บันทึกของบางทราย..

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 6, 2010 เวลา 22:58 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2089

ผมรับผิดชอบงานโครงการฯ ที่มุกดาหารมาหลายปีตั้งแต่ อาว์เปลี่ยนอยู่ พอจบ Phase แรกก็รับงานชั่วคราวของบริษัทที่ลาว และไม่นานก็ต่อโครงการฯ ซึ่งไม่เรียก Phase 2 เรียกระยะขยายเพราะยังใช้งบประมาณที่เหลือจาก Phase 1

ในช่วง Phase 1 นั้นผมเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆจากงานที่รับผิดชอบ ส่วนใหญ่เป็นแง่คิด มุมมองของผมเองแล้ว mail ไปให้เพื่อนร่วมงานที่อยู่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร ให้ได้รับรู้สิ่งที่ผมสื่อไป จริงๆหวังจะได้รับการ feed back กลับมา แต่แปลกครับ ไม่มีเลยซักฉบับเดียว

จริงๆการเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องงานนั้น ผมทำมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่อยู่โครงการ On Farm Water Management Project ของรัฐบาลฮอลแลนด์ ที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ตอนนั้นผมมีส่วนช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สนามและออกไปเยี่ยมสนาม น้องๆที่กระจายอยู่ตาม “ตอนส่งน้ำ” ของระบบส่งน้ำเขื่อนลำปาว มีเจ้าหน้าที่สนามเกือบ 30 คน

เนื่องจากเจ้าหน้าที่เป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบจากวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เรียกว่าเด็กใหม่ การฝึกอบรมก็ทำเต็มหลักสูตรซึ่งนานเป็นเดือน..!! ย้ำว่าเป็นเดือน เพราะต้องมี Session ของการฝึกจริงในสนาม หรืออาจะเรียกว่า OJT หรือ On the Job Training แล้วก็กลับเข้ามาห้องเรียน คุยกัน…

ผมทำหน้าที่ ออกเยี่ยมสนาม เยี่ยมน้องๆที่เป็นเด็กใหม่ หรือ มือใหม่ พบว่า เนื้อหาสาระที่เขาเรียนในห้องเรียนนั้น พอออกมาสนามจริง หลายเรื่องเขาทำได้ดี แต่ก็มีหลายเรื่อง “ไปไม่เป็นเลย” เมื่อผมเห็นก็เติมเต็มกันในสนามนั่นเลย แต่ก็คิดว่าน่าจะยังไม่พอ ผมจึงกลับมาเขียน สาระเรื่องราวต่างๆเพิ่มเติม ในลักษณะ Memo แล้วขออนุญาต Project Leader ใช้กระดาษ A 4 ทำสำเนาแจกให้น้องๆทุกคนในทุกสัปดาห์… นี่คือบันทึกครั้งแรก

แล้วผมก็เอามาใช้อีกในงานในปัจจุบัน

วันหนึ่งเราไปดูงานสวนโลกที่เชียงใหม่ น้องกาเหว่า(นศ.ปริญญาเอก มข.)มาบอกว่า พี่เขียนอย่างนี้ เอาไปลง Blog ดีกว่า.. ช่วงนั้นผมไม่รู้จัก Blog ด้วยซ้ำไป จึงศึกษาและเข้าไปเขียนจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ชื่อ เรื่องเล่าจากดงหลวงใน G2K และในลานดงหลวง ที่ Lanpanya นี่ พบว่าที่ทำงานไม่มีใครเข้าไปอ่านเลย มีเปลี่ยนคนเดียว นอกจากนี้ผมยังทำ www เฉพาะกลุ่มของโครงการที่  http://portal.in.th/alroproiad/ แต่พบว่าไม่ work เพราะไม่มีใครในโครงการเข้าไปใช้ประโยชน์ มีแต่ เอาข้อมูลใส่เข้าไป ใส่เข้าไป ผมก็เลยหยุด…ค้างคาไว้แค่นั้นเสียเวลาเปล่าๆ..??

ช่วงนั้น ผู้ประเมินผลโครงการจากญี่ปุ่นมาทำ Terminal Evaluation และทราบว่าผมเขียนบันทึกจึงศึกษาและสนับสนุนให้ผมทำต่อเนื่อง ทางโครงการจึงมอบตำแหน่ง KM expert ให้ในโครงการระยะขยายนี้ อิอิ จริงๆผมไม่ใช่ expert เลย ก็เป็นแค่คนพยายามเขียนความคิดเห็นของตัวเองออกมาเท่านั้น

เนื่องจากโครงการฯกำลังจะสิ้นสุด ท่านรองเลขาธิการ ส.ป.ก. mail ไปหาผมเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ให้รวบรวมบันทึกของผมทั้งหมด ตรวจสอบ ทบทวน ปรับปรุง แล้วพิจารณาพิมพ์….”


กรรมชิน 1

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2010 เวลา 13:43 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3220

หลายท่านอาจจะจำภาพนี้ได้ เมื่อเฮ 3 เราไปจัดกันที่อ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เมื่อเดือน พ.ย. 2550 ครั้งนั้นมีโปรแกรมหนึ่งคือขึ้นไปบนภูเขาสูงเพื่อทานอาหารกลางวันและกราบพระอาจารย์นรินทร์ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำน้ำริน



เมื่อต้นสัปดาห์นี้ผมขึ้นไปกราบท่านอีกครั้ง เพราะท่านขอความร่วมมือในการติดตามเรื่องของกรมป่าไม้ที่มาออกเอกสารวัดในป่าให้ท่าน แต่รายละเอียดผิดพลาดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผมติดตามเรื่องให้ท่าน จึงขึ้นไปส่งเอกสารคืนและเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ท่านทราบ

ถือโอกาสคุยกันไปหลายเรื่อง ท่านยังพูดถึงเฮ 3 ว่าญาติโยมมากันเยอะนะ ซึ่งท่านก็ยินดี ท่านพระอาจารย์ยังหนุ่มแน่นเป็นชาวสมุทรปราการ กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของพระอาจารย์สมชาย แห่งเขาสุกิม จันทรบุรีที่โด่งดัง เพราะพระอาจารย์สมชายท่านเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ใครๆที่สนใจพระเกจิอาจารย์ย่อมรู้จักท่านดี…


ผมขึ้นไปกราบท่านคนเดียว วันนั้นท่านก็อยู่รูปเดียว เลยสนทนากันนานกว่าสามชั่วโมง และผมใช้เวลาอีกกว่าสามชั่วโมงระหว่างทางไปถ้ำและลงจากถ้ำ เพราะผมแวะชื่นชมต้นไม้ ธรรมชาติกลางป่าคนเดียว มันเป็นความสุขแบบอธิบายไม่ได้ว่าการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติคนเดียวนั้นเป็นเช่นใด เสียงธรรมชาตินั้นไพเราะกว่าเพลงที่เพราะที่สุดในโลก สีสันธรรมชาตินั้นสวยกว่าภาพที่งามที่สุดในโลก ผมรักธรรมชาติ.

ผมกับพระอาจารย์คุยกันหลายเรื่อง ในที่สุดก็มาลงที่กลุ่มไทโซ่ ที่ท่านเดินลงเขาไปบิณฑบาตทุกวัน และได้อาศัยแรงงานมาช่วยก่อร่างสร้างสำนักสงฆ์ถ้ำน้ำรินแห่งนี้ด้วย ข้อสรุปของท่านคล้ายกับของผมมาก แต่ท่านใช้คำทางธรรมว่า ไทโซ่นั้นมีลักษณะ “กรรมชิน” ตอนแรกผมงง เอ๊ะ ท่านพูดภาษาเกาหลีหรือญี่ปุ่น ฟังไปๆ อ๋อ…เป็นคำที่ได้ยินเป็นครั้งแรกสำหรับศัพท์ตัวนี้


อาว์เปลี่ยน กับผมคลุกคลีกับพี่น้องไทโซ่มานาน และมีสำนึกน้อมนำความเป็นไทโซ่เข้ามาในตัวเราเอง ตามหลักของในหลวงที่กล่าวว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยเรามีความเชื่อพื้นฐานอยู่ก่อนแล้วว่า คนเราพัฒนาได้ แม้ว่าเขาจะเป็นคนป่าคนดง คนชายขอบ หรือจะอยู่ที่ไหนๆก็ตาม เพียงแต่การใช้เทคนิค การใช้เวลา การใช้กระบวนการ วิธีการ แนวทาง อุบาย ฯลฯ อาจจะแตกต่างจากกลุ่มคนอื่นๆบ้าง ก็ขึ้นกับ “การออกแบบ” ของเราผู้เข้าไปเรียนรู้เขานั่นเอง อาจะเรียกมุมนี้ของนักพัฒนาว่า เป็นวิศวกรสังคม หรือ สถาปนิคสังคมก็แล้วแต่

พระอาจารย์นรินทร์: โยม ครูบาอาจารย์ท่านผ่านกลุ่มคนเหล่านี้มาก่อนท่านเรียกว่า ไทยขาว ไทยดำ.. “ไทยขาวหมายถึงกลุ่มผู้ไท ไทยดำหมายถึงไทโซ่” พระอาจารย์ท่านสรุปลักษณะของสองกลุ่มนี้ว่า

ไทยขาวนั้น ขยัน เรียนหนังสือ อดทน รักความก้าวหน้า มีศรัทธาในศาสนา นิยมรักษาศีล เข้าวัดเข้าวามาก น้อมนำคำสอนของพระมากกว่า ผิวพรรณดี ปลูกยางพาราก่อน[(อาจารย์นรินทร์ยกกรณีนายวันชัย พ่ออามาตย์) วันหลังจะเขียนเรื่องนี้]

ส่วนไทยดำนั้น ชอบอยู่ป่า ติดการเข้าป่า พอเพียง ยึดติดประเพณี นิยมให้ทานมากกว่ารักษาศีล นับถือผี และ “กรรมชินหรือความเคยชิน” (ต่อตอนสองนะครับ)


ช่วงเวลาที่ดำมืดของดงหลวง….

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 26, 2009 เวลา 23:03 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2469

ผมมีงานที่จะต้องทำอยู่ชิ้นหนึ่งกับพี่น้องเครือข่ายไทบรู ดงหลวง คือการพูดคุยกันถึงเรื่องระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรมแบบดงหลวง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเราจึงเชิญสมาชิกเครือข่ายไทบรูประมาณ 35 คนมา โดยเอาเวลาชาวบ้านเป็นหลักและเน้นสบายๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไรให้บรรยากาศเกร็งเกินไป


ผมถามชาวบ้านว่าใครอายุมากกว่า 55 ปียกมือขึ้น มี 16 คน นอกนั้นต่ำกว่า จึงให้น้องที่ทำงานแยกกลุ่มชาวบ้านนั้นออกไปนั่งใต้ต้นไม้ ที่มีกองฟาง จึงใช้มารองนั่งได้ น้องจะพูดคุยกับชาวบ้านในหัวข้อ ระบบการปลูกพืชในปัจจุบัน และวัฒนธรรม ประเพณีที่ยังปฏิบัติกันอยู่ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร


ส่วนผมนั้นอยู่กับกลุ่ม สว. คุยกันเรื่องพัฒนาการไทบรูในอดีตจนถึงปัจจุบัน และลงรายละเอียดแต่ละเรื่องเท่าที่เวลาจะอำนวย ความจริงเรื่องเหล่านี้เรามีข้อมูลอยู่แล้ว แต่การมาจัดพูดคุยกัน เพื่อ ตรวจสอบข้อมูล และเติมเต็มในส่วนที่เราต้องการเจาะลึกลงไป


บุคลากรในรูปนั้น อดีต คือ ทปท. หรือทหารปลดแอกประชาชนไทย บางคนมีตำแหน่งเป็นนายพัน ที่คุมงานสำคัญมาแล้ว บางคนเป็นฝ่ายเสบียง บางคนเป็นฝ่ายสร้างมวลชน บางคนเป็นผู้ผลิต บางคนเป็นหมอ ฯลฯ ล้วนทำหน้าที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาแล้วทั้งสิ้น..

บางตอนที่เราพูดคุยกันนั้น ผมสะอึก เหมือนมีอะไรจุกอยู่ที่ลำคอ

บางทราย: พี่น้องครับ ผมอยากเรียนรู้ว่าสมัยที่ท่านเข้าป่าไปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง…


พ่อสำบุญ: พ่อสำบุญพูดออกมาก่อนคนอื่นเลยว่า..อาจารย์ครับ ผมไม่อยากพูด มันยังแค้นอยู่….

บางทราย: ผมสังเกตใบหน้าพ่อสมบุญ นัยน์ตาท่านแดงกล่ำขึ้นมา..ผมตกใจเล็กๆ พยายามอธิบายว่า ผมไม่ต้องการรื้อฟื้น หรือไปสะกิดแผลใดๆให้บรรยากาศชุมชนเราเสียไป แต่เพียงผมอยากเรียนรู้ความเป็นไปของชุมชนนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากพ่อๆไม่สบายใจก็ไม่ต้อเล่าให้ฟังก็ได้ครับ..

พ่อสำบุญ: ผมจะเล่าให้ก็ได้….เราถูกทหารตำรวจกระทำเกินไป ญาติ พี่น้องของพวกเราถูกกระทำเกินไป ใช้อำนาจบาดใหญ่ปฏิบัติกับเราอย่างไม่ใช่คน ชีวิตเราอยู่กับป่า เมื่อว่างจากงานประจำเราก็เข้าป่าไปหาของป่ามากิน มาแบ่งปันกัน ทหารมาตั้งฐานที่อำเภอ แล้วสั่งให้ชาวบ้านทุกคนรายงานตัว แล้วใครจะเข้าป่าต้องไปเอาบัตรที่อำเภอก่อน ซึ่งจะให้บัตรประมาณเวลา เก้าโมงเช้า และจะต้องกลับจากป่าก่อนสี่โมงเย็น มิเช่นนั้นจะถูกสอบสวนและลงโทษรุนแรง

เพราะระยะนั้นมี บุคคลสำคัญของ พคท.มาอาศัยในป่าแล้ว ทหารทราบ และพยายามกันมิให้ชาวบ้านติดต่อ หรือสนับสนุน หากทหารสงสารใครก็จะลากตัวไป ชาวบ้านนั้นตั้งตัวไม่ติด ไม่ชินกับมาตรการต่างๆ ทำตัวไม่ถูก และมีพี่น้องจำนวนมากถูกลากตัวไปลงโทษอย่างรุนแรง ป่าเถื่อน เช่น เตะ เอาท้ายปืนตี หากใครไม่ยอมรับ มีหลายคนถูกจับขึงพืดกางแข้งกางขา โดยไม่มีเสื้อผ้าทั้งชายหญิง เอาไฟลนอวัยวะเพศ….

ครั้งหนึ่งที่บ้านก้านเหลืองดงมีงานวัด ตามประเพณีท้องถิ่น ทหารสั่งว่าใครจะไปเที่ยวงานกลางคืนต้องเอาไฟที่ทำเป็นคบเพลิงไปด้วย ผมก็ไปกับเพื่อนบ้านกันหลายคน เดินกันเป็นแถว คนเดินนำหน้ามีไฟ แต่คนสุดท้ายไม่มี มันเตะเสียข้อมือหักเลย….

มันอยากกินไก่ กินเป็ดก็เอาไปเฉยๆ กลางคืนมีไฟบนยอดเสาสว่าง มันก็เอาปืนยิงซะแตกละเอียดเลย ส้มสูกลูกไม้ มะละกอ มันก็เอาปืนยิงเอา

ที่ร้าย มันขึ้นบ้านไหน ลูกเมียใครหน้าตาดีดีมันก็เอาไปนอนด้วย สุดที่จะมีใครขัดขืนได้ บางคนมีญาติพี่น้องขัดขืนมันก็ยิงตายไปบ่อยๆ แล้วก็ออกข่าวว่าเป็นสายคอมมิวนิสต์ เวลามันจัดงานมันก็เอาพวกสาวๆในหมู่บ้าน เอาครู มาเสริฟอาหาร เหล้ายาปลาปิ้ง แล้วมันก็เอาไปนอนด้วย….

ใครบางคน: อาจารย์..พวกผมน่ะไม่รู้จักเลยว่าคอมมิวนิสต์มันเป็นอย่างไร แต่ที่เข้าป่าก็เพราะทนไม่ได้ต่อเรื่องเหล่านี้ บุคคลดังๆที่เป็นนักการเมืองทั้งเหลืองทั้งแดงนั้น เคยอยู่กับพวกเรามาแล้ว

พ่อสำบุญ: อาจารย์…. ผมสุดทนอีกต่อไป วันหนึ่งมีงานที่อำเภอ ผมนัดสหายป่าสามคน อาวุธครบมือ ปนมากับชาวบ้านเพื่อมาสังหารนายพันท่านนั้น…แต่แล้วบุญเขายังมีอยู่ วันนั้นเขาไม่มาในงาน…..

……

ช่วงที่เราออกจากป่ามาแล้ว ทางราชการจัดงานใหญ่ แล้วเอานายทหารท่านนั้นมา…เขามาขึ้นเวทีใหญ่ มากล่าวขอโทษ มากล่าวสำนึกการกระทำที่ผิดพลาดไปแล้ว นายทหารท่านนั้นร้องให้กลางเวที…

……

ผมปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปจนไม่ได้ควบคุมตามกำหนดการ ปล่อยให้ความพลั่งพรูของพี่น้องปลดปล่อยสิ่งดำมืดในอดีตออกมา

ก่อนที่เราจะหยุดพักกินข้าวกลางวันที่เป็นอาหารพื้นเมืองง่ายๆ ลาบหมู กับต้มไก่บ้าน ส้มตำ ข้าวเหนียวเยอะๆ ชาวบ้านต่างอิ่มหนำสำราญ..

ผมแอบไปนั่งทบทวนสิ่งที่ได้รับมาทั้งหมด.. ใจผมหลุดลอยเหมือนย้อนไปเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมา…เห็นใบหน้าพี่น้องที่ดำกร้าน นัยน์ตาแสดงความรู้สึกที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ

แต่วันนี้ เขาสลัดสิ่งเหล่านั้นไว้ในหลุมดำหมดแล้ว เขารวมกลุ่มกันใหม่ แต่เป็นกลุ่มเพื่อการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง ท่ามกลางกระแสทุนที่ยั่วยวนจิตใจเราให้คล้อยตามไปทุกวินาที

ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมพี่น้องบรู หรือไทโซ่ดงหลวง ผมมองตาท่านเหล่านั้น ผมสัมผัสเรื่องราวย้อนหลังไปได้มากกว่า 50 ปี…. ค่อยๆก้าวไปกันเถอะ

เราไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะมาเนรมิตใดๆ มีแต่ร่วมคิดร่วมทำ เราตระหนักพระราชดำริของในหลวงที่พระราชทานไว้ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา…”


คราม..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 9, 2009 เวลา 21:51 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 4610

คนที่บ้านผมคลั่งผ้าครามยิ่งนัก ท่องไปที่ไหนพบผ้าครามเป็นคว้ามาเต็มตู้ไปหมด โดยเฉพาะฝ้ายครามสวยๆที่ย้อมด้วยกรรมวิธีโบราณนั้น ผมเองก็ชอบครับ


ก็สีสวย ตัดเสื้อผ้าใส่ก็งดงาม ภูมิฐาน และสามารถตัดเสื้อได้ตั้งแต่ ฮ่อมไปจนเชิ้ต และสูทงามหรู

เท่าที่ทำงานพัฒนาชนบทมานั้นเราพบหมู่บ้านที่ทอผ้าฝ้ายและย้อมครามหลายแห่ง แต่ละแห่งก็สวย แต่ที่ติดตาติดใจก็ต้องที่สกลนคร กลุ่ม ผู้ไท กะเลิง ญ้อ แถบ อ.กุดบากและ ผ่านทีไรเสียเงินทุกที..


ผู้ไทที่เรณูนคร หรือคำชะอีก็ไม่แพ้ใครครับ กลุ่มแม่บ้านใช้เวลาว่างทอส่งขายทั้งแปรรูปมากมาย เป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพรองไปเลย โดยเฉพาะกลุ่มศิลปาชีพ ทุกปีผู้แทนสมเด็จท่านจะมาตระเวนรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านไป ท่านคงทราบดี


ที่ทำเงินทำทองเป็นกอบเป็นกำคงมีหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็ที่บ้านภู อ.กุดบาก กลุ่มแม่บ้านโดยการสนับสนุนของ NGO มาส่งเสริมการผลิตและพัฒนาฝีมือจนส่งออกไปญี่ปุ่นนานหลายปีมาแล้ว และอีกหลายอำเภอของสกลนครนั้นมีกลุ่มทอและ “ผลิตคราม” ส่งขายมาภาคเหนือด้วยซ้ำไป คนข้างกายบอกว่าทำเงินปีละนับสิบล้าน????


กลุ่มไทโซ่ ดงหลวง ของอาว์เปลี่ยน ก็มีผลิตบ้างแต่ในมุมมองของผมเห็นว่าไม่เด่นโดดอย่างของสกลนคร

วันนี้ไม่ได้มาขายเสื้อผ้าครามนะครับ แต่ระหว่างนั่งรถกลับบ้านขอนแก่น มีน้องที่ทำงานที่เป็นผู้ไท อ.นาคูนั่งรถมาด้วยก็คุยกันถึงเรื่องนี้ แล้วเธอก็บอกว่า

พี่..คนโบราณนั้นเขาใส่แต่เสื้อย้อมครามผ้าฝ้ายทั้งนั้น ไม่ว่างานไหนๆ หน้าร้อนก็ไม่ร้อน หน้าหนาวก็อุ่น ผมเองก็ตอบว่าเห็นด้วยเพราะเคยใช้มาพอสมควร

เธอคุยต่อไปอีกว่า พี่.. แม่หนูบอกมาตั้งแต่หนูยังเด็กๆว่า หากโดนสัตว์กัด ต่อย เช่น มด แมลงละก็ หายาหม่อง ยาแก้อื่นๆไม่ได้ ก็ให้เอาผ้าฝ้ายที่ย้อมครามนี้ไปชุบน้ำหมาดๆ อิงของร้อนๆแล้วเอามานาบลงตรงที่สัตว์มากัด ต่อย รับรองได้ผลชะงัด..


อีกอย่างที่คนโบราณใช้กันมานานคือ หากเข้าป่าขึ้นดอย เกิดไปกินผิด เช่น กินเห็ดมีพิษเข้าละก็ ให้เอาผ้าฝ้ายย้อมครามนี้มาแช่น้ำในขัน สักพักหนึ่ง แล้วให้เอาน้ำในขันนั้นมาดื่มกิน ได้ผลมามากต่อมากแล้ว

หนูเองก็ไม่เคย..แต่มีครั้งหนึ่งหนูใส่เสื้อผ้าครามเข้าไปชนบทที่กาฬสินธุ์ มีพ่อเฒ่าคนหนึ่งเดินมาจับเสื้อหนูแล้วก็ออกปากขอดื้อๆ ว่าอยากได้ผ้าฝ้ายย้อมครามโบราณแบบนี้มานานแล้ว จะเก็บเอาไว้ และเพื่อใช้แก้กินผิดกินเบื่อดังกล่าวด้วย… ผู้เฒ่าอ้อนวอนจนเธอต้องยกให้ทั้งๆที่บอกว่าหนูใช้ใส่แล้วมันสกปรก แกก็ไม่ถือ….

ผมขับรถไป ใจหนึ่งก็น้อมรับความรู้นี้

แต่อีกหลายคนคงส่งเสียง หึ.. หึ.. อยู่ในลำคอ


ไม้ข่มเหง

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 12, 2009 เวลา 2:03 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2753

ผมไม่ได้ไปข่มเหงใคร และใครก็ไม่ได้มาข่มเหงผมหรอกครับ …

แล้วคำนี้เกี่ยวกับรูปที่เอามาแสดงอย่างไร หลายท่านคงสงสัย


เมื่อเข้าที่ทำงานตอนเช้าวันนี้ก็มีโน๊ทบนโต๊ะทำงานกล่าวว่า พ่อไข วงศ์กระโซ่เสียชีวิตแล้ว จะเผาวันนี้ ขอเชิญ…เข้าร่วมงานศพด้วย

พ่อไข เป็นผู้นำชาวบ้านที่เราสนิทสนมด้วยตั้งแต่แรก พ่อไขเป็นกลุ่มคนแรกๆที่ดงหลวงที่ทดลองทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพเพื่อใส่พืชผักต่างๆจนได้ผล พ่อไขทำเกษตรผสมผสานให้คนอื่นๆดู ขุดสระน้ำ เอาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กินได้ ตามแนวคิดของเครือข่ายอินแปงแห่งสกลนคร

พ่อไขยังมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นมัคทายกวัด ดูแลเอาใจใส่พระสงฆ์องค์เจ้าทุกด้าน


วัย 70 เศษที่มาล้มป่วยด้วยเรื่องของตับ เร่ร่อนไปรักษาตามโรงพยาบาลมามากมายทั้งของรัฐของเอกชน ทั้งสมุนไพร ..แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

กว่าผมจะเสร็จงานที่ทำงานก็บ่ายแก่แล้ว รีบเดินทางประมาณ 60 กม.เข้าดงหลวงมาถึงบ้านงานพบว่าเคลื่อนศพไปสถานที่เผาแล้ว ผมยิ่งงงเพราะเขาใช้สวนของพ่อไขเป็นสถานที่เผาศพ ไม่ได้ใช้วัด หรือป่าช้า ทั้งนี้เป็นไปตามความต้องการของลูกหลาน โดยเฉพาะกลุ่มไทโซ่ ที่จะเอาบรรพบุรุษไปเผาและเก็บกระดูกไว้ที่สวน ที่นาของเจ้าของ

ผมได้เห็นพิธีแบบชาวบ้านที่แปลกตาไปจากแบบเมือง การกองฟืนแล้วเอาศพไปวางไว้ข้างบนนั้นทางภาคกลางเรียก “เผามอญ” หลังจากพระทำพิธีแล้วญาติสนิท มิตรสหายเอาน้ำมะพร้าว และน้ำพิเศษชนิดหนึ่งไปรดลงใบหน้าศพ ครบถ้วนแล้ว ก็จะทำพิธีเผา

เห็นชาวบ้านช่วยกัน ยกไม้ขนาดใหญ่มากจำนวน 4 ต้นเอามาวางพิงทับโลงศพด้านละสองต้น ดังภาพ

ผมถามผู้นำชาวบ้านว่า ไม้ใหญ่ที่เอามาอิง มาทับนั้นทำไว้ทำไม… ผู้นำบอกผมว่า เอามาทับไม่ให้เวลาเผาศพ เผาโลงแล้ว โลงจะกลิ้งตกลงมาเพราะการเผาไหม้น่ะซี เขาเรียกไม้สี่ต้นนี้ว่า “ไม้ข่มเหง” ผมฟังไม่ผิดครับเพราะซักผู้นำจนมั่นใจว่าเรียกเช่นนั้นจริงๆ เป็นคำเดียวกับ ข่มเหง นั่นแหละ ผู้นำคนนั้นยืนยัน

เอาไม้ใหญ่ไปวางทับเพราะต้องการ “ข่มเหง” โลงศพไม่ให้ไหลกลิ้งลงมาช่วงเผานั่นเอง…..

(ใช้มือถือถ่ายรูปช่วงเย็นมากแล้วจึงไม่ชัด)


ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 2

อ่าน: 3856

การพัฒนาแก่ง จุดเริ่มของปัญหา..?

เมื่อฤดูฝนผ่านไปน้ำในแม่น้ำชีลดลง ก็ดึงเอาน้ำในแก่งละว้าไหลออกเป็นปกติที่ห้วยจิบแจงและห้วยปากผีแป้ง เกษตรกรจึงมีความเห็นว่าควรสร้างทำนบกั้นการไหลออกที่ห้วยจิบแจง แต่พบว่ากำลังของชาวบ้านไม่สามารถสร้างทำนบที่แข็งแรงได้ สร้างขึ้นมาก็พังทลายทุกปี จึงเสนอทางราชการเข้ามาพิจารณาก่อสร้างอย่างแข็งแรงต่อไป


เรื่องนี้ตกไปอยู่ที่ อบจ.ขอนแก่น ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับผิดชอบและมีความชำนาญเฉพาะด้านอย่างกรมชลประทานควรเข้ามารับผิดชอบ กรมชลจึงออกมาสำรวจรายละเอียดแล้วจัดทำการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำตามที่ชาวบ้านเสนอให้แล้วยังจัดทำคันดินรอบแก่งละว้า ทำนบดินเป็นชนิด Homogeneous Type
สันทำนบดินกว้าง 6.00 เมตรยาว 7/668.25 กม. ไม่มีระบบส่งน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีอาคารทิ้งน้ำ (River Outlet) อาคารระบายน้ำล้น (Service spillway) ทางระบายน้ำฉุกเฉิน (Emergency Spillway) ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 2,920 เมตร

เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จ สภาพน้ำในแก่งละว้าก็เริ่มผิดปกติไปจากเดิม ปริมาณน้ำไหลเข้าลดลง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรอบแก่งละว้ามากขึ้น

เมื่อทรัพยากรน้ำแก่งละว้าถูกแย่งชิง..

นานแสนนานมาแล้วที่ชาวบ้านต่างอพยพมาจากต่างถิ่นเข้ามาตั้งรกรากรอบแก่งละว้าแห่งนี้ เพียงเพื่อใช้ทรัพยากรน้ำทำมาหากินไปตามวิถี แต่แล้ววันหนึ่งน้ำแห่งนี้ถูกแบ่งไปให้ชาวเมืองอย่างเทศบาลบ้านไผ่โดยการชักน้ำใส่ท่อยาม 15 กม.ไปทำประปาในปริมาณมากมายต่อวัน เมื่อกรมชลประทานมาก่อสร้างทำนบกั้นน้ำไหลออกจากก่งละว้า ชาวบ้านต่างชื่นชม แต่เมื่อสร้างคันดินรอบแก่งด้วย

วัตถุประสงค์ที่ทางราชการตั้งไว้คือ



1 ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบของกิจการประปา อ.บ้านไผ่ ในอัตรา 99,000 ม.3/วัน น้ำจำนวนนี้รวมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในเขตเทศบาล

2 ใช้เป็นแหล่งแพร่-เพาะและขยายปลาน้ำจืด รวมทั้งราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงจะได้ใช้เป็นแหล่งจับปลาได้ด้วย
3 ราษฎรและสัตว์ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่รอบหนองสามารถจะอาศัยใช้น้ำในหนองเพื่อการอุปโภคบริโภค ในฤดูแล้ง - ประโยชน์โดยทางอ้อม - ราษฎรที่อาศัยอยู่รอบๆ หนองสามารถจะซักน้ำในหนองไปใช้ในการเพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งเท่าที่ปริมาณน้ำต้นทุนจะอำนวย
4 อาจใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับโรงงาน และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะตั้งขึ้นในอนาคต
5 ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของราษฎรที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง


เมื่อท่านเห็นวัตถุประสงค์นี้แล้วท่านคิดอะไร…..

น้ำในแก่งละว้าที่ชาวบ้าน 40 หมู่บ้านได้กินได้ใช้มานานแสนนานกลับกลายเป็น น้ำแก่งละว้าเพื่อคนในเทศบาลบ้านไผ่ไปแล้ว ส่วนเพื่อเกษตรกรนั้นเอกสารราชการกล่าวว่า …”ต้องพิจารณาน้ำต้นทุนที่จะอำนวยก่อน….”

หากท่านเป็นชาวบ้านตาสีตาสาที่รอบแก่งละว้านี้

ท่านคิดอะไรบ้าง และจะทำอะไรบ้าง….???!!!

ขอบคุณแหล่งข้อมูล http://www.rid6.net/~khonkaen/MidProject/Lawa/Lawa.htm

http://ridceo.rid.go.th/khonkhan/datamid/pm_lawa.html


แด่น้องผู้หิวโหย..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 2, 2009 เวลา 13:20 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3007

เมื่อเรามาถึงดงหลวง จังหวัดมุกดาหารใหม่ๆ เราตื่นเต้นที่จะพบกับชนเผ่าที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน ด้วยนิสัยคนทำงานชุมชนก็ตระเวนหาข้อมูลเกี่ยวกับชนเผ่ากะโซ่ ทั้งจากการบอกเล่า และเอกสารเท่าที่จะหามาได้ ชิ้นสำคัญก็เป็น เอกสารจากสำนักวัฒนธรรมของจังหวัดฯ และบันทึกสหายใหญ่ พคท. สมัยที่อยู่ป่าดงหลวง

ส่วนใหญ่คำบอกเล่าของทางข้าราชการก็จะมอง กะโซ่ ในแง่ต่ำต้อย ด้อยการศึกษา สกปรก นับถือผี พัฒนาไม่ขึ้น ล้าหลัง นิยมขึ้นภูเขา ฯลฯ ราชการจึงระดมทรัพยากรเข้าไปฟื้นฟู รวมทั้งมีโครงการพระราชดำริอยู่ที่นั่นด้วย

เมื่อเราเข้าไปครั้งแรกๆ ในหัวก็จะมีข้อมูลเหล่านั้นเต็มไปหมด จึงพยายามพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ฯ และคิดต่อไปว่า โครงการที่เราเข้ามารับผิดชอบนั้นจะทำให้เขาพัฒนาขึ้นได้อย่างไรบ้างภายใต้กรอบภารกิจที่ถูกกำหนดมาแล้วตามระบบ

มีสิ่งสะดุดใจหลายประเด็นที่เราพยายามควานหารอยเชื่อมการเข้าถึง เข้าใจและพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เช่น การยกหมู่บ้านเข้าป่า ทั้งตำบล และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ออกมาจากป่า การนับถือผี รูปรอยของการปรับตัว มุมสะท้อนกลับของสหายนำในป่าที่ว่าเป็นพวกวีระชนเอกชน ฯ


เมื่อเราใช้กระบวนการ PRA (Participatory Rapid Appraisal)ศึกษาชุมชนอย่างละเอียด ปัญหาใหญ่ที่เราพบประการหนึ่งก็คือ การขาดแคลนข้าวสำหรับบริโภค เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่า หลายครอบครัวขาดแคลนมากกว่า 4 เดือนโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่เป็นรอยต่อของ “ข้าวเก่าหมด ข้าวใหม่ยังไม่ออก”

ปัญหานี้ในอดีต เกิดขบวนการเข้าป่าหาของป่าไปแลกข้าวตามหมู่บ้านรอบๆเทือกเขาภูพาน ตั้งแต่ อ.นาแก ไปจนถึง อ.เขาวง อ.คำชะอี เรื่องราวการหาของป่าแลกข้าวก็พิลึกกึกกือมากมาย….


แม้กระทั่งวันนี้การขาดแคลนข้าวจะลดลงแต่ก็ยังมีภาพสะเทือนใจให้ได้พบเห็นกัน
ในภาพนี้ พ่อแม่ต้องออกไปทำมาหากิน ส่วนใหญ่คือเข้าป่าไปหาพืช สัตว์ต่างๆมาประกอบอาหารไปวันวัน หรือหากโชคดีก็ได้สัตว์มีราคาก็ขายเอาเงินมาซื้อข้าวกิน พี่ต้องรับหน้าที่ดูแลน้องๆเล็ก…


ที่ผ่านมาการแก้ไขของชาวกะโซ่คือ การเข้าป่าไปหาสัตว์ ทั้งกิน ขาย การรับจ้างต่างๆในไร่นาซึ่งก็ไม่ค่อยจะมีการจ้าง การส่งลูกไปทำงานในเมืองแล้วส่งเงินมาทางบ้าน เคยมีการตั้งธนาคารข้าวแต่พบว่าชาวบ้านจะไม่นิยมบริโภคข้าวที่เก็บไว้นานๆ จะเอาข้าวไปขายแล้วเอาเงินมาให้กู้แก้ปัญหาอีกที..???


กิจกรรมการเพิ่มผลผลิตข้าวจึงถูกระดมความรู้ความสามารถเข้ามามากขึ้น และกระบวนการจัดการอื่นๆก็ตามมา แม้จะไม่ราบรื่นนักแต่ก็ได้พยายามทำกันเต็มกำลัง

เพื่อนร่วมงานจับภาพนี้ได้ พี่กำลังตำมะขามสดกับกะปิให้น้องเล็กสองคนกินเป็นมื้อกลางวัน….???

นับวันผมน้ำหนักลดลงไปเรื่อยๆแล้วครับ….


เห็ดเรืองแสง..

16 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 24, 2009 เวลา 22:29 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 7342

วันนี้โครงการมีการสัมมนาเกษตรกรผู้นำกิจกรรมด้านการเกษตรสาระต่างๆในดงหลวงทั้งหมด 40 คนมาคุยกันตามแผนงาน ก็เป็นกึ่งรูปแบบทางการตามระเบียบราชการที่มีกฎระเบียบกำกับ..


ผมไม่พูดสาระการประชุมนะครับ แต่มีสาระที่เกิดขึ้นระหว่างการคุยกันช่วงพัก อย่างที่ผมกล่าวถึงบ่อยๆว่าพี่น้องดงหลวงนั้นวิถีชีวิตเขานั้นพึ่งพิงป่าสูงมาก


วันนี้มีอดีตข้าราชการท่านหนึ่งมาสารภาพว่าอดีตของท่านนั้นคือนายพรานล่าสัตว์ป่ามาขาย เพราะเงินเดือนครูนั้นนิดหน่อย พอแค่ส่งลูกเรียนหนังสือเท่านั้น ต้องเข้าป่าล่าสัตว์หารายได้เพิ่ม ไม่ลงรายละเอียด

มีสิ่งหนึ่งที่อดีตนายพรานกล่าวว่า โอ กลางคืนผมก็ไป เอาไฟฉายไป หมาตัวหนึ่ง ผมได้สัตว์ทุกครั้ง เพราะผมยิงแม่น ไม่ว่าปืนแก็ป อาก้า หรือ เอ็ม16 ก็ตาม ผมยิงแม่น แม้ปัจจุบันนี้..??

บ่อยครั้งผมไปกลางคืนเห็นเห็ดเรืองแสง... ผมหูผึ่งเลย จึงถามรายละเอียดว่ามันเป็นอย่างไรเห็ดเรืองแสง… มีทั้งเห็ดที่เราฉายไฟไปแล้วเรืองแสงออกมา และที่มืดๆก็เรืองแสงออกมา พวกนี้เป็นเห็ดพิษทั้งนั้น กินไม่ได้ มันก็แปลกดีนะครับว่าเห็ดมันเรืองแสงได้


แสงของเห็ดสีอะไรครับ… สีนวลๆเหมือนไฟฉายเรานี่แหละ พบบ่อย

มีอดีตสหายป่าท่านหนึ่ง บอกว่า สมัยอยู่ป่านั้นเราจะเดินทางโยกย้ายที่พัก หรือปฏิบัติการกลางคืนกัน แม้มีไฟฉายแต่เราไม่ใช้เพราะจะเสียลับ เราจะใช้เห็ดเรืองแสงเหล่านี้แหละ เอามาติดข้างหลังเสื้อบ้าง เป้บ้าง แล้วจึงเดินทางไปมืดๆ คนเดินข้างหลังก็เห็นเราว่าเดินไปทางไหนเพราะเห็ดเรืองแสงนี่แหละ…


ผมสนใจจึงตามไปหาครู Goo ได้ความรู้เพิ่มเติมมาว่า ที่คณะเกษตรฯ มข.มีคณาจารย์ศึกษาประโยชน์ของเห็ดเรืองแสงมาหลายปีแล้ว และพบว่าสามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ที่มักเป็นศัตรูการปลูกมะเขือเทศ

ในต่างประเทศ เห็ดเรืองแสงในสกุลอื่นๆ มีสารบางชนิดที่สามารถบำบัดโรคมะเร็ง และยับยั้งการดื้อสารแอนตี้ไบโอติกส์ได้

เอกสารของ มข. ยังกล่าวว่า เห็ดเหล่านี้เปล่งแสงได้โดยไม่ปล่อยความร้อนออกมา ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ไบโอลูมิเนสเซนซ์

ผมอยากทำงานด้านค้นคว้าพืชป่าที่จะมีประโยชน์แก่มนุษยชาติจริงๆ เพราะยังมีอีกมากมายที่เราไม่รู้จักคุณค่าของเขา แม้เห็ดพิษเรืองแสงนี้ ก็มีอีกมากมายหลายชนิดที่เรายังไม่ได้ศึกษา…

——————–

แหล่งข้อมูลและรูป : http://www.darasart.com/webboard/Question.asp?GID=3277 ; http://ora.kku.ac.th/res_kku/Abstract/AbstractView.asp?Qid=766385826; http://board.212cafe.com/viewcomment.php?aID=7007494&user=roverden30&id=25&page=2&page_limit=50



Unexpected Impact

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 13, 2009 เวลา 23:49 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2569

ในกระบวนการทำงานพัฒนานั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการประเมินผล ซึ่งมักจะกระทำในหลายรูปแบบแล้วแต่โครงการนั้นๆจะออกแบบไว้ เช่น เป็นแบบ External evaluation team บางแห่งก็ใช้แบบ Internal หากเป็นโครงการใหญ่ๆ ก็อาจจะใช้ International evaluation team เข้ามาทำการประเมินกัน หรือใช้แบบผสมผสาน …

ทั้งหมดก็จะยึดทฤษฎีการประเมินผลที่เป็นสากล ไม่ค่อยแตกต่างกัน ไม่ว่าทีมไหนๆ ซึ่งบางโครงการก็ย้อมสีกันสวยงาม บางโครงการก็ตรงไปตรงมาดี แต่ทั้งหมดก็พบว่าไม่เคยมีทีมไหนประเมินผลส่วนที่เรียกว่า “ผลกระทบที่ไม่ได้คาดคิดของโครงการ” อาจจะมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน เช่น ทีมมักมีเวลาจำกัด กรอบการประเมินถูกกำหนดมาแล้ว หรือทีมประเมินผลคิดไม่ถึงประเด็นนี้ด้วยซ้ำไป….

เรื่องนี้ผมมาฉุกคิดเพราะผมไปงานศพ…???

จริงๆครับ.. “พิลา” พนักงานขับรถของโครงการ พี่ชายเขาเสียชีวิตเพราะเป็นโรคกระเพาะ เราไปร่วมงานศพ พิลาก็เลี้ยงอาหารตามประเพณี พวกเราอิ่มหนำสำราญกัน มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันคือ “ข้าวอร่อยจังเลย…”


วันต่อมาผมถามพิลาว่าเอาข้าวอะไรมาเลี้ยงเราอร่อยติดใจกันใหญ่ พิลาตอบว่า เป็นข้าวมะลิจากนาที่ผมทำนั่นแหละพี่ เป็นข้าวอินทรีย์ที่ผมเอาความรู้มาจากพี่เปลี่ยน จากทุกคนในโครงการ จากชาวบ้าน และจากพี่ด้วย…. แล้วรายละเอียดก็พรั่งพรูออกมา พิลาบอกว่าตอนนี้เขาดังในหมู่บ้านไปแล้ว เพราะเพื่อนบ้านก็ตะลึงว่าการทำข้าวอินทรีย์นั้น รสอร่อย ต้นทุนไม่สูงเพราะไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงมากๆ และผลผลิตต่อไร่ก็ไม่แตกต่างไปจากการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ สุขภาพดีไม่ต้องเสี่ยงสารพิษ ราคาข้าวอินทรีย์ก็สูงกว่า ฯลฯ


ที่นาของพิลาไม่ได้อยู่ในพื้นที่โครงการ แต่ความสำเร็จข้าวอินทรีย์ที่พิลาทำมานั้น ได้ความรู้มาจากโครงการ.. หากมีการประเมินผลโครงการไม่ว่า จะเป็นด้าน Result, Output,  Outcome หรือแม้แต่ Impact ความสำเร็จของพิลานั้นก็หลุดจากกรอบการประเมินแน่นอน ยิ่งเป็นทีมประเมินมาจากภายนอก

ย้อนไปที่สะเมิง เชียงใหม่ เมื่อโครงการพัฒนาชนบทที่เคยทำงานสิ้นสุดลง เราพบว่า พนักงานขับรถของเราสมัยนั้น ต่อมาได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน และ อบต.และประธาน อบต. ที่ตำบลสะเมิงใต้นั้นคือลูกจ้างโครงการที่เป็นชาวบ้านที่สมัยนั้นทำหน้าที่เป็นพนักงานส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน..

ผมได้มีโอกาสคุยกับทั้งสองคน เราพบว่า ด้วยการที่เขาคลุกคลีกับเรามานาน เขาเรียนรู้ระบบคิด สาระของงานพัฒนาด้านต่างๆ ภาษา ศัพท์แสงทางการพัฒนาชุมชน เขาเรียนรู้จากเราทั้งสิ้น ทั้งหมดมีส่วนสร้างเขาให้มีความรู้ในเรื่องงานพัฒนาชุมชน มีทักษะในการพูด แสดงความคิดเห็นแง่มุมต่างๆของการพัฒนาท้องถิ่นของเขา เหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาแตกต่างจากคู่สมัครคนอื่นๆ และเขาก็ได้รับเลือกให้มาทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน หลังจากที่โครงการสิ้นสุดไปแล้ว….

มีความสำเร็จที่ซ่อนอยู่ไม่น้อยทีเดียวที่กระบวนการประเมินผลมองไม่เห็น นึกไม่ถึง นี่คือ Unexpected Impact


เมฆทะมึนกับรุ้งสวย..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 4, 2009 เวลา 22:47 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2813

หลังจากประชุมกับราชการช่วงเช้า บ่ายประชุมทีมงาน แล้วเดินทางกลับขอนแก่น ประชุมอีกพรุ่งนี้


เราฝ่าฝนก้อนใหญ่ ดำทะมึน น่าเกรงขาม


เมื่อเราผ่านอุโมงค์เมฆฝนก้อนมหึมาแล้ว ฟ้าก็ใสแดดส่อง ผมมองกระจกข้างคนขับ เห็นรุ้งในกระจกสวย จึงหยุดรถแล้วเก็บภาพมาฝาก


นานแล้วที่ไม่ได้เห็นรุ้งเต็มวงของเขา (ครึ่งวงกลม) เสียดายที่กล้องผมจับได้แค่ที่เห็น สวยมากครับสีแจ่มชัด ใหญ่ แม้เสาไฟจะเกะกะไปหน่อย แต่ก็หามุมยาก เอาเท่าที่ได้ครับ.
.



Main: 0.072680950164795 sec
Sidebar: 0.037039041519165 sec