รากเหง้า..1
อ่าน: 22021ผมมานั่งทบทวนแนวคิดเจ้าเป็นไผ และสิ่งที่เบิร์ดเสนอที่ http://lanpanya.com/sutthinun/?p=1831 และที่ คอน เสนอ ธีม จปผ. 2 ไว้ที่ http://lanpanya.com/journal/archives/4979 นั้น ผมมีความคิดเห็นคล้อยตาม และนึกถึงอะไรอีกมากมาย
ประเด็นของผมคือ : พ่อแม่สร้างชีวิตมาด้วยชีวิต มีคุณค่ามาก แต่ลูกไม่ค่อยได้รับรู้ ไม่ได้เรียนรู้อย่างละเอียด แม้ว่าเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป ยุคสมัยของพ่อแม่กับลูกต่างกันลิบลับก็ตาม แต่พัฒนาการชีวิตของพ่อแม่นั้นหากลูกๆได้สัมผัสอย่างลึกซึ้ง ก็เป็นการรับลูกต่อทางรากเหง้า และวัฒนธรรม ที่มีฐานแท้ของท้องถิ่นสังคมไทย
ชีวิตเด็กบ้านนอกอย่างผมและหลายๆคนนั้น ต่างใฝ่ฝันมุ่งไปข้างหน้า มากกว่าจะเซ้งกิจการทำนาของพ่อแม่มาทำต่อ พ่อแม่เองก็คิดเช่นนั้น “ไปเป็นเจ้าคนนายคนซะ ไปเป็นข้าราชการมีเงินเดือนกินซะ จะได้ไม่มาลำบากอย่างพ่อแม่”
ครอบครัวที่ยากจนหลายคนทั้งคนไทยคนจีน ลูกคนโตบางทีเสียสละให้น้อง ยอมออกมาเป็นแรงงานกับพ่อแม่ เพื่อหาเงินส่งน้องเรียนหนังสือ ดอกเตอร์หลายคนที่ผมยกมือไหว้ก็มีร่องรอยเช่นนี้
พ่อแม่ผมก็คงเหมือนกับทุกคนที่ต่างพร่ำสอนมารยาท วิธีการครองตนในสังคมที่หลากหลาย และให้ยึดถือสารพัดวัฒนธรรม ประเพณีทั้งที่สั่งสอนโดยตรงและโดยอ้อม โดยปกติพ่อ แม่ ก็จะเล่าบางช่วงชีวิตให้ฟังตามจังหวะ สถานการณ์ แต่ก็ไม่ต่อเนื่องแบบม้วนเดียวจบ จึงมีหลายเรื่องที่พ่อแม่ไม่ได้เล่า บางทีญาติพี่น้องซะอีกเล่าให้ฟัง
ช่วงที่ผมทำงานที่ขอนแก่นประมาณปี 2529 พ่อซึ่งเป็นข้าราชการครูเกษียณ ล้มป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง ต้องนอนที่โรงพยาบาลอ่างทอง ผมก็ลงไปเยี่ยม ไปนอนด้วย ไปปรนนิบัติแทนแม่ที่รับมาหนักนานตลอด
ค่ำวันนั้น พ่อเรียกผมเข้าไปนั่งข้างเตียงแล้วก็เล่าชีวิตของพ่อให้ฟังอย่างละเอียด ผมตงิดในใจจึงเอาเทปบันทึกเสียงพ่อไว้ด้วย พ่อเล่าแบบลืมตัว จนสว่างคาตา แม่ตื่นขึ้นมาก็ต่อว่าพ่อ ว่าลูกต้องเดินทางกลับไปขอนแก่นทำไมคุยกันยันสว่างเลย เดี๋ยวลูกขับรถไม่ไหว อันตราย.
จริงๆผมไม่ทราบหลายช่วงหลายตอนของชีวิตพ่อมาก่อน เพราะไม่มีใครเล่าให้ฟัง เรื่องราวที่พ่อเล่าให้ฟังตลอดคืนนั้น มีทั้งรากเหง้าของตระกูล ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บ้านเมือง บุคคล สังคม การดำรงชีวิต วิถีชีวิตยุคก่อนสงครามโลก การเปลี่ยนครั้งสำคัญๆของประเทศชาติ ฯลฯ เพราะมันเป็นทางเดินของชีวิต ตลอดทั้งคืนมีทั้งหัวเราะกันสองคนพ่อลูก มีทั้งร้องให้ เพราะพ่อฝ่าด่านความยากลำบากมามากกว่าเราหลายร้อยหลายพันเท่านัก
คืนแห่งประวัติศาสตร์นั้นผมเกิดสำนึกขึ้นอย่างสูงส่งโดยอัตโนมัติ ผมเข้าใจว่าทำไมพ่อจึงเป็นดุ โดยเฉพาะกับลูกๆ ทำไมพ่อจึงเคี่ยวเข็ญพวกเราในเรื่อง การรักใคร่กันระหว่างพี่น้อง แม้ว่าพ่ออยากให้รับราชการ แต่หากเราตัดสินใจอยากเป็นอะไร พ่อก็ไม่ได้ขัด แต่ขอให้เป็นคนดี…. ในตระกูลผมนั้น พ่อเสียสละโอกาสที่ไม่ได้เรียนหนังสือสูงทั้งที่อยากจะเรียน เสียสละมรดกที่นาทำกิน ให้น้องๆ(อาผม)ก่อน พ่อก็ได้น้อยที่สุด ดังนั้นอาทุกคนเคารพพ่อมาก เมื่อพ่อพูดอะไร อาทุกคนฟัง
ผมไม่ได้มุ่งหมายให้ลูกๆ ก็อปปี้มาทั้งหมดซึ่งเป็นไปไม่ได้ ซึ่งทำไม่ได้ และไม่ควรทำ แต่ลูกเมื่อมีวุฒิภาวะแล้วย่อมรู้ดีว่าอะไรควรอะไรไม่ควร
-
มีลูกจำนวนมาก พอออกจากบ้านก็รู้แต่โลกข้างนอก แต่ชีวิตของพ่อแม่อย่างละเอียดนั้นไม่รู้เรื่อง หรือรู้น้อย เพราะไม่มีเวลาให้กับพ่อแม่ แต่มีเวลาให้กับเพื่อนและโลกสื่อสารยุคใหม่
-
อนุมาณว่าพ่อแม่อยากจะเล่าชีวิตให้ลูกๆฟัง แต่เมื่อลูกบอกจะทำโน่นทำนี่ พ่อแม่ก็ตามใจ และคิดไปข้างหน้ามากกว่าจะเอาอดีตของพ่อแม่มาเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อกลั่นเอา ชีวิตออกมาให้ลูกได้เรียนแบบต่อยอด
-
อดีตของพ่อแม่จะล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไรนั้น แม้ว่าพ่อแม่อยากจะเล่าให้ลูกๆฟัง ลูกที่เป็นวัยรุ่นนั้นเขาฟัง แต่ไม่ได้ยิน เพราะใจเขาจดจ่อแต่เรื่องอื่นๆ กว่าจะสำนึกได้ว่าชีวิตของพ่อแม่นั้นมีค่าต่อเรา ก็มักสายไปเสียแล้ว
-
ลูกบางคน เมื่อมีโอกาสได้ทราบรายละเอียดชีวิตของพ่อแม่แล้วคิดได้ เกิดมุมหักเหชีวิตครั้งสำคัญ เกิดสติ เกิดสำนึก เกิดความผูกพัน ซึ่งนี่คือฐานรากของทุนทางสังคม วัฒนธรรมของตะวันออก
อีกไม่กี่เดือนถัดมาพ่อผมก็เสียชีวิต ที่โรงพยาบาล ด้วยโรคต่างๆอันเนื่องมาจากถุงลมโป่งพอง ผมถอดเทปสิ่งที่พ่อและผมคุยกันคืนนั้น จัดทำเป็นเล่มและทำสำเนาแจกให้ญาติพี่น้อง เทปบันทึกการคุยกันคืนนั้นผมทำสำเนาแจกญาติพี่น้องทุกคน..
บังเอิญเรื่องที่จะเขียนนี้กลายเป็นมีสองวัตถุประสงค์ไปโดยบังเอิญ อันแรกคือ ต้องการบอกกล่าวว่า การทำเจ้าเป็นไผนั้น เล่มสอง ควรจะตกแต่งสาระความชัดเจนให้เข้าเป้าหมายร่วมกัน อย่างที่ “คอน”เสนอ อย่างที่สองบุคคลที่ผมกล่าวถึงในบันทึกนี้คือพ่อผมซึ่งท่านเสียชีวิตด้วยโรคถุงลมโป่งพอง
พอดีวันนี้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลกพอดี…