ตลาดอยู่ไหน….

248 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 กุมภาพันธ 2009 เวลา 20:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6244

เนื่องมาจากบันทึกนี้ ปักธงกันใหม่ดีมั้ย? เสนอความเห็นกันหลากหลาย แล้วก็มาถึงที่เบิร์ดตั้งประเด็นว่า ….. เบิร์ดมีคำถามคาใจมานานว่าทำไมคนเชียงรายถึงผลิตให้คนเชียงรายกินไม่ได้?… ที่เกิดคำถามนี้เพราะตลาดค้าส่งผัก ผลไม้ของชร.มีการนำเข้าผัก ผลไม้มาจากหลายแห่งทั้งเชียงใหม่ พิษณุโลก สุโขทัย ฯลฯ เพราะพ่อค้าแม่ค้าบอกว่าเชียงรายไม่มี?!?! ในขณะที่เบิร์ืดออกไปอำเภอนอกๆ ก็พบเกษตรกรบอกว่าผลิตแล้วไม่มีตลาดขาย?!?! ..

ยกตัวอย่างที่น่าสงสัยประสิทธิภาพของการจัดการในระบบเช่นที่ป่าแดด ..อำเภอเล็กๆมีประชาชนประมาณ 3 หมื่นกว่า พื้นที่เป็นเกษตรกรรมกว่า 80 %.. ดูอย่างนี้คนเชียงรายน่าจะได้กินผักสดมากมายโดยไม่ต้องนำเข้าจากแหล่งอื่น นะคะ แต่เมื่อถามแม่ค้าในตลาดอำเภอป่าแดดว่าเอาผักมาจากไหน เค้าตอบว่าตลาดนำสวัสดิ์ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งในอำเภอเมือง ทั้งๆที่ป่าแดดไกลจากอ.เมืองประมาณ 60-70 กม.???? และลงไปคุยกับเกษตรกรบางรายที่ผ่านพบเจอ และตามรอยการผลิตไป ถามว่าผักส่งที่ไหน เค้าตอบว่าไม่มีที่ขาย???? ี่จะเลิกทำเพราะทำแล้วขายไม่ได้ ..

เกิดอะไรขึ้นกับระบบการผลิต-จำหน่าย - บริโภคของเรา?

————

ผมเองก็มึนตึบกับประเด็นนี้มานานแล้วเพราะไม่ใช่ผู้รู้ในเรื่องนี้ แต่ก็มีประสบการณ์ที่อยากจะเอามาเผื่อแผ่ อาจเกิดมุมมองที่สามารถต่อยอดได้ ดูเหมือนผมเคยบันทึกไว้ที่ใดที่หนึ่งมาก่อนแล้ว แต่ค้นหาไม่พบ เลยบันทึกเรี่องนี้อีกครั้งหนึ่งก็แล้วกัน เป็นเรื่องที่พอจะตอบประเด็นของเบิร์ดได้บ้างนะครับ..

ประมาณปี 2523-2524 ผมทำงานที่โครงการ NET บริเวณชายแดนไทยกัมพูชา ที่อำเภอ สังขะ กาบเชิง บัวเชด สำนักงานตั้งที่ อ.ปราสาท และที่ อ.เมือง เป็นโครงการที่ CUSO สนับสนุนให้ NGO ไทยมากกว่า 5 หน่วยงานมาร่วมมือกันทำงานนี้ หน่วยงานราชการก็มีกรมการพัฒนาชุมชน และวิทยาลัยครูสุรินทร์(สมัยนั้น) ผมได้เรียนภาษาเขมรก็ที่นี่แหละครับ..(ลืมเม็ดแหล่ว)…

งานที่เราทำนั้นก็หลากหลาย งานสำคัญหนึ่งคือการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักเพื่อขาย เนื่องจากเราไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย ที่ปรึกษาโครงการคือ ดร.สุธีรา ทอมสัน(วิจิตรานนท์) มีความเห็นว่าต้องเชิญผู้รู้มาให้คำแนะนำ เพื่อเราจะได้ส่งเสริมชาวบ้านทำการผลิตผักแล้วส่งขายในเมืองสุรินทร์…

สถานการณ์ก็ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่น้องเบิร์ดเล่า คือไม่รู้ผักในตลาดตัวเมืองสุรินทร์มาจากไหน เวลาชาวบ้านปลูกไม่เห็นมีใครมาซื้อเลย.. ชาวบ้านบางคนก็เอาไปขายเองก็พอได้บ้างแต่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน งานส่งเสริมการปลูกพืชผักก็ถึงทางตัน….ปลูกได้ พัฒนาให้เป็นผักอินทรีย์ ไม่ยาก ทำปริมาณและคุณภาพก็ไม่ยาก เพราะเรามีเจ้าหน้าที่มากถึง 40 กว่าคนกระจายกันอยู่ตามหมู่บ้านชายแดน…

ตกลงดร.สุธีราไปเชิญการตลาดระดับสูงของ CP มาเที่ยวสุรินทร์ แล้วตั้งใจจะพาไปดูตลาดในเมืองและเข้าไปในพื้นที่โครงการเพื่อศึกษาสภาพข้อเท็จจริง เมื่อทุกท่านลงรถไฟที่สถานีสุรินทร์เวลาประมาณ ตี 4 ก็เข้าที่พัก ดร.สุธีราตื่นเช้าก็ลงมาทานกาแฟและรอแขกตื่นนอนเพื่อดำเนินการตามกำหนดการ แต่พอสายนิดเดียวพบว่า เจ้าหน้าที่ CP ตื่นนานแล้วและออกไปตลาดตั้งแต่เช้าไปเก็บข้อมูลมาหมดตลาดแล้ว

เจ้าหน้าที่ CP กล่าวว่า ผมมีคำตอบแล้ว..อยากเชิญทุกท่านไปห้องประชุมจะอธิบายให้ฟัง เมื่อทุกคนทุกอย่างพร้อม ก็รับฟังคำอธิบายว่า

  • ผักที่ตลาดสุรินทร์ 80 – 90 % มาจากโคราช

  • ผักที่โคราชมาจากสุรินทร์และที่อื่นๆ….??????

  • โดยมีพ่อค้าผูกขาดระบบนี้อยู่หลายเจ้า…

  • พ่อค้าจำนวนหนึ่งวิ่งรถมารับผักจากชาวบ้านทั้งเจ้าประจำและทั่วไปแล้วไปส่งที่โคราช แล้วมีพ่อค้าอีกกลุ่มหนึ่ง วิ่งรถเอาผักในตลาดซื้อขายส่งที่โคราชกลับไปขายในตลาดที่สุรินทร์ พ่อค้าเหล่านี้จะ Update ราคาสินค้าตลอดเวลากับตลาดโคราช ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดปากคลองตลาด…..

  • นี่คือระบบตลาดผัก ต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้

  • ดังนั้นหากต้องการส่งเสริมชาวบ้านปลูกผักแล้วส่งตรงเข้าตลาดสุรินทร์ ต้องทำดังต่อไปนี้

  • สร้างพ่อค้าผักหน้าใหม่ขึ้นมาวิ่งรับผักโคราชเข้าสุรินทร์ จนมีเครดิตดีพอ ก็ค่อยๆลดปริมาณการซื้อผักที่โคราชลงมาแล้วเอาผักชาวบ้านในโครงการเติมเข้าไปแล้วส่งตลาดสุรินทร์

  • เมื่อใช้เวลานานเข้าเครดิตสูงก็ไม่ต้องวิ่งไปโคราชแล้วจัดการบริหารจัดการปริมาณผัก ชนิดผักตามฤดูกาลต่างๆขึ้นแล้วประสานงานกับโครงการทำการปลุกพืชผักตามความต้องการตลาดเช่นนั้น

  • แล้วก็กลายเป็นการส่งตรงจากแปลงผู้ผลิต พ่อค้า ตลาดสดเมืองสุรินทร์ โดยไม่ต้องวิ่งไปโคราชอีกต่อไป…..

  • นี่คือผลการศึกษาและข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่ CP ที่เราได้รับฟังการบรรยายสรุป

โฮ…NGO อย่างเราหรือจะไปเข้าใจสิ่งเหล่านี้ มึนตึบเลย เมื่อได้รับฟังเช่นนั้นแล้วก็บ่นกันเองว่า …คิดได้อย่างไรนี่…

ประเด็นต่อมาคือ เราจะสร้างคนให้เป็นพ่อค้าคนนั้นได้อย่างไร…?? ยิ่งมึนเข้าไปใหญ่เลย หันซ้ายหันขวาหน้าตาเจ้าหน้าที่มี เล่าเต้ง ทั้งนั้น ไม่กระดิกในเรื่องการค้าการขาย เวลาพูดในที่ประชุม นอกห้องประชุมเป็นต่อยหอย ทั้งหอยเล็กหอยใหญ่ แต่การค้าการขาย เงียบสนิท อิอิ..

จนมาถึงโครงการปัจจุบันนี้ ที่เราทำตลาดชุมชน (Community market) โดยการศึกษาศักยภาพการผลิตชุมชน ระบบตลาดในหมู่บ้านปัจจุบัน การเชื่อมโยงระบบตลาด ปริมาณความต้องการสินค้า ฯลฯ เมื่อพบว่ามีลู่ทางทำตลาดชุมชนได้ ก็สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกันทำ ก็เป็นทางออกอีกแบบหนึ่ง แต่ตลาดเช่นนี้ไม่เน้นการขายในปริมาณมากๆ เน้นการผลิตเพี่อบริโภคภายในชุมชนและเหลือบ้างก็เอามาวางขายในตลาดกลางบ้าน… ที่บ้านกกตูม ในดงหลวง มีเงินหมุนเวียนบางเดือนเป็นแสนทีเดียวครับ แต่ไม่ใช่ผักอย่างเดียว ทุกอย่างที่ผลิตได้ในชุมชนก็เอามาขายกัน

ปัจจุบันก็ยังมีความเชื่อลึกๆว่า น่าที่จะมีใครทำแบบข้อเสนอของ CP ได้

เพียงแต่เราไม่ได้ลงมือทำมันเท่านั้นเอง…


Soc-Ant กับ Dialogue for Consciousness

230 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 กุมภาพันธ 2009 เวลา 17:10 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5140

สมัยที่ทำงานกับ USAID ที่ขอนแก่นประมาณปี 2524 สงครามในอินโดจีนยังร้อนแรง เพื่อนชาวอเมริกันที่สนิทสนมกันเล่าให้ฟังว่า รัฐบาลอเมริกันวิตกมากว่าทำอย่างไรก็ไม่สามารถเอาชนะสงครามเวียตนามได้ ในช่วงท้ายสงครามนั้น รัฐบาลอเมริกาเขาส่งนักมานุษยวิทยาเข้าไปในเวียตนามทำการศึกษา วิเคราะห์เจาะลึกว่า ทำไมคนเวียตนามจึงสามารถสู้กับทหารอเมริกันที่มีเทคโนโลยีการฆ่าคนล้ำยุค แต่ไม่สามารถเอาชนะสงครามในเวียตนามได้…!!

ทฤษฎีการส่งเสริมการเกษตร กับชุมชนนั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือ นอกจากจะมีนักเกษตรแล้วต้องมีนักสังคมวิทยารวมอยู่ในทีมด้วย….!!

การศึกษาวิจัยสนามถึงสาเหตุของโรคภัยต่างๆนั้น องค์ประกอบของทีมวิจัยจะต้องมีนักสังคมศาสตร์รวมอยู่ด้วย…!!

เมื่อคืนก่อนดูรายการรู้ทันประเทศไทยทาง ASTV ของ ดร.เจิมศักดิ์ กับคุณสันติสุข ประเด็นหนึ่งพูดกันถึงข่าวที่นักศึกษาตีกัน แล้ว อ.เจิมศักดิ์บอกว่า ต้องลงไปพูดคุยกับเด็กเหล่านั้นอย่างกันเอง และมีระบบของการพูดคุย ก็จะสามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

อ.เจิมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า อดีตนั้นในอเมริกามีกรณีที่คนผิวดำมักจะมีปัญหาตีรันฟันแทงกับคนผิวขาวเสมอ การแก้ไขแบบนักการเมืองไม่เคยได้ผล การแก้ไขโดยใช้กฎหมายของตำรวจก็ไม่ได้ผล แต่เมื่อเอานัก Anthropologist ลงไปทำการพูดคุยอย่างเป็นระบบ พบว่า คนผิวดำมากกว่าครึ่งหนึ่งเลิกพฤติกรรมแบบนั้น??

น่าตั้งคำถามว่าเพราะอะไรหรือ..?? อ.เจิมศักดิ์ อธิบายว่า เพราะนัก Anthropologist มีกระบวนการตั้งคำถาม และวิธีการพูดคุยที่ดี การพูดคุยแลกเปลี่ยนนั้นได้ไปกระตุ้นการลำดับเหตุผลต่างๆขึ้นมา การเชื่อมโยงผลและเหตุ จนสร้างความตระหนักแห่งสำนึกเกิดขึ้น และเมื่อเกิดสำนึก ความเป็นเหตุเป็นผลที่มีสำนึกนั้นจะช่วยยับยั้งพฤติกรรมก้าวร้าวลงไป และหันมากระทำในสิ่งที่ดีกว่า สร้างสรรค์กว่า นี่คือการเกิดสติ ….

ผมคิดว่านี่คือ Dialogue for consciousness หรือ Dialogue for awareness นั่นเอง

กระบวนการนี้…หมอจอมป่วน..หมอตา..ฯลฯ วิ่งไปข้างหน้าแล้ว…

(หมายเหตุ Soc-Ant หมายถึง Sociologist and Anthropologist)



Main: 0.55334186553955 sec
Sidebar: 0.30180406570435 sec