ถอดบทเรียนการทำ คนนี้ไง’จารย์ปูครูพันธุ์ก๊าก!

อ่าน: 12649

คืนวันที่พุธที่ 1 ก.ย.53 พ่อครูโทรมาตอนหัวค่ำ “แห้วเอ๊ย ไปเจอกันที่โรงแรมรามาการ์เดนท์เดี๋ยวนี้เลย มีเรื่องใหญ่จะบอก

เรื่องใหญ่หยังวา ไปก็ไป เดี๋ยวก็รู้ กระโดดขึ้นแท็กซี่ไปในบัดดล

ไปถึงจึงได้กอดจากอุ๊ยและพี่หมอเจ๊ แถมได้ของฝากจากอินตะระเดียกะเขาด้วยนะ

ขอบคุณค่ะพี่หมอเจ๊ขา สา…ธุ

ได้คุยกันหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องสำคัญที่จะไม่เล่าในที่สาธารณะ

วันที่ 2 ก.ย.พ่อบอก

แห้วเอ้ย ปั่นต้นฉบับแบบด่วน ๆ หน่อย ทำหนังสือแสดงฝีมือครูอาชีวะเอกชนไปเล้ย เราต้องสร้างจุดเด่นให้ได้

เหรอคะ ?  เอางั้นเหรอคะ

ยังไม่รับปากทันทีหรอกค่ะ กลับไปดูบันทึกเก่า ๆ ก่อนดีกว่าว่าจะทำอะไรได้บ้าง

เงินทุนน่าจะต้องเตรียมไว้ประมาณ 30,000 บาท ทำไงดี เป็นค่าใช้จ่ายจรก้อนไม่เล็กที่ไม่ได้อยู่ในแผนค่าใช้จ่ายประจำเดือนเสียด้วย อยู่ดี ๆ ก็ต้องใช้ จะจัดสรรยังไงทัน ?

เวลาล่ะ ยุ่งยังกะยุงตีกันอยู่แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปทำ ?

เอาน่า ถ้าวางแผนแต่เนิ่น ๆ น่าจะทันน่า รีบรวบบันทึก ตรวจแก้ให้มากที่สุด ให้เหลือเฉพาะงานด้านเทคนิคตรงป๋าที่เดียว อย่างนี้น่าจะเสร็จทันแน่ (คิดไปเองทั้งนั้น)

แล้วก็ไปนั่งเรียบเรียงบันทึกตัวเอง ดูไปดูมายังไม่เข้าเป้าเท่าไหร่ จึงเขียนบันทึกเพิ่มเติมทันที ตั้งแต่วันที่ 2-9 ก.ย. 53

วันศุกร์ที่ 10 ก.ย. มั่นใจแล้วว่ามีความเป็นไปได้ จึงตอบพ่อครูบาไปว่า

ทำแน่ค่ะ

(ตัดสินใจบนความไม่รู้นี่ บางทีก็มันดีนะคะ อิอิอิ)

ส่งเมล์แจ้งป๋า Logos ทันที แค่แจ้งเฉย ๆ นะ ไม่ได้ขอร้องด้วยซ้ำ มั่นใจมากว่ายังไงป๋าช่วยตรูแน่!

อาจหาญมาก ตัดสินใจเสร็จสรรพปุ๊บปั๊บเรียบร้อยเลยล่ะค่ะ โปรแกรมก็ทำไม่เป็น ความรู้เรื่องการจัดทำหนังสือทั้งกระบวนการก็ไม่มาก ที่ผ่านมาเป็นแค่ลูกมือป๋ากับพี่เบิร์ดตรวจคำผิดนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็ตะแล๊ดแต๊ดแต๋ประสานงานนู่นนี่นั่นหน่อย ๆ เอง

ป๋าค้าาา…

นับตั้งแต่ทักป๋าใน gmail ด้วยคำนี้ ชีวิตป๋าอีกครึ่งเดือนต่อมา ก็ไม่ได้พบความสงบสุขอีกเลย ได้ข่าวว่าคุณแม่กังวลจนต้องซื้อของกินมาใส่ตู้เย็นหน้าห้องเต็มเอี้ยดอีกครา   :(   แฮ่ ขอโทษก้าบ  กราบ…  _/\_

แล้วก็จ๋อย เพราะต้องรอไปก่อนเนื่องจากป๋าติดงานอื่นยังไม่ว่างทำให้ บอกว่าจะเริ่มลงมือก็คงเป็นวันจันทร์ที่ 13 แต่คงทนเวทนาไม่ได้ จึงเริ่มทำให้เย็นวันอาทิตย์ที่ 12 นั่นเลย

ไอ้เราก็หน้าไม่อาย แถมใจร้อน ถามกวนอารมณ์อยู่ตลอดเวลา ก็ทำเองไม่เป็นอ่ะ แต่อยากรู้ว่าต้องทำอะไรอีก งง ๆ ลน ๆ  เพราะเหลือเวลาทำหนังสืออีกแค่ 4-5 วัน ต้องส่งโรงพิมพ์เพื่อให้หนังสือคลอดให้ทันวันที่ 22 ให้ได้   นั่นหมายความว่า ถ้าเริ่มวันที่ 12 ก็ต้องเสร็จวันที่ 16 เพื่อให้ได้รับคืนจากโรงพิมพ์วันที่ 22 พอดี

เข้าใจว่าป๋ารับรู้ที่ไปที่มาและความจำเป็นตั้งแต่ต้นแล้ว แทบจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าได้ร้องขอความช่วยเหลือจากป๋าหรือเปล่า รู้แต่ ถาม ๆ ๆ อยู่ตลอดเวลา จนป๋าต้องยกวิชาหนึ่งของพ่อครูมาเบรก “อย่าเอานางสาวไทย มาเป็นคนใช้” เข้าใจบ๊อ?

คำตอบคือ เข้าใจเหมือนกันแหละ แต่ตอนนั้นมันหน้ามืดไม่สนหรอกค่ะ  แป่ว!

ส่วนพี่เบิร์ด ท่าน บก.แผนกละเอี๊ยดละเอียด ละเมียดละไม ในฐานะเคยร่วมชะตากรรมทำหนังสือกันมา 3 เล่มแล้ว นั้น ทราบว่ากำลังใช้สมาธิทำวิจัยอยู่ 3 เล่มและสรุปงานนู่นนี่นั่นอีกบานตะไท เลยไม่อยากรบกวน ได้แต่ส่งเมล์ไปเล่าให้ฟังว่ากำลังจะทำอะไรกัน ที่ไปที่มาคืออะไร แล้วจะส่งเมล์ไปรายงานความคืบหน้าให้ทราบ เผื่อพี่เบิร์ดมีไอเดียอะไรจะได้ร่วมแจม โดยไม่ต้องใช้เวลามากเหมือนตอนทำไผ  ปรากฏว่าพี่เบิร์ดตอบกลับทันที โดยไม่พูดพล่ามทำเพลงมาก

ขอเวลาแป๊บไปอาบน้ำก่อน แล้วจะลงมือช่วยชัวร์! จ้ะ

(สมกับฉายา “อู้ กำ เดียว” แต๊ ๆ เจ้า)

แล้วก็ตามด้วย เขียนบทปิดเล่มให้เลยในวันเดียวกันนั้น (^___________^)

แม้กระทั่งภาพรวมของหนังสือก็ยังลืมคิดเลยว่า ควรจะมีส่วนประกอบอะไรบ้าง ก้มหน้าก้มตา จัดการกับบันทึกเท่าที่มีเพื่อจัดวางบน Google docs ให้ได้ก่อน (เป็นระบบการเขียน+ตรวจแก้เอกสารเดียวกันโดยคนหลายคน ทำให้เอกสารที่แก้ไขเป็นรุ่นล่าสุดเสมอ ต่อให้แก้ไขพร้อมกัน ผลของการแก้ไขจะปรากฏขึ้นบนทุกจอที่กำลังอ่านหรือแก้ไขเอกสารนั้นอยู่ด้วย)

แง่ว!  ลืมคิดเรื่องชื่อหนังสือ!

พ่อประเดิมเจิมหน้าผากให้ก่อนคนแรกเลย  “เฮ๊ย ครูปูเว๊ย เฮ๊ย” (่จำมาจากชื่อร้านขนมปัง “ปัง เว้ย เฮ้ย”่)

อยู่ดี ๆ ป๋าถามว่า หนังสือชื่ออะไร ระหว่าง บ้าเดี่ยว กับ ชีวิตรันทด (เอาเข้าไป)

ตามด้วยไอเดียบรรเจิดจากป๋า มีขู่คำราม หึ หึ ในลำคอก่อนด้วยนะ ว่ามีชื่อเด็ด ๆ ให้แล้ว กลั้นหายใจอยู่นานสองนานแน่ะ กว่าจะกล้าถามกลับไป

“(อี่)นี่ไง…อาจารย์ปู ครูพันธุ์ก๊าก” (ดู ป๋า ดิ :( )

แล้วก็กวาดมุกตัวเองทิ้งไปเองด้วยนะ เห็นบอก ไม่ได้หรอก เสียภาพลักษณ์ครู เหยียดชาติพันธุ์อีกต่างหาก

เลย รวม ๆ ไอเดียกันแล้วก็กลายมาเป็น  คนนี้ไง’จารย์ปู ครูพันธุ์ก๊าก! นี่ล่ะค่ะ

พ่อครูโทรมาอีก “เดี๋ยวจะขอให้ ศ.ดร.กนก เขียนคำนิยมให้นะ ติดต่อผ่าน รศ.ดร.ปภัสวดี เลยนะ เข้าไปค้นข้อมูลใน hotmail พ่อนะ หาดูแล้วกัน พ่อไม่เคยเปิดหรอกเพราะเปิดบ่เป็น

แล้ววางหู แกร่ก!

กำลังหัวปั่นอยู่กับการจัดการบันทึก พ่อโทรมาอีก

ออ ปู พ่ออยากให้ ทั่นอัยการ ครูอึ่ง กับอุ้ย เขียนแนะนำปูหน่อยนะ  พ่อคุยกับอุ้ยให้แล้ว เดี๋ยวหายยุ่งแล้วส่งตัวอย่างบันทึกให้อุ้ยด้วย

แล้ววางหู แกร่ก!

โอย… ยุ่งจิ๊บเป๋ง  รีบขอ email พี่ ๆ จากป๋า  internet ที่โรงเรียนก็กำลังมีปัญหา ความเร็ว drop ลง ส่งได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่งบันทึกให้ รศ.ดร ปภัสวดี เพื่อนำไปมอบให้ ศ.ดร.กนก เพื่อขอความกรุณาให้เขียนคำนิยมให้ (ตอนนั้นยังไม่รู้จักท่านเลยค่ะ) แล้วส่งให้พี่ ๆ ทุกท่าน มาทราบเอาภายหลังเพราะพี่ครูอึ่งโทรมาบอกว่ายังไม่ได้รับเมล์ ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ internet คนส่ง หรือ email ผู้รับ เพราะพี่ครูอึ่งบอกว่าโดนคนบ่นบ่อย ๆ เหมือนกันว่าส่ง email ไปแล้วไม่ค่อยได้รับ

ขับมอเตอร์ไซค์บึ่งไปใช้ internet บ้านน้องที่ทำงานข้าง ๆ โรงเรียน

หนอย… internet เขาดันมีปัญหาอีก (ช่วงนั้นฝนตกหนักติดต่อกันทุกวัน) น้องบอกธรรมดาไม่เคยเป็นนะนี่ กรรมแต้ ๆ น่ะเจ้า!

หมดหนทางแล้วกลับไปทำงานที่บ้านดีกว่า

อยากจะกรี๊ดดดด ทำไมมันยุ่งอย่างนี้ว้า……   ไม่มีเวลาแล้ววุ๊ยส์ เอาเท่าที่ได้แล้วกัน

กอง บก.เห็นว่าพี่ ๆ แต่ละคนเขายุ่ง ๆ กันทั้งนั้น ได้สักคนสองคนก็พอแล้ว  มีใครที่น่าจะรีบเขียนให้แบบด่วน ๆ ได้ไหม นึกถึงพี่บางทรายกันเพราะเป็นหน่วยงานเอกชนเหมือนกัน  พี่บางทรายรับปากเดี๋ยวนั้นพอหัวค่ำเขียนส่งมาให้ทันที กอง บก.รับปุ๊บ ตรวจเสร็จ ส่งกลับให้ดูทันทีเช่นกัน  พี่บางทรายร้องจ๊าก ทำไมถึงเร็วอย่างนี้ (ก็อย่างที่พี่เข้าใจน่ะค่ะ รีบกันควันดำเลย ไม่เชื่อดูขอบตาป๋าดิ หุหุหุ)  แล้วพี่ครูอึ่ง (ตัวแทนสถานศึกษาเอกชนเหมือนกัน) ก็ส่งตามมา คนทำเลยหน้าบานเป็นจานข้าวแมวกันทีเดียวเชียว เพราะหมดห่วงแล้วสำหรับส่วนของการแนะนำผู้เขียน

แล้วก็ได้รับคำนิยมของหนังสือ ซึ่งแทบจะเป็นส่วนสุดท้ายเนื่องจากวางทุกส่วนรอไว้แล้ว (วันสุดท้ายก่อนส่งโรงพิมพ์ เนื่องจาก email มีปัญหาอีกแล้ว ท่านส่งมาแล้วแต่ครูปูไม่ได้รับ จึงต้องรบกวนให้ส่งอีกครั้งเอาวันสุดท้ายนี่) ด้วยความเมตตาจาก ศ.ดร.กนก  อ่านแล้วมีความรู้สึกว่าผู้ใหญ่เมตตาและให้เกียรติขนาดนี้ จะทำอะไรคงต้องตั้งใจและมุ่งมั่นให้มากขึ้น

ตามด้วยการใจหายใจคว่ำ เรื่อง ISBN ไม่อยากจะเซดเลยว่า หน้ามืดเพราะตอนแรกติดต่อกับพี่นิดไม่ได้เลย ทำเรื่องขอเอง พอติดต่อพี่นิดได้แล้ว เล่าให้พี่นิดฟัง พี่นิดบอกว่า ยกเลิกไปเลย มันไม่ตรงกับที่พี่ขอไปคราวที่แล้ว เดี๋ยวพี่ทำให้ใหม่ ส่งทาง email เร็วกว่าที่น้อง fax ไปเยอะเลย

เรื่องใหญ่สุด หลังจากหมดห่วงเรื่องเนื้อหาด้านในแล้ว คือ ปก

ทั้งพี่เบิร์ดและป๋าก็ลุ้นให้ติดต่ออตให้ได้ อยากได้ปกน่ารัก ๆ รูปเหมือนของครูปู หรือไม่ก็เด็ก ๆ ยุ่งวุ่นวาย (ไอเดียพ่อครูบาค่ะ) แต่จิตที่ฟุ้งซ่านพุ่งพล่านระหว่างรอส่วนประกอบต่าง ๆ อยู่นั้น ก็เลยทยอยส่งรูป “หลุด ๆ” ไปกองไว้ที่ป๋าทุกวัน

เพิ่งจะมาคิดได้เอาทีหลังนี่เองว่าทำไมเราไม่นึกถึงภาพที่มันดูดีมีชาติตระกูลซักนิดนึงว้า… ดันส่งแต่รูปหลุด ๆ ไปให้ป๋า เพราะฉนั้น หน้าปกมันจะเหลือเรอะ

แถมโดนป๋าค่อนขอดทั้งวันทั้งคืน ข้อหาหน้าแบนยังกะถาดพิซซ่าอีก (ดู ป๋า แก ดิ :( )

ตอนแรกก็ บรึ๋ย! กับหน้าปกหลอดดูดนี่เหมือนกัน

นึกสมเพชตัวเอง

เฮ้อ… มีหนังสือกะเขาเสียที ทำไมต้องพิเรน เหมือนตัวจริงขนาดนี้ด้วย (วะ)

เอ แล้วเราจะไปเป็นอะไรได้มากกว่า การเป็นตัวจริงอีกล่ะ เอาก็เอาวะ ดูไปดูมามันก็มันดีนา

ให้น้อง ๆ ในโรงเรียนช่วยกันโหวต มติก็เป็นเอกฉันท์ ตอนนั้นทั้งขำ ๆ ทั้งกระอักกระอ่วน นึกแค้นอยู่ในใจ อ๋อ นี่ที่ผ่านมา พวกหล่อนเห็นฉันพิเรนมาตลอดเลยใช่ไหม? ไม่กล้าถามออกไปหรอกค่ะ กลัวคำตอบอ่ะ  ฟันธงไปเลยแล้วกัน

ฟันธง!  ฮี่ๆๆๆ

สรุปสิ่งที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทำเมื่อต้องรวบรวมบันทึกมาจัดทำเป็นหนังสือ

1. ตรวจดูบันทึกเก่า เพื่อคัดเลือกเนื้อหาที่สอดคล้อง

2. จัดเรียงเนื้อหาเพื่อความสอดคล้องกับสิ่งที่ตั้งใจจะสื่อ

3. ปั่นบันทึกเพิ่มเติมเพื่อให้ได้เนื้อหาและน้ำหนักครบตามต้องการ

4. กำหนดสัดส่วนและจำนวนหน้าของหนังสือเพื่อวางแผนการพิมพ์ เจรจาราคาค่าพิมพ์หนังสือกับโรงพิมพ์ (อาศัยอิทธิพลและเล่ห์กลมารยาต่าง ๆ เท่าที่จะนึกขึ้นมาได้ตอนนั้น  ฮี่ ๆ)

5. ติดตามประสานในส่วนที่เหลือ เช่น คำนิยม คำนำ ภาพประกอบ ภาพปก คำแนะนำผู้เขียน (ส่วนนี้พ่อครูบาขอเพิ่มเติมเองเพื่อให้พวกเราได้มีส่วนร่วมกันให้มากที่สุด)

6. ตรวจสอบการสะกด สำนวนความถูกต้อง เพื่อย่นระยะเวลาการตรวจแก้ไขเมื่อจัดเรียงพิมพ์บนโปรแกรมแล้ว

7. ส่งบันทึกขึ้นไปบน Google docs  (เพิ่งได้ทำด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก)

8. กวาดตาหาคำผิด เว้นวรรค สำนวนภาษาเหมาะสมของเนื้อหาทั้งหมดอีกครั้ง อีกครั้ง ๆ ๆ  (เล่มนี้แย่มากเนื่องจากวิ่งวุ่นทั้งวันนู่นนี่นั่น จนไม่มีสมาธินั่งตรวจอย่างละเอียด)

9. นำส่งโรงพิมพ์ พร้อมหมายเหตุ เช่น ต้องการให้โรงพิมพ์ปรับย่อ ขยายเนื้อหา หรือปรับความเข้ม ความสว่างของรูป เป็นต้น

10. วางเงินมัดจำค่าพิมพ์ ประมาณ 30%  แล้วชำระที่เหลือทั้งหมดในวันรับหนังสือ

11. รับหนังสือ พร้อมไล่ตามขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วรีบกลับบ้านไปนอนหน้าบานกับผลงานที่ตัวเองได้มีส่วนร่วม  (^____________^)

ที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจะทำหนังสือเล่มนี้ไปเพื่ออะไร เหล่านี้คือคำตอบค่ะ

1.        รายได้จากการจำหน่ายหนังสือทั้งหมด 1,000 เล่ม-200(แจก) = 800เล่ม@125 บาท =100,000 บาท (หักต้นทุนค่าพิมพ์+ค่าจัดส่ง ~ 30,000 บาท) จะมีเงินคงเหลือ 70,000 บาท ซึ่งเท่ากับราคา เครื่องสับกิ่งไม้ขนาดใหญ่ที่พ่อครูบาต้องการ เด๊ะ!  การจะหาเงินให้ได้ 70,000 บาท ก็ไม่ง่ายหรอกนะคะ เพราะไม่ใช่จำนวนเล็กน้อย แต่ก็เห็นแล้วว่าเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรมหาศาล เมื่อโดนขอให้ทำหนังสือเพื่อประโยชน์ของการปฏิรูปการศึกษา จึงเป็นโอกาสระดมทุนไปต่อยอดงานของพ่อพร้อมกันไปเลย แม้ขายหนังสือจนหมดเกลี้ยง ตัวเองก็ไม่ได้อะไร ก็ยังคงได้แค่ “ได้ทำ” อ่ะค่ะ จริง ๆ ราคาเครื่องสับคือ 75,000 แต่ได้ aar  เฉพาะส่วนของความลำบากลำบนในการทำหนังสือให้เจ๊น่ำเฮงฟัง เล่าไปบีบน้ำตาไป เจ๊แกคงรำคาญปนขำ ๆ เลยลดให้ทันที 5,000 บาทแล้วค่ะ ฮี่ ๆ ๆ (เฮ้อ รอดตัวไปหน่อยนึง ไม่งั้นต้องเร่ขายหนังสือให้ได้อีก 40 เล่มแน่ะค่ะ :( )  ไปกินไปนอน ไปได้เรียนรู้ ได้รับเมตตาจากพ่อครูบามานับครั้งไม่ถ้วน เรื่องแค่นี้ ทำให้พ่อไม่ได้ก็แย่แล้ว

2.        ถ้าหนังสือเล่มนี้สามารถสร้างประกายความสนใจเล็ก ๆ ให้ คกก.หันมามองโรงเรียนเอกชนบ้าง ก็น่าจะดี  จะให้พี่ครูอึ่งทำหนังสือก็ยุ่งจะแย่ ออตก็เป็นโรงเรียนศิลปะ งานอาจจะออกมาไม่ดุเด็ดเผ็ดมันเท่าโรงเรียนอาชีวะ

3.        พ่อครูบาผู้ที่รับผิดชอบในด้านประสานงานชุมชนจะได้มีผลงานของเครือข่ายชุมชนตามที่ได้นำเสนอต่อ คกก.ไว้แล้ว

4.        ตัวครูปูเองจะได้ถอดประสบการณ์เพื่อสะท้อนแง่คิดที่อาจเป็นประโยชน์บ้างแก่ผู้ปกครองหรือครูท่านอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งเด็ก ๆ

5.        อยากทำค่ะและคิดว่าตัวเองทำได้เสียด้วยสิ   งั๊น เอาเป็นว่าทำเลยแล้วกัน อย่าท่ามาก เดี๋ยวไม่ได้ทำ ฮี่ๆๆ

ผลตอบรับ ณ วันนั้น บอกได้เลยว่า แทบจะไม่ได้นึกถึงด้วยซ้ำค่ะ   ในส่วนตัวเอง ถ้าอยากทำอะไรแล้วก็จะทำค่ะ แล้วก็มั่นใจด้วยว่า การประกอบกิจดี ๆ ด้วยใจที่จริง และบริสุทธิ์ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน (ป๋าเถียงตายเลยอ่ะ) เพื่อหวังให้เกิดผลดี ๆ  นั้น  ”ดี” ค่ะ

ขืนมัวแต่อยากจะดี แต่ไม่ลงมือทำเสียที เมื่อไหร่สิ่งดี ๆ มันจะเกิดล่ะเนอะ


ท้ายที่สุดนี้

ขอขอบพระคุณพ่อครูบาที่ทั้งผลักทั้งถีบหนูในหลาย ๆ เรื่อง

ขอบพระคุณป๋าขาที่ได้เมตตาครูตัวน้อย ๆ คนนี้เสมอ ๆ นะคะ

ขอบพระคุณพี่เบิร์ดสำหรับน้ำใจที่มีให้กันอย่างอบอุ่นเสมอมาค่ะ

ขอโทษพี่นิดด้วยนะคะ ที่รบกวนตามจี้เรื่อง ISBN ของหนังสือตลอดเลย ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยพบ ไม่เคยคุยกันมาก่อน แถมไม่รู้เรื่องเลยค่ะ ว่าพี่กำลังป่วยอยู่ด้วย ก็คนมันกำลังหน้ามืดอ่ะค่ะ ขออภัย และขอบพระคุณค่ะ แฮ่ ๆ

ขอบพระคุณพี่บางทราย พี่ใหญ่ใจดีด้วยนะคะ

ขอบพระคุณพี่ครูอึ่ง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพี่ก็ยุ่งยังกะลิงแก้แหอยู่แล้วก็ยังมิวายจะรบกวนอ่ะค่ะ

หากหนังสือเล่มนี้พอจะยังประโยชน์ด้านใด แก่ใคร ๆ ได้บ้าง หนูขอยกอานิสงส์นั้นทั้งหมดให้กับครอบครัว ให้ท่านประธานกรรมการบริหาร ท่านผู้อำนวยการ พี่น้องผู้ร่วมงาน ลูกศิษย์ทุกคน

ให้พ่อครูบา ให้ป๋า พี่เบิร์ด พี่บางทราย พี่นิด พี่ครูอึ่ง และพี่ ๆ น้อง ๆ ทุก ๆ คนที่คอยให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ  และขอมอบให้แก่ผู้ที่มีความเป็นครูทุกผู้ทุกนามเลยค่ะ

หากมีสิ่งใดผิดพลาดล่วงเกินผู้ใดไป จากการทำหนังสือเล่มนี้ ครูปูขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ วิ่งเร็วไปมันก็มีหัวทิ่มกันบ้างอ่ะค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

(^________________^)


Post to Facebook

« « Prev : ครูพันธุ์ใหม่ หัวใจไม่จน

Next : ความในใจของคนบ้าที่กำลังอาละวาด » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2471 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 4.1498560905457 sec
Sidebar: 0.12818098068237 sec