เที่ยวลาวใต้ 2

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 มีนาคม 2010 เวลา 22:50 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1238

ผมไม่ใช่นักสะสมพระเก่า และไม่มีความรู้เรื่องวัตถุโบราณ แต่เมื่อมาเห็นพระอรรธนารีศวรก็อดชื่นชมในความงามและความหมาย เชื่อว่าหลายๆท่านก็ไม่เคยเห็นมาก่อนยกเว้นท่านที่สนใจหรือเรียนมาทางนี้โดยตรง ผมเองนั้นรับรู้โดยสำนึกเสมอว่า ความเชื่อและศรัทธานั้นยิ่งใหญ่เสมอ สามารถทำในสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆได้


การสร้างพระรูปที่มีสองเพศในองค์เดียวกันนั้นคงมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าจะสร้างขึ้นมาด้วยอารมณ์ขัน เมื่อศึกษาที่มาที่ไปก็ยอมรับ ความเชื่อ ความศรัทธาของบรรพบุรุษของพวกเรา


ทำไมถึงต้องสองเพศ คำอธิบายที่พิพิธภัณฑ์กล่าวไว้ว่า “รูปอรรธนารีศวร เป็นประติมากรรมเนื่องในศาสนาพราหม์ ลัทธิไศวนิกาย ที่สร้างขึ้นตามเรื่องราวระหว่างพระอุมาและฤาษีภิริงกิติ ผู้ซึ่งเคารพพระศิวะเพียงองค์เดียว ทำให้พระอุมาทรงพิโรธและสาปให้ร่างกายไร้เลือดเนื้อ ต่มาภายหลังพระนางทรงละอายต่อสิ่งที่ได้กระทำต่อฤาษีตนนี้ จึงคืนคำสาปและอธิษฐานขอให้พระวรกายของพระนางเข้าไปรวมเป็นส่วนหนึ่งขององค์พระศิวะ….. นับเป็นอรรธนารีศวรที่เก่ารูปหนึ่งเท่าที่พบในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้…”


ผมขออนุญาต อ.บัญชา ธนบุญสมบัติ หรือ น้องชิวของผม สำเนาสาระบางส่วนมาครับ

คำว่า อรรธนารีศวร มาจากคำ 3 คำ ได้แก่ อรรธ (ครึ่ง) + นารี (ผู้หญิง) + อิศวร (พระผู้เป็นเจ้า) หมายถึง เทพเจ้าผู้เป็นสตรีครึ่งหนึ่งนั่นเอง บางครั้งก็เรียกสั้นๆ ว่า อรรธนารี (Ardhanari) เฉยๆ ผู้ชายทางซีกขวาคือ พระศิวะ ส่วนผู้หญิงทางซีกซ้ายคือ พระปารวตี ชายาของพระองค์ โดยในที่นี้พระปารวตีเป็น ศักติ (Shakti) แปลว่า อำนาจหรือผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจของพระสวามี (ซึ่งในที่นี้คือ พระศิวะ)

ลัทธิศักติ (Shaktism) นั้นถือว่าชายาแห่งเทพองค์หนึ่งๆ นี่แหละคือผู้กุมอำนาจที่แท้จริงของเทพองค์นั้น เช่น พระปารวตีกุมอำนาจของพระศิวะ พระสรัสวดีกุมอำนาจของพระพรหม และพระลักษมีกุมอำนาจของพระวิษณุ ……


มีเกร็ดที่น่ารู้ด้วยว่า แม้พระอรรธนารีศวรจะดูเผินๆ เหมือนชายครึ่ง-หญิงครึ่งอย่างเท่าเทียมกัน แต่การที่ร่างกายด้านขวาเป็นชายและด้านซ้ายเป็นหญิงนั้น มีผู้ตีความว่านี่เป็นการซ่อนความหมายลึกๆ ว่า “ชายใหญ่กว่าหญิง” เพราะในวัฒนธรรมอินเดียถือว่าด้านขวาเป็นด้านที่เหนือกว่าด้านซ้าย….

นอกจากนี้ พระอรรธนารีศวรยังอาจมีจำนวนพระกรได้หลายรูปแบบ ได้แก่ 2, 3, 4, 6 และ 8 ในกรณีที่จำนวนพระกรเป็นเลขคู่ ร่างกายทั้ง 2 ด้านก็จะมีพระกรเท่าๆ กัน แต่หากมี 3 พระกร ด้านขวา (ชาย) จะมี 2 พระกร ส่วนด้านซ้าย (หญิง) ก็จะมีแค่พระกรเดียว

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ดูประหนึ่งจะตอกย้ำว่า “ชายใหญ่กว่าหญิง” แม้จะไม่ชัดเจนก็ตามที

นี่เองที่ทำให้บรรดาพวกศักตะ (Shakta) หรือผู้ที่นับถือลัทธิศักติทนไม่ได้ พวกเขาจึงสร้างประติมากรรมหรือวาดภาพพระอรรธนารีศวรกลับซ้ายขวา คือให้ทางขวาเป็นหญิง ส่วนทางซ้ายเป็นชาย ตามความเชื่อของพวกเขาที่ว่า “หญิงต่างหากเล่าที่ใหญ่กว่าชาย” นั่นเอง

ท่านที่สนใจดูรายละเอียดเพิ่มได้ที่ต่างๆดังนี้

ขอแนะนำบทความ Ardhanarishvara in Art and Philosophy ที่ http://www.exoticindiaart.com/acrobat/ardhanarishvara.pdf”>

————————————————

http://www.bangkokbiznews.com/jud/sat/20080401/news.php?news=column_26090688.html

http://guideubon.com/news/view.php?t=26&d_id=1&s_id=4&page=1

ขอขอบคุณ ดร.บัญชาครับ

ยังไม่ได้ข้ามไปลาวเลย มัวแต่ฝอย…อิอิ


เที่ยวลาวใต้ 1

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 มีนาคม 2010 เวลา 20:49 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1155

ก่อนเดินทางเข้าลาวใต้ คือปากเซ เมืองจำปาสัก เรามีเวลาแวะเที่ยวเมืองอุบลฯ แรกตั้งใจจะเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย และอีกหลายแห่ง เพราะคนข้างกายมีงานทำที่นั่นชมนักหนาว่าอยากให้ไปเที่ยว แต่เวลาที่เรามีอยู่กับระยะทางนั้นไม่เหมาะสมกันจึงเปลี่ยนเป้าหมายเป็นเที่ยวในเมือง เราขอเอกสารการท่องเที่ยวอุบลจาก ททท. ขอนแก่นก่อนเดินทางจึงอยากไปเที่ยววัดต่างๆในตัวเมือง และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ


แล้วเราก็ได้ไปกราบพระเจ้าองค์ตื้อที่มีประวัติยาวนานคู่เมืองอุบลฯ มีหลักศิลาจารึกหลายหลัก
เดินอ่านพักใหญ่ก็เรียนรู้อดีตของท้องถิ่นอุบลมากขึ้น


ที่หน้าพระอุโบสถองค์ตื้อนั้น มีเทวรูปยักษ์เฝ้าประตูนั่งหลับและยืนหลับปรากฏอยู่ ดูน่ารักครับ

เราไปต่อวัดอื่น แต่มาโผล่ที่พิพิธภัณฑ์ก่อนจึงเข้าไปชม พอดีมีคณะนักเรียนที่คุณครูพามาทัศนศึกษาเราก็พลอยเดินตามเด็กเข้าไปชมด้วย





เด็กคงจะได้รับใบงานจากคุณครูให้บันทึกความรู้ที่ได้ ร้อยทั้งร้อยใช้วิธีจดบันทึกจากข้อมูลหน้ารูป พระรูป เทวรูปนั้นๆ ผมยังนึกต่อไปว่า เมื่อไปถึงโรงเรียนออกมาเล่าหน้าชั้นเด็กจะบรรยายรูปต่างๆที่จดไปได้อย่างไร ก็แค่อ่านสิ่งที่จดให้เพื่อนฟัง ก็ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
จดยังไม่ทันหมดก็รีบไปห้องอื่น เผลอเดี๋ยวเดียวก็หายไปหมดแล้ว ขณะที่เรายังชื่นชมเทวรูป พระรูปต่างๆอยู่ที่ห้องแรกเลย


อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เดิมเป็นศาลากลางจังหวัด สวยงามมากครับ คงจะขึ้นเป็นโบราณสถานและนำมาใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ซึ่งเหมาะสมที่สุดเพราะอยู่กลางเมือง


มีพระรูป เทวรูปที่สำคัญสุดหลายองค์ แต่องค์ที่ผมว่าสุดยอดที่สุดคือ พระ “อรรธนารีศวร” ที่ผมเพิ่งมีความรู้ครั้งแรกก็ประทับใจเป็นที่สุด รีบหาความรู้ทันที แล้วก็ไปพบพระองค์นี้ที่พิพิธภัณฑ์ปราสาทเมืองพู จำปาสักลาวใต้ในวันต่อมาอีก แต่ไม่สวยเท่าที่อุบล และเขาถ่ายรูป อรรธนารีศวรจากอุบลไปอธิบายความหมายของพระองค์นี้ด้วย เสียดายที่ลาวนั้นเขาห้ามถ่ายรูป จริงๆที่อุบลเขาก็ห้ามถ่าย แต่วันที่ผมไปเขาอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ อิอิ

เก็บเรื่องนี้เอาไว้บันทึกเป็นกรณีพิเศษแล้วกัน


นอกจากพระพุทธรูป เทวรูปแล้วยังมีรูปเก่าๆ อีกหลายรูปที่น่าชมมาก บ่งบอกเรื่องราวของอดีต ต่างๆให้เราได้สำนึกในบรรพชนที่ก่อร่างสร้างสังคม ประเทศมาจนทุกวันนี้


และยังจำลองภาพวาดโบราณที่โขงเจียมมาไว้ที่นี่อีกด้วย ผมใช้เวลาที่เหลือหมดไปกับการดื่มด่ำอดีตที่นี่ อิ่มอกอิ่มใจ ชื่นชมจังหวัดอุบลราชธานีที่ทำได้ดีมากทีเดียวครับ



Main: 0.034142017364502 sec
Sidebar: 0.070310831069946 sec