ไปหาป้าเกล็นที่ปิล๊อก..3
อ่าน: 5848เราลงไปถึงเหมืองสมศักดิ์จริงๆประมาณ 5 โมงเย็น เพราะเราเสียเวลาในกรุงเทพฯและการออกจากรุงเทพฯนั้นเอง ระหว่างเดินทางมานั้นผมดูอุณหภูมิภายนอกรถประมาณ 39 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเรามาถึงเหมืองนี้อุณหภูมิแค่ 27 องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง ป้าเกล็นนั่งอยู่กับผู้มาเที่ยวกลุ่มหนึ่ง เมื่อเรามาถึงป้าเกล็นก็ลุกออกมาต้อนรับเรา เมื่อเราแสดงตัวว่าเป็นใครมาจากไหน จองห้องพักมาแล้ว ป้าเกล็นก็พยักหน้าว่าทราบการจัดการนี้แล้ว
ป้าเกล็นเชิญเรานั่งพักและดื่มน้ำเย็นและกาแฟ โดยเฉพาะขนมเค้กที่ตั้งอยู่ที่โต๊ะตลอดวันใครใคร่กินก็มากินได้ตลอด กาแฟและเครื่องดื่มอื่นๆ มีบริการตั้งแต่เช้าจรดค่ำ บริการตัวเอง ขอไม่เล่าความเป็นไปเป็นมาเรื่องของป้าเกล็นและเหมืองแร่สมศักดิแห่งนี้
ท่านใดสนใจ เข้าไปที่ www.parglen.com ยกเว้นบางส่วนที่ผมสนใจ ความจริงประวัติและพัฒนาการเหมืองแร่สมศักดิ์นี้น่าสนใจมาก ความรุ่งเรืองนั้นเท่ากับประวัติศาสตร์เหมืองแร่ดีบุกที่ภูเก็ต การเดินทางเข้ามาที่นี่ปัจจุบันที่เรายังใจเต้นตุ๊บตั๊บ หากย้อนหลังไปสมัยแรกๆที่คุณลุงสมศักดิ์มาบุกเบิกจะยากลำบากแค่ไหน
ผมสงสัยว่าใครหนอช่างมาสำรวจแร่จนพบที่นี่ สมัยเมื่อ 50 ปีขึ้นไปโน้นนะเครื่องมือวิทยาศาสตร์ก็เป็นแบบง่ายๆแล้วมาสำรวจได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรว่ามีแร่ปริมาณมากพอที่จะลงทุนทำเหมือง ป้าเกล็นเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อพี่สมศักดิ์(สามีเธอ) เอาความรู้มาจากสมัยที่รัฐบาลอังกฤษปกครองอินเดีย พม่า รัฐบาลอังกฤษเอาช่างจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและเหมืองแร่มาจากอังกฤษมาสำรวจพื้นที่แถบนี้ทั้งหมด…
บรรพบุรุษคุณลุงสมศักดิ์คือเจ้าเมืองคนแรกของเมืองสังขละซึ่งเป็น ปกากะญอ ความรู้นั้นจึงตกมาถึงคุณพ่อคุณลุงสมศักดิ์ ทำให้ผมนึกถึงรัชการที่ 5 ทรงจ้างนักทำแผนที่ซึ่งเป็นจากอินเดียและพม่ามาทำแผนที่และเส้นเขตแดนประเทศไทย ซึ่งสมัยนั้นอาณาจักรประเทศไทยนั้นครอบคลุมไปถึงหลวงพระบางโน้น… ฝรั่งชุดนี้จึงได้รับพระทานให้เข้ารับราชการเป็นเจ้ากรมแผนที่คนแรกของประเทศไทยฝรั่งคนนี้คือ เจมส์ แมคคาร์ธี (พระวิภาคภูวดล เจ้ากรมแผนที่คนแรก) http://resgat.net/explorings.html ผู้สนใจประวัติศาสตร์อย่าพลาดบันทึกของพระวิภาคภูวดลนะครับสุดยอดจริงๆ
ภาพความยากลำบากสมัยบุกเบิก และที่เก็บกุญแจที่ยังรักษาสภาพเดิมๆไว้
เมื่อ 45 ปีที่แล้วที่ป้าเกล็นมาใช้ชีวิตที่เหมืองแร่นี่สภาพความยากลำบากสุดโหดนั้น ผมสงสัยว่าแล้วเมื่อเหมืองฉีดทำแร่ได้แล้วขนแร่ไปขายที่ไหน อย่างไร ป้าเกล็นเล่าอย่างมีความสุขว่า แรกก็ใช้วัวต่าง ที่มีวัวเป็นร้อยๆตัว ขนแร่จากที่นี่ข้ามภูเขาไม่รู้ว่าจะกี่ลูกไปลงเรือที่ทองผาภูมิ แล้วเข้าเมืองกาญจนบุรี
ป้าเกล็นคงจะตอบคำถามนักท่องเที่ยวมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ป้าเกล็นมีความสุขที่จะตอบ อาหารทุกมือ อร่อยและมีปริมาณมากเกินที่เราจะทานได้หมด ดีกว่าโรงแรมหลายแห่ง อาจเป็นเพราะป้าเกล็นเป็นฝรั่งออสเตรเลียที่มีเชื้อสายมาจากอังกฤษ วัฒนธรรมการประกอบโต๊ะอาหาร การวางจาน ช้อนแก้ว อาหารทุกชนิด ผมว่าดีกว่าโรงแรมหลายแห่งครับ ค่าใช้จ่าย 1200 บาทต่อหัวต่อคืนรวม package tour นั้นผมว่าคุ้มค่า(กรณีที่เอารถ4WDไปเอง) สำหรับคนที่ชอบธรรมชาติ ป่าเขา เงียบๆ อาหารอร่อย ที่พัก สะอาด ที่นี่คือสุดยอด แต่สำหรับคนที่ต้องการ ช็อปปิ้ง ห้องแอร์ internet และความสะดวกสบาย ต่างๆนั้นผมแนะนำว่าอย่าไปเลย
ครอบครัวป้าเกล็น บุตรชายคนเดียวซึ่งปัจจุบันเป็น CEO ของบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง
เนื่องจากอยู่หุบเขาลึกชายแดนนั้น อย่าถามหาคลื่นมือถือ ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ มีแต่จะมีเป็นจุดๆตามเส้นทางที่ลงไปหาเหมืองแร่ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อุทยานมาปักป้ายบอกว่าบริเวณที่สามารถใช้มือถือได้ การติดต่อของเหมืองกับโลกภายนอกนั้นใช้วิทยุสื่อสาร ป้าเกล็นขึ้นเสาวิทยุสูง ติดต่อกับคนที่ตกลงกันไว้ให้เป็นสถานที่ติดต่อสื่อสารกันที่ทองผาภูมิ แล้วทองผาภูมิก็จะติดต่อสำนักงานที่กรุงเทพฯซึ่งบุตรชายป้าเกล็นคนเดียวอยู่กับครอบครัวที่นั่น
(ขออภัยที่เอาบันทึกนี้มาลงใหม่ เพราะเกิดความผิดพลาดก่อนหน้านี้)