เนื่องจากผมไม่ใช่ผู้รู้เรื่องยาง แต่เท่าที่เห็นและสอบถามข้อมูลมาจากเมืองเชียงรุ่ง ก็เป็นเรื่องที่ชาวสวนยางในประเทศไทยควรใส่ใจว่าตลาดโลกของยางจะเป็นเช่นไร เพราะที่เห็นกับตานั้นภูเขาในเมืองนี้เต็มไปด้วยยางพารา และอยู่ระหว่างการดำเนินการปลูกยางอีกมากมาย
(รูปที่ถ่ายจากที่นั่งในรถก็จะออกมาเช่นที่เห็นนี้แหละครับ)
ดูเหมือนว่าจีนได้สร้างนโยบายระดับประเทศให้ชาวบ้านปลูกยาง และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆเมื่อสอบถามมัคคุเทศก์ คำอธิบายคือ รัฐบาลเป็นเจ้าของพื้นที่ภูเขา ชาวบ้านคนไหนต้องการปลูกยางไปเช่าที่ดินจากรัฐเป็นเวลา 40 ปี รายละเอียดมากมายผมไม่ได้ถาม ว่าทำไมปลูกเฉพาะยาง หากชาวบ้านสนใจจะปลูกอย่างอื่นได้ไหม เช่าได้คนละกี่ไร่ กี่เอเคอร์ เสียค่าเช่าเท่าไหร่…ฯ
สิ่งที่ประทับใจคือ เขาทำขั้นบันไดทั้งหมดในระยะมาตรฐานของเขา ภูเขานับไม่ถ้วนและพื้นที่มหาศาล ใหญ่โต สูงชัน ต้องทำขั้นบันไดหมด ผมถามมัคคุเทศก์ว่า ใช้เครื่องจักรทำหรือใช้แรงงานคนทำ คำอธิบายคือ ใช้แรงงานคนทั้งหมด และจะเป็นชนเผ่าอะข่าเป็นผู้ทำ และที่ไม่น่าเชื่อหูที่ได้ยินคือ เป็นแรงงานสตรีทั้งนั้น มัคคุเทศก์อธิบายต่อว่า อะข่าจะใช้แรงงานสตรี ผู้ชายจะเลี้ยงลูกอยู่บ้าน
หากจะสังเกตดีดีใต้สวนยางนั่นจะมีต้นไม้ทรงพุ่มปลูกอยู่เต็มไปหมด สอบถามได้ความว่านั่นคือ ต้นชา “โผเอ้อ” (หากผมฟังเสียงผิดขออภัยด้วย) ซึ่งบอกว่าเป็นชาชั้นดีของเมืองจีน ซึ่งมีปลูกในเขตร้อนเพียงสองแห่งเท่านั้นคือ ที่เมืองเชียงรุ่ง และที่ไหหลำเท่านั้น เรียกว่าเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเต็มที่
มัคคุเทศก์อธิบายว่าเมืองเชียงรุ่ง เป็นเมืองของชนเผ่าไทลื้อ ถือว่าเป็นเมืองหลวงของชนเผ่าในภูมิภาคนี้ก็ได้ เพราะล้วนอพยพไปจากเมืองเชียงรุ่งนี้ทั้งนั้น และการเปลี่ยนแปลงของยุตสมัยที่ทำให้นโยบายรัฐบาลมณฑล กำหนดให้ปลูกยางบนพื้นที่ภูเขาเป็นพืชหลัก ยางจึงมีมูลค่า และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ค่านิยมนี้จึงส่งผลไปถึงการที่ผู้ชายไปขอสาว สาวจะถามว่ามีสวยยางเท่าไหร่..!!
หนุ่มๆลาน..ทั้งหลายสนใจก็รีบไปปลูกสวนยางซะ…อิอิ
ข้อคิด
- รัฐเป็นผู้จัดการการใช้พื้นที่บนภูเขาตามนโยบาย
- ชาวบ้านเป็นผู้เช่าพื้นที่ปลูกยางในเวลา 40 ปี
- ก่อนปลูกยางต้องทำขั้นบันไดทั้งนั้น ในประเทศไทยยังทำน้อยมาก
- มีการใช้พื้นที่ใต้ต้นยางเต็มพื้นที่ คือปลูกต้นชา