ศาสตร์นี้เพื่อใคร??

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 1, 2012 เวลา 22:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1365

ช่วงนี้เดินทางบ่อยมาก ความจริงก็ชอบนะครับเพราะเปลี่ยนบรรยากาศและสาระงานที่รับผิดชอบจากมุมนี้ไปมุมโน้น เปรียบเทียบไปเรื่อยๆ ทำให้เราเห็นความจริงในสังคมมาก บางเรื่องก็ใหม่สำหรับผม หลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่เรารู้ๆกัน

ชีวิต Freelance นั้นเหมือนตัวหมากรุก ที่คนเล่นเป็นผู้หยิบเราไปวางตรงนั้นตรงนี้ เพื่อคาดหวังอย่างนั้นอย่างนี้ เราเองหลายเรื่องก็ง่ายเหมือนปากกล้วย บางเรื่องก็งงเป็นไก่โดนตี เอาไงดีวะ… หลายเรื่องก็ค้านความรู้สึกเรา

วันนี้ขับรถไปคนเดียวจากกรุงเทพฯขึ้นขอนแก่นด้วยสุขภาพไม่เต็มร้อย เพราะเมื่อคืนไปงานศพคุณอาที่อ่างทองมา และต้องไปภารกิจของลูกสาวอีก กว่าจะหลับจะนอนได้ ดึกมาก ผมจึงแวะเข้าปั้มน้ำมันนอนซะงีบหนึ่ง แล้วเติมด้วย กาแฟอเมซอนเข้มข้นร้อนหนึ่งแก้ว คราวนี้ขับไปเรื่อยๆ รถหนาตา ด่านตำรวจ 5 ด่านมากจริงๆ ไม่เคยเห็นตำรวจตั้งด่านมากขนาดนี้ ความจริงดีนะครับ ผมรอดตัวไม่โดนเรียกไปเก็บค่าทางด่วน อิอิ หากเรียกจริงๆก็จะให้โดยดีหรอก

ระหว่างทางนั้นผมฟังวิทยุฟังข่าวการคัดค้านพรบ.ปรองดอง สลับกับข่าวอื่นๆที่ผู้จัดคุยกับวิทยากร ผมเบื่อฟังเพลงนะครับ

ผมฟังผู้จัดคุยกับวิทยากรเรื่องทีวี digital ว่ากำลังเป็น trend ในปัจจุบัน ก็คุยกันว่าจะก้าวไปไกลขนาดไหน รวมไปถึง smart phone , iPAd, IPHONE (เขียนผิดขออภัยนะครับ ผมห่างไกลเจ้าตัวนี้จริงๆ) วิทยากรท่านเป็นผู้รู้ในวงการ ก็วิเคราะห์ วิจารณ์ตามหลักวิชา ความรู้ ผมฟังแล้วก็นึกไปถึงประเด็นเก่าๆที่ผมเคยเขียนบันทึกไว้ว่า

ศาสตร์ทางธุรกิจนั้น เรียนเรื่องคนมาก ศึกษาพฤติกรรมคนตามกลุ่มอายุ เพศ คนในเมือง คนในชนบท คนในสถาบันการศึกษา คนในโรงงาน ฯลฯ วิเคราะห์วิจัยกันมากมาย และเป็นศาสตร์ที่เรียนกันในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ปริญญาตรี โท เอก กันเลยทีเดียว ความรู้ทั้งหมดนี้กลับมาแปรเป็นแนวทางในการผลิตสินค้าให้โดนใจคนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ขายได้ เพื่อรายได้ เพื่อกำไรของบริษัท หรือผู้ประกอบการ อาจจะกล่าวในมุมหนึ่งได้ว่า โลกเรามีศาสตร์ทางธุรกิจที่ศึกษากิเลสของคน แล้วก็เอาความรู้ ความเข้าใจนั้นไปผลิตสินค้าที่ตอบสนองกิเลสของมนุษย์กลุ่มนั้นๆ เมื่อโดนใจ หรือโดนกิเลส สินค้าตัวนั้นก็ขายได้ บางเรื่องบางสินค้า หากออกแบบและประสิทธิภาพโดนใจก็รับทรัพย์มหาศาลกันไปเลยทีเดียว…

ประเด็นนี้ผมเห็นมานานแล้ว วันนี้ก็มาได้ยินอีกและได้ยินจากปากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ผมตั้งคำถามมานานแล้วเหมือนกันว่า ศาสตร์การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ดังกล่าวนี้ทำไมไม่มีฝ่ายที่นำมาแปลเป็นการจัดทำเครื่องมือการพัฒนาคน ใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานพัฒนาการเกษตร และด้านต่างๆ.. ดูเหมือนมีความพยายามทำกัน แต่ไม่ก้าวหน้าเท่าศาสตร์ธุรกิจเหล่านี้ที่มีผล

ความจริงผมก็ถามตัวเองว่าแล้วเราทำไมไม่ทำเองล่ะ….

ผมก็ทำอยู่ โดยการศึกษาตามกระบวนการของงานพัฒนาคนในชุมชน แล้วแปลงมาเป็นกิจกรรม โครงการ แต่ยังหยาบอยู่ การพัฒนาทางด้านนี้ยังไม่ทำกันกว้างขวางเหมือนศาสตร์ทางธุรกิจที่ลงลึกไปมากทีเดียว จนเข้าไปครอบและเป็นปัจจัยหลักในการหันเหการบริโภคของมนุษย์ตามกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ นี่เองที่เป็นที่มาของการที่เราเรียกลัทธิทุนนิยมว่าเป็นกระแสหลัก และมีอิทธิพลเหลือเกิน

มันเป็นลัทธิบริโภคนิยมที่เกินความจำเป็นของสังคม แต่มันเข้ามาเนียนๆแบบว่า มันทันสมัย เราต้องทันสมัย เราต้องก้าวหน้า ผมไม่ปฏิเสธเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี แต่เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้วก็มีคนในโลกนี้ต่อต้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาก่อนแล้วว่า ควรเป็นเทคโนโลยีระดับกลางที่สอดคล้องความจำเป็นจริงๆของการดำรงชีวิต ไม่จำเป็นจะต้องสูงส่งเกินความจำเป็น ท่านผู้นั้นคือ อี เอฟ ชูเมกเกอร์ ที่เขียนหนังสือที่โด่งดังชื่อ “จิ๋วแต่แจ๋ว” หนังสือเล่มนี้น่าที่จะปัดฝุ่นเอามาให้เยาวชนศึกษากันใหม่ละมั๊ง

ผมฝันว่า หากเอาลักษณะการพัฒนาศาสตร์ทางธุรกิจเพื่อการขายสินค้าดังกล่าวมา เป็นการพัฒนาศาสตร์เพื่อการพัฒนาคนขึ้นมาอย่างจริงจัง กว้างขวาง ผมเชื่อว่า สังคมน่าอยู่อีกมากทีเดียว ปัญหาสังคมจะลดลง


ปีกซ้ายในราชการ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 1, 2012 เวลา 10:59 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1393

ผมรู้จักท่านเลขาธิการ ส.ป.ก.ปัจจุบันมานานนับสามสิบปีได้ ตั้งแต่ท่านเรียน ป.โทที่ AIT ตอนนั้นผมเป็นนักพัฒนาชนบทอยู่สะเมิง เชียงใหม่ ยุคแรกๆของ NGO ประมาณปี 2518 พี่เปี๊ยก ราชสีห์อีสาน คือพี่บำรุง บุญปัญญา พี่แกทำงานที่ ACFOD หรือ Asian Cultural Forum on Development พี่คนนี้ประวัติลือลั่น เกียรตินิยมจากบางเขน ทำงานกับ ดร.ป๋วย ได้ทุน British Council ไปเรียนที่ อังกฤษ ทะเลาะกับอาจารย์ บินกลับมาเป็น NGO เฉยเลย พี่เปี๊ยกเป็นพี่ใหญ่วงการ NGO ตั้งแต่ยุคแรกๆจนปัจจุบัน พี่เป็น NGO สุดโต่งในเรื่องอุดมคติการเสียสละเพื่อชาวบ้านที่ใครๆในปัจจุบันไม่มีใครทำได้ แล้วค่อยเล่าให้ฟัง

พี่เปี๊ยกนั่งที่ ACFOD ก็ถือโอกาสเป็นศูนย์กลาง NGO เรานั่งคุยกันกลางสนามหลวงประมาณปี 2520 ว่าสมควรตั้งศูนย์ประสานงาน NGO ขึ้นมา ตามภาคต่างๆ และสร้างศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ เพื่อเราจะได้หาเวลามานั่งคุยแลกเปลี่ยนการทำงานกันและกัน จึงเกิด กป.อพช.ขึ้น เรียกว่า คณะกรรมการประสานสาน องค์กรพัฒนาเอกชน ผมเป็นกรรมการภาคเหนืออยู่พักหนึ่ง เมื่อย้ายฐานการทำงานก็มาเป็นกรรมการที่อีสานพักหนึ่งก็วางมือให้น้องๆเข้ามาทำแทน

ทุกปีจะมีการประชุมประจำปี รวมทุกภาค มักจะจัดกันที่ ชะอำริมชายหาดทะเล เพราะมีผู้สนับสนุนที่พักให้ ที่นั้นผมได้พบ ดร.วีระชัยครั้งแรก พร้อมกับ ทองแท่ง เพื่อนรุ่นน้องที่โด่งดังอีกคนหนึ่งในวงการพัฒนา สมัยนั้น ดร.วีระชัยยังไม่จบ ดร. ทั้ง ดร.วีระชัยและทองแท่งและอีกหลายคนเป็นข้าราชการ ส.ป.ก. แรกๆเราก็งง ว่าเฮ้ย.. NGO คือกลุ่มที่ตำหนิราชการมามากต่อมาก ทำไมมีข้าราชการมานั่งประชุมด้วย พี่เปี๊ยกแนะนำว่า นี่คือ ปีกซ้ายของระบบราชการไทย จริงๆสมัยนั้นผมเองยังรักษาระยะห่างกับเพื่อนกลุ่มนี้ แต่ความที่ผมสนิทกับทองแท่ง เพราะเป็นคนบ้านเดียวกัน และทองแท่งคือนิสิตจุฬายุคแรกๆที่เข้าสู่ชนบทที่แม่ตะมาน เชียงใหม่เพื่อไปสร้างสหกรณ์ชาวบ้าน และเป็นข่าวในหนังสือ ปาจารยสาร ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับปัญญาชนสมัยนั้น

ทุกปีเรามาพบกันที่ชะอำ เอาประสบการณ์ ความรู้ใหม่ๆนวัตกรรมใหม่ๆมาแลกเปลี่ยนกัน เรียนรู้ประสบการณ์ภาคอีสาน เหนือ ใต้ และเกิด คลื่น NGO บูมสุดขีดสมัยหลังสงครามอินโดจีน เกิดโครงการบัญฑิตอาสาสมัครที่จุฬา อันมี อาจารย์จอห์น อึ้งภากรณ์ พี่ชาย ไมตรี อึ้งภากรณ์ บุตรอาจารย์ป๋วยเป็นผู้รับผิดชอบ มีภูมิธรรม เวชยะชัย สมองของไทยรักไทยเป็นพี่ใหญ่คุม โครงการนี้อยู่

วงการพัฒนาชนบทก้าวหน้ามากที่สุด ขยายจำนวนองค์กรไปมากมายแตกแขนงไปจับประเด็นต่างๆมากมาย ท่ามกลางการเคลื่อนตัวของสังคมที่มีองค์กรพัฒนาชนบทเป็นกลจักรสำคัญหนึ่งในการทำงานนี้ ดร.วีระชัยคลุกคลีวงการนี้มาตลอด ท่านไปเรียนจบ ดร.ที่มาเลเซีย ก็กลับมาทำงานที่เดิม คือ ส.ป.ก. พวกเราชื่นชมกลุ่มข้าราชการ ส.ป.ก.กลุ่มนี้ ทำงานเหมือน NGO หลายคนเป็นวิทยากร NGO ด้วยซ้ำไป

ผมห่างหาย NGO ไปพักใหญ่เพราะไปสังกัดโครงการขนาดใหญ่ วิถีชีวิตก็เร่ร่อนไปตามโครงการต่างๆ และในที่สุดเพื่อนฝรั่งนับถือพุทธ เป็นมังสะวิรัติ มีครอบครัวคนไทย พูดศัพท์แสลงไทยเป็นไฟ ชวนไปทำงานที่ Save the Children ที่นครสวรรค์ และที่นั่นได้พบกับ ดร.วีระชัยอีกครั้ง คราวนี้เป็นโครงการ DANCED ที่ ส.ป.ก.ได้งบประมาณมาพัฒนาชุมชนชายป่าห้วยขาแข้ง และรวมเอา NGO ท้องถิ่นเข้ามาร่วมงานด้วย ผมเป็นตัวแทนของ Save the Children ไปร่วมโครงการนี้ หลังจากจบโครงการ ก็มาต่อที่โครงการ คฟป.มุกดาหาร แต่คราวนี้มาสังกัดบริษัทที่ปรึกษา แต่ก็ยังร่วมงานกับ ส.ป.ก. และดร.วีระชัยก็เติบโตในหน้าที่การงานตามลำดับ

ท่านเลขาท่านนี้กล่าวว่า การเมืองเข้ามาในชีวิตท่านหลายครั้ง และทุกครั้งก็กระทบหน้าที่การงานมากบ้างน้อยบ้าง ผมชื่นชมท่านตลอดมาว่าเป็นข้าราชการน้อยคนนักที่เข้าใจชุมชน เข้าใจชาวบ้าน และยืนอยู่บนผลประโยชน์ชาวบ้านมาตลอด เป็นข้าราชการผู้ใหญ่น้อยคนนักที่หนักแน่นอยู่กับชุมชน ท่านใกล้ชิดกับคนทำงานชนบทมาตลอด และจุนเจือซึ่งกันและกันมาตลอด เพราะว่าภารกิจหลักของ ส.ป.ก. คือพื้นที่ที่เป็นชนบทและมีปัญหามากมายนั่นเอง งานที่ท่านทำ ได้สร้างมิติใหม่ของทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะ จากญี่ปุ่น ที่เริ่มให้ความสนใจและร่วมมือกับ NGO มากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้เพราะงานของ ส.ป.ก.จะเชื่อมกับ NGO ที่คัดสรรค์แล้วเข้ามาร่วมงานด้วย

เมื่อผมเขียนบล็อกเรื่องราวของชนบทที่ G2K และที่ลานปัญญา และท่านมีดำริพิมพ์งานของผมนั้น แม้ว่าจะถูกเบรกไปพักหนึ่งเพราะเหตุทางการเมืองภายใน แต่มาช่วงนี้ที่ฟ้าใสขึ้นท่านก็เรียกผมเข้าไปพบแล้วบอกว่าจะจัดพิมพ์ให้ ขอให้ไปทบทวนตัดต่อให้เหมาะสมมากขึ้น ….

และวันนั้นท่านปิดห้องคุยกับผมส่วนตัวสองต่อสอง…

อุบอิบ ยังไม่บอกหรอกครับว่าคุยเรื่องอะไร แต่มีผลกับผมมากทีเดียว….



Main: 0.54699206352234 sec
Sidebar: 0.28480887413025 sec