บ้านพักในเมือง..
อ่าน: 1689ที่พักอาศัยนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ธุรกิจด้านนี้ทำกำไรมานาน ก็เป็นเรื่องปกติ ใครๆก็ต้องการมีบ้านของตัวเอง เด็กหนุ่มสาวเมื่อมีงานทำเป็นหลักแหล่งแล้วก็เริ่มมองหาบ้านพักกันแล้ว ที่ดินราคาแพงและหายากก็ต้องสร้างที่พักเป็นทรงสูง เป็นอาคารชุด เรียกว่า คอนโดฯ แบบบ้านก็แคบลง ที่จอดรถเมื่อจอดแล้วก็แทบจะออกจากรถไม่ได้..
ผมยังขำ..ทาวน์โฮมที่ผมไปซื้อให้ลูกสาวพักอาศัยในกรุงเทพฯนี้ คนซื้อได้ตัวบ้านแต่ก็ต้องต่อเติมห้องครัวรั้วบ้าน อื่นๆตามอัธยาศัยและกระเป๋า แต่มีสิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาคือ ไม่มีที่ตากเสื้อผ้าที่ซักแล้ว หลายบ้านต้องเอาที่ตากเสื้อผ้ามากางและตากที่หน้าบ้านตัวเอง แหมคุณเอ้ย..ชุดชั้นในขนาดอะไร สีอะไร เห็นโม๊ดดด….ตอนเอาผ้าออกมาตากก็กระมิดกระเมี้ยน บางบ้านก็อาย เอาผ้าบางๆผืนใหญ่ๆมาคลุมอีกชั้นหนึ่ง ไม่ให้เห็นรายละเอียด เอากะแม่ซิ.. บ้านราคามากกว่า 2 ล้าน ไม่มีที่ตากผ้า นี่คือสภาพที่อยู่อาศัยคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ
หลายสิบปีก่อนมีโครงการดีดีชื่อ “โครงการร่วมกันสร้าง” เป็นการสร้างบ้านที่เพื่อนๆและผู้สนใจลงมือช่วยกันสร้างบ้านร่วมกัน เพื่อให้ถูกใจผู้อยู่ และลดต้นทุนการก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางและต่ำที่มีรายได้ไม่มากเพียงพอไปซื้อบ้านจัดสรร.. ผมชื่นชมกลุ่มคนเหล่านั้นที่เดินออกไปร่วมกันในการทำงานเพื่อที่พักให้แก่ครอบครัวของเขา
มาปัจจุบันมีสหกรณ์การเคหะ เกิดขึ้นทุกภาคของประเทศ มีหลักการรวมคนยากจน หรือคนชั้นกลางลงไปชั้นต่ำที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในเมืองไม่มีที่พัก หรือที่พักไม่เพียงพอต่อครอบครัวที่มีจำนวนคนมากขึ้น จึงมีกลุ่มคนร่วมมือกันหาเงินมาก่อสร้างบ้าน ในราคาถูก แล้วให้ผู้สนใจมาซื้อในระบบผ่อนส่งที่มีกำลังส่งได้ และต้องเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อสร้างหลักประกันในการดำเนินกิจการนี้
นั่นเป็นเรื่องคร่าวๆ ซึ่งผมชอบใจมาก ชื่นชม การทำงานเพื่อสังคมคนยากจนแบบนี้ แม้ว่ารายละเอียดมีปัญหาที่ต้องแก้ไขกันมากมายทีเดียว
เพื่อนผมได้รับติดต่อให้เข้าไปช่วยสหกรณ์การเคหะลักษณะนี้ในจังหวัดหนึ่ง เขาเชิญผมให้ไปเป็นวิทยากรพูดถึงเรื่องปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาสหกรณ์จากบทเรียนในการทำงานของผมที่ผ่านมา บอกว่า เอาประสบการณ์ไปเล่าให้ฟังกันหน่อย เพื่อเพื่อนก็ไป แต่ผมมีข้อมูลเรื่องสหกรณ์การเคหะแห่งนั้นน้อย จึงได้แค่เอาหลักการ และประสบการณ์บางส่วนที่เคยทำสหกรณ์มาบ้างไปเล่าสู่กันฟัง
มีประเด็นมากมายที่ให้คิดถึงเรื่องปัญหาของคนในเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย เพื่อนบอกว่า หลักการที่นี่สมาชิกต้องมาซื้อหุ้นของสหกรณ์ และเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ที่บังคับว่าจะต้องออมทรัพย์วันละ 40 บาทเป็นอย่างต่ำ แล้วก็เอาบ้านไปหลังหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการผู้น้อย เป็นลูกจ้างรายวัยรายเดือน เป็นแม่ค้าหาบเร่ เป็นนายสิบแก่ๆ เป็นจ่าแก่ๆ ที่มีครอบครัวมีลูกมาภาระ ฯลฯ เห็นภาพนะครับที่คนเหล่านี้สารพัดอาชีพและภูมิลำเนาแต่มาทำงานที่นี่กันแล้วก็ต้องมาหาที่พักอาศัยกัน ไม่ต้องไปเช่าที่พัก….แต่ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงาน…หรือตั้งแต่เริ่มโครงการก็ว่าได้ เหมือนบ้านจัดสรร แต่เป็นบ้านจัดสรรของคนระดับล่าง
ประเด็นใหญ่ที่ผมเห็นคือ เจ้าหน้าที่สหกรณ์นั้นต้องทำงานแบบนักพัฒนาเอกชน ที่ต้องเข้าถึงสมาชิกทุกคน มิใช่เพียงเขามาทำตามเงื่อนไขแล้วได้บ้านไปแล้วก็จบสิ้น วันไหนที่เขาเดินเข้ามาสำนักงานถึงจะพูดคุยด้วย คงไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะต้องทำงานเชิงรุก มืออาชีพ ต้องทำทะเบียนสมาชิกอย่างละเอียดในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และฯลฯ และจะต้องจัดทีมงานออกเยี่ยมเยือนสมาชิก เพื่อทำความรู้จักและสร้างแรงเกาะเกี่ยว เพราะวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ต้องสร้างบรรยากาศหมู่บ้าน เหมือนหมู่บ้านในชนบทให้ได้ แม้ว่าจะไม่มีทางเหมือนก็ตาม แต่การเยี่ยมเยือนเป็นปกติ การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเป็นประจำนั้น จะช่วยให้เห็นสภาพ สถานภาพของแต่ละครอบครัว ของกลุ่มบ้าน ของหมู่บ้าน แล้วแปรเรื่องราวเหล่านั้นออกมาเป็นกิจกรรมต่างๆที่เหมาะสม เช่นมีกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้มีทักษะพิเศษ กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มนักเรียน กลุ่มเด็กเล็ก ฯลฯ
เจ้าหน้าที่สหกรณ์มีงานทำมากมาย รุกงานของเขาต้องอยู่ที่บ้านทุกหลัง ไม่ใช่โต๊ะทานในสำนักงาน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แลกเปลี่ยนกันในวันนั้นครับ