ครึ่งที่เหลือ….(2)

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 มีนาคม 2009 เวลา 15:01 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2071

ครึ่งที่เหลือ..นั้น ความจริงก็คือ การให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรม งานนอกห้องเรียน อาจเป็นครอบครัวของเขาเอง หรือครอบครัวอื่นๆ หรือความพร้อมอื่นๆที่เอื้อต่อกระบวนการเรียน และที่คุณครูคุ้นกันก็คือ การทำกิจกรรมนอกห้องเรียนนั่นเอง

ง่ายที่สุดดูจะเป็นการให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละเดือนที่ครอบครัว ชุมชนมีอยู่ ปฏิบัติอยู่ การเข้าร่วมบุญประเพณีต่างๆ เช่น การร่วมไปทำบุญในวันพระ

ครอบครัว: ยกตัวอย่างการไปร่วมทำบุญในวันพระ เริ่มตั้งแต่แม่บ้านคิดว่าจะเอาอะไรไปทำบุญในวันพรุ่งนี้ ทั้งอาหารคาวหวาน การแต่งตัว และอื่นๆ แม่บ้านจะออกแบบในใจออกมาก่อนแล้ว ซึ่งระหว่างนั้นอาจจะมีการปรึกษาหารือกันในครอบครัวบ้างเพื่อช่วยกันเตรียมตัว ที่ผ่านมาเด็กไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ตามระบบ แต่มันซึมซับไปโดยอัตโนมัติ แบบไม่รู้ตัว เช่น แม่บ้านให้ช่วยทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เด็กก็ทำไปโดยอาจจะไม่รู้ความหมาย แต่ได้ทำ และหากซ้ำๆเด็กก็จำได้ หมายรู้ แต่หากจะจัดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นบ้างก็จะช่วยให้ “การเข้าถึงสาระด้านใน” ของการกระทำนั้นๆชัดเจนมากขึ้น

เมื่อเด็กไปที่วัด ตามพ่อแม่ไป พ่อแม่ก็จะสั่งสอนว่า ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าวัด หากเป็นบางแห่งต้องล้างเท้าก่อน แล้วไปกราบพระประธาน กราบพระเจ้าอาวาสและองค์อื่นๆ ความหมายเหล่านี้คืออะไร…

พ่อแม่จะสอนว่า เมื่อเดินในวัดที่มีเพื่อนบ้านมามากมายนี้ควรจะเดินอย่างไรจึงจะมีสัมมาคารวะ เดินผ่านพระควรทำอย่างไร เดินผ่านผู้ใหญ่ควรทำอย่างไร เดินผ่านคนที่มีอาวุโสกว่าทำอย่างไร ความหมายเหล่านี้คืออะไร

พ่อแม่จะสอนว่า คนนั้นคือลุง คือป้า น้า อา ไปกราบท่านซะ ความหมายคืออะไร…ฯลฯ

พ่อแม่จะสอนว่าการไปวัดควรแต่งตัวอย่างไร เสื้อผ้าที่ใช้ควรแตกต่างจากการไปงานอื่นๆอย่างไร

หากเป็นคนช่างสังเกต ก็จะพบว่าเรื่องราวที่เขาพูดกันในวันพระนี้เขาพูดถึงเรื่องอะไรกัน รูปแบบการจักกลุ่มคุยกัน ทำไมผู้ชายที่เป็นคนเฒ่าคนแก่จึงมักไปรวมตัวกันที่หน้ากุฏิเจ้าอาวาส กินน้ำชา คุยกันเรื่องราวต่างๆ รอความพร้อมพิธีทางศาสนา..

เหล่านี้คือการเรียนรู้และการสั่งสอน หากจัดกระบวนการเรียนก็น่าจะเกิดประโยชน์ และความจริงนี่ก็คือ “การถ่ายทอดทุนทางสังคม” ที่สังคมเมืองเกือบจะไม่มีสายใยแห่งการถ่ายทอดแล้ว มีก็ “เข้าไม่ถึงสาระด้านใน” แล้ว เป็นเพียงพิธีกรรมภายนอกซึ่งนับวันจะหยาบ และย่นย่อจนไม่มีความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมเหลืออยู่

สังคมชุมชนภาคเหนือยังมีแรงเกาะเกี่ยวด้านนี้สูงมาก พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยนั่นแหละเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญ

ทุนทางสังคมนี้มีความสำคัญมากๆในมุมของ “การเกาะเกี่ยวทางสังคม” และนี่คือรากเหง้าของสังคมสันติสุข ที่ชุมชนดั้งเดิมของเราอุดมยิ่งนัก และเป็นสิ่งที่เราโหยหา และเราไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยกระบวนการเรียนรู้ แต่ต้องกระทำและซ้ำซ้ำจนเข้าไปอยู่ด้านในของสำนึกและพฤติกรรม

งานค่าย: คุณครูทั้งหลายทราบเรื่องนี้ดีเพราะได้ทำมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ประเด็นคือว่าจะทำอย่างไรให้งานค่ายบูรณาการสาระต่างๆจนเป็นเนื้อเดียวกันได้ ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ประเพณีกับวิชาการความรู้ด้านต่างๆ

อย่างที่เราจัดค่ายเด็กรักถิ่น เราเตรียมผู้เฒ่า ผู้รู้เรื่องป่า ต้นไม้ในหมู่บ้านมาสักจำนวนหนึ่ง จัดเด็กเป็นกลุ่ม เตรียมเด็กเดินป่าชุมชน ผู้เฒ่าหนึ่งคนหรือมากกว่าแล้วเดินเข้าป่าไปกับเด็ก ผ่านต้นไม้ต้นไหนก็อธิบายคุณค่าของต้นไม้นั้นทางสรรพคุณสมุนไพร การใช้ประโยชน์อื่นๆ การเจริญเติบโต การสัมพันธ์กับสัตว์ป่า ฯลฯ หากมีครูไปด้วย ครูอาจะเพิ่มความรู้ทางอื่นที่บูรณาการเข้าไปเช่น ชื่อภาษาอังกฤษ กระบวนการศึกษาความหลากหลาย คือการเอาเชือกมาขึงขนาด 10 ตารางเมตร แล้วนับชนิด จำนวนของต้นไม้ให้หมด นับสัตว์ที่พบ ทำรายการละเอียดออกมา หาชื่อสามัญของท้องถิ่น ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ชื่อของภูมิภาคอื่น ฯลฯ เราก็จะรู้ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชุมชนในเรื่องของพืชและสัตว์ และหากเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น หากเปรียบเทียบกับฤดูกาลอื่น เราก็จะพบการเปลี่ยนแปลง พบความจริงการเพิ่ม หรือลดลง เพราะอะไร ทำไม แล้วเราอาจมีโจทย์ต่อไปว่า แล้วเราจะมีส่วนช่วยให้ดีขึ้นได้อย่างไร…. ก็เกิดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดฤดูกาล ตลอดปี โดยเอาวิชาการเข้ามาผสมผสานกับภูมิความรู้เดิมของท้องถิ่น รวมไปถึงวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เขามาใช้ประโยชน์จากป่า

โอย…มากมายมหาศาล ที่เราจะจัดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นนอกห้องเรียน

สรุป: สิ่งที่ได้จากการจัดกระบวนการเรียนนอกห้องเรียน คือ

ü การบูรณาการความรู้ทางวิชาการกับความรู้พื้นบ้าน

ü การเสริมสร้างความรู้ท้องถิ่น(Indigenous Knowledge)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กรุ่นใหม่

ü การเสริมสร้างทุนทางสังคม(Social Capital Transfer) ให้ถูกถ่ายทอดสืบสานต่อเนื่อง

ü เด็กไม่เครียด สนุกกับการเรียนรู้

ü เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ระหว่างเด็กกับผู้เฒ่า

ü เด็กเติบโตขึ้นไปอย่างมีรากเหง้าฐานเดิมของชุมชน ไม่แปลกแยก (Growing from Local Root)

ü เด็กจะมีจินตนาการสูงกว่าการเรียนเพียงในห้องเรียน

ü การเรียนและการดำเนินชีวิตอยู่บนความเป็นจริง รักท้องถิ่น

ü ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้ขยายให้ลึกซึ้งพิสดารอะไรนะครับ



Main: 0.93180799484253 sec
Sidebar: 0.17187404632568 sec