ยามเฝ้าบ้าน..
อ่าน: 1600ในสถานที่ผู้ประกอบการต่างๆมักจะมี ยาม หรือเรียกให้ไพเราะคือ การ์ด เฝ้าดูความปกติหรือผิดปกติของสถานที่ ซึ่งเขาจะมีมาตรฐาน หรือเกณฑ์ชี้วัดว่าหากมีสิ่งผิดปกติก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจจะเกิดสิ่งไม่ดีไม่งามต้องตรวจสอบทันทีและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เรื่องเหล่านี้เป็นการฝึกฝน อบรม หรือเป็นความชำนาญการเฉพาะส่วน
คนป่วยนั้นทางโรงพยาบาลก็จะมีระบบเฝ้าระวังทั้งด้วยเครื่องมือสารพัดแบบ และทั้งหมดนั้นคนจะเป็นผู้มาติดตามว่ามีอะไรผิดปกติไปบ้าง หากระดับการเต้นของหัวใจผิดไปจากเกณฑ์ก็จะมีการตรวจสอบทันที ว่ามีสาเหตุมาจาก อะไร เมื่อพบก็เยียวยาทันทีโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
นี่คือระบบของอาชีพ..ที่พัฒนาไป แต่ทั้งหมดนั้นมักมีเรื่องของการประกอบธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือพูดให้ชัดคือเรื่องผลประโยชน์ที่อาศัยความเชี่ยวชาญเป็นเครื่องมือทำมา หากิน ว่ากันอย่างนี้แหละ รวมไปถึงบริษัทที่ปรึกษาที่ผมสังกัดแบบลอยๆนี่แหละ
แต่สังคมเรามีใครทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบภาพรวมอย่างเป็นบทบาทหน้าที่จริงๆบ้าง ดูเหมือนมี แต่ไม่มี
การตรวจสอบติดตามการเคลื่อนตัวของสังคมนั้น คือการติดตามดูทิศทางการเปลี่ยนแปลง การรับสิ่งใหม่ๆแล้วเกิดอะไรบ้าง อะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อะไรเปลี่ยนแปลงไปทางไม่ดี อะไรเปลี่ยนแปลงไปทางทั้งที่ดีและไม่ดี สภาพัฒน์ฯหรือ สถาบันอุดมศึกษาหรือ กระทรวงศึกษาธิการ หรือทบวงมหาวิทยาลัย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนักการเมือง หรือ ฯลฯ
ดูเหมือนเรามีแต่การนำเสนอสิ่งใหม่ๆ จะทำให้ดีขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อมนั้นไม่มีใครติดตามตรวจสอบ จนกว่าจะเกิดปัญหาแล้วก็มาแหกปากกัน ซึ่งหลายเรื่องก็ส่งผลเสียหายมากมายทั้งชีวิตทรัพย์สิน พื้นที่ และสังคมโดยรวม หากจะกล่าวแบบกำปั้นทุบดินก็ได้ว่า ก็ประชาชนทุกคนนั่นแหละช่วยกันติดตามตรวจสอบ ผมก็ว่าถูกต้อง แต่หลายเรื่องนั้นต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำการศึกษาตรวจสอบด้วยความ รู้พิเศษ ประชาชนทั่วไปอาจบอกได้เพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น จริงอยู่ชาวบ้านมีภูมิปัญญา แต่เรื่องที่เข้าไปใหม่ๆนั้น ภูมิปัญญาที่ชาวบ้านมีนั้นไม่ได้ครอบคลุมเรื่องราวใหม่ๆเหล่านี้ด้วย
จากการที่คลุกคลีกับชนบท แลกเปลี่ยนกับเพื่อนฝูงที่ทำงานชนบท เห็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนามากมายที่เป็นผลกระทบจากการเข้าไปของสิ่งใหม่ๆ แต่ไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง ไม่มีฝ่ายของรัฐที่ทำหน้าที่เป็น “ยามเฝ้าบ้าน” คอยสังเกตสิ่งที่ผิดปรกติ แล้วเอาสาระนั้นๆมาประชุม ปรึกษา แลกเปลี่ยน กันให้ทะลุปรุโปรง เรามีสถาบันอุดมศึกษาที่มีผู้รู้ มีเครื่องมือ สอดคล้องกับเจตนาของการตั้งมหาวิทยาลัยที่กล่าวว่าเพื่อท้องถิ่น เพื่อสังคม เรามีหน่วยงานราชการของรัฐที่มีบุคลากรที่มีความรู้ เรามีโครงสร้าง มีระบบ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าบ้านอย่างจริงจัง
เราเห็นบริษัทธุรกิจไปลงทุนในชนบทแล้วทิ้งของเสียทั้งที่เห็น และไม่เห็น มากมาย เราเห็นในเมืองบริโภค หรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเกินความจำเป็นมากมายเพียงเพราะ “ก็ผมมีเงินอ่ะ” “มันเป็นค่านิยม” “มันเป็นความเจริญ” เรารุกรานธรรมชาติจนแปรปรวนแล้ว “ยังไม่รู้สึก”
ผมเห็นชาวนาปรับตัวครั้งใหญ่ในเรื่องวิถีการทำนาปีและนาปรัง เห็นชาวบ้านที่เลี้ยงปลาในกระชังต้องล้มเลิกและเป็นหนี้สินมากมาย การเลี้ยงปลาในกระชังส่งผลกระทบต่อเนื่องที่สำคัญหลายประการ เห็นขยะกระดาษที่เมื่อกี้ยังห่อหุ้มเป็นกล่องสินค้าในร้านแล้วดูดีมีราคา เพียงเอาสิ่งของข้างในออกไปใช้ กล่องนั้นก็ทิ้งไปแบบไร้ค่ากลายเป็นขยะทันที ตะเกียบไม้ไผ่ถูกห่อหุ้มด้วยกระดาษระบุญี่ห้อ ดูทันสมัย มีอนามัย สะอาด ดูดี เมื่อใช้เสร็จก็ทิ้งลงเป็นขยะ …. เหล่านี้มันคือมูลค่าที่บวกเข้าไปในราคาสินค้านั้นแล้ว และทำลายทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล
ระบบใหญ่จะเข้ามาจัดการสิ่งเหล่านี้อย่างไร แต่ผมมองไปที่ชุมชนเล็กๆในชนบทที่จะพูดคุยกัน ร่วมมือกัน ทำความเข้าใจกับมัน และหาทางจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นระบบ …ฯลฯ
เปล่า..ฯ.. ได้แค่คิดครับ ได้แค่บ่น เพราะสถานภาพผมห่างออกมาจากความรับผิดชอบแบบเดิมๆแล้ว แต่คิดแล้วพูด ดีกว่าคิดแล้วเก็บไว้ เผื่อมีคนมองเห็น และมีโอกาสก็อาจจะคิดต่อ สานต่อจนเกิดกระบวนการ “ยามเฝ้าบ้าน” ที่ดีของสังคม
อิอิ ขอน้ำแก้วหนึ่งดิ คอแห้งอ่ะ…..