ประเด็นวิจัยเพื่อการพึ่งตนเอง

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 27, 2010 เวลา 0:51 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2161

เขียนบันทึกจากคนไม่มีกรอบถึงคนชายขอบแล้วก็ปิ๊งประเด็นวิจัยขึ้นมา..



สังคมเราน้อมนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักของการทำงานพัฒนาสังคม ครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการและหน่วยงานพัฒนาชนบทต่างก็เอาไปเป็นสาระสำคัญของการทำงาน

หากจะมองลงไปในรายละเอียดนั้น หลักการนี้ หรือแนวคิดนี้ก็คือการพยายามสร้างระบบการพึ่งตัวเองขึ้นมาตามเงื่อนไขของแต่ละคน แต่ละครอบครัว ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามรายละเอียด


ประเด็นก็คือ ครอบครัวหนึ่งในชนบท มีที่นาทำกิน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆเพราะต้องแบ่งให้ลูกหลายคน ที่สวนก็พอมีและลดลงเรื่อยๆเพราะต้องแบ่งให้ลูก ความรู้ก็แค่ ป.4 ลูกสามคนก็กำลังเป็นวัยรุ่น เสื้อผ้าต้องซื้อ น้ำมันรถมอเตอร์ไซด์ต้องซื้อ ทำนาต้องจ้างรถไถ บางครั้งต้องจ้างแรงงานบ้าง หยูกยาบางครั้งต้องซื้อ เครื่องใช้ในครัวเรือน สารพัดต้องซื้อ หมดยุคผลิตเองใช้เอง..

วันดีคืนดี มีโครงการฯเข้ามาบอกว่า เพื่อการพึ่งตนเองนั้น ต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้ทำโน่น ทำนี่ ทำนั่น บางเรื่องก็ดี ชอบ บางเรื่องก็แปลกๆ ฝืนๆยังไงไม่รู้ เมื่อทำตามคำแนะนำแล้ว แต่ทั้งหมดก็ยังต้องหารายได้จำนวนหนึ่งเพื่อซื้อหาสิ่งของที่ผลิตไม่ได้อยู่นั่นเอง..

เอ… “ในครอบครัวชนบทแบบนี้ ต้องมีรายได้ขั้นต่ำเท่าไหร่จึงจะพออยู่ได้” เป็นรายได้ขั้นต่ำที่ไปประกอบกับการพึ่งตัวเองในด้านต่างๆ แบบมีหลักประกันด้วย…

นี่คือประเด็นการวิจัย ตั้งไว้กว้างๆแบบนี้แหละ ใครสนใจก็ไปพัฒนาเอาเองเด้อครับ


จากคนไม่มีกรอบถึงคนชายขอบ

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 27, 2010 เวลา 0:12 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1869

….ผมแนะนำผู้บริหารทรูไปดูเรื่องโสเภณีชายขายตัวแถวๆสนามหลวง พาไปดูโสเภณีแถวคลองหลอด พาไปดูลุงแก่ๆที่แกอยู่ในสลัม ครูน้อยที่เขาช่วยเหลือเด็กยากจน ถ้าเศรษฐีไม่ช่วยกันทำตรงนี้นะ ประเทศไทยพังไหม วันใดก็ตามที่เศรษฐีในโลกนี้ไม่รู้จักคำว่าแบ่งปัน สงครามเกิดแน่นอน บิล เกตส์ มันคิดได้แล้วไง แล้วถามว่าแล้วเศรษฐีไทยล่ะ ยูๆๆ คิดจะคืนหรือยังล่ะ สังคมประชาธิปไตยมันทำร้ายคนเล็กกว่านะ เพราะเสรีภาพ คือ ใครทำอะไรก็ได้ จริงมันไม่ใช่นะ สังคมประชาธิปไตยมันสร้างความแตกแยกเยอะมาก คือมันโตแต่มันต้องกลับมาแบ่งปัน…

นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของคนไม่มีกรอบ อาจารย์ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ กับสกุลไทย (หน้า 47 ) คำกล่าวของคนไม่มีกรอบมันถีบหัวใจผมน่ะซี

ทุกวันนี้ไม่ว่าส่วนไหนของสังคม ทั้งกลางราชดำเนิน ราชประสงค์ ที่ลานคนเมือง ที่หนองประจักษ์ บนถนนท่าแพ บนถนนประชาสโมสร แม้ในตำบลซอกภูเขาต่างก็อ้างประชาธิปไตย เสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตย แสดงความเป็นประชาธิปไตย อธิบายสิ่งที่เขาทำว่านี่คือการใช้สิทธิประชาธิปไตย แต่สิทธิที่เขาอ้างนั้นมันไปทำร้าย ทำลายอีกตั้งหลายสิ่งหลายอย่าง แล้วมันประชาธิปไตยแบบไหนวะ..

คำว่าประชาธิปไตยนั้น มันเป็นเสมือนพระเจ้า ใครที่อ้างพระเจ้าแล้วสิ่งที่กระทำนั้นถูกต้องเสมอ อะไรทำนองนั้น คนชั้นกลางพอแยกแยะได้ แต่คนชั้นล่างนี่ซิ มิได้ดูถูก แต่รายละเอียดของคำว่าประชาธิปไตยนั้น มีคำอธิบายมากมายกว่าที่หลายคนจะเข้าใจเพียงมองเห็นสิทธิในการกระทำต่างๆเท่านั้น

คุยกับนักปลุกระดมมวลชนของ ผกค. ดงหลวงมาหลายต่อหลายคน เราเข้าใจได้ว่าทำไมชาวบ้านชายขอบจึงลุกขึ้นมาเดินเข้าป่าไปร่วมกับเขา เพราะการเข้าไปชี้จุดอ่อนของสังคม ตอกย้ำความล้มเหลวของการบริหารแผ่นดิน เปิดแผลน้ำเน่าของการเอารัดเอาเปรียบ การแก่งแย่ง การเข้าพวกเข้าสังกัด การใช้ความได้เปรียบ ขณะที่เขาด้อย ขณะที่การเยียวยาของสังคมต่อเขานั้นก็แค่น้ำหยดสุดท้ายในขวดเท่านั้น

ยิ่งการประพฤติตัวตนของผู้มีอำนาจในเครื่องแบบกระทำต่อชุมชนให้ปรากฏ มันไปตอกย้ำการวิเคราะห์ การพูดคุยของผู้เห็นใจกับผู้ยากไร้ในชนบท เมื่อผู้เห็นใจยื่นมือมาให้จับ แล้วบอกว่า มาเถอะ เราไปด้วยกัน เราไปเรียกร้อง ต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราควรจะได้ด้วยกัน ยิ่งการแสดงบทตีแตกถึงการเอาจริงเอาจัง นั้นคือเทวดาของเขา นั่นคือผู้ปลดปล่อย…..

หากผมเป็นนายจืด อยู่บ้านคำป่าหลาย ยากจน ด้อยการศึกษา ขาดปัจจัย …เมื่อมีผู้ปลดปล่อยมาเป็นเพื่อน ผมก็อุ่นใจว่าชีวิตนี้ดูมีหวัง มากกว่าสิ้นหวัง มากกว่านั่งๆนอนๆมองคนในเมืองเติบโต มองข้าราชการมีเงินเดือนกิน… ผมก็ขอจับมือผู้ปลดปล่อยไว้ก่อน ผมไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก…

แล้วสังคมทุกหย่อมหญ้าทุกวันนี้มันต้องใช้เงิน เพราะมันเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับชีวิตเสียแล้ว แน่นอนเราไม่ได้หวังก้มหน้าหาแต่เงินๆ แต่ควรมีจำนวนต่ำสุดที่ควรจะมีรายได้ประกอบการพึ่งตัวเองแบบชนบท เพราะลูกต้องใช้จ่าย และครอบครัวต้องใช้จ่าย…

สภาพสังคมในปัจจุบันที่เคลื่อนตัวไปนั้น ได้สร้างความอึดอัดให้แก่ครอบครัวชนบท การจะมาฟังใครต่อใครพร่ำบ่นว่า ต้องพึ่งตัวเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้นั้น นายจืดอย่างผมก็คิดออก แต่เงื่อนไขของผมนั้นดูจะตีบตัน อุกอั่ง

หากไม่มีกระบวนใดๆของแผ่นดินก้าวออกไป จริงจังกับการเป็นเพื่อนคู่คิดกับเขา ละก็ มีคนที่อยากเป็นเพื่อนเขาจ้องอยู่ และกำลังทำงานเงียบๆอยู่แล้ว

ดูเหมือนคำกล่าวของฯพณฯพลเอกเปรมจะถูกต้องที่ว่า ..นโยบาย 66/23 ที่ท่านทำมากับมือนั้นล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่เสียแล้ว…


ที่นี่มีแรงงานขาย..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 19, 2010 เวลา 13:41 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1876

เช้านี้นายหล้อง เชื้อคำฮด เกษตรกรรุ่นใหม่ของเราที่ประสบผลสำเร็จในการทำการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังมาพบที่สำนักงานในเมือง

ผมเอาเงินมาคืน ส.ป.ก.ครับ ผมจ่ายคืนปีละ 7,000 บาท ปีหน้าก็หมดแล้วครับ นายหล้องบอกพวกเรา


ทางเราแอบดีใจที่หล้อง มีทัศนคติที่ดีต่อการทำการเกษตรแบบผสมผสานและการร่วมทดลองกับโครงการของเรา แม้ว่าจะใส่เสื้อแดง แต่หล้องไม่มีความคิดทางการเมืองแต่อย่างใด เขามุ่งหน้าสร้างครอบครัวใหม่ของเขาอย่างเข้มแข็งและมั่นใจ

อาจารย์ จะเอารถเข้าไปขุดสระน้ำประจำไร่นาให้ผมเมื่อไหร่ ผมอยากทราบ หล้องเอ่ยปากปรึกษากับผม ผมเลยเชคข้อมูลกับวิศวกรโครงการเรื่องนี้ ก็พบว่ารถจะเข้าไปขุดสระน้ำให้ประมาณปลายเดือนหน้า ผมถามว่า ที่ถามเรื่องนี้เป็นห่วงเรื่องการทำไร่ทำนาหรือ..เพราะฝนตกลงมาแล้ว ใครๆก็เริ่มขยับเรื่องนี้กัน

หล้องตอบว่า เปล่า..ผมจะไปจันทร์บุรี… จะไปรับจ้างเก็บเงาะ ผมเคยไปมาแล้ว ค่าจ้างแรงงานคิดกิโลกรัมละ 3 บาท ทำเพียงเดือนครึ่งเดือนก็ได้เงินก้อนเล็กๆกลับบ้าน… มีนายหน้าติดต่อแรงงานอยู่ที่บ้านเปียด ใกล้ๆอำเภอดงหลวงนั่นแหละ นายหน้าคิดค่ารถ 500 บาทต่อเที่ยว บางทีเจ้าของสวนก็ออกค่ารถให้ บางสวนก็ไม่จ่ายให้เราออกเอง


เมื่อเดือนก่อนผมก็ไปรับจ้างแบกเสาปูนที่หว้านใหญ่ ทำงานแค่ครึ่งเดือนครับ…

พิเคราะห์

  • ปกติโครงการหรือใครๆก็พยายามดึงแรงงานให้อยู่กับไร่นา โดยการสนับสนุนให้ทำการเกษตร ทำอาชีพเสริมต่างๆ และอื่นๆ
  • แต่กรณีนี้ หล้องไม่ได้เป็นแรงงานอพยพถาวร แต่เป็นแบบชั่วคราวที่ไปแล้วกลับในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ ครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน เมื่อภารกิจเสร็จก็กลับบ้าน ไม่ได้หางานอื่นต่อ
  • หล้องยังยึดการเกษตรเป็นอาชีพหลัก การขายแรงงานเป็นแบบชั่วคราว ครั้งคราว
  • หล้องใช้เวลาเพื่อขายแรงงาน ต่างจากหนุ่มรุ่นเดียวกันที่มักเลือกการขึ้นป่า ไปหาของป่าเพื่อกินเองและขาย
  • แม้หล้องจะเหล่ รถมอเตอร์ไซด์คันในฝันไว้ แต่ยังไม่มีเงินก้อนจะไปซื้อมา แต่ก็รับผิดชอบเงินกู้ ส.ป.ก. ที่ต้องเอามาคืนตามกำหนด
  • หล้องมุ่งหวังจะได้สระน้ำจากโครงการและใช้เลี้ยงปลา ขอบบ่อจะปลูกพืชสารพัดชนิด และแปลงมันสำปะหลังก็จะเอาความรู้ที่ร่วมการทดลองการเพิ่มผลผลิตไปทำต่อ นาไร่ก็ทำตามปกติ แต่จะหันมาใช้ปุ๋ยน้ำหมักมากขึ้น
  • ผมไม่ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านหล้องที่จะไปจันทร์บุรีเพื่อขายแรงงานกับสวนเงาะ ผมแอบสนับสนุนในใจเพราะรู้ว่าเป็นแรงงานชั่วคราว ดีกว่าอยู่บ้านในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
  • การเขามาถามช่วงเวลาที่ ส.ป.ก.จะไปขุดสระน้ำประจำไร่นา นั้น เป็นการมาหาข้อมูลเพื่อวางแผนงานตารางชีวิตของเขาว่าจะไปจันทร์บุรีไหม ไปเมื่อไหร่ เพื่อไม่สับสนกับช่วงที่มีการขุดสระ ใจจริงเขาให้น้ำหนักการได้สระน้ำมากกว่าไปจันทร์บุรี
  • หล้องเติบโตขึ้น พัฒนามากขึ้น รู้จักคิด พิจารณาอะไรก่อนหลัง อะไรควรไม่ควร


วาดฟ้า..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 18, 2010 เวลา 14:06 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2393

อยากจะฝากฟ้าฝ่าฝันก็ฝืนฟ้า

อยากจะเหวี่ยงวาดตระหวัดสุดวัดวา

ได้ชื่นชมมิชินชาแต่ชุ่มชวย



ผมป่าวนา..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 17, 2010 เวลา 22:37 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3090

เส้นทางเข้า อ.ดงหลวง วันนี้กับเมื่อยี่สิบปีก่อนต่างกันลิบลับ


ลึกเข้าไปในพื้นที่ดงหลวงเพียงเลยที่ว่าการอำเภอไม่ถึงกิโลเมตร ถนนหนทางก็เป็นสีแดงที่โครงการผมรับผิดชอบไปพัฒนาขึ้นมาให้ใช้ได้ตลอดทั้งปี


เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระต๊อบหลังเล็กด้านในนั้น ยกธงแดง “โค่นอำมาตย์” ผมเห็นแล้วก็เจ็บปวดลึกๆด้านใน ที่พื้นที่ทำงานของผมปรากฏสิ่งเหล่านี้ เขาประกาศตรงไปตรงมาว่าเขาคือใคร คิดอะไร ต้องการอะไร ฯลฯ ผมซะอีกที่ไม่เคยเปิดเผยด้านลึกข้างใน อันเนื่องมาจากหน้าที่การงาน

วันนี้ผมมีความจำเป็นต้องเดินไปหาเขา ที่กระต๊อบหลังเล็กที่มีธงแดงปักอยู่นั้น


มีชายต่างวัยสามคน “นอนฟังวิทยุแดง” รายงานสถานการณ์ราชประสงค์จากรุงเทพฯอยู่พอดี ผมแนะนำตัวแล้วก็ขอนั่งลงคุยกัน

ความจริงวันนี้ผมไปเรื่อง “ผีปอบ” ที่ชายหนุ่มคนที่ไม่ได้ใส่เสื้อคนนั้นมีน้องชายถูกยิงตายเมื่อสองปีที่แล้วในเหตุที่เป็น ผีปอบ แล้วจะลงรายละเอียดเรื่องนี้อีกครั้ง..


คนที่ 1 คือ เจ้าของกระต๊อบหลังนี้ และเป็นเจ้าของธงแดง ลงมาร่วมกับเสื้อแดง 2 ครั้งแล้ว และติดตามสถานการณ์ตลอด อดีตคือทหารป่า คนที่ 2 คือ อดีตทหารป่าฝ่ายลำเลียงอาวุธ และเงินเดือน ปัจจุบันอายุ 87 ปี คนที่ 3 คือ อดีตนักปลุกระดมมวลชนที่เดินทางไปฝึกฝนมาจากเวียตนาม อายุ 76 ปีแล้ว

คนที่ 1 นั้นมาขออาศัยที่ดินลุงคนที่ 2 โดยปลูกกระต๊อบในที่ดินของลุง วันไหนไม่ได้ไปไหนๆก็จะมาร่วมกันฟังวิทยุเสื้อแดง และคุยกัน…

ผมสอบถามเรื่องราวตามวัตถุประสงค์จบแล้วก็วกเข้ามาเรื่องราชประสงค์


ชายคนนี้ กับเพื่อนอีกสามสี่คน เดินทางเข้าร่วมเสื้อแดงมาตลอด และเข้าร่วมค่ายการเมืองของเสื้อแดงที่นิคมคำสร้อย ด้านใต้ของจังหวัดมุกดาหาร

ผมถามว่าเขาอบรมกี่วัน เขาตอบว่าวันเดียว แล้วทำบัตรแดงหรือเปล่า เขาบอกว่าไม่ได้ทำ ไม่ทันได้ทำ ตั้งใจจะทำอยู่ แล้วได้เอกสารการเมืองมาเล่มหนึ่ง ผมเปิดดูคร่าวๆ มีแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่หมอเหวงและคุณธิดา ภรรยาหมอเป็นวิทยากรหลัก… ผมยังคิดว่า โห..ชาวบ้านจะอ่านรู้เรื่องรึ.. ผมขอยืมมาศึกษาดู แล้วชายคนนั้นก็หยิบแผ่น CD มาให้ผม อ้าวนั่นมัน อ๋อยนี่


ผมมาถึงบางอ้อ เขารู้ว่ากลุ่มคนเป้าหมายรากหญ้าในชนบทนั้นมีปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือ เขาก็ทำ CD ให้มาเปิดฟัง เพียงฟังเท่านั้น ฟังอ๋อย คุยเรื่องการเมือง…


แต่เสียใจนะอ๋อย ก็ชาวบ้านรากหญ้านั้นแค่ถือ CD มาดูรูปนายหล่อๆเท่านั้น ไม่มีเครื่องเปิดน่ะซี เขาก็ให้ผมมาเปิดฟัง

อ๋อย นายน่าจะไปเป็นพระเอกหนังฮอลลิวู้ด ประเภทเจมส์บอนด์ ได้เลยนะ รูปนายหล่อมากว่ะ..

แต่เอ..ผมหันไปพิจารณาวิทยุที่ชาวบ้านรากหญ้าเอาหูแนบฟังนั้น มีชื่อผมไปปรากฏที่นั่นด้วย..


เฮ้ย…..ผมเปล่านา…จริง จริง.. ผมถามเขาก็บอกว่า ไม่เคยสนใจ มันเป็นยี่ห้อวิทยุน่ะ.. เออ เอาซิ กลายเป็นกระบอกเสียงแดงไปแล้วววววววว

ผมป่าวนาาาาาา


พบอาวุธแดงเพียบ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 16, 2010 เวลา 18:27 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1674


“ใครว่าแดงพกอาวุธ ไม่จิ๊ง… ไม่จิง..

เพียงแต่ว่าทุกส่วนตัวเราคืออาวุธ เท่าน้านนน”

(แหล่งที่มาของภาพ: Reader's Digest)


เวลาของการพัฒนา..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 16, 2010 เวลา 8:59 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1912

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเราก็เชิญเกษตรกรที่เข้าร่วมการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังมาสรุปบทเรียนกัน ห้องประชุมของ อบต.ติดงานประชาสังคมแผนงานประจำปี เราก็ใช้ข้างบ้านผู้นำนั่นแหละเป็นสถานที่คุยกัน


แต่น้องๆเอาป้ายชื่อเกษตรกรมาติดหน้าอก เหมือนประชุมกันในโรงแรมใหญ่ในเมือง ขัดตาอย่างไรไม่รู้ แต่ก็ไม่เสียหายอะไร สถานที่ตรงนี้คือเกษตรกรชาวนาชาวสวนที่ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย ถึงสองคน ต้องปั่นเงินค่าเทอมให้ลูกจนจบจนได้ แต่ก็เห็นความยากลำบากของเขา เห็นการดิ้นรนของพ่อบ้านที่เอาทุกอย่างเพื่อลูก สภาพบ้านพักปกติชาวบ้านก็เดาได้ว่า ไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่สะอาด กรณีครอบครัวนี้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ พ่อบ้านวิ่งวุ่นไปกับการหาเงินให้ลูกใช้ทุกเดือน แม่บ้านก็มีลูกน้อย ใครมีครอบครัวเดาสภาพออกนะครับว่ามันวุ่นแค่ไหน หากประคับประคองใจไม่ได้ดีละก็ ทะเลาะกันบ้านแตก


เจ้าหน้าที่โครงการออกไปนำการพูดคุย เอากระบวนการทำการเกษตร เทคนิค รายจ่ายที่เกิดขึ้น ผลที่ได้มา ฯลฯ แลกเปลี่ยนผลกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ เกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมนี้พึงพอใจและเห็นว่าการปลูกมันสำปะหลังคราวต่อต่อไปนั้นจะเพิ่มผลผลิตทำได้อย่างไร

เกษตรกรผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต่างมองเห็นจุดบกพร่องของการทดลองครั้งแรก และเห็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นแต่แสดงความมั่นใจ ว่าหากใส่ใจและเอาวิชาการเข้าไปอีกเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มผลผลิตได้

ถามว่าอนาคตเป็นเช่นไรต่อมันสำปะหลัง และทำไมเราจึงเลือกมันสำปะหลังทั้งที่เรารู้ดีว่าพืชตัวนี้ครั้งหนึ่งในอดีตรัฐบาลทำแผนระดับชาติเพื่อลดพื้นที่การปลูก และเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่เราเองรังเกียจมาในระยะเวลาหนึ่ง

เรามีเหตุผลสองสามข้อที่สนับสนุนการทดลองครั้งนี้คือ

หนึ่ง เป็นพืชที่เกษตรกรปลูกอยู่แล้ว มีความคุ้นชิน ง่ายและปลูกได้ในพื้นที่ที่พืชอื่นๆปลูกไม่ได้

สอง จากการศึกษาเราพบว่ามันสำปะหลังเป็นพืชเกษตรกรปลูกคู่ไปกับข้าว เพราะเป็นหลักประกันการมีข้าวกิน เพราะหากปีใดข้าวไม่ได้ผลผลิตเพียงพอ เขาสามารถขุดมันขายแล้วเอาเงินมาซื้อข้าวกิน เป็นการดิ้นรนสร้างหลักประกันการมีข้าวกินของเขาเอง


สาม มันสำปะหลังกลายเป็นพืชพลังงานไปแล้ว ในอนาคตอาจจะพัฒนามันสำปะหลังในพื้นที่แปลงเป็นพลังงานได้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่า เอามันสำปะหลังไปหมักเมื่อได้แก๊ส ก็เอาแก๊สไปผ่านกระบวนการเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าได้และการทดลองของมหาวิทยาลัยประสพผลสำเร็จกำลังขยายจากห้องทดลองไปสู่ระดับชุมชน การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ อาจจะมีส่วนที่ดีในอนาคตต่อเรื่องนี้ด้วย


เราพบว่าส่วนบุคคลนั้นประสพผลสำเร็จ แต่เมื่อเราถามเกษตรกรว่าความรู้ หรือประสบการณ์ครั้งนี้เอาไปเผยแพร่ให้เกษตรกรในหมู่บ้านได้ไหม..? ต่างร้องโอย..กล่าวว่า

อาจารย์ เขาไม่ฟังผมหรอก… ต่างก็บอกว่า ต้องจัดฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ทุกช่วงการผลิตจริง ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ช่วงเวลานี้การปลูกมันสำปะหลังก็ทำไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าไม่มีเกษตรกรคนไหนทำตามเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทดลองเลย ยังใช้วิธีการเดิมๆ ใช้ต้นพันธุ์ตัดสั้น ปลูกถี่เกินไป ไม่ปรับปรุงบำรุงดิน ฯลฯ ล้วนมีเหตุผลอธิบายเมื่อเราสอบถาม… การขยายผลนั้นไม่ง่ายเลยนะ

ผมนึกย้อนไปที่ “พิลา” พนักงานขับรถของเราที่เขาแอบเอาความรู้ที่เราแนะนำชาวบ้านในโครงการเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยใช้วิธีอินทรีย์ไปทดลองทำเองโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ฉี่วัว และอื่นๆ และพบว่าประสพผลสำเร็จ ก็ไม่มีเพื่อนบ้านเอาอย่าง แม้พี่ชายของเขาเองที่ใกล้ชิดสนิทสนม แม้จะบอกว่าการปลูกข้าวแบบอินทรีย์นั้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง และประหยัดมากกว่าแบบใช้ปุ๋ยเคมีก็ตาม

แต่…แต่ มาปีที่สาม พี่ชายหันมาทำตามแล้ว…

เรานึกย้อนเข้าไปในพื้นที่..คิดไปว่า เออ อีกปี สองปี เกษตรกรในพื้นที่อาจจะหันมาทำตามเกษตรกรที่เข้าร่วมทดลองการเพิ่มผลผลิตของเรานะ

อือ.. การเปลี่ยนแปลงนั้นใช้เวลา ไม่ใช่ข้ามคืนนะ


เรื่องของโจ้ย..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 14, 2010 เวลา 23:42 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2642


รักใครชอบใครนั้น มีต่างเหตุปัจจัยกันมากมาย ต่างมุมมองกันอย่างไม่น่าเชื่อ บางทีเห็นหน้ากันก็นึกชอบ ไม่มีเหตุผล หากถามก็ตอบไม่ได้ ก็มันชอบอ่ะ..

รูปข้างบนนั้น ถ่ายมาจากการประชุมชาวบ้านผู้เข้าร่วมการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบมีสัญญา เราต้องการสรุปบทเรียนก็เชิญมาคุยกัน น้องๆก็ทำป้ายชื่อห้อยคอ ซึ่งผมเองนึกในใจว่าไม่จำเป็นเล้ย เพราะชาวบ้านเขารู้จักกันหมด ทำไมต้องไปทำเป็นพิธีการมากไป เอามันง่ายๆ ลดงาน ประหยัด และไม่แปลกแยกด้วย แต่น้องๆเขาทำ เอ้าทำแล้วก็ใช้


ชาวบ้านนั้นมักได้รับของแจกจากพรรคการเมืองมากมาย หวังอะไรล่ะ..ไม่บอกก็รู้ และพรรคเจ้าบุญทุ่มก็จะปรากฏในชนบทมากมายรวมทั้งที่บ้านพังแดง ต.พังแดง อ.ดงหลวงแห่งนี้ด้วย เจ้าของเสื้อคนนี้ชื่อนายโจ้ย ชื่อนี้จริงๆ ชื่อพิสดารมากกว่านี้ก็มี อิอิ หลังจากที่เราสรุปบทเรียนการปลูกพืชเสร็จสิ้นแล้ว ผมก็พยายามถามชาวบ้านที่มาร่วมประชุมว่า ฤดูการผลิตต่อไปจะสนใจทำการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ต่อไปหรือไม่ นายโจ้ยตอบว่า …แล้วแต่หัวหน้าใหญ่..นายเสร็จโน่น.. หันไปถามคนอื่นก็โบ้ยหน้าไปหาพ่อเสร็จทั้งนั้น..


นายเสร็จหรืออีกชื่อก็คือพ่อเช็ค เชื้อคำฮด ผู้เฒ่าในชุมชนที่มีบทบาทเป็นผู้นำทางธรรมชาติของชาวบ้านในด้านการปลูกพืช ชาวบ้านที่เข้าร่วมการปลูกพืชเศรษฐกิจต่างก็อ้างถึงพ่อเช็ค หากพ่อเช็คปลูกต่อทุกคนก็ปลูกต่อ หากพ่อเช็คไม่ปลูกต่อต่างก็ไม่ปลูกต่อ….เอากะพ่อซิ..ทำไมชาวบ้านต้องขึ้นต่อพ่อเสร็จ ทำไมไม่ตัดสินใจเอง.. งงอ่ะ…

ไม่งงหรอกครับหากเข้าใจชาวบ้าน รู้จักชาวบ้าน

มันเป็นเรื่องราวจากชนบทน่ะครับ…

สิ่งที่ชาวบ้านพูดนี่มีสอนในตำราพัฒนาชนบทที่ไหนบ้างล่ะ…


แดงไร้เดียงสา..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 2, 2010 เวลา 17:10 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2546


เที่ยงวันนั้นผมขับรถออกจากสำนักงานเพื่อไปร้านอาหารมังสวิรัติเจ้าประจำในตัวเมือง ออกประตูสำนักงานก็เห็นรถปิกอัพคันหนึ่งขับผ่านหน้าไป กระบะหลังมีเด็กหญิงสามคนนั่งอยู่ คนหนึ่งถือธงแดง ยกรับลม ธงแดงปลิวไสว


ผมขับรถไปประกบเพื่ออยากดูเธอ ผมยิ้มให้เธอก่อน เธอยิ้มตอบ ดูเหมือนเป็นเด็กขนาดมัธยมต้น เสื้อก็แดง แถมยกธงแดงเฉยเลย เมื่อผมจ้องเธอ เธอชักไม่แน่ใจ ไม่ยิ้มและเอาธงลง เมื่อผมปล่อยให้เธอเลยไปข้างหน้า เธอเอาธงขึ้นอีก..

ผมถ่ายรูปด้วยมือถือ พอดีเห็นมอเตอร์ไซด์คันหนึ่งข้างหน้าซ้อนสอง ใส่เสื้อแดงโพกผ้าแดง ผมพยายามส่งสัญญาณให้เด็กท้ายกระบะรู้ว่าเธอมีเพื่อนบนถนนด้วย เธอตกใจคงแปรความหมายเป็นอื่น เธอดูสีหน้าตกใจเอาธงลงและทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้..อิอิ

เห็นดังนั้นก็ปล่อยไปไม่เล่นกับเธออีก

ผมเชื่อว่าเธอคงไม่เข้าใจอะไรมากนักว่าธงแดงนั้นมีความหมายอย่างไรบ้าง เสื้อแดงมีความหมายกว้างขวางอย่างไรบ้าง เธออาจจะได้รับข้อมูลจากพ่อแม่ที่บ้าน เพื่อนบ้านและทีวี.. เข้าร่วมโดยไม่เข้าใจ เป็นแนวร่วมโดยบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา


สังคมชนบทมีปรากฏการณ์แบบนี้มากมายนัก

ใครล่ะจะเป็นผู้ไปทำความเข้าใจ และจะมีกระบวนวิธีอย่างไร เขาเหล่านั้นจะเข้าใจไหม หรือไปตอกลิ่มเข้าไปอีก

รัฐจะมีบทบาทอย่างไรต่อปรากฏการณ์เหล่านี้ หรือปล่อยให้ความไร้เดียงสาพัฒนาไปสู่อุดมการณ์..?!



Main: 0.074977159500122 sec
Sidebar: 0.042418956756592 sec