่ เพราะช่วงนั้นกำลังต่อสู้แย่งชิงดินแดนกันในสมัยพระองค์ท่าน รัฐบาลสยามจึงจ้างนายแมคคาร์ธีเข้ามาเป็นข้าราชการเมื่อปี 2424 อีกสองปีต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระวิภาคภูวดล” ในตำแหน่ง “เจ้ากรมเซอร์เวทางและทำแผนที่” ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย

20 ปีที่แมคคาร์ธีรับราชการ เขาเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสำรวจพื้นที่ทำแผนที่ และก็สำเร็จตีพิมพ์ออกมาตามแบบสากลในปี 2440 ในการสำรวจพื้นที่นั้นดำเนินการโดยพระราชโองการรัชกาลที่ 5 มีพระราชโองการหนึ่งสรุปความได้ว่า

“เสนาบดี ผู้ว่าการมณฑลฝ่ายเหนือ ถึงข้าหลวงตรวจการ เจ้าเมืองและข้าราชการผู้น้อยในมณฑลนี้” มีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้พนักงานสำรวจเดินทางไปจนถึงชายแดน และทำการสำรวจในมณฑลต่อไปนี้ นครสวรรค์ พิศณุโลก พิชัย ตาก เชียงใหม่ เถิน นครลำปาง น่าน หลวงพระบาง หนองคาย พวน
นครจำปาศักดิ์
อุบลราชธานี พระตะบอง นครราชสีมา สกลนคร นครพนม ท่าอุเทน และมณฑลเล็กๆตลอดแนวชายแดนในอำนาจการปกครองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อเจ้าพนักงานสำรวจมาถึงให้ข้าราชการทุกคนช่วยเหลือจัดพาหนะ คนงาน เสบียงให้…

พระวิภาคภูวดลเดินทางไปหลวงพระบางถึงสามครั้งเพื่อสำรวจ “งานสามเหลี่ยม” ซึ่ง คือ กระบวนวิธีการทำแผนที่โดยอ้างอิงหมุดมาตราฐาน กระบวนวิธีนี้เปลี่ยนมาใช้ระบบ GPS ในปัจจุบัน


ซ้าย แผนที่แสดง”งานสามเหลี่ยม”ที่อ้างอิงหมุดมาตราฐานมาจากประเทศอินเดีย ขวา คือแผนที่ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่จัดทำด้วยระบบ GPS เมื่อปี 2534 มีหมุดมาตราฐานที่ภูเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี

ต่อมากองแผนที่ไทยได้นายดี.เจ.คอลลินส์ (D.J.Collins) เพื่อนแมคคาร์ธี ซึ่งเป็นช่างแผนที่จากอินเดียเข้ามารับราชการไทย พระวิภาคภูวดลได้ยกกองออกเดินทางสำรวจพื้นที่มีนายคอลลินส์  และหน่วยทหารคุ้มกันซึ่งมีนายเรือโทรอสมุสเซน (Rosmussen) เป็นผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ๓๐ คน เดินทางทางเรือผ่านชัยนาท นครสวรรค์ไปถึงอุตรดิตถ์แล้วเดินทางทางบกถึงน่าน …..ฯลฯ…

เราคุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยโน้นนนน ว่า บ้านเมืองเรามีภัย รัชการที่ 5 ทรงเห็นและพยายามหาทางป้องกันไว้ก่อน..

สถานที่ประวัติศาสตร์ของเขาสะแกกรังในเรื่องหมุดแผนที่นี้ ไม่มีการทำป้ายอธิบายไว้บนภูเขา ทั้งที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง

ห้า ห้า ห้า กลายเป็นรายการ เที่ยวไป บ่นไปซะแล้ว……

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/157989



บ่นต้นปี..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2011 เวลา 16:54 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1121

หลังทานอาหารเช้าที่พัก www.pattara-prapa.com เราก็เดินทางไปสระบุรี แบบเรื่อยๆ พบอะไรน่าสนใจก็จะแวะ


สองข้างทางจากที่พักริมเขื่อนป่าสักไปสระบุรี มีไร่ทานตะวันหลายแห่ง เห็นนักท่องเที่ยวจอดรถถ่ายรูปกันหนาตา เจ้าของสวนก็ตั้งเต็นท์ มีร้านขายน้ำ ขายของที่ระลึก ขายผลิตภัณฑ์จากทานตะวัน ดูแล้วก็ชื่นใจไปอย่างหนึ่งที่เราเที่ยวเมืองไทยเงินทองหมุนเวียนในประเทศ


บางสวนมีช้างมาบริการให้นักท่องเที่ยวขี่ ผมไม่ทราบว่าราคาเท่าไหร่ เห็นมีเกือบทุกสวน บางสวนก็เหมือนว่าดอกทานตะวันเพิ่งโรยราไป ร่องรอยเต็นท์ยังมีอยู่ เออ…ก็ดีนะ ที่ชาวสวนร่วมมือกันวางแผนปลูกทานตะวันไม่พร้อมกัน เพื่อบานไม่พร้อมกัน นักท่องเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี จริงๆเป็นเช่นนี้หรือเปล่าไม่ทราบ

ระหว่างทางไปสระบุรีเราเห็นป้ายขึ้นว่าบ่อน้ำโบราณ ศักดิ์สิทธิ์ ก็แวะเข้าไปดูหน่อย



ผมผิดหวังที่มีแต่ป้ายบ่อน้ำโบราณ และชื่อผู้ว่าราชการจังหวัด นามสกุลคุ้นๆ แต่ไม่มีป้ายอธิบายรายละเอียดความเป็นมาเป็นไป ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของบ่อน้ำแห่งนี้ ผมเดาเอาว่า แถบนี้เป็นเมืองโบราณเพราะถนนตรงนี้ชื่อถนนพระเจ้าทรงธรรม แต่ขาดการดูแล

หลายที่หลายแห่งเป็นเช่นนี้ ขึ้นชื่อป้ายแนะนำให้ไปเที่ยว แต่เมื่อเข้าไปไม่มีรายละเอียดแนะนำ (แม้ที่ดงหลวง อบต.แนะนำว่าเชิญเที่ยวปล่องภูเขาไฟ ก็ไปดูแต่หินที่มีลักษณะเหมือนปล่องภูเขาไฟ แต่ไม่มีคำอธิบายใดๆทั้งสิ้น) แล้วจะเกิดขบวนการเรียนรู้ได้อย่างไรกัน จะเกิดสำนึกใดๆได้อย่างไรกัน

แต่สร้างถนนได้ ปรับปรุงภูมิทัศน์ได้ ซื้อต้นไม้มาปลูกถี่แบบช้างเกือบรอดไม่ได้


ถนนหน้าบ่อน้ำศักดิ์สิทธินี้ เห็นแล้วก็อ่อนใจ มันบ่งบอก อบจ. อบต.แถบนี้ดีว่าคิดอะไร ทำอะไร ถนนเส้นนี้ซ้ายมือปลูกต้นปาล์ม ขวามือปลูกลีลาวดี ที่น่าเกลียดมากคือ มันถี่เสียจนเกินความพอดี งบประมาณตรงนี้เท่าไหร่กัน อ้าว บ่นต้นปี…ซะแล้ว…..

ดูเหมือนเคยปรับปรุง พัฒนาด้วยงบประมาณจำนวนไม่น้อยมาแล้ว มีเก้าอี้หินขัดนับสิบๆตัววางเรียงราย แต่วันที่ไปดู นั้น เหมือนว่า ม้านั่งนี้ไม่เคยถูกใช้มานาน นี่หากอยู่ใกล้ๆครูอึ่ง ณ ลำพูน คงพานักเรียนมาช่วยพัฒนา พร้อมกับเชิญผู้เฒ่าผู้แก่มาเล่าประวัติศาสตร์ให้เด็กฟัง แล้วตั้งวงสนทนากันสนุกสนาน….

เรายกมือไหว้ศาลเจ้าที่ หรือเทวดาเจ้าที่ ล่ำลาด้วยความผิดหวัง แล้วเดินทางต่อไปพบ ป้ายแนะนำศาลหลักเมืองขีดขิน แวะเข้าไปดูอีก ชื่อเมืองขีดขินนั้นไม่คุ้นหูนัก แต่เคยได้ยินมาก่อน แต่นานมาแล้ว อยู่ใกล้กับทะเลบ้านหมอ



คราวนี้ไม่ผิดหวัง มีป้ายอธิบายประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ และที่มาของเสาหลักเมืองขีดขินแห่งนี้ ผมนึกไปว่า เรามาจากอดีต ปัจจุบันพัฒนาการมาจากอดีต หากเราไม่ศึกษา ไม่เข้าใจอดีต ไม่ตระหนัก ไม่รับรู้ ก็เป็นคนไม่มีรากเหง้า ตัดส่วน แยกส่วนออกมา แล้วความตระหนักรู้จะมีอยู่ที่ตรงไหนกัน

แม้ว่าแผ่นป้ายที่อธิบายประวัติศาสตร์จะให้ข้อมูลแบบสรุป สั้นๆ ก็พอเข้าใจ ความจริงอยากได้ละเอียดมากกว่าที่แสดงมากนัก

บ่นไว้ เผื่อใครๆที่มีหน้าที่ผ่านมาอ่านเข้า ก็ขอสื่อสารไปบอกว่า บ้านท่าน เมืองท่านมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญนั้น ช่วยกันทำนุ บำรุงดีดีหน่อยเถอะ เอาสาระเป็นหลัก ภูมิทัศน์เป็นรอง ไม่ใช่ตั้งงบปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นล้าน แต่ตัวประวัติศาสตร์เองกลับไม่มีคำอธิบายใดๆเลย เช่นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น แผ่นป้ายนำทางเที่ยวก็ติดอธิบายให้มากหน่อยจะเป็นไรไป นี่อยากจะไปชม ต้องจอดรถถามชาวบ้านข้างทางสามหน สี่หน…

งบประมาณ อบจ. อบต.นั้นเขามีไว้พัฒนาบ้านเมืองเชิงคุ้มค่า เน้นคุณภาพ ไม่ใช่เอาไปปลูกปาล์ม กับลีลาวดีถี่ยิบ ในวัดในวังเขายังไม่ปลูกขนาดนี้เลย

เสียดายงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนจริงๆซิ

ขออภัยที่ บ่นต้นปีนะครับ อิอิ อิอิ


ป่าสักชลสิทธิ์

293 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 มกราคม 2011 เวลา 22:12 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3238

ปกติช่วงวันหยุดยาวๆไม่อยากไปไหน เพราะไม่อยากเผชิญปัญหาเรื่องรถรา ที่พัก อาหาร การเป็นอยู่ แย่งกันกิน แย่งกันใช้ และเหตุผลหลักๆคือ ไม่ชอบเดินทางที่มีการจราจรหนาแน่นมากๆ เพราะมักพบคนขับรถมารยาทไม่ดี..

แต่บางครั้งก็หลีกไม่ได้ เช่นคราวปีใหม่นี้ อยากให้ลูกสาวมาพักกับเราที่บ้าน หากไม่ไปรับเธอก็ต้องมากับรถเมล์ประจำทาง คงจะหนาแน่น ไม่สะดวก หากจะให้นั่งเครื่องบินก็เกินเลยฐานะของเรา การขับรถไปรับก็ดีอย่างหนึ่งมีโอกาสไปแวะที่นั่นที่นี่ได้ เช่นพาลูกไปกราบคุณแม่ที่หง่อมเต็มทีแล้ว ไปกราบผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ไปแวะเที่ยวบางจุดที่สมาชิกอยากไป เดี๋ยวนี้ง่ายขึ้นเยอะมี internet ค้นหาที่พักระหว่างทางได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะบางแห่งเปิดโอกาสให้ผู้ไปพักผ่อนมาแล้วได้ Post แสดงความเห็นตรงไปตรงมา ช่วยให้เรามีข้อมูลมากขึ้น

วันที่ 29 ผมตัดสินใจด่วนว่าควรจะเดินทาง แม้เป็นวันทำงาน เลิกงานแล้วเดินทางเลย เพราะอยากให้ระยะทางลงกรุงเทพฯสั้นลงกว่าจะเดินทางวันที่ 30 ทั้งวัน ผมไปรับคนข้างกายแล้วบึ่งลงเส้นทางที่เรียก Local Road มากกว่าที่จะใช้ Main Road เพราะต้องการหลบปริมาณรถที่คนเริ่มเดินทางแล้ว สมุดแผนที่ถูกเอามาใช้วางแผนทันทีว่าใช้เส้นไหนสั้นที่สุด เป้าหมายผมคือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์


เราติดต่อที่พักไม่ได้ เสี่ยงไปและก็ผิดหวังเพราะเต็มหมด ที่เหลืออยู่ก็ราคาแพงเกินฐานะ จะนอนเต็นท์ ก็ไม่สะดวก จึงสอบถามข้อมูลที่พักเอกชนจากคนแถวนั้น ก็ได้ที่พักในราคารับได้ สะอาด อยู่ริมเขื่อน เงียบ มีคนมาพักสามห้องเท่านั้น ถูกใจมาก ที่พักชื่อ www.pattara-prapa.com คนบริหารเป็นหนุ่มสาว ผมชอบที่บริเวณติดกับสวนป่า เช้าๆเราเดินรับอากาศดีดี แล้วถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นสวยมาก และที่สวยมากขึ้นคือช่วงหกโมงเช้ามีรถไฟวิ่งผ่านสะพานยาวๆกลางเขื่อน ให้เราถ่ายรูปสวยๆอีก


เช้าๆ จะเห็นหมอก หรือไอน้ำบนผิวน้ำระเหยลอยขึ้นมา ตามคันนามีนกกระยาง ออกหากินตั้งแต่เช้ามืด


หากเรามองรอบๆตัว ความสวยงามซ่อนอยู่มากมายในทุกที่ที่เราเดินเหยียบย่ำไปยามเช้าในแห่งนี้




สิ่งมีชีวิตเริ่มต้นวันใหม่ไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิต แมงมุม ไปดักคอยอาหารมื้อเช้าอย่างเงียบๆ นกน้อยส่งเสียงเล็กๆ อาบแดดอุ่นยามเช้า หยดน้ำค้างรวมโลกทั้งใบไว้ที่นั่น ท้าทายให้มนุษย์อย่างเราค้นหาสัจธรรมผ่านหยดน้ำน้อยนั้น


ชาวบ้านริมเขื่อนเริ่มชีวิตตามวิถีปกติ ไปเก็บเครื่องดักปลาชายเขื่อน เพื่อยังชีวิตและแปรเป็นเงินตราเพื่อสิ่งจำเป็นอื่นๆอีก แม้เช้าวันที่อุณหภูมิจะลดลงมามาก แต่ไอน้ำอุ่นก็ช่วยให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้


เวลากลืนกินทุกชีวิตที่ก่อเกิดมา เราแค่สัมผัสสภาวะแห่งปกติของธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลง

การหลุดออกจากงานประจำมาอยู่ในอ้อมอกธรรมชาติบ้าง เป็นการเพิ่มพลังภายในได้ดีทีเดียว


สวัสดีปีใหม่ ครับ

19 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 มกราคม 2011 เวลา 7:22 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 592

 

 

สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ

 

 


เวลากับครอบครัว

588 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 ธันวาคม 2010 เวลา 11:48 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5587

 

 

สองสามวันต่อไปนี้เป็นช่วงพักผ่อน

จะเดินทางไปกับครอบครัว รับลูกสาว

ไปเยี่ยมคุณแม่ที่วิเศษชัยชาญ

แล้วก็มาใช้ชีวิตกับครอบครัวในช่วงปีใหม่

แม้ว่าจะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ก็ดีที่มีเวลาอยู่ด้วยกัน

สวัสดีปีใหม่ทุกท่านนะครับ..

(มีเวลาว่างก็จะเขียนบันทึกปกติ)


คุณยาย

9 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 ธันวาคม 2010 เวลา 0:48 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 1721

คราวที่ผมไปศึกษาสังคมชนบทในลาวนั้น

มีคำถามหนึ่งที่เพื่อนคนลาวได้ถามนายบ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน) ว่า

ยังมีคนทุกข์ยากอยู่หรือไม่ จำนวนเท่าไหร่ ?

นายบ้านตอบว่ามี 2 ครอบครัว เป็นคนสูงอายุด้วย

อ้าวแล้วเขาทำอะไรกิน มีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ?

นายบ้านตอบว่า ก็เพื่อนบ้านทุกคนช่วยเหลือกัน

วันนี้คนนั้นเอาข้าวไปให้ วันโน้น ครอบครัวโน้นเอาเสื้อผ้าไปให้

คนไร้ครอบครัวมีชีวิตอยู่ได้ เพราะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน อุปถัมภ์ค้ำชูกัน

ฯลฯ

แต่คุณยายในรูปนี้อยู่ในเมืองไทย ที่มีความเจริญมากกว่าหลายเท่านัก

เมืองที่กล่าวกันว่าคนมีการศึกษาสูงกว่า ทรัพยากรแผ่นดินลงมาในเมืองมากกว่า ฯ

แต่คุณยายต้องมาเดินริมถนน เอ่ยปากขอ…

ความเจริญคืออะไร…?


บันทึกวิถีธรรมชาติ

321 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 ธันวาคม 2010 เวลา 21:31 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3521

ถ้าพอมีเวลายามเย็น ก็มักจะคว้ากล้องถ่ายรูปไปดูเมฆสวยๆ แต่ก่อนไม่ได้ออกไปไหนก็ปีนหลังคา มุมสูงๆเห็นท้องฟ้ากว้าง หากมีเมฆสวยๆด้วยแสงอาทิตย์แล้วก็ถ่ายเก็บไว้จำนวนมาก บางวันก็ขับรถไปตามถนนรอบเมือง หามุมที่สวยๆ บางวันก็ไปที่บึงบำบัดน้ำเสียใกล้ๆบ้าน เป็นพื้นที่กว้างแม้จะไม่ได้อยู่มุมสูงก็เห็นท้องฟ้ากว้างไกล


คนเมืองก็มีสวนสาธารณะมาออกกำลังกายตอนเช้าตอนเย็น มีสนามเด็กเล่น มีสนามมอเตอร์ไซด์ มีสนามเครื่องบินเล็ก มีสนามจักรยานวิบาก ชาวบ้านก็มาหาปลาในบึงนี้ด้วยเครื่องมือหลากหลาย วิวตอนพระอาทิตย์ตกดินสวย บางวันก็เอาน้องหมามาเล่นด้วย เท่าที่มีโอกาส


แน่นอนหลายครั้งก็ชวนคนข้างกายมาพักผ่อน เธอก็มักจะหิ้วสกุลไทยติดมาด้วย

บริเวณนี้มีต้นไม้ขึ้นโดยธรรมชาติ ตามคันบึง ซึ่งก็เป็นขยะทางธรรมชาติ ไม่ได้อยู่ในเมืองก็มักปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ


มีต้นมะขามเทศต้นหนึ่งหากดูห่างๆก็กำลังจะตายและล้มลง ไม่น่าจะ มีอะไร ผมเห็นหลายครั้งที่มาแต่ไม่ได้สนใจอะไร แต่ครั้งนี่เข้าใกล้ สังเกต เอ มีอะไรติดเต็มลำต้นเลย เข้าไปใกล้ๆก็เข้าใจ นั่นคือ ยางที่ออกมาจากลำต้นมะขามเทศ ที่เรียก “ขี้ซี” เต็มต้นเลย น่าจะเป็นสาเหตุให้เขาต้องล้มตายไป

ผมไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรมากมายขนาดนี้ หากเป็นต้นไม้ใหญ่ในป่า รู้ว่ามีขี้ซีที่เกิดขึ้นจากต้นไม้นั้นโดนแมลงเจาะ เหมือนต้นไม้เขารู้ว่าเมื่อแมลงเจาะก็ต้องอุดรู โดยผลิตยางออกมาปิดรู


เจ้ายางไม้นี่เองเป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์ เอามาทำหลายอย่าง เช่น ทำเชื้อเพลิง เป็นองค์ประกอบการจับนกของชาวบ้านป่าบ้านดอยในเวลากลางคืน ใช้ยาเรือ ยาตะกร้า หรือ คุ สำหรับตักน้ำแบบโบราณ องค์ประกอบทำด้ามเครื่องมือชาวบ้าน และอื่นๆอีกมากมาย


ฝรั่งเรียก Rasin ที่ต้นมะขามเทศต้นไม่ใหญ่โตนี้มี Rasin เต็มไปหมด เหมือนคนเป็นโรคปุ่ม หรือท้าวแสนปม แต่มันมีประโยชน์ เนื่องจากจำนวนมันไม่มากจนเป็นกอบเป็นกำ ชาวบ้านจึงไม่มาเก็บไปขาย หรือเอาไปสำรองที่บ้านเพื่อใช้ประโยชน์ดังกล่าว อาจเพราะเด็กยุคใหม่ไม่รู้จักแล้ว หรือชาวบ้านเลิกใช้หมดแล้วเพราะทุกอย่างทันสมัยใหม่หมด เทคโนโลยีเก่าๆก็แค่เล่าสู่กันฟังเท่านั้น เผลอๆเด็กยุคใหม่ หาว่าพ่อแม่ ลุงป้า เล่านิทานโกหกเสียอีก ก็เคยได้ยินมาแล้ว

โลกเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป เราห่างไกลธรรมชาติมาก อีกสักหนึ่ง สอง ทศวรรษ เด็กยุคนั้นอาจไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในชนบทได้ด้วยตัวเอง เพราะความรู้ในเรื่องเหล่านี้ผ่านเลยไปหมดแล้ว ความรู้เรื่องการพึ่งตัวเองจากธรรมชาติ เขาไม่รู้เรื่องแล้ว ความรู้ชุดนั้นหมดไปแล้ว โรงเรียนก็ไม่เห็นความจำเป็นต้องสอน พ่อแม่ก็ได้แต่เล่านิทาน กาลครั้งหนึ่ง พ่อไปเข้าป่าหาขี้ซี…. เด็กคงขำกลิ้ง..

ผมคุยกับบางคนว่า เออ บางทีสถาบันการศึกษาควรจะพิจารณาลงไปทำวิจัยและบันทึกการดำรงชีวิตแบบพึ่งธรรมชาติของบรรพบุรุษเรานะ เพราะอนาคตพลังงานหมดไป วิกฤตสังคมเมือง โลกหันหน้าสู่อดีต เราจะไปควานหาความรู้ในอดีตมาจากไหน บรรพบุรุษก็ไม่ได้บันทึกไว้ ใครๆก็ไม่ได้ทำ เพราะความรู้ติดตัวก็หายไปพร้อมกับการตายจากไป

การบันทึกไว้จะเกิดประโยชน์แน่นอน เชื่อหัวไอ้เรืองเถอะ..อิอิ


สำนึกสาธารณะ

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 ธันวาคม 2010 เวลา 12:23 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 1499

เมื่อวานผมนั่งคุยกับเพื่อนบ้าน เราจูงมือกันมาซื้อบ้านพักในหมู่บ้านเดียวกัน เพื่อนเป็นแคธอลิค ที่เคร่งครัดคนหนึ่ง เกือบบวชเป็นพระไปแล้ว ไปเจอสาวงามริมโขงเข้าเลย ไม่ได้บวช แต่ก็ทำตัวเหมือนนักบวชที่มีพระคัมภีร์ในหัวใจ

ในหมู่บ้านที่พักอาศัยขึ้นชื่อลือชาว่าเพื่อนเป็นนักธรรมชาติวิทยา ไม่ทำความสะอาดบริเวณบ้าน เลี้ยงน้องหมาหลายตัว แต่ก็ดูแลอย่างดี ยามที่เขาออกไปถ่ายมูลหน้าบ้านใครก็จะเดินไปเก็บกวาดไม่ให้เพื่อนบ้านหมองใจ วันดีคืนดีก็เอาขวดน้ำมาตัดปาก แล้วเอาไปผูกโคนต้นไม้ เอาน้ำใส่เข้าไป บอกว่า ให้น้ำแก่มด หรือนกหนูทั้งหลายที่อาศัยบริเวณบ้าน


ต้นไม้ที่ใหญ่โตใบล่วงลงดินก็เอาไปกองไว้ริมรั้วเต็มไปหมด ไม่ได้เก็บใส่ถุงดำเอาไปทิ้ง หรือเอาไปทำปุ๋ยหมัก คงปล่อยให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่ย่อยสลายเอง แต่กลายเป็นที่อยู่ของหนูจำนวนมาก เพื่อนก็เอาสะพานไปหาดหลังคาบ้านสองหลังเข้าด้วยกัน อธิบายว่า ให้แมวที่บ้านสองสามตัวเดินไปมาได้…ฯลฯ เรื่องที่ชาวบ้านคนอื่นเขาไม่ทำกัน เพื่อนทำ

เพื่อนเป็นผู้มีความรู้ดี การศึกษา จบ ป โทที่ AIT แต่มานั่งรับงานแปลที่บ้าน และ Job ต่างๆแบบFreelance ไม่ทำงานประจำ ช่วยเหลือมูลนิธิสมาคมต่างๆแบบไม่เอาค่าตอบแทน มีมูลนิธิหนึ่งมาเชิญไปเป็นที่ปรึกษา เขียนโครงการไปขอทุนจากฝรั่งเศส เขาอนุมัติมาสองล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องอย่างนั้น อย่างนี้ เพื่อนก็คืนเงินเฉยเลย หากให้ต้องไม่มีเงื่อนไข แหมช่างเหมือนพ่อชาดีแห่งดงหลวงเสียจริง ฝรั่งงอนง้อเท่าไหร่ก็บอกว่า ต้องไม่มีเงื่อนไข จนฝรั่งบินมาดูตัว เพื่อนก็ยืนยันเช่นเดิม


NGO มีงานนานาชาติที่ไหนก็มักเชิญไปเป็นล่ามแปลให้ เพื่อนก็ไปมาทั่วแล้ว หากมีเวลาผมก็มักไปขอแลกเปลี่ยนความเห็น และมักจะได้มุมมองที่ดีดีเสมอ

วันก่อนผมก็ไปแลกเปลี่ยนกันในสารพัดเรื่อง มีประเด็นที่ผมติดใจและอยากฟังความเห็นเขาคือเรื่องการเคลื่อนตัวของสังคมที่มุ่งเน้นธุรกิจ และความรู้ เทคโนโลยี และสำนึกสาธารณะเราต่างเห็นด้วยเรื่องที่ว่า บ้านเมืองเราเน้นความรู้มาก จากการแข่งขันความรู้ต่างๆแม้ระดับโลก เช่น โอลิมปิค และเด็กของเราก็ได้เหรียญทองมามากมาย แต่ค่าเฉลี่ยของประเทศตกต่ำลง ที่สำคัญ เรามีความรู้ดี แต่ความประพฤติไม่ดี สังคมเราเน้นความรู้มานาน แต่อ่อนด้อยสำนึกดี เลยคิดกันว่า เราอาจต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่ ต้องเน้น “กระบวนการสร้างสำนึกดี” กระบวนการนี้จะหมายรวมไปถึงนอกโรงเรียนด้วย และไม่เฉพาะเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ทั้งสังคม


หลายครั้งผมเห็นคนขี่มอเตอร์ไซด์ขับผ่าไฟแดงไป บ่อยมากๆ ไม่ว่าเมืองไหน จังหวัดไหน มีทั้งนั้น ผมหงุดหงิดใจ ผมมองว่านั่นคือสำนึก มันเป็นสิ่งเล็กน้อยสำหรับบางคนที่คิด แต่ผมคิดว่า มันสะสม และจะกระทำสิ่งที่รุนแรง เสียหายมากกว่านี้ได้ในอนาคต

มีไหมสถาบันการศึกษาที่สร้างสำนึกเป็นเป้าหมายใหญ่ เคียงคู่กับการสร้างความรู้

ระบบการวัดผลเรามีการประเมินเรื่องสำนึกมากน้อยแค่ไหน น่าจะมีอยู่แต่การให้ความสำคัญอาจจะเป็นรองความรู้

สำนึกที่กล่าวถึงนี้ เป็นสำนึกที่ดีนะครับ..

ไม่ใช่เพื่อนโดนทำร้ายก็เกิดสำนึกเอาระเบิดไปขว้างใส่คู่อริบนรถเมล์กลางมหานคร ?



Main: 0.091866970062256 sec
Sidebar: 0.043737173080444 sec