โลกมนุษย์ในอีก 50-80 ปีข้างหน้า
เมื่อวานนี้กับวันนี้เป็นการจัด Lesson Learn workshop ของโครงการเดิมที่ทำมาเกือบสิบปีที่มุกดาหาร โดย ส.ป.ก.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน คนข้างกายในฐานะถูกเชิญให้เป็นผู้มาประเมินผลโครงการที่เรียกว่า Terminal evaluation ก็เข้ารับฟังด้วย มีท่านเลขา ส.ป.ก. และท่านรองเลขา ส.ป.ก.มาร่วมงานด้วย
สำหรับท่านเลขานั้นท่านเป็นคนใหม่สำหรับโครงการ ท่านเป็นวิศวกรที่มาดำรงตำแหน่งที่นี่ ก็ชื่นชมโครงการ ส่วนท่านรองฯท่านนี้นั้น เสมือนเป็นเจ้าของโครงการเพราะสร้างมากับมือ จึงทะลุปรุโปร่ง บางช่วงมีการเมืองเข้ามาแทรกบ้างจนเป๋ไปก็มี
คนข้างกายความจริงต้องเดินทางไปพิษณุโลกเพื่อรับผิดชอบงานศึกษาวิจัยการใช้น้ำบาดาลมาทำการเกษตร กับกรมทรัพย์ฯ แต่ก็ต้องมานั่งฟังสรุปผลงานนี้ด้วย และเธอก็บอกชอบใจที่ได้ฟังท่านรองเลขาฯพูดเมื่อวาน
ท่านกล่าวว่า เพิ่งกลับมาจากเกาหลี และที่นั่นมีโอกาสฟังปาฐกถาของศาสตราจารย์ ที่ได้รับโนเบล “เรื่องภาวะโลกร้อน ผลกระทบ และการเตรียมตัวของมนุษยชาติ” ผมเองก็ชอบ เหมือนท่านรองเลขาฯมาตอกย้ำประเด็นความสำคัญและการที่หน่วยงานต้องคิดและเตรียมตัวเริ่มทำอะไรได้แล้วทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะในระยะยาวที่ยังคุยกันน้อยมากๆว่ารัฐต้องทำอะไร หน่วยงานต่างๆต้องทำอะไร ชาวบ้านต้องทำอะไร แต่ละคน แต่ละภาคส่วนต้องทำอะไร…
ท่านกล่าวว่า ปัญหาใหญ่คือ ภาวะขาดแคลนอาหาร… แรงงานภาคเกษตรลดลง ผู้สูงอายุมากขึ้น ปัญหาภัยธรรมชาติ ฯลฯ เพราะเป็นที่คาดการณ์ว่า ที่แห้งแล้งจะแล้งหนัก ที่ฝนตกชุกก็จะมากเกินความพอดี พืช สัตว์ ปรับตัวไม่ทัน หรือเกิดโรคภัยใหม่ๆมากขึ้น..และทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงต่อการผลิตทางการเกษตร
เราก็รู้มาบ้างว่า ดร.อรรถชัย จินตเวช ที่คณะเกษตรศาสตร์ มช.ท่านศึกษา simulation เรื่องโลกร้อนอยู่ ทราบว่าอีตาเม้งของเราก็ศึกษาเรื่องนี้
ผมเองแลกเปลี่ยนกับท่านรองเลขาฯว่า เรื่องใหญ่เรื่องนี้น่าที่จะมีวาระการสัมมนาบ่อยครั้งขึ้นเพื่อเอาวิชาการเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนและเฝ้ามองทิศทางกันให้มากขึ้น และต้องเตรียมตัวตั้งแต่เดี๋ยวนี้ มิเช่นนั้นก็สายเกินไป
อย่างน้อยที่สุด มา update เรื่องงานศึกษา วิเคราะห์วิจัย การทดลองต่างๆที่ไหนในโลกนี้เอามาศึกษาแลกเปลี่ยนกัน ปรากฏการณ์ต่างๆมีสาเหตุจากอะไรแม้จะยังสรุปไม่ได้ก็ถือเป็นการเตือนภัยกัน และในฐานะที่แต่ละคนยืนในจุดที่แตกต่าง มีหน้าที่การงาน จะทำอะไรได้บ้าง
ผมทำงานกับชาวบ้าน ควรทำอะไรบ้าง…. ผมเสนอท่านว่า ผมได้เริ่มทำไปบ้างแล้วแม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ แต่ก็น่าจะมีประโยชน์ในการเอาผลมาใช้ คือ ผมได้เห็นประโยชน์การให้ชาวบ้านทำบันทึกอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน และปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆรอบตัวชาวบ้าน เกิดอะไรเมื่อไหร่ ผลเป็นอย่างไร บันทึกไว้ ซึ่งยากนะครับที่จะให้ชาวบ้านบันทึกเพราะชาวบ้านไม่ใช่นักเขียนบันทึกอย่าง blogger ทั้งหลาย แต่ก็มีเทคนิค เช่น ให้ลูกๆช่วย หรือหากหน่วยงานจะมีสิ่งตอบแทนบ้างก็แล้วแต่เงื่อนไข
ข้อมูลเหล่านี้เหมือนเป็น ฐานข้อมูลเบื้องต้นที่ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ฯลฯ ท่านรองเลขาสนใจ แต่ผมไม่ได้อยู่ดงหลวงแล้ว ไปติดตามเอาข้อมูลมาใช้ได้ ในระบบราชการทำอะไรได้บ้างก็ต้องไปคิดอ่านกันต่อไป
คิดเลยเถิดคนเดียวไปถึงฝ่าย GIS ของ ส.ป.ก. ได้คุยกับผู้ชำนาญการเพื่อสร้างโปรแกรมทำฐานข้อมูลตัวนี้ขึ้นมา เช่น หากว่าการบันทึกดังกล่าวข้างต้นมีประโยชน์ ความจริงกรมอุตุเขามีอยู่แล้ว แต่สถานีห่างเกินไป และไม่ได้บันทึกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่เป็นฐานอาหารของเรา หากทุกหมู่บ้านในพื้นที่ ส.ป.ก.(หรือทุก 10-20 หมู่บ้าน…?) มีการบันทึก สาระดังกล่าว บันทึกปรากฏการณ์ต่างๆ เอานักวิเคราะห์ต่างๆมา นักวิจัยพันธ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ และพืชต่างๆสายพันธุ์ใหม่มาคุยกัน อีก 20 ปีข้างหน้าเราน่าที่จะบรรลุการแก้ไขอะไรมาบ้าง
FW mail เรื่องปลาตาย นกตายมาถึงบ่อยมากขึ้น บ้างก็กล่าวว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กโลก โอย ผมไม่รู้เรื่อง..แต่ที่แน่ๆ ในเขื่อนน้ำงึมสองที่ลาวเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเกิดมีปลาตายลอยแพกันแล้ว ตอนนี้คนที่บริษัทไปศึกษากันใหญ่ว่ามาจากสาเหตุอะไร…
นี่แค่น้ำมันพืชขาดตลาด ยังเดือดร้อนกันขนาดนี้(แม้จะมีเรื่องธุรกิจ การเมืองอยู่เบื้องหลัง)
หากข้าวไม่มีกิน จะกลับไปกินเผือกกินมันก็ไม่มีป่าให้ไปขุดเผือกแล้ว คุยกันว่า ชุมชนอโศกต่างๆนั้นจะอยู่รอดเพราะท่านเตรียมตัวเรื่องอาหารมานานแล้ว…..
คิดไปเรื่อยเปื่อย แต่ต้องทำจริงๆ..
(ขอบคุณภาพจาก internet และ FW mail)