ร่องรอยบางทราย….๑

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 13, 2008 เวลา 15:21 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2971

ตอบท่านครูบาโดย

กระชากหน้ากากตัวเองหน่อย…

เช้ามืด….

· บ้านริมแม่น้ำน้อย วิเศษชัยชาญสมัยนั้นเป็นชนบทไปไหนมาไหนก็เดินด้วยเท้าเปล่า อย่างดีก็จักรยานหรือพายเรือ ชาวบ้านเกือบทั้งหมดคือชาวนา ชีวิตผันไปตามฤดูกาล ชนบทคือโรงเรียนที่กล่อมเกลาจิตใจให้คุ้นเคยกับทำนอง เพลงชีวิต เป็นครอบครัวใหญ่ ปู่มีย่าสองคน แต่ละย่ามีลูก 7 คน พ่อเป็นลูกย่าใหญ่และเป็นคนโตจึงต้องรับภาระเลี้ยงน้องสองแม่มาทั้งหมด กระนั้นพ่อยังกระเสือกกระสนเรียนจนจบ ม 3 และได้สิทธิเป็นครูเลย แม่เป็นชาวนาธรรมดาที่กำพร้าพ่อมาแต่เล็ก ซึ่งสัตย์และจิตใจเหมือนพุทธศาสนิกชนทั่วไป ชอบทำบุญ ไหว้พระ เข้าวัด ฟังเทศน์ เลี้ยงลูก 6 คนด้วยการทำนา พยายามให้ได้เรียนหนังสือทั้งหมด

· เนื่องจากปู่มีเชื้อจีน จึงรู้จักทำมาค้าขายแต่มาแต่งงานกับชาวนาจึงผันมาทำนา เป็นคนดุมากๆ น้องพ่อคนถัดมาจึงทนไม่ไหว เพียงขโมยปืนปู่ไปเล่นก็แจ้งตำรวจมาจับลูกเข้าคุกเลย อาคนนี้ออกจากคุกได้ก็ไม่กลับบ้านเข้าป่าเป็นเสือปล้นเขากินไปเลยแต่ก็มาถูกเสือด้วยกันฆ่าตาย พ่อมีนิสัยดุเหมือนปู่ เอะอะอะไรก็ไม้เรียวที่เหน็บข้างฝาตลอดสองอัน เกือบทุกวันที่บ้านจะต้องมีลูกคนใดคนหนึ่งถูกตี….

สาย….

· หน้าฤดูทำนาก่อนไปเรียนหนังสือทุกคนต้องตื่นแต่ตี 4 แบกไถบ้าง จูงควายบ้างออกไปทำนากับพ่อ เดินทางไกลเป็นกิโล กลัวผีก็กลัวเพราะต้องเดินผ่านวัด ผ่านป่าช้า ขณะเดินตาก็หลับ จึงล้มลุกคลุกคลาน ไปกับโคลนบ้าง ขี้ควายบ้าง ถึงนาก็ฟ้าสางพอดี เอาควายเทียมไถ ไถนาพอเหนื่อย สว่างเต็มที่แม่กับพี่สาวก็หาบกระจาดข้าวมาถึง จึงหยุดพักกินข้าว แล้วก็รีบกลับบ้านไปอาบน้ำไปโรงเรียน

· หน้าแล้งก็เอาควายไปเลี้ยงกับพี่ กับน้องและเพื่อนบ้าน เอาผ้าขาวม้าปูท้องนาบ้างใต้ต้นไม้ใหญ่บ้าง ดูท้องฟ้า เห็นเครื่องบินพ่นควันสีขาวออกมาทางก้น ใจก็ฝันอยากเป็นนักบิน เห็นนักเรียนนายสิบแต่งตัวด้วยเครื่องแบบหล่อ เท่ห์กลับบ้าน ใจก็อยากแต่งชุดแบบนั้นบ้าง

· โรงเรียนวัด พ่อเป็นครูใหญ่ จึงถูกตีเป็นตัวอย่างเสมอหากทำอะไรผิด

· โรคคางทูมระบาด เป็นกันทั้งโรงเรียน อีสุกอีใสระบาด เป็นกันทั้งตำบล โรคอหิวาระบาด เป็นกันทั้งอำเภอ เจ็บตายกันมาก มีตายทั้งกลม(คลอดลูกไม่ออกเสียชีวิต) กลัวผีที่สุด ปีปีหนึ่งมีชาวบ้านถูกงูกัดตายหลายคน สถานที่อนามัยที่ดีที่สุดคือไปหาหมอมิชชันนารี ที่มาเปิดโรงพยาบาลเล็กๆที่ตลาดวิเศษชัยชาญ รักษาได้ทุกโรค…ราคาถูก แถมแจกเอกสารศาสนาด้วยเป็นการ์ตูน

· สิ่งที่ชอบที่สุดคือ งานวัด หนังกลางแปลง งานบุญกลางบ้าน งานประเพณีต่างๆ ได้กินขนมแปลกๆ ได้กินน้ำแข็งใสใส่น้ำสีแดงสีเขียวและนมข้นโรย ข้าวโพดคั่ว ตังเม … ถ้าเป็นงานศพก็ได้กิน ข้าวตัง ก้นกระทะใบบัวใหญ่ที่เขาใช้หุงข้าวเลี้ยงคนทั้งวัดที่มาในงาน คืนไหนมีหนังกลางแปลงมาฉาย ไม่เคยดูหนังจบสักเรื่องหลับก่อน พ่อต้องแบกกลับบ้านทุกที แต่ตื่นเช้ามืดกับพี่ชายจะวิ่งกันมาที่บริเวณฉายหนัง เพื่อเดินหน้ากระดานหาสตางค์ที่อาจจะมีคนมาดูหนังทำหล่นตามพื้นเมื่อคืน ก็มักจะได้บ่อยๆ…

· ชอบวิ่งเกาะท้ายรถชลประทานที่มาขุดคูน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกระบบส่งน้ำ เป็นรถสีส้ม กับเพื่อนๆเคยวิ่งเกาะท้ายรถแล้วปีนขึ้นไปท้ายรถได้ ก็ไปกับรถเขาเรื่อยๆเพราะรถไม่หยุด เลยไม่ได้ไปโรงเรียน ข้าวปลาไม่ได้กิน กลับมาบ้านโดนพ่อตีตูดลายเลย

· วันนั้นมีงานศพคนเฒ่า เพื่อนชวนไปเล่นที่กองฟางข้างบ้านงานศพ ริสูบบุหรี่กับเพื่อน ติดไฟเสร็จไฟเกิดหล่นลงพื้นติดกองฟาง ดับเท่าไหร่ก็ไม่ได้ ต่างวิ่งหนีกันคนละทิศละทาง ชาวบ้านเขาเห็นเราคนเดียว ก็ตะโกนว่าลูกครูใหญ่จุดไฟเผากองฟาง คนที่อยู่ในงานต่างวิ่งกันมาช่วยดับไฟ เราวิ่งหนีไม่รู้ไปไหนก็ไปแอบนอนที่หน้าโบสถ์วัดข้างบ้าน พ่อตามมาเห็นลากไปตีต่อหน้าแขกที่มาในงานทุกคน อายสุดๆในชีวิต

· ขึ้นชั้นมัธยมก็ไปโรงเรียนประจำอำเภอ ต้องเดินวันละ 10 กิโลไป-กลับ ผ่านตลาดวิเศษชัยชาญ บ้านอาจารย์เจิมศักดิ์เป็นร้านขายหนังสือในตลาด พ่ออาจารย์กับพ่อเราเป็นเพื่อนกัน แต่เด็กตลาดเรียนเก่ง เด็กบ้านนอกอย่างเราเข็นแล้วเข็นอีก กำลังจำดีดี พ่อตะคอกหน่อยเดียวความรู้วิ่งหนีไปหมด กลัวจนลาน แอบร้องให้ น้อยใจที่เห็นพ่อลูกคนอื่นเขาเล่นกัน กอดกัน แต่บ้านเราไม่มีเลย

· กระแสการสร้างชีวิตคือการเรียนหนังสือและเข้ารับราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง เก้าสิบเปอร์เซ็นต์จะส่งลูกเรียนให้จบ ม 3 แล้ว ไปเรียนต่อครู ปกศ. ที่ อยุธยา ใครเก่งก็เข้าสวนสุนันทา บ้านสมเด็จ ที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นมีครูคนเดียวที่จบปริญญาตรีมาจากประสานมิตร

ยามสายแก่ๆ….

· โชคดีที่คุณตาเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่วิเศษชัยชาญมานอนค้างที่บ้าน เพราะเป็นบ้านหลังเดียวที่มีส้วมซึม (เพราะพ่อเป็นครูใหญ่) เห็นเราทำงานบ้าน ตักน้ำใส่ตุ่ม กวาดบ้านถูบ้าน ตัดไม้ รดน้ำต้นไม้ ก็ออกปากให้ไปเรียนต่อ มศ. 4-5 ที่ธนบุรีที่คุณตาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่นั่น บุญหล่นทับแล้วเรา ดีใจสุดจะควบคุมได้ เที่ยวเดินแหกปากบอกเพื่อนๆว่า กูจะเข้ากรุงเทพฯแล้ว ไปเรียนที่นั่น ไปอยู่กับคุณตา….

· คืนแรกที่ธนบุรี คลองสำเหร่ บ้านสวน ก็น้ำตาตก เมื่อมาอยู่สภาพเมืองที่เราไม่เคย อึดอัดไปหมด จะทำอะไรก็ย่องๆ ไม่กล้าคุยกับใคร อยู่บ้านนอกกินข้าวทีเป็นจานพูนเต็มๆ ตักเพิ่มเอาเต็มที่ ก็บ้านเราทำนา ข้าวปลาเหลือเฟือ คนเมืองกรุงเขากินข้าวนึ่งเป็นก๊อกเล็กๆ มันจะไปอิ่มอย่างไง จะกินหลายก๊อกก็ไม่ได้ อายเขา คนอื่นเขากินอย่างมากก็ก๊อกครึ่ง เราหรือ 3-4 ก็ไม่อิ่ม ก็เด็กกำลังโต กลางคืนท้องร้อง หิว นอนร้องให้ คิดถึงแม่ที่บ้านนอก คิดถึงน้อง คิดถึงพี่ แต่ก็ต้องทนเพราะมาเรียนหนังสือ…

· เช้าตื่นขึ้นมาคุณน้ามีลูกสาวสองคนเรียนชั้นประถมโรงเรียนเดียวกันก็ต้องจูงมือไปโรงเรียนด้วยกัน แหกปากร้องทุกวันเดินไปด้วยร้องไปด้วย เราก็ถือกระเป๋ามือหนึ่ง อีกมือก็จูงน้องไปด้วย

· บางคืนนั่งดูหนังสือเรียนทนไม่ไหว หิวข้าว ค้นกระเป๋ากางเกงมีเหรียญสิบบาทติดก้นกระเป๋า แอบออกจากบ้านลงใต้ถุนไปปากซอยซื้อราดหน้ากินห่อหนึ่งแล้วแอบเข้าบ้าน หมาเสือกเห่าเสียงดังลั่น เลยความแตกว่าเราหนีออกจากบ้านไปปากซอย พ่อรู้เรื่องจึงขึ้นมาจากวิเศษชัยชาญมาสั่งสอนเสียยกใหญ่……โอย..ไม่อยากอยู่แล้วเมืองหลวงเมืองหลอน อยากกลับบ้านนอกดีกว่า…อิอิ..

ใกล้เที่ยง….

· โชคดีอะไรที่สอบผ่าน ม.ศ. 5 แล้วติด มช. ทั้งๆที่ไปสอบครูพิเศษที่อยุธยาก็ได้ แต่สละสิทธิเพราะเลือกเอามหาวิทยาลัย ทราบข่าวว่าพ่อดีใจเป็นที่สุดที่ลูกคนแรกได้เรียนมหาวิทยาลัย เที่ยวเดินอวดคนโน้นคนนี้ว่าลูกสอบได้ แต่แม่เล่าว่า ตกกลางคืนพ่อก็นอนเอามือก่ายหน้าผาก แล้วบ่นกันว่า ..แล้วจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียนกันเนี่ย… พี่สาวก็เรียน ผมก็กำลังเข้ามหาวิทยาลัย น้องอีก 4 คนก็กำลังเรียนไล่ๆขึ้นมา ครูประชาบาลกับแม่บ้านที่เป็นชาวนาจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียน

· จำได้ว่าแม่ไปขอยืมเงินพระที่วัด พ่อต้องกู้เงินครู และทำนามากขึ้น ที่จำแม่นที่สุด ครั้งหนึ่งปิดเทอมกลับมาบ้าน ตอนถึงเวลาต้องกลับไปเรียน มช. ทางบ้านไม่มีเงินเลย แม้ค่ารถจะเดินทางไปเชียงใหม่ แม่บอกให้ผมลงไปใต้ถุนบ้านหาเก็บเศษขวดที่หลงเหลืออยู่รวบรวมไว้พรุ่งนี้เอาไปขาย ได้เท่าไหร่ก็เอา แล้วจะไปขอยืมเงินหลวงพ่อที่วัดอีก…..

· ……..

· ที่เชียงใหม่ ผมมีโลกกว้างมีเพื่อนใหม่ทุกภูมิภาค เพื่อนปักษ์ใต้สนิทกันที่สุดเพราะบ้านมันส่งของกินมาให้เรื่อยๆ อย่างปลาแห้งงี้ เอามาทอดกินกับข้าวต้มกลางคืนดึกๆที่ดูหนังสือกัน ไอ้ศักดิ์ มันบ้าจะสอบใหม่เอาวิศวะให้ได้ จึงไม่เรียนเอาแต่ดูหนังสือจะเอ็นใหม่ เราก็เป็นคนชงโอวัลตินกระป๋องบักเอ็บให้มัน เวลาเราเดินออกไปหน้ามอ ก็ซื้อข้าวผัดมาให้มัน ยังไม่ขึ้นไปให้ ก็เรียกมันจากชั้นสามให้ส่งปลายเชือกลงมา เราผูกห่อข้าวมันก็ชักขึ้นไป กินข้าวแล้วดุหนังสือต่อ เราก็เดินเล่นกับเพื่อนคนอื่นๆหรือไปทำกิจกรรมอื่นๆ กลับมาห้อง ไอ้ศักดิ์ยังนั่งดูหนังสือ เราก็ชงกาแฟให้มันอีก …วันสุดท้ายที่มันสอบเอนใหม่เสร็จวิ่งมาบอกพวกเราว่า กูติดวิศวะแน่ๆ ผลประกาศ ไม่มีชื่อมัน…. มันเลยลาออกไปเรียนที่ฟิลิปปินส์เสียเลย ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฟีนิกส์ พัลพ์ แอนเปเปอร์ ที่ขอนแก่น แต่ไม่ค่อยเจอะกัน.อิอิ..

· สมัยนั้นเข้าสู่ 14 ตุลา บรรยากาศมหาวิทยาลัยอบอวลไปด้วยการอภิปราย การทำกิจกรรมนอกหลักสูตร บังเอิญเราอยู่ในกลุ่มเด็กบ้านนอกที่สนใจเรื่องความยากจน ปัญหาชนบท บ้านเมืองจึงเข้ากลุ่ม และมีท่านอาจารย์หลายท่านมาเป็นที่ปรึกษา และรุ่นพี่พี่ที่แรงสุดๆ

· เราทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมากมาย เช่น ล้มระบบเชียร์แบบเก่าๆที่เป็นระบบ ว๊ากเกอร์ จับกลุ่มศึกษาหนังสือป็อกเก็ทบุ๊คที่ออกมามากมายในช่วงนั้นที่เป็นหนังสือที่เรียนว่าก้าวหน้า เช่น หนังสือเรื่อง การพัฒนาความด้อยพัฒนา หนังสือของจิตรภูมิศักดิ์ ยูโทเปีย สรรนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตุง สตาลิน แม่ของกอร์กี้ หนังสือโฉมหน้าศักดินา ที่เป็นหนังสือต้องห้าม เดอ แคปปิตัลลิส และมากมาย…. เราอ่านกันอย่างจะไปสอบ(ทีหนังสือเรียนหละไม่เอา) เอามาเสวนากัน คุยกัน ถกกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกัน เชิญอาจารย์มาแสดงความเห็น เชิญรุ่นพี่พี่มาแสดงความเห็น และที่บ้าๆสุดขีดคือเราไปล้มงานบอลที่นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งชอบจัดงานแบบนั้น…

· ในที่สุดเราจัดค่ายศึกษา เอาเพื่อนนักศึกษาที่สนใจทิศทางเดียวกันออกชนบท สนุกมาก ออกกันเอง จัดกันเอง ควักกระเป๋ากันเอง แล้วมาแลกเปลี่ยนชีวิตที่ไปอยู่ชนบทกัน มันสุดๆเพราะสารพัดสิ่งที่พบมา รับรองว่าทุกคนที่ผ่านค่ายศึกษาจดจำจนถึงวันนี้ ครั้งนั้นมีคนไปค่ายยี่สิบกว่าคน ล้วนเป็นนักศึกษาแพทย์ เภสัช ทันต เทคนิคการแพทย์ พยาบาล ที่เรามักเรียกกันว่าฝั่งสวนดอก มีพวกสังคมไม่กี่คน เข้าป่ากันหมดเลย…

· จัดตั้งพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยเสนอตัวเป็นนายกองค์การนักศึกษา มช. โดยผมเป็นเลขาธิการพรรค ฟอร์มทีมกันมีจาตุรนต์ลงเลือกตั้งเป็นนายกองค์การ ผมอยู่เบื้องหลัง และทีมเราได้รับเลือก…

· เอาแต่ทำกิจกรรมชนบท ไม่ค่อยได้เรียน……. แต่เราก็จบออกมา


ดีใจที่เป็นนิ่ว….

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 12, 2008 เวลา 0:59 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3597

เมื่อสิบกว่าปีก่อนผมต้องบินด่วนจากกรุงเทพฯกลับขอนแก่น เพื่อนฝรั่งเอารถไปรับผมที่สนามบินพาเข้าโรงพยาบาลเอกชนทันที เพราะผมปวดอาการของนิ่ว หมอให้เข้าห้องเพื่อทำการส่องและคีบเอาก้อนนิ่วออกมาทันที…

คุณหมอคนนี้เป็นรุ่นน้องที่เรียน มช.เรารู้จักกันดี ต่อมาครอบครัวผมก็เป็นคนไข้ของคุณหมอท่านนี้ทั้งบ้านรวมทั้งภรรยาคุณหมอท่านนี้ก็เป็นหมอด้วย เมื่อคุณหมอทั้งสองท่านย้ายไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เพราะโรงพยาบาลเอกชนเดิมปิดกิจการ ครอบครัวผมก็ตามไปเป็นคนไข้อีกเหมือนเดิม.. ก็ติดใจในบริการคุณหมอ

การเอานิ่วออกครั้งนั้นผมไม่ต้องนอนโรงพยาบาลแค่คีบเอาออกมา พักสักพักก็กลับบ้านได้ แล้วก็มีความรู้ว่าคนกินใบไม้ใบหญ้าอย่างผม(พวกมังสวิรัติ)นั้นเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วไม่น้อยเพราะผักประเภทใบหลายชนิดมีส่วนสร้างก้อนนิ่วได้หากระบบขับถ่ายสารไม่มีคุณภาพดีพอ ที่สำคัญผักที่ผมชอบคือ ใบชับพลู หน่อไม้…..

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมเป็นไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ จึงไปซื้อยามาทานอาการก็ลดลงแต่กลับมีอาการเจ็บจี๊ดๆที่พุงด้านขวามือ เมื่อวันอาทิตย์ตั้งใจจะไปพบคุณหมอพิศาล ไม้เรียง ญาติป้าจุ๋มของเรา แต่คุณหมอไม่ได้เข้าเวรแพทย์กว่าจะมาเข้าเวรก็วันอังคาร วันจันทร์อาการเจ็บที่พุงด้านขวามือหนักขึ้น ผมเสียวเรื่องตับจึงเปิดอินเตอร์เนทดูเปรียบเทียบอาการต่างๆแล้วก็เบาใจว่า หากเกี่ยวกับตับก็น่าจะเป็นอาการของตับอักเสบ จึงตัดสินใจไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เพราะทนไม่ไหว…ใจร้อนทั้งๆที่เสียวลึกๆว่ามันอะไรกันแน่

ผลการตรวจเลือดที่ต้องนั่งคอย 1 ชั่วโมงพบว่า ตับผมไม่มีสิ่งผิดปกติใดๆ ค่าต่างๆอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เนื่องจากช่วงที่ผมไปตรวจนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้กลับบ้านไปแล้ว แพทย์ที่รับไข้ก็ยังเด็กและไม่มีความชำนาญด้านนี้ ก็ไม่สามารถบอกอะไรได้มาก เพียงแต่อ่านค่าตามการตรวจเลือดมาเท่านั้น

ผมดีใจที่มันไม่เกี่ยวกับตับ แต่คำถามคือ ก็มันยังปวดอยู่ แล้วมันคืออะไร พรุ่งนี้ผมต้องไปพบคุณหมอพิศาล ไม้เรียงผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ให้ได้ โดยผมไปตามปกติเหมือนคนไข้ทั่วไปโดยไม่ได้ใช้อ้างอิงว่าป้าจุ๋มแนะนำมา เพราะอยากจะดูว่าระบบเป็นเช่นไรบ้าง..

เมื่อผมไปถึงคลินิกคุณหมอเวลาประมาณ หกโมงครึ่ง คุณหมอเข้ามาพอดี คนไข้เต็มจนไม่มีที่นั่ง และเป็นเช่นนี้ทุกวัน…..ผมแจ้งประสงค์แล้วก็บังเอิญมีที่นั่งพอดีเนื่องจากมีคนไข้หนึ่งคนเสร็จสิ้นแล้ว

เมื่อนั่งสายตาก็สำรวจความเป็นไปในคลีนิคที่ทุกคนต่างมาหาคุณหมอด้วยมีทุกข์มาทั้งนั้น แต่คุณหมอก็ใจเย็นออกมาทักทายคนไข้ ล้อเล่นกับคนไข้ แหย่บ้าง จนบรรยากาศดูดี คนไข้คนหนึ่งพูดกับเพื่อนข้างๆว่า ผมเป็นคนไข้คุณหมอมานาน คุณหมอใจดีมาก ผู้ช่วยแพทย์จำนวน 3 คนวิ่งกันวุ่นเพื่อจัดคนไข้เข้าพบคุณหมอ แล้วก็วิ่งมาจ่ายยา แต่เธอก็ยิ้มตลอด

ผมรู้ตัวว่าต้องนั่งยาวจึงหยิบเอาหนังสือจากบ้านมาอ่านเล่มหนึ่ง ชื่อ เดินสู่อิสรภาพ ของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ที่ลือลั่นมาแล้วเพราะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วลาออก ทำการเดินด้วยเท้าจากเชียงใหม่ไปบ้านเกิดที่เกาะสมุย…. ผมอ่านเพลินสลับกับการสังเกตความเป็นไปในคลินิกแห่งนี้ที่น่าสนใจมาก…

สามทุ่มไปแล้วคนไข้เริ่มบางตาแต่ผมยังไม่ได้รับการเรียกชื่อ แต่แล้วคุณหมอก็ออกมาดูคนไข้แล้วให้ผู้ช่วยขานชื่อแล้วให้จัดลำดับเข้าพบคุณหมอ ตามห้องเล็กๆ 4 ห้อง ผมได้อันดับที่ 3 ห้องหมายเลข 4

เกือบสี่ทุ่มผู้ช่วยพยาบาลก็ขานชื่อผมให้เข้าไปนั่งรอคุณหมอ

ไม่พร่ำทำเพลง ผมอธิบายสาเหตที่มาหาคุณหมอขณะที่คุณหมอตรวจสอบใบประวัติผม แล้วก็กล่าวว่า คราวนี้ต้องผ่าตัดสาละมั๊ง….ผมหยุดอธิบายไปนิดหนึ่ง คุณหมอมองหน้ายิ้มๆ แล้วก็กล่าวว่า ยาที่ให้ไปทานน่ะ ทานประจำไหม.. เอายาใหม่ไปอีกชุดหนึ่งก็แล้วกัน แล้วอีกสองสัปดาห์มาหาหมอใหม่พร้อมเอาแผ่นอุลตร้าซาวมาให้ดูด้วย ว่าจะต้องผ่าหรือไม่ นิ่วแน่นอน อาการของคุณนี่ไม่ใช่อะไร นิ่วที่คุณเป็นอยู่นั้นเอง….

คุณหมอสั่งยาแล้วก็บอกว่า..ค่อยพบกันตามนัดนะครับ…

ผมกราบลาคุณหมอด้วยแอบดีใจลึกๆว่ามันไม่ใช่ตับก็ดีหลายแล้ว แค่นิ่วแม้จะต้องผ่าก็ดีกว่าเรื่องเกี่ยวกับตับมากมายหลายเท่าตัวนัก…อิอิ

ก็เพื่อนฝูง น้องนุ่ง ญาติพี่น้อง เป็นมะเร็งที่ตับกันมากมาย จะไม่ให้ผมดีใจได้อย่างไรที่เป็นนิ่ว …. แม้จะเป็นนิ่วที่ไตก็ตาม…


“ดาวเหนือ” แห่งวัดป่าอาชาทอง เชียงราย

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 6, 2008 เวลา 22:13 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4213

พระอาจารย์ เจ้าอาวาสวัดป่าอาชาทอง

คืนนี้พักผ่อนตัวเอง  วางงาน แล้วมาดู UBC ซึ่งนานๆจะมาดูที โดยบังเอิญไปดูช่อง 46 พบรายการที่กำลังบรรยายประวัติของพระขี่ม้า ที่ประหลาด ที่เชียงราย ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ เฮฯหกจะแวะไปใส่บาตร (จริงป๊ะ)

ผมคว้ากล้องมาถ่ายรูปท่านจากหน้าจอ ทีวีเป็นร้อยๆ แต่พอจะใช้ได้ไม่กี่ภาพ ตามที่คัดมา

เป็นการดีที่ได้รู้จักท่านก่อนที่จะมีโอกาสมาพื้นที่นี้ในเฮฯหก เป็นการดีมากๆ

“ม้า” สัญลักษณ์ของวัดแห่งนี้

พระ เณร วัดนี้มีความสามารถในการขี่ม้า

พระอาจารย์ท่านสอนเณรในการขี่ม้า คุ้นชินกับม้า

พระอาจารย์มีอดีตเป็นนักมวยชื่อดัง จึงมีความสามารถทางการต่อยมวย และตั้งค่ายมวยที่วัดนี้ด้วย

ความสามารถเชิงมวยของท่านเคยสามารถเอาชนะกลุ่มพ่อค้ายาบ้าจำนวนหลายคนมาแล้วในอดีต

เด็กคนนี้มาอยู่กับพระอาจารย์ ซึ่งกว่าจะละทิ้งความเป็นเด็กและมาอยู่ในโอวาทของท่านได้ ท่านใช้เวลานานพอสมควรที่ให้เด็กได้ปรับตัว  เมื่อเห็นว่าจะสั่งสอนหลักธรรมได้แล้วก็นำมาสอนเรื่องการนั่งสมาธิ

ดูรายกา่รนี้แล้วเห็นความตั้งใจท่าน และศรัทธาท่านที่ใช้ธรรมสร้างคนใหม่ตั้งแต่เด็กขึ้นมา

นี่คือ เด็กชาย “ดาวเหนือ” ที่ต่อมาบวชเป็นสามเณร “ดาวเหนือ” เด็กคนนี้มาจากบ้านหัวแม่คำ ผมประทับใจวิธีการอบรมเด็กของท่าน ท่านเข้าใจธรรมชาติเด็กและขั้นตอนที่ควรจะอบรมกับเด็กที่ยังไม่สามารถใช้เหตุผลอย่างผู้ใหญ่ได้  ท่านให้เด็กทำอะไรตามใจ เช่นชอบต่อยมวยก็ให้ไปต่อยมวย ท่านก็สอนให้จนสามารถชนะการต่อยมวย  แล้วเด็กคนนี้ก็หมดพยศแล้วก็ก้าวเข้ามาอยู่ในร่มของศาสนาเต็มตัว

ผมไม่สามารถบรรยายเรื่องราวทั้งหมดได้ แต่เอาภาพมาให้ท่านได้ดู เพื่อเป็นการกระตุ้น เฮหกก็แล้วกันครับ


ดอกไม้ที่ Queen Emma ทรงโปรดปราน…

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 4, 2008 เวลา 8:48 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 9122


วันก่อนผม post ดอกไม้รวมมิตรขึ้น แล้วน้องราณีถามผมว่าดอกนั้นชื่ออะไร ดอกนี้ชื่ออะไร โดยเฉพาะดอกที่ทำลูกศรชี้นั่น ผมจำชื่อไม่ได้ และติดอยู่ในใจว่าชื่ออะไรหนอ พอมีเวลาสั้นๆจึงไปค้น file เก่ามาดูและหยิบพจนานุกรมดอกไม้ประดับในเมืองไทยของท่านอาจารย์ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ปรมาจารย์ดอกไม้ประดับของเมืองไทยมาตรวจสอบ โป๊ะเช๊ะ……รู้แล้ว น้องราณี….


เธอชื่อดอกพลับพลึงครับ….อ๋อ….

เมื่อไปดูข้อมูลก็พบว่าพลับพลึงมีหลายชนิด เช่น พลับพลึงตีนเป็ด พลับพลึงหนู พลับพลึงแมงมุม และพลับพลึงเตือน (บางชื่อเป็นภาษาท้องถิ่น)


(เป็นพลับพลึงที่บ้าน รูปเก่าที่ถ่ายเก็บไว้เมื่อปีก่อน)

พลับพลึงสีแดงม่วงนี้เรียกว่า พลับพลึงแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Crinum augustum ชื่อสามัญ คือ Crinum Lily มีขนาดใหญ่ ลักษณะต้นเป็นกอกลุ่มใหญ่ ใบเป็นรูปหอกปลายแหลม ขอบใบเรียบสีเขียว ผิวเนื้อใบอ่อนนุ่ม หนาเหนียว ดอกออกปีละครั้งประมาณเดือน กันยายน-ตุลาคม ดอกเป็นช่อใหญ่ ก้านดอกชูมาจากกลางกอ ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 15-25 ดอก กลีบดอกแคบเรียบยาว มี 6 กลีบต่อหนึ่งดอก เมื่อบานเป็นที่กลีบดอกจะงองุ้มเข้าหาก้านดอก เกสรยาวยื่นออกมากลางดอก ด้านบนเป็นสีม่วงอ่อน หรือชมพู กลีบด้านล่างสีแดงเข้ม มีกลิ่นหอม เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา

ที่บ้านมีสองกอใหญ่ เอาดอกมาปักแจกันหอมฟุ้งไปทั่วบ้านเชียว


(เป็นพลับพลึงที่บ้าน ปลูกไว้ในกระถางไม่ได้เอาลงดิน)

รูปร่างเด่นสวยนี้ชื่อพลับพลึงเตือน หรือพลับพลึงเตือนตา ชื่อวิทยาศาสตร์เขาคือ Crinum rubra หรือชื่อสามัญแสนไพเราะว่า Cinderella Lily ลักษณะที่แตกต่างจากพลับพลึงแดงคือ ต้นเล็กกว่า กอเล็กกว่า ก้านดอกมีดอกเดียว ดอกมีสีขาวเป็นรูปดาวที่มีหลายแฉก มีกลีบยาวยื่นออกมาจากตัวดอกอีก 6 กลีบ เมื่อบานเต็มที่กลีบยาวนี้จะม้วนงอโค้งเข้าหาก้านดอก กลางดอกมีเกสร 6 เส้น มีกลิ่นหอมอ่อน ออกดอกกลางฤดูฝน เป็นของอเมริกาใต้

(รูปนี้เอามาจาก google photos)

สีแดงสดนี้คือ พลับพลึงใหญ่ หรือพลับพลึงดอกแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Crinum amabille ชื่อสามัญ Milk-And-Wine Lily หรือ Higanbana Lily มีถิ่นกำเนิดที่ลุ่มทั่วไป หรือตามชายฝั่งน้ำจืดของทวีปเอเชีย ส่วนตัวผมไม่เคยเห็นพลับพลึงสีนี้ครับ สำหรับท่านที่ชอบสีแดงนั้น พลับพลึงดอกนี้คงอยู่ในใจท่านแน่ๆ สวยจริงๆ


(ดอกนี้ผมถ่ายมาจากภูเก็ตช่วงที่ไปเฮฮา 4 ที่พักมีกอพลับพลึงอยู่เลยไม่พลาดที่จะเก็บเอามาชื่นชมครับ)

ราชินีของพลับพลึงต้องดอกนี้ เรียกว่า พลับพลึงแมงมุม ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Hymenocallis Caribaea ชื่อสามัญ คือ Spider Lily ก้านดอกจะมีประมาณ 4-8 ดอก จะทยอยกันบานทีละ 2-3 ดอก แต่ละดอกจะมี 6 กลีบสีขาวนมสด กลีบดอกจะเรียวยาวประมาณ 13 ซม. เมื่อดอกบานเต็มที่ปลายกลีบจะงอโค้งเข้าหาก้านดอก เกสรมี 6 เส้นตอนปลายจะเป็นสีเหลือง หรือสีน้ำตาล มองดูคล้ายแมงมุม ออกดอกเป็นระยะตลอดปี

ปลูกในร่มรำไร และกลางแจ้งแสงแดดจัด ชอบดินปนทรายมีความชุ่มชื้นตลอดเวลา

คุณสมบัติทางสมุนไพรของพลับพลึงพบว่า มีการนำมาต้มดื่มทำให้อาเจียน(ไม่ใช่แก้อาเจียน) แก้เคล็ดขัดยอก แก้น้ำดีพิการ ใบเอามาย่างไฟพันแก้ฟกช้ำ บวม เคล็ดขัดยอก ใช้อยู่ไฟหลังคลอด หัวมีรสขมในอินเดียใช้เป็นยาระบาย ขับเสมหะ ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี

ทราบว่าธุรกิจสปานำดอกพลับพลึงสกัดเอากลิ่นมาใช้ และเป็นที่นิยมกันมากด้วย….

ราชินีของพลับพลึงคือ Spider Lily สุดสวยนี้มีถิ่นเดิมที่หมู่เกาะอินดีส เป็นดอกไม้ที่โปรดปรานของพระราชินีเอมม่าแห่งประเทศกรีก จึงได้ชื่อภาษากรีกว่า “Krion” ชาวสเปนเรียก “Liriod cinata”

สำหรับผมรักหมดเลย กลัวเขาเสียใจ อิอิ..

ท่านละครับชอบดอกไหนครับ…

(ข้อมูลจาก Google Photos และ พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ ของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)


รุ่นโตโจ…

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 26, 2008 เวลา 15:19 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2222

เด็กบ้านนอกอย่างผมนั้น มือหนึ่งต้องจับเชือกเลี้ยงควาย อีกมือถือหนังสืออ่าน ควายที่บ้านชื่อไอ้ม่วงกับไอ้มั่น ควายถึกสองตัวนี้ พ่อผมรักใคร่มันยังกะลูก ขัดสีฉวีวรรณ ดูแลให้หญ้าให้น้ำ ทำร้านหรือคอกควายที่ยกพื้น ให้อยู่ยามฤดูน้ำหลาก และไม่ทำหมัน อ้วนพี หล่อเหลาเอาการ ควายสาวๆแถวบ้าน เลยไปถึงตำบลอื่นๆ เห็น ไอ้ม่วง ไอ้มั่นแล้วก็ต้องเงยหน้ามองและร้อง ตามประสามัน เสมอ อิอิ..

ยามที่ถึกสองตัว เป็นสัตว์ (ฤดูกาลผสมพันธ์) ผมกับพี่ชายเอามันไม่อยู่หละครับ ต้องพ่อลงมาเอามันถึงจะยอม..ผมเองเกือบพิการเพราะเอาถึกสองตัวเทียมเกวียน ผมนั่งข้างบน ไปเอาข้าวฟ่อน เมื่อมันเห็นสาวงาม สองตัวก็นัดกันขโยกไปหาสาว มิใยจะฟังผมตะโกนให้มันหยุด

โถ…คุณครับ เกวียนนะครับ บนที่นาที่มีคันนา ไม่ใช่ถนนลาดยาง และเกวียนมันไม่มีโชคอัพคอยสปริงอย่าง Foretuner หรือแหนบนิ่มอย่างดีแบบ Mu 7 อย่างที่เขาโฆษณาในทีวีปัจจุบัน แรงรักสาวไอ้ม่วงไอ้มั่นมันมากกว่าความรักนายที่นั่งมาบนเกวียน เรียบร้อยครับ เกวียนที่เทียบบ่ามันกระเด็นกระดอนไปคนละทิศละทาง เพราะตกหลุม ตกร่องในนาและที่ร้ายคือชนคันนา ผมหรือ กระเด็นตกไปนานแล้ว ทั้งตกใจ ทั้งกลัวพ่อตี ทั้งกลัวควายของเราจะขวิดกับควายถึกบ้านอื่นเพราะแย่งควายสาวกัน….โอย…ร้องให้ไม่ออกครับ.. หน้าซีดเป็นไก่ป่วย…

เมื่อจบ ม.ศ. 3 พ่อก็ถามว่าจะไปเรียนต่อที่ไหนกันล่ะ พ่อมีลูกหลายคนอยากให้เรียนด้านอาชีพจะได้จบมาทำงานช่วยพ่อแม่ส่งน้องๆอีกตั้ง 4 คน ผมอยากเรียนต่อ ม.ศ. 4-5 และเข้ามหาวิทยาลัย หรือเตรียมทหาร เท่ห์เหมือนรุ่นพี่ๆเขา เด็กบ้านนอกก็คิดอย่างนั้น พ่ออยากให้เรียน วิทยาลัยครู ใกล้บ้าน

โชคดีที่คุณตาคู่บุญของผมและน้องๆ ท่านเคยอพยพมาจากฝั่งธนบุรีมาบ้านนอกเมื่อสมัยสงครามโลก มาพักที่บ้านเพราะทั้งหมู่บ้านมีเพียงบ้านเดียวในสมัยนั้นที่มีส้วมซึม คุณตาเลยออกปากว่า หากลูกหลานเรียนจบแล้วอยากเรียนต่อในกรุงเทพฯก็เอาไปไว้ที่บ้านสวนได้ ผมจึงมีโอกาสเข้ากรุงฯครั้งแรกในชีวิต

เรานั่งเรือยนต์สองชั้นจากบ้านนอกมาขึ้นกรุงเทพฯที่ท่าเตียน วัดโพธิ์ เรือนี้เป็นเรือสินค้า สมัยนั้นยังไม่มีทางรถเชื่อมกรุงเทพฯวิเศษชัยชาญ ความตื่นตาตื่นใจของเด็กบ้านนอกเข้ากรุง คุณเอ้ยยย มันตื่นเต้นจนนอนไม่หลับตลอดคืน อะไรก็ใหม่ไปหมดในสายตาเรา และการนอนในเรือโดยสารเป็นครั้งแรกก็เสียงเรือมันดัง แวะรับผู้โดยสารไปตลอดทางแม่น้ำน้อย …

มาอยู่บ้านคุณตาคุณยาย ต้องปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานท่านเล่น….มันเป็นสังคมใหม่ ผิดไปหมดจากบ้านนอกของเรา ผมนอนร้องให้ทุกคืน เพราะคิดถึงบ้าน พ่อเอามาฝากฝังคุณตาคุณยายแล้วก็กลับไป มันเหงามากๆ แม้จะมีเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันที่เป็นลูกหลานท่าน แต่เราก็เข้ากับเขาไม่ค่อยได้ ไม่รู้เขาคุยอะไรกัน เล่นอะไรกัน มันไม่มีวัว ควาย หมู เห็ด เป็ดไก่เหมือนบ้านเราเลย…

สองปีที่มาเรียนที่โรงเรียนฝั่งธนบุรี เพราะคุณตาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่นั่น โรงเรียนนี้ที่ปักอักษรย่อบนหน้าอกเสื้อว่า ส.ว.ย.(ดร.กมลวัลย์ก็จบจากที่นี่) กว่าจะปรับตัวได้กินเวลาเป็นเทอมเลย สิ่งที่ต้องปรับตัวมากที่สุดคือ อาหารหารกิน ความฟรี อิสระ และสดใส เพราะมาอยู่บ้านคุณตาคุณยายที่ท่านเป็นผู้ใหญ่ มีญาติมากมายเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เราเลยกลายเป็นคนขี้เกรงใจคน เก็บตัวมาตลอด ผมต้องช่วยงานบ้านทุกอย่าง กวาดบ้าน ถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ในสวน เก็บกวาดใบไม้ ตักน้ำใส่ตุ่ม ดูแลความเรียบร้อยทั่วไป.. มันมิใช่งานหนักสำหรับผม แต่เด็กบ้านนอกจะสอึกทุกครั้งที่เมื่อมีใครต่อใครถามว่ามาจากไหน แล้วเด็กๆ ลูกหลานคุณตาจะบอกว่ามาจากบ้านนอก…

คุณตาคุณยายมีพระคุณเป็นที่สุดที่ให้ความเมตตา กรุณาต่อผมและน้องอีกสองคนที่ตามผมไปพักอาศัยที่บ้านหลังนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเลยแม้แต่น้อย เพราะหากเสียค่าใช้จ่ายผมคงไม่มีโอกาสเช่นนี้ คงเรียนที่วิทยาลัยครูแถวบ้านแล้ว

เพื่อนที่เรียนด้วยกันก็รักใคร่กันดีมาก เมื่อผมปรับตัวได้แล้ว ก็แสดงบทบาทการเป็นผู้แทนนักเรียนบ้าง เพื่อนรักคนหนึ่งก็คือ สง่า ดามาพงษ์ ท่านโฆษกกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบัน และประธานชมรมนักโภชนาการแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงการ มาลดพุงกันเถอะ (หากผิดขออภัยด้วยนะครับ) วันหนึ่งเราพบกันที่สนามบินดอนเมือง สง่าบอกผมว่า กูเบื่อนามสกุลกูฉิบ… ผมถามว่าทำไมล่ะ อ้าว..ไอ้บู๊ธ..มึงก็รู้ว่านามสกุลกูน่ะเป็นญาติสนิทกับท่านเหลี่ยม ใครต่อใครโทรมาขอยืมสตางค์กูเป็นสิบล้านร้อยล้าน กู..งี้..ขำกลิ้ง ผมย้ำว่าทำไม… เพื่อนรักตอบว่า มึงก็รู้ว่านามสกุลกูน่ะไปพ้องเสียงกันเท่านั้น…อิอิ..

การสอบม.ศ.5 ผ่านไปไม่กี่วัน กระทรวงก็ประกาศว่าให้การสอบทั่วประเทศเป็นโมฆะ เพราะข้อสอบรั่ว…….ให้สอบใหม่…..ทั่วประเทศ

นี่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง… ที่มีการสอบใหม่ทั่วประเทศ ครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุก…จึงยุติการสอบ แล้วให้มีการสอบใหม่ภายหลัง ตอนญี่ปุ่นบุกนั้นอยู่ภายใต้การบัญชาการของนายพลโตโจ จึงเรียกผู้เรียนรุ่นนั้นว่า รุ่นโตโจ

เช่นเดียวกันสมัยที่ผมต้องสอบ ม.ศ. 5 ครั้งที่สอง ก็เลยเรียก รุ่นโตโจ เหมือนกันครับ…


สันติเสวนา…(3)

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 26, 2008 เวลา 11:54 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2982

เมื่อพิจารณาเหตุของปัญหาแล้วเห็นว่ามันซับซ้อน เกี่ยวเนื่อง พัวพันกันไปหมด ทั้งตรงทั้งอ้อม ทั้งมากทั้งน้อย….

แล้วทำไง?

สามารถแบ่งเป็นสองส่วนคือ ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขป้องกันระยะยาว การแก้ไขระยะยาวนั้น มีข้อน่าพิจารณาดังนี้….

- ฟื้นฟูระบบสังคมคุณธรรม: หรือคุณค่าความเอื้อเฟื้อ อาทรแก่กัน แล้วทำอย่างไร สาธยายกันยาวเหยียด ค่อยว่ากัน

- กิจกรรมทางสังคมแบบเดิมๆที่เป็นกิจกรรมสะสมทุนทางสังคม หน่วยงานต้องฟื้นสาระนี้ขึ้นมา มิใช่เพียงสร้างรูปแบบเอาไว้

- การเสริมสร้างทัศนคติต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม: ระบบการศึกษาที่เป็นเบ้าหลอมเด็กต้องปฏิวัติใหม่หมด

- การปรับปรุงกฎหมาย: ให้เหมาะสมสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ..

- ทบทวนหลักการเสรีประชาธิปไตย: น่าจะมีอะไรบกพร่องในรายละเอียดของหลักการนี้…

- อีกมากมาย มากมาย มากมาย ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ทั้งส่วนรวม ส่วนตัว ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ต้องกระทำกันเป็นกระบวนการ บูรณาการ เชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะระบบคุณค่าทางสังคมนั้นแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามพื้นวัฒนธรรมเดิม การเสริมสร้างฟื้นฟูมิใช่ทำแค่รูปแบบเท่านั้น แต่เน้นความเข้าใจ สืบต่อทางด้านสาระเป็นหลัก..

กรณีความขัดแย้งเฉพาะหน้า หรือปัจจุบันนั้น (กรณี ปัจจุบัน)


ทัศนคติส่วนตัว

- เห็นว่าความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่จุดที่ไม่สามารถเจรจากันได้ ต่างฝ่ายต่างขีดเส้นแบ่งไว้แล้ว และยึดมั่นว่าจะไม่ก้าวผ่านเส้นแบ่งนั้นไป และหาทางเผด็จศึกอีกฝ่ายด้วยวิธีการทั้งทางเปิดเผยและทางลับ ทั้งที่ถูกกฎหมายและทำไปแบบข้างๆคูๆ หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย

- หมดเวลาต่อการเรียกร้องเพียงวาจา ต่อให้ไพเราะแค่ไหนก็ทำไม่ได้แล้ว สถานการณ์พัฒนาขึ้นสู่ความขัดแย้งที่สูงแล้ว

- ตั้งเงื่อนไขไว้สูงที่จะบังคับให้อีกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม แล้วหาทางกดดันต่อไปด้วยวิธีการต่างๆ จากเบาไปหาหนัก

- สถานการณ์แบบนี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยสันติเสวนาตามปกติเสียแล้ว

ถามว่า: ไม่มีที่นั่งที่สามารถปักป้าย สันติเจรจา หรือ สันติเสวนาเลยหรือ

ตอบว่า: พอมีอยู่บ้าง

การแก้ไขแบบสันติทำอย่างไร

ต้องใช้อำนาจที่สาม หรือที่สี่ เข้ามา เช่น ฝ่ายทำเนียบเรียกร้องทหาร ก็หวังว่าทหารจะออกมาอยู่ข้างประชาชนเหมือนในตุรกี และอื่นๆ โดยไม่ใช้กำลัง ซึ่งขึ้นกับว่ารายละเอียดของอำนาจที่สามนี้จะยืนตรงไหน อย่างไร…. (แต่ก็หมิ่นเหม่มากๆต่อความรุนแรง) การกดดันเช่นนี้เป็นการบีบบังคับให้อีกฝ่ายต้องยอมเจรจาและยอมสูญเสียบางส่วนเพื่อรักษาบางส่วน

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ อำนาจทางตุลาการต้องเข้มแข็ง ไม่โงนเงน อ่อนไหวไปตามกระแสทุนที่สามารถไหลบ่าเข้ามาอย่างท่วมท้น เอาหลักการตามกฎหมายมาจัดการผู้กระทำมิชอบอย่างตรงไปตรงมา

อีกหนทางหนึ่งคือ ผู้ที่มีบารมีสูงส่งก้าวมาเป็นผู้ใช้สันติเสวนา อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และทุกอย่างก็สงบลงได้จริงๆ ในปัจจุบันผู้มีบารมีสูงส่งที่เป็นสามัญชนธรรมดานั้นดูจะไม่มีทางที่จะก้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้แล้ว

ทำไมปัจจุบันผู้มีบารมีในสังคมจึงไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้

- เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามาท่ามกลางความวิปริตของสังคมไทย เพราะเปลืองตัว หรือหาเรื่องเปล่าๆ

- เพราะไม่มีใครไว้ใจใครอีกต่อไปแล้ว แม้แต่คนกลาง ก็ไม่แน่ใจว่ากลางจริงหรือไม่ กลางของใคร ต่างเกรงว่าตัวเองจะเสียเปรียบ และถึงแก่ความพินาจ สูญเสียประโยชน์มหาศาล

(มีผู้อยู่วงในกล่าวว่า คนสี่เหลี่ยมมีเงินจริงๆถึงสามแสนล้าน และมีธุรกิจที่มีรายได้อีกมากมาย เช่นที่ประเทศจีน สมมุติว่าจะถูกกฎหมายไทยยึดทรัพย์สินหมดตามที่มีการฟ้องร้องกัน ก็อยู่ได้อย่างราชาเพราะมีรายได้ปีละหนึ่งหมื่นหกพันล้าน…ก็ฟังหูไว้หูก็แล้วกัน) เงินเป็นปัจจัยในการต่อสู้ที่สำคัญประการหนึ่ง แบ่งเงินมาปีละ ห้าพันล้าน ก็สู้กันไปอีกนาน หากฝ่ายตุลาการเข้มแข็งตลอด ผู้รักษากฎหมายเข้มแข็ง ทหารไม่ไหวเอน ประชนเข้าถึงความจริงทุกด้าน …. แม้ลึกๆจะเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ลุกขึ้นยืน แต่ก็เหนื่อยอ่อนเต็มที….

ท่ามกลางค่านิยมในสังคมเสรีประชาธิปไตยเช่นนี้…ท่ามกลางทัศนคติที่มุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายไว้ที่ อำนาจ กับ ทุน เพื่อผลประโยชน์ ประชาชนอย่างเราต้องตั้งสติให้มั่นคง…

ทำให้นึกถึงเพลงหนึ่งที่ร้องกันในที่รโหฐานว่า

หยดฝนย้อย..จากฟ้า..มาสู่ดิน

ประมวลสินธุ..เป็นมหา..สาครใหญ่

แผดเสียงซัด..ปฐพี..อึ่งมี่ไป

พลังไหล..แรงรุด..สุดต้านทาน

อันประชาฯ..สามัคคี..ที่จัดตั้ง

เป็นพลัง..แกร่งกล้า..มหาศาล

แสนอาวุธ..แสนศัตรู..หมู่อันธพาล

มิอาจต้าน..แรงมหา..ประชาชน

สันติภาพจงเจริญ..


สันติเสวนา… (2)

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 26, 2008 เวลา 0:35 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2804

สรุปจากตอนที่ 1


วิเคราะห์ : สังคมเราซับซ้อนมากขึ้น จนระบุสาเหตุเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง กลุ่มสาระใดสาระหนึ่งเด็ดขาดไม่ได้ ต่างมีส่วนเนื่องกันทั้งตรงและอ้อม ทั้งมีส่วนมากและน้อย

แต่ละสาระมีรายละเอียดมากมาย และทั้งหมดผันแปรไปตามการเปลี่ยนทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ระบบการพัฒนาประเทศชาติทั้งหมด ภายใต้กรอบระบบเสรีประชาธิปไตย..

ประชาชนฐานรากก็มีสาระในวงล้อมเขาแบบหนึ่ง นักการเมืองฉลาดแกมโกง อ่านสังคมออกก็ใช้จุดอ่อนต่างๆเหล่านี้เป็นเส้นทางการเข้าสู่อำนาจ แล้ว อำนาจก็เป็นที่มาของทุน (ย้ำว่านักการเมืองน้ำดีมีอยู่)

นักธุรกิจอุดมการณ์ทุนสามาลย์ก็อ่านออกว่าสังคม โครงสร้างสังคม และส่วนต่างๆนั้นมีจุดอ่อน ที่เขาสามารถใช้เป็นช่องทางการก้าวเข้าสู่อำนาจ จึงใช้ทุน หรือเงิน ซึ่งนักการเมืองบางคนก็ใช้เงินจำนวนมากที่มิใช่เงินจากกระเป๋าเขาเองด้วย นี่คือความฉลาดแกมโกง และด้วย ทุนมหาศาล เขาก็ก้าวสู่อำนาจ (ทุนดีดีก็มีอยู่ครับ)

ลองย้อนดูความขัดแย้งในสังคมหมู่บ้านเดิม ที่จบลงที่ ผู้เฒ่า เจ้าโคตร ซึ่งเป็นระบบคุณค่าเดิม ลูกหลานในหมู่บ้านมีเรื่อง มีปัญหา พ่อแม่เขาก็มาพบ ผู้เฒ่าเจ้าโคตรให้เป็นคนกลางที่มีคุณธรรมมีจริยธรรมไม่เข้าใครออกใคร เกลี้ยกล่อม การที่ท่านผู้เฒ่ามีคุณสมบัติต่างเป็นที่เคารพของชุมชนนั้น เมื่อท่านพูดอะไรถือเป็นมงคล แล้วก็ไกล่เกลี่ยจนความขัดแย้งนั้นสลายไป กลับมาคืนดีกัน วิธีการของพ่อเฒ่าในสมัยนี้อาจจะเรียกว่า สันติเสวนา ก็ย่อมไม่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด

หากบางสังคมไม่มีผู้เฒ่าที่มีคุณสมบัติดังกล่าว หรือสังคมใหม่เข้าไปครอบเสียคุณค่าเดิมสลายไปหมดสิ้นแล้ว ปัญหาต่างจึงมุ่งตรงไปสู่ที่โรงพัก หนักมากขึ้นก็ถึงโรงศาล ซึ่งเป็นระบบการแก้ปัญหาในระบบสังคมใหม่

ความขัดแย้งในหน่วยงาน จบลงที่ระเบียบ ข้อบังคับในสำนักงานนั้นๆ หรือหัวหน้างาน นายจ้าง หรือตามกฎหมายส่วนที่เกี่ยวข้อง

ความขัดแย้งทางสังคมใหญ่ มีแต่ระบบกฎหมาย และจบลงที่ศาลสถิตยุติธรรม

มีข้อสังเกตว่า: ความขัดแย้งที่จบลงที่ระบบผู้เฒ่า เจ้าโคตรแบบดั้งเดิมนั้น จบลงแล้ว อยู่ด้วยกันต่อไปได้

แต่ความขัดแย้งที่จบลงที่กระบวนยุติธรรม โรงศาลนั้น จบลงด้วยกฎหมาย ข้อบังคับที่สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อการปกครองร่วมกัน แต่สองฝ่ายของความขัดแย้งกันนั้นไม่จบลงที่คำพิพากษา คำตัดสินเป็นเพียงการยอมรับเพราะจำนนต่อหลักฐาน

แต่ความสลดหดหู่ กลับเนื้อกลับตัวนั้นดูเหมือนจะไม่มี และกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น จึงมีจำนวนมากที่เมื่อออกจากการถูกลงโทษทางกฎหมายแล้ว ก็ปฏิบัติความชั่วนั้นต่อเนื่องอีก…..?? (มีต่อตอนสาม)

หมายเหตุ: การเขียนที่ผิดพลาดเรื่องสกด การันต์ ต้องขออภัยด้วยครับ


ตอบครูบา…สันติเสวนา (1)

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 24, 2008 เวลา 15:22 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2421

ขออนุญาตท่านครูบาหยิบโจทย์มาเขียนที่นี่ครับ..

โจทย์ใหญ่คับฟ้าเช่นนี้.. ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นต้องตีวงกันหน่อย

การเสวนาเพื่อสันติต่อกรณีไหน. เพราะแต่ละกรณีมีที่มาที่ไปต่างกัน มีต้นขั้วที่แตกต่างหลากหลาย ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ยากง่ายแตกต่างกัน หากเราไม่รู้แจ้งแทงตลอดทั้งหมดก็ยากที่จะเสวนาเพื่อสันติ…..

เมื่อวันที่ 22 ผมเข้าร่วม การอภิปรายโดย อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ( อ.เจิมศักดิ์กับผมรู้จักกันเป็นส่วนตัว เป็นคนบ้านเดียวกัน เรียนมัธยมที่เดียวกันมา และเคยร่วมงานกันมาสมัยทำงานที่ จ.สุรินทร์ เคนเป็น reference person ตอนผมสมัครงานโครงการของ USAID ที่ขอนแก่นหลายสิบปีก่อน)

ในทัศนะผม อ.เจิมศักดิ์เป็นคนจับประเด็นเก่ง สรุปอะไรได้ชัด และมีความรู้กว้างขวางมากกว่าวิชาชีพด้านเศรษฐศาสตร์ที่จบมาจาก Princeton คนที่ได้รางวัลเหรียญทองจาก ดร.ป๋วย สมัยเรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่มายืนข้างประชาชนตลอดมา ผมชื่นชมเป็นส่วนตัว

การสัมมนาวันนั้นมีหลายประเด็นเกี่ยวเนื่องกับโจทย์ที่ท่านครูบายกมาแสวงหาความเห็น ผมเลยถือโอกาสนี้สรุปสั้นๆเอามาแลกเปลี่ยนกันครับ

สื่อสารมวลชน : การสัมมนาคืนนั้นผมทราบข้อเท็จจริงมากมายเกี่ยวกับความขัดแย้งของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งปกติสื่อสารมวลชนต่างๆพยายามเจาะลึกอยู่บ้างแต่ก็มีข้อมูลหลายด้านที่ประชาชนสับสนอะไรแท้จริง อะไรบิดเบือน ชนชั้นกลางอย่างเรายังมีหนทางที่จะไขว่คว้าหาความจริงได้มากกว่า แต่ชาวบ้านที่ห่างไกลการเข้าถึงแหล่งข้อมูลนั้น ก็บริโภคแต่สื่อที่รัฐจัดให้เป็นหลัก และหากผู้ให้สื่อมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตพูดอีก ชาวบ้านก็ต้องเชื่อ…???

ระบบอุปถัมภ์ : สิ่งที่ผมได้ยินอีกเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วไม่รู้ว่าสังคมไทยนั้นระบบอุปถัมภ์มีผลสองด้าน ในที่เสวนาครั้งนี้ก็ย้ำกันอีกว่า ระบบนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองผลประโยชน์ที่ฉลาดแกมโกง (นักการเมืองน้ำดีก็มีอยู่นะครับ มิใช่เลวไปหมด)

ค่านิยมของทุนนิยมสามานย์ : ในบรรยากาศที่สังคมเป็นทุนนิยมสามานย์ ต่างแข่งขันในการมีเงินและทรัพย์สมบัติให้มาก ระบบอุปถัมภ์เลยสอดคล้องกับพวกทุนและนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่แกมโกงนั้น…เราจะสังคายนาเรื่องนี้อย่างไร หรือทำอย่างไรให้ถูกใช้ในแง่เป็นประโยชน์เท่านั้น

การได้มาของนักการเมือง : ระบบเลือกตั้งนั้นมีจุดอ่อนที่ต่างเห็นๆ แต่แก้ไม่ตก จึงมีการระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอทางเลือกใหม่ของการได้มาของนักการเมือง ก็กำลังถกกันในปัจจุบันที่ยังไม่ฟันธง มีกรณีตัวอย่างที่เขาแก้มาแล้วในจ่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเยอรมัน หรือออสเตรเลีย และ ฯลฯ

อำนาจทางการบริหารเข้าไปมีอิทธิพลอำนาจนิติบัญญัติ: ชัดเจนที่สุดในปัจจุบันนี้ ไม่ต้องสาธยายมาก จะต้องแบ่งแยกให้ชัดเจน โดยอำนาจบริหารจะต้องไม่สามารถมามีอิทธิพลเหนืออำนาจนิติบัญญัติ มิเช่นนั้นบ้านเมืองไปไม่ได้

ประชาชนฐานรากไม่มีส่วนร่วมแท้จริงในการปกครอง : แลกเปลี่ยนกันว่างบประมาณภาษีท้องถิ่นไม่ต้องส่งส่วนกลางให้อยู่ในท้องถิ่นนั้น แล้วบริหารกันเองในจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ประชาชนจะรู้สึกมากขึ้นว่าเงินภาษีที่เขาเสียไปนั้น นักการเมืองท้องถิ่นเอาไปทำประโยชน์อะไรบ้าง มิใช่คิดแต่ว่า เงินที่ส่งมาจากส่วนกลางนั้นเป็นเงินหลวง(ทั้งๆที่เป็นเงินจากภาษีของเราเอง) ความรู้สึกการเป็นเจ้าของจะมีมากขึ้น และเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นมากขึ้น หรือมีอำนาจถ่วงดุลมากขึ้น

โครงสร้างตำรวจ: ตำรวจต้องเป็นตำรวจของประชาชนแท้จริง มิใช่ที่เห็นปัจจุบัน โดยการโอนไปอยู่ที่จังหวัด แล้วประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารตำรวจนั้นๆ….

ระบบคุณค่าทางสังคมเดิมจืดจางหายไป: ความสัมพันธ์ของคนในสังคมจึงมีแต่ผลประโยชน์เป็นตัวเชื่อม ยิ่งมีระบบอุปถัมภ์ในมุมลบเป็นโครงสร้างหนุน คุณค่าเดิมทางสังคมจึงบิดเบือนไปเพียงเพราะว่า เขาเป็นญาติพี่น้อง เขาเป็นเพื่อน เป็นเจ้านาย ลูกน้อง ฯลฯ ที่อุบถัมภ์ค้ำชูกันมา ความผิดจึงซ่อนอยู่ใต้ความสัมพันธ์แบบนี้ ยิ่งค่านิยมทุนนิยมเข้ามา คนที่มีทุนการเงินมหาศาลจึงซื้อคนได้ง่ายมากๆ

ระบบศีลธรรมหดหาย บุญบาป ไม่มีใครเกรงกลัวต่อไป: นายแพทย์ใหญ่ท่านหนึ่งบวชมาถึง 23 พรรษา ปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิเกี่ยวกับผู้ป่วยช่วงสุดท้าย..ท่านกล่าวว่า ระบบสงฆ์ไม่มีบทบาทในการหล่อหลอมจิตใจประชาชนให้ดำรงคุณธรรมอย่างสูงได้เลย ตัวระบบสงฆ์ก็จำลองระบบราชการ เป็นระบบขึ้นต่อเหมือนระบบทางการปกครอง ตำแหน่งทางสงฆ์ก็ซื้อกัน พระต่างจังหวัดจะไปจำพรรษาที่วัดธาตุทองต้องจ่ายเงินแสนเพื่อจะเข้าสู่กุฏิได้ ??

อีกมากมาย…… (อยากรู้เรื่องต่อก็ต้อง ติดตามตอนสองอ่านเอา…)


คำรำพึงจากภาพ…

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 22, 2008 เวลา 15:28 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2497

“รูปภาพหนึ่งรูปแทนหนึ่งพันคำพูด”

เป็นคำเปรียบเทียบที่มีความจริงมาก  แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ใครที่นอนใจในคำเปรียบเทียบดังกล่าวมากเกินไปก็อันตราย โดยเฉพาะท่านที่นั่งอยู่ในตำแหน่งที่ต้องตัดสินใจ ต้องฟันธง ด้วยความบีบคั้นในหลายๆเงื่อนไข

หากผู้ถ่ายภาพนี้ไม่อธิบายแล้วถามแต่ละท่าน

คงได้คำตอบที่อาจจะไม่ต่างกันมากนัก เช่น โอยน่าสงสารจัง ที่ไหนเนี่ยะ น้ำท่วมมิดเลย  ชาวบ้านคงแย่แล้ว ปีนี้เจ้าของที่นาตรงนี้คงไม่มีข้าวกินแล้ว..ฯลฯ…

คำคาดเดาน่าที่จะอยู่ในแนวทางนั้น

แต่ความจริงมีส่วนถูกบ้างแต่ไม่มาก เพราะภาพนี้ถ่ายน้ำท่วมจริง แต่เป็นพื้นที่ แก้มลิงของจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่เป็นพื้นที่ที่น้ำจะท่วมเช่นนี้ทุกปี  ย้ำทุกปี ชาวบ้านเขารู้เขาจึงไม่ใช้พื้นที่นี้ปลูกข้าวในฤดูฝน  แต่จะใช้ปลูกข้าวในฤดูแล้งโดยสูบน้ำจาก “ลำปาว” ฤดูฝนก็จะปล่อยให้น้ำมันท่วมเช่นนี้  และเป็นผลดีเสียอีก  เพราะเมื่อน้ำท่วม ก็จะได้ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติ

กระต๊อบ ที่น้ำท่วมเกือบมิดนี้ คือเถียงนาที่ชาวบ้านปลูกแบบชั่วคราวไม่ได้ใช้ในฤดูน้ำหลาก แต่จะไปใช้ในช่วง “ทำนาปรัง”

แค่นี้ก็ทำให้เราซึ้งในหลักกาลามาสูตร  ที่ท่านกล่าวว่า อย่าเชื่อ เพราะ….อย่าเชื่อเพราะ….อย่าเชื่อเพราะ…..แต่จงเชื่อเมื่อท่านพิสูจน์ด้วยตัวท่านเองแล้ว

สื่อสารจำนวนมากถูกนำมาใช้บิดเบือนตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่ต้องการบิดเบือน

สังคมสมัยนี้จึงซับซ้อนมากขึ้น  มากขึ้น จนหลอมให้คนเราในปัจจุบันและอนาคตห่างไกลการไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพราะขาดคุณธรรม

ยิ่งสังคมที่สร้างอุดมการณ์เพื่อการยืนอยู่บนเงื่อนไขที่เหนือกว่าผู้อื่น ยิ่งซับซ้อนจนน่ากลัว

ความมืดไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว  ความสว่าง ตัวเป็นๆ นี่แหละน่ากลัวยิ่งนัก

ทุนเดิมทางสังคมเรามีดีมากมาย

ก็เป็นเพียงคำบอกกล่าว เล่าสู่กันฟังระหว่าง generation เท่านั้นมั๊ง…


ตอก….(2)

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 19, 2008 เวลา 16:37 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 4351

ผมคุ้นชินกับตอกมัดข้าว เพราะในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม เลยไปจนถึงเดือนหน้าคือ พฤศจิกายน อีสานจะเห็นการจักตอกมัดข้าวกันทั่วไป และเห็นชาวบ้านเอาตอกกมาตากแดดกันที่ลานหน้าบ้านกัน เรามีความรู้เรื่องตอกมัดข้าวแค่ไหน… และปัจจุบันมันกลายเป็นธุรกิจชาวบ้าน หรือตัวทำเงินของชาวบ้านไปแล้ว (ผมเองก็เพิ่งทราบ) และจะเกี่ยวเนื่องกับอะไรหลายอย่างทีเดียว ลองพิจารณาดูกันนะครับ

· ท่านทราบไหมว่าตอกสั้นกับตอกยาวนั้นมีขนาดความยาวเท่าไหร่ : ตอกสั้นนั้นมีขนาด 80 เซนติเมตรครับ ส่วนตอกยาวมีขนาด 1.10 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร 10 เซนต์

· ทำไมเป็น 80 และ 110 เซนติเมตร : ไม่จำเป็นต้องเท่านี้หรอก แล้วแต่ความต้องการของชาวนาคนนั้นๆ แต่โดยค่าเฉลี่ยทั่วไปที่นิยมกันเป็นขนาดดังกล่าวนี้

· ทำไมต้องมีสองขนาดความยาว : ขนาดสั้นเหมาะสำหรับมืออาชีพ ชาวนาที่จัดเจนในการมัดข้าว ส่วนตอกขนาดยาวสำหรับมัดข้าวสองรอบ ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่นิยมใช้ขนาดยาวเพราะสร้างความมั่นใจว่ามัดแล้วแน่นหนา ไม่หลุดง่ายซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหาย

· ไผ่อะไรที่ดีที่สุดในการทำตอกมัดข้าว : ชาวนาหลายคนบอกว่าไผ่บง เพราะมีความเหนียว แต่หลายคนก็บอกว่า ไผ่ป่า และไผ่บ้าน

· ไผ่อายุขนาดไหนที่เหมาะแก่การทำตอก : ใช้วิธีดูเนื้อไม้ไผ่ ที่ไม่แก่เกินไปและไม่อ่อนเกินไป หากแก่เกินไปความเหนียวจะลดลง หากอ่อนเกินไป ก็ขาดง่าย ชาวนาที่จัดเจนเท่านั้นจะเป็นผู้รู้ว่าไผ่ลำไหนมีความเหมาะสม

· ตอกที่ทำเป็นเส้นแล้วทำไมต้องเอาไปตากแดด : เพราะต้องการทำให้แห้ง สนิท มิเช่นนั้นจะขึ้นรา หรือเชื้อราจะมาเกาะกินทำให้เสียคุณภาพไป


· การตากแดดที่มีความเหมาะสม ควรเป็นอย่างไร : ไม่แห้งเกินไป ไม่สดเกินไป ควรตากแดดประมาณ 4 แดด ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณแดด และความจัดเจนของชาวนาที่ทำตอก

· ตอกที่ตากแดดครบ 4 แดดแล้วเวลาใช้ต้องทำอะไรบ้าง : เวลาเอาตอกเหล่านี้ไปใช้ต้องพรมน้ำก่อน หรือจุ่มลงน้ำพอเปียกแล้วมาสลัดให้น้ำหลุดออกไป ทั้งนี้เพื่อฟื้นเนื้อไผ่ให้มีปริมาณน้ำติดเนื้อไผ่บ้างซึ่งน้ำจะทำให้เกิดความนุ่มและเหนียวตอนมัดข้าว ซึ่งหากเอาไปใช้ก็จะแตก หัก

ผมพยายามลองสอบถามปริมาณตอกที่ใช้ว่า นา 1 ไร่ต้องใช้ตอกจำนวนเท่าไหร่ หมายถึงกี่มัด กี่เส้น ผมไม่ได้คำตอบ แต่นายอภิชาต วังคะฮาต หนุ่มรูปบนสุดนั้น เขาคำนวณให้ดูว่า นาที่ผลิตข้าวเปลือกได้จำนวน 200 ถุงปุ๋ยนั้น จะต้องใช้ ตอกเส้นจำนวน 6,000 เส้น หากต้องซื้อจะคิดเป็นเงินประมาณ 600-700 บาท

จากปรากฏการณ์ที่ผมพบเห็นผมคิดไปหลายเรื่องคือ

· เดี๋ยวนี้การจักตอกกลายเป็นธุรกิจชาวบ้านที่ทำเงินไปแล้ว

· กรณีนางบัวเรือน ผิวขำ บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี ต้องจ่ายเงินสดไปเป็นจำนวนเกือบแสนบาท(กู้มาจาก ธกส.ห้าหมื่นบาท) สั่งตอกมาตุนไว้ขาย และความจริงเธอขายผ้านวมและถ้วยชามด้วย ในทุกวันพฤหัสบดีจะเอาไปขายที่ตลาดนัดหน้าอำเภอคำชะอี (ผมไม่มีเวลาตามไปสังเกตการณ์)

· แหล่งผลิตตอกมัดข้าวอยู่ที่ อ.นาเหนือ จ.ลำปางและเพชรบูรณ์ และน่าที่จะมีที่อื่นอีกที่มีป่าไผ่ เช่นจังหวัดเลย นครราชสีมา ชัยภูมิ ฯลฯ ไม่แน่ใจว่าจะมีอาชีพนี้หรือไม่…

· แหล่งผลิตเหล่านั้นมีปัญหาเรื่องการตัดไผ่บงมากเกินไปหรือเปล่า เมื่อเป็นธุรกิจ ไผ่บงที่ปลูกอาจเติบโตไม่ทัน ต้องเอามาจากป่า แล้วป่าบงถูกทำลายไป วงจรชีวิตอื่นๆจะเป็นอย่างไรบ้าง ห่วงโซ่อาหารได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างต่อระบบนิเวศท้องถิ่นที่ไผ่ลดน้อยลงและจะหมดไป คนที่ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ทราบดีว่ามักจะไปเอาเชื้ออินทรีย์ธรรมชาติมาจากขุยโคนไผ่ในป่า

· แสดงว่าไผ่บงในอีสานมีน้อยลงมาก จึงไม่เพียงพอต่อการทำตอก

· ทำไมชาวนาต้องซื้อตอก ทำไมไม่ทำเอง อาจเป็นเพราะหลายเหตุผล อะไรคือเหตุผลหลัก

· ราชการ เช่น กรมป่าไม้ อบต. อำเภอ จังหวัด เข้ามามีส่วนรับรู้และคิดอ่านเรื่องนี้อย่างไรบ้าง…..

· หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทำไมต้องมีการสั่งซื้อข้ามภาคให้เปลืองพลังงานและราคาก็น่าจะสูงกว่าหากมีการผลิตภายในภาค หากไม่มีไผ่บง อบต.ทำแผนงานปลูกไผ่บง และไผ่อื่นๆ ในระยะยาวเพื่อทำธุรกิจนี้ได้ไหม

· คนข้างกายบอกว่า ตอก เป็นสินค้านำเข้ามาจากฝั่งลาว ราคา 1000 เส้นละ 45 บาท และทำมาจาก ไผ่พุงเข้าที่อุบลราชธานี (น่าจะหลายช่องทาง หรือน่าจะเป็นตลอดแนวไทยลาวด้วยเช่นกัน) ราคาตอกนำเข้าจากลาวถูกกว่าราคาตอกที่มาจากลำปางเกือบเท่าตัว

· ฯลฯ

นี่คือวิถีชุมชน ชาวบ้านก็ดิ้นรนไปตามจังหวะชีวิต เมื่อใครเห็นลู่ทางอะไรอย่างไร ก็ดิ้นรนกันไป

มีหน่วยงานใดบ้างที่ก้าวเข้าไปให้ความรู้ในเรื่องการจัดการ ศึกษาผลกระทบต่อป่า ต่อวิถีวงจรชีวิตที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในเรื่องนี้ ให้ความรู้ในสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่ชาวบ้านผู้เกี่ยวข้องเรื่องเหล่านี้

มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กเกินไปสำหรับรัฐบาล กระทรวงทบวงกรมต่างๆ มันอาจจะไม่น่าสนใจต่อนักวิชาการมหาวิทยาลัย ที่สนใจเรื่องใหญ่ๆ

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเกิดมานานแล้ว แต่ผมเพิ่มจะรู้ ในทัศนะผม ไม่ใช่เรื่องเล็ก และเป็นรูปธรรมของการพึ่งธรรมชาติของอาชีพชาวนา จึงต้องตั้งประเด็นขึ้นในโครงการแล้วหละครับ….



Main: 0.12978911399841 sec
Sidebar: 0.053457021713257 sec