ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กันยายน 17, 2010

Motivation : Children Art

ชื่อศิลป พีระศรี น่าจะเป็นที่รู้จักของไทยไม่น้อย โดยเฉพาะผู้คนในแวดวงศิลปะ เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานศิลปะร่วมสมัยของไทยโดยเฉพาะการผลักดันให้มีการเปิดการเรียนการสอนด้านศิลปะร่วมสมัยในระดับอุดมศึกษาของไทยโดยเฉพาะการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยด้านศิลปะแห่งแรกของไทยที่มีการจัดการศึกษาศิลปะร่วมสมัยในแบบตะวันตก

แนวคิดการจัดการเรียนการสอนศิลปะได้กระจายออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านลูกศิษย์ลูกหาของ ศ.ศิลป พีระศรี ในภาคอีสานแม้จะดูห่างไกลจากแวดวงศิลปะร่วมสมัยแต่ศิลปะก็ได้งอกเงยขึ้นที่นี่ โดยเฉพาะที่สาขาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาวิชาที่เกิดการจัดการเรียนการสอนศิลปะในระดับปริญญาตรีแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันอังคารที่ผ่านมาผมได้ไปร่วมงานวันศิลป พีระศรีของสาขาศิลปศึกษาอย่างน้อยก็เพื่อไปใ้ห้กำลังใจนักเรียนศิลปะของผมที่ได้รับรางวัลในการประกวดศิลปะเด็กในกิจกรรมวันนี้ ซึ่งบรรยากาศของงานนั้นเป็นไปด้วยความเดียงสาแต่ทว่างดงามด้วยผลงานศิลปะของเด็ก ๆ ที่สดใส มีจินตนาการชวนให้เราคิดถึงวันเวลาที่อยู่ในห้วงวัยเด็กของตนเอง

ในส่วนตัวนั้นไม่ได้มีอคติสำหรับการประกวดศิลปะแต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายของการสอนศิลปะสำหรับผม ดังนั้นการจะหอบหิ้วและเคี่ยวเข็นนักเรียนศิลปะไปประกวดศิลปะเพื่อจะให้ได้รับรางวัลเห็นที่จะไม่ใช่การสอนของผม เพราะศิลปะสำหรับผมเป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยแรงกดดันภายในจิตใจของเด็ก เป็นเครื่องมือที่จะถ่ายทอดจินตนาการในเด็ก เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประสาทสัมผัสของเด็กและที่สำคัญเป็นเครื่องมือในการสร้างสมาธิเชิงสร้างสรรค์แก่เด็ก ไม่ใช่เครื่องมือในการกดดันเด็ก

แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าควรนำมาคุยในบันทึกนี้เห็นจะเป็นวิธีการตั้งรางวัลสำหรับการประกวดศิลปะเด็ก เรื่องรางวัลนั้นเห็นจะเป็นแค่เครื่องมือในการจูงใจสำหรับเด็กเท่านั้น แม้รางวัลจะมูลค่าไม่กี่บาทแต่สำหรับเด็กมันเป็นมูลค่าสูงโดยเฉพาะในความทรงจำของเขา ดังนั้นผู้จัดการประกวดศิลปะควรเข้าใจเครื่องมือนี้ให้ดี เพราะมิฉะนั้นรางวัลอาจจะกลายเป็นตัวทำลายศิลปะก็ได้

ในการให้รางวัลสำหรับเวทีใหญ่ ๆ อย่างการประกวดศิลปะเด็กและเยาวชนแห่งชาตินั้น ผมว่าต้องมาดูงานของการประกวดศิลปะเ็ด็กของสาขาศิลปศึกษานี้เป็นตัวอย่างเพราะวิธีการตั้งรางวัลแบบศิลปะและเยาวชนแห่งชาตินั้นดูล้าสมัยและเดินลงคลองไป เพราะการตั้งรางวัลแบบสุดยอดหนึ่งเดียวนั้นเป็นการตั้งรางวัลแบบสุดยอดศิลปะ มากกว่า การตั้งรางวัลเพื่อส่งเสริมศิลปะในใจเด็ก ไปดูวิธีการให้รางวัลของเวทีระดับชาติดูครับ

- รางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ๑ รางวัล เงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท
- รางวัลศิลปกรรมเหรียญเงิน ๒ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๘,๐๐๐ บาท
- รางวัลศิลปกรรมเหรียญทองแดง ๗ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๕,๐๐๐ บาท
- รางวัลชมเชย ๓ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๒,๕๐๐ บาท

การตั้งรางวัลแบบนี้ ทำให้การแข่งขันมีความเข้มข้นสูง การส่งงานผลงานไปประกวดทำให้ครู ผู้ปกครองหลายสำนักเคี่ยวเข็ญเพื่อให้ได้รับรางวัลที่สูงสุด ซึ่งมีเพียงรางวัลเดียว และด้วยการวาดภาพจากบ้านแล้วส่งไปยิ่งทำให้ศิลปะเด็กที่ได้รับรางวัลอาจจะไม่เดียยงสาอย่างที่เด็กแสดงออกเพราะมีการเคี่ยวเข็นจากครู ผู้ปกครอง วิธีการนี้สำหรับผมช่างล้าสมัยเอาเสียจริง  ๆ

แต่การตั้งรางวัลแบบศิลปศึกษานั้นไม่ได้เน้นการตั้งรางวัลแบบ พีระมิด  แต่เป็นการตั้งรางวัลแบบฐานกว้าง ยอดกว้างหมายถึงยอดไม่ต้องแหลมนักแต่ให้รางวัลจำนวนมาก โดยนัยยะหมายถึงการมีจำนวนรางวัลมาก ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กมีแรงใจในการทำงานศิลปะ ครูผู้ส่งผลงานก็เกิดแรงจูงใจ เนื่องจากมีจำนวนรางวัลมากกว่า

(คุณแม่-น้องสเก็ตและผอ.นุช เจ้าของโรงเรียนฮัก ขอนแก่น)

ผมคุยกับน้องสเก็ต นักเรียนของผมว่ารู้สึกอย่างไรกับการได้รับรางวัลชมเชย สเก็ตบอกดีใจและดูในทีผมไม่เห็นว่าสเก็ตรู้สึกน้อยใจที่ตนเองได้รับรางวัลชมเชยแทนที่จะเป็นรางวัลยอดเยี่ยม  ทั้งนี้เพราะเด็กไม่ได้มุ่งที่รางวัลสุดยอด แต่มุ่งที่ได้”รางวัล” แม้จะเป็นรางวัลน้อย ๆ แต่ก็ดีใจไม่ต่างจากรางวัลใหญ่

ดังนั้นผมเห็นว่าการตั้งรางวัลมาก ๆ จะช่วยให้เด็ก ๆ มีแรงบันดาลใจการทำงานศิลปะ เมื่อได้รับรางวัลเด็กก็มีแรงขับในการทำงานศิลปะ รักในการทำงานศิลปะของตนเอง องค์กรไหนที่อยากจัดก็น่าจะเอาแบบอย่างจากที่นี่ดูบ้างนะครับ อย่าเพิ่งสอนเด็กให้เหนือคนอื่นเลย เพราะเดี๋ยวจะมองไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น

กันยายน 1, 2010

พัฒนาศิลปะเด็กรายบุคคล : จำเป็นไหม?-จำเป็น

การเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านศิลปะเด็กสำหรับโรงเรียนสอนศิลปะเอกชน แม้รูปแบบจะดูสบาย ๆ ไม่ต้องยึดติดกับระบบระเบียบอะไรมาก แต่ระเบียบการหรือเครื่องมือบางที่โรงเรียนกระแสหลักในระบบใช้ หากนำมาผสมผสานและยำเข้ากับความสบาย ความสนุกสนานแล้ว มันคงทำให้เราได้ยำศิลปะจานใหญ่ที่แซบน่าดู

ที่ Hug School แม้เครื่องมือจะเน้นไปที่กระบวนการไม่เน้นที่ผลงาน แต่การประเมินพัฒนการของเด็กแต่ละคนนั้นถูกนำมาพูดคุยเสมอในการพบประแบบไม่เป็นทางการระหว่างครูกับเด็ก  ครูกับผูั้้บริหารโรงเรียนและครูกับผู้ปกครอง กระบวนการสื่อสารกันแบบไม่เป็นทางการนี้ทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนสบายไม่เคร่งเครียดเหมือนการนั่งพูดในห้องประชุมที่ดูทางการ

การประเมินพัฒนการของเด็ก สำหรับห้องเรียนครูออตถูกนำมาประมิน 2 ส่วนคือศิลปะปฏิบัติ และ ศิลปะนิสัย

ศิลปะปฏิบัตินี้หมายรวมทั้งทักษะการแสดงออกทางองค์ประกอบศิลปะ(รูปร่าง รูปทรง เส้น สี ฯลฯ) ทักษะกระบวนการคิด(คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดเร็ว คิดหลากหลาย คิดบวก ฯลฯ) ทักษะเหล่านี้ดูได้จากกระบวนการคิด การะบวนการขณะทำงานและผลงานของเด็กที่ปรากฎออกมา

ศิลปะนิสัย หมายถึงกระบวนการแสดงออกทางพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่เคยปฎิบัติ ถูกบังคับ ถูกเลี้ยงดู การอบรมบ่มนิสัย ความกดดันจนเกิดเป็นความเคยชินเช่น นิยมความรุนแแรง ความก้าวร้าว ไม่มีความรับผิดชอบ  ไม่รับฟังความคิดเห็นใคร  เอาแต่ใจ  ไม่เล่นกับเพื่อน ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้แม้ผู้ปกครองไม่ได้แจ้งก่อนที่จะส่งลูกมาเรียนศิลปะ แต่เมื่อครูสัมผัสย่อมสามารถประเมินได้ เพราะห้องเรียนศิลปะมีความอิสระ เป็นเพื่อนในการยอมรับการแสดงออกของเขา จนเขาแสดงนิสัยส่วนตัวออกมา

ในบันทึกนี้ขอเล่าถึงพัฒนาการของนักเรียนครูออต 1 คนที่มีพัฒนาทางศิลปปฏิบัติและศิลปะนิสัย ไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากเรียนศิลปะผ่านไปแล้ว 1 คอร์ส

น้องฮี(นามสมมติ) เป็นเด็กน่ารักเมื่อแรกเจอครูออต ผู้ปกครองส่งไปเรียนดนตรีแต่ทุกครั้งที่เรียนดนตรีเสร็จจะมาทำหน้าเจียมเจี้ยมที่ห้องศิลปะของครูออตและขอดูสีนั้นสีนี่  ขอลองนั้นลองนี่ จนมั่นใจว่าครูแอบชอบฮีเข้าแล้วเพราะความเรียบร้อยพูดง่ายของฮี  หลังจากนั้นไม่นานก็พบว่าฮีมาลงเรียนศิลปะกับครูออตในตอนเช้าของวันเสาร์

แต่สิ่งที่ฮีปฏิบัติเมื่อมาเรียนช่างแตกต่างจากช่วงที่มาสนใจศิลปะเอามาก ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าคือการไม่เรียบร้อยเหมือนเก่าก่อน การเล่นที่อยู่นอกกรอบที่ห้องเรียนและเพื่อนจะรับได้ การไม่ยอมเล่นกับคนอื่น  การไม่ยอมสนใจงานศิลปะ

ในทุกเช้าที่ฮีมาเรียน ฮีมาพร้อมกับพี่เลี้ยงและคราบน้ำตา พร้อมกับคำต่อรองกับพี่เลี้ยงอีกมาย หน้าห้องเรียนฮีจะเกาะพี่เลี้ยงแจยังกะลูกชะนีที่เพิ่งเกิดใหม่ มองหน้าครูออตเหมือนคนไม่รู้จักกันมา่ก่อน  แต่เมื่อครูออตออกมารับฮีจะเปลี่ยนจากกอดคอพี่เลี้ยงมาเป็นกอดคอครูออตและบอกเหตุผลที่ร้องไห้เสมอไว่ว่าจะเป็น  อยากไปเซ็นทรัล  อยากดูการ์ตูน  อยากเอาตุ๊กตาทหารมาที่ห้องเรียนด้วยแต่พี่เลี้ยงห้าม ฯลฯ เมื่อครูออตรับฟังและพูดบางสิ่งบางอย่างฮีก็จะกลายร่างจากลูกชะนีเป็นลิงทะโมนทันที

ในการทำงานศิลปะ ฮีมีสมาธิอยู่กับงานศิลปะน้อยมากเมื่อแรกเข้ามาเรียน ขีดๆเขียนๆแล้วก็เลิก หันไปสนใขเล่นเสียมากกว่า  ภาพที่เขียนในช่วงแรกเป็นภาพออกไปทางนามธรรมหรือเพื่อน ๆ มักบอกว่า ฮีเขียนมั่ว โทนสีออกไปทางเทา ๆ ดำ เข้ม ๆ เสียมากกว่า เมื่อเพื่อนในห้องทักว่ามั่ว ฮีก็จะตักน้ำที่อ่างมาราดกระดาษของตนเองจนทั้งกระดาษ กระดานและห้องเรียนเปียกไปหมด

ครูออตเคยคิดที่จะแยกฮีออกมาเรียนเดี่ยวก่อน เมื่อคิดว่าดีแล้วค่อยกลับไปเรียนกับเพื่อน แต่ก็หยุดความคิดนี้ไปเพราะเห็นว่าการไม่ปรับตัวทำงานกับเพื่อนก็ต้องแก้ด้วยการพยายามให้อยู่กับเพื่อน ดังนั้นฮีจึงเรียนกับเพื่อน ๆ สี่คนในห้องเรียนจากชั่วโมงที่หนึ่งจนปัจจุบันหมดคอร์สไปแล้ว 1 ครั้งซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี

การประเมินพัฒนาจากผลงานพบว่า ฮี มีพัฒนาการแสดงออกที่ดีขึ้นมาก จากตอนแรกไม่เป็นรูปเป็นร่างและสีที่ใช้ไปในทางเข้ม ดำ ทึม ในช่วงหลัง ฮี เริ่มมีสีสันมากขึ้นทั้งนี้ประกอบการมาเรียนแต่ละครั้งก็เป็นไปด้วยดีไม่ร้องไห้เหมือนครั้งแรก ๆ  ซึ่งน่าจะส่งผลต่อจิตใจของเด็กด้วย  แม้ช่วงที่เพื่อนทำงาน ฮีจะไม่ยอมทำ แต่เมื่อเพื่อนไปเล่นสนามฮีกลับมาทำงานตนเองแม้จะมีสมาธิไม่มาก แต่ก็นับว่าเขามีความรับผิดชอบที่จะเรียน ครูออตสันณิฐานว่าการวาดรูปตอนเพื่อนไม่อยู่แสดงว่าฮีขาดความมั่นใจในการวาดทั้งนี้อาจจะด้วยปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลต่อนิสัยในข้อนี้  แต่เรื่องนี้ก็ไม่ยากต่อการแก้ไขในอนาคต  ไปดูพัฒนาการที่มองจากผลงานของฮีกันครับ

ผลงานบางส่วนที่แสดงพัฒนาการทางการแสดงออกของน้องฮี  และนี่เป็นผลงานในชั่วโมงท้ายๆของคอร์สนี้ครับ ไปดูความแตกต่างของการแสดงออก ซึ่งมองเห็นพัฒนาการแล้ว ครูออตยิ้มออกแล้ว

สิงหาคม 16, 2010

คำชม: กรงขังแห่งจินตนาการเด็ก

พ่อแม่หลายคนเมื่อลูกหอบหิ้วผลงานศิลปะกลับมาจากโรงเรียนเมื่อดูผลงานแล้วก็ชมลูกเสียเป็นสายน้ำ  เพราะหลังกระดาษวาดรูปที่เจ้าตัวน้อยถือกลับมาบ้านมีจารึกด้วยผลการประเมินจากครูศิลปะว่า A หรือไม่ก็ 10/10 ซึ่งคำชมเชยแทนที่จะช่วยเสริมความมั่นใจของเด็กแต่สำหรับเด็กบางคนมันช่างกดดันและสร้างกำแพงแห่งจินตนาการเอาไว้เสียจริง ๆ

น้องฟ้า เจ้าตัวน้อยวัยหกขวบ วัยซึ่งในสมองคือโลกของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ วัยที่จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้เิกิดขึ้นบนผืนกระดาษได้  หลายสัปดาห์ผ่านไปครูออตสังเกตเห็นว่าน้องฟ้าไม่วาดสิ่งได้เลยนอกเสียจากกระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้ ทั้ง ๆ ที่เด็กคนอื่นเปลี่ยนสิ่งที่วาดตามกิจกรรมในแต่ละครั้ง

ทำไมน่ะหรือ นั้นก็เพราะว่า กระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้ที่น้องฟ้าเหล่านี้มักได้รับคำชมจากครูและพ่อแม่เสมอว่ามันคืองานศิลปะที่ดีมาก เมื่อใครมาเยี่ยมที่บ้านแม่ก็มักชมน้องฟ้าต่อหน้าคนอื่่นว่าวาดกระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้สวยจนได้คะแนนเต็มในวิชาศิลปะ คำชมเหล่านั้นในบางครั้งมันคือกำแพงแห่งจินตนาการสำหรับสมองแ่ห่งความคิดสร้างสรรค์

แล้วคำชมแบบไหนจึงจะเหมาะกับการชมในกิจกรรมทางศิลปะ  ในห้องเรียนครูออตมักจะหลีกเลี่ยงว่าเด็กวาดรูปต้นไม้สวย  วาดรถสวย วาดคนสวย  วาดก้อนเมฆสวย  เพราะคนชมเหล่านี้เมื่อชมไปเรื่อย ๆ เด็กจะเกิดอาการยึดติดเพราะครูบอกว่าสวย ดังนั้นสิ่งที่ครูออตจะชมก็คือความขยันของเด็ก ๆ ในการวาด

ว้าวต้นไม้นี้โตเร็วจัง  มันเริ่มออกลูกแล้วใช่ไหม ในความหมาย ก็เพื่อจะบอกเด็กว่าเขาได้พยายามวาดสิ่งอื่นเพิ่มเติมนอกจากต้นไม้ เพราะเขาได้บรรจงวาดผลไม้สีแดงเต็มต้น บางคนอาจจะเริ่มใส่รังนกบนต้นไม้ แทนที่จะเป็นต้นไม้เดียว ๆ เหมือนกับสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

อู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ  รถไฟของหนูช่างขนของได้เยอะเสียจริง ๆ ดูโบกี้นี้ขนคน  โบกี้นี้ขนตู้ปลา โบกี้นี้ขนม้า  ครูออตอยากรู้จังว่าโบกี้ต่อไปจะขนอะไรน้า ในความหมาย ก็เพื่อจะบอกเด็กว่าเขามีความอดทนที่จะวาดสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมจากสิ่งที่เขาวาดมาแล้ว เพื่อส่งเสริมให้เขาคิดหลากหลายมากขึ้น การมีความคิดที่หลากหลายจะทำให้เขามีตัวเลือกในการตัดสินใจได้มากมาย ไม่ได้ยึดติดอยู่กับเส้นทางเดิม

นี่เป็นตัวอย่างคำชมที่ครูออตใช้ในห้องเรียนศิลปะ เพราะการชมที่เหมาะสมน่าจะช่วยเสริมสร้างโลกแห่งจินตนาการสำหรับเด็ก ๆ ซึ่งสวนทางกับคำชมพร่ำเพื่อที่จะกลายเป็นตัวทำลายจินตนาการของเด็ก

มิถุนายน 30, 2010

Isan Mural : Composition

วันพรุ่งนี้มีโปรแกรมบรรยายเรื่อง การออกแบบจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ให้นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ฟัง เป็นการสรุปเรื่องจากที่พานักศึกษาไปทัศนศึกษาจิตรกรรมฝาผนังวัดสนวนวารีพัฒนาราม วัดสระบัวแก้วและวัดบ้านลาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้วิชาการออกแบบจิตรกรรมพื้นบ้าน

หัวใจสำคัญคือการได้ไปเห็นของจริงว่าศิลปินสมัยก่อนนั้น เขาออกแบบจิตรกรรมฝาผนังอย่างไร มีจุดเด่นที่พิเศษอย่างไรหลังจากที่ได้ศึกษาแล้วจะเอาความรู้และลักษณะพิเศษของจิตรกรรมฝาผนังสมัยก่อนมาปรับใช้สำหรับงานออกแบบจิตรกรรมฝาผนังของตนเองอย่างไร ซึ่งหากศึกษาและฝึกฝนให้ดีแล้ว การเรียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามสิมในปัจจุบันก็นับว่ารายได้ดี และเป็นที่นิยมของชาวบ้านในการประดับประดาศาสนาสถานของชุมชน

วันนี้ผมจึงเตรียมตัวเพื่อเก็บเอาบางประเด็นไปแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา และหนึ่งในประเด็นที่เตรียมเอาไว้และขอเอามาเล่าในบันทึกนี้ก็คือ เรื่องการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ Composition ซึ่งวิชานี้นับเป็นวิชาสำคัญของนักศึกษาศิลปะ(สมัยใหม่) สมัยผมเรียนวิชาองค์ประกอบศิลป์นี้ต้องเรียนตั้งสองเทอมด้วยกัน ซึ่งหากเราเอาองค์ความรู้จากองค์ความรู้ด้านศิลปะสมัยใหม่เข้าไปจับความงามของศิลปะพื้นบ้านแล้ว เราอาจจะได้มุมมองใหม่ ๆก็เป็นได้

ภาพที่นำมาลงในบันทึกนี้เป็นภาพจากวัดสระบัวแก้ว อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเต็มทุกผนังด้านนอกทั้งสี่ด้าน โดยเขียนภาพหลักเรื่อง “พระรามชาดก” ส่วนเรื่องประกอบเช่น พระมาลัยโปรดนรกภูมิ สินไซ พระเวสสันดรชาดกเป็นต้น

ภาพแรกอยู่ผนังด้านทิศใต้เป็นภาพที่แสดงตอน พระมาลัยโปรดนรกภูมิช่างเขียนภาพไม่ได้เขียนเพื่อแยกต่างหากเป็นอีกเรื่อง แต่เขียนฉากนี้เพื่อรองรับการลงมารับโทษของพญาราพะนาสวน(ตัวละครในเรื่อง) หลังจากตายเพราะถูกพระลักและพระลามฆ่า ซึ่งมาจากศึกแย่งนางสีดาจันทะแจ่ม ตอนนี้จะปรากฎภาพพระมาลัยยืนอยู่บนดอกบัวหันหน้าไปในทิศที่มีสัตว์นรกอยู่ เหล่าสัตว์นรกก็ต่างพนมมือและหันหน้ามายังพระมาลัย

หากมาแยกพิจารณาเส้นจะพบว่าเส้นของสัตว์นรกจะมีลักษณะเอียงไปในทิศพระมาลัย(จุดเด่น)อยู่เป็นการสร้างเส้นเพื่อดึงดูดสายตาเพื่อนำไปยังจุดเด่นและให้ความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนพระมาลัย(จุดเด่น)จะมีลักษณะเป็นแนวดิ่งซึ่งให้ความรู้สึกมั่นคงหนักแน่น

เมื่อถอดโครงสร้างของรูปร่างจะพบว่าตัวละครส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมซึ่งหากจัดการรูปทรงทุกตัวละครจะเห็นว่าช่างเขียนได้เขียนภาพให้จุดเด่นมีขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม ส่วนสัตว์นรกทำเป็นโครงสร้างสามเหลี่ยมขนาดเล็ก  การจัดวางรูปทรงมีกาีจัดวางองค์ประกอบไม่เท่ากันคือกลุ่มสัตว์นรกมีจำนวนมาก ส่วนจุดเด่นพระมาลัยมีรูปทรงเดียว

ส่วนภาพที่สองเป็นภาพที่เขียนบริเวณผนังด้านนอกในฝั่งทิศเหนือ เป็นภาพพระอินทร์ลงมาถามคำถามให้ ท้าวสะลุนกุ้น(เด็กชายไม่มีแขนไม่มีขา) ตอบปัญหา ซึ่งในภาพจะเห็นพระอินทร์ขี่ม้า ส่วนครอบครัวของท้าวสะลุนกุ้นอยู่เบื้องหน้า ภาพที่แสดงจำลองภาพของชาวบ้านอีสานได้เป็นอย่างดีคือบ้านใต้ถุนสูง มีการเลี้ยงสัตว์ใต้ถุนบ้าน กิจกรรมในชีวิตประจำวันจะนิยมใช้ใต้ถุนบ้าน

หากมาแยกพิจารณาเส้นจะพบว่าเส้นมีลักษณะเส้นดิ่งและเส้นนอนพาดกันไปมา ทำให้เกิดกรอบสี่เหลี่ยนเล็ก ๆ ใหญ่ ๆ อยู่บนภาพทำให้เกิดความรู้สึกเป็นปึกแผ่น กรอบสี่เหลี่ยมใหญ่สร้างไว้รองรับตัวละครหลักที่เป็นจุดเด่น(พระอินทร์)และกรอบเล็ก ๆ สร้างขึ้นเพื่อแสดงตัวละครประกอบอื่น ๆ

เมื่อถอดโครงสร้างของรูปร่างจะพบว่าตัวละครที่เป็นจุดเด่นมีลักษณะรูปทรงสามเหลี่ยนขนาดใหญ่บนพื้นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่สุด ดังนั้นจึงทำให้จุดเด่นมีความโดดเด่นขึ้นมากให้ความรู้สึกองอาจ สง่างาม ในขณะที่รูปทรงอื่น ๆ บนกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ก็ไม่ได้แย่งจุดเด่นจากภาพไป

นี่เป็นสองภาพที่ขอเอามาเล่าก่อนไปสอนในวันพรุ่งนี้

มิถุนายน 17, 2010

ศิลปะ วิ่งตาม อารมณ์

Filed under: Uncategorized — ออต @ 23:43

“ครูออตค่ะ ทำไมวันนี้ผลงานศิลปะของน้องพัฒนาลง”

สัปดาห์ที่แล้ว เจอคำถามแบบนี้ ทำเอาต้องนั่งเขียนบันทึกนี้  เหตุผลที่ต้องเขียนเพื่อจะสื่อสารกับผู้ปกครองถึงปรากฎการณ์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูออตพบบ่อย ปรากฎการณ์ที่งานศิลปะของเด็กพัฒนาเรื่อย ๆ แต่วันหนึ่งผลงานของเด็กกลับตกต่ำมองไม่เป็นพัฒนาการณ์ที่ดีขึ้น เรื่องนี้ผู้ปกครองหลายคนมักตั้งข้อสงสัย

จากประสบการณ์ที่สอนศิลปะเด็กมาครูออตพบว่า ปัจจัยที่ทำใ้ห้วันหนึ่งผลงานของเด็ก ๆ แย่ลงอย่างน่าตกใจ ปัจจัยที่ว่าคือ ศิลปะเหล่านั้นวิ่งตามอารมณ์ของเด็กในแต่ละเช้าที่เขามาที่ห้องศิลปะ  เพราะครูออตสังเกตเสมอว่าเช้าไหนหรือบ่ายไหนที่เด็ก ๆ เดินเข้าห้องศิลปะด้วยอารมณ์ที่บึ้งตึง มันก็จะส่งผลไปที่ผลงานศิลปะของเด็กอย่างชัดเจน ดังนั้นผลงานที่ผู้ปกครองเห็นเมื่อเรียนเสร็จจึงเป็นเช่นนั้น

“น้องไก่แจ้ทำหน้าอ้อยซ้อย แทบจะเอาคางเกยโต๊ะศิลปะและบ่นเบา ๆ กับครูออตว่า เช้านี้ยังไม่ได้กินข้าวเลย”

“น้องพลอย ไม่อยากทำงานศิลปะเลย เมื่อครูออตเข้าไปถามก็ได้รับคำตอบว่า โดนคุณแม่ดุเพราะตื่นสาย”

“น้องเติ้ล ขอครูออตให้ครูออตเปิดอินเตอร์เน็ตให้หน่อยเพราะก่อนที่จะมาเรียน กำลังเล่นเกมอยู่ ยังไม่จบ กำลังมันส์”

“น้องโม บอกว่าวันนี้อยากเขียนสีไม้เพราะสัปดาห์ที่แล้วแม่ดุว่าสีโปสเตอร์เลอะเสื้อแล้วซักไม่ออก”

สารพัดเหตุผลที่เราจะได้รับฟังจากนักเรียน เรื่องนี้สำหรับครูออตเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนักเพียงแต่จะขอความร่วมมือจากผู้ปกครองช่วยทำให้ทุกเช้าของเด็กเป็นเช้าที่สดใสปลอดโปร่งและแสนสบายได้ไหมก่อนมาโรงเรียน เพราะหากอารมณ์ของเด็กมืดมดมันก็จะวิ่งนำไปข้างหน้า ส่งผลให้ศิลปะของเด็ก ๆ วิ่งตามอารมณ์เหล่านั้น

เรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ปกครองของน้องไก่แจ้จะช่วยครูออตได้คือ ให้เด็ก ๆ รับประทานอาหารเช้ามาให้เรียบร้อยและอิ่มสบายท้อง รับรองศิลปะของน้องไก่แจ้ต้องออกมาดีกว่าสัปดาห์ก่อน ๆ แน่นอน เพราะอาหารมื้อเช้าจำเป็นมากสำหรับเด็ก ๆ  ผู้ปกครองควรเห็นความสำคัญของเรื่องอาหารอิ่มสบาย

เรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ปกครองของน้องพลอยจะช่วยครูออตได้คือ ทำให้การตื่นนอนของเด็ก ๆ เป็นเช้าที่แจ่มใส การปลุกลูก ๆ แบบกระชากหัวออกมาจากที่นอนนั้นไม่ได้ช่วยให้เด็ก ๆ ตื่นเช้าได้เลย  การกระโตนขึ้นไปปลุก การเคาะประตูเสียงดัง การดุด่าถึงความขี้เกียจสันหลังยาว นอนกินบ้านกินเมืองไม่ได้ช่วยให้เด็ก ๆ ตื่นมาพร้อมกับความสดใส แต่กลับทำใ้ห้เป็นวันที่มืดมนแต่เช้า

เรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ปกครองของน้องเติ้ลจะช่วยครูออตได้คือ จัดความสมดุลของเด็กกับ ทีวี คอมพิวเตอร์ให้ลงตัว ก่อนที่สมองของเด็ก ๆ จะถูกกดด้วยการ์ตูนที่รุนแรงและเกมโกง อย่าให้เช้าที่สดใสของเด็กถูกทีวีและคอมพิวเตอร์ป้อนข้อมูลเรื่องรุนแรงลงไป แต่เช้าเลย เพราะการติดความรุนแรงจะติดกับเด็กไปจนโตและทุกอย่างที่ทำให้เขาไม่ได้ดู ทีวีกลายเป็นศัตรูของเขาทุกอย่างไปไม่เว้นแม้แต่ศิลปะ หากผู้ปกครองน้องเติ้ลทำได้ รับรองศิลปะของน้องเติ้ลต้องออกมาดีกว่าสัปดาห์ก่อน ๆ แน่นอน

เรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ปกครองของน้องโมจะช่วยครูออตได้คือ จัดเตรียมเสื้อผ้าที่รองรับความเลอะเทอะได้ไม่ต้องชุดหล่อมาก็ได้ แม้ว่าที่ห้องเรียนศิลปะจะมีผ้ากันเปื้อนให้แต่การทำงานและความสนุกของเด็ก ๆ มักเลอะเสื้อผ้าไปบ้าง ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กและศิลปะการดุเรื่องความสกปรกจะทำให้เด็กไม่กล้าปลดปล่อยจินตนการที่บรรเจิดเพราะความกลัว(แม่ดุ)  หากคุณแม่ทั้งหลายช่วยครูออตในเรื่องนี้ได้ รับรองศิลปะของน้องเติ้ลต้องออกมาดีกว่าสัปดาห์ก่อน ๆ แน่นอน

ส่วนในห้องเรียนศิลปะผลงานศิลปะที่วิ่งตามอารมณ์ แม้จะเป็นผลงานที่พัฒนาการลงแต่สำหรับครูออตแล้ว มันเป็นศิลปะที่มีคุณค่าเพราะเป็นผลงานที่เกิดจากการผสมผสานอารมณ์ของเด็ก ๆ  และผลงานชิ้นนี้ยังช่วยเป็นเครื่องมือให้เด็กได้ระบายอารมณ์ของตนเองออกมาจากความกดดันทั้งปวงก่อนเข้ามาห้องศิลปะ  เพราะศิลปะมีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยปลดปล่อยอารมณ์ที่ขุ่นเคืองกดดันได้

มิถุนายน 6, 2010

พลังงานสร้างสรรค์

เด็กพิเศษของครูออตส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนมีพลังงานเยอะ สวนทางกับสมาธิในการทำงานที่น้อยกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเสมือนหน่วยก่อกวน ซึ่งมักทำให้บรรยากาศที่แสนสงบเงียบในห้องเรียนต้องอึกทึกครึกโครม

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กพิเศษมักไม่ได้รับการจัดกลุ่มให้เรียนกับเด็กปกติโดยเฉพาะกระบวนการเรียนนอกโรงเรียนที่ผู้ปกครองยอมเสียเงินที่เมื่อรวมกันหลายเดือนมักสูงกว่าค่าเทอมเสมอ ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้สถานที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน(โรงเรียนสอนพิเศษ)จึงมักปฏิเสธให้เด็กพิเศษเข้าเรียนกับเพื่อน ๆ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าให้พึงพอใจในห้องเรียน

คำแนะนำของครูสอนพิเศษจึงมักแนะนำให้นำเด็กไปฝึกสมาธิก่อน หมายถึงควรเอาลูกไปรักษาภาวะสมาธิน้อยกว่าเด็กปกติก่อนแล้วจึงส่งมาเรียน และความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก็มักเชื่อมั่นว่า ศิลปะคือกระบวนการที่จะช่วยให้ลูกของตนเองมีสมาธิมากขึ้น

ในระยะหลังที่ HUG SCHOOL จึงมักมีผู้ปกครองนำเด็กพิเศษมาให้ครูออตเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งเด็กพิเศษที่ว่ามีหลากหลายแนว แนวหนึ่งที่มักเจอกันบ่อย ๆ คือ เด็กพิเศษที่มีพลังงานเยอะ เขาจะวิ่งเล่น กระโตนและให้พลังงานของร่างกายมากกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นจึงมักเล่นกันแรง ๆ และกระโจนวิ่งกันให้วุ่น ข้างของภายในห้องกระจุยกระจาย ปรากฎการเช่นนี้มักนำมาซึ่งการไม่ประสบความเร็จในการให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะ เพราะครูหลายคนมักหมดความอดทนและเหนื่อยกับการใล่จับปูใส่กระด้ง

สิ่งที่ครูหลายคนทำคือ หยุดวิ่ง! อย่าเล่นกัน! นั่งลงแล้วทำงานซะ! การกระทำเช่นนี้เป็นเสมือนการสร้างตนเป็นศัตรูแก่เขา เพราะคำพูดเหล่านั้นไม่ได้ช่วยทำให้เขาหยุดลงเลย หรือหากเขาหยุดปฏิกิริยาการไม่อยากมาเรียนศิลปะก็จะเกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่พอสมควรกับครูศิลปะ

สิ่งหนึ่งที่ครูออตใช้และค่อยข้างได้ผลกับเด็กพิเศษของครูออตคือ การพยายามช่วงชิงสมาธิที่เขามีให้จดจ่ออยู่กับงานศิลปะและฟังเขาอธิบายงานศิลปะของเขาอย่างตั้งใจ เพราะทุกเรื่องที่เราเล่าแสดงว่าเขามีความต้องการบางอย่างที่อยากจะบอกเรา หากเราจับประเด็นที่เขาสนใจได้เราก็จะมีเรื่องคุยกับเขาต่อไป เมื่อเข้าสู่ห้วงเวลาสมาธิของเขาหมดลงและก้าวเข้าสู่ห้วงแห่งการใช้พลัง ช่วงนี้ครูออตจะรีบชิงตัวเด็ก ๆ ออกจากห้องเรียนให้เร็วที่สุด เป้าหมายคือสนามเด็กเล่นและพื้นที่โล่ง ๆ เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานได้

(น้องบัคกับการสำแดงพลังหลังหมดสมาธิแล้ว ภาพด้านข้างเป็นผลงานหลังจากที่หมดสมาธิไปแล้ว)

สิ่งที่ครูออตสังเกตเห็นคือไม่ว่าเราจะเหนี่ยงรั้งเขาให้อยู่กับผลงานศิลปะสักเท่าไหร่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะนัก หลายคนมักขีดขูดผลงานที่วาดเอาไว้สวย ๆในตอนแรกให้เละไม่เป็นรูป บางคนเอาสีราดผลงานให้มืดสนิทหรือไม่ก็วิ่งเล่นกันในห้องปาสี ปาพู่กัน ทำให้เกิดบรรยากาศที่วุ่นวายยากที่จะควบคุม และเมื่อให้เด็กออกไปปลดปล่อยพลังงานซึ่งใช้เวลาช่วงหนึ่ง หลังพลังงานหมดเด็ก ๆ จะกลับมาห้องเรียนศิลปะเช่นเดิมและครูออตมักเห็นว่าสมาธิเขาจะกลับมาเช่นเดิมแม้จะไม่มากเท่าในช่วงแรกแต่ก็ช่วยให้เด็กต่อเติมจินตนาการของตนเองจนสำเร็จลงได้

ครูศิลปะท่านไหนมีเด็ก(น่ารัก)พิเศษในห้องเช่นนี้ลองเอาไปใช้และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ของท่านว่ามีผลเป็นอย่างไร วิธีนี้อาจจะเสียเวลาในการวาดรูปไปบ้างแต่เพื่อแลกกับสมาธิที่เพิ่มมาอีกนิด ครูออตว่าน่าจะคุ้มนะครับ

มิถุนายน 1, 2010

Green Art

กระแส “โลกร้อน” กำลังมาแรง การช่วงชิงและเกาะกระแสเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการสอนศิลปะจึงถือว่าเป็นโอกาสที่ครูจะได้ทดลองกับเด็ก ๆ ที่น่ารัก

เพราะการสร้า้งโลกสีเขียวหากเรา “สร้างในหัวใจของเด็ก ๆ”  ตั้งแต่วันนี้เราจะได้โลกสีเขียวที่งดงามและออกดอกสีชมพูให้เราได้ชื่นชมไปอีกนานเท่านาน

เช้าวันนี้ครูออตพาเด็ก ๆ เดินไปที่สวนข้างห้องเรียนในบรรยากาศที่แดดร้อนและอากาศแทบจะหายใจเข้าเป็นไอร้อน ซึ่งสวนข้างห้องเรียนเป็นทั้งสนามเด็กเล่นของเด็ก ๆ แต่วันนี้อากาศร้อนจริง ๆ จนเด็ก ๆ ไม่อยากออกมาเล่นสนาม แม้ชีวิตเด็กกับสนามเด็กเล่นดูแยกกันไม่ออก แต่วันนี้โลกร้อนก็ส่งผลต่อ “วิถีการเล่นของเด็ก ๆ” เช่นกัน

ครูออตชี้ชวนให้เด็ก ๆ สัมผัสกับอากาศอันแสนร้อนและชี้ชวนให้เด็ก ๆ สัมผัสความเย็นของอากาศเมื่อเรามายืนใต้ร่มมะขามที่สนามเด็กเล่น ซึ่งเด็ก ๆ ประจักษ์กันถ้วนหน้าว่าต้นไม้ช่วยลดความร้อนให้เด็ก ๆ ได้ ดังนั้นครูออตจึงชวนเด็ก ๆ เก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่หล่นอยู่รอบ ๆ สนามนั้น เมื่อได้เมล็ดพันธุ์พอประมาณเราจึงย้ายกลับเข้าไปทำงานกันที่ห้อง

วันนี้ครูออตชวนเด็ก ๆ วาดสวนของตนเอง และปลูกเมล็ดพันธุ์ที่เด็ก ๆ เก็บมาจากสนาม นำมาปลูกลงบนกระดาษ(ที่วันนี้ืคือสวนของเด็กๆ) โดยใช้กาวติดเมล็ดพันธุ์ลงไป ในขณะเดียวกันก็หาวัสดุอื่น ๆ มาเสริมเพื่อให้เด็ก ๆ สมมติมันเป็นเมล็ดพันธุ์พืชอื่น ๆ ตามแต่จินตนาการของเด็ก ๆ เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจกิจกรรมแล้วต่างลงมือกันอย่างสนุกสนาน

เมล็ดพันธุ์ต้นไม้ที่เราเจอที่สวนข้างห้องเรียน วันนี้กลายมาเป้นอุปกรณ์ศิลปะที่แสนจะประหยัดเงินซื้อ

สีน้ำถูกนำมาใช้เพื่อสร้างสีสันในสวนของเด็ก ๆ

สวนของเด็ก ๆ ที่ลงมือประติดเมล็ดพันธุ์ลงไปในสวนเรียบร้อยแล้ว

เสร็จแล้วก็ลงสีตามใจปรารถนา ใครใคร่จินตนาการให้สวนของตนเองมีสีอะไรก็ตามใจไม่บังคับ

เด็ก ๆ กับผลงานที่ภาคภูมิใจ อย่างน้อยเขาก็ปลูกต้นไม้เพื่อโลกของเขาในอนาคต แม้จะเป็นต้นไม้ในหัวใจแต่ก็นับว่ามีคุณค่าเกินกว่าจะมองข้ามได้

พฤษภาคม 26, 2010

น้องเคี้ยง : เด็กชายผู้หลงความแรง

นักเรียนในห้องศิลปะเด็กคนหนึ่งที่อยากพูดถึงในแง่มุมเล็ก ๆ ที่ครูออตมีต่อเขา หนึ่งในเด็กกลุ่มนั้นสมมติชื่อว่า น้องเคี้ยง น้องเคี้ยงเป็นเด็กผู้ชายอายุ4 ขวบ  ที่เมื่อเข้ามาลองเรียนจะพบว่าเคี้ยงเป็นเด็กที่สอนง่ายมาก ครูออตถามว่าชอบอะไรสิ่งแรกที่เคี้ยงชอบคือ ปลา ดังนั้นตอนที่ลองมาเรียนในสิบห้้านาทีแรกน้องเคี้ยงวาดปลาให้ครูออตดู

ขณะทดลองเรียน ครูออตสังเกตได้ถึงข้อที่ควรนำไปคิดต่อดังนี้

1.กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อมือของน้องเคี้ยงไม่ค่อยแข็งแรง การจับดินสอและการกดปลายดินสอลงกระดาษทำได้ไม่มั่นคงนัก เป็นเพียงการลากเบา ๆ ให้เกิดรูปร่างเท่านั้น ดังนั้นรูปร่างที่ปรากฎในชั่วโมงแรกจึงเป็นปลาที่ตัวบิดงอ

2.เด็กเรียบร้อย น้องเคี้ยงสอนง่ายมาก เรียบร้อยและถามครูทุกอย่างว่าวาดอย่างนี้ใช่ใหม ทำแบบนี้ถูกหรือไม่ ถึงแม้จะควบคุมกล้ามเนื้อมมือไม่ได้แต่ก็พยายามทำ จนกลุ่มปลาสี่ห้าตัวของเคี้ยงสำเร็จลงได้

3.สมาธิ คุณแม่วัยรุ่นซึ่งอายุไม่ต่างจากครูออตมาก เข้ามาพูดคุยว่าเป็นอย่างไร ครูออตเล่าถึงปรากฎการณ์ของน้องเคี้ยงให้คุณแม่ฟังอย่างที่ได้เขียนไปแล้วในสองข้อข้างบนนี้  คุณแม่เล่าถึงรู้สึกกังวล ต่อสมาธิของลูกชายจึงอยากให้มาเรียนศิลปะ เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ดีที่คุณแม่นึกถึงศิลปะว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสมาธิของน้องได้

เมื่อเคี้ยงเข้ามาเรียนในคอร์สแรก ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นเรื่องทัศนคติที่ดีของการเรียนศิลปะ ส่วนผลงานของเด็กนั้นไม่ได้เน้นนักเพราะต้องการให้เด็กมีอิสระที่จะคิด เล่าเรื่อง ระบายความรู้สึกของตนเองผ่านเส้น สีและเทคนิคอื่น ๆทางศิลปะ เมื่อเรียนไปสักสองครั้งก็พบว่าน้องเคี้ยงมองหาคุณแม่ตลอดเวลาและในชั่วโมงที่สองเมื่อคุณแม่ไม่อยู่ที่หน้า้ห้องก็พบว่าน้องร้องไห้เสียงดัง  ครูออตแนะนำให้ “คุณแม่บอกลูกชายก่อนเข้าห้องเรียนว่าคุณแม่จะออกไปทำอะไร และจะกลับมารับเมื่อเรียนเสร็จ” เพื่อไม่ให้เคี้ยงกังวล

เมื่อน้องเคี้ยงรู้สึกสนุกกับศิลปะและรู้สึกติดใจการสอนของครูออตแล้วหลังผ่านไปสามสี่ครั้ง ข้อสังเกตของครูออตที่เล่าไปแล้วใน “ข้อ 2″ ก็ผิดไปถนัด ความรู้สึกเบื้องลึกของเคี้ยงก็ฉายแววออกมาหลังเชื่อมั่นว่าตนเองปลอดภัยและมีอิสระในห้องเรียนศิลปะ เช่น ปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีต่อเพื่อน ๆ ในห้องเรียน  ปลาที่ชอบในตอนแรกไม่ใช่ปลาที่แหวกว่ายในน้ำหากแต่เป็นการตกปลาพร้อม ๆ กับการยึดติดอยู่กับการวาดรถถังที่บรรจุลูกปืนมากมาย

การออกแบบการสอน สำหรับน้องเคี้ยงในช่วงแรกนอกจากทัศนคติที่รักศิลปะแล้ว เรื่องสมาธิเป็นเรื่องที่ครูออตเน้น จากความกังวลของผู้ปกครอง ดังนั้นครูออตจึงต้องทำหน้าที่กระตุ้นถี่ขึ้นสำหรับน้องเคี้ยงและปล่อยให้พักผ่อนเป็นระยะ  แล้วจึงกลับมากระตุ้นอีกครั้ง และวิธีการนี้ก็พบว่าได้ผลที่เดียว น้องเคี้ยงสามารถวาดภาพต่อเนื่องได้มากกว่า 25 นาทีต่อครั้ง ซึ่งในระยะเวลาสองชั้้วโมงในห้องเรียนศิลปะพบว่าเมื่อจบในคอร์สแรกน้องเคี้ยงมีสมาธิดีขึ้นและจดจ่อกับงานมากขึ้น

ครูออตแนะนำคุณแม่ให้สมัครคอร์สสองให้น้องเคี้ยงเพื่อครูออตจะได้ปรับพฤติกรรมบางอย่างให้น้องเคี้ยง พฤติกรรมที่ว่าคือ “ความพยายามใ้ห้น้องการแสดงในเชิงบวก” อย่างที่ครูออตเล่าไปแล้วเคี้ยงแสดงออกในภาพเป็นภาพที่รุนแรงเสียเป็นส่วนใหญ่และจะไม่ยอมวาดในภาพอื่น ๆ ดังนั้นวิธีการที่ครูออตใช้จึงเป็นความพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง

ความพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นการลดการต่อต้านจากเด็ก ครูออตใช้วิธีค่อย ๆสอดแทรกทัศนคติเชิงบวกเข้าไปที่ละน้อย จากภาพรุนแรงในระยะที่แรก มาเป็นรุนแรงแฝงสันติโดยลดความรุ่นแรงผลักดันสินติและเปรี่ยมสันติในที่สุด วิธีการแบบนี้ถือว่าได้ผลสำหรับน้องเคี้ยงเพราะน้องเริ่มยอมรับหัวข้ออื่น ๆในการวาดแล้วและสีแดง น้ำเงินที่เคยใช้ก็มีสีเขียวเข้ามาแทรกอยู่

นี่เป็นผลงานของน้องเคี้ยงในคอร์สสุดท้ายที่ครูออตสอน ซึ่งหากคุณแม่เห็นพัฒนาการที่ดีเช่นนี้แล้วให้เรียนศิลปะอีกครั้งครูออตก็เห็นว่างดงามทั้งแม่และลูก  ส่วนครูที่จะรับสอนในครั้งต่อไปต้องกลับมาอ่านบันทึกของครูออตเพื่อนำไปปรับใช้สำหรับพฤติกรรมการเรียนรู้ของน้องเคี้ยง

พฤษภาคม 16, 2010

ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน

ปีศาจที่ชื่อศิลปะเกาะกินจิตใจเด็ก ๆ มานาน แต่ครูออตเชื่อว่ามันรักษาให้ทุเลาลงไปได้  ยาขนานที่ครูออตทดลองใช้อยู่ที่ HUG SCHOOL คือตำรับที่เรียกว่า ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน ดังนั้นบันทึกนี้จึงจะขอเสนอโอสถที่ครูออตใช้รักษาเจ้าปีศาจตัวนั้นเพื่อบำรุงจิตใจที่งดงามของเด็ก ๆ ให้ฝ้นมีชีวิตชีวาและเบิกบานอีกครั้ง

ก่อนนอื่นต้องขอออกตัวไว้เลยว่าครูออตไม่ใช่ครูในสายวิชาชีพครู เป็นแต่เพียงครูพักรักจำ ดู สังเกต การเรียนการสอนของบรรดาครูมืออาชีพทั้งหลายและนำมาทดลองใช้กับเด็ก ๆ ที่ตนเองสอน  โดยไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่ปีศาจตัวร้ายที่ชื่อศิลปะจะกลับมา และพัฒนาสิ่งที่ดีให้ดีขึ้นพร้อม ๆ กับบอกเล่าให้คนอื่นได้ลองเอาไปประยุกต์ใช้กันดู  ดังนั้นบันทึกนี้จึงไม่ใช่ข้อเขียนในเชิงวิชาการที่สามารถอ้างอิงได้แต่ครูออตจะบอกว่า ลองเอาไปใช้ได้

“ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน” นั้นเป็นห้องเรียนที่เน้นการเปลี่ยนทัศนคติของเด็ก ๆ ให้หลับมาสนใจทำงานศิลปะอีกครั้ง ในฐานะศิลปะเป็นสิ่งบำเรอการเติบโตของหัวใจให้งดงามและเบิกบาน สิ่งนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ครูออตใช้ในการสร้างสรรค์ศิลปะสำหรับเด็ก ห้องเรียนแ่ห่งความเบิกบาน ประกอบด้วยเรื่องกว้าง ๆ 3 เรื่อง  เพื่อให้หัวใจของเด็ก ๆมีศิลปะที่เบิกบาน มีความสุขและกำจัดปีศาจตัวร้ายที่ชื่อศิลปะให้กลายร่างเป็นยาบำรุงหัวใจ  ปัจจัย 3 อย่างของห้องเรียนเบิกบานคือ

1. ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะเน้นการเรียนเป็นกลุ่มเพื่อให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รับและมอบไมตรีกับกัลยาณมิตรในห้องเรียน

เรื่องนี้อาจจะะนำไปปอธิบายควบคู่กับเรื่อง EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ได้ ดังนั้นการจัดกิจกรรมทางศิลปะครูออตจึงเสนอให้ห้องเรียนควรมีเด็กเรียนเป็นกลุ่ม ถ้าอย่างที่HUG SCHOOL ห้องศิลปะเล็กมาก ๆ ก็ไม่ควรเกิน 6 คน กิจกรรมในห้องจึงคล้ายกับเป็นสนามเด็กเล่นที่เด็ก ๆ ใช้เล่นร่วมกัน ทั้งนี้อาจจะมีความรักกันและมีทะเลากันบ้าง ขัดใจกันบ้าง หากไม่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบมาก ครูควรปล่อยให้เด็ก ๆ แก้ไขสถานการณ์กันเอง เพราะธรรมชาติของเด็ก ๆ ความขัดแย้งเหล่านั้นจะถูกลืมในไม่ช้าสักครูก็เล่นด้วยกันราวกับไม่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งหากมีข้อขัดแย้งรุนแรงครูก็แค่ช่วยเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นของเด็กกับคนในห้องให้ฟังเช่น เล่านิทานที่สอนประเด็นความขัดแย้งในห้องนั้นได้  กิจกรรมบางกิจกรรมก็ให้เด็ก ๆ ได้ร่วมกันทำแบบนี้เราก็สอนเรื่องผู้นำผู้ตามแบบธรรมชาติไม่ต้องนั่งบรรยาย


2.
ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะสนับสนุนให้เด็กรู้จักการชื่นชมความงดงามท่ามกลางสรรพสิ่งที่แวดล้อมตัวของเขา

ไม่ว่าจะเป็นแสงที่สาดเข้ามาในห้อง สายฝนที่โปรยปราย เสียงฟ้าที่ร้องคำราม  เจ้ามดตัวน้อยที่วิ่งเล่นในห้องเรียนศิลปะ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะถุฏนำมาใช้ในกิจกรรมศิลปะของห้องเรียนเราแทบทั้งสิ้น ซึ่งเสมือนหนึ่งจะบอกกับเด็ก ๆ ว่า เราคือส่วนหนึ่งของโลกใบงามและเราก็เกี่ยวกข้องกับสิ่งอื่น ๆในโลกใบงาม เราทุกคนเป็นเพื่อนกัน  ถ้าเด็ก ๆ คิดว่าตัวเองสวย น่ารักดังนั้นมดตัวน้อย ๆ เขาก็คิดว่าเราน่ารักเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องดูความงามของกันและกัน


3. ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะเน้นให้เด็ก ๆ มีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะมีสมาธิในการทำงานและปล่อยวางความทุกข์ทั้งปวง

เรื่องนี้เน้นเป็นพิเศษ เพราะศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่งของการฝึกสมาธิ และเด็ก ๆ ที่ส่งมาเรียนศิลปะที่ห้องเรียนของ HUG SCHOOL หลายคนก็มีปัญหาเรื่องสมาธิ  หลายเรื่องที่นี่จะเน้นให้เด็ก ๆ ช้าลง เพื่อให้เด็กได้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับปลายดินสอที่สัมผัสกระดาษในการร่างภาพเจ้ามดน้อย ให้เด็ก ๆ เห็นขา เห็นตา เห็นหนวดของมดอย่างชัดเจน  หรือให้เด็ก ๆเห็นเนื้อของสีแดงกับสีเขียว กำลังต่อสู่กันอยู่บนผืนภาพขณะลงสีน้ำใบไม้ที่เจ้ามดกำลังไต่อยู่  เรื่องนี้เด็ก ๆ จะมีความสุข สงบ เบิกบานได้แม้ขณะวาดมดเพียงตัวเดียว


นี่เป็นแนวคิดสำคัญของการเรียนศิลปะที่ ห้องเรียนแห่งความเบิกบานของครูออต

พฤษภาคม 14, 2010

“ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ”01

ทุกสัปดาห์ที่ HUG SCHOOL จะมีผู้ปกครองนำเด็กๆ มาลองเรียน มาแอบดูครูออตสอนศิลปะเสมอ ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจส่งลูก ๆ มาให้ครูออตเลี้ยง ซึ่งแน่นอนปฏิกิริยาของเด็กแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกันเลย

เรื่องนี้เห็นที่ต้องนำมาเขียนสักหน่อยเพื่อให้ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนเข้าใจข้อเสนอแนะของครูออต ก่อนที่โรงเรียนจะตัดสินใจรับเด็ก และ ก่อนที่ผู้ปกครองจะเสียเงินเพื่อให้ลูกมาเรียน/เล่นที่ห้องศิลปะแห่งนี้

เรื่องที่น่ายินดีเรื่องหนึ่งที่เกริ่นไปแล้วคือทุกสัปดาห์จะมีผู้ปกครองพาเด็กมาดูการสอนของครูออต นั้นแสดงว่าพ่อแม่ทุกวันนี้สนใจที่จะสนับสนุนทำงานศิลปะของลูกตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อครูออตยังเด็กเราไม่ต้องเสียเงินมาเรียนศิลปะเพราะทุกวันเด็ก ๆ บ้านนอกได้ทำงานศิลปะอยู่ตลอดผ่านการเล่นดินกับเพื่อนบ้านรุ่นราวคราวเดียวกัน พวกเราจะจินตนการและแทนค่าสิ่งต่าง ๆที่อยู่รอบ ๆ ตัว ให้เป็นข้าวของที่ต้องการเราจะเสกฝาหอยให้เป็นเงินเหรียญไว้ซื้อขายกัน เราจะเนรมิตผืนดินเป็นบ้านหลังใหญ่

แต่เมื่อทุกวันนี้พื้นที่และชุมชนของการรวมตัวกันของเด็กเป็นเรื่องยาก การจัดพื้นที่พิเศษขึ้นในรูปโรงเรียนศิลปะจึงเกิดขึ้นและเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีของพ่อแม่ในสังคมเมืองในปัจจุับัน

แต่ก็ยังมีูผู้ปกครองอีกกลุ่มที่อาจจะคิดว่าเรียนศิลปะให้เสียเงินเสียทองเสียเวลาทำไม จะเรียนทั้งทีทำไมไม่ให้ลูกไปเรียนวิชาการที่ใช้สอบที่โรงเรียนเลย เรื่องนี้ผู้ปกครองอาจจะมีสิทธิคิดได้เพราะเป็นเรื่องสิ้นเปลืองจริง ๆ โรงเรียนหลายแห่งเบื่อกับงบประมาณการซื้ออุปกรณ์ศิลปะมากเพราะมันแพงกว่าวัสดุทางการศึกษาอื่น ๆ ของเด็กมากมายซึ่งถือว่าเป็นสินค้านำเข้าประเภทฟุ่มเฟือย ส่วนผู้บริหารโรงเรียนก็ต่างเห็นว่าคอร์สศิลปะได้กำไรน้อยมากเพราะค่าใช้จ่ายเยอะ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง   แต่หากคิดถึงผลที่ลงทุนไปกับการพัฒนาสุนทรียภาพของเด็ก ๆ ผมว่ามันคุ้มค่าและที่ hug school ผู้บริหารเองก็เข้าใจถึงธรรมชาติของธุรกิจศิลปะดีว่าไม่ได้สรา้งกำไรมากมายแต่ก็ยินดีเปิดเพราะมุ่งหวังผลอันจะเกิดกับสังคมในวันข้างหน้า

แรกก้าวเข้าห้องเรียนเด็กนักเรียนหลายคนมักเกาะแขนแม่ไว้แน่น ไม่ว่าครูออตจะชักแม่น้ำกี่สายมาชี้ชวนก็ไม่สามารถแย่งหัวใจของเด็ก ๆ ออกมาแขนแม่ได้ ดังนั้นกรณีนี้จึงต้องให้แม่อยู่ด้วยขณะที่เด็กน้อยกำลังวาด ๆ ขีดๆ เขียน ๆ  เรื่องนี้คุยกับผู้ปกครองหลายคนมักพบว่าเด็ก ๆ ไม่ชอบศิลปะ ซึ่งผิดกับพัฒนาการของเด็ก

เด็กน้อยหลายคนที่มาเรียนในชั่วโมงแรกนี้มักจะเอามือน้อย ๆ นุ่ม ๆ ของเขาปิดภาพวาดของตนเองเอาไว้เพื่อไม่ให้ครูออตเห็น เรื่องนี้พบเห็นบ่อย หลายคนกดมือแน่นเมื่อครูออดเดินเข้ามาใกล้ ๆหรือแม้แต่พ่อแม่ขอดูก็ไม่ยอมเปิด

“ยางลบ” คือสิ่งแรกที่เด็ก ๆ ขอในฐานะอุปกรณ์ลบภาพจินตนาการอันไม่สวย ไม่ถูกต้อง ในสายตาและการบ่มเพาะทางศิลปะของเขา ดังนั้นที่ห้องศิลปะของครูออตยางลบจะใช้มากกับเด็กที่เพิ่งมาเรียนในชั่วโมงแรกๆ

พฤติกรรมลักษณะนี้มีมากมายที่เกิดกับเด็ก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนเรื่องที่ครูออตเรียกว่า “ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ” เพราะหากสืบสาวราวเรื่องไปเราจะพบว่าอาการเกลียดศิลปะอาจจะมาจาก ประสบการณ์ที่เลวร้ายจากพ่อแม่เองที่มักวิจารณ์ผลงานของเขาทั้งที่ควรจะเป็นผู้ให้กำลังใจกับทำตัวเป็นนักวิจารณ์ หรือเกิดจากพี่น้องที่มักล้อเกี่ยวกับภาพวาดของเขาทั้ง ๆ ที่พี่น้องน่าจะสนุกสนานกับการทำงานศิลปะไปด้วยกัน หรือเกิดจากครูในโรงเรียน ที่มักบังคับให้เขาทำในสิ่งที่ครูคิดว่าควรจะเป็น เพื่อแลกกับคะแนนและเกรดดีดีทั้ง ๆ ที่ปากมักบอกเด็ก ๆ ว่าศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูก

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดเพื่อจะช่วยให้ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนได้เข้าใจว่า ครูควรจะได้รับรู้ ประสบการณ์ทางด้านศิลปะของเด็กก่อนเบื้องต้น และได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดอกกับพ่อแม่  ก่อนที่จะสมัครเรียนให้ลูก และผู้บริกหารเองจะได้วางแผนในการออกแบบกลุ่มการเรียนให้แก่เด็ก ๆ

คำถามที่จะเกิดต่อมาคือ หากเด็กมีประสบการร์เลวร้ายกับ”ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ”แล้วครูออตจะสอนอะไร คำตอบคือวิชาแรกที่ครูออตจะสอนเด็ก ๆ คือวิชาศิลปะเบิกบาน ไม่ใช่ วิชาศิลปะเหมือนมาก

« บันทึกเก่ากว่าบันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress