12 พันนา(2): ถนน..ความแตกต่าง
เราเดินทางจากขอนแก่นไปเชียงของด้วยรถตู้เจ้าประจำ รู้ใจกันจนเป็นเพื่อนสนิทไปแล้ว เพราะใช้บริการกันบ่อย หรือกล่าวอีกทีคือเราเป็นลูกค้าใหญ่ที่สุด.. อย่างที่เกริ่นไว้ในลานเจ๊าะแจ๊ะว่าคนข้างกายผมเกือบไม่ได้ไปแล้วเพราะเธออาเจียนเสียจนไม่มีอะไรจะออกมาจากพุงแล้ว.. ทั้งนี้เพราะการขับรถบนพื้นที่ภูเขาที่วนไปวนมา เลี้ยวซ้าย ขวาตลอดเวลา ยิ่งหากคนขับรถคนไหนไม่นิ่มพอ เดี๋ยวเบรก กึกกัก เลี้ยวแบบเหวี่ยง อย่างนี้เสร็จ คนเมารถทนไม่ไหว.. แต่ปัจจัยสำคัญหนึ่งของคนเมารถก็คือ ร่างกายพักผ่อนไม่พอ..
เมื่อเราข้ามฝั่งลาว ก็นั่งรถตู้ของบริษัทลาว 2 คัน ถนน หนทางยิ่งแย่กว่าบ้านเรา และถนนโค้งไปมาตามไหล่ภูเขามากกว่าฝั่งไทย แต่โชคดีที่เป็นเวลากลางวัน คุณสุภาพสตรีหลายคนไม่เมาเพราะมองเห็นข้างทาง เธอว่าเช่นนั้น แต่เมื่อเข้าดินแดนจีนเราก็เปลี่ยนเป็นรถมินิบัสขนาดกลางตามภาพ
เส้นทางถนนก็คล้ายบ้านเราคือมักจะผ่าเข้าไปกลางหมู่บ้านและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และการที่โค้งไปมาจำนวนมากๆนั้นมีผลต่อเนื่องหลายประการ นี่ผมก็เพิ่งสังเกตนะครับ
เมื่อข้ามฝั่งประเทศจีนเพื่อเดินทางไปเมืองเชียงรุ้งนั้น มันช่างตรงข้ามเสียจริงๆ แม้ว่าจะเป็นเขตภูเขาแต่การก่อสร้างถนนนั้น กว้างกว่าฝั่งลาวและฝั่งไทย ถนนเป็นเส้นตรงแม้จะผ่านเขตภูเขาก็พยายามให้เป็นเส้นตรงมากที่สุด
เมื่อผ่านภูเขาก็เจาะอุโมงค์ใหญ่โต รถบรรทุกขนาดใหญ่ขับสวนกันอย่างสบาย จำนวนอุโมงค์จากด่าน จีน-ลาวไปเมืองเชียงรุ้งนั้นมีจำนวนมากถึง 27 แห่งมีความยาวต่างกันตั้งแต่ไม่ถึง 100 เมตรจนยาวถึง 4 กิโลเมตรเศษ จำนวนอุโมงค์นี้ไกด์เอามาทายเราช่วงขากลับเพื่อสนุกสนานและให้รางวัลเล็กๆน้อยๆ
เมื่อถนนต้องผ่านที่ต่ำก็ทำสะพานหลายแห่ง ยาวๆก็มี สั้นๆก็มี นี่เองที่ทำให้การเดินทางส่วนใหญ่เป็นเส้นตรง และแม้รถจะทำความเร็วได้ แต่เขาก็ขับไม่เกิน 80 กม.ต่อชม. ทำให้เกิดการประหยัดเชื้อเพลิงมาก
การที่ไม่ต้องปีนภูเขาแบบถนนในประเทศไทย ก็ทำให้ประหยัดและลดการสิ้นเปลืองของเครื่องยนต์ ลดอุบัติเหตุ
การที่ทำอุโมงค์ ช่วยให้เกิดระยะทางที่สั้นลง ก่อให้เกิดการประหยัด ปลอดภัยกว่า ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน
แม้ว่าการลงทุนจะสูงกว่าในช่วงการก่อสร้าง แต่ในระยะยาวแล้วจะประหยัดกว่า
ผมจึงเห็นด้วยในการทำอุโมงค์และสะพาน ดีกว่าการสร้างถนนเลาะไปตามไหล่เขาแบบโค้งไปมา
เฮ่อ..แตกต่างกันที่ระบบคิดหรือเปล่า..หรือว่าอย่างอื่น..