วิถี วัฒนธรรม ท้องถิ่น
อ่าน: 2617ชีวิตสองข้างทางที่ผมใช้ชีวิตขับรถไป-มา มุกดาหารกับขอนแก่นนั้น เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลจริงๆ ปีนี้หนาวไม่มาก ยังไม่ทันใส่เสื้อกันหนาวแบบหนาๆเลยก็เข้าสู่ความร้อนซะแล้ว ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมือง สองข้างทางเป็นทุ่งนาดูแห้งแล้ง มีแต่ตอซังข้าว บางแห่งไถกลบ บางแห่งยังทิ้งไว้เฉยๆ ดีที่ปีนี้ยังไม่เห็นการเผาตอซัง นี่คงเป็นผลของการรณรงค์ของทางราชการ ขอชื่นชมที่ประสบผลสำเร็จ…
สายตาผมไปเห็นคนนั่งอยู่กลางทุ่งนา เป็นผู้สูงอายุ นั่งขุดอะไรอยู่ แต่ผมเดาในใจออกก่อนแล้วว่าเขาทำอะไร ผมหยุดรถแล้วเดินลงไปคุยด้วย
นอกจากคุณยายผู้สูงอายุสองท่านแล้วก็มีเด็กน้อยด้วย คนที่คลุกคลีกับชนบทอีสานไม่บอกก็ทราบว่าทำอะไร หาสัตว์ที่อยู่ใต้ตอซังข้าวใต้ผิวดินทุ่งนานั่นแหละครับ
คุณยายครับ รู้ได้อย่างไรว่าทุ่งนานี้มีหอย
เอ้า..ก็แค่เอาเสียม “สัก” ไปสองสามที โน่นนี่ หากโดนวัตถุแกร๊กกร๊าก ก็ใช่เลยแถวนี้มีหอยแน่นอน นี่คือประสบการณ์แห่งวิถีชีวิต
มีหอยจูบเป็นส่วนมาก นอกนั้นก็หอยเชอรี่ที่ฝังตัวลงดินหลังน้ำในนาแห้ง การฝังตัวลงดินก็เพื่อรอฤดูฝน หรือน้ำใหม่ที่จะมาในช่วงการผลิตใหม่ นอกนี้ก็มีปูนา หนู… ล้วนเป็นอาหารพื้นบ้าน เอาไปอ่อม แกงกับหน่อไม้ ฯลฯ…
คุณยายครับ เด็กรุ่นหลังเขากินแบบนี้เหมือนยายหรือเปล่าครับ
โอย..มีหรือมันจะไม่กิน ลูกหลานกลับมาจากกรุงเทพฯต่างก็วิ่งหาอาหารพื้นบ้านอย่างนี้กันทั้งนั้น ผัก หญ้า ปลา เนื้อ ในตลาดมันไม่ถูกปาก สู้แบบนี้ไม่ได้
นี่คือความชอบ ที่เป็นวัฒนธรรม ที่เป็นวัฒนธรรมการบริโภคของท้องถิ่น ของภูมิภาค
ก็ดูซิครับ เด็กคนนี้มาคลุกคลีกับคุณยายตั้งแต่เล็กขนาดนี้ มีหรือจะไม่ซึมซับวิถีท้องทุ่งติดตัวไปจนเติบโต
นี่คือวิถี
นี่คือวัฒนธรรม
นี่คือท้องถิ่น