เจ้าเป็นไผ (เขาเล่ากันว่า)
เขาเล่ากันว่า… พ่อเป็นเจ้าของธุรกิจเย็บผ้าที่ใหญ่ที่สุดในสัตหีบ รับเย็บเครื่องแบบทหารส่งฐานทัพเรือ รวมทั้งเย็บส่งเรือรบอเมริกันที่มาเทียบท่าที่ฐานทัพเรือสัตหีบด้วย ใคร ๆ มักบอกว่า พ่อเป็นคนดี ขยันทำมาหากิน ซื่อสัตย์ ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ จิตใจดี พูดเพราะ ใจคอกว้างขวาง และเป็นช่างตัดเย็บที่มีฝีมือ พ่อทำงานหนัก หามาได้เท่าไหร่เลี้ยงพ่อแม่ดูแลญาติ ๆ ทุกคน เพื่อนฝูงตกทุกข์ได้ยากมาจากไหนพ่อรับไว้หมด
แม่เป็นสาวงามจากเกาะสมุยผู้ประสบปัญหาชีวิตอุ้มท้องขึ้นรถไฟกะจะหนีไปตายเอาดาบหน้า เมื่อได้พบกับคนดีมีเมตตาไม่รังเกียจเดียดฉันท์ จึงตกลงย้ายไปอยู่ด้วยกันที่สัตหีบ
ปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่เศรษฐีหนุ่มโสดทั้งแท่ง นำหญิงท้องแก่ชาวใต้ที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้ามาทำเมีย ประกอบกับเมื่อความเป็นอยู่ดีขึ้น แม่ก็ทยอยนำญาติพี่น้องจากเกาะสมุยมาพึ่งใบบุญพ่อมากขึ้น ๆ พ่อก็ส่งเสียหาธุรกิจนู่นนี่ให้ทำจนมีการมีงานกันทุกคน ด้วยวิสัยของพ่อบ้านที่ดี พ่อจึงยกการจัดการการเงินให้แม่รับผิดชอบหมด ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์และความรังเกียจในภูมิหลังของแม่จึงก่อตัวรุนแรงขึ้น
ท้ายที่สุด เมื่อพี่สาวอายุ 3 ขวบ และครูปูอายุได้ขวบเดียว แม่ก็เลือกแก้ปัีญหาด้วยการแอบหอบลูก 2 คนลงใต้ เมื่อไปถึงสุราษฎร์ธานีก็ฝากลูกทั้งสองไว้กับป้าที่มีอาชีพเผาถ่าน หนักเข้าป้าก็ทนเจ้าหนูปูขี้โรคที่ร้องโยเยตลอดเวลาไม่ไหว (ใครไม่รู้โทษว่าเป็นเพราะไม่เคยได้กินนมแม่) เลยแนะนำให้แม่เอาลูกไปฝากไว้กับโรงงานปลาทูนึ่ง เพราะได้ยินมาว่าลูกสาวเจ้าของโรงงานรักเด็กมาก หิ้วลูกคนนู้นคนนี้ไปเลี้ยงอยู่เป็นประจำ ไม่เว้นแม้กระทั่งลูกหมอนวดแถวบ้าน
เมื่อลองไปสอบถาม ก็แห่กันมาดู แว่ปแรกที่ลูกสาวเจ้าของโรงงานเห็นสภาพของเราสองคน ก็เกิดเวทนาขึ้นมาจับใจ ยายเล่าว่าพอเห็นหน้าพวกเราปุ๊บแม่ร้องไห้โฮเลย คงสงสารที่เห็นเนื้อตัวสกปรกมอมแมม เป็นแผลคล้ายมดกัดพุพองทั้งตัว หัวก็เป็นชันนะตุเต็มไปหมด กระโดดคว้าตัวสองศรีพี่น้องเข้าบ้านมาเลี้ยงดูอย่างดีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ค่าเลี้ยงดูที่เคยตกลงแต่แรกก็ไม่เคยได้รับสักสลึง ข้อมูลฝ่ายพ่อก็ไม่มี จากนั้นมาเราสองคนก็ไม่ได้พบหน้าพ่อแม่จริงอีกเลย
การได้อยู่ในครอบครัวใหม่ที่ตั้งใจจะมอบความรักความอบอุ่นให้อย่างเต็มที่บนพื้นฐานของความเวทนาในชะตาชีวิตเป็นทุนเดิม ทำอะไรผิด แม่กับยายก็จะคอยปกป้อง ใครจะพูดเล่าเรื่องประวัติเก่า ๆ ก็คอยจุ๊ ๆ เบา ๆ หรือใครจะมาแกล้งแหย่เล่นแบบไม่สร้างสรรค์ เช่น
ไอ้เด็กโรงเผาถ่าน ถ้าไม่อุ้มเอ็งสองคนมาป่านนี้จะรอดมั้ยเนี่ยะ”
“ยัยดอกโศกเอ๊ย”
“ว่าไงแม่ดาวพระศุกร์“
แม่ก็จะพูดผ่าขึ้นมาทันทีว่า
“ไป พวกเราไปเที่ยวกัน“
ว่าแล้วก็กะเตงกันหายไปครึ่งวัน จนวงสนทนาสลายนั่นล่ะ 3 คนแม่ลูกจึงกลับเข้าบ้านได้ เป็นอย่างนี้เรื่อยมา เจ้าเด็กขี้โรค 3 วันดี 4 วันไข้ ซึ่งโชคดีกว่าตรงที่ยังเล็กมาก โตไม่ทันพอจะรับรู้กับการเปลี่ยนแปลงไปมาใด ๆ ทั้งสิ้น จึงเป็นเด็กร่าเริงเป็นขวัญใจของคนทั้งโรงงาน 40- 50 ชีวิต ใครไปไหนก็จะต้องหิ้วไปด้วย เนื่องจากเป็นเด็กผิวขาวอ้วนจ้ำม่ำ (เรื่องนี้ไม่อยากให้เป็นประเด็นในการเลือกที่จะเมตตาเด็กสักคนหนึ่งเลยจริง ๆ)
เดี๋ยวคนนู้นจับแต่งตัวเดี๋ยวคนนี้สอนร้องเพลง สอนรำ หลังจากที่ทุกคนเสร็จภารกิจในตอนค่ำครูปูต้องเปิดการแสดงทุกวัน คนในครอบครัวและลูกจ้างในโรงงานจะนั่งล้อมวงปรบมือเข้าจังหวะ เท่าที่จำได้แม่นก็มี การรำพม่ารำขวาน
คุณยายจะเอาผ้าแวว ๆ สี ๆ มาโพกหัวให้ จับนุ่งโจงกระเบนใส่เสื้อคอปิดแขนยาวสีเจ็บ ๆ (คุณยายตัดเย็บให้ครูปูเพื่อการแสดงนี้โดยเฉพาะ) แล้วให้ถือหวีเล่มใหญ่ ติ๊ต่างเอาว่าเป็นขวาน เอามือไขว้หลังแล้วโยกตัวไปมาซ้ายทีขวาที
บทร้องเท่าที่จำได้ มีว่า
พม่ารำขวาน พวกชาวบ้านตีกลอง
ฟัง ๆ เสียงมันดังเท่งมอง
ฟัง ๆ เสียงมันดังเท่งมอง
เสียงปี่ เสียงกลองสลับกันไป
พวกเราอย่าช้าลุกขึ้นมาเร็วไว
รำเถิดรำไป ตามท่าพม่าเอย…
นอย นอย หน่อย น๊อย หน่อย นอย น๊อย หน่อย นอย นอย
การแสดงพม่ารำขวาน และความน่ารักน่าชังของเจ้าปูตัวน้อยที่เตี้ยจนเดินลอดใต้จักรเย็บผ้าไปมาได้ทั้งวัน ยังเป็นเรื่องที่ยายยังเล่าไปอมยิ้มไปจนถึงทุกวันนี้
^_^
ผิดกับพี่สาว ซึ่งเป็นเด็กหน้าตาสวยคมเหมือนแม่ แต่อาจเพราะโตกว่าจึงจดจำการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้มากกว่า ประกอบกับการอยู่ในครอบครัวใหญ่ คนทำงานใช้แรงงาน ลูกจ้างส่วนใหญ่ ถ้าไล่ดูก็เป็นญาติกันห่าง ๆ การศึกษาก็น้อย จิตวิทยาในการให้การดูแลเด็กในสภาพแบบนี้แทบไม่ต้องพูดถึง การเล่น การแหย่แบบไม่สร้างสรรค์ต่าง ๆ นานา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย่อมสร้างปมและก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก แบบไม่ตั้งใจในตัวเด็กได้
แม่เป็นสาวไทยใจงามว่าใครไม่เป็น ก็ห้ามปรามอะไรไม่ได้มากเนื่องจากทุกคนถือเป็นญาติ ๆ กันทั้งนั้น ทำได้แค่เพียงลุกขึ้นจูงมือเราพาเดินไปให้พ้นตรงนั้น แค่นั้น
อาจเพราะเหตุนี้พี่สาวจึงกลายเป็นเด็กเงียบขรึม แยกตัวเอง ขวางโลก ชอบแกล้งน้อง ทำให้ถูกตีบ่อย ยิ่งถูกตีก็ยิ่งดื้อรั้น ยิ่งดื้อรั้น ก็ยิ่งไม่มีผู้ใหญ่เมตตาเอ็นดูหยอกล้อเหมือนที่ครูปูได้รับ ประกอบกับผิวที่เข้มแบบคนใต้ยิ่งทำให้ไม่ค่อยมีใครอุ้มไปอวดใครต่อใคร (เรื่องจริงที่น่าเศร้าของผู้ใหญ่ที่รู้ไม่เท่าทัน)
เมื่ออายุถึงเกณฑ์เข้าเรียน พี่สาวซึ่งแม่ทิ้งเอกสารไว้ให้ครบก็เข้าเรียนได้ตามปกติ ใช้นามสกุลเดิมของแม่ จึงไม่มีใครสามารถติดต่อพ่อได้ เมื่อถึงคิวครูปูซึ่งไม่มีเอกสารใด ๆ ติดตัวมาเลย ไม่มีสูติบัตร ไมีมีทะเบียนบ้าน ไม่มีชื่อจริงนามสกุลจริงจึงสมัครเรียนไม่ได้ ต้องใช้วิธีติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อทำสูติบัตรปลอมขึ้นมา
แม่เล่าถึงเรื่องขมขื่นนี้ว่าเจ้าหน้าที่ที่รับทำเรื่องยื่นข้อเสนอว่า แม่ต้องเอาตัวเข้าแลกด้วย แม่บอกว่าทั้งโกรธทั้งอายกลับมานอนร้องไห้หลายวัน ท้ายที่สุดส่งผู้ใหญ่ไปเจรจาเอาเงินไปให้จึงตกลงรับทำ
ลุงยืนซ้ายมือสุด, แม่เสื้อสีส้มใส่แว่น, ป้ายืนขวามือสุด
ประกอบกับป้าที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของแม่กำลังจะแต่งงาน แม่จึงขอร้องให้ป้ากับลุงช่วยรับครูปูเป็นลูกนอกสมรส ลุงก็ดีใจหายมาขอเมียกลับได้ลูกติด ต้องจดทะเบียนรับทันทีอีก 1 หน่อ ครูปูจึงได้ชื่อจริงที่คล้องจองกับป้า (เพื่อความเนียน) แล้วใช้นามสกุลของลุง
ถึงตอนนี้ต่างคนต่างก็จำกันไม่ได้แล้วว่าใครเป็นคนติ๊ต่างวันเกิดให้ครูปูแบบส่ง ๆ (7 ส.ค. 2513)
นี่เป็นข้อดีอีกข้อหนึ่งของชีวิตคือไม่ต้องคิดจะไปดูดวงให้เสียสตังค์หรือเสีย self เลยนะจ๊ะ ^_^
ในภาพถ่ายงานแต่งงานของลุงกับป้า
ครูปูยังอุตส่าห์เตาะแตะไป present face
อยู่ตรงกลางระหว่างเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวเขาอีกแนะ
อิอิ
« « Prev : การ์ดวาเลนไทน์จากชายหนุ่ม
Next : เจ้าเป็นไผ (พอจำได้ว่า) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เจ้าเป็นไผ (เขาเล่ากันว่า)"