12พันนา(7) ม็องบาลานาซี..

319 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 มีนาคม 2009 เวลา 23:14 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3616

เอารูปการแสดงมาฝากกัน มัคคุเทศก์บอกว่า ถ่ายรูปได้แต่ไม่ใช้แฟลช และไม่ให้ถ่ายวีดีโอ เพราะทางจีนเขาต้องการขายแผ่นวีดีโอชุดนี้

คนแน่นโรง เต็มทุกที่ คนไทยที่เข้ามาดูจากทุกทัวร์ ก็ปาเข้าไป สาม สี่แถว ตรงกลางโรงค่อนไปด้านหน้าเวที เพื่อนเมื่อออกมาก็บ่นว่า คนไทยนั่งแถวหลังคุยกันตลอด จนทนไม่ไหวต้องบอกให้เงียบ อิอิ พวกกันเองตำหนิกันเอง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่มาดูเห็นความตื่นตาก็อดคุยไม่ได้…

ชุดแรกที่ออกมาผมเป็นทึ่งว่าเอาพระ(ปลอม)มาเป็นการแสดงได้อย่างไร หากเป็นเมืองไทยคงโดยสวดยับเยิน แต่ที่จีนไม่ใช่…


การแสดงที่เด่นน่าจะเป็น กายกรรม (รูปขวามือ) ที่จีนเขาเป็นสุดยอดอยู่แล้ว และแสดงได้ไม่มีที่ติ แต่เมื่อเอาเทียนขึ้นไปไว้ด้านบนครบแล้วก็รีบเอาลง เพราะน้ำตาเทียนจะหกรดใบหน้า เข้าตาอันตราย เพราะระหว่างแสดงเราเห็นบางช่วงน้ำตาเทียนหกลงมาเหมือนกัน ส่วนรูปขวามือล่างสุดนั้นเป็นผู้ชาย มาร้องเพลงไทยสำเนียงออกไปทางอีสาน เขาบอกว่าตัวเขาเป็นมอญครับ

รูปสุดท้ายที่เห็นนั่นคือ การแสดงประกอบเรื่องอะไรสักอย่าง ซึ่งฉากหนึ่งมีฝนตก ก็ตกลงมาจริงๆ ซึ่งเขาเตรียมผ้าพลาสติกไว้สำหรับคนสองสามแถวหน้าด้วยเผื่อเปียกน้ำ แต่ก็เปียกจนได้เพราะช่วงหนึ่งมีการแสดงงานสงกรานต์ สาวๆบนเวทีก็ออกมาเอาน้ำสาดใส่ผู้ชมโดยเฉพาะแถวหน้าๆพอได้เปียกครับ

ในทัศนะผม บางการแสดงทำได้ดี เช่นการแสดงสายสัมพันธ์ชนเผ่าทั้งหมดตามลำน้ำโขง ทำได้ดีครับ จะมีสัญลักษณ์ของเมือง ประเทศต่างๆออกมาด้วย ของไทยก็เป็นเรือสุพรรณหงส์ สำหรับผู้บันทึกคิดว่าเขาเอาความทันสมัยเข้ามาผสมผสานในการแสดงสาระต่างๆได้ดี แม้จะไม่เข้าใจ แม้ว่าจะมีอักษรไทยวิ่งข้างโรงบ้างแต่ก็ดูไม่ทันหรอกครับ …

คำถามในใจผมก็คือ เอาพระมาร่วมแสดงได้อย่างไร เบื้องหลังเขาคิดเช่นไร ของไทยเราไม่มีการแสดงเช่นนี้ แต่มีคล้ายๆกันคือในภาพยนตร์ไทย ที่เอาพระมาร่วมแสดงหลายเรื่อง ทั้งตลกก็มี… อือ.. ผมไม่แน่ใจว่าศาสนาที่คนโบราณยกขึ้นเหนือสิ่งทั้งปวงนั้นต่อไปจะเป็นเช่นไร

หรือผมคิดมากก็ไม่รุ หุหุ…


12พันนา(6) นางรำ..

735 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 มีนาคม 2009 เวลา 20:33 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 49673

คืนที่สองที่เราอยู่เมือง เชียงรุ่ง หรือ เชียงรุ้ง หรือ สิบสองพันนา หรือสิบสองปันนา ล้านแต่เป็นชื่อเมืองเดียวกันที่เราคุ้นเคย และหรือเคยได้ยินมา แต่มีอีกชื่อหนึ่งที่เป็นชื่อเมืองนี้ ซึ่งผมไม่คุ้นชินเลย คือชื่อพาราณสี ในเอกสารบริษัททัวร์ให้คำว่า พารานาสี(เขียนผิดขออภัยด้วยนะครับ) คืนนั้นเราไปดูการแสดงพื้นเมืองของสิบสองปันนา เขาเรียกชุดนี้ว่า ม็องบาลานาซี(พารานาสี) หลายท่านบอกว่า ภูเก็ตแฟนตาเซียของเราเด็ดกว่า เนื่องจากผมยังไม่ได้ดู ภูเก็ตแฟนตาเซีย จึงไม่ทราบว่าเป็นเช่นไร เพื่อนที่ไปด้วยก็บอกว่า ของเราดีกว่า ผมก็ต้องเชื่อเพื่อนไว้ก่อน

อย่างไรก็ตามก็จะเอารูปการแสดงนี้มาให้ดุกัน เป็นน้ำจิ้มก่อนนะครับ

รูปนี้ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนี้นะครับ แบบว่ามันได้มาเอง ผมชอบก็เลยเอามาให้ดูกันครับ

สำหรับภาพนี้สัญญากับเฮียตึ๋ง และอาเหลียงว่าจะเอามาให้ดู ก็ได้จริงๆ

เอ้าเอามาฝากแล้วเด้อ อิอิ


12พันนา(5) หมี…ควาย..

15 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 มีนาคม 2009 เวลา 22:56 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1770

 

วันที่เราไปดู สวนป่าดงดิบ ดูนกยูง และการแสดงของสัตว์ เช่นเสือ แพะ ลิง ก็มีหมีควายตัวหนึ่งมาเดินท่อมๆ

เมื่อเข้าไปใกล้ๆก็เห็นชายคนนี้ใช้เชือกเส้นเล็กๆจูงจมูกหมีควายตัวนี้เดินไปมาในกลุ่มคนให้ตกใจเล่น

ตอนทำงานใหม่ๆที่สะเมิง เคยซื้อลูกหมีควายมาจากชาวบ้านที่ยิงแม่เขาตาย เลี้ยงไม่ไหว เราไม่เข้าใจการเลี้ยงดูที่ถูกวิธีคืออย่างไร เลี้ยงอยู่สามวันต้องเอาไปปล่อยที่สวนสัตว์เปิด วัดอุโมงค์ เชียงใหม่

 

จนบัดนี้ผมยังไม่ทราบว่าหมี จริง หรือ ปลอม

หากจริงก็ยกนิ้วให้ว่าสอนสัตว์ป่าได้เก่งมาก

หากปลอมก็ยกนิ้วให้ว่า ทำได้เนียนมาก…


12พันนา(4) ป่ายางในเชียงรุ่ง

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 มีนาคม 2009 เวลา 14:08 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1610

 

เนื่องจากผมไม่ใช่ผู้รู้เรื่องยาง แต่เท่าที่เห็นและสอบถามข้อมูลมาจากเมืองเชียงรุ่ง ก็เป็นเรื่องที่ชาวสวนยางในประเทศไทยควรใส่ใจว่าตลาดโลกของยางจะเป็นเช่นไร เพราะที่เห็นกับตานั้นภูเขาในเมืองนี้เต็มไปด้วยยางพารา และอยู่ระหว่างการดำเนินการปลูกยางอีกมากมาย


(รูปที่ถ่ายจากที่นั่งในรถก็จะออกมาเช่นที่เห็นนี้แหละครับ)

 

ดูเหมือนว่าจีนได้สร้างนโยบายระดับประเทศให้ชาวบ้านปลูกยาง และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆเมื่อสอบถามมัคคุเทศก์ คำอธิบายคือ รัฐบาลเป็นเจ้าของพื้นที่ภูเขา ชาวบ้านคนไหนต้องการปลูกยางไปเช่าที่ดินจากรัฐเป็นเวลา 40 ปี รายละเอียดมากมายผมไม่ได้ถาม ว่าทำไมปลูกเฉพาะยาง หากชาวบ้านสนใจจะปลูกอย่างอื่นได้ไหม เช่าได้คนละกี่ไร่ กี่เอเคอร์ เสียค่าเช่าเท่าไหร่…ฯ




สิ่งที่ประทับใจคือ เขาทำขั้นบันไดทั้งหมดในระยะมาตรฐานของเขา ภูเขานับไม่ถ้วนและพื้นที่มหาศาล ใหญ่โต สูงชัน ต้องทำขั้นบันไดหมด ผมถามมัคคุเทศก์ว่า ใช้เครื่องจักรทำหรือใช้แรงงานคนทำ คำอธิบายคือ ใช้แรงงานคนทั้งหมด และจะเป็นชนเผ่าอะข่าเป็นผู้ทำ และที่ไม่น่าเชื่อหูที่ได้ยินคือ เป็นแรงงานสตรีทั้งนั้น มัคคุเทศก์อธิบายต่อว่า อะข่าจะใช้แรงงานสตรี ผู้ชายจะเลี้ยงลูกอยู่บ้าน




หากจะสังเกตดีดีใต้สวนยางนั่นจะมีต้นไม้ทรงพุ่มปลูกอยู่เต็มไปหมด สอบถามได้ความว่านั่นคือ ต้นชา “โผเอ้อ” (หากผมฟังเสียงผิดขออภัยด้วย) ซึ่งบอกว่าเป็นชาชั้นดีของเมืองจีน ซึ่งมีปลูกในเขตร้อนเพียงสองแห่งเท่านั้นคือ ที่เมืองเชียงรุ่ง และที่ไหหลำเท่านั้น เรียกว่าเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเต็มที่

มัคคุเทศก์อธิบายว่าเมืองเชียงรุ่ง เป็นเมืองของชนเผ่าไทลื้อ ถือว่าเป็นเมืองหลวงของชนเผ่าในภูมิภาคนี้ก็ได้ เพราะล้วนอพยพไปจากเมืองเชียงรุ่งนี้ทั้งนั้น และการเปลี่ยนแปลงของยุตสมัยที่ทำให้นโยบายรัฐบาลมณฑล กำหนดให้ปลูกยางบนพื้นที่ภูเขาเป็นพืชหลัก ยางจึงมีมูลค่า และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ค่านิยมนี้จึงส่งผลไปถึงการที่ผู้ชายไปขอสาว สาวจะถามว่ามีสวยยางเท่าไหร่..!!

หนุ่มๆลาน..ทั้งหลายสนใจก็รีบไปปลูกสวนยางซะ…อิอิ

ข้อคิด

  • รัฐเป็นผู้จัดการการใช้พื้นที่บนภูเขาตามนโยบาย
  • ชาวบ้านเป็นผู้เช่าพื้นที่ปลูกยางในเวลา 40 ปี
  • ก่อนปลูกยางต้องทำขั้นบันไดทั้งนั้น ในประเทศไทยยังทำน้อยมาก
  • มีการใช้พื้นที่ใต้ต้นยางเต็มพื้นที่ คือปลูกต้นชา


12พันนา(3) มัคคุเทศก์ ผู้สร้างรอยประทับใจ

754 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 มีนาคม 2009 เวลา 12:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 36941

ส่วนตัวมีประสบการณ์เรื่องนี้ที่ดีดี เมื่อหลายปีก่อนครอบครัวเราตัดสินใจไปเที่ยวนครวัดสามคนพ่อแม่ลูก โดยบริษัททัวร์คนไทยโฆษณาซะเลย ชื่อสวัสดีทัวร์ของ มจ.ศุภดิศ ดิศกุล (หากสะกดผิดขออภัยด้วยครับ) เข้าใจว่าท่านสิ้นไปแล้ว มัคคุเทศก์ที่นำเราไปนั้นเป็นผู้ที่จบมาจากศิลปากร โห…คุณเอ๋ย เก่งชะมัด ถามอะไรตอบได้หมด พร้อมขยายความยาวเหยียด สาระทุกแห่งที่เราไปชมอิ่มกับข้อมูล จนมัคคุเทศก์เขมรเองเดินตามและจดบันทึกข้อมูลไปด้วย..!!

บังเอิญคณะที่เราติดไปด้วยครั้งนั้นเป็นอดีตท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ระดับสูง เช่นคุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล เข้าใจว่าปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.กสิกรไทย ถ้าข้อมูลผิดพลาดขออภัยด้วย เมื่อสิ้นสุดทริป เรารวบรวมเงินให้มัคคุเทศก์ท่านนั้นเป็นจำนวนมากทีเดียว…(ขอบคุณข้อมูลจากคอนครับ)


เที่ยวนี้ ผมไม่ได้คาดหวังมัคคุเทศก์ของบริษัทที่พาเราไปทัวร์จีน ดูเขายังเด็ก แต่อัธยาศัยดีมาก บริการดีเยี่ยม แต่ข้อมูลต่างๆด้อยไป และการจัดการต่างๆก็สอบผ่าน


เมื่อเข้าเมืองจีน มัคคุเทศก์คนนี้ก็มารับช่วงต่อ ชื่อไทยว่า “ชัย” สาวๆที่ไปด้วยก็กรี๊ด เพราะหน้าตาออกไปทางเกาหลี ที่เป็นเทรนของปัจจุบัน ผมแปลกใจที่ภาษาไทยของเขาคล่องมากๆ สอบถามได้ความว่าเขาเรียนมหาวิทยาลัยที่ปักกิ่งด้านภาษา แล้วไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จบออกมาก็มาเป็นมัคคุเทศก์

ได้ความหละ….ผมถือโอกาสว่าเราเป็นรุ่นพี่ของเขา…เขาเองก็ยอมรับ และแซวกันไปมาตลอดทริป พวกเราทุกคนประทับใจ “จีนพูดไทย” เพราะแม้ว่าเขาจะถือว่าการสื่อสารไม่ติดขัด แต่สำเนียงที่คนจีนออกเสียงคำไทยบางคำ การใช้สรรพนาม พวกเราก็ขำกลิ้ง เช่น แพทย์ศาสตร์ เป็นเพศศาสตร์ ฯลฯ การให้บริการเป็นเยี่ยม ทำตัวง่ายๆ เข้ากันได้ดี ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยว แม้เราจะดูว่าบางแห่งที่ไปชมไม่สมราคาคุย แต่พวกเราก็ไม่โวยวาย เพราะอัธยาศัยเขานี่เอง


พวกเราเป็นกรี๊ด สลบ เมื่อคณะทัวร์ไทยกลุ่มอื่นที่ไปเที่ยวคู่ขนานกับเราทุกที่ทุกแห่งนั้น มีมัคคุเทศก์หน้าตาอย่างที่เห็น เธอพูดไทยได้ดี แต่ดีไม่เท่า ชัย แต่หน้าตาเธอช่วยได้มาก ทีมเราแหย่เธอจนอายไปหลายครั้ง แต่ก็ทำให้เธอดูมีความสุข สนุกไปด้วย และหลายครั้งก็เข้ามาเล่นด้วย จนทีมเรา แซวหนักๆกับชัยว่า ขอเปลี่ยนมัคคุเทศก์กันกับกลุ่มคนไทยกลุ่มนั้น เป็นที่เฮกันตลอดเวลา… เธอชื่อน้องหญิง เป็นไทลื้อโดยกำเนิด และเข้ามาเรียนภาษาไทยที่ราชมงคลประทุมธานี 8 เดือน กำลังศึกษาปีที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยสิบสองปันนานี้


สาวหน้าตาเหมือนน้องเบิร์ดท่านนี้ เป็นมัคคุเทศก์กลุ่มเดียวกับหญิง พูดไทยคล่องแคล่วเช่นเดียวกัน แต่เธอไม่ได้ถูกกลุ่มเราแซวเล่น


สาวไทลื้อท่านนี้ซิ…ประจำอยู่ที่หมู่บ้านไทยลื้อ เพี่อต้อนรับแขกนักท่องเที่ยวอย่างเดียว พูดไทยเด็ดขาดนัก ศัพท์แสงต่างๆ เล่นเอาเราตลึงและก๊ากกกกันตลอด เธอทำหน้าที่โฆษณาขายมีดที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆมากมาย คุณพ่อเธอเป็นลาว แม่เป็นไทลื้อ จึงเว้าลาวและภาษาคำเมืองเหนือของไทยได้คล่อง เธอใช้ศัพท์เรียกผู้ชายว่า “อ้ายบ่าวตัวดี” และที่ขำกลิ้ง เธอพูดคำว่า “ควาย” เป็นภาษาลาวหรืออีสานของไทยนี่แหละ ที่ทีมเราก๊ากกจนกลิ้ง…


น้องแอน คือชื่อของเธอ เป็นไทลื้อ มาเรียนภาษาไทยที่วิทยาลัยบัณฑิตเอเชียที่ขอนแก่น โถโถโถ สถาบันแห่งนี้ห่างจากบ้านผมแค่ร้อยเมตรเอง…. เธอทำหน้าที่ชงชาสาธิตให้นักท่องเที่ยวชิม และขายชาชนิดต่างๆ เราอดไม่ได้ที่จะอุดหนุนเธอ ภาษาไทยที่เธอใช้นั้น ไม่ผิดกับคนไทยที่พูดเลย แถมหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ลูกเล่นพราวแพรว หนุ่มคนไหนไปตอแยเธอ ระวังเธอสวนกลับ…

มัคคุเทศก์ เป็นหน้าต่างของประเทศ นักท่องเที่ยวจะประทับใจหรือผิดหวังคนที่ทำหน้าที่นี้มีส่วนสำคัญยิ่งนัก… สิบสองปันนา สร้างคนรุ่นใหม่มาทำหน้าที่นี้ได้ดีมาก ชื่นชม จนกลบความไม่สมราคาของแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งไปหมดสิ้นเลย

ผมว่านะครับ…


12 พันนา(2): ถนน..ความแตกต่าง

207 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 มีนาคม 2009 เวลา 20:22 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 7976

เราเดินทางจากขอนแก่นไปเชียงของด้วยรถตู้เจ้าประจำ รู้ใจกันจนเป็นเพื่อนสนิทไปแล้ว เพราะใช้บริการกันบ่อย หรือกล่าวอีกทีคือเราเป็นลูกค้าใหญ่ที่สุด.. อย่างที่เกริ่นไว้ในลานเจ๊าะแจ๊ะว่าคนข้างกายผมเกือบไม่ได้ไปแล้วเพราะเธออาเจียนเสียจนไม่มีอะไรจะออกมาจากพุงแล้ว.. ทั้งนี้เพราะการขับรถบนพื้นที่ภูเขาที่วนไปวนมา เลี้ยวซ้าย ขวาตลอดเวลา ยิ่งหากคนขับรถคนไหนไม่นิ่มพอ เดี๋ยวเบรก กึกกัก เลี้ยวแบบเหวี่ยง อย่างนี้เสร็จ คนเมารถทนไม่ไหว.. แต่ปัจจัยสำคัญหนึ่งของคนเมารถก็คือ ร่างกายพักผ่อนไม่พอ..


เมื่อเราข้ามฝั่งลาว ก็นั่งรถตู้ของบริษัทลาว 2 คัน ถนน หนทางยิ่งแย่กว่าบ้านเรา และถนนโค้งไปมาตามไหล่ภูเขามากกว่าฝั่งไทย แต่โชคดีที่เป็นเวลากลางวัน คุณสุภาพสตรีหลายคนไม่เมาเพราะมองเห็นข้างทาง เธอว่าเช่นนั้น แต่เมื่อเข้าดินแดนจีนเราก็เปลี่ยนเป็นรถมินิบัสขนาดกลางตามภาพ


เส้นทางถนนก็คล้ายบ้านเราคือมักจะผ่าเข้าไปกลางหมู่บ้านและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และการที่โค้งไปมาจำนวนมากๆนั้นมีผลต่อเนื่องหลายประการ นี่ผมก็เพิ่งสังเกตนะครับ


เมื่อข้ามฝั่งประเทศจีนเพื่อเดินทางไปเมืองเชียงรุ้งนั้น มันช่างตรงข้ามเสียจริงๆ แม้ว่าจะเป็นเขตภูเขาแต่การก่อสร้างถนนนั้น กว้างกว่าฝั่งลาวและฝั่งไทย ถนนเป็นเส้นตรงแม้จะผ่านเขตภูเขาก็พยายามให้เป็นเส้นตรงมากที่สุด


เมื่อผ่านภูเขาก็เจาะอุโมงค์ใหญ่โต รถบรรทุกขนาดใหญ่ขับสวนกันอย่างสบาย จำนวนอุโมงค์จากด่าน จีน-ลาวไปเมืองเชียงรุ้งนั้นมีจำนวนมากถึง 27 แห่งมีความยาวต่างกันตั้งแต่ไม่ถึง 100 เมตรจนยาวถึง 4 กิโลเมตรเศษ จำนวนอุโมงค์นี้ไกด์เอามาทายเราช่วงขากลับเพื่อสนุกสนานและให้รางวัลเล็กๆน้อยๆ


เมื่อถนนต้องผ่านที่ต่ำก็ทำสะพานหลายแห่ง ยาวๆก็มี สั้นๆก็มี นี่เองที่ทำให้การเดินทางส่วนใหญ่เป็นเส้นตรง และแม้รถจะทำความเร็วได้ แต่เขาก็ขับไม่เกิน 80 กม.ต่อชม. ทำให้เกิดการประหยัดเชื้อเพลิงมาก

การที่ไม่ต้องปีนภูเขาแบบถนนในประเทศไทย ก็ทำให้ประหยัดและลดการสิ้นเปลืองของเครื่องยนต์ ลดอุบัติเหตุ

การที่ทำอุโมงค์ ช่วยให้เกิดระยะทางที่สั้นลง ก่อให้เกิดการประหยัด ปลอดภัยกว่า ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน

แม้ว่าการลงทุนจะสูงกว่าในช่วงการก่อสร้าง แต่ในระยะยาวแล้วจะประหยัดกว่า

ผมจึงเห็นด้วยในการทำอุโมงค์และสะพาน ดีกว่าการสร้างถนนเลาะไปตามไหล่เขาแบบโค้งไปมา

เฮ่อ..แตกต่างกันที่ระบบคิดหรือเปล่า..หรือว่าอย่างอื่น..


12 พันนา (1) : เรื่องที่ไม่อยากพบ

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 มีนาคม 2009 เวลา 16:27 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4286

ไม่ลำดับเรื่องที่ไปเที่ยวสิบสองปันนา อยากเขียนอะไรก็เขียน อิอิ กลัวลืม..


เรื่องแรกเป็นสิ่งที่พบในวันสุดท้ายที่เดินทางกลับ เป็นเรื่องที่ไม่อยากจะพบ ฮึ คนไทยทำกันได้…


ตลอดการเดินทางของเราราบรื่น และสนุกสนาน หัวเราะกันรถแทบแตกเพราะทั้งหมดเป็นเพื่อนร่วมงานของคนข้างกายและสนิทสนมกันมาก เราพบไกด์ไทยที่ดี ไกด์จีนยิ่งดี ก็เป็นความสุข พุดจาเย้าแหย่กันให้ครื้นเครง


วันเดินทางกลับเราก็ต้องรายงานตัวที่ด่านชายแดนจีน-ลาวตามปกติ วันที่เราเดินทางเข้าประเทศจีนเราต้องยืนเข้าคิวคอยนานเป็นชั่วโมง เพราะมีนักท่องเที่ยวคนไทยไปมากมายหลายชุด หลายบริษัท และพนักงานนายด่านจีนแม้เป็นคนหนุ่มสาวก็เอาจริงจังต่อการตรวจเอกกสารอย่างมาก แต่ละคนใช้เวลานาน และมีบางคนต้องคัดออกเพราะมีเอกสารบางอย่างไม่ชัดเจน คนนั้นก็เอะอะพอหอมปากหอมคอ ต่อว่าว่ามาเที่ยวตั้งหลายครั้งไม่เห็นมีอะไรทำไมเที่ยวนี้จึงติดขัด ดูเหมือนเจ้าหน้าที่จีนตอบว่า ก็มาบ่อยนี่แหละสงสัย….

วันเดินทางกลับเราเห็นคนไทยเข้าแถวรอการตรวจอยู่ก่อนแล้วหนึ่งแถว ล้วนเป็นผู้สูงอายุ ไกด์จีนของเราก็แนะนำให้เราเอาเอกสารแสดงต่างๆออกมาตรวจสอบการเขียนว่าครบถ้วนไหม แล้วให้สอดเข้าไปที่หน้านั้นหน้านี้ เพื่อความรวดเร็วในการตรวจ แล้วไกด์ก็เข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ ตม. แล้วเราก็เข้ายื่นเอกสารตรวจทีละคนตามลำดับที่จัดไว้แล้ว


ระหว่างนั้นเราสังเกตเห็นกลุ่มคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่มาก่อนเราไม่ขยับแถวเลย ยืนตรงไหนก็ตรงนั้น หน้าตาดูว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เมื่อพวกเราผ่านการตรวจเสร็จโดยไม่มีสิ่งใดต้องติดขัด จึงเดินเข้าไปไต่ถามคุณลุงคุณป้าเหล่านั้นว่าทำไมยืนตั้งนานจึงไม่เข้าไปตรวจสักที

ได้คำตอบว่า ไกด์จีนหนีไปแล้ว อ้าว…….ตายหละ เกิดอะไรขึ้น??????

ไกด์จีนของเราจึงเข้าไปเจรจากับ ตม.แล้วได้ความมาว่า เกิดปัญหาขึ้นระหว่างบริษัททัวร์ของไทยที่จัดทัวร์กลุ่มนี้มาประเทศจีน ไม่ดำเนินการตามข้อตกลงกับบริษัททัวร์จีนที่รับช่วงต่อในประเทศจีน คือไม่จ่ายเงินถึงสามครั้งแล้ว รวมเป็นเงิน 5 แสนบาท บริษัททัวร์จีนจึงดัดหลังโดยไม่จัดการการผ่านด่านให้ ยึดพาสปอร์ตลูกทัวร์คนไทยทุกคนไว้ จนกว่าบริษัทไทยที่กรุงเทพฯจะโอนเงินเข้าบัญชีที่เมืองจีนจึงจะดำเนินการต่อให้ เอาลูกทัวร์เป็นประกัน…. ทั้งๆที่ลูกทัวร์ไม่รู้เรื่องอะไรเลย

พวกเราได้ทราบเรื่องดังนั้นแล้วก็ตกใจ เข้าไปแสดงความเห็นใจและปรึกษาหารือว่าจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง

โถโถโถ….คุณลุงคุณป้าต้องมาโดนลอยแพอย่างนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ได้.. พูดจีนก็ไม่ได้ พูดอังกฤษก็ไม่ได้ จะติดต่อใครก็ไม่ได้..

ดูเป็นเรื่องเกินความสามารถของเราเพราะเป็นเรื่องของผู้มีหน้าที่เฉพาะจะเข้ามาจัดการ และนี่เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ระหว่างบริษัททัวร์ นอกจากเราจะลุ้นให้ไกด์จีนของเราไปสอบถาม ตม.จีนว่าดูลู่ทางแล้วจะเป็นอย่างไร ได้คำตอบว่าทางทัวร์จีนกำลังติดต่อกับทัวร์ไทยที่กรุงเทพฯให้รีบจัดการเงิน และดูท่าทีว่าจะเป็นไปได้ แต่ใช้เวลาสักหน่อย…. ซึ่งจริงๆเราก็ไม่ทราบว่าจะลงเอยอย่างไร…


เราบอกกับคุณลุงคุณป้าว่า เรากำลังเดินทางกลับเมืองไทย จะฝากอะไรให้โทรหาทางบ้านก็บอกเราจะจัดการให้

แต่ทั้งหมดก็เชื่อว่าจะลงเอยด้วยดี จึงไม่อยากรบกวนอะไร…


บริษัททัวร์ไทยที่มีปัญหานี้ชื่ออะไร ดูชื่อได้ที่หมวกของคุณลุงนี้นะครับ

ไกด์แนะนำว่า หากเกิดกรณีแบบนี้ ให้ทำดังต่อไปนี้

หนึ่ง ติดต่อสถานทูต หรือสถานกงสุลให้ทราบเพื่อเข้ามาจัดการ และ

สองเมื่อกลับเมืองไทยให้ไปแจ้งความต่อตำรวจแล้วเอาหลักฐานไปแจ้ง ททท.เพื่อทำการลบบัญชีบริษัททัวร์นี้ออกจากใบอนุญาตประกอบการ..

เราจากมาด้วยความห่วงใยพี่น้องไทย..

ดู ดู๋ ดู ดู ดู ทำไมคนไทยถึงทำกันได้…

คำเตือนการไปเที่ยวจีนสิบสองปันนา

-อย่าไปช่วงสงกรานต์….เพราะคนไปเดินทางกันมากเกินที่จะรับได้…

-ตรวจสอบบริษัททัวร์ให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหา

-เลือกไกด์ที่มีประสบการณ์ เพราะทราบว่าบางคนเพิ่งฝึกหัด เราก็จะไม่ได้อรรถรสของเรื่องราวสองข้างทาง หรือสถานที่ที่เราไปดู ไปเที่ยว เพราะเราฟังภาษาจีนไม่ออกน่ะซี…


จะไปสิบสองปันนา

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 มีนาคม 2009 เวลา 9:35 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1841

ก่อนไปเฮ 8 จะไปเที่ยวสิบสองปันนาก่อน ขอยืมภาพมาจาก http://www.bondstreettour.com/ หน่อยนะ



ไปดูบ้านไทลื้อ, ดูวัดไทลื้อ, ไปดูสวนยาง, เขาว่าพระฉันก๋วยเตี๋ยวมื้อเย็น และดื่มเหล้าได้…ที่เมืองหล้า. ดูโน่น ดูนี่ ดูนั่น

คนข้างกายอ่านนิยายในสกุลไทย ซึ่งกล่าวถึงสิบสองปันนามากมาย ก็อยากไปดูด้วยตา

ชวนปาลียน ก็ติดราชการ(ลับ) อิอิ เลยไม่ได้ไปด้วย



ทางเลือกหมู่บ้านเฮ..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 มีนาคม 2009 เวลา 21:46 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1226

รอกอด บอกว่าใครมีพื้นที่แนะนำหมู่บ้านเฮก็ขอให้บอกกล่าวด้วย

ผม รีบเอามาบอกก่อน ทั้งๆที่ยังไม่มีเวลาเดินทางไปดูพื้นที่จริง อิอิ

พี่บำรุง บุญปัญญา (พ่อใหญ่เปี๊ยก) ของเรากำลังหาเงินไปซื้อที่ดินตรงนี้

ผมก็ส่องดูทางอากาศนี่แหละ

ดูทางกายภาพเบื้องต้นแล้วก็น่าสนใจด้วยเหตุดังนี้

  • อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองขอนแก่น ไม่เกิน 40 กม.
  • อยู่ติดอุทยานแห่งชาติ
  • อยู่ใกล้กับเขื่อนอุบลรัตน์
  • ด้านบนพื้นที่มีอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติ
  • ด้านล่างใกล้กับอ่างเก็บน้ำ
  • ใกล้หมู่บ้านของชาวบ้าน
  • ที่ดินดูจะเป็น นส 3 ก.

พี่บำรุง ตั้งใจจะไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่นั่น อยากทำอาศรมพึ่งตนเอง ฯลฯ

ผมยังไม่ได้ไปดูเลยครับ แต่เอามาบอกกล่าวกันก่อนครับ เป็นทางเลือกครับ


จากคุ๊กกี้…. ถึงปลาทอง

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 มีนาคม 2009 เวลา 14:30 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2080

ปลาทองที่รักจ๊ะ…

คุ้กกี้ขอส่งใจมาให้ปลาทองที่รักด้วยนะ

คุ้กกี้เคยเจ็บป่วยเป็นมะเร็งมาแล้ว

ตอนนี้ผ่าเนื้อร้ายทิ้งไปแล้ว

จึงรู้ว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน

……..

ปลาทองทำใจดีดีไว้นะ…..

ฝากกำลังใจมากๆๆๆๆ มาให้แม่หลินด้วย

แม่หลินผู้มีเมตตา ….

ขอให้แม่หลินเข้มแข็งนะ…

จาก คุ๊กกี้ ขอนแก่น…


มีข่าวมาบอก..

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 มีนาคม 2009 เวลา 14:52 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1707

ขออภัยที่เพิ่งมาบอก ความจริงเป็นสิ่งที่ควรจะบอกมานานแล้ว

บางทีสิ่งใกล้ตัวก็มองข้ามไปเหมือนกันนะเฮียตึ๋ง..เฮียเหลียง..

เรื่องคือว่า..

คราวสวนป่าได้พบครูคิม และเห็นกิจกรรมที่ครูคิมทำ ทั้งใน Blog และที่เล่าให้ฟังต่อหน้า

ก็นึกขึ้นว่า เอ..ครูคิมอยู่ในถิ่นกันดาร อะไรที่เราแนะนำได้และอาจจะเป็นประโยชน์ก็ควรทำ…

จึงนึกว่า แหล่งเงินทุน ที่ผมทราบ ก็ควรแนะนำให้ครูคิมเอาไปปรึกษา ผอ. คณะครูในโรงเรียน

เผื่อ คิดอ่านที่จะทำโครงการเกี่ยวกับกระบวนการเรียนของเด็กที่สอดคล้องต่อวัตถุประสงค์การเรียนการสอน โรงเรียน ชุมชน และแหล่งเงินทุน ก็อาจจะ ขอทุนมาทำได้…

เลยคิดจะส่งเอกสารนี้ไปให้ครูคิม

…………………

เมื่อคิดไปมาก็มีเพื่อนอีกมากมายที่อยู่ในช่วงที่คิดอ่านทำประโยชน์แก่บ้านเมืองทั้งน้าน…

ทั้งหมอตา หมอเบิร์ด น้องหนิงสองหนิง สิงห์ป่าสัก น้องอึ่ง ครูอาราม น้องอึ่งอ๊อบ น้องจันทร์ ครูปู ครูมิม

แม้จอมป่วนจอมแหย่ นี่ก็ทำงานเยอะ และเพื่อนๆที่ไม่ได้เอ่ยนามอีกมากมาย…อีกหลายท่าน

หากสนใจจะขอทุนมาทำงาน ก็ลองพิจารณากองทุนนี้นะครับ หรือเอาเอกสารไปศึกษาก่อนก็ได้


ชื่อทุน: Global Environmental Fund (GEF)

ชื่อโปรแกรม: The GEF Small Grants Programme (SGP)


ชื่อเจ้าของทุน: United Nations Development Programme(UNDP)

ลักษณะแนวคิดโครงการ: แนวคิดของโครงการเกิดจากชุมชน ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นหลักในการวางแผน ดำเนินงานและประเมินผล

โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบล

กรอบโครงการ: ต้องเป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอย่างน้อยหนึ่งขอบข่าย ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ(Climate Change)
  • ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)
  • แหล่งน้ำสากล (International Water)
  • ดินเสื่อมโทรม (Land Degradation)
  • สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants)
  • ขอบข่ายทั้ง 5 มีความเกี่ยวข้องกันสัมพันธ์กัน ส่งผลกระทบกันและกันตามธรรมชาติ


สำหรับท่านใดสนใจขอเอกสารฟรีได้ที่ผม (เพราะมีสำเนาอยู่) หรือติดต่อไปที่

ผู้ประสานงานกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก/แผนสนับสนุนโครงการขนาดเล็กของชุมชน

ชั้น 12 อาคารองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ 10200

(บังเอิญคนข้างกายผมเป็นกรรมการอยู่ด้วยครับ เธอบอกว่าช่วยไม่ได้นะให้เป็นไปตามขั้นตอน แต่เหล่ให้เป็นพิเศษ..อิอิ เช่น กลุ่มเฮฯ มีคนสนใจมาก นัดรวมตัวกันแล้วไปคุยวิธีการทำโครงการอย่างไรให้เข้าเป้า้ อะไรทำนองนี้ครับ)


เยี่ยมบ้านครูสุ

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 มีนาคม 2009 เวลา 22:52 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 802

ไม่ได้ไปน่านกับเขา

เลยไปเยี่ยมทาง Point Asia

 


E-sanic Mode of Production

102 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 มีนาคม 2009 เวลา 1:06 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 23503

บนเส้นทาง 250 กม.จากขอนแก่น-มุกดาหาร ที่ผมขับรถผ่านสัปดาห์ละสองครั้งโดยเฉลี่ยนั้น เจ้า 4WD Mitsubishi คันเก่ายังคงรับใช้ผมได้ดีพอสมควรแม้บางครั้งก็พยศเอาบ้างเพราะการใช้งานอย่างหนักตลอด 7 ปีมานี่..

เมื่อสิ้นสุดฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูแล้ง ภาพที่ขัดแย้งกันก็มีให้เห็นเป็นปกติ หากมันแค่ผ่านหูผ่านตาก็แค่นั้น…แต่ผมคิดย้อนถึงอดีตที่ผ่านมาที่ผมลุยพื้นที่แถบนี้มา และมองยาวไปไกลในอนาคต 10 ปี และ 100 ปีข้างหน้าที่ไม่มีตัวตนผมอยู่บนโลกนี้แล้ว ภาพความขัดแย้งนี้จะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง..หนอ…


พื้นที่มากกว่า 100,000 ไร่ ของพื้นที่รับน้ำชลประทานของเขื่อนลำปาว และพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าสองฝั่งลำปาว ของ จ.กาฬสินธุ์กำลังเขียวชอุ่ม พลิ้วไสวด้วยนาปรัง เห็นแล้วก็ชื่นใจ นึกถึงหัวอกคนทำนา หากราคาข้าวนาปรังเกวียนละหมื่นสองพันบาทขึ้นไป ชาวนาในพื้นที่ชลประทานก็จะได้เงินมากพอสมควรทีเดียว


บนถนนนั้นเรามักพบบ่อยๆคือรถหกล้อบรรทุกที่นอนเก่าๆเต็ม หรือเรียกว่าล้นมากกว่า อาจจะมีคนถามว่าเขาเอามาจากไหน และจะเอาไปไหน…

คำอธิบายคือ เขาเอามาจากบ้านชาวบ้านในหมู่บ้านนั่นแหละ โดยการซื้อหรือแลก ส่วนมากแลกมากกว่าโดยเอาที่นอนใหม่ไปแลกกับที่นอนเก่า

แลกเอามาทำไม คำตอบคือ แลกเอามาเพื่อเอานุ่นข้างในมาใช้ใหม่น่ะซี คือว่าต้นนุ่นในปัจจุบันหายากมากแล้ว ไม่ค่อยมีการปลูกกัน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ปลูกนุ่นเพื่อเก็บนุ่นไปทำที่นอนเอง พึ่งตนเองไง ต่อมาเมื่อลัทธิการซื้อ การบริโภคเต็มหัวก็ไม่มีการปลุกใหม่ ต้นเก่าก็ล้มตายไป การหาวัตถุดิบคือนุ่นมาใส่ที่นอนใหม่จึงหายาก จึงใช้วิธีไปแลกของเก่า หรือซื้อที่นอนเก่ามาเอานุ่นไปใช้ใหม่ โรงงานนี้อยู่ที่ แก่งค้อ ชัยภูมิ

หากจะถามว่า อี้…ที่นอนเก่าโดยอะไรมาบ้างก็ไม่รู้ เปื้อนอะไรมาบ้างก็ไม่รู้ นั่นแหละครับ..เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อที่นอนใหม่แบบใช้นุ่นพึงระมัดระวัง…


เลยไปที่กาฬสินธุ์ แถบ อ.คำชะอี บ้านเกิดของจอมพลสฤษดิ์ เส้นทางไปมุกดาหาร บริเวณแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวผู้ไท ขับรถไปก็เห็นสองข้างทางแห้ง บนภูเขาก็มีร่องรอยการเผาทำลายใบไม้แห้งสองข้างถนน ตลอดเส้นทาง


ทุกปี และหลายปีมาแล้ว ก็การเผาไร่ เผาใบไม้ของชาวบ้านกระทำมาแต่โบราณกาล สืบทอดมาจนปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่ซ้ำๆไม่เคยเปลี่ยน เช่น ต้องการเผาเพื่อเอาที่ดิน เผาเพื่อต้องการให้หญ้างอกใหม่ เผาเพื่อต้องการได้ผักหวานป่า….


ถามว่ารู้เรื่องความผิดการเผาตามกฎหมายไทยเราบ้างไหม ตอบได้ว่าไม่รู้ ไม่ทราบ ก็ทำมาทุกปี มีใครมาบอกกล่าวให้ทราบไหมว่ามีกฎหมายห้ามเผา ตอบว่าไม่เห็นมีใครมาบอก แล้วจะเผาต่อไปไหม ตอบว่าก็จะทำต่อไป….เฮ่อ…


คุณป้าคนนี้ไม่ได้ post ท่าเพื่อเป็นแฟชั่นใหม่นะครับ ชุดขุดดินหาสิ่งมีชีวิตที่กินได้ในท้องนาครับ ไม่ว่า กบ เขียด หนู ปู…..เอาหมด


ตามคันนา ขอบบ่อที่มีความชื้นอยู่บ้างนั่นแหละมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ และเป็นอาหารเรา แซบหลายเด้อ….

(บันทึกนี้ ทดลองบันทึกโดย word2007)


ไม่มีชื่อ

31 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 มีนาคม 2009 เวลา 0:10 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1777

ไม่มีข้อความ


ครึ่งที่เหลือ….(2)

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 มีนาคม 2009 เวลา 15:01 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2142

ครึ่งที่เหลือ..นั้น ความจริงก็คือ การให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรม งานนอกห้องเรียน อาจเป็นครอบครัวของเขาเอง หรือครอบครัวอื่นๆ หรือความพร้อมอื่นๆที่เอื้อต่อกระบวนการเรียน และที่คุณครูคุ้นกันก็คือ การทำกิจกรรมนอกห้องเรียนนั่นเอง

ง่ายที่สุดดูจะเป็นการให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละเดือนที่ครอบครัว ชุมชนมีอยู่ ปฏิบัติอยู่ การเข้าร่วมบุญประเพณีต่างๆ เช่น การร่วมไปทำบุญในวันพระ

ครอบครัว: ยกตัวอย่างการไปร่วมทำบุญในวันพระ เริ่มตั้งแต่แม่บ้านคิดว่าจะเอาอะไรไปทำบุญในวันพรุ่งนี้ ทั้งอาหารคาวหวาน การแต่งตัว และอื่นๆ แม่บ้านจะออกแบบในใจออกมาก่อนแล้ว ซึ่งระหว่างนั้นอาจจะมีการปรึกษาหารือกันในครอบครัวบ้างเพื่อช่วยกันเตรียมตัว ที่ผ่านมาเด็กไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ตามระบบ แต่มันซึมซับไปโดยอัตโนมัติ แบบไม่รู้ตัว เช่น แม่บ้านให้ช่วยทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เด็กก็ทำไปโดยอาจจะไม่รู้ความหมาย แต่ได้ทำ และหากซ้ำๆเด็กก็จำได้ หมายรู้ แต่หากจะจัดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นบ้างก็จะช่วยให้ “การเข้าถึงสาระด้านใน” ของการกระทำนั้นๆชัดเจนมากขึ้น

เมื่อเด็กไปที่วัด ตามพ่อแม่ไป พ่อแม่ก็จะสั่งสอนว่า ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าวัด หากเป็นบางแห่งต้องล้างเท้าก่อน แล้วไปกราบพระประธาน กราบพระเจ้าอาวาสและองค์อื่นๆ ความหมายเหล่านี้คืออะไร…

พ่อแม่จะสอนว่า เมื่อเดินในวัดที่มีเพื่อนบ้านมามากมายนี้ควรจะเดินอย่างไรจึงจะมีสัมมาคารวะ เดินผ่านพระควรทำอย่างไร เดินผ่านผู้ใหญ่ควรทำอย่างไร เดินผ่านคนที่มีอาวุโสกว่าทำอย่างไร ความหมายเหล่านี้คืออะไร

พ่อแม่จะสอนว่า คนนั้นคือลุง คือป้า น้า อา ไปกราบท่านซะ ความหมายคืออะไร…ฯลฯ

พ่อแม่จะสอนว่าการไปวัดควรแต่งตัวอย่างไร เสื้อผ้าที่ใช้ควรแตกต่างจากการไปงานอื่นๆอย่างไร

หากเป็นคนช่างสังเกต ก็จะพบว่าเรื่องราวที่เขาพูดกันในวันพระนี้เขาพูดถึงเรื่องอะไรกัน รูปแบบการจักกลุ่มคุยกัน ทำไมผู้ชายที่เป็นคนเฒ่าคนแก่จึงมักไปรวมตัวกันที่หน้ากุฏิเจ้าอาวาส กินน้ำชา คุยกันเรื่องราวต่างๆ รอความพร้อมพิธีทางศาสนา..

เหล่านี้คือการเรียนรู้และการสั่งสอน หากจัดกระบวนการเรียนก็น่าจะเกิดประโยชน์ และความจริงนี่ก็คือ “การถ่ายทอดทุนทางสังคม” ที่สังคมเมืองเกือบจะไม่มีสายใยแห่งการถ่ายทอดแล้ว มีก็ “เข้าไม่ถึงสาระด้านใน” แล้ว เป็นเพียงพิธีกรรมภายนอกซึ่งนับวันจะหยาบ และย่นย่อจนไม่มีความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมเหลืออยู่

สังคมชุมชนภาคเหนือยังมีแรงเกาะเกี่ยวด้านนี้สูงมาก พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยนั่นแหละเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญ

ทุนทางสังคมนี้มีความสำคัญมากๆในมุมของ “การเกาะเกี่ยวทางสังคม” และนี่คือรากเหง้าของสังคมสันติสุข ที่ชุมชนดั้งเดิมของเราอุดมยิ่งนัก และเป็นสิ่งที่เราโหยหา และเราไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยกระบวนการเรียนรู้ แต่ต้องกระทำและซ้ำซ้ำจนเข้าไปอยู่ด้านในของสำนึกและพฤติกรรม

งานค่าย: คุณครูทั้งหลายทราบเรื่องนี้ดีเพราะได้ทำมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ประเด็นคือว่าจะทำอย่างไรให้งานค่ายบูรณาการสาระต่างๆจนเป็นเนื้อเดียวกันได้ ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ประเพณีกับวิชาการความรู้ด้านต่างๆ

อย่างที่เราจัดค่ายเด็กรักถิ่น เราเตรียมผู้เฒ่า ผู้รู้เรื่องป่า ต้นไม้ในหมู่บ้านมาสักจำนวนหนึ่ง จัดเด็กเป็นกลุ่ม เตรียมเด็กเดินป่าชุมชน ผู้เฒ่าหนึ่งคนหรือมากกว่าแล้วเดินเข้าป่าไปกับเด็ก ผ่านต้นไม้ต้นไหนก็อธิบายคุณค่าของต้นไม้นั้นทางสรรพคุณสมุนไพร การใช้ประโยชน์อื่นๆ การเจริญเติบโต การสัมพันธ์กับสัตว์ป่า ฯลฯ หากมีครูไปด้วย ครูอาจะเพิ่มความรู้ทางอื่นที่บูรณาการเข้าไปเช่น ชื่อภาษาอังกฤษ กระบวนการศึกษาความหลากหลาย คือการเอาเชือกมาขึงขนาด 10 ตารางเมตร แล้วนับชนิด จำนวนของต้นไม้ให้หมด นับสัตว์ที่พบ ทำรายการละเอียดออกมา หาชื่อสามัญของท้องถิ่น ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ชื่อของภูมิภาคอื่น ฯลฯ เราก็จะรู้ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชุมชนในเรื่องของพืชและสัตว์ และหากเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น หากเปรียบเทียบกับฤดูกาลอื่น เราก็จะพบการเปลี่ยนแปลง พบความจริงการเพิ่ม หรือลดลง เพราะอะไร ทำไม แล้วเราอาจมีโจทย์ต่อไปว่า แล้วเราจะมีส่วนช่วยให้ดีขึ้นได้อย่างไร…. ก็เกิดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดฤดูกาล ตลอดปี โดยเอาวิชาการเข้ามาผสมผสานกับภูมิความรู้เดิมของท้องถิ่น รวมไปถึงวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เขามาใช้ประโยชน์จากป่า

โอย…มากมายมหาศาล ที่เราจะจัดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นนอกห้องเรียน

สรุป: สิ่งที่ได้จากการจัดกระบวนการเรียนนอกห้องเรียน คือ

ü การบูรณาการความรู้ทางวิชาการกับความรู้พื้นบ้าน

ü การเสริมสร้างความรู้ท้องถิ่น(Indigenous Knowledge)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กรุ่นใหม่

ü การเสริมสร้างทุนทางสังคม(Social Capital Transfer) ให้ถูกถ่ายทอดสืบสานต่อเนื่อง

ü เด็กไม่เครียด สนุกกับการเรียนรู้

ü เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ระหว่างเด็กกับผู้เฒ่า

ü เด็กเติบโตขึ้นไปอย่างมีรากเหง้าฐานเดิมของชุมชน ไม่แปลกแยก (Growing from Local Root)

ü เด็กจะมีจินตนาการสูงกว่าการเรียนเพียงในห้องเรียน

ü การเรียนและการดำเนินชีวิตอยู่บนความเป็นจริง รักท้องถิ่น

ü ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้ขยายให้ลึกซึ้งพิสดารอะไรนะครับ


ครึ่งที่เหลือ….(1)

479 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 มีนาคม 2009 เวลา 14:57 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 7486

รับปากกับน้องอึ่งไว้ว่าจะเขียนขยายความเรื่องที่พี่เปี๊ยกไปพูดที่สวนป่าเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา พี่เปี๊ยกพูดหลายเรื่องสั้นๆ ขอหยิบเอาเรื่อง 50/50 ก็แล้วกัน

ความหมายของ 50/50 นี้ไม่ใช่ “วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง” นะครับ แต่เป็นแนวคิดการจัดการศึกษาของประเทศสังคมนิยมเวียตนามที่ตัดสินใจจัดกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนเพียง ครึ่งวัน อีกครึ่งวันให้ใช้ชีวิตแบบครอบครัว…

ผมได้ไปแลกเปลี่ยนกับพี่เปี๊ยกต่อเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่ารายละเอียดเรื่องนี้คืออะไร ก็ได้ความกระจ่างมากขึ้นว่า คำว่า “อีกครึ่งวันให้ใช้ชีวิตแบบครอบครัว” นั้นมิได้หมายความว่า ให้เด็กกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ เสมือนว่าโรงเรียนเรียนแค่ครึ่งวันเท่านั้น แล้วเด็กก็กลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ปกติ

มิใช่ครับ มิได้ครับ ความหมายที่แท้จริงคือ ให้จัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ที่อยู่นอกห้องเรียน ซึ่งหมายรวมไปถึงอาจให้เด็กกลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ทำงานตามปกติที่พ่อแม่มีงานอยู่ก็ได้ โดยครูกับครอบครัวต้องคุยกัน ปรึกษาหารือกันว่างานที่จะให้เด็กทำนั้นแม้เป็นงานบ้าน งานอาชีพของครอบครัว เช่น ค้าขาย ก็ขอให้มีกระบวนการเรียนการสอนแบบธรรมชาติแฝงไว้ด้วย ส่วนแฝงอย่างไรนั้นคุณครูทั้งหลายคงเดาเรื่องนี้ออกนะครับ..

ผมจึงขอใช้คำว่า ครึ่งที่เหลือ…

ก่อนอื่นนั้นพี่เปี๊ยกตั้งคำถามว่า เรามีเป้าหมายในการศึกษาว่าอย่างไร ต้องตอบคำถามนี้ก่อน สมมติว่าเรามีเป้าหมายเพื่อ ให้เด็กเป็นคนดีของสังคม มีความรู้ความสามารถต่างๆเพียงพอในการออกไปประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อ และมีความรู้ มีวิจารณญาณที่ดีที่เท่าทันการพัฒนาของโลก ดังนั้นรายละเอียดต่อไปก็คือทำอย่างไรจึงจะร่วมกันสร้างให้เด็กเดินเข้าสู่เป้าหมายนั้นๆ

สำหรับครึ่งแรกที่อยู่ในห้องเรียนนั้น เรียนอะไรบ้าง เรื่องนี้คุณครู หรือนักจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรย่อมทราบดี แต่มีมุมมองที่น่าสนใจที่ผมเรียนรู้มาจากฝรั่งต่างชาติที่เคยทำงานด้วย และเมื่อมาพิจารณาผมก็เห็นด้วยกับเขา กล่าวคือ หลักสูตรกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้นควรพิจารณา 3 ฐานความรู้สำหรับอนาคต

ประกอบด้วย พื้นฐานความรู้ในการนำไปเรียนต่อเป็นวิชาชีพ ตัวเลือกต่อไปคือภาษาอังกฤษ เพราะปัจจุบันและอนาคตนั้นเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับการประกอบอาชีพและการเรียนรู้ระดับสากลไปแล้ว ฐานความรู้สุดท้ายคือระบบการสื่อสารขั้นพื้นฐานคือคอมพิวเตอร์ หากเป็นเมื่อยี่สิบปีที่แล้วก็เป็นเครื่องพิมพ์ดีด แต่ปัจจุบันใครที่ไม่เป็นคอมพิวเตอร์ก็ตกรุ่นไปแล้ว.. แต่ทั้งนี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับเงื่อนไขต่างๆประกอบด้วย

ในห้องเรียนมิได้หมายถึงสิ่งกล่าวมาทั้งหมดเท่านั้น วิชาความรู้ต่างๆต้องสอดคล้องต่อความต้องการของเด็ก ครอบครัว ท้องถิ่น ทัศนคติ และพัฒนาการของสังคมที่เคลื่อนตัวไปด้วย

ส่วนครึ่งที่เหลือที่เรียกว่า “นอกห้องเรียน” นั้นแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวโดยตรงและส่วนที่เรียกว่า กิจกรรมโรงเรียนนอกห้องเรียน ส่วนนี้ให้พิจารณาตามเงื่อนไขที่เหมาะสมของพื้นที่ ท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งวัตถุประสงค์ใหญ่คือ การนำเด็กไปเรียนรู้เรื่องต่างๆนอกห้องเรียนที่สอดคล้องกับหลักสูตรและวิถีชีวิตท้องถิ่นนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เด็กได้ซึมซับ “ทุนทางสังคม” ของท้องถิ่น ภูมิภาค และของประเทศไทยเรา ซึ่งสาระหลักจะเป็นเรื่องคุณธรรม การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย แตกต่าง วัฒนธรรม ประเพณี ทั้งการเข้าร่วมและความหมายด้านลึก การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความดี ความชั่ว กิริยามารยาท หลักศาสนา หลักแห่งการอยู่ร่วมกัน การรู้ตัวทั่วพร้อมไม่ไหลตามกระแสหลัก ฯลฯ

มีตัวแบบมากมายในการเรียนการสอนอิงครอบครัว เช่นการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆในวิถีชีวิตของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น เผ่าพันธุ์ ฯลฯ โดยพ่อแม่เองเป็นครู หรือผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเอง หรือผู้รู้ต่างๆในชุมชน การเข้าร่วมงานบุญ ประเพณีของท้องถิ่นแบบเรียนรู้ มิใช่เพื่อสนุกเพียงอย่างเดียว… (ต่อตอนสอง)


มหกรรมประชาชนอีสาน 2

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 มีนาคม 2009 เวลา 20:53 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1461

พ่อใหญ่เปี๊ยกฝากให้ประชาสัมพันธ์เรื่องการจัดงานมหกรรมประชาชนอีสาน 2 ที่ขอนแก่นตามรายละเอียดข้างล่างนี้  พ่อใหญ่เปี๊ยกตั้งใจจะกล่าวเมื่ออยู่ที่สวนป่า แต่ไม่มีโอกาส เลยฝากผมมาประชาสัมพันธ์ครับ

ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมงานนี้ ใคร กลุ่มไหนมีสินค้าท้องถิ่นจะเอาไปจำหน่ายก็ยินดี แต่ขอให้ติดต่อเพื่อพูดคุยกติกากันด้วยครับ  ขอเชิญทุกท่านนะครัับ

กำหนดการ

มหกรรมประชาชนอีสาน ๒

๖ เมษายน ๒๕๕๒

ณ.สวนดอกคูณ บึงแก่นนคร อ.เมือง จ.ขอนแก่น

****************************

คำขวัญ : เกษตรกร … เกษตรวัฒนธรรม คือหลักนำของชาติ

วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๒

ช่วงเช้า เดินทางสู่สถานที่จัดงาน (วันโฮม)

๑๓.๐๐ - ๑๔.๐๐ น. แสดงนิทรรศการ ร้าน (ซุ้ม) แลกเปลี่ยนและจำหน่ายสินค้า

จากภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน พบปะญาติมิตรจากจังหวัดต่าง ๆ ตามอัธยาศัย

๑๖.๓๐ - ๑๗.๓๐ น. ตั้งขบวนเดินรณรงค์ในตัวเมืองขอนแก่น

๑๗.๓๐ - ๑๘.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็น

๑๘.๐๐ - ๑๘.๒๐ น. พิธี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน

โดย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น

๑๘.๒๐ - ๑๘.๔๐ น. ประธานจัดงานกล่าวรายงาน ตอกย้ำการตุ้มโฮมคนอีสาน

โดย นายวิพัฒนาชัย พิมพ์หิน ประธาน กป.อพช.ภาคอีสาน

๑๘.๔๐ - ๑๙.๓๐ น. ประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน

โดย คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

๑๙.๓๐ - ๒๐.๓๐ น. ปาฐกถา ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ภายใต้สถานการณ์

วิกฤติทุนนิยมโลกาภิวัตน์

โดย อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนอาวุโส

๒๐.๓๐ - ๒๒.๐๐ น. การแสดงหนังประโมทัย (หนังตะลุง)

โดย คณะ ส.ร่วมมิตร

๒๒.๐๐ น. พักผ่อนตามอัธยาศัย

วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๒

๐๗.๐๐ น. ทำบุญตักบาตรด้วยผลิตผลอาหารอีสานพื้นบ้าน

๐๙.๐๐ - ๑๐.๓๐ น. อภิปราย ประวัติศาสตร์อีสาน : การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการสู่รัฐชาติ

โดย ดร.จารุวรรณ ธรรมวัตร

อาจารย์ธิดา สารยา

อาจารย์บัวพันธ์ พรหมพักพิง

ดำเนินรายการ โดย

คุณธีรดา นามให หรือ คุณสุเมธ ปานจำลอง

๑๐.๓๐ ๑๒.๐๐ น. ประวัติศาสตร์นักต่อสู้อีสาน :กรณี ครูครอง จันดาวงศ์

โดย อาจารย์ธันวา ใจเที่ยง

อาจารย์วิทิต จันดาวงศ์

ดร. สุพรรณ สาคร

ดำเนินรายการโดย

คุณแวง พลังวรรณ หรือ คุณสุวิทย์ กุหลาบวงศ์

๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น. พักรับประทานอาหารกลางวัน

๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. อภิปราย ประวัติศาสตร์ 4 อดีต รัฐมนตรีอีสาน

และบทบาทของนักการเมืองอีสานร่วมสมัย

โดย อาจารย์สมคิด ศรีสังคม

คุณทองใบ ทองเปาด์

อาจารย์บุญเรือง ถาวรสวัสดิ์

คุณคำสิงค์ ศรีนอก ศิลปินแห่งชาติ

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

ดำเนินรายการ โดย

อาจารย์ปรีชา คุวินธร หรือ คุณสุมาลี โพธิ์พยัคฆ์

๑๖.๐๐ - ๑๘.๓๐ น. อธิปราย วิถีชีวิตเกษตรกร วิถีชุมชนและการรุกทำลายของกลุ่ม

ทุนโลกาภิวัตน์

โดย อาจารย์ประสาสน์ รัตนะปัญญา

อาจารย์บัญชร แก้วส่อง

คุณเดชา ศิริภัทร

อาจารย์นันทิยา หุตานุวัตร

คุณประวัติ บุนนาค

ดำเนินรายการ โดย

คุณอุบล อยู่หว้า หรือ คุณบำรุง บุญปัญญา

๑๘.๓๐ - ๒๐.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็น ร่วมกัน (จัดร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น)

โดยเน้นอาหารพื้นบ้านและการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านระหว่าง พาแลง

๒๐.๐๐ - ๒๒.๐๐ น. เล่าขานตำนานเพลง สำนึกอีสาน จะสร้างขึ้นได้อย่างไร (สีสันไข่มดแดง)

ประกอบการแสดงของวงซูซู

โดย ซูซู และคณะ

๒๒.๐๐ น. พักผ่อนตามอัธยาศัย

วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๒

๐๗.๐๐ น. ทำบุญตักบาตรด้วยอาหารพื้นบ้านอีสาน

๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. อภิปราย ทางเลือกของคนอีสานบนพื้นฐานสำนึกประวัติศาสตร์

ท้องถิ่น

โดย อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม

อาจารย์ปรีชา อุยตระกูล

คุณแวง พลังวรรณ นักเขียนอิสระ

คุณเอียด ดีพูน นักพัฒนาอาวุโส

ดำเนินรายการ โดย

คุณสดใส สร่างโศรก หรือ คุณจำนง จิตนิรัตน์

๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน

๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. อภิปราย ภูมิปัญญาอีสานและนิเวศวัฒนธรรม : อุดมการณ์ เพื่อการ

เปลี่ยนแปลงสู่สังคมใหม่

โดย ท่านอาจารย์พระมหาณรงค์ จิตโสภโณ

อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาคสุภา

อาจารย์เลื่อน วรรณเลิศ

อาจารย์สันติภาพ วัฒนศิริไพบูลย์

คุณสนั่น ชูสกุล

ดำเนินรายการ โดย

คุณประวัติ บุนนาค หรือ คุณราณี หัสรังษี

๑๖.๐๐ - ๑๘.๓๐ น. อธิปราย ประสบการณ์การต่อสู้ของประชาชนอีสานยุคปัจจุบัน :

จุดแข็ง จุดอ่อน และก้าวข้ามความแตกแยกกระจัดกระจาย

โดย ครูสน รูปสูง ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน

คุณบำรุง คะโยธา เครือข่ายเกษตรทางเลือก

คุณสมปอง เวียงจัน เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำมูล

อาจารย์รัฐสภา นามเหลา ตัวแทน จาก สก.ยอ. อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

ดำเนินรายการ โดย

อาจารย์ พิทยพันธ์ แวะศรีภา หรือ ดร.วิญญู สะตะ

๑๘.๓๐ - ๑๙.๓๐ น. รับประทานอาหารเย็น และการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน

๑๙.๓๐ - ๒๒.๐๐ น. บทเรียนทางสากลในการเคลื่อนไหวท้องถิ่น (Localization)

กรณี ญี่ปุ่น,อเมริกา,ยุโรปและสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

โดย ดร.เดวิด CIEE (ระบบ CSAในอเมริกา)

คุณโอโนะซัง AFEC (Rainbow Plan ในญี่ปุ่น)

ดร.สมบัติ PADAK (ชุมชนสังคมนิยมแบบลาว)

คุณชนิดา จรรยาเพศ Focus on Global South

ดำเนินรายการ โดย

คุณเดชา เปรมฤดีเลิศ หรือ คุณพงษ์ทิพย์ สำราญจิตร

๒๒.๐๐ - ๒๓.๓๐ น. ดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน

โดย คณะผู้ร่วมงานซุ้มต่าง ๆ นำเสนอต่อประธานจัดงานมหกรรมฯ 2

วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๒

๐๗.๐๐ น. ทำบุญตักบาตร พระภิกษุสงฆ์

๐๙.๐๐ - ๑๒.๓๐ น. อภิปราย ขบวนการสังคมใหม่บนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและ

ชาติพันธุ์

โดย อาจารย์ชยันต์ วัฒนภูติ

อาจารย์ยุค ศรีอาริยะ

อาจารย์บุรินทร์ ตัวแทนชาวพุทธ

ดร.โกศล ศรีสังข์ ตัวแทนคริสต์ชน

อาจารย์ปรีดา ประพฤติชอบ ตัวแทนชาวอิสราม

ดร. สุพรรณ สาคร ตัวแทนชาวลาว

คุณไพศาล ช่วงฉ่ำ ตัวแทนชาวบรู คุณเอียด ดีพูน ตัวแทนชาวเขมร

คุณปาริชาติ หาญไชยนะ ตัวแทนชาวภูไท

คุณชลิดา มณีปกรณ์ ผู้แทนชาวย้อ

ดำเนินรายการ โดย

อาจารย์ปรีชา อุยตระกูล หรือ อาจารย์บุญยงค์ เกตุเทศ

๑๒.๓๐ - ๑๓.๓๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน

๑๓.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. เปิดเวที เกษตรกร … เกษตรวัฒนธรรม คือหลักนำของชาติ

ดำเนินรายการ โดย

คุณวิพัฒนาชัย พิมพ์หิน

๑๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. มหกรรมประชาชนอีสาน 2 ประกาศจุดยืนและเจตนารมณ์ ปลุกพลังภูมิ

ปัญญาอีสาน คัดค้านทุนการเกษตรผูกขาด ประกาศแนวทาง

พึ่งตนเอง

โดย ทีมคณะกรรมการอำนวยการ / ฝ่ายวิชาการ

ดำเนินรายการ โดย

อาจารย์วิเชียร แสงโชติ หรือ คุณสนั่น ชูสกุล

๑๗.๐๐ - ๑๙.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน (เลี้ยงอำลา)

เอื้อเฟื้อ โดย กป.อพช. ภาคอีสาน และเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน

๑๙.๐๐ - ๒๑.๓๐ น. เล่าขานตำนานเพลงเพื่อชีวิตบนเส้นทางการต่อสู้ของชาวอีสาน

โดย หงา คาราวาน

ดำเนินรายการ โดย

คุณโกวิทย์ กุลสุวรรณ

๒๑.๓๐ - ๒๒.๐๐ น. พิธีปิดงาน มหกรรมประชาชนอีสาน 2

โดย อาจารย์บัณฑร อ่อนดำ นักวิชาการอิสระ

——————————-

หมายเหตุ

* รายการต่าง ๆ สามารถพลิกแพลง ยืดหยุ่นและเสนอปรับแก้ได้ตลอดเวลา โดยมีช่วงสำรอง เวลา ๑๗.๐๐

๐๙.๐๐ น. ของทุกวัน

** บทบาทศาสนาและพระสงฆ์กับการพัฒนา รวมทั้งคุณูปการของท่านหลวงพ่อพระพิมลธรรม อาจจะแทรกลงเป็นกิจกรรมตอนเย็นระหว่าง ๑๘.๐๐ ๒๐,๐๐ น.วันละ 1 ชั่วโมงครึ่ง ตลอดงาน

*** กำหนดการนี้ อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ เพราะอยู่ระหว่างการติดต่อวิทยากรและการประสานงาน


น้ำตา..เนื่องมาจากพี่เปี๊ยก..

950 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มีนาคม 2009 เวลา 1:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 18596

ผมเอาเรื่องพี่เปี๊ยกมาเขียนหน่อย..

พี่เปี๊ยกไม่มีรายได้อะไร เพราะไม่มีงานประจำอย่างเราๆท่านๆ…แล้วมีชีวิตอยู่อย่างไร..?

ก็น้องๆที่แวะเวียนไปหาพี่เปี๊ยกก็ช่วยสนับสนุนกันตามกำลังบ้าง..

การเชิญพี่เปี๊ยกเป็นที่ปรึกษางานโน่นนี่ก็พอมีค่าตอบแทนบ้าง ซึ่งก็ไม่แน่นอน..

ดูการใช้ชีวิตของพี่เปี๊ยกแล้วทุกท่านคงเดาออกนะครับว่าเรียบง่ายเสียจน..

ในคราวที่น้องๆรวบรวมบทความของพี่เปี๊ยกรวมเล่มเรื่องวัฒนธรรมชุมชนนั้น

ก็มอบให้พี่มาจำนวนหนึ่งเพื่อให้ไปจำหน่ายเอาเอง ได้เงินมาก็เป็นของพี่เปี๊ยกเอง

การมาสวนป่าคราวนี้ก็เช่นกัน….พี่เปี๊ยกบอกผมว่า บู๊ด..เอาหนังสือไปขายบ้างได้ไหม..

ผมก็ว่าได้ เดี๋ยวผมจัดการให้พี่เอาหนังสือมาให้ผม..

น้องๆที่ขอนแก่นก็รวบรวมหนังสือให้ได้มานิดหน่อยเพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน..

น้องขจิต และน้องมะเดี่ยว ช่วยจัดการให้..

หลังการพูดเสร็จ หนังสือขายหมดเกลี้ยงเลย.. ไม่พอเสียด้วยซ้ำไปเพราะหลวงพี่ติ๊กสนใจก็หมดเสียแล้ว

ผมบอกหลวงพี่ว่าผมจะเอาไปถวายเองที่วัดสระเกศ

เพราะวันจันทร์ผมมีประชุมที่กรุงเทพฯจะหาเวลาแวะไปกราบท่าน

ช่วงที่ทุกคนเดินทางไปทานอาหารกลางวัน มีบางท่านมาซื้อหนังสือจากเดี่ยวจนหมดนั้น ต่างก็ยื่นหนังสือให้พี่เปี๊ยกเซนต์

แต่พี่เปี๊ยกให้มากกว่าลายเซ็น คือเขียนกลอนให้ด้วย

พี่จะมองหน้าท่านนั้นแล้วซักถามเรื่องส่วนตัวสักสองสามคำถาม

จากนั้นก็ตั้งสติ แล้วก็ “จารบทกลอน” สดๆลงไป…

เมื่อถึงคราวคุณสุภาพสตรีท่านที่ยืนตรงกลางเอาหนังสือให้พี่เปี๊ยกจาร

ใช้เวลาไม่นานนัก…

เมื่อเสร็จเธอก็รับมาแล้วก็อ่าน..อ่าน..ให้เพื่อนฟังด้วย..

เมื่ออ่านจบ เธอน้ำตาไหลออกมาครับ จนเธอต้องลุกเดินออกไป..

คุณสุภาพบุรุษท่านที่ยืนข้างกายนั้น เดินตามไปพร้อมกับน้ำตาไหลรินออกมาด้วย..

อยากทราบว่าบทกลอนบทนั้นว่าอย่างไร..

ขอให้ท่านไปถามสุภาพสตรีท่านนั้นเถิดครับ….

ผมเชื่อว่าเธอยินดีที่จะกล่าวถึงครับ…..



Main: 0.21721601486206 sec
Sidebar: 0.22837710380554 sec