ที่โรงแรมจำปาสักพาเลสนั้นห้องพักกว้างขวางมีความเป็นมาตรฐาน ที่แปลกคือ รอบห้องนั้นเป็นทางเดิน
อันเนื่องมาจากเดิมเป็นการก่อสร้างเป็นพระราชวังของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาสัก แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงเสียก่อนรัฐบาลใหม่จึงดัดแปลงมาเป็นโรงแรม ท่านดูรายละเอียดได้ที่นี่ ประวัติโรงแรมจำปาสักพาเลส
คณะรัฐมนตรีสมัยทักษิณเคยมาที่นี่และถ่ายรูปไว้ดังภาพซ้ายมือล่าง
หลังจากอาหารเช้าที่อยากทานเท่าไหร่ก็เชิญตามสบาย แต่มีแต่คนไทยไปแย่งกันเอง ผมเห็นการบริหารจัดการเรื่องอาหารแล้วยังด้อย และทานแบบทิ้งขว้างก็เยอะ เพราะเป็นบุปเฟต์ คนเราจึงตักอาหารมากันเต็มที่ แล้วทานไม่หมด คนนั้นคือคนไทยครับ
เราเดินทางไปดูน้ำตกหลี่ผี ระหว่างทางนั้นต้องหยุดพักและข้างทางให้ผู้โดยสารเข้าห้องน้ำ จึงมีอาชีพสร้างห้องน้ำขึ้นในลาวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวซื้อบริการ ผมว่าเป็นการพัฒนารองรับการท่องเที่ยวที่บูมกันมากๆ ทำให้ผมย้อนไปนึกถึงการเดินทางไปเที่ยวเวียตนามในดินแดนลาวนั้นเส้นทางนั้นยังไม่มีบริการนี้ เมื่อนักท่องเที่ยวไทยนั่งรถไปเที่ยวต้องวิ่งเข้าป่าทั้งชายหญิง ทุลักทุเล ไม่ทราบว่าเส้นทางนั้นก่อสร้างห้องน้ำบริการแบบเส้นทางไปน้ำตกหลี่ผีหรือยัง
สักพักใหญ่ๆเราก็มาถึงท่าเรือเข้าไปในเขตสีพันดอน เพื่อเที่ยวดูน้ำตกหลี่ผี ข้ามเรือไปแล้วก็เห็นบริการห้องน้ำอีก เขียนเชิญชวนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาลาว ว่า “บริการห้องน้ำ คนละ 1000 กีบ เท่ากับ 5 บาทไทย”
ที่นี่เรียกบ้านดอนเดด เราต้องนั่งรถ 5 แถว เปิดโล่งโจ่งพาเราไปหลี่ผี บนถนนแบบชาวบ้านจริงๆฝุ่นเต็มไปหมด เห็นนักท่องเที่ยวไทยหลายคันใส่หน้ากากกันทุกคน ถนนก็แคบเวลาสวนกันคันหนึ่งต้องหยุดเพื่อให้อีกคันไปก่อน หลายคนคงบ่นว่าล้าหลัง ฝุ่นเต็มไปหมด ทำไมไม่ลาดยางเหมือนฝั่งไทย ผมกลับคิดว่า เออ นี่แหละเสน่ห์อย่างหนึ่ง ฝรั่งหลายคนใช้วิธีเช่าจักรยานไปดูน้ำตก และเช่าโฮมเสตย์แถบนี้นอนกันเป็นสัปดาห์เลย
ระหว่างเส้นทางไปน้ำตกหลี่ผีนั้นไกด์สาวลาวชี้ให้ดูซากหัวรถจักรไปน้ำที่ฝรั่งเศสมาสร้างและทิ้งไว้ ผมนึกย้อนหลังคราวไปเที่ยวหลวงพระบางที่ไปดูหลุมศพ อองรีย์ มูโอต์ ชาวฝรั่งเศษที่มาสำรวจแม่น้ำโขงย้อนขึ้นไปจนไปเสียชีวิตที่หลวงพระบาง ก่อนเสียชีวิตเขาเขียนรายงานแล้วในที่สุดฝรั่งเศษต้องยกเลิกการยกกำลังที่จะบุกจีนทางแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปเป็นแม่น้ำหอมในเวียตนามแทน แต่ก็ถือโอกาสยึดเวียตนาม เขมร ลาว และเกิดเรื่องราวกับไทยอย่างที่เราเรียนกัน
เจ้าหัวรถจักรนี้คือความพยายามที่จะยกเรือขึ้นบกเพื่อหลบหลักคอนพะเพ็ง หลี่ผี และเกาะแก่งต่างๆทีมีมากมายในแม่น้ำโขง ซึ่งที่มุกดาหารก็มีเรือมอริส เป็นประวัติศาสตร์ทิ้งไว้เพราะเรือบางลำได้นำขึ้นบกแล้ววิ่งขึ้นไปได้ เช่นมอริส แล้วพ่อค้าไทยหัวใสก็ซื้อมาจากฝั่งลาวมาทำร้านอาหารในแม่น้ำโขงที่มุกดาหาร ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว จอดเฉยๆ ผมไม่ทราบเหตุผล อาจเป็นเพราะหลายปีที่ผ่านมาเกิดการยิงกันตายถึง 5 ศพในเรือลำนี้ก็ได้…
รถ 5 แถวพาเราไปจอดใกล้ๆหลี่ผีเราต้องเดินเข้าไปอีกสัก 30 เมตร ข้างทางก็มีร้านชาวบ้านมาขายกล้วยปิ้ง น้ำ ขนมพื้นบ้าน ส้มตำ
เราเดินถึงหลี่ผีก็เห็นนักท่องเที่ยวทั้งไทยทั้งฝรั่งต่างหามุมมองน้ำตกและถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอกัน มองเห็นหลี่ เครื่องมือจับปลาอันเป็นที่มาของชื่อหลี่ผี.. มีป้ายเตือนนักท่องเที่ยวระวังอันตรายที่อาจพลัดตกลงไปได้ ซึ่งมีบ่อยๆ
น่าตกใจที่มีแต่หิน น้ำมีนิดเดียว..??!!! เหลือเพียงร่องรอยระดับน้ำที่เคยมีอยู่ หากเดินทางเป็นพันกิโลจากไทยเพื่อมาดูหินก็เซ็งเป็ดเลย… ผมซูมกล้องไปที่น้ำใสๆก้นหลี่ผีก้พบเศษขยะมากพอสมควร ขวดเบียร์ กระป๋องเบียร์ และอื่นๆลอยวนอยู่ก้นหลี่ผีนั่น แหล่งท่องเที่ยวกับขยะเป็นของคู่กันนะ…อิอิ
พักพอหายเหนื่อยเราก็เดินทางกลับไปน้ำคกคอนพะเพ็งต่อ เส้นทางกลับก็ผ่านร้านขายสินค้าแบบในไทย ที่ท่าเรือดอดเดด ผมเห็นร้านขายเครื่องดื่มไทยหลายอย่างและมีน้ำตราหัวเสือของลาววางขายด้วย
ระหว่างทางนั่งเรือกลับ เราเห็นน้องหมายืนบนหัวเรือสวนทางกับเรา เขาคงกลับบ้านดอนเดดนะคงไม่ไปเที่ยวหลี่ผีแน่เลย อิอิ ที่ท่าเรือนั้น ผมสังเกตเห็นรถบรรทุกสินค้าเต็มลำ จึงเข้าไปถามว่าในเก่งนั่นคืออะไร เขาบอกว่าเป็นปลาจากแม่น้ำโขงจะเอาไปขายที่ปากเซ แล้วในถุงแดงๆสามใบนั้นคืออะไร เขาบอกว่าทั้งหมดนั่นคือยอดผักหวานป่า เท่านั้นเองผมก็ขอเขาเปิดดูแล้วสัมภาษณ์ใหญ่เลยมามาจากไหน เอาไปไหน ราคาเท่าไหร่ เก็บอย่างไร ชาวบ้านชอบกินไหม มีใครเอามาปลูกในสวนบ้างไหมหรือเอามาจากป่าอย่างเดียว…พบว่า มาจากดอน หรือป่าที่เป็นเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขง และจำนวนมากมาจากเขมร ราคากิโลกรัมละ 80-100 บาทไทย ใจผมนึกอยากหิ้วกลับบ้านจัง เพราะในไทยที่มุกดาหารขาย กก.ละ 250-400 บาท
จากนั้นไกด์พาไปเที่ยวคอนพะเพ็งต่อ สวยสมใจครับ ยิ่งใหญ่สมราคาคุยจริงๆ ใครไม่รู้ตั้งสมญาว่า “ไนแอการาแห่งเอเซีย” ผมก็ยกมือให้สุดๆ ดูซิครับสภาพแบบนี้ตลอดทั้งปี แม้ฤดูน้ำหลาก น้ำก็จะมากกว่านี้แต่สภาพไม่ต่างไปจากนี้เท่าไหร่ แล้วจะเอาเรือข้ามไปได้อย่างไร ก็มีทางเดียวคือ ยกขั้นรถรางจากใต้คอนพะเพ็งไปเหนือคอนพะเพ็ง แล้วทำอย่างนี้เรื่อยไปตลอดแม่โขง แบบนี้ฝรั่งเศสสมัยนั้นจึงถอดใจ..