จันกะพ้อบาน…

2677 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 กุมภาพันธ 2009 เวลา 23:02 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 39081

จันกะพ้อบานแล้วครับ บานมา 1 สัปดาห์แล้ว ปีนี้ดอกน้อยมาก น้อยกว่าปี 2550 ครับ แถมมีมดแดงมาทำรังสองรัง เลยเก็บดอกบนต้นยาก  แต่ก็หอมมากครับ นั่งอยู่ในบ้านก็ได้กลิ่นโชยมา

เลยเอาข้อมูลมาฝากกันครับ

จันทน์กะพ้อเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Dipterocarpaceae พวกเดียวกับยางนาและพะยอม ทางภาคใต้เรียก จันทน์พ้อ และที่จังหวัดพังงาเรียก เขี้ยวงูเขา

จันทน์กะพ้อเป็นไม้ต้นขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง โตช้า ชอบขึ้นในที่ดินร่วนชื้นและร่มปะปนกันไม้ต้นชนิดอื่นในป่าดิบชื้น ต้นค่อนข้างตรง เปลือกเกลี้ยง เรือนยอดเป็นพุ่มรีหรือกว้างใบเป็นใบเดี่ยว รูปรีค่อนข้างยาว ขนาดยาว ๗-๙ซม. กว้าง ๒-๓ ซม. สีเขียวเข้ม เรียงตัวแบบเวียนไปตามกิ่งห่างๆ กัน ดอกออกตามกิ่งเป็นช่อเล็กๆ ทยอยบานครั้งละ ๑-๒ ดอก

แต่มักจะมีช่อหลายช่อเป็นกระจุกและเรียงเป็นระยะๆ ตามกิ่งดอกขนาด ๑.๒-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงมีขนสีน้ำตาลกลีบดอกเรียงเวียนซ้อนเกยกันเล็กน้อย ด้านในสีขาวนวลหรืออมชมพู ด้านนอกมีแถบแคบๆ มีขนละเอียดสีน้ำตาลอมแดง กลิ่นหอมแรง ออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปัจจุบันพบเห็นได้ค่อนข้างน้อย

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดปลูกเลี้ยงค่อนข้างยาก ถ้าแดดจัดหรือลมแรงใบจะไหม้ ปัจจุบันพบน้อยลงมาก  ขอบคุณข้อมูลจาก

http://guru.sanook.com/search/(Vatica_diospyroides_Syming.)


ศรีตรัง.. Jacaranda

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กุมภาพันธ 2009 เวลา 13:16 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2366

คุณแม่คนข้างกายตระเวนไปเลี้ยงหลาน 14 คน (อิอิ) และมาเลี้ยง สามขวัญ ลูกสาวผม เป็นคนสุดท้าย คุณแม่ไปเลี้ยงหลานคนไหนก็เอาต้นศรีตรังไปปลูกหน้าบ้านด้วย เหมือนปักธงว่า คุณเจ้าขา..บ้านนี้คนตรังนะจ๊ะ.. อะไรทำนองนั้น

คุณแม่ทันได้ดูดอกศรีตรังหน้าบ้าน ก่อนที่ท่านจะจากเราไปไกลเมื่อสองปีก่อน

jacaranda no 1

ผมชอบดอกศรีตรังมากโดยเฉพาะสีม่วงอ่อนๆ สวยแบบบอบบางน่าทนุถนอมครับ เธอจะบานเป็นพวงแล้วก็ล่วงหล่นลงพื้น สีม่วงเต็มไปหมด สวยครับ ไม่อยากกวาดดอกที่หล่นลงพื้นเลย อยากปล่อยไว้อย่างนั้น

ศรีตรังนี้มีชื่อว่า Green ebony หรือ Jacaranda ชื่อวิทยาศาสตร์ Jacaranda obtusifolia Humb.

่jacaranda no2

ว่ากันว่าเจ้าดอก jacaranda นี้มีถิ่นเดิมอยู่ที่ เวเนซุเอลา และตอนเหนือของอเมริกาใต้ แล้วกระจายไปทั่วโลก เขาชอบดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำดี ชอบอากาศเย็นและชื้น

เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดตรัง จึงได้ชื่อศรีตรัง แต่ไม่ทราบว่าเข้ามาเมืองไทยเมื่อใด ใครเป็นคนเอาเข้ามา ไม่มีข้อมูล

jacaranda no3

ดอกก่อนบานฉ่ำนั้นจะเป็นกระเปาะ บางทีโดนลมแรงๆเขาก็ล่วงลงพื้นเหมือนกัน

ดอกศรีตรังที่บ้านจะออกดอกช่วงนี้จนถึงเดือนมีนาคมก็หมด

ผมไปดูใน Web เห็นที่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียมีต้น Jacaranda นี้สวยกว่าบ้านเราครับ

คือดอกเขาเป็นกลุ่มใหญ่กว่ากระเปาะใหญ่กว่า เมื่อรวมกลุ่มดอกทำให้สีดูเข้มขึ้น

ดูซิครับว่าดอกเขาดกแค่ไหน ไม่มีใบสักใบ

หนุ่มสาวคู่นี้คงมีความสุขมากที่มานั่งหน้าตึกมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียที่มี Jacaranda ออกดอกเต็มที่แบบนี้ คงเป็นความฝันของบางคน ละมั๊ง…


หลักการ “ครึ่งเวลา”

21 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 กุมภาพันธ 2009 เวลา 21:45 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1289

ทำไมระบบโรงเรียนจึงดึงเวลาทั้งชีวิตไปหมด

เด็กทุกระดับต้องคร่ำเคร่งทำการบ้านเป็นบ้าเป็นหลัง

…..ไม่มีเวลากับครอบครัว หรือครอบครัวก็ส่งเสริมเช่นนั้น

มีข้อเสนอใหม่

“โรงเรียนเอาไปครึ่งเวลา

อีกครึ่งให้อยู่กับครอบครัว”

อยู่กับวิถีชีวิตของครอบครัว ชุมชน

….

หากสนใจรายละเอียด และต้องการแลกเปลี่ยน

ไปพบ บำรุง บุญปัญญา ที่สวนป่าวันที่ 28 ก.พ. …ซิครับ…


ความรักของ กี

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 กุมภาพันธ 2009 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1090

ครอบครัวเรายากจน ลูกกี เป็นพี่คนโตต้องเสียสละนะลูก ต้องช่วยงานพ่อแม่และดูแลน้องๆ

บ้านนี้ขายของเล็กๆน้อยๆ ในตลาด ทั้งครอบครัวต่างทำมาหากิน ช่วยกันทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินตราเข้ามาเพื่อใช้จ่ายจิปาถะ

มันก็เป็นชีวิตปกติที่เราเห็นทั่วๆไปในทุกแห่งก็มีสภาพเช่นนี้แฝงเร้นอยู่ในซอกของสังคมที่กำลังเติบโตเปลี่ยนแปลง

กี เป็นลูกคนโตของครอบครัวที่อพยพเข้ามาจึงมีสภาพที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย แต่เพื่อความอยู่รอดพ่อบ้านจึงพยาบามหาเงินทุกอย่างเพื่อสะสมให้ลูกมีการศึกษา เพราะเป็นหนทางเดียวที่ครอบครัวเราจะลืมตาอ้าปากได้ ตอนอพยพมานั้นเราไม่มีอะไรติดตัวมา มีแต่ชีวิตและจิตวิญญาณ..แห่งความอดทน ต่อสู้ ขยัน….

กีต้องทำงานหนักช่วยพ่อแม่ดังกล่าวแต่ก็เป็นเด็กขยัน เรียนเก่ง หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส แม้ครอบครัวเขาจะไม่สดใสก็ตาม

เมื่อจบป.4 พ่อก็บอกว่า

กี น้องเรามีหลายคนหากจะให้น้องเรียนทุกคนเจ้าต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน เพราะไม่เช่นนั้นน้องๆก็ไม่มีสิทธิเรียนเพราะเราไม่มีเงินมากพอที่จะส่งทุกคนได้ ลูกกีต้องเสียสละนะลูก ออกมาช่วยพ่อทำงานส่งน้องเถอะ…

กีแอบไปร้องให้ ด้วยเสียใจที่เขาอยากเรียน แต่ก็รักพ่อแม่ รักน้องๆ กีไม่มีทางออกอื่นใด เพียงหวังว่าสักวันหนึ่งจะกลับมาเรียนหนังสืออีกให้ได้….

กำลังสำคัญครอบครัวนี้กลับมาอยู่ทื่ กี.. นับวันพ่อแม่ก็ร่วงโรยลง น้องๆ เติบโตขึ้นและรักใครกันดี เรียนหนังสือดีทุกคน แม้กีจะน้อยใจแต่ก็ภูมิใจที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวคู่เคียงพ่อแม่ส่งเสียน้องๆให้เรียนหนังสือตามประสงค์…

……

ต่างเติบใหญ่…. พ่อแม่ได้ดับสิ้นลงตามวัยสังขาร กีกลายเป็นผู้ดูแลครอบครัวทั้งหมด แบกรับภาระทั้งหมดแทนพ่อแม่ แต่ก็สมหวังที่น้องๆทำชีวิตได้ดี ทุกคนจปริญญาตรี และกำลังต่อปริญญาโท เอก

กี อยากมีลูกเมีย แต่ก็จะทำให้ครอบครัวมีภาระมากไป เมื่อก้มหน้าก้มตาทำงานไปจนลืมวันลืมเดือน ตื่นมาอีกทีชีวิตก็มากเกินที่สาวใดจะมองแล้ว

น้องชายคนถัดไปจบดอกเตอร์ทางวิศวกรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตพอสมควร ….

……ครั้งหลังสุดที่ผมพบ ดร.ท่านนี้ ท่านเอาพี่ชายมาเป็นคนขับรถ และเรียน กศน.จนจบ

ผมมีโอกาสสอบถามว่าทำไมเอาพี่ชายมาเป็นคนขับรถ

ท่าน ดร.ตอบว่า พี่ทำงานมาหนักแล้ว การมาขับรถประจำตำแหน่งของผมนั้นเป็นโอกาสที่ผมจะทดแทนบุญคุณของพี่ เพราะแค่ขับไปมานิดหน่อยเท่านั้น มีเงินเดือนประจำและพี่มีเวลาเรียน กศน.จนจบ และกำลังเรียนปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่ง แม้อายุมากแล้วแต่พี่เขาก็อยากทำตามที่พี่เขาฝัน….

ผมเห็นน้ำตา..รินออกมา

ท่าน ดร.ท่านพยายามมอบความรักคืนให้พี่ตามที่พี่ตั้งใจจะทำ

ตอนนี้ผมกลับมารับผิดชอบชีวิตพี่ ตอบแทนที่พี่เคยดูแลผมมา…

…………………………

มันเป็นอีกความรักหนึ่งในวันวาเลนไทน์…..


มองไทยผ่านภูฐาน..

416 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 กุมภาพันธ 2009 เวลา 18:39 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5233

ผมมีความรู้สึกว่ายังปลื้มกับ มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก หรือเจ้าชายจิกมี ที่คนไทยคุ้นเคย พระองค์ทรงวางตัวเรียบง่าย เป็นกันเอง แต่ทรงพระเกียรติ ยิ่งเห็นเจ้าชายใส่เสื้อเหลือง เรารู้สึกใกล้ชิดพระองค์มากเท่ามากจริงๆ

พระองค์เพิ่งขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดาเมื่อเร็วๆนี้เอง หลายท่านอาจจะไม่เคยเห็นภาพที่พระองค์ทรงสูทสากล ลองชื่นชมซิครับ เหมือนดาราเกาหลีที่สาวไทยกรี๊ดอยู่ทุกวันนี้ครับ

ช่วงนี้มีชาวภูฐานมาฝึกอบรมเรื่อง SML ที่ RDI ที่คนข้างกายผม organized อยู่ เธอก็มีเรื่องเล่าให้ฟังทุกวัน ผมจึงอยากจะถ่ายทอดมาเท่าที่จะจำได้ครับ

ชาวภูฐานพูดได้มากกว่า 4 ภาษาโดยพื้นฐาน คือ ภาษาภูฐาน (ซองคา) อังกฤษ อินเดีย จีน ทั้งนี้เพราะว่าต้องใช้ติดต่อสื่อสารกับประเทศข้างเคียงมากนั่นเอง

ชาวภูฐานเคร่งศาสนาพุทธ ไม่ฆ่าสัตว์ แต่กินเนื้อสัตว์ และนมจึง Import เนื้อสัตว์และนมมาจากอินเดีย เขาดื่มนมเกือบแทนน้ำ

อาหารไทยหวาน:

คนข้างกายเล่าให้ฟังว่าเรื่องที่หนักใจมากในการบริหารพี่น้องภูฐานคือ เวลาพาไปทานอาหารตามร้านเขาจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า No sugar please นั่นคืออาหารไทยที่เรากินอยู่ทุกมื้อนั้น “หวาน” ในการรับรสของเขา แต่เราเฉยๆเพราะเราชินเสียแล้ว

ทั้งประเทศตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย

เออ..ประเด็นนี้ก็ทำให้เราย้อนพิจารณาพัฒนาการทำอาหารของเราแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนั้น ก็น่าที่จะเป็นจริง แต่ก่อนอาหารเราไม่ได้ใส่น้ำตาลเลย ยกเว้นเฉพาะอย่างเท่านั้น เดี๋ยวนี้ต้องเหยาะน้ำตาลไม่มากก็น้อย และน้ำตาลสมัยก่อนก็เป็น “น้ำตาลปึก” ที่มาจากต้นตาล หรือ “น้ำตาลงบ” ที่ทำมาจากต้นอ้อยที่มีกระบวนการแบบง่ายๆที่ไม่มีสารเคมีเจือปนแม้แต่น้อย… แล้วสุขภาพคนไทยปัจจุบันที่เจ็บป่วยมากมายเป็นภาระทางการแพทย์ทุกวันนี้ ที่มีโครงการมากมายที่จะแก้ปัญหาแต่ต้นเหตุ เรียนคุณหมอทุกท่านอาหารที่ใส่น้ำตาลของบ้านเรา ที่ชาวภูฐานว่าหวานนั้นน่าจะมีส่วนอยู่นะครับ…

สนามบินที่มีแห่งเดียวในภูฐาน

Thai Freedom:

ชาวภูฐานจะต้องใส่ชุดประจำชาติเท่านั้นในการไปโรงเรียนหรือทำราชการ มิเช่นนั้นผิดกฎหมาย ต้องระวางโทษ นักศึกษามหาวิทยาลัยไม่ว่าระดับไหนๆก็ต้องใส่ชุดประจำชาติ และไม่มีการดัดแปลงให้คับให้หลวม เติมนั่นใส่นี่เข้าไปอีก ไม่ได้ ชุดประจำชาติก็ต้องเป็นชุดประจำชาติแบบเดียวเท่านั้น ชาวภูฐานไม่เข้าใจว่าทำไมนักศึกษาไทยจึงใส่ Uniform และมีรัดรูปเห็นทรวดทรงองค์เอวทุกขนาด กระโปรงดีดีก็ผ่าขึ้นไปจะถึงก้นอยู่แล้ว เขาไม่เข้าใจว่าทำได้อย่างไร….โดยไม่ผิดระเบียบกฎหมายไทย

เมื่อได้รับคำอธิบายว่า เรามีระเบียบเหมือนกัน แต่ยืดหยุ่นมากๆ เพราะนักศึกษาต่างกล่าวว่าความเจริญทางสติปัญญาไม่ได้อยู่ที่การแต่งตัว… เขาก็ไม่เข้าใจว่า Freedom แบบไหนกันถึงปล่อยมากมายอย่างนี้ แล้วชุดประจำชาติไทยไม่มีหรือเป็นอย่างไร….?

ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่..ที่ผมคิดมานานเหมือนกันว่า ความมีอิสระที่กล่าวอ้างกันนั้น บางทีมันก็เกินความพอดี เกินความงอกงาม เพราะแรกๆน่าจะดูดีตามหลักการแต่มันกลายเป็นการพัฒนาไปสู่สิ่งอันไม่พึงประสงค์เสียมากกว่า นี่หรืออิสระภาพ ไม่ใช่เรื่องการแต่งกายเท่านั้น อื่นๆก็เช่นกันมากมาย ต่างก็อ้าง เสรีภาพ อ้างประชาธิปไตย อ้างเสียงข้างมาก อ้างประชาชนเลือก สิทธิ ส่วนบุคคล (อ้าว..เดี๋ยวยาว อิอิ)

หากเป็นท่านจะตอบว่าอย่างไรครับ..

ทั้งประเทศอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย เมืองตั้งอยู่ในหุบเขามีพื้นที่เพียง 47000 ตร.กม. แต่ละปีจะจำกัดนักท่องเที่ยวเพียง 1.3 หมื่นคนเท่านั้น และต้องผ่านทัวร์ของประเทศ แต่ละวันต้องจ่ายค่าอยู่ในประเทศวันละ 200 เหรียญ

ยังมีประเด็นที่เราอาจจะทึ่งก็ได้ว่า เออ เราไปถึงไหนกันแล้วนี่ ประเทศไทย…

ชาวภูฐานที่มาฝึกอบรมนี้เป็นพ่อค้าทั้งระดับ เล็ก กลาง ใหญ่ และเมื่อมีโอกาสก็ shopping กันแหลก เหมือนพี่ไทยไปต่างประเทศเหมือนกัน.. มีเรื่องที่น่าประทับใจเหมือนกันที่ว่า เมื่อร้านค้าทราบว่าผู้ซื้อมาจากภูฐาน ต่างก็ลดราคาให้ 5-10 % เขาถามว่าทำไม…

เจ้าของร้านตอบว่า

คนไทยรู้จักเจ้าชายจิกมี และประทับใจเจ้าชายมาก มาก …!!!


ย้อนอดีตที่วัดท่า.. กับ หมาน้้อย 4 ตัว….

35 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 กุมภาพันธ 2009 เวลา 16:11 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2695

ช่วงกลับบ้านอ่างทองมีเวลามากพอผมเลยตระเวนดูวัดต่างๆมาเรื่อยตั้งแต่อยุธยามาจนถึงอ่างทอง ได้แต่ผ่านไปมาไม่เคยแวะซักที คราวนี้ไม่พลาด..

วัดท่าสุทธาวาสนั้นอยู่ที่ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เส้นทาง อยุธยา-ป่าโมก-อ่างทอง สายใน โด่งดังมานานเพราะสมเด็จพระเทพฯทรงเสด็จมาที่นี่หลายครั้ง เหตุผลเพราะที่นี่มีประวัติศาสตร์ ยาวนานตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ โน่น


เดิมชื่อว่าวัดท่าสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามปากแม่น้ำน้อยที่ไหลผ่านตัวเมืองวิเศษชัยชาญ มาบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตรงนี้ ในฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตื้นเขินมาก เดินข้ามได้ นี่เป็นยุทธศาสตร์ทางการทำสงครามตั้งแต่สมัยโบราณ

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกในพระราชนิพนธ์พระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า…ในการพระราชสงครามกับพม่าแต่ละครั้ง พระองค์จะเสด็จไปทรงกระทำพระราชพิธีชิงชัยภูมิการตัดไม้ข่มนาม และนมัสการพระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าโมกก่อนทุกครั้ง…

1 คืออาคารทรงงานของสมเด็จพระเทพฯ 2 คือโบสถ์และตำหนักประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระเอกาทศรถ 3 คือบริเวณวัดท่าและอาคารทำงานของช่างปั้นตุ๊กตาชาววัง

จากนั้นจึงเสด็จไปปราบข้าศึกต่อไป การเสด็จยกทัพไปวักป่าโมกก็จะต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดท่าสุทธาวาสแห่งนี้

ในคราวที่เสด็จไปทำศึกใหญ่ยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชที่เมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ยกกองทัพมาข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่นี่ แล้วใช้กองเรือบรรทุกปืนใหญ่และสรรพศาสตราจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาถึงวัดท่าสุทธาวาสแห่งนี้และเลยขึ้นไปทางแม่น้ำน้อยจนถึงเมืองวิเศษชัยชาญ และเดินบกต่อไปยังเมืองสุพรรณบุรี…. สันนิษฐานกันว่าบริเวณวัดท่าสุทธาวาสนี้น่าที่จะเป็นสถานที่พักทัพเพื่อยกพบข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ตำบลนี้จึงเรียกว่า ตำบลบางเสด็จ

มีหลักฐานทางโบราณคดีหลายประการที่สนับสนุนคือ มีร่องรอยโรงเลี้ยงช้าง มีการขุดพบกระดูกช้าง พบพระพุทธรูปโบราณ วัตถุเครื่องใช้ต่างๆมากมาย…..


ผมได้ไปกราบพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถบนอาคารสูงสุดหลังหนึ่ง

ด้านซ้ายมือของบริเวณเป็นตำหนักทรงงานของสมเด็จพระเทพฯที่เคยเสด็จมาใช้

ด้านหน้าก่อนเข้ามาในบริเวณนี้จะมีพุ่มไม้ข่อยที่ตัดแต่งเป็นรูปช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่องค์สมเด็จพระเทพฯทรงโปรดอยู่

หากเดินเข้ามาตรงๆในบริเวณก็จะพบโบสถ์ทรงโบราณที่สวยงามมากๆ ภายในจะมีภาพวาดสีสวยงามที่ฝาผนังโบสถ์ทุกด้าน อธิบายถึงสังคมไทยภาคกลางโบราณและพระราชกรณียกิจของในหลวงองค์ปัจจุบัน ที่บานหน้าต่างด้านในจะมีลายลงรักปิดทองเล่าถึงพระชาติต่างๆของพระพุทธเจ้าตามลัทธิความเชื่อของคนไทยโบราณ

เนื่องจากพื้นที่วัดท่าสุทธาวาสแห่งนี้อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาจึงห่างออกมาจากถนนสายหลัก จึงมีความเงียบสงบพอสมควร ติดกับบริเวณนี้ด้านที่ติดริมแม่น้ำจะเป็นบริเวณวัดเก่า มีโรงเรียนอยู่ และเป็นที่ตั้งอาคารของกลุ่มแม่บ้านที่ปั้นตุ๊กตาชาววังที่ขึ้นชื่อของอ่างทอง

อาคารศาลาการเปรียญเก่าที่ทรุดโทรมมาก รอการบูรณะปฏิสังขร

ก่อนกลับผมเดินขึ้นไปพินิจพิจารณาตำหนักที่ประทับของพระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระเอกาทศรถนั้น มีลูกหมาสี่ตัวเห่ากันเกรียวไปเลย ผมก็เลยเรียกเขามาใกล้ๆ ลูบหัวทุกตัวด้วยความเมตตา ลูกหมาที่ไหนๆก็น่ารัก ผมลงนังเล่นสักพัก เจ้าทั้งสี่ตัวก็มานอนใกล้ๆ แบ่งที่นอนกันตัวละขั้นบันไดอย่างเรียบร้อย ยุติธรรม ไม่แย่งกัน


ผมมาเที่ยวชมวัดท่าสุทธาวาสวันนี้ด้วยสำนึกในบรรพบุรุษที่ปกป้องบ้านเมืองมาด้วยชีวิต ผ่านความยากลำบากมาด้วยหยาดเหงื่อและการเสียสละเป็นที่สุด ประชาชนต่างร่มเย็นเป็นสุขได้เพราะเรามีบรรพบุรุษที่สามัคคี ร่วมมือกันปกป้องบ้านเมือง

ความรู้สึก ความสำนึกแบบนี้มันหายไปไหนต่อคนไทยกลุ่มหนึ่ง หรือเขามี แต่มีสำนึกอะไร แบบไหน …บ่จั๊กแหล่ว..

แต่ที่แน่ๆเจ้าลูกหมาสี่ตัวนี่มันไม่ทะเลากัน…

อ้าวมันเกี่ยวกันตรงไหนนี่ อิอิ


ตลาดอยู่ไหน….

248 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 กุมภาพันธ 2009 เวลา 20:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6321

เนื่องมาจากบันทึกนี้ ปักธงกันใหม่ดีมั้ย? เสนอความเห็นกันหลากหลาย แล้วก็มาถึงที่เบิร์ดตั้งประเด็นว่า ….. เบิร์ดมีคำถามคาใจมานานว่าทำไมคนเชียงรายถึงผลิตให้คนเชียงรายกินไม่ได้?… ที่เกิดคำถามนี้เพราะตลาดค้าส่งผัก ผลไม้ของชร.มีการนำเข้าผัก ผลไม้มาจากหลายแห่งทั้งเชียงใหม่ พิษณุโลก สุโขทัย ฯลฯ เพราะพ่อค้าแม่ค้าบอกว่าเชียงรายไม่มี?!?! ในขณะที่เบิร์ืดออกไปอำเภอนอกๆ ก็พบเกษตรกรบอกว่าผลิตแล้วไม่มีตลาดขาย?!?! ..

ยกตัวอย่างที่น่าสงสัยประสิทธิภาพของการจัดการในระบบเช่นที่ป่าแดด ..อำเภอเล็กๆมีประชาชนประมาณ 3 หมื่นกว่า พื้นที่เป็นเกษตรกรรมกว่า 80 %.. ดูอย่างนี้คนเชียงรายน่าจะได้กินผักสดมากมายโดยไม่ต้องนำเข้าจากแหล่งอื่น นะคะ แต่เมื่อถามแม่ค้าในตลาดอำเภอป่าแดดว่าเอาผักมาจากไหน เค้าตอบว่าตลาดนำสวัสดิ์ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งในอำเภอเมือง ทั้งๆที่ป่าแดดไกลจากอ.เมืองประมาณ 60-70 กม.???? และลงไปคุยกับเกษตรกรบางรายที่ผ่านพบเจอ และตามรอยการผลิตไป ถามว่าผักส่งที่ไหน เค้าตอบว่าไม่มีที่ขาย???? ี่จะเลิกทำเพราะทำแล้วขายไม่ได้ ..

เกิดอะไรขึ้นกับระบบการผลิต-จำหน่าย - บริโภคของเรา?

————

ผมเองก็มึนตึบกับประเด็นนี้มานานแล้วเพราะไม่ใช่ผู้รู้ในเรื่องนี้ แต่ก็มีประสบการณ์ที่อยากจะเอามาเผื่อแผ่ อาจเกิดมุมมองที่สามารถต่อยอดได้ ดูเหมือนผมเคยบันทึกไว้ที่ใดที่หนึ่งมาก่อนแล้ว แต่ค้นหาไม่พบ เลยบันทึกเรี่องนี้อีกครั้งหนึ่งก็แล้วกัน เป็นเรื่องที่พอจะตอบประเด็นของเบิร์ดได้บ้างนะครับ..

ประมาณปี 2523-2524 ผมทำงานที่โครงการ NET บริเวณชายแดนไทยกัมพูชา ที่อำเภอ สังขะ กาบเชิง บัวเชด สำนักงานตั้งที่ อ.ปราสาท และที่ อ.เมือง เป็นโครงการที่ CUSO สนับสนุนให้ NGO ไทยมากกว่า 5 หน่วยงานมาร่วมมือกันทำงานนี้ หน่วยงานราชการก็มีกรมการพัฒนาชุมชน และวิทยาลัยครูสุรินทร์(สมัยนั้น) ผมได้เรียนภาษาเขมรก็ที่นี่แหละครับ..(ลืมเม็ดแหล่ว)…

งานที่เราทำนั้นก็หลากหลาย งานสำคัญหนึ่งคือการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักเพื่อขาย เนื่องจากเราไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย ที่ปรึกษาโครงการคือ ดร.สุธีรา ทอมสัน(วิจิตรานนท์) มีความเห็นว่าต้องเชิญผู้รู้มาให้คำแนะนำ เพื่อเราจะได้ส่งเสริมชาวบ้านทำการผลิตผักแล้วส่งขายในเมืองสุรินทร์…

สถานการณ์ก็ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่น้องเบิร์ดเล่า คือไม่รู้ผักในตลาดตัวเมืองสุรินทร์มาจากไหน เวลาชาวบ้านปลูกไม่เห็นมีใครมาซื้อเลย.. ชาวบ้านบางคนก็เอาไปขายเองก็พอได้บ้างแต่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน งานส่งเสริมการปลูกพืชผักก็ถึงทางตัน….ปลูกได้ พัฒนาให้เป็นผักอินทรีย์ ไม่ยาก ทำปริมาณและคุณภาพก็ไม่ยาก เพราะเรามีเจ้าหน้าที่มากถึง 40 กว่าคนกระจายกันอยู่ตามหมู่บ้านชายแดน…

ตกลงดร.สุธีราไปเชิญการตลาดระดับสูงของ CP มาเที่ยวสุรินทร์ แล้วตั้งใจจะพาไปดูตลาดในเมืองและเข้าไปในพื้นที่โครงการเพื่อศึกษาสภาพข้อเท็จจริง เมื่อทุกท่านลงรถไฟที่สถานีสุรินทร์เวลาประมาณ ตี 4 ก็เข้าที่พัก ดร.สุธีราตื่นเช้าก็ลงมาทานกาแฟและรอแขกตื่นนอนเพื่อดำเนินการตามกำหนดการ แต่พอสายนิดเดียวพบว่า เจ้าหน้าที่ CP ตื่นนานแล้วและออกไปตลาดตั้งแต่เช้าไปเก็บข้อมูลมาหมดตลาดแล้ว

เจ้าหน้าที่ CP กล่าวว่า ผมมีคำตอบแล้ว..อยากเชิญทุกท่านไปห้องประชุมจะอธิบายให้ฟัง เมื่อทุกคนทุกอย่างพร้อม ก็รับฟังคำอธิบายว่า

  • ผักที่ตลาดสุรินทร์ 80 – 90 % มาจากโคราช

  • ผักที่โคราชมาจากสุรินทร์และที่อื่นๆ….??????

  • โดยมีพ่อค้าผูกขาดระบบนี้อยู่หลายเจ้า…

  • พ่อค้าจำนวนหนึ่งวิ่งรถมารับผักจากชาวบ้านทั้งเจ้าประจำและทั่วไปแล้วไปส่งที่โคราช แล้วมีพ่อค้าอีกกลุ่มหนึ่ง วิ่งรถเอาผักในตลาดซื้อขายส่งที่โคราชกลับไปขายในตลาดที่สุรินทร์ พ่อค้าเหล่านี้จะ Update ราคาสินค้าตลอดเวลากับตลาดโคราช ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดปากคลองตลาด…..

  • นี่คือระบบตลาดผัก ต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้

  • ดังนั้นหากต้องการส่งเสริมชาวบ้านปลูกผักแล้วส่งตรงเข้าตลาดสุรินทร์ ต้องทำดังต่อไปนี้

  • สร้างพ่อค้าผักหน้าใหม่ขึ้นมาวิ่งรับผักโคราชเข้าสุรินทร์ จนมีเครดิตดีพอ ก็ค่อยๆลดปริมาณการซื้อผักที่โคราชลงมาแล้วเอาผักชาวบ้านในโครงการเติมเข้าไปแล้วส่งตลาดสุรินทร์

  • เมื่อใช้เวลานานเข้าเครดิตสูงก็ไม่ต้องวิ่งไปโคราชแล้วจัดการบริหารจัดการปริมาณผัก ชนิดผักตามฤดูกาลต่างๆขึ้นแล้วประสานงานกับโครงการทำการปลุกพืชผักตามความต้องการตลาดเช่นนั้น

  • แล้วก็กลายเป็นการส่งตรงจากแปลงผู้ผลิต พ่อค้า ตลาดสดเมืองสุรินทร์ โดยไม่ต้องวิ่งไปโคราชอีกต่อไป…..

  • นี่คือผลการศึกษาและข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่ CP ที่เราได้รับฟังการบรรยายสรุป

โฮ…NGO อย่างเราหรือจะไปเข้าใจสิ่งเหล่านี้ มึนตึบเลย เมื่อได้รับฟังเช่นนั้นแล้วก็บ่นกันเองว่า …คิดได้อย่างไรนี่…

ประเด็นต่อมาคือ เราจะสร้างคนให้เป็นพ่อค้าคนนั้นได้อย่างไร…?? ยิ่งมึนเข้าไปใหญ่เลย หันซ้ายหันขวาหน้าตาเจ้าหน้าที่มี เล่าเต้ง ทั้งนั้น ไม่กระดิกในเรื่องการค้าการขาย เวลาพูดในที่ประชุม นอกห้องประชุมเป็นต่อยหอย ทั้งหอยเล็กหอยใหญ่ แต่การค้าการขาย เงียบสนิท อิอิ..

จนมาถึงโครงการปัจจุบันนี้ ที่เราทำตลาดชุมชน (Community market) โดยการศึกษาศักยภาพการผลิตชุมชน ระบบตลาดในหมู่บ้านปัจจุบัน การเชื่อมโยงระบบตลาด ปริมาณความต้องการสินค้า ฯลฯ เมื่อพบว่ามีลู่ทางทำตลาดชุมชนได้ ก็สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกันทำ ก็เป็นทางออกอีกแบบหนึ่ง แต่ตลาดเช่นนี้ไม่เน้นการขายในปริมาณมากๆ เน้นการผลิตเพี่อบริโภคภายในชุมชนและเหลือบ้างก็เอามาวางขายในตลาดกลางบ้าน… ที่บ้านกกตูม ในดงหลวง มีเงินหมุนเวียนบางเดือนเป็นแสนทีเดียวครับ แต่ไม่ใช่ผักอย่างเดียว ทุกอย่างที่ผลิตได้ในชุมชนก็เอามาขายกัน

ปัจจุบันก็ยังมีความเชื่อลึกๆว่า น่าที่จะมีใครทำแบบข้อเสนอของ CP ได้

เพียงแต่เราไม่ได้ลงมือทำมันเท่านั้นเอง…


Soc-Ant กับ Dialogue for Consciousness

230 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 กุมภาพันธ 2009 เวลา 17:10 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5234

สมัยที่ทำงานกับ USAID ที่ขอนแก่นประมาณปี 2524 สงครามในอินโดจีนยังร้อนแรง เพื่อนชาวอเมริกันที่สนิทสนมกันเล่าให้ฟังว่า รัฐบาลอเมริกันวิตกมากว่าทำอย่างไรก็ไม่สามารถเอาชนะสงครามเวียตนามได้ ในช่วงท้ายสงครามนั้น รัฐบาลอเมริกาเขาส่งนักมานุษยวิทยาเข้าไปในเวียตนามทำการศึกษา วิเคราะห์เจาะลึกว่า ทำไมคนเวียตนามจึงสามารถสู้กับทหารอเมริกันที่มีเทคโนโลยีการฆ่าคนล้ำยุค แต่ไม่สามารถเอาชนะสงครามในเวียตนามได้…!!

ทฤษฎีการส่งเสริมการเกษตร กับชุมชนนั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือ นอกจากจะมีนักเกษตรแล้วต้องมีนักสังคมวิทยารวมอยู่ในทีมด้วย….!!

การศึกษาวิจัยสนามถึงสาเหตุของโรคภัยต่างๆนั้น องค์ประกอบของทีมวิจัยจะต้องมีนักสังคมศาสตร์รวมอยู่ด้วย…!!

เมื่อคืนก่อนดูรายการรู้ทันประเทศไทยทาง ASTV ของ ดร.เจิมศักดิ์ กับคุณสันติสุข ประเด็นหนึ่งพูดกันถึงข่าวที่นักศึกษาตีกัน แล้ว อ.เจิมศักดิ์บอกว่า ต้องลงไปพูดคุยกับเด็กเหล่านั้นอย่างกันเอง และมีระบบของการพูดคุย ก็จะสามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

อ.เจิมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า อดีตนั้นในอเมริกามีกรณีที่คนผิวดำมักจะมีปัญหาตีรันฟันแทงกับคนผิวขาวเสมอ การแก้ไขแบบนักการเมืองไม่เคยได้ผล การแก้ไขโดยใช้กฎหมายของตำรวจก็ไม่ได้ผล แต่เมื่อเอานัก Anthropologist ลงไปทำการพูดคุยอย่างเป็นระบบ พบว่า คนผิวดำมากกว่าครึ่งหนึ่งเลิกพฤติกรรมแบบนั้น??

น่าตั้งคำถามว่าเพราะอะไรหรือ..?? อ.เจิมศักดิ์ อธิบายว่า เพราะนัก Anthropologist มีกระบวนการตั้งคำถาม และวิธีการพูดคุยที่ดี การพูดคุยแลกเปลี่ยนนั้นได้ไปกระตุ้นการลำดับเหตุผลต่างๆขึ้นมา การเชื่อมโยงผลและเหตุ จนสร้างความตระหนักแห่งสำนึกเกิดขึ้น และเมื่อเกิดสำนึก ความเป็นเหตุเป็นผลที่มีสำนึกนั้นจะช่วยยับยั้งพฤติกรรมก้าวร้าวลงไป และหันมากระทำในสิ่งที่ดีกว่า สร้างสรรค์กว่า นี่คือการเกิดสติ ….

ผมคิดว่านี่คือ Dialogue for consciousness หรือ Dialogue for awareness นั่นเอง

กระบวนการนี้…หมอจอมป่วน..หมอตา..ฯลฯ วิ่งไปข้างหน้าแล้ว…

(หมายเหตุ Soc-Ant หมายถึง Sociologist and Anthropologist)



Main: 0.083383083343506 sec
Sidebar: 0.079815864562988 sec