A52S 1

18 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 พฤษภาคม 2009 เวลา 14:48 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1491

ตั้งใจไว้ว่าจะบันทึกเรื่องนี้ เห็นด้วยที่น้องหมอตาบอกว่า ทำ AAR “เจ้าเป็นใผ๑” กันหน่อย เลยพยายามสำรวจมุมมองตัวเองเรื่องนี้ออกมาครับ

ต้องบอกว่าความคิดเห็นต่อไปนี้มิใช่ถูก ผิด เป็นเพียงความเห็นที่พวกเรามักถามไถ่กันเองว่า พี่คิดไงอ่ะ น้องคิดไงอ่ะ ดังนั้นการกล่าวถึงสถานการณ์นี้จึงมิได้เจตนาที่จะยกย่องใครและกล่าวร้ายท่านผู้ใดนะครับ ผมคิด วิเคราะห์ด้วยการสรวมวิญญาณนักเฝ้ามองการเคลื่อนไหวของกลุ่มคน การขยับตัวของสังคม

ผมมีฐานรากเป็นนักพัฒนาเอกชนที่อิสระ แต่ทำงานกับระบบราชการ สังกัดบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง คลุกคลีกับชาวบ้านมานานพอสมควร สนใจเรียนรู้เรื่องราวของระบบทุน และเรียนรู้โลกแห่งธรรมชาติ มุมมองนี้อาจจะมีประโยชน์แก่สังคมนี้บ้างก็พอใจที่ไม่เก็บเอาไว้ในถังแห่งความทรงจำ


  1. จั่วหัวไว้ว่าเป็นการวิเคราะห์เฮฮาศาสตร์ผ่าน A52S ก็คือการ หยิบเอาสถานการณ์เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2552 มาเป็นตัวเริ่ม แล้วมองย้อนไปรอบๆเฮฮาศาสตร์จากทัศนของตัวเองดังกล่าว A52S ก็เป็นตัวย่อของ April 52 Situation เรียกให้มันแปลกๆไปซะงั้นแหละ เพราะช่วงที่มีสถานการณ์ A52S นั้นมันสะท้อนภาพกลุ่มเฮฮาศาสตร์ที่ชัดเจน ในทัศนะของผม ที่พวกเรา พี่ๆ น้องๆ มักไถ่ถามกันว่า เอ..มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร นะเจ้าเฮฮาศาสตร์นี่น่ะ เราก็บอกอธิบายยากให้เข้ามาสัมผัสเอง A52S ก็เป็นอีกคำอธิบายหนึ่งของเฮฮาศาสตร์


  2. เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่องค์กรแบบปกติทั่วไป (Formal Organization) ที่มีโครงสร้างขององค์กรเป็นชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ ที่มักเรียนกันว่า Organization chart เช่น มีผู้มีตำแหน่งสูงสุด แล้วลดหลั่นกันลงมา มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน เหมือนกับองค์กรระบบราชการ องค์กรบริษัท ระบบธุรกิจต่างๆ แต่เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรที่ไม่มีโครงสร้าง เป็น Un-Structural Organization หรือ Non-Formal Organization ไม่มีโครงสร้างที่เป็นชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ ไม่มี Organization chart ไม่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน

  3. แต่เฮฮาศาสตร์มีโครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง….ย้ำว่าเป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง ความหมายคือ กลุ่มจัดรูปของกลุ่ม(กลุ่มเฮฮาศาสตร์)ตามความรู้ ความสามารถที่ปรากฏออกมาในระหว่างสมาชิกในกลุ่มและเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยาย ตามการนำ ตามการศรัทธา….นี่แหละเป็นโครงสร้างแบบดั้งเดิมของสังคมเรา

    ขออธิบายดังต่อไปนี้ ย้อยหลังไปก่อนที่ระบบราชการจะเข้าไปสู่สังคมชนบทนั้น(รัชการที่ 5) สังคมชนบทอยู่กันแบบดั้งเดิมไม่มีกำนัน ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีอนามัยตำบล ไม่มีผู้ช่วยฯ ไม่มีสารวัตร…ไม่มีตำรวจ..ไม่มี.. แต่มีหมอพื้นบ้าน มีช่างไม้ ช่างหล่อ มีผู้ทำพิธีกรรมพื้นบ้าน ผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ทางอีสานก็มี เจ้าโคตร เฒ่าจ้ำ หมอธรรม หมอเป่า หมอนวด นางเทียม ฯลฯ ทุกภูมิภาคไม่ว่าเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ทุกชุมชนจะมีบุคลากรเหล่านี้อยู่ ซึ่งต่างก็มีบทบาทในสังคมนั้นๆและระหว่างชุมชนที่เราเรียกท้องถิ่น ต่างอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน มิได้ใช้เงินทองมาเป็นสื่อกลางในการพึ่งพาว่าจ้าง มีน้ำใจแก่กันและกัน เคารพ ยอมรับและมีมารยาทระหว่างกันที่เราเรียกว่าวัฒนธรรมชุมชน


    ภาพนี้เราเรียกว่า Local structure หรือ Traditional structure และซ่อนตัวอยู่ในสังคมปัจจุบันที่เอาโครงสร้างระบบราชการที่เรียกว่า การปกครองท้องถิ่นเข้าไป โครงสร้างเหล่านั้นก็เลือนจางหายไปกับกาลเวลา มากน้อย แล้วแต่ปัจจัย ที่นักสังคมศาสตร์มักเรียกว่า ความเข้มข้นของระบบดั้งเดิมอาจดูจากระยะห่างของที่ตั้งหมู่บ้านนั้นกับศูนย์กลางอำนาจ (Periphery theory) แต่หลักการนี้ด้อยลงไปมากเมื่อระยะทางในสมัยก่อนถูกลดลงด้วยระบบการสื่อสารยุคดิจิตอล ในป่าในเขาก็สามารถรับรู้เรื่องไข้หวัด H1N1 ได้พร้อมๆกับในเมือง

    เวลาเราเข้าไปทำงานในชุมชนเราจะวิเคราะห์ชุมชนด้วยสองมิติ คือ หนึ่งมิติสมัยใหม่ หมายถึงระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ซึ่งเปิดเผยชัดเจน เห็นชัดจับต้องได้ มีสถิติ มีการจดบันทึก มีรายงาน..ฯ อีกมิติคือ ระบบโครงสร้างเดิมของชุมชน ใครคือเจ้าโคตร ใครคือเฒ่าจ้ำ ใครคือหมอธรรม ใครคือหมอนวด ใครคือช่าง ใครคือผู้นำจิตวิญญาณ…เราหาตัวได้อย่างไร เราก็ใช้ sociogram (ไม่ขออธิบายครับ) บทบาทของโครงสร้างนี้ในสังคมชุมชนมีบทบาทไม่แพ้โครงสร้างทางระบบการปกครองท้องถิ่น ใครทำงานกับชุมชนแล้วไม่เข้าใจมิตินี้ก็ทำงานยากสักหน่อย..

    เฮฮาศาสตร์จำลองภาพโครงสร้างสังคมเดิมนี้มา และหากเราจะทำ sociogram ในกลุ่มเฮฮาศาสตร์ เราก็จะพบว่า ใครมีปัญหาเรื่อง blog คอมพิวเตอร์ ก็ต้องวิ่งไปหา คอน เม้ง โสทร เป็นต้น ใครมีคำถามเรื่องสมุนไพรก็ต้องแวะไปจีบป้าจุ๋ม ใครอยากสนทนาเรื่องการส่งเสริมการเกษตรก็ต้องน้องสิงห์ป่าสัก และหากจะถามว่าทั้งกลุ่มยอมรับใคร ศรัทธาใครในลักษณะนำก็ต้องพ่อครูบาฯ ลุงเอก เป็นต้น การยอมรับเป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องแต่งตั้ง แต่ไม่มีโครงสร้าง แต่มีการยอมรับในความรู้ความสามารถ ซึ่งคล้ายๆบทบาทหน้าที่โดยธรรมชาติต่อกลุ่ม…

    นี่เองจึงเรียกว่า เฮฮาศาสตร์เป็นกลุ่มที่มีโครงสร้าง(แบบความรู้ความสามารถ ความถนัด)แบบไม่มีโครงสร้าง(ตำแหน่งหน้าที่ลำดับชั้น)

    (มีต่อ)



Main: 0.28796482086182 sec
Sidebar: 0.28788018226624 sec