เรียนรู้ชาวบ้าน..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 12, 2009 เวลา 22:16 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2043

การเฝ้าเรียนรู้ฅนนั้น ไม่ง่ายอย่างพฤติกรรมที่เห็น

คำว่ารู้หน้าไม่รู้ใจ สะท้อนว่าฅนนั้นซับซ้อนมากกว่าตัวเป็นๆที่เห็น

แต่อยากจะพูดอีกมุมหนึ่งว่า พฤติกรรมที่เห็นนั้น ไม่อาจด่วนสรุปความคิดรวบยอดได้เสมอไป


การเข้าใจฅนนั้นต้องสนิทแนบพอสมควรจึงจะเข้าถึงมุมด้านในขิงเขา

ยิ่งเราเป็นคนนอก ชาวบ้านเป็นคนใน เราเองก็ไม่ได้อยู่กินตลอดเวลากับเขา แม้จะรู้ว่า ชาวบ้านนั้นตรงไปตรงมากับเรามาก มากกว่าอีกหลายคนที่ผ่านเข้ามาในวิถีชีวิตเขา แต่ก็ไม่ใช่ที่สุด


วันนั้นที่ประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำ บ้านพังแดงประชุมเพื่อปรับเปลี่ยนชุดบริหารงานใหม่ อดีตประธานมีสิ่งไม่ค่อยปกติหลายอย่าง เช่น ไม่ได้ทำบัญชีค่าใช้จ่ายของกลุ่มทุกครั้งที่มีการรับจ่าย ขอดูเอกสารหลายครั้งก็อิดออดที่จะเอามาให้ดู นัดพบปะกันเพื่อจัดระบบการบริหารงานใหม่ก็ไม่มา อ้างเหตุผลติดธุระต่างๆ ในที่สุดกลุ่มก็ลงมติตั้งประธานคนใหม่ แล้วลุยสะสางระบบต่างๆให้ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้


คณะกรรมการชุดใหม่ดูขึงขัง และ active ประธานคนใหม่รับปากจะเข้าไปเคลียร์กับประธานคนเก่าตามแบบคนในหมู่บ้านเดียวกัน กรรมการคนอื่นๆ ก็เริ่มทำงาน

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ประธานคนใหม่มาบอกว่า ได้พบกับประธานคนเก่าแล้วและได้คุยกันแล้ว พบว่า เขาไม่มีอะไรจะต้องระแวงสงสัยเลย ทุกอย่างมีเหตุผล อธิบายได้ แต่ความไม่พึงพอใจบางอย่างทำให้เกิดอาการปิดตัวเอง เมื่อเข้าถึงอาการปิดตัวเองก็ยุติ และประธานคนใหม่ก็เข้าใจ นำความมาบอกกล่าวกับทุกคนและ เสนอให้ประธานคนเก่าควรทำหน้าที่ต่อไปอีกด้วย


แม้ว่าประเด็นนี้ยังไม่ถึงที่สุด แต่ ได้เรียนรู้ใหม่ๆขึ้นมาในเรื่องการทำงานกับชาวบ้าน พัฒนาฅน พัฒนาชุมชน มีอะไรใหม่ๆให้เราขบคิดเสมอ มีสาระที่ให้เราต้องตามติดอยู่เรื่อยๆ

นึกเลยไปถึงกระบวนวิธีทางการแพทย์สอนนักศึกษาในปีสุดท้ายที่เรียน แพทย์ฝึกหัดนั้น นักศึกษาแพทย์จะต้องออกเยี่ยมเตียงคนไข้ โดยมีอาจารย์หมอยืนเป็นพี่เลี้ยง ให้นักศึกษาเรียนรู้จริงจากคนไข้ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแพทย์ฝึกหัดมีความสามารถเพียงพอจึงผ่านไปสู่การเป็นแพทย์จริงๆ เข้าใจว่าพยาบาลก็เช่นกัน

นักศึกษาพัฒนาชนบท ไม่มีการลงสู่ชนบทแล้วเอาประเด็นที่พบมาถกกันให้ทะลุไป ที่ส่งนักศึกษาไปฝึกงานนั้นก็ดูจะ แค่ได้ไปชนบทเท่านั้นเอง….

อ้าว….ไปจนได้ อิอิ


เปลือก.. กับกระโถน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 29, 2009 เวลา 18:29 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 1588

ตั้งใจจะบันทึกเรื่องราวทำนองนี้ไว้นานแล้ว จะ จะ อยู่นั่นแหละ วันนี้ขอหยุดงานหลักมาเขียนบันทึกนี่ซะหน่อย

ก็คราวที่นานใหญ่ไปดูงานสนามเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี่แหละทำให้จำต้องบันทึกเรื่องนี้ไว้ เดี๋ยวจะผ่านไปอีก อิอิ

เรื่องของเรื่องก็คือ การรับนายใหญ่นั้นเราก็เชิญผู้นำชาวบ้านมาพบด้วยเผื่อท่านทั้งหลายอยากคุยกับชาวบ้านก็พร้อมที่จะให้พบกับชาวบ้าน มาประมาณ 10 คน ในระหว่างที่คุยกันเรื่องทรายถมทับหัวสูบ ก็มีหัวหน้างานคนหนึ่งเดินไปคุยกับชาวบ้านสอบถามเรื่องนั้นเรื่องนี้แหละ แล้วก็เดินกลับไปวงคุยกันนั้น สักพักก็รายงานนายใหญ่ว่า ชาวบ้านให้น้ำพืชโดย flooding หรือปล่อยให้ไหลไปตามลาดเอียงของพื้นที่ให้ท่วมร่องน้ำ และบอกด้วยว่า ข้างปลายท่อไม่ได้น้ำ….

ผมเดาออกเลยว่าทั้งหมดนั้นชาวบ้านหมายถึงอะไร แต่คนที่มาฟังเดี๋ยวเดียวโดยไม่รู้รายละเอียดทั้งหมดนั้นฟังแล้วเข้าใจว่าอย่างไร ผมทำงานระบบ On farm มาก่อนกับพื้นที่ชลประทานที่เขื่อนลำปาวกาฬสินธุ์ และอีก 6 เขื่อนขนาดกลางในอีสานในโครงการ NEWMASIP จึงทราบรายละเอียดพวกนี้ดี ผมทำงานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ออกไปประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำเอง จึงรู้ว่าวิธีการจัดสรรน้ำนั้นทำอย่างไร ใครควรได้ก่อนหลังทั้งตามหลักชลประทาน และตามหลักการพัฒนาชุมชน

แต่ท่านหัวหน้าที่ไปสอบถามชาวบ้านมานั้นเป็นวิศวกรโยธา ไม่เข้าใจความหมาย และรายละเอียดของพื้นที่ และเดาใจชาวบ้านไม่ออกว่าที่เขาพูดถึงนั้นพุ่งเป้าไปที่ไหน สิ่งเหล่านี้หากไม่ได้คลุกคลีกับชาวบ้านแล้วจะตีความหมายคำพูดของชาวบ้านผิดเพี้ยนไปได้

หลักจากที่หัวหน้าท่านนั้นรายงาน ผมเห็นสีหน้าของนายใหญ่ไม่ค่อยดี ซึ่งพอเดาใจได้ว่าท่านคิดอะไร

หากเราดูระบบราชการที่ทำงานกับชนบทนั้นต่างจากระบบ NGO ที่ทำงาน คือ ราชการนั้นจะเน้นงานสำนักงานเป็นหลัก ใช้วิธีสั่งการลงไป เมื่อถึงคราวที่จะต้องลงไปในพื้นที่ก็ลง และเมื่อเสร็จก็กลับ จนกว่าจะมีกิจกรรมใหม่ก็ลงไปอีก….แบบเข้าชนบทเฉพาะกิจกรรมแล้วออก แต่ระบบงาน NGO นั้นการทำงานกับการคลุกคลีชาวบ้านเกือบแยกกันไม่ออก เพราะทุกอย่างเป็นงานและเป็นการชวนคุยธรรมดา ให้เวลากับชาวบ้านมากฯลฯ จึงมีความเข้าใจมากกว่า สนิทสนมกับชาวบ้านมากกว่า ลงลึกมากกว่า ชาวบ้านให้ความเปิดเผยมากกว่า (แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมดนะครับ ดีดีก็มีเยอะไป)

ยิ่งมาแบบฉาบฉวย ชาวบ้านจะพูดเพื่อเปิดโอกาสรอประโยชน์ที่อยากได้รับ… ซึ่งก็เป็นค่านิยม เป็นสิทธิ เป็นความหวังของเขา และหลายแห่งราชการ ให้เสียจนชินเหมือนกัน ดงหลวงก็เหมือนกัน หลังจากที่เขาออกจากป่า ราชการก็อยากดึงเขาเข้ามาเป็นคนไทยที่ไม่มีความต่างทางความเชื่อทางการเมือง จึงทุ่มเทการให้ต่างๆมากมาย แม้ปัจจุบันเขาก็เผลอขอเราเฉยๆก็บ่อย…เผื่อเราใจอ่อนให้… ซึ่งเราก็ให้ แต่ให้ของเรามีเงื่อนไข มีความเข้าใจลึกๆถึงคนนั้น ครอบครัวนั้นมากกว่า ให้แบบคนนอกที่ไม่เข้าใจรายละเอียด

อย่างเช่น เกษตรกรคนหนึ่งเป็นคนขยัน มีพื้นที่ทำกินอยู่นอกโครงการสูบน้ำ แต่ติดขอบพื้นที่รับน้ำ เขาอยากเพาะปลูกพืชนั่นพืชนี่ตามที่เราแนะนำเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โครงการ แกก็ปลูก ก็ทำ โดยพยายามลงทุนต่อท่อจากหัวจ่ายข้ามถนนไปพื้นที่แกจนได้ และก็ประสบผลสำเร็จด้วย เราส่งเสริมอะไร เอาด้วยหมด ไปทุกครั้งก็บ่นว่า “พวกที่มีที่ดินในพื้นที่รับน้ำไม่ทำการเพาะปลูกกัน ผมไม่ได้รับน้ำแต่อยากปลูก” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่เกษตรกรท่านนี้พูดมาก เรียกร้องตลอด และแอบทำการทดลองเอง ตามความคิดความเชื่อของตนเอง ทั้งได้ผลและล้มเหลว

ท่านที่มาจากกรุงเทพฯรับฟังชายคนนี้มาแบบคนนอก ที่ไม่เข้าใจก็รายงานนายใหญ่ หากเราจะแจ้งข้อเท็จจริงก็จะหน้าแตกกันยับเยิน เราถือคติให้อภัยเขาเถอะ…. จึงยอมเป็นกระโถน..

ผมหละฝืนๆความรู้สึกจริง ต่อผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางโครงการที่ผมทำอยู่ เพราะท่านเหล่านั้นมาใหม่ และออกพื้นที่เฉพาะเรื่อง เมื่อออกทำกิจกรรมเสร็จก็กลับ แต่คนที่จังหวัด เดินทางไปมาหาสู่ ไม่มีกิจกรรมก็เยี่ยมเยือน ไปเรื่องอื่น แต่ผ่านหน้าบ้านก็แวะทักทายกัน

เรื่องเหล่านี้เป็นวิถีงานชุมชนที่ต้องทำ แล้วความสนิทสนม ใกล้ชิดเกิดขึ้น เมื่อคนเราใกล้ชิดกัน อะไรอะไรก็ง่าย พูดจากันก็ง่าย เพราะเข้าใจกัน เห็นกันและกันทั้งหมด การทำอะไรก็เปิดเผยจริงใจเข้าหากัน ตรงข้ามการทำงานแบบ เช้าไปเย็นกลับ ไปเช้าวันนี้กลับเย็นพรุ่งนี้ แต่อีกครึ่งค่อนเดือนหรือมากกว่านั้นไปอีกที..มันขาดมิติความสนิทสนมกัน เมื่อขาดตรงนี้ ก็ขาดพื้นฐานการทำงานกับคนชนบท

หากมากไปกว่านี้ก็จะเป็นที่ฝรั่งกล่าวว่า Tourism Development ไป


คราม..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 9, 2009 เวลา 21:51 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 4640

คนที่บ้านผมคลั่งผ้าครามยิ่งนัก ท่องไปที่ไหนพบผ้าครามเป็นคว้ามาเต็มตู้ไปหมด โดยเฉพาะฝ้ายครามสวยๆที่ย้อมด้วยกรรมวิธีโบราณนั้น ผมเองก็ชอบครับ


ก็สีสวย ตัดเสื้อผ้าใส่ก็งดงาม ภูมิฐาน และสามารถตัดเสื้อได้ตั้งแต่ ฮ่อมไปจนเชิ้ต และสูทงามหรู

เท่าที่ทำงานพัฒนาชนบทมานั้นเราพบหมู่บ้านที่ทอผ้าฝ้ายและย้อมครามหลายแห่ง แต่ละแห่งก็สวย แต่ที่ติดตาติดใจก็ต้องที่สกลนคร กลุ่ม ผู้ไท กะเลิง ญ้อ แถบ อ.กุดบากและ ผ่านทีไรเสียเงินทุกที..


ผู้ไทที่เรณูนคร หรือคำชะอีก็ไม่แพ้ใครครับ กลุ่มแม่บ้านใช้เวลาว่างทอส่งขายทั้งแปรรูปมากมาย เป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพรองไปเลย โดยเฉพาะกลุ่มศิลปาชีพ ทุกปีผู้แทนสมเด็จท่านจะมาตระเวนรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านไป ท่านคงทราบดี


ที่ทำเงินทำทองเป็นกอบเป็นกำคงมีหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็ที่บ้านภู อ.กุดบาก กลุ่มแม่บ้านโดยการสนับสนุนของ NGO มาส่งเสริมการผลิตและพัฒนาฝีมือจนส่งออกไปญี่ปุ่นนานหลายปีมาแล้ว และอีกหลายอำเภอของสกลนครนั้นมีกลุ่มทอและ “ผลิตคราม” ส่งขายมาภาคเหนือด้วยซ้ำไป คนข้างกายบอกว่าทำเงินปีละนับสิบล้าน????


กลุ่มไทโซ่ ดงหลวง ของอาว์เปลี่ยน ก็มีผลิตบ้างแต่ในมุมมองของผมเห็นว่าไม่เด่นโดดอย่างของสกลนคร

วันนี้ไม่ได้มาขายเสื้อผ้าครามนะครับ แต่ระหว่างนั่งรถกลับบ้านขอนแก่น มีน้องที่ทำงานที่เป็นผู้ไท อ.นาคูนั่งรถมาด้วยก็คุยกันถึงเรื่องนี้ แล้วเธอก็บอกว่า

พี่..คนโบราณนั้นเขาใส่แต่เสื้อย้อมครามผ้าฝ้ายทั้งนั้น ไม่ว่างานไหนๆ หน้าร้อนก็ไม่ร้อน หน้าหนาวก็อุ่น ผมเองก็ตอบว่าเห็นด้วยเพราะเคยใช้มาพอสมควร

เธอคุยต่อไปอีกว่า พี่.. แม่หนูบอกมาตั้งแต่หนูยังเด็กๆว่า หากโดนสัตว์กัด ต่อย เช่น มด แมลงละก็ หายาหม่อง ยาแก้อื่นๆไม่ได้ ก็ให้เอาผ้าฝ้ายที่ย้อมครามนี้ไปชุบน้ำหมาดๆ อิงของร้อนๆแล้วเอามานาบลงตรงที่สัตว์มากัด ต่อย รับรองได้ผลชะงัด..


อีกอย่างที่คนโบราณใช้กันมานานคือ หากเข้าป่าขึ้นดอย เกิดไปกินผิด เช่น กินเห็ดมีพิษเข้าละก็ ให้เอาผ้าฝ้ายย้อมครามนี้มาแช่น้ำในขัน สักพักหนึ่ง แล้วให้เอาน้ำในขันนั้นมาดื่มกิน ได้ผลมามากต่อมากแล้ว

หนูเองก็ไม่เคย..แต่มีครั้งหนึ่งหนูใส่เสื้อผ้าครามเข้าไปชนบทที่กาฬสินธุ์ มีพ่อเฒ่าคนหนึ่งเดินมาจับเสื้อหนูแล้วก็ออกปากขอดื้อๆ ว่าอยากได้ผ้าฝ้ายย้อมครามโบราณแบบนี้มานานแล้ว จะเก็บเอาไว้ และเพื่อใช้แก้กินผิดกินเบื่อดังกล่าวด้วย… ผู้เฒ่าอ้อนวอนจนเธอต้องยกให้ทั้งๆที่บอกว่าหนูใช้ใส่แล้วมันสกปรก แกก็ไม่ถือ….

ผมขับรถไป ใจหนึ่งก็น้อมรับความรู้นี้

แต่อีกหลายคนคงส่งเสียง หึ.. หึ.. อยู่ในลำคอ


ไม้ข่มเหง

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 12, 2009 เวลา 2:03 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2784

ผมไม่ได้ไปข่มเหงใคร และใครก็ไม่ได้มาข่มเหงผมหรอกครับ …

แล้วคำนี้เกี่ยวกับรูปที่เอามาแสดงอย่างไร หลายท่านคงสงสัย


เมื่อเข้าที่ทำงานตอนเช้าวันนี้ก็มีโน๊ทบนโต๊ะทำงานกล่าวว่า พ่อไข วงศ์กระโซ่เสียชีวิตแล้ว จะเผาวันนี้ ขอเชิญ…เข้าร่วมงานศพด้วย

พ่อไข เป็นผู้นำชาวบ้านที่เราสนิทสนมด้วยตั้งแต่แรก พ่อไขเป็นกลุ่มคนแรกๆที่ดงหลวงที่ทดลองทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพเพื่อใส่พืชผักต่างๆจนได้ผล พ่อไขทำเกษตรผสมผสานให้คนอื่นๆดู ขุดสระน้ำ เอาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กินได้ ตามแนวคิดของเครือข่ายอินแปงแห่งสกลนคร

พ่อไขยังมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นมัคทายกวัด ดูแลเอาใจใส่พระสงฆ์องค์เจ้าทุกด้าน


วัย 70 เศษที่มาล้มป่วยด้วยเรื่องของตับ เร่ร่อนไปรักษาตามโรงพยาบาลมามากมายทั้งของรัฐของเอกชน ทั้งสมุนไพร ..แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

กว่าผมจะเสร็จงานที่ทำงานก็บ่ายแก่แล้ว รีบเดินทางประมาณ 60 กม.เข้าดงหลวงมาถึงบ้านงานพบว่าเคลื่อนศพไปสถานที่เผาแล้ว ผมยิ่งงงเพราะเขาใช้สวนของพ่อไขเป็นสถานที่เผาศพ ไม่ได้ใช้วัด หรือป่าช้า ทั้งนี้เป็นไปตามความต้องการของลูกหลาน โดยเฉพาะกลุ่มไทโซ่ ที่จะเอาบรรพบุรุษไปเผาและเก็บกระดูกไว้ที่สวน ที่นาของเจ้าของ

ผมได้เห็นพิธีแบบชาวบ้านที่แปลกตาไปจากแบบเมือง การกองฟืนแล้วเอาศพไปวางไว้ข้างบนนั้นทางภาคกลางเรียก “เผามอญ” หลังจากพระทำพิธีแล้วญาติสนิท มิตรสหายเอาน้ำมะพร้าว และน้ำพิเศษชนิดหนึ่งไปรดลงใบหน้าศพ ครบถ้วนแล้ว ก็จะทำพิธีเผา

เห็นชาวบ้านช่วยกัน ยกไม้ขนาดใหญ่มากจำนวน 4 ต้นเอามาวางพิงทับโลงศพด้านละสองต้น ดังภาพ

ผมถามผู้นำชาวบ้านว่า ไม้ใหญ่ที่เอามาอิง มาทับนั้นทำไว้ทำไม… ผู้นำบอกผมว่า เอามาทับไม่ให้เวลาเผาศพ เผาโลงแล้ว โลงจะกลิ้งตกลงมาเพราะการเผาไหม้น่ะซี เขาเรียกไม้สี่ต้นนี้ว่า “ไม้ข่มเหง” ผมฟังไม่ผิดครับเพราะซักผู้นำจนมั่นใจว่าเรียกเช่นนั้นจริงๆ เป็นคำเดียวกับ ข่มเหง นั่นแหละ ผู้นำคนนั้นยืนยัน

เอาไม้ใหญ่ไปวางทับเพราะต้องการ “ข่มเหง” โลงศพไม่ให้ไหลกลิ้งลงมาช่วงเผานั่นเอง…..

(ใช้มือถือถ่ายรูปช่วงเย็นมากแล้วจึงไม่ชัด)


ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 2

อ่าน: 3894

การพัฒนาแก่ง จุดเริ่มของปัญหา..?

เมื่อฤดูฝนผ่านไปน้ำในแม่น้ำชีลดลง ก็ดึงเอาน้ำในแก่งละว้าไหลออกเป็นปกติที่ห้วยจิบแจงและห้วยปากผีแป้ง เกษตรกรจึงมีความเห็นว่าควรสร้างทำนบกั้นการไหลออกที่ห้วยจิบแจง แต่พบว่ากำลังของชาวบ้านไม่สามารถสร้างทำนบที่แข็งแรงได้ สร้างขึ้นมาก็พังทลายทุกปี จึงเสนอทางราชการเข้ามาพิจารณาก่อสร้างอย่างแข็งแรงต่อไป


เรื่องนี้ตกไปอยู่ที่ อบจ.ขอนแก่น ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับผิดชอบและมีความชำนาญเฉพาะด้านอย่างกรมชลประทานควรเข้ามารับผิดชอบ กรมชลจึงออกมาสำรวจรายละเอียดแล้วจัดทำการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำตามที่ชาวบ้านเสนอให้แล้วยังจัดทำคันดินรอบแก่งละว้า ทำนบดินเป็นชนิด Homogeneous Type
สันทำนบดินกว้าง 6.00 เมตรยาว 7/668.25 กม. ไม่มีระบบส่งน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีอาคารทิ้งน้ำ (River Outlet) อาคารระบายน้ำล้น (Service spillway) ทางระบายน้ำฉุกเฉิน (Emergency Spillway) ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 2,920 เมตร

เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จ สภาพน้ำในแก่งละว้าก็เริ่มผิดปกติไปจากเดิม ปริมาณน้ำไหลเข้าลดลง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรอบแก่งละว้ามากขึ้น

เมื่อทรัพยากรน้ำแก่งละว้าถูกแย่งชิง..

นานแสนนานมาแล้วที่ชาวบ้านต่างอพยพมาจากต่างถิ่นเข้ามาตั้งรกรากรอบแก่งละว้าแห่งนี้ เพียงเพื่อใช้ทรัพยากรน้ำทำมาหากินไปตามวิถี แต่แล้ววันหนึ่งน้ำแห่งนี้ถูกแบ่งไปให้ชาวเมืองอย่างเทศบาลบ้านไผ่โดยการชักน้ำใส่ท่อยาม 15 กม.ไปทำประปาในปริมาณมากมายต่อวัน เมื่อกรมชลประทานมาก่อสร้างทำนบกั้นน้ำไหลออกจากก่งละว้า ชาวบ้านต่างชื่นชม แต่เมื่อสร้างคันดินรอบแก่งด้วย

วัตถุประสงค์ที่ทางราชการตั้งไว้คือ



1 ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบของกิจการประปา อ.บ้านไผ่ ในอัตรา 99,000 ม.3/วัน น้ำจำนวนนี้รวมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในเขตเทศบาล

2 ใช้เป็นแหล่งแพร่-เพาะและขยายปลาน้ำจืด รวมทั้งราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงจะได้ใช้เป็นแหล่งจับปลาได้ด้วย
3 ราษฎรและสัตว์ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่รอบหนองสามารถจะอาศัยใช้น้ำในหนองเพื่อการอุปโภคบริโภค ในฤดูแล้ง - ประโยชน์โดยทางอ้อม - ราษฎรที่อาศัยอยู่รอบๆ หนองสามารถจะซักน้ำในหนองไปใช้ในการเพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งเท่าที่ปริมาณน้ำต้นทุนจะอำนวย
4 อาจใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับโรงงาน และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะตั้งขึ้นในอนาคต
5 ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของราษฎรที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง


เมื่อท่านเห็นวัตถุประสงค์นี้แล้วท่านคิดอะไร…..

น้ำในแก่งละว้าที่ชาวบ้าน 40 หมู่บ้านได้กินได้ใช้มานานแสนนานกลับกลายเป็น น้ำแก่งละว้าเพื่อคนในเทศบาลบ้านไผ่ไปแล้ว ส่วนเพื่อเกษตรกรนั้นเอกสารราชการกล่าวว่า …”ต้องพิจารณาน้ำต้นทุนที่จะอำนวยก่อน….”

หากท่านเป็นชาวบ้านตาสีตาสาที่รอบแก่งละว้านี้

ท่านคิดอะไรบ้าง และจะทำอะไรบ้าง….???!!!

ขอบคุณแหล่งข้อมูล http://www.rid6.net/~khonkaen/MidProject/Lawa/Lawa.htm

http://ridceo.rid.go.th/khonkhan/datamid/pm_lawa.html


แด่น้องผู้หิวโหย..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 2, 2009 เวลา 13:20 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3044

เมื่อเรามาถึงดงหลวง จังหวัดมุกดาหารใหม่ๆ เราตื่นเต้นที่จะพบกับชนเผ่าที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน ด้วยนิสัยคนทำงานชุมชนก็ตระเวนหาข้อมูลเกี่ยวกับชนเผ่ากะโซ่ ทั้งจากการบอกเล่า และเอกสารเท่าที่จะหามาได้ ชิ้นสำคัญก็เป็น เอกสารจากสำนักวัฒนธรรมของจังหวัดฯ และบันทึกสหายใหญ่ พคท. สมัยที่อยู่ป่าดงหลวง

ส่วนใหญ่คำบอกเล่าของทางข้าราชการก็จะมอง กะโซ่ ในแง่ต่ำต้อย ด้อยการศึกษา สกปรก นับถือผี พัฒนาไม่ขึ้น ล้าหลัง นิยมขึ้นภูเขา ฯลฯ ราชการจึงระดมทรัพยากรเข้าไปฟื้นฟู รวมทั้งมีโครงการพระราชดำริอยู่ที่นั่นด้วย

เมื่อเราเข้าไปครั้งแรกๆ ในหัวก็จะมีข้อมูลเหล่านั้นเต็มไปหมด จึงพยายามพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ฯ และคิดต่อไปว่า โครงการที่เราเข้ามารับผิดชอบนั้นจะทำให้เขาพัฒนาขึ้นได้อย่างไรบ้างภายใต้กรอบภารกิจที่ถูกกำหนดมาแล้วตามระบบ

มีสิ่งสะดุดใจหลายประเด็นที่เราพยายามควานหารอยเชื่อมการเข้าถึง เข้าใจและพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เช่น การยกหมู่บ้านเข้าป่า ทั้งตำบล และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ออกมาจากป่า การนับถือผี รูปรอยของการปรับตัว มุมสะท้อนกลับของสหายนำในป่าที่ว่าเป็นพวกวีระชนเอกชน ฯ


เมื่อเราใช้กระบวนการ PRA (Participatory Rapid Appraisal)ศึกษาชุมชนอย่างละเอียด ปัญหาใหญ่ที่เราพบประการหนึ่งก็คือ การขาดแคลนข้าวสำหรับบริโภค เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่า หลายครอบครัวขาดแคลนมากกว่า 4 เดือนโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่เป็นรอยต่อของ “ข้าวเก่าหมด ข้าวใหม่ยังไม่ออก”

ปัญหานี้ในอดีต เกิดขบวนการเข้าป่าหาของป่าไปแลกข้าวตามหมู่บ้านรอบๆเทือกเขาภูพาน ตั้งแต่ อ.นาแก ไปจนถึง อ.เขาวง อ.คำชะอี เรื่องราวการหาของป่าแลกข้าวก็พิลึกกึกกือมากมาย….


แม้กระทั่งวันนี้การขาดแคลนข้าวจะลดลงแต่ก็ยังมีภาพสะเทือนใจให้ได้พบเห็นกัน
ในภาพนี้ พ่อแม่ต้องออกไปทำมาหากิน ส่วนใหญ่คือเข้าป่าไปหาพืช สัตว์ต่างๆมาประกอบอาหารไปวันวัน หรือหากโชคดีก็ได้สัตว์มีราคาก็ขายเอาเงินมาซื้อข้าวกิน พี่ต้องรับหน้าที่ดูแลน้องๆเล็ก…


ที่ผ่านมาการแก้ไขของชาวกะโซ่คือ การเข้าป่าไปหาสัตว์ ทั้งกิน ขาย การรับจ้างต่างๆในไร่นาซึ่งก็ไม่ค่อยจะมีการจ้าง การส่งลูกไปทำงานในเมืองแล้วส่งเงินมาทางบ้าน เคยมีการตั้งธนาคารข้าวแต่พบว่าชาวบ้านจะไม่นิยมบริโภคข้าวที่เก็บไว้นานๆ จะเอาข้าวไปขายแล้วเอาเงินมาให้กู้แก้ปัญหาอีกที..???


กิจกรรมการเพิ่มผลผลิตข้าวจึงถูกระดมความรู้ความสามารถเข้ามามากขึ้น และกระบวนการจัดการอื่นๆก็ตามมา แม้จะไม่ราบรื่นนักแต่ก็ได้พยายามทำกันเต็มกำลัง

เพื่อนร่วมงานจับภาพนี้ได้ พี่กำลังตำมะขามสดกับกะปิให้น้องเล็กสองคนกินเป็นมื้อกลางวัน….???

นับวันผมน้ำหนักลดลงไปเรื่อยๆแล้วครับ….


เห็ดเรืองแสง..

16 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 24, 2009 เวลา 22:29 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 7377

วันนี้โครงการมีการสัมมนาเกษตรกรผู้นำกิจกรรมด้านการเกษตรสาระต่างๆในดงหลวงทั้งหมด 40 คนมาคุยกันตามแผนงาน ก็เป็นกึ่งรูปแบบทางการตามระเบียบราชการที่มีกฎระเบียบกำกับ..


ผมไม่พูดสาระการประชุมนะครับ แต่มีสาระที่เกิดขึ้นระหว่างการคุยกันช่วงพัก อย่างที่ผมกล่าวถึงบ่อยๆว่าพี่น้องดงหลวงนั้นวิถีชีวิตเขานั้นพึ่งพิงป่าสูงมาก


วันนี้มีอดีตข้าราชการท่านหนึ่งมาสารภาพว่าอดีตของท่านนั้นคือนายพรานล่าสัตว์ป่ามาขาย เพราะเงินเดือนครูนั้นนิดหน่อย พอแค่ส่งลูกเรียนหนังสือเท่านั้น ต้องเข้าป่าล่าสัตว์หารายได้เพิ่ม ไม่ลงรายละเอียด

มีสิ่งหนึ่งที่อดีตนายพรานกล่าวว่า โอ กลางคืนผมก็ไป เอาไฟฉายไป หมาตัวหนึ่ง ผมได้สัตว์ทุกครั้ง เพราะผมยิงแม่น ไม่ว่าปืนแก็ป อาก้า หรือ เอ็ม16 ก็ตาม ผมยิงแม่น แม้ปัจจุบันนี้..??

บ่อยครั้งผมไปกลางคืนเห็นเห็ดเรืองแสง... ผมหูผึ่งเลย จึงถามรายละเอียดว่ามันเป็นอย่างไรเห็ดเรืองแสง… มีทั้งเห็ดที่เราฉายไฟไปแล้วเรืองแสงออกมา และที่มืดๆก็เรืองแสงออกมา พวกนี้เป็นเห็ดพิษทั้งนั้น กินไม่ได้ มันก็แปลกดีนะครับว่าเห็ดมันเรืองแสงได้


แสงของเห็ดสีอะไรครับ… สีนวลๆเหมือนไฟฉายเรานี่แหละ พบบ่อย

มีอดีตสหายป่าท่านหนึ่ง บอกว่า สมัยอยู่ป่านั้นเราจะเดินทางโยกย้ายที่พัก หรือปฏิบัติการกลางคืนกัน แม้มีไฟฉายแต่เราไม่ใช้เพราะจะเสียลับ เราจะใช้เห็ดเรืองแสงเหล่านี้แหละ เอามาติดข้างหลังเสื้อบ้าง เป้บ้าง แล้วจึงเดินทางไปมืดๆ คนเดินข้างหลังก็เห็นเราว่าเดินไปทางไหนเพราะเห็ดเรืองแสงนี่แหละ…


ผมสนใจจึงตามไปหาครู Goo ได้ความรู้เพิ่มเติมมาว่า ที่คณะเกษตรฯ มข.มีคณาจารย์ศึกษาประโยชน์ของเห็ดเรืองแสงมาหลายปีแล้ว และพบว่าสามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ที่มักเป็นศัตรูการปลูกมะเขือเทศ

ในต่างประเทศ เห็ดเรืองแสงในสกุลอื่นๆ มีสารบางชนิดที่สามารถบำบัดโรคมะเร็ง และยับยั้งการดื้อสารแอนตี้ไบโอติกส์ได้

เอกสารของ มข. ยังกล่าวว่า เห็ดเหล่านี้เปล่งแสงได้โดยไม่ปล่อยความร้อนออกมา ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ไบโอลูมิเนสเซนซ์

ผมอยากทำงานด้านค้นคว้าพืชป่าที่จะมีประโยชน์แก่มนุษยชาติจริงๆ เพราะยังมีอีกมากมายที่เราไม่รู้จักคุณค่าของเขา แม้เห็ดพิษเรืองแสงนี้ ก็มีอีกมากมายหลายชนิดที่เรายังไม่ได้ศึกษา…

——————–

แหล่งข้อมูลและรูป : http://www.darasart.com/webboard/Question.asp?GID=3277 ; http://ora.kku.ac.th/res_kku/Abstract/AbstractView.asp?Qid=766385826; http://board.212cafe.com/viewcomment.php?aID=7007494&user=roverden30&id=25&page=2&page_limit=50



Unexpected Impact

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 13, 2009 เวลา 23:49 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2602

ในกระบวนการทำงานพัฒนานั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการประเมินผล ซึ่งมักจะกระทำในหลายรูปแบบแล้วแต่โครงการนั้นๆจะออกแบบไว้ เช่น เป็นแบบ External evaluation team บางแห่งก็ใช้แบบ Internal หากเป็นโครงการใหญ่ๆ ก็อาจจะใช้ International evaluation team เข้ามาทำการประเมินกัน หรือใช้แบบผสมผสาน …

ทั้งหมดก็จะยึดทฤษฎีการประเมินผลที่เป็นสากล ไม่ค่อยแตกต่างกัน ไม่ว่าทีมไหนๆ ซึ่งบางโครงการก็ย้อมสีกันสวยงาม บางโครงการก็ตรงไปตรงมาดี แต่ทั้งหมดก็พบว่าไม่เคยมีทีมไหนประเมินผลส่วนที่เรียกว่า “ผลกระทบที่ไม่ได้คาดคิดของโครงการ” อาจจะมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน เช่น ทีมมักมีเวลาจำกัด กรอบการประเมินถูกกำหนดมาแล้ว หรือทีมประเมินผลคิดไม่ถึงประเด็นนี้ด้วยซ้ำไป….

เรื่องนี้ผมมาฉุกคิดเพราะผมไปงานศพ…???

จริงๆครับ.. “พิลา” พนักงานขับรถของโครงการ พี่ชายเขาเสียชีวิตเพราะเป็นโรคกระเพาะ เราไปร่วมงานศพ พิลาก็เลี้ยงอาหารตามประเพณี พวกเราอิ่มหนำสำราญกัน มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันคือ “ข้าวอร่อยจังเลย…”


วันต่อมาผมถามพิลาว่าเอาข้าวอะไรมาเลี้ยงเราอร่อยติดใจกันใหญ่ พิลาตอบว่า เป็นข้าวมะลิจากนาที่ผมทำนั่นแหละพี่ เป็นข้าวอินทรีย์ที่ผมเอาความรู้มาจากพี่เปลี่ยน จากทุกคนในโครงการ จากชาวบ้าน และจากพี่ด้วย…. แล้วรายละเอียดก็พรั่งพรูออกมา พิลาบอกว่าตอนนี้เขาดังในหมู่บ้านไปแล้ว เพราะเพื่อนบ้านก็ตะลึงว่าการทำข้าวอินทรีย์นั้น รสอร่อย ต้นทุนไม่สูงเพราะไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงมากๆ และผลผลิตต่อไร่ก็ไม่แตกต่างไปจากการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ สุขภาพดีไม่ต้องเสี่ยงสารพิษ ราคาข้าวอินทรีย์ก็สูงกว่า ฯลฯ


ที่นาของพิลาไม่ได้อยู่ในพื้นที่โครงการ แต่ความสำเร็จข้าวอินทรีย์ที่พิลาทำมานั้น ได้ความรู้มาจากโครงการ.. หากมีการประเมินผลโครงการไม่ว่า จะเป็นด้าน Result, Output,  Outcome หรือแม้แต่ Impact ความสำเร็จของพิลานั้นก็หลุดจากกรอบการประเมินแน่นอน ยิ่งเป็นทีมประเมินมาจากภายนอก

ย้อนไปที่สะเมิง เชียงใหม่ เมื่อโครงการพัฒนาชนบทที่เคยทำงานสิ้นสุดลง เราพบว่า พนักงานขับรถของเราสมัยนั้น ต่อมาได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน และ อบต.และประธาน อบต. ที่ตำบลสะเมิงใต้นั้นคือลูกจ้างโครงการที่เป็นชาวบ้านที่สมัยนั้นทำหน้าที่เป็นพนักงานส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน..

ผมได้มีโอกาสคุยกับทั้งสองคน เราพบว่า ด้วยการที่เขาคลุกคลีกับเรามานาน เขาเรียนรู้ระบบคิด สาระของงานพัฒนาด้านต่างๆ ภาษา ศัพท์แสงทางการพัฒนาชุมชน เขาเรียนรู้จากเราทั้งสิ้น ทั้งหมดมีส่วนสร้างเขาให้มีความรู้ในเรื่องงานพัฒนาชุมชน มีทักษะในการพูด แสดงความคิดเห็นแง่มุมต่างๆของการพัฒนาท้องถิ่นของเขา เหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาแตกต่างจากคู่สมัครคนอื่นๆ และเขาก็ได้รับเลือกให้มาทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน หลังจากที่โครงการสิ้นสุดไปแล้ว….

มีความสำเร็จที่ซ่อนอยู่ไม่น้อยทีเดียวที่กระบวนการประเมินผลมองไม่เห็น นึกไม่ถึง นี่คือ Unexpected Impact


รู้จักชุมชนต้องเข้าถึงแก่นวัฒนธรรม

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 30, 2009 เวลา 13:50 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4917

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ที่ผ่านมาเป็นวันสำคัญของอีสานโบราณ และปัจจุบันบางส่วน ในหลายแห่งเรียก วันเปิดประตูเล้าข้าว ที่ดงหลวงก็เรียกเช่นนั้น แต่ก็มีเรียกวันตรุษโซ่ หรือเรียกตรงๆว่า วัน 3 ค่ำเดือน 3 เพราะเป็นวันนั้นจริงๆ ถือว่าเป็นวันดีครับ ถือว่านี่คือ ฮีต คอง ของสังคมอีสาน แม้ว่าหลายที่หลายแห่งจะไม่มีพิธีนี้แล้วแต่ที่ดงหลวงยังให้ความสำคัญวันนี้ ทุกหมู่บ้านจะหยุดการทำงานแล้วมาร่วมกันประกอบพิธีนี้กัน ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้หลายปี และเคยบันทึกไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/73723 หรือที่คุณ NU 11 บันทึกไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/wangplub2550/164259

ผมจะไม่ลงรายละเอียดเรื่อง พิธีกรรม หรือวัฒนธรรมของวันนี้แต่จะใช้มุมมองอีกมุมหนึ่งของการอ่านชุมชนผ่านประเพณีนี้

ที่บ้านพังแดง อันเป็นหมู่บ้านไทโซ่ที่เป็นที่ตั้งของโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และ เป็นหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของ สำนักงาน อบต. และเป็นหมู่บ้านที่กำนันอยู่ที่นี่ เราเองก็คลุกคลีกับหมู่บ้านนี้มากที่สุดเพราะเราเคยเช่าบ้านชาวบ้านและให้เจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรเข้ามาพักอาศัยในหมู่บ้าน

เนื่องจากเป็นที่ตั้งโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และเราต้องสนับสนุนชาวบ้านให้มาใช้ประโยชน์แหล่งน้ำให้มากที่สุดตามเจตนารมณ์ในการก่อสร้าง เราจึงศึกษาลงลึกในชุมชนเป็นรายกลุ่มย่อยของหมู่บ้าน รายสายเจ้าโคตร และรายครัวเรือน

เราทำ village profile ในรูปของแผนที่ที่ตั้งครัวเรือนทุกครัวเรือนในหมู่บ้านนี้ ใส่ชื่อลงไป ใส่สีที่แสดงบทบาทแต่ละคน ใส่สัญลักษณ์ต่างๆเพื่อแสดงข้อมูลต่างๆที่เราเก็บมาได้เพื่อศึกษาเข้าใจเขา…แน่นอนเราต้องใช้เวลาจำนวนมากในการค่อยๆคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำชุมชน เยาวชน สตรี ครู อสม. อบต. ฯลฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลต่างๆ ทั้งที่ขัดแย้งกันบ้าง สนับสนุนกันบ้าง แต่ในที่สุดก็มีข้อสรุปเมื่อเราทำ cross check

เมื่อวันที่ 28 ซึ่งเป็นวันพิธีกรรมดังกล่าว ผมให้น้องๆเข้าไปร่วมงานของชาวบ้านและให้ศึกษารายละเอียดแล้วมาคุยกันซิว่าได้อะไรมาบ้าง

หลังจากที่น้องเล่าให้ฟังมากมายแล้ว ก็มาถึงประเด็นที่ว่า พิธีกรรมของชาวบ้านในวันสำคัญนี้คือ จะทำ กันหลอน ขึ้น แล้วแห่ไปตามครัวเรือนต่างๆ เพื่อให้เจ้าของบ้านนั้น ร่วมทำบุญ และต่างก็กินเหล้าเมายากันอย่างสนุกสนาน รายได้ทั้งหมดเอาไปเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้านนั่นเอง

น้องบอกว่า ที่บ้านพังแดงมีกันหลอน 3 กันหลอน เมื่อผมได้ยินก็บอกดักคอน้องๆว่า พี่จะบอกว่า กันหลอนหนึ่งอยู่กลุ่มบ้านทางทิศตะวันออกใช่ไหม อีกกันหลอนหนึ่งอยู่ทางด้านใต้ถนนใช่ไหม และอีกกันหลอนอยู่กลุ่มบ้านเหนือถนนใช่ไหม

น้องบอกว่าใช่เลย แล้วถามกลับว่า อ้าว พี่ไม่ได้ไปทำไมรู้ล่ะ…. ผมตอบว่า สามารถเดาได้เพราะมีข้อมูลชุดอื่นๆอยู่ในคลัง และการมีกันหลอนออกมา เป็น 3 แห่งเช่นนี้ เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงสมมติฐานที่มีอยู่ก่อนแล้ว

การที่เราเข้ามาร่วมประเพณีเช่นนี้และประเพณีอื่นๆของชุมชนนั้น เราสามารถสังเกตพฤติกรรมและรายละเอียดของประเพณีเหล่านี้ แล้วเราก็จะเรียนรู้และเข้าใจคน และชุมชนมากขึ้น

ผมขอไม่อธิบายโดยละเอียด แต่ขอสรุปเอาว่า แม้ว่าบ้านนี้จะนามสกุลเดียวกันทั้งหมดคือ เชื้อคำฮด แต่มีลักษณะสำคัญหลายประการในการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดมีการแบ่งกลุ่มย่อยในกลุ่มใหญ่ แต่ไม่ได้ขัดแย้งกันจนไม่สามารถอยู่ด้วยกันไม่ได้ อยู่ร่วมกันได้ เพราะยังใช้ศาลเจ้าปู่ตาเดียวกัน กินน้ำบ่อเดียวกัน

แต่ลักษณะรายละเอียดบางเรื่องบางประการ แบ่งกันอยู่

หากเป็นคนสนใจด้านลึกของชุมชนนี้ก็จะเห็นลักษณะการแบ่งอีกอย่างคือ บ้านนี้มี 2 วัด คนทำงานพัฒนาเมื่อรู้ว่าบ้านไหนมีสองวัดก็ต้องตั้งคำถามในใจแล้วว่า ทำไม แล้วรีบหาคำตอบ แล้วรีบหากลุ่มคนทันทีว่า คนกลุ่มไหนขึ้นกับวัดไหน

การแบ่งแยกในทางลึกเช่นนี้ย่อมมีที่มาที่ไป และจะมีผลสะท้อนต่อการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของส่วนร่วมบ้าง มากน้อยแตกต่างกันไป ในฐานะคนทำงานผมคิดว่าหากเราหวังผลสำเร็จในงานมิใช่แค่ฉาบฉวยเข้าไปกำกิจกรรมแล้วก็ออกมา เราก็ได้แค่รายงานว่าทำกิจกรรมนั้นๆเสร็จสิ้นแล้ว แต่เราไม่ได้คน ไม่ได้ใจ ไม่ได้การสร้างสรรค์ด้านลึก

ภาพด้านลึกของชุมชนเช่นตัวอย่างนี้มีผลโดยตรงกับกิจกรรมที่มีผลประโยชน์ เราอาจจะใช้ความรู้ทางวิชาการเข้ามาเสริมได้อีกมากมายเช่น ทำ Sociogram เราก็จะทราบความสัมพันธ์ภายในชุมชนเพิ่มเติม แล้วเอาทั้งหมดมาประมวล วิเคราะห์ เราก็จะเข้าใจภาพรวมและภาพย่อยทั้งหมดของชุมชนมากขึ้น การทำงานของเราต่อบุคคลในชุมชนก็จะทำแบบเข้าใจมากขึ้น….

ทั้งหมดหยาบๆนี้คือการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ประเพณีชุมชน จะทำให้เราสังเกตเห็นความจริงในชุมชนนั้นมากขึ้นกว่าการไปทำความรู้จักอย่างเป็นทางการ หรือเพียงการอ่านเอกสาร ซึ่งไม่เพียงพอ..

โห…ทำอะไรกันเยอะแยะมากมาย

ที่ทำก็เพราะว่าเราเป็นคนนอก  ไม่ใช่คนในน่ะซีครับ

ผมเริ่มทำลานบินให้พ่อใหญ่บำรุง บุญปัญญา ขึ้นธรรมาสน์ที่สวนป่า ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ครับ อิอิ


วัฒนธรรมการบริโภค กับการผลิตพืชเศรษฐกิจ (1)

อ่าน: 2797

เรื่องกินเรื่องอยู่นั้นไม่น่าจะเป็นเรื่อง แต่ก็เป็นเรื่อง โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการกินการอยู่ และการดำรงชีวิต

หลายปีก่อนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทย์ศาสตร์ร่วมกับคณะนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา ทำการศึกษาสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับของคนอีสาน ค้นพบว่าเพราะวัฒนธรรมการบริโภคของคนอีสานนั้น กินดิบจึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมาก อาหารที่ชาวอีสานกินดิบนั้นสารพัดอย่าง รวมไปถึง หอยน้ำจืด ซึ่งทางชีววิทยาพบว่า หอยนั้นเป็น Host ของพยาธิชนิดหนึ่งในวงจรชีวิตเขา เมื่อคนอีสานกินดิบ โอกาสที่พยาธิจะเข้าไปในร่างกายก็เกิดขึ้นได้ และพยาธิชนิดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับ

แม้แต่ท่านอาจารย์ที่รักเคารพของผมท่านหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าภาพวิชาโภชนาการ มข. ก็เสียชีวิตเพราะมะเร็งตับ ซึ่งท่านก็บอกว่า ก็กินมาตั้งแต่เด็กๆ มาเข้าใจเอาตอนโต เรียนหนังสือแล้ว แต่พยาธิมันเข้าไปอาศัยในร่างกายนานแล้ว และมาแสดงผลเอาตอนอายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว…. นี่คือเรื่องวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่ง…

คนใต้ ไปอยู่ไหนๆก็ต้องมองหาร้านอาหารปักษ์ใต้ ก็แกงเหลือง แกงไตปลา ขนมจีนแบบปักษ์ใต้ คั่วกลิ้ง ฯลฯ…..มันหร้อยจังฮู้.. ที่บ้านก็ต้องหามากินบ่อยๆหากคุณเธอไม่มีเวลาทำเอง…

ผมเองก็ติดน้ำพริก ผักสดหรือผักลวกก็ตาม สารพัดชนิดชอบมั๊กมั๊ก…. สมัยก่อนหากกลับบ้านก็ต้องให้แม่หรือน้องสาวทำปลาร้าทรงเครื่อง ที่มีผักพื้นบ้านเต็มถาด จะเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในโลกนี่เป็นวัฒนธรรมบริโภคของคนประจำภาค ประจำถิ่น …เพราะติดในรส ที่ถูกฝึกมาทั้งชีวิตตั้งแต่เด็กๆ

ผมมาอยู่ดงหลวงถิ่นชนเผ่า ไทโซ่ มีที่ตั้งชุมชนติดภูเขา ที่เรียกว่ามีระบบภูมินิเวศแบบเชิงเขา ชาวบ้านก็จะมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงป่าสูงมาก กล่าวกันว่า ทุกคนทั้งหญิงและชายจะต้องขึ้นป่า ด้วยจิตวิญญาณ..

ดังนั้น ผมเคยขึ้นป่ากับชาวบ้าน พบว่าชาวบ้านเตรียมแต่ข้าวเหนียวไปเอามีดไปและเครื่องครัว อาหารการกินไปหาเอาข้างหน้า เช่นลงไปในลำห้วยก็ได้เขียด ได้หอยป่า ได้ปูภูเขา อาจจะได้ปลามา หากโชคดีก็ได้สัตว์ป่า ซึ่งเหลือน้อยเต็มทีแล้ว แล้วก็มาทำกินกันแบบลูกทุ่ง เอาใบไม้มารองอาหาร การหุงข้าวหากไม่ได้เอาหม้อไป หรือเอาหม้อที่ซ่อนไว้ในป่า ก็ไปตัดไม้ไผ่ปล้องใหญ่ๆมาผ่าครึ่งแล้วก็หุงข้าวในนั้น

นรินทร์ เยาวชนรุ่นใหญ่ดงหลวงคนหนึ่งบอกว่า อาจารย์…เวลาเข้าป่าเขาหุงข้าวด้วยปล้องไม้ไผ่ ข้าวหอมมากๆ น่ากิน ช้อนก็ไม่จำเป็นต้องเอาติดตัวไปก็ได้ ใช้มือเรานี่แหละ หากวันนั้นมีต้มมีแกงก็ไปหาใบไม้สารพัดชนิดที่ใกล้ตัว เด็ดมาห่อทำเป็นช้อนตักน้ำแกงซดกิน ใบไม้บางชนิดเมื่อโดนความร้อนมันก็หอม อร่อย… และที่สำคัญ เราก็ติดใจในรสอาหาร และธรรมชาติของป่านั้น…

ไม่ว่าวัยรุ่นวัยเฒ่าแค่ไหนวิถีชีวิตก็ขึ้นป่า…หากินกันแบบนั้น.. ผมเคยตั้งคำถามนรินทร์ เยาวชนรุ่นใหญ่ดงหลวงว่า

..บ่อยครั้งแค่ไหนที่เข้าป่า นรินทร์ตอบว่า “อย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละหนึ่งครั้งโดยเฉลี่ย เพราะไปหาอาหารป่า หรือก็ขอให้ได้เข้าป่า แม้จะไม่ได้อะไรติดมือมาเลยก็ตาม….

ไปคนเดียวผมก็ยังไปเลย แรกๆก็กลัวๆกล้าๆ นานไปกลับสนุก กลางคืนก็ไปคนเดียว นอนกลางป่าเลย… (ต่อตอน 2)



Main: 0.25353598594666 sec
Sidebar: 0.30066585540771 sec