มัณฑนาค่ะ

318 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 ธันวาคม 2010 เวลา 16:46 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 9372

ก่อนเที่ยงเล็กน้อย ตั้งใจจะออกไปหาข้าวกลางวันทานที่ร้านเจประจำของเรา

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นมา หน้าปัดแปลกๆ

# ขอสายคุณไพศาล หน่อยค่ะ…

@ กำลังพูดครับ

# คุณไพศาลคะคุณมีภาระหนี้สินที่ติดค้างกับธนาคารกรุงเทพฯ ไม่มีการเคลื่อนไหวมานานแล้วกรุณาติดต่อด่วน กดเลข 9

@ ไพศาล งง งง งง ลองติดต่อดู กด 9

# สวัสดีค่ะ ที่นี่ธนาคารกรุงเทพฯสำนักงานใหญ่ ติดต่อเรื่องอะไรคะ

@ เมื่อกี้ได้รับโทรติดต่อว่าผมมีหนี้สินกับธนาคารไม่มีการเคลื่อนไหวนานแล้ว..ผมงง มันอะไรกัน ผมไม่มีธุรกรรมกับธนาคารกรุงเทพฯครับ..

# อ๋อค่ะ เดี๋ยวเราตรวจสอบให้ค่ะ ขอทราบชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรค่ะ…….อ๋อ ทราบแล้วค่ะ คุณไพศาลไปใช้บัตรเครดิตที่ห้างเดอร์มอลล์กรุงเทพฯ เป็นจำนวนเงิน สี่หมื่นห้าพันบาท แล้วยังไม่ได้ชำระค่ะ เป็นความจริงไหมคะ..

@ ผมไม่มีบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพฯครับ

# ถ้าเช่นนั้นสงสัยมีการปลอมบัตรในนามของคุณไพศาล เดี๋ยวจะโอนสายให้กับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบและแก้ไขกรณีปลอมเอกสารนี้ให้นะคะ รอเดี๋ยวนะคะ…

# สวัสดีค่ะ ดิฉันมัณฑนา เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบการตรวจสอบการปลอมบัตรเครดิตและมีการใช้ซื้อสินค้าในนามของผู้ถูกปลอมแปล ดิฉันขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมหน่อยค่ะ เพื่อจรวจสอบหลักฐานและหากพบว่าเป็นการปลอมจริงเราจะแก้ไขหลักฐานและจะส่งหลักฐานให้คุณ โดยคุณไม่เสียประวัติค่ะ

ชื่อ อะไรคะ นามสกุล เบอร์โทรค่ะ ขอถามข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ คุณใช้บัตรเครดิตของธนาคารอะไรบ้างคะ

@ ผมใช้ของ……ฯ

# คุณเคยให้เอกสารส่วนตัวเช่นสำเนาบัตรประชาชนกับใครๆบ้างหรือเปล่าคะ…

@ ก็ต้องมีสิครับ

# นั่นแหละค่ะ อาจเป็นช่องทางให้คนร้ายเอาไปใช้ปลอมบัตรเครดิตของคุณและเอาไปใช้ซ้อของ ทำให้คุณเป็นหนี้สินค่ะ ขอทราบเพิ่มเติมค่ะ คุณมีการออมทรัพย์บ้างไหมคะ…(ชักเอะใจ)

@ มีซิครับ..

# มีการออมทรัพย์ธนาคารอะไรบ้างคะ กรุณาบอกเราเพื่อจะตรวจสอบการหมุนเวียนเงินเข้าออกน่ะคะว่าถูกใช้เงินไปเมื่อไหร่ ที่ไหน…

@ ผมมีที่ธนาคาร….ฯ

# แล้วตอนนี้มีเงินในธนาคารเท่าไหร่คะ….(เอ ชักตงิด)

@ ไม่ทราบหรอกครับ เพราะไม่ได้ดูทุกวัน หมดไปแล้วมั๊ง

# งั้นคุณไพศาล ช่วยตรวจสอบหน่อย ดิฉันอยากทราบการเคลื่อนไหวเงินในบัญชีน่ะค่ะ

@ ไม่ได้หรอก ผมทำงานที่บ้านไม่ได้อยู่ที่ธนาคาร

# คุณไพศาล ไปที่ตู้ ATM ที่ไหนก็ได้ที่ใกล้คุณแล้วตรวจสอบให้หน่อย ดิฉันจะได้เชคความผิดปกติให้น่ะค่ะ

@ อีก 20 นาทีแล้วกันนะ

# ค่ะ อีก 20 นาที มัณฑนาจะโทรมาใหม่นะคะ

ชัดเลย…..แก๊งต้มตุ๋นมาหลอกเราเข้าแล้ว เวร เอ้ย ดูเบอรฺโทรซิ นี่มาจากต่างประเทศ น้ำเสียง สำเนียง มันไม่ใช่เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มันไอ้พวกกะเลวกะลาดที่ไหนก็ไม่รู้ เดี๋ยวจะด่าให้…..

เราเดินทางไปกินข้าว มีคนเต็มร้าน มีนักกฎหมายสองคนนั่งอยู่ด้วย เห็นเสื้อเขียนว่า Government lawyer

ขณะกินข้าว เสียงโทรเข้ามาเป็นเบอร์มาต่างประเทศ….

@ คุณไพศาล ใช่ไหมคะ ว่าไงคะ…

# โธ่คุณมัณฑนา ทำไมมาหากินแบบนี้ ทำไมมาหลอกลวงกันแบบนี้ คุณหลอกผมใช่ไหม เพราะเบอร์นี้โทรมาจากต่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งอยู่ที่ต่างประเทศหรือครับ นี่นักกฎหมายนั่งตรงนี้คุณจะคุย อธิบายกับเขาหน่อยไหมครับ

@ คุณไพศาล ดิฉันจะโกหกคุณไปทำไม…แล้วรีบวางสายไปเลย…

คนทั้งร้านหันมามองหน้าผม….



ธันวาคมปีนั้น….

600 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 ธันวาคม 2010 เวลา 19:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 7827

ธันวาคมปีนั้น….

เมื่อเราร่ำลาท่านกงสุลใหญ่ประเทศไทยประจำสะหวันนะเขต สปป.ลาวแล้ว

มากกว่า 30 คนจาก 4 จังหวัดในพื้นที่โครการ คฟป. ก็เดินทางข้ามแม่น้ำโขงกลับถิ่น

การเดินทางข้ามโขงครั้งนี้จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ต้องการเปิดโลกทัศน์แก่กลุ่มคณะกรรมการตลาดชุมชน

เพียงไม่นานเมื่อเรากลับถึงห้องพัก

สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกช่องกระจายข่าว สึนามิถล่มภาคใต้ ผู้คนล้มตายจำนวนมาก อุบัติการณ์ธรรมชาติครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องนี้ต่อมา ระลึกถึงผู้สูญเสียใน สึนามิ

คิดถึงอุบัติภัยธรรมชาติอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นอีก..


สะเดาหวาน

62 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 ธันวาคม 2010 เวลา 20:49 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1279

ไปสวนป่าคราวที่แล้วกับอาว์เปลี่ยน

นั่งฟังอาว์เปลี่ยนคุยเรื่องที่เราไม่รู้จักสังคมลาว ก็กระจ่างขึ้นมามาก

อาว์เปลี่ยนไปอยู่หงสาหลายปี และทำงานกับชาวบ้านตลอดกับระบบ

การบริหารราชการแผ่นดินย่อมเข้าใจดี…

คณาจารย์จากสารคามก็ได้รับรู้เรื่องลาวไปมากมาย

ขากลับผมไปส่งอาว์เปลี่ยนที่คิวรถในเมืองบุรีรัมย์

แล้วบึ่งรถกลับขอนแก่นคนเดียว

แม่หวีให้สะเดามากล่องใหญ่ กินกันสองคนก็คงไม่หมด

ก็เลยแจกเพื่อนบ้าน 7 ครอบครัว

ต่างชมกันว่า รสชาติกำลังดี

บ้านอาจารย์ราชมงคลตรงข้ามบ้านผม บอกว่า

อยากกินสะเดาน้ำปลาหวานมาหลายวันแล้ว พอดีเลย อร่อยกันทั้งบ้าน

ขอบพระคุณแม่หวี พ่อครูบาฯครับ

ได้กินสะเดาน้ำปลาหวานสมอยากครับ…


Megatrends

740 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 ธันวาคม 2010 เวลา 8:24 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 13572

การผ่านแดนไทย-ลาวหลายๆครั้ง ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ผมสังเกตมีสิ่งที่ต่างไปจากความคุ้นเคยปกติหลายประการ ก็เป็นธรรมดาของการเคลื่อนไหวของสังคม และประเทศพี่น้องที่เกี่ยวเนื่องชิดกันมากๆ

ทุกครั้งที่เดินทางผ่านด่านจะเห็นฝรั่งประเภท Back packer ทั้งเข้าและออก ทุกครั้งเห็นสาวๆฝั่งลาวข้ามเข้ามาฝั่งไทย ไม่ได้ซักถามเธอ แต่แอบฟังเธอพูดโทรมือถือกับฝรั่งในเมืองไทยก็พอเดาได้ว่า ข้ามมาหาฝรั่ง ซึ่งอาจจะไม่ใช่สามี แต่เป็นประเภท Matchmaker ซึ่งกฎหมายของลาวนั้นเข้มงวดยิ่งนัก เรื่องเพศ จึงนัดพบกันที่ต่างประเทศ ก็ไทยเรานี่แหละ สังคมไทยที่อาจพูดได้ว่า เปิด ประชาธิปไตย สิทธิส่วนบุคคล แต่สังคมลาวปิด มีกติกาเข้มงวด หนุ่มไทยอย่าไปใช้นิสัยแบบไทยๆในลาวนะครับ ถูกจับติดคุกมามากแล้ว ลองถามอาว์เปลี่ยนซิ


อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นหนาตาในครั้งนี้คือ กลุ่มหนุ่มในรูปนั่นแหละ แรกๆผมก็ไม่ได้คิดอะไร ตอนลงจากรถและต้องผ่านการตรวจคนเข้าเมือง ออกเมือง หนุ่มๆเหล่านี้เกาะกลุ่มกัน เมื่อสังเกตมากขึ้นก็พบว่า Passport ของหนุ่มๆเหล่านี้มีคนถืออยู่คนเดียว

ผมเข้าใจทันทีว่าหากเป็นนักท่องเที่ยวต้องมีลักษณะพิเศษ เช่นใส่หมวกเหมือนกันหมด ติดโลโก หรือสัญลักษณ์อะไรสักอย่าง แต่นี่ไม่มี เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากนี่คือ “แรงงานนำเข้า” เพื่อความแน่ใจผมสอบถามพนักงานขับรถระหว่างประเทศก็ได้คำตอบยืนยันว่าใช่ เพราะฤดูนี้ หมดหน้าทำนาแล้ว ต่างก็เข้ามาหางานทำในประเทศไทย มาหาประสบการณ์ในไทย เพราะค่าแรงบ้านเราสูงกว่าบ้านเขามาก

เคยพบหนุ่มลาวสามสี่คนลงไปทำงานถึงมาเลเซีย ลงเรือประมงจับปลาที่มีใต้ก๋งเป็นคนไทย ขึ้นฝั่งทีก็ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ

สอดคล้องกับที่ผมลงชุมชนลาวสอบถามเรื่องวิถีชีวิตที่เรียก Livelihood analysis, Crop calendar, Family profile ก็พบว่า ทำนาไม่พอกินก็ไปขายแรงงาน ฝั่งไทยคือเป้าหมายหลัก เหมือนๆชาวอีสานที่ลงกรุงเทพฯหรือตามแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ


การเคลื่อนไหวของคน ก็คือการเคลื่อนไหวของวัฒนธรรม การเคลื่อนไหวของค่านิยม และอื่นๆอีกมากมาย แน่นอนตัวที่เป็นอิทธิพลใหม่สุดคือค่านิยมต่างๆของระบบทุนนิยม เช่นการแต่งตัว เสื้อผ้า สไตล์ มือถือ การพูดคุย เนื้อหาการพูดคุย อะไรที่วัยรุ่นเมืองไทยนิยมก็แพร่ติดตัวติดหัวเข้าสู่ฝั่งลาวหมดสิ้น

หากกฎ ระเบียบไม่เข้มแข็ง สาวๆนุ่งขาสั้นคงเต็มเมืองลาวไปหมดแล้ว แต่นี่ยังนุ่งผ้าถุงหนาตา อาจจะมีขาสั้นประปรายบ้าง ก็เป็นช่วงเวลาพิเศษ เช่นเช้ามืด ที่เธอมาเดินออกกำลังกายเช้า

ผมจึงชอบ ระเบียบบ้านของเขาจริงๆ….

หลายคนอาจจะแอบคิดว่า จะไปได้สักกี่น้ำ

การเฝ้ามองการเคลื่อนตัวของสังคมอย่างผมสนใจนัก..

นึกย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อนที่มีหนังสือชื่อ Megatrends ของ จอห์น ไนซ์บิตต์ และ แพทริเซีย อเบอร์ดีน เขียนไว้ ตอนหนึ่งกล่าวว่า

สิงค์โปร์ ได้พัฒนาตัวเองจนกลมกลืนเข้ากับสังคมระหว่างประเทศที่เป็นสากลที่สุดในย่านเอเซียอาคเนย์ แต่ขณะนี้กลับพากันรู้สึกถึงการเป็นแบบตะวันตกมากเกินไป ในสายตา ลี กวน ยู แล้ว หนุ่มสาวชาวสิงค์โปร์ได้สูญเสีย “ค่านิยมหลักของเอเซีย” ไปแล้ว และ “สนใจเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องของชุมชนส่วนรวม” ทำให้กลายเป็นสังคมตะวันตกเทียม และนั่นคือหายนะ

ดังนั้น รัฐบาล สิงคโปร์จึงรณรงค์ให้มีการพูดภาษาจีนกลางทั่วทั้งเกาะ เพื่อลดความเป็นตะวันตกของสิงคโปร์ลง…….

ย้อนกลับมามองตัวเราบ้าง…มีอะไรให้คิดเยอะเลยครับ


เรื่องเล่าของชายชรา

636 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 ธันวาคม 2010 เวลา 22:22 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5096

เก้าโมงกว่าแล้ว สรุปงานให้เจ้านายยังไม่เสร็จ ก็ต้องยกหูโทรศัพท์นัดหมายแท็กซี่มารับเวลา 14.15 น.เพื่อเดินทางไปขึ้นรถเมล์ระหว่างประเทศ ขอนแก่นสะดวกขึ้นเมื่อมีบริษัทแทกซี่ถึงสามบริษัท มากกว่า 150 คัน คอยรับใช้ผู้คนเดินทาง

นับสิบสิบปีทีเดียวที่ไม่ได้นั่งรถเมล์ไปไหนมาไหน เพราะมีรถที่ทำงาน มีรถส่วนตัวไม่ว่าใกล้ไกล ไม่เคยนั่งรถเมล์มานาน มาคราวนี้ผมจำเป็นต้องนั่งรถเมล์ไปต่างประเทศ ขอนแก่น-เวียงจัน อย่างน้อยแค่สองเดือนมานี่ผมนั่งมา 4 เที่ยวแล้ว แม้ว่าสภาพรถจะไม่เจ๋งเหมือนนครชัยแอร์ ก็พอรับได้ ผู้โดยสารไม่มาก แต่ละเที่ยวมีประมาณครึ่งคันเท่านั้น

นึกถึงจอมป่วนที่เดินทางบ่อยและเอาหนังสือไปอ่าน ผมมีหนังสือป๊อกเกตบุ๊ค เต็มบ้าน จะล้มทับตายสักวัน บางคนที่บ้านว่าอย่างนั้น อิอิ ไม่ได้อ่านหรอก ซื้อเล่มที่ชอบๆเก็บไว้ มาคราวนี้แหละที่จะมีเวลาอ่านขณะนั่งรถเมล์ไปเวียงจัน…

คราวก่อนผมคว้าเล่มใหญ่ของ เชอเกี่ยม ตรุงปะ รินโปเช “วัชราจารย์ชาวทิเบต ผู้ใช้เวลากว่า ๒๐ ปี ในการเผยแผ่พุทธศาสนาในซีกโลกตะวันตก เขาได้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมชัมบาลากว่า ๑๐๐ ศูนย์ทั่วทั้งทวีปอเมริกาและยุโรป ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ มหาวิทยาลัยแนวพุทธในเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีงานเขียนที่ตีพิมพ์แล้วกว่า ๔๐ เล่ม

เชอเกียม ตรุงปะ เป็นธรรมาจารย์ชาวทิเบตเพียงไม่กี่ท่าน ที่ยอมทิ้งคราบของความเป็นพระ และวัฒนธรรมทิเบตที่เขาเติบโตมา เพื่อการทำความเข้าใจชีวิตนักเรียนชาวตะวันตกของเขาอย่างไม่ถือตน คำสอนสำคัญในเรื่อง “วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” ถือเป็นการกระตุ้นเตือนให้ชาวพุทธได้หันกลับมามองในเรื่องของการใช้หลักธรรม หรือภาพลักษณ์ความสูงส่งทางจิตวิญญาณเพียงเพื่อการหลอกตัวเอง อย่างปราศจากการนำพุทธธรรมมาฝึกฝนปฏิบัติจริงในชีวิต”

เล่มใหญ่มากๆ อ่านไม่ทันจบ คราวนี้ผมคว้าเล่มเล็กไป ชื่อ “เรื่องเล่าของชายชรา” ของอาจารย์ รศ ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ในเวลาสองชั่วโมงครึ่งผมอ่านจบลงด้วยสำนึกเป็นล้นพ้น ผมไม่ใช่ศิษย์ท่านแต่ก็เคารพท่านดั่งอาจารย์ ไม่ได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัว แต่ก็มีโอกาสได้พบท่าน 1 ครั้งสมัยที่ท่านเป็น ผอ.สถาบัันวิจัยจุฬาฯ และท่านอาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธนภูติ อาจารย์ที่ปรึกษาผมสมัยเรียนที่เชียงใหม่ แนะนำให้ไปหาท่านอาจารย์วารินทร์ ท่านมีส่วนให้ผมได้เป็นสมาชิกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และได้รับทุนทำวิจัยในฐานะ นักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อสังคม

เรื่องเล่าของชายชราได้ส่งผลสะเทือนผมมาก จนผมทำในสิ่งที่อัดอั้นมาหลายสิบปี คือโทรศัพท์ไปหาเพื่อนเก่าแก่ที่เขาปลดระวางตัวเองจากครูสอนเด็กเป็น สว. ดูแลต้นไม้อยู่ที่บ้านเมืองอุบล เมื่อผมคุยกับเพื่อนรักด้วยความละอายตัวเอง ผมต้องการขออภัยเขาที่ครั้งหนึ่งผมทำผิดกับเขาไว้ เมื่อ 30 ปีเศษมาแล้ว…

หนังสือเล่มนี้เล่าว่า….ชายชราเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ ดร.หลิวมารับ แล้วก็ไปยังที่พัก ในโรงแรมหรู 5 ดาว คืนนั้นประมาณตี 4 ชายชรารู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อึดอัด นอนไม่หลับ ชายชราจำได้ว่าคนที่ตายเพราะโรคหัวใจนั้น ส่วนมากจะตายในช่วง ตี 4 ตี 5


ชายชราลุกขึ้นจากเตียง เดินไปมาโดยคิดว่าวิธีนี้อาจจะช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น แต่ทันใดที่ลุกขึ้นนั่งบนขอบเตียงเพื่อที่จะยืนขึ้นจะได้เดินได้ ชายชรารู้สึกวิงเวียนศีรษะเหมือนคนเมากัญชา ผนังห้องหมุน ผอืดผอมอยากอ้วก ชายชราตกใจมาก เมื่อควบคุมสติได้…….รุ่งสางจึงโทรศัพท์ถึงภรรยามีปัญหาจะกลับเมืองไทยทันที ให้ภรรยาโทรหาเลขาสำนักงานเลื่อนนัดหมายทั้งหมดออกไป เมื่อบินถึงกรุงเทพฯก็เข้าโรงพยาบาลทันที…

ผลการตรวจสอบ เส้นเลือดชายชราตีบถึงสามเส้น ต้องทำการผ่าตัด บายพาส ..ให้กลับบ้านไปก่อนแล้วเตรียมตัวผ่าตัด..

ทันทีที่รู้ว่าต้องทำบายพาส ชายชรานึกถึงความตาย การทำบายพาสครั้งนี้อาจจะพลาดทำให้ถึงตายได้ ถ้าหากต้องตายควรทำอะไรก่อนถึงวันทำบายพาส ตลอดชีวิตทำอะไรไว้บ้าง มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์อย่างไร อะไรคือสิ่งสำคัญของชีวิต อะไรคือเป้าหมายแท้จริงของชีวิต ชีวิตเกิดมาทำไม ชายชราคิดวนเวียนกลับไปกลับมาถึงเรื่องเหล่านี้ทั้งวัน….

ลูกๆของอาจารย์ยังยืดเวลาการทำบายพาส โดยการวิธีการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกมาให้อาจารย์ปฏิบัติ… และอาจารย์ก็สุขภาพดีขึ้น ไปทำงานได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่เอางานมาทำที่บ้าน

ครั้งหนึ่งอาจารย์ ดร.สนิท สมัครการ ชวนท่านไปดูพื้นที่ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ต้องทำร่วมกันที่เชียงราย นั่งรถไปพักที่ลำปาง อาจารย์เกิดไม่สบายหนัก ในที่สุดต้องเอารถพยาบาลจากลำปางไปส่งถึงโรงพยาบาลประจำที่กรุงเทพฯ โดยมีภรรยาท่านอาจารย์ซึ่งบินด่วนจากกรุงเทพฯไปรับท่าน ระหว่างทางที่อยู่ในรถพยาบาลนั้น อาจารย์เขียนบันทึกไว้ว่า…

ระหว่างทางจากลำปางถึงกรุงเทพฯ ชายชราไม่พูดไม่จาอะไร นางพยาบาลสองคนที่นั่งมาในรถคอยดูแลชายชรา คุยกันเองตลอดทาง แม่เฒ่า(ภรรยาท่าน) ร่วมวงคุยด้วยเป็นครั้งคราว เมื่อชายชราได้ยินเสียงแม่เฒ่าที่ชวนคุยทุกครั้งชายชรารู้สึกว่าช่างเพราะพริ้งอะไรเช่นนี้ ชายชราอดคิดถึงเมื่อคืนที่คุยกันไม่ได้ ชายชราอยากเข้าสวมกอดหญิงชราเหลือเกิน แต่ก็ทำไม่ได้ในสภาพตอนนั้น ความรัก ความอบอุ่น ความห่วงใย ที่แม่เฒ่าให้แก่ชายชราตลอดมานั้น ทำให้ชายชราน้ำตาซึมออกจากเบ้าลูกตาอย่างไม่รู้สึกตัว..


แต่แล้วอาจารย์ก็ชวนภรรยาไปเที่ยวพักผ่อนในเมืองจีนที่ทั้งสองท่านชื่นชอบ โดยมีเพื่อนอาจารย์ชาวจีนร่วมเดินทางไปเที่ยวด้วยกัน… เป็นการใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยกันเป็นครั้งสุดท้าย อีกไม่นานต่อมาอาจารย์ก็จากไป……

กราบท่านอาจารย์วารินทร์ วงศ์หาญเชาวน์จงไปสู่สรวงสวรรค์เถิด

ผมไม่ทราบว่าหากท่านผู้อ่านได้อ่าน เรื่องเล่าของชายชราเล่มนี้จริงๆแล้วท่านจะรู้สึกอะไรบ้าง แต่ผมนั้น ระหว่างที่นั่งรถเมล์ไปเวียงจันครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาที่ผมได้ทบทวนชีวิตของผมอีกครั้งหนึ่งที่มีเวลาเป็นตัวของตัวเอง โดยมีเรื่องราวของชายชราท่านนี้ปูพื้นอารมณ์และฐานคิด

ผมตั้งสมมุติฐานไว้ว่า อายุปีที่ 61 ของผมนั้นเป็นปีสุดท้ายของชีวิต ผมควรจะทำอะไร..

——–

บันทึกจากโรงแรมอนุ เวียงจัน

(ดูแหล่งที่มาข้อมูล)


ไปเวียงจัน..

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 ธันวาคม 2010 เวลา 13:56 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 994

ช่วงนี้เร่งทำงานใหม่ครับ

และวันนี้เดินทางไปเวียงจัน

อยู่นั่นสองวัน แล้วกลับมาขอนแก่น

คงมีอะไรกลับมาบ้างครับ


4 G Model

298 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 ธันวาคม 2010 เวลา 21:34 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 6210

คนในวงการเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องพื้นๆ ที่รู้กันมานานแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะการพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้ใช้ประโยชน์สูงสุดนั้น โลกเรามีประสบการณ์มานานนับร้อยปี แต่ระบบชลประทานสมัยใหม่ก็มีประสบการณ์หลายสิบปี มาแล้ว หลักการก็ซ้ำๆ เหลือเพียงว่าใครสามารถนำหลักการไปสู่การปฏิบัติได้มากแค่ไหน ตามหลักการ ประหยัดสุด ประโยชน์สุด นั่นเอง


แต่ละโครงการมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป น้ำหนักของความสำคัญ หรือลำดับความสำคัญก็แตกต่างกันไป นั้นผู้ทำงานต้องเก็บข้อมูลมาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ แล้วเอามาวิเคราะห์ ให้เห็น ศักยภาพ คุณภาพ จุดแข็ง จุดอ่อน ซึ่ง ทางวิชาการมีเครื่องมือมากมายที่จะนำมาพิจารณาใช้ให้เหมาะสม

ในกรณีระบบชลประทานในประเทศลาวที่ไปสัมผัสมานั้น มีหลายประเด็นที่ต้องเข้าไปวางระบบเสริม ต่อยอดจาดเดิม มีทั้งข้อเหมือนและแตกต่างกับบ้านเรา

ระบบชลประทานถือว่าเป็นเทคโนโลยี่ทางการผลิตการเกษตรร่วมกัน การบริหารจัดการนั้นมีความสำคัญ ยิ่งโครงการมีขนาดใหญ่ การบริหารก็ยิ่งเป็นเรื่องมีผลมากต่อประสิทธิภาพการผลิต ต้องใช้วิชาการทางวิศวกรรมและศาสตร์การบริหารจัดการค่อนข้างมาก

ผมทราบว่าในประเทศลาวมีโครงการที่ประสบผลสำเร็จหลายโครงการ เท่าที่ผมมีเวลาศึกษาระยะเวลาสั้นๆ พบว่า คนเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ส่งผลถึงความสำเร็จนั้นๆ ซึ่งเราก็เรียนรู้มานาน ประเด็นคือ การบริหารจัดการอย่างไรจึงทำให้คนให้ความร่วมมือกับการบริหารจัดการจนสำเร็จ ซึ่งในประสบการณ์ก็บ่งชี้หลายปัจจัย ซึ่งเกี่ยวข้องกันไปหมด ไม่ว่าระบบโครงสร้างชลประทานดี ไม่มีปัญหาในการส่งน้ำ ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำมีความสามารถในการบริหารจัดการภายในกลุ่มของตัวเอง เจ้าหน้าที่ราชการที่มารับผิดชอบ ทุ่มเทความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และสามารถจัดการทุกอย่างให้ตอบสนองการผลิตได้ดี ตัวสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเอง พยายามทำความเข้าใจและเคารพกติกากลุ่มอย่างตรงไปตรงมา และที่สำคัญสุดคือ ผลผลิตที่ได้สามารถตอบสนองเกษตรกรได้ นั่นหมายถึงภาคตลาดตอบรับผลผลิตจนสร้างผลตอบแทนเกษตรกรจนเป็นที่พอใจ

แต่ละเรื่องมีรายละเอียดยิบยับ และเปลี่ยนแปลงตลอด เช่น ระบบชลประทาน คูคลองต่างๆ มันมีอายุการใช้งาน ต้องมีมาตรการดูแลรักษาซึ่งต้องให้เกษตรกรมีส่วนร่วม ร่วมแบบไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ใครบ้างที่ควรเข้าร่วม ถ้าไม่ร่วมทำอย่างไร


การผลิตต้องใช้ความรู้วิชาการเข้ามาไม่น้อย เพราะน้ำที่ใช้คือต้นทุนการผลิต Minimum requirement น้ำ ของข้าวและพืชที่ปลูกอยู่ที่ตรงไหน ความรู้นี้นักส่งเสริมการเกษตร นักพัฒนาชุมชนต้องเรียนรู้แล้วเอาไปถ่ายทอดให้เกษตรกรซ้ำแล้วซ้ำเล่า น่าเสียดายที่นักโฆษณา ประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพไปรับใช้ภาคธุรกิจหมดสิ้น แต่ไม่มีสักคนที่ก้าวเข้ามาเอาความรู้มาใช้กับโครงการชาวบ้านแบบนี้ ข้าราชการก็ใช้วิธีประชุมเท่านั้น เทคนิค วิธีการทางประชาสัมพันธ์นั้นไม่มีความถนัดที่จะทำ ซ้ำบางคนขี้เมาก็หนักเข้าไปอีก พูดจาอะไรชาวบ้านก็ไม่ฟังไม่เชื่อถือ

อ้าว…จะกลายเป็นเลคเชอร์ไปแล้ว…

จริงๆอยากย้ำว่า ความรู้พื้นฐานเดิมๆยังใช้ได้ ที่นำมาพัฒนากระบวนการทั้งหมดของระบบชลประทาน เราอาจเรียกให้ทันสมัยว่า 4 G ระบบชลประทานต้องดี พร้อมที่จะจัดการน้ำไปสู่แปลงเกษตรกร ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำต้องมีความรู้ ความเข้าใจสาระทั้งหมด และมีทักษะในการบริหารงานกลุ่มผู้ใช้น้ำและระบบที่มีส่วนรับผิดชอบ และหากมีสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เรียนรู้สิ่งที่ต้องรู้ทั้งหมด และให้ความร่วมมือ และรู้จักพัฒนาการผลิต แบบอาศัยปัจจัยน้ำตามระบบรวมได้ และท้ายที่สุด คือการพัฒนาระบบบริหารจัดการระบบใหญ่ ระบบย่อยได้ ตอบสนองทุกส่วนได้ และมีประสิทธิภาพ โดยอยู่บนฐานของความต้องการของเกษตรกรผสมผสานกับหลักวิชาการ ระบบ 4 G ก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญตลอดมาและตลอดไป เพียงแต่ปรับความเหมาะสมให้สอดคล้องในแต่ละโครงการ พื้นที่ ฯลฯ

เหลือแต่ว่าทำอย่างไร?

โครงการชลประทานที่ประสบผลสำเร็จบ่งชี้ว่าต้องมีการบูรณาการที่แท้จริง

หากทำได้ 4 G ก็คือแกงโฮะ ที่อร่อยที่สุดนั่นเอง



เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 ธันวาคม 2010 เวลา 15:44 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2246

 

หากเราไม่ปล่อยให้สิ่งที่ผ่านหน้าเราหายไปเมื่อพ้นสายตา

แล้วสิ่งใหม่ๆก็เข้ามาในสมอง โดยเฉพาะ ภาระหน้าที่

เราคงมีเรื่องมากมายให้ได้พบความจริง

เธอไม่ใช่พนักงานเทศบาลที่มาเก็บขยะตามหน้าที่

แต่เธอมาเก็บขยะเพื่อยังชีวิต

เราเห็นได้ทั่วไปในสังคมเมือง

เมืองที่บางครอบครัวที่ไม่ยอมให้มือหรือเท้าต้องสัมผัสพื้นเลย

แต่เธอทั้งมือและเท้าสัมผัสกับสิ่งสกปรกที่สุดที่คนทิ้งมันไปแล้ว…

เพราะ สิ่งสกปรกนั้น สามารถยังชีวิตเธอและคนข้างหลังได้

ตราบใดที่เธอยังทำงานได้…

มีนักแก้ปัญหาในสภาสักกี่คนที่ลงมาสัมผัสชีวิตแบบนี้..

แม้แต่มองก็ไม่เห็นด้วยซ้ำไป..

แต่เธอ และคนกลุ่มนี้ ถูกอ้างมากที่สุด..


“ระเบียบบ้าน” การแก้ไขปัญหาในชุมชนลาว

249 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 ธันวาคม 2010 เวลา 15:09 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6251

“คำเตือน เป็นบันทึกยาว ตั้งสติก่อนอ่านนะครับ อิอิ”

โจทย์ที่พบในการศึกษาสภาพการณ์ปัจจุบันของระบบชลประทานแห่งหนึ่งในลาวคือ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่จ่ายค่าน้ำ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มไม่สามารถจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าได้ ก่อให้เกิดหนี้สินสะสมเป็นจำนวนมาก

ถามว่าสาเหตุคืออะไร มีหลายปัจจัย เช่นระบบโครงสร้างคูคลองยังมีปัญหาในการจัดแบ่งน้ำ ผู้รับผิดชอบขาดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่เคารพกติกาของกลุ่ม เกิดการดื้อแพ่ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกี่ยวเนื่องกันและกัน แต่ที่น่าสนใจที่พื้นที่รับน้ำชลประทานแห่งนี้ถูกใช้ประโยชน์เต็มที่ ถึงขนาดแย่งกันเช่าที่นาทำนาปรังกันเลยทีเดียว

เหตุต่างๆนั้นในทางหลักการมีแนวทางแก้ไขอยู่แล้ว เมื่อลองมาสอบถาม “คนใน” ว่าเขามีความคิดในการแก้ไขอย่างไร

สอบถามเจ้าหน้าที่ชลประทานทุกคนตอบว่า ต้องเอาระเบียบกลุ่มผู้ใช้น้ำไปออกเป็นกฎหมายเท่านั้น เพื่อเอามาบังคับใช้ แต่เมื่อสอบถามชาวบ้าน คณะกรรมการบ้าน ตอบว่า ควรโอนบทบาทหน้าที่มาให้คณะกรรมการหมู่บ้านทำหน้าที่จัดเก็บค่าน้ำเอง…

ข้อเสนอแรกนั้น ส่วนตัวมีคำถามต่ออีกมาก เพราะมีกฎหมายดีดีมากมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ หากผู้ถือกฎหมายไม่ทำหน้าที่ หรือทำหน้าที่แบบสองมาตรฐาน สามมาตรฐาน ฯ และหากสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่เล่นด้วย แบบดื้อแพ่ง ปัญหาก็ยังคงมีอยู่

ส่วนข้อเสนอข้อหลังที่โอนบทบาทหน้าที่มาที่คณะกรรมการบ้าน แม้จะยังมีคำถามอีกมาก แต่ด้วยประสบการณ์สนใจแนวทางนี้มากกว่า

โครงสร้างของคณะกรรมการบ้านของลาวนั้นไม่เหมือนประเทศไทย


ที่โครงสร้างนี้มีหน่วยไกล่เกลี่ยบ้าน ที่ประกอบด้วยหัวหน้าคณะกรรมการชุดต่างๆมารวมกันเป็นทีมงานที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ผมถามว่าลองยกตัวอย่างการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนโดยหน่วยไกล่เกลี่ยบ้าน หัวหน้าหน่วยตอบว่า เวลามีวัยรุ่นกินเหล้าแล้ววิวาทกัน ก็เรียกทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกัน ซึ่งการไกล่เกลี่ยนี้ใช้ฐานของวัฒนธรรมชุมชนที่สืบต่อกันมาดั้งเดิม และใช้ “ระเบียบบ้าน”

เมื่อซักไซ้พบว่าบทบาทหน่วยไกล่เกลี่ยนี้ช่างเหมือน “ระบบเจ้าโคตร” ของสังคมชุมชนอีสานโบราณที่เจ้าโคตร หรือผู้ใหญ่ของตระกูล ของชุมชน ที่เป็นที่เคารพนับถือทั้งชุมชนจะทำหน้าที่เรียกลูกหลานที่เป็นคู่กรณีมาคุยกัน บนฐานของความรัก ความเอ็นดู เมตตา โน้มน้าวให้คู่กรณีลดราวาศอก เพื่ออยู่ร่วมกัน ผู้อาวุโสเหล่านั้นผ่านชีวิตมากมาย ย่อมรู้จักประวัติของพ่อแม่ ญาติพี่น้องทั้งสองฝ่าย การสาธยายอดีตที่ผูกพัน ช่วยเหลือกันมา อดอยากร่วมกัน รักใคร่สามัคคี กัน ด้วยท่าที ด้วยคำพูด สำเนียง สิ่งเหล่านี้ทำให้กรณีความขัดแย้งจบลงที่การขอขมาลาโทษ และยกโทษให้แก่กัน…หน่วยไกล่เกลี่ยทำหน้าที่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามทุกกรณีไม่ได้จบลงทั้งหมด อาจจะมีบางคู่ที่ไม่ยอมจบ ระเบียบบ้านก็กำหนดไว้หลายขั้นตอน จนที่สุดเมื่อ เอาไม่อยู่ ก็ส่งเข้าระบบการปกครองโดยกฎหมายรัฐ คือระบบศาล..

ส่วนตัวผมสนใจกระบวนวิธีนี้มากและสนใจที่จะศึกษารายละเอียดลงไปอีก ผมขอระเบียบบ้านจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในลาวมาศึกษา อาว์เปลี่ยนกรุณาอ่านและขยายความให้ฟัง ลองดูตัวอย่างนะครับ

……………..

มาตรา 4 บุคคลใด ครอบครัวใด ได้ลักเอาทรัพย์สิน สิ่งของคนอื่นมาเป็นของตนเอง ถ้าว่าการจัดตั้งสืบรู้ มีหลักฐานเพียงพอ ครั้งที่ 1 จะปรับไหม 100,000 กีบ ถึง 300000 กีบ พร้อมทั้งเขียนใบสำรวจ ศึกษา อบรม ส่วนค่าเสียหายของเจ้าของทรัพย์สิน มอบให้ผู้กระทำผิดเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ในกรณีร้ายแรง มีความเสียหายหลวงหลาย ทั้งเป็นของรวมหมู่บ้านของรัฐ แม่นประกอบคดีส่งให้ขั้นเทิงเป็นผู้พิจารณา และปฏิบัติตามกฎหมาย

มาตรา 5 บุคคลใดทิ่มระเบิด ซ๊อทปลา เบื่อปลา เบื่อสัตว์ทุกชนิด ถ้าผู้ใดละเมิด ครั้งที่ 1 ปรับไหม 500,000 กีบ ถึง 800,000 กีบ พร้อมทั้งยึดเอาอุปกรณ์ทั้งหมด ในกรณีผู้กระทำผิดถ้าบ่เข็ดหลาบ แม่นประกอบคดี ส่งให้ขั้นเทิงปฏิบัติตามกฎหมาย

มาตรา 7 บุคคลใดตัดไม้ทำลายป่าเลื่อยไม้แบบซะซายโดยบ่ได้รับอนุญาตจากการจัดตั้งขั้นบ้านจะต้องถูกปรับไหม 50,000 กีบ ถึง 100,000 กีบต่อ 1 ครั้ง หาก มีความเสียหายอย่างหลวงหลาย แม่นประกอบคดีส่งให้ขั้นเทิงปฎิบัติตามกฎหมาย

มาตรา 11 บุคคลใดยังได้ก่ออาละวาด ตีกัน หรือทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บแล้วจะถูกปฏิบัติดังนี้ ครั้งที่ 1 ผู้ต้นเหตุลงมือก่อน ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บจะถูกปรับไหม 500,000 กีบ ถึง 1,000,000 กีบ พร้อมทั้งดูแลผุ้บาดเจ็บ และทำสู่ขวัญตามฮีตคองประเพณี ในเมื่อบาดเจ็บสาหัส ร้ายแรง แม่นมอบให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมาย

มาตรา 12 บุคคลใดมีผัวหรือเมียเป็นครอบครัวแล้วยังมีการพัวพันแอบชู้สาวกับคู่ผัวเมียคนอื่น ทำให้ครอบครัว หรือคู่ผัวเมียแตกแยก ทำให้ผัวเมียปะร้างกัน เกิดปัญหาในครอบครัว การจัดตั้งจะต้องปรับไหม 100,000 กีบถึง 500,000 กีบในกรณีผู้กระทำผิด ถ้าหากบ่เข็ดหลาบครั้งต่อไป แม่นประกอบคดีส่งขั้นเทิงประกอบคดีตามกฎหมาย

มาตรา 14 ถ้าบุคคลใดสัญจรไปมา ยามดึกเปิดเทป ซีดี เครื่องเสียงอื่นๆเกินขอบเขต เมื่อถึง 4 ทุ่ม 30 นาที ต้องยึดเอาไว้ ถ้าครอบครัวใดจัดงาน แม่นผูกแขน งานดองหรืออื่นๆ ต้องเสนอ ปกส(ตำรวจ) บ้าน หรือนายบ้านเพื่ออนุญาตก่อน ถ้าครอบครัวใดยังละเมิดไม่ปฏิบัติ ครั้งที่ 1 จะถูกศึกษา อบรม และกล่าวเตือน เขียนใบสำรวจ ครั้งที่ 2 จะปรับไหมแต่ 50,000 กีบ ถึง 100,000 กีบ

มาตรา 15 ห้ามไม่ให้แตกแยกความสามัคคี สร้างความปั่นป่วน ผิดข้องต้องการ กันในครอบครัว และบุคคลอื่น บ่จ่มเหล้า ดูหมิ่น นินทา อนาจาร ป้อยด่าซะซายใส่การจัดตั้ง และทำให้ทุกคนในการจัดตั้งเสียหาย เสียศักดิ์ศรี จะถูกปรับไหม ครั้งที่ 1 50,000 กีบถึง 200,000 กีบ ถ้าต่อไปไม่เข็ดหลาบ แม่นประกอบคดีส่งให้ขั้นเทิงดำเนินคดีตามกฎหมาย

มาตรา 16 ทุกครอบครัว เมื่อมาประชุม ห้ามไม่ให้ผู้หญิงนุ่งทรงขาสั้นและเสื้อสายเดี่ยวมาประชุม และบ่ให้กินเหล้าเมามาประชุมบ้าน และหนีจากกองประชุมที่ประชุมบ่ทันแล้ว ถ้าผู้ใดยังละเมิด ครั้งที่ 1 ถูกกล่าวเตือน ศึกษา อบรม ครั้งที่ 2 จะปรับไหม 50,000 กีบ ถึง 100,000 กีบ

มาตรา 17 บุคคลใด เที่ยวโสเภณี ครั้งที่ 1 จะถูกปรับไหม 200,000 กีบถึง 500,000 กีบ ครั้งที่ 2 จะปรับไหม 1,000,000 กีบ ครั้งที่ 3 แม่นประกอบคดีส่งขั้นเทิงปฏิบัติตามกฎหมาย

หมู่บ้านปกครองกันเอง ออกระเบียบบ้านเอง ยอมรับเอง และถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด สังคมลาวจึงมีความสงบค่อนข้างสูง ทุกคนในระดับบ้านสนับสนุนให้เอาระเบียบกลุ่มผู้ใช้น้ำมาขึ้นเป็นระเบียบบ้าน และประกาศใช้ตามขั้นตอน คิดว่าน่าสนใจในมุมที่ชาวบ้านจัดการกันเอง

การที่รัฐให้อำนาจปกครองกันเองแก่ชุมชนขั้นพื้นฐานแบบนี้นั้น มันก็เป็นการกระจายอำนาจแบบหนึ่งที่เมืองไทยร้องหา…

เรื่องนี้มีรายละเอียดอีกมาก แต่หลักการน่าสนใจมากครับ ย้อนกลับมาที่สังคมบ้านเรา เมาประชาธิปไตย หรือบางครั้งสิทธิมนุษยชนกลายมาเป็นข้ออ้าง

แต่วัฒนธรรม ประเพณี ดีงามของเราที่เรียกทุนทางสังคมนั้นละเลยกันหมดสิ้น ไม่เห็นอ้างหรือเรียกร้องกันเลย หรือมองไม่เห็นของดีดั้งเดิมของเราเสียแล้ว…


เช้าวันนั้นที่เวียงจัน

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 ธันวาคม 2010 เวลา 19:39 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 735


เมื่อไปต่างถิ่น ชอบที่จะเดินชมบ้านเมือง วิถีชีวิตของถิ่นนั้น แม้ว่าสิ่งที่เห็น และสิ่งที่คิด อาจจะไม่ใช่ความจริงที่เป็นจริงๆ แต่ที่เห็นไม่น่าที่จะต่างจากที่คิด เพราะประสบการณ์ที่ผ่านพบ พอประเมินได้ระดับหนึ่ง

กลางนครหลวงเวียงจัน ที่ตรงข้ามผืนแผ่นดินไทยที่ อ.ศรีเชียงใหม่ นั้น ใครที่เรียนประวัติศาสตร์ย่อมทราบดีว่า สองฝั่งนั้นคือญาติพี่น้องกันมาแต่บุราณ เมื่อการเมืองเปลี่ยนไป การล่าเมืองขึ้นและอื่นๆทำให้แม่น้ำโขงต้องแบ่งพี่แบ่งน้องออกเป็นสองประเทศ การบริหารบ้านเมือง ทำให้สองฝั่งแตกต่างกันพอสมควร แต่ความเป็นเครือญาติไม่ได้แตกต่างออกไป

ทั้งเช้าและเย็น ชายฝั่งนครหลวงเวียงจันเต็มไปด้วยผู้คนมานั่งชมธรรมชาติ ถึงที่สุดแล้วมนุษย์ก็วิ่งหาธรรมชาติ ขณะที่ทางเดินชีวิตอยู่ในป่าคอนกรีต

มุมของภาพนี้ไม่มีอะไรวิเศษ แต่หากเป็นชายฝั่งมหานครนิวยอร์ค หรือแม้แต่กรุงเทพฯ คงไม่มีภาพนี้คงอยู่ ทุนมหาศาลคงมาแปรสภาพธรรมดานี้ให้กลายเป็นแหล่งดึงเงินทองเข้ากระเป๋าบุคคลที่เรียกว่านักธุรกิจ ดึงธรรมชาติออกห่างจากความเป็นสื่งธรรมดา

ขอบคุณนครหลวงเวียงจัน ที่ยังคงวิถีมนุษย์ริมน้ำที่ธรรมดาให้ได้สัมผัส

ก่อนที่อาทิตย์จะลอยสูงขึ้น แล้วดึงคนกลับเข้าไปสู่ป่าคอนกรีตอีกครั้ง…


ผีพลายในลาว

510 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 ธันวาคม 2010 เวลา 19:22 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 13734

อาชีพคล้ายแบบนี้ในเมืองไทยที่ดงหลวง ชาวบ้านเรียกผีพลาย เพราะเดี๋ยวมาเดี๋ยวก็ไป ว่องไว ขยายตัวรวดเร็วเพราะรายได้ดี น่าที่จะพัฒนามาจากพ่อค้าเร่ที่ขายอาหารด้วยรถมอเตอร์ไซด์ ในเมืองไทย

รูปนี้อยู่ในชนบทลาว ผมไม่มีโอกาสซักถามชาวบ้านเรื่องนี้ เพราะกำลังเก็บข้อมูลอยู่ แต่คว้ากล้องมาถ่ายรูปไว้ได้ ชาวบ้านบอกสั้นๆว่าส่วนใหญ่เป็นคนเวียตนาม เป็นเด็กรุ่น หรือวัยหนุ่มเวียตนามที่ยึดอาชีพนี้ ดูซิ ล้วนเป็นของใช้ในครัวเรือนที่จำเป็นต้องใช้ สารพัด ภาชนะใหญ่ขวามือบนนั้นน่าจะเป็น “โตก” ที่ทางภาคเหนือของไทย หรืออีสาน นิยมใช้กันมาแต่โบราณ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเดียวกันกับประเทศลาว

แต่นี่เป็นอลูมิเนียมแล้ว ภาชนะสมัยนี้ใช้วัสดุพื้นบ้านเช่น ไม้ หวาย หมดไปแล้ว โลหะก็เข้ามาแทนที่ อาจจะเป็นตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก

พี่น้องลาวต่างก็พูดว่า คนเวียตนามนั้นขยัน ทำงานไม่เลือก นี่เองที่ทำให้ประเทศของเขาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วมาก

หันมามองสังคมเรา ยังทะเลาะกันไม่เสร็จเลย อิอิ


ขอนแก่นอบอุ่น

296 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 ธันวาคม 2010 เวลา 12:41 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8587

เข้าฤดูหนาวนานพอสมควรแล้วในความรู้สึกผมก็ไม่หนาวเท่าไหร่ เรียกว่า อากาศกำลังดีมากกว่า ไม่ร้อนจนเหงื่อโซก และไม่หนาวสั่นสะท้าน ไม่ได้ออกรอบ ตีกอล์ฟมานานแล้วเพราะงานเขียนล้นมือให้ก้นติดกับเก้าอี้มากกว่า ยิ่งงานใหม่นั้นต้องปรับบรรยากาศการทำงาน การทำรายงานใหม่ด้วย


พี่น้องลานที่ขอนแก่นมีหลายคน ก็ไม่ค่อยได้พบปะกันหากไม่มีการนัดพิเศษ ต่างคนก็มีภารกิจของตัวเอง มากบ้างน้อยบ้างตามเงื่อนไข

สองสามวันก่อนทราบว่าจอมป่วนจะเดินทางไปสวนป่า เลยขอให้แวะขอนแก่นหน่อย คิดถึง จอมป่วนก็รับปากจะมาทานกาแฟที่ร้านเพื่อนออต หน้าสถานีรถไฟ

เมื่อเช้าเก้าโมงกว่าๆ นั่งเขียนรายงานตั้งแต่เช้า อยากจะเร่งให้เสร็จเร็วๆจะได้ไปทำอย่างอื่นบ้าง คนข้างกายก็ก้มหน้าทำรายงานด่วนของเธอ อยากให้เสร็จก่อนพาครอบครัวเที่ยวปีใหม่กัน พ่อแม่ลูกไม่ค่อยพบกัน มีแต่โทรศัพท์หากันจนบริษัทบริการมือถือรวยล้นฟ้าไปแล้ว (อิอิ เว่อไปหน่อย…) จอมป่วนโทรมาบอกว่าจะถึงขอนแก่นเร็วกว่าที่นัดหมาย..

ได้เลย ..รีบจัดการตัวเอง โทรนัดป้าหวาน ไปรับป้าหวานไปที่ร้านนัดหมาย อ้าวจอมป่วนมาถึงแล้ว… มีออตคอยอยู่แล้ว มีรานี และครูสุมาด้วย ดีจัง ไม่ได้พบมานานแล้ว

ถามไถ่กัน ถามถึงคนนั้นคนนี้ ครูสุถามป้าหวานว่ามาในลานได้อย่างไรนี่.. ป้าหวานยิ้มหวานตามสไตล์ แล้วก็เล่าให้ฟัง พาดพิงไปถึงใครต่อใครมากมายที่คิดถึงกัน แล้วป้าหวานก็ยกหูโทรศัพท์คุยกับหนุ่มเชียงรายผู้มีหนวดงาม แล้วก็ให้คนโน้นคนนี้ได้คุยกันให้หายคิดถึง

น้องรานีและครูสุบอกว่าอยากจัดเฮฮาเหมือนที่ดงหลวงอีก ชอบบรรยากาศแบบนั้นมาก ผมก็ว่าหากสมาชิกพร้อมใจกันก็ยินดีประสานงานได้ และเห็นด้วยที่อยากให้เกิดแค้มป์เฮฮาศาสตร์อีกหลังจากที่ห่างหายไปนาน

ที่ไหนก็ได้ที่เป็นป่าเขา แม้ในลาว ว่างั้น แต่ที่ลาวนั้นต้องปรึกษาอาวเปลี่ยน

จอมป่วนมีนัดหมายรายทางอีกก่อนถึงสวนป่า จึงร่ำลากันเมื่อถึงเวลาอันควร

ที่ไหนก็ได้ที่มีพี่น้องเฮฮาศาสตร์ มันอบอุ่น อ่ะ..


ความด้อย

44 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 ธันวาคม 2010 เวลา 6:05 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 980

หลังจากตระเวนเก็บข้อมูลแล้วก็ถึงเวลาเขียนรายงาน

//\\

งานพัฒนาสังคมชุมชน คืองานแก้ปัญหาความด้อยของคนในชุมชน

เป็นงานที่เอาปัญหาของคนอื่นมาคิด แก้ไขร่วมกับเขา ฯลฯ

มีเรื่องราวมากมายที่สะท้อนสภาพสังคม ความคิด พฤติกรรม ความเชื่อ

เห็นเขา เห็นโลก เห็นเรา..


ฝูงนกสีขาว

103 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 ธันวาคม 2010 เวลา 23:56 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2243

ฝูงนกกระยางลงกินอาหารกลางทุ่งนาข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวเสร็จที่ เมือง Paksan แขวง บริคัมไซ ลาว

ไม่ได้เห็นนกกระยางเป็นฝูงมากกว่า 50 ตัวมานานแล้ว ส่วนใหญ่ก็เห็นเดี่ยวๆ หรือไม่กี่ตัว นี่เป็นฝูงเลย

 

 


Bor PennYang

901 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 ธันวาคม 2010 เวลา 20:37 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 14128

 

 

มีร้านอาหารแห่งหนึ่งอยู่ชายโขง

เมืองจันทะบุลี แขวงเวียงจัน

ดูชื่อร้านซี จ๊าบบจริงๆ


ธรรมชาติของวิถี

37 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 ธันวาคม 2010 เวลา 12:45 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1301

 

 

ท้องฟ้าวันนี้ของ ปชป.

แต่มันไม่ใสแจ๋วนะ

มันเป็นธรรมชาติของวิถี

อยู่..ท่ามกลางความแตกต่าง

***


ผลกระทบน้ำท่วมไทยไปถึงประเทศลาว

208 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 เวลา 11:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3946

ไปทำงานในหมู่บ้านพื้นที่รับน้ำชลประทานในประเทศลาวนั้น ผมชอบที่ได้ลงสัมผัสข้อมูลตัวจริง(สำนวนลาว) ของชุมชนชนบทลาว มีเรื่องเล่าอีกยาวทีเดียวหละครับ


มีบางคนเป็นห่วงผมว่าแล้วไปกินข้าวที่ไหน เป็นมังสะวิรัติ ในหมู่บ้านลาวจะไม่มีให้กินนะ เดี๋ยวผอมแย่เลย อิอิ

มีครับ อาหารหลักคือเฝ๋อ(ก๊วยเตี๋ยว).. ถ้วยบักเอ้บ(ใหญ่จริงๆ) สาวไทยสั่งแล้วกินไม่หมดแน่ๆ ก็สั่งแบบไม่เอาเนื้อสัตว์ ไม่เอาลูกชิ้น ส่วนน้ำมันจะปนเนื้อต้มมาบ้างก็ยอม เพื่อนชาวลาวที่เป็นทีมงานก็พาเราออกมากินเฝ๋อที่ร้านริมถนนสาย 13 ใต้ เราก็มากินอาหารกลางวันที่นี่ประจำ

เจ้าของร้านพูดจาคล่องแคล่ว มีสามีเป็นนายตำรวจ เธอทำอาหารคนเดียวมีลูกสาวที่เป็นนักเรียนมาช่วยตอนเที่ยงทุกวันน่ารักจริงๆ เธอสมกับเป็นแม่ค้า พูดจาไพเราะเพื่อให้ลูกค้าสบายใจ เพราะบางทีก็ทำอาหารช้าไปหน่อย เพราะมีคนมากินอาหารกลางวันตรงกันหลายชุด

เธอบอกว่า ผักแพงมาก หลายชนิดที่นำมาประกอบอาหาร เหตุผลเพราะ ผักที่ปลูกตามริมโขงและเอามาขายในตลาดสดเวียงจันนั้น ถูกพ่อค้าไทยกว้านซื้อไปหมด เพราะน้ำท่วมเมืองไทยทำให้ผักขาดตลาด ต้องมากว้านซื้อถึงเวียงจัน ผมก็เดาว่า คงตลอดแนวแม่น้ำโขงแหละ พ่อค้าผักคนไหนมีความสัมพันธ์กับพ่อค้าถิ่นที่ไหนก็คงติดต่อค้าขายกัน

ระบบตลาดเชื่อมกันหมด แม้ผักที่กินกับเฝ๋อ…

ฮื่อ…..น้ำท่วมเมืองไทย

ผักในตลาดเวียงจันแพงกว่าหนึ่งถึงสองเท่าตัว…???!!!


Bob ณ เวียงจัน

436 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2010 เวลา 16:22 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 4956

ผมต้องการแผนที่ประเทศลาวที่เหมาะสมกับงาน นอกจากจะดูจาก Google แล้วอยากได้ที่เป็น hard copy จึงมองหาร้านหนังสือ ร้านแรกที่พบคือ ร้านโอเรียลตัล ที่ผมพบหนังสือประวัติศาสตร์ลาวราคา 1 ล้านกีบ มีแผนที่อยู่หลายฉบับแต่ไม่ถูกใจ จึงเดินหาไปเรื่อยๆ


แต่แล้วก็ไม่ได้ ยังคิดว่ากลับไปขอนแก่นไปหาที่นั่นดู แต่ก็ผิดหวังอีก เพราะมีแต่แผนที่รวมสามประเทศ มาเวียงจันคราวนี้ เมื่อเลิกงานก็เดินไปริมโขง ถ่ายรูป ดูฝั่งไทย และชื่นชมธรรมชาติโดยเฉพาะอากาศยามนี้ เมื่อเย็นย่ำก็เดินกลับที่พัก ผ่านร้านหนังสือแห่งหนึ่งบนเส้นทางกลับที่พักจึงเข้าไปดู มีแต่หนังสือฝรั่ง ไหนลองไปดูซิว่ามีแผนที่ไหม

สายตาผมไปสะดุด หนังสือที่วางหลายเล่มที่มีชื่อผู้เขียน Robert Cooper ผมตรงไปหยิบมาพลิกดู เอ ชื่อผู้เขียนนี้คือคนที่เรารู้จักเมื่อสามสิบปีที่แล้วนี่ ใช่หรือเปล่าหนอ.. สกุลใช่ Cooper ใช่แน่ พอดีมีคนในร้านเดินมา แล้วเอ่ยปากพูดว่า เชิญดูหนังสือตามสบายนะ อ้อดูหนังสือเล่มนั้นหรือคะ เป็นเจ้าของร้านนี่แหละ… คุณ Cooper อยู่ข้างในร้านค่ะ นั่นภรรยาของเขาค่ะ


เมื่อมีจังหวะผมเข้าไปถามสุภาพสตรีที่ถูกแนะนำว่าเป็นภรรยา Cooper ผมขออภัยเธอที่จะถามคำที่ไม่สุภาพว่า คุณ Cooper เคยมีภรรยาเป็นคนไทยใช่หรือไม่ครับ เธอมองหน้าผมแล้วตอบว่าใช่ ที่เชียงใหม่ ผมไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไปแล้ว Cooper คนนี้ก็คือเพื่อนเก่าเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมา และภรรยาคนแรกของเขาก็เป็นเพื่อนร่วมงานของผม


ผมตรงไปหา Bob หรือ Robert แนะนำตัว ดูเขางง งง แล้วเขาค่อยๆรื้อฟื้นความจำ แต่ก็ยังไม่ค่อยเชื่อใจ จนเมื่อผมเอ่ยชื่อเพื่อนเก่าๆสมัยนั้น…ดูเหมือนเขายิ้มออก และเมื่อเอ่ยชื่อสินี เขาร้องอ๋อ ที่ขี่มอเตอร์ไซด์ไปทำงานสะเมิงใช่ไหม ..ฯลฯ เขายิ้มกว้างที่สุดเลย ผมจำได้แล้ว….Bob พูดลาวใส่ผม เราใช้เวลาคุยกันสักครึ่งชั่วโมงแล้วขอตัวกลับ โดยบอกว่าที่พักอยู่ใกล้ๆนี่เอง และก่อนกลับไทยจะแวะมาอีก

ผมขออนุญาตถ่ายรูปโดยภรรยาปัจจุบันเป็นคนถ่ายให้ Bob เอื้อมมือมาโอบไหล่ผมอย่างสนิทสนม แล้วบอกว่าอย่าเพิ่งไปเดี๋ยวจะเอาหนังสือให้เล่มหนึ่ง แล้วเขาก็ให้ภรรยาไปหยิบหนังสือมา แล้ว Bob เซนต์ให้ผม


จริงๆภรรยาคนแรกของ Bob คือเพื่อนสนิทของผมและเพื่อนๆร่วมงานสมัยที่ทำงานพัฒนาชนบทครั้งแรกที่สะเมิง เชียงใหม่ Bob เป็นคนหล่อมาก สาวติดกันงอมแงม และเป็นนักเขียน พูดจาไพเราะ ฯ การมาพบ Bob อีกครั้งในวัยที่ต่างก็ร่วงโรยไปมากแล้ว แน่นอน ผมดีใจจนบอกไม่ถูก ว่าจะมาพบเขาที่เวียงจันและอยู่ใกล้ๆที่พักเดินไม่ถึง 50 ก้าวเอง

อือ..ชีวิตก็เป็นอย่างนี้แหละ..


จุ กับ จุ้ม

121 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2010 เวลา 20:19 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3022

ผมจำได้ว่าการพัฒนาชุมชนด้วยแนวทางวัฒนธรรมนั้น ท่านพ่อนิพจน์ เทียรวิหาร แห่งสภาแคทอลิคเชียงใหม่เป็นผู้จุดประการขึ้น อันเนื่องจากท่านไปทำงานกับชนเผ่า ปะกาเกอญอในหลายสิบปีที่ผ่านมา การทำงานของท่านศึกษาพฤติกรรม ความเชื่อ การกระทำ วิถีของชนเผ่าไปด้วย พบว่า กิจกรรมต่างๆที่ลงไปทำ ที่ชนเผ่าดำเนินตามวิถีของเขานั้นมีความเชื่อ มีกระบวนการที่สะท้อนว่าเป็นความเชื่อ เป็นวัฒนธรรมของชนเผ่าเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย


ในช่วงเวลาเดียวกันนักพัฒนาองค์กรเอกชนทางอีสานก็สร้างนวัตกรรมด้านนี้ขึ้นมาในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน วงสัมมนา การประชุมของงานพัฒนาชนบทก็ต้องมีหัวข้อนี้เป็นหลัก แล้วนักวิชาการใหญ่คือท่าน อาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ท่านก็เขียนหนังสือเรื่องเหล่านี้ออกมาหลายต่อหลายเล่มเป็นการยืนยันศักยภาพของหมู่บ้านในมุมของวิถีชุมชน ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยมีนักวิชาการเขียนตรงๆมาก่อน

แล้วก็เอาแนวคิดลงสู่การปฏิบัติ มากมาย หลากหลายแตกต่างไปตามภูมิภาค ท้องถิ่น เช่น บวชป่า ทอดผ้าป่าต้นไม้ ฯลฯ……รวมต่อไปจนค้นหาปราชญ์ชุมชน อันเป็นการค้นหาศักยภาพในชุมชนต่อๆกันมา ที่เรียกภูมิปัญญาชาวบ้าน

ยืนยันว่าการนำเข้าองค์ความรู้ใหม่ๆจากข้างนอกนั้นแม้เป็นสิ่งจำเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ การค้นหาศักยภาพภายในชุมชนก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ก้าวผ่าน..

ผมได้ยินคำว่า “จุ้ม” ครั้งแรกในการเข้าทำงานทางอีสานนานมาแล้วแต่ “ไม่คลิก” จนมูลนิธิหมู่บ้านใช้คำนี้มาเป็นแนวทางในการทำงานกับชุมชนที่อินแปง ผมก็สนใจและศึกษาว่าเขาใช้วัฒนธรรมชุมชนเข้ามาทำงานในลักษณะไหนบ้าง

จุ้ม เป็นภาษาถิ่นอีสาน ผมไม่ทราบภาคอื่นเรียกแบบไหน ผมคิดว่าน่าจะมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันแบบนี้ในทุกภาค แต่เรียกต่างกันและทำกิจกรรมที่อาจแตกต่างกันบ้าง

จุ้ม ในความหมายที่ผมเข้าใจ (หากผิดพลาดกรุณาเพิ่มเติมแก้ไขให้ด้วยครับ) หมายถึงกลุ่มที่มีลักษณะทางธรรมชาติ เหมือนเสี่ยว เหมือนเพื่อนสนิท เหมือนเพื่อนร่วมคอกัน ซึ่งจะมีจำนวนหนึ่งไม่มากมายแต่ก็มากกว่าสองสามคน

การทำกิจกรรมที่เรานำเข้ามาจากข้างนอก หรือชุมชนคิดสร้างขึ้นมาเองก็เลยถือโอกาส อิงจุ้ม ใช้จุ้มเป็นฐานการทำ เพราะจุ้มมีความเป็นองค์กรแบบ Informal structure มีความสนิมสนม รู้ใจกัน ดุด่าว่ากล่าวกันได้เองภายใน ไม่จำเป็นต้องไปสร้างใหม่ ต่อยอดไปจากเดิม ใช้ฐานเดิม


ในลาวที่ผมไปทำงานมานี้มีอีกคำหนึ่ง คือ “จุ” มีลักษณะคล้ายกันแต่ต่างกัน จุอาจจะเรียกอีกคำคือหน่วย หรือ Unit เป็นของดั้งเดิมที่โครงสร้างการปกครองของลาวในปัจจุบันก็เอามาใช้ อาจจะเทียบในเมืองไทยได้ว่า “คุ้ม” หรือกลุ่มบ้านที่มีฐานการนับจากลักษณะทางกายภาพ ภูมิศาสตร์ เช่นตั้งบ้านติดต่อกัน อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน ทางเหนือน่าจะเรียก “ป๊อก” ในจุอาจจะไม่ใช่จุ้ม หรืออาจจะใช่ก็ได้

จุ้มกับจุ๊นั้นต่างกันตรงที่ ในความหมายที่พี่น้องลาวระบุคือ “จุ้ม” นั้นเป็น “จุ้มเจื้อ” มีฐานการนับจากลักษณะความสัมพันธ์ที่เป็นเครือญาติ พี่น้องมากกว่าเป็นแค่เพื่อนบ้านที่คอเดียวกัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตั้งบ้านเรือนในลักษณะที่ติดกัน ทางกายภาพ หรือภูมิศาสตร์ ดังนั้นการนำวัฒนธรรมดั้งเดิมมาใช้ในงานพัฒนานั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้ถึงแก่นแท้ของวัฒนธรรม และผู้เอามาใช้ก็ต้องปรับตัวให้มีลักษณะเป็นคนในด้วย ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า การทำงานพัฒนาอิงวัฒนธรรมนั้นน่าจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความยั่งยืนด้วย…

แต่ทั้งหมดนี้ผู้ที่สนใจจะเอาไปใช้ต้องไปศึกษาชุมชนของตนเองให้ทะลุปรุโปร่งก่อน มิเช่นนั้นก็เป็นเพียงผู้หวังดี ทั้งหมดนี้ผมเพียงตั้งข้อสังเกตไว้ ยังไม่ได้ทำกิจกรรมที่อยู่บนจุ้ม หรือ จุ หรือทำไปแล้วโดยไม่ได้เข้าใจ..

คนที่ทำงานพัฒนาชุมชนก็สนใจอะไรที่ชาวบ้านชาวเมืองเขาไม่พูดถึงน่ะครับ


สิ่งตอบแทน

198 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2010 เวลา 20:26 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3842

เป็นธรรมดาที่คนเราย่อมตอบแทนประโยชน์ให้แก่กัน ในเรื่องใดๆ ด้วยสิ่งใดๆก็ตามที่ผู้ให้เห็นว่าเหมาะสม และเงื่อนไขต่างๆที่มีอยู่


การเก็บข้อมูลในสนามหมู่บ้านลาวครั้งนี้เป็นคนหนึ่งเข้าร่วมทีมจัดเก็บข้อมูลพื้นที่ชลประทาน แต่ผมจะแยกประเด็น หัวข้อมาเฉพาะตามที่วางแผนและตกลงกันไว้ เพียงแต่ร่วมเวลาร่วมหมู่บ้านกัน การเก็บข้อมูลหลักก็เป็นทีมงานของทีมลาวที่มีประสบการมามาก เรียนจบปริญญาโทที่รัสเซียและที่ KU

หากจะวิเคราะห์กันเต็มๆแล้ว แบบสัมภาษณ์ยังมีจุดที่เติมได้อีก ซึ่งผมก็เสนอไป

การนัดหมายเกษตรกรเป้าหมายดูจะวุ่นวายพอสมควรเพราะระบบของเขาไม่เหมือนบ้านเรา ก็ให้ทีมลาวจัดการ กระนั้นก็ใช้เวลามากเพราะข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งก็ทำใจได้

หัวหน้าทีมลาวที่ผมอาศัยรถไปด้วยคราวนี้หอบเอาถุงอะไรบางอย่างถุงใหญ่ทีเดียวเอาลงมาจากรถหลังจากที่เกษตรเริ่มทยอยมาให้สัมภาษณ์ และเริ่มสิ้นสุด ผมลุกขึ้นไปดูว่าถุงอะไร

จ๊ากสสสส ถุงใส่ผงชูรสจำนวนมาก ตามรูปข้างบน


หัวหน้าทีมลาวบอกผมว่านี่คือค่าตอบแทนที่ให้เกษตรกรที่เสียเวลามาให้ข้อมูล…???

มีคำถามมากมาย มาความเห็นมากมายที่อยากจับเอาตัวหัวหน้าทีมลาวมาคุยด้วย แต่ผมต้องระงับไว้เอาไว้หมดสาระนี้ก่อนค่อยคุยยาวๆกัน…..



Main: 0.12638401985168 sec
Sidebar: 0.21798300743103 sec