ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..เกริ่น..

586 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:30 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 3976

เป็นบุญเหลือเกินที่ได้มาฟังท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม มาบรรยายท่ามกลางของจริงต่อหน้าในเรื่องการจัดการน้ำในสังคมโบราณและปัจจุบัน


ท่านอาจารย์ เป็นคนเรียบง่าย ท่านมีอายุ  70 ปีแล้ว แม้จะต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงยามเดินเหิน แต่ก็แข็งแรง

ระหว่างนั่งรถไปไหนต่อไหน สมาชิกในรถนั่งหลับกัน แต่ท่านไม่หลับ แถมคุยประสบการณ์ แสดงความคิดเห็นของท่านต่อเรื่องต่างๆตลอดทาง เล่นเอาผม ทึ่งในตัวท่านจริงๆ

หลายเรื่องเป็นความสำคัญระดับประเทศ เช่น ความคิดเห็นของท่านต่อเขาพระวิหาร ต่อข้อมูลที่ทัวร์ไกด์ส่งต่ออย่างผิดๆให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาชมโบราณสถานต่างๆ เช่นที่พิมาย พนมรุ้ง … ล้วนเป็นประเด็นที่สังคมไทยน่าที่จะหาข้อสรุป มิใช่ปล่อยให้ความต่างไม่มีข้อสรุป ซึ่งหากการส่งต่อข้อมูลนั้นๆของทัวร์ไกด์ไม่ถูกต้อง นั่นคือความล้มเหลวของ ททท. และระบบการผลิตบุคลากรที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนชาติเช่น ทัวร์ไกด์ …

บางเรื่องทำให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้นในเรื่องมุมมองต่อภูมิภาคนี้ ต่อชุมชนต่างๆที่เข้าไปทำงานด้วย และเกิดความเข้าใจภารกิจของสหวิทยาการมากขึ้น

…ฯลฯ

มีหลายประการที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนในเรื่องการจัดการน้ำ

มีบางประการมาตอกย้ำข้อสรุปเรื่องคุณสมบัติของประชาชนในระบบภูมินิเวศวัฒนธรรมที่ผมมีที่ดงหลวง

——

…หากคุณไม่แสวงหาก็ไม่มีทางได้พบ..

(ยังไม่มีเวลาสรุปครับ)


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 14 ในหลวงกับสะเมิง

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 20:40 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 1544

พื้นที่ไกลปืนเที่ยงอย่างสะเมิงนั้น สุขภาพชุมชนย่อมด้อยไปเสียทุกด้าน ยิ่งสารเคมีเข้ามากับการส่งเสริมการเกษตรแบบใหม่ กับความไม่เท่าทัน ไม่ระมัดระวังเท่าที่ควรของเกษตรก็ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพมาก


ปี 2518 นั้นโรคคอพอกยังมีจำนวนมาก Mr Klaus Bettenhausen ผู้แทนองค์กรที่ทำงานอยู่จึงติดต่อขออาสาสมัครหมอมาจากเยอรมัน แล้วร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการของสมเด็จย่า จึงเกิดแพทย์อาสาในพื้นที่สะเมิงขึ้น มีการบริการสุขภาพเกือบทุกด้านที่สามารถทำงานได้ในระดับสนาม


พวกเราก็ช่วยเรื่องการประสานงาน การจัดการต่างๆ การอำนวยความสะดวกให้คณะแพทย์ พยาบาลทุกสาขาได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ

งานด้านนี้เป็นเหมือนสงเคราะห์ ซึ่งยุคนั้นเป็นช่วงรอยต่อระหว่างงานพัฒนาแบบสงเคราะห์กับการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งเราก็ทำควบคู่กันไป

สะเมิงแห่งนี้เกี่ยวข้องกับในหลวงของเรามาก โดยพระองค์เสด็จออกเยี่ยมเกษตรกรหลายครั้ง ทุกครั้งพระองค์จะเสด็จลงเดินไปตามหมู่บ้านเยี่ยงข้าราชการและประชาชนทั่วไป ด้วยเหตุนี้มีส่วนทำให้พระองค์เกิด “โรคพระหทัยเต้นผิดปกติ” มีข้อมูลโดยสรุปดังนี้

  • ปี 2530 ทรงเสด็จไปเยี่ยมประชาชนที่อำเภอสะเมิง ทรงพบว่าชาวบ้านจำนวนมากเป็นโรคคอพอก ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทูลว่า มีการเอาเกลือเสริมไอโอดีนมาแจกประจำ แต่ชาวบ้านไม่ยอมใช้ เพราะไม่รู้จักก็กลัวจะเป็นอันตราย ในหลวงจึงรับสั่งให้นำเกลือเสริมไอโอดีนมาแจกประชาชนด้วยพระหัตถ์ ชาวบ้านจึงยอมเชื่อว่าเกลือชนิดนี้กินได้ จนแพร่หลายต่อๆมา ปัจจุบันไม่มีคนป่วยโรคคอพอกที่สะเมิงแล้ว
  • ทรงเสด็จขึ้น-ลงสะเมิงอีกหลายครั้ง เพื่อติดตามแก้ปัญหาเรื่องน้ำและถนน จนชาวบ้านทำกินกันได้เป็นปกติสุข มีรายได้เลี้ยงชีพได้พอเพียง หากพระองค์เองที่ทรงพระประชวร! ในหลวงทรงได้รับเชื้อไมโครพลาสม่าจากการเสด็จไปที่สะเมิงนี้เอง
    อันเป็นสาเหตุของโรคพระหทัยเต้นผิดปกติเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน แม้คณะแพทย์จะพยายามเท่าใด ก็ไม่อาจถวายการรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงถวายพระโอสถประคองพระอาการมาตลอด จนกระทั่งต้องทรงรับการผ่าตัดใหญ่เมื่อปี 2538
  • ในหลวงเคยมีพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า… ” ฉันขึ้น-ลงสะเมิงอยู่หลายปี จนได้รับเชื้อไมโครพลาสม่า ซึ่งในที่สุดทำให้ฉันเป็นโรคหัวใจเต้นไม่ปกติ จนเกือบต้องเสียชีวิต”


“การรักผู้อื่นยิ่งกว่าชีวิตของตนเองนั้น…ยิ่งใหญ่อย่างไรและเพียงไหน”

ข้อมูลนี้บันทึกก่อนแล้วที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/166752

ขอบคุณแหล่งข้อมูล


ตอบโจทย์พ่อครูบาฯ..2

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:48 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2764

ขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโจทย์ที่พ่อครูบาเสนอไว้ครับ โจทย์ที่สั้นๆแต่ใหญ่โตมโหฬาร ระทึก กึกก้อง “พูดคุยวิเคราะห์กับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในเรื่องสภาพปัญหาที่เป็นรากฐานและทางออกของสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในเขตชนบทของภูมิภาคต่างๆ“… หน้ากระดาษแห่งนี้คงไม่ใช่ความสมบูรณ์ของความคิดเห็นและสูตรสำเร็จใดๆของทางออก เป็นความเห็นเพียงเสี้ยวส่วน..


สังคมอีสานที่เปลี่ยนแปลงมาจากอดีตอยู่ในรูปปัจจุบัน ก็ไม่แตกต่างไปจากสังคมปัจจุบันของภูมิภาคอื่นๆ เพราะพลังและอำนาจของการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากแหล่งเดียวกัน คือการปกครองสังคมและระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่ชายแดนมุกดาหารมีโลตัสเหมือนกลางกรุงเทพฯมหานคร


ถามว่ามีอะไรที่เป็นพลังของการเปลี่ยนแปลง นักวิชาการก็คงตอบว่ากระแสหลัก(กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์) ที่มาแรงสุดๆ เป็นกระแสที่มีพลังมากที่สุด และเพราะเปลี่ยนค่านิยมจากเดิมมาเป็นทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก ฯลฯ ได้ส่งผลสะเทือนเข้าไปในทุกหนทุกแห่งที่มีถนนเข้าไป ที่มีวิทยุ ที่มีทีวี หนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆทั้งหมด ระบบธุรกิจที่มุ่งผลกำไรสูงสุด ไม่ได้พูดความเหมาะสมขององค์ประกอบการดำรงชีวิต แต่สร้างภาพลักษณ์ที่ทุกคนที่ต้องการความทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก คุณจะต้องรีบหาสินค้านั้นๆมาไว้ครอบครอง


การเปิดโลกใหม่สุดๆเช่นนี้ ผมก็คิดว่า ต่อให้หมู่บ้านใดๆมีเฒ่าจ้ำร้อยเฒ่าจ้ำก็หยุดไม่อยู่ เพราะเฒ่าจ้ำก็ไม่เข้าใจต่อสิ่งใหม่ที่เข้ามา เพราะเขาอยู่ในโลกเกษตรกรรม โลกสิ่งแวดล้อมเดิมๆ และสิ่งใหม่เข้ามาพร้อมๆกับคำว่า ทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก ฯลฯ เขาเหล่านั้นไม่เข้าใจเท่าทัน และคนในสังคมก็ไม่เท่าทัน อย่างกรณี กรมกสิกรรมกระทรวงเกษตรนำเอาข้าวพันธุ์ใหม่ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว เพื่อขาย เพื่อเงิน เพื่อชีวิตที่ดีกว่า แต่ใน พ.ศ. นี้ กลับเดินย้อนรอยเดิม พร้อมสารภาพว่า ต้องใช้ปุ๋ยคอก ทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้พันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม เพราะเขาพัฒนามานานแสนนานจนเหมาะต่อสภาพพื้นที่นั้นๆอยู่แล้ว สติที่กลับคืนมาก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปนับเกือบชั่วอายุคน แล้วนวัตกรรมอื่นๆเหล่า มีใครกล้าออกมาสารภาพเช่นนี้บ้าง

คำถามใหญ่คือ อะไรคือตัวคัดกรองของสังคมต่อการเปลี่ยนแปลง อะไรคือภูมิคุ้มกัน อะไรคือพลังคัดหางเสือสังคม เมื่อเฒ่าจ้ำ และบรรดาผู้อาวุโสในสังคมตามไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว..

เราจะหวังที่ระบบการศึกษาหรือ…?

เราจะหวังที่สถาบันการศึกษาหรือ…?

เราจะหวังที่หน่วยงานราชการหรือ…?

หรือหวังที่ตัวเองโดยการสร้างชุมชนในรูปแบบใหม่…?

แผนผังแสดงความคิดเห็นเบื้องต้นต่อทางออก

น่าสนใจการพัฒนาชุมชนในรูปแบบใหม่ที่มีความพร้อมต่อการหนุนสร้างทุนทางสังคม สร้างบุคลากรที่มีความพร้อม เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมใหม่ๆ สร้างสิ่งคัดกรองการพัฒนาในรูปแบบต่างๆว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ฯลฯ

ภาพนี้ผมแอบถ่ายที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งระหว่างเดินทางไปมุกดาหาร ตรงนี้คือห้องน้ำของปั้มน้ำมันที่อยู่ในมุมปิด ทุกครั้งที่ผมแวะและเข้ามาใช้บริการ จะพบเด็กนักเรียน ทั้งชายหญิง ขี่มอเตอร์ไซด์มามั่วสุม ไม่ไปเรียนหนังสือ เด็กสาวรุ่นคนนี้ไม่ไปเรียนหนังสือแต่กลับมาวุ่นวายอยู่กับโทรศัพท์มือถือ เมื่อผมไปถามคนที่ปั้มน้ำมัน เขาก็บอกแบบไม่สนใจว่า “เด็กมันก็มามั่วสุมที่นี่กันทุกวัน”…..

สรุปว่าชุมชนไปหวังคนไกลตัวไม่ได้ หวังระบบก็ไม่ได้ หวังสถาบันต่างๆก็มองไม่เห็นแสงไฟ มีแต่หวังที่ตัวเอง คนในชุมชนด้วยกันเอง … แล้วสร้างอย่างไรล่ะ..เป็นหนังยาวอีกม้วนหนึ่งครับ….


ตอบโจทย์พ่อครูบาฯ…1

1287 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 17:29 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8263

ขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโจทย์ที่พ่อครูบาเสนอไว้ครับ โจทย์ที่สั้นๆแต่ใหญ่โตมโหฬาร ระทึก กึกก้อง “พูดคุยวิเคราะห์กับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในเรื่องสภาพปัญหาที่เป็นรากฐานและทางออกของสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในเขตชนบทของภูมิภาคต่างๆ“… หน้ากระดาษแห่งนี้คงไม่ใช่ความสมบูรณ์ของความคิดเห็นและสูตรสำเร็จใดๆของทางออก เป็นความเห็นเพียงเสี้ยวส่วน..

ผมมองเป็นสองสถานภาพ คือสถานภาพที่เป็นอดีตของสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และสถานภาพที่เป็นปัจจุบันอันเนื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มาจากการพัฒนาประเทศชาติในทุกด้านทุกแง่มุม สองส่วนนี้เกี่ยวเนื่องกัน ส่งผลแก่กันและกัน มีพัฒนาการแก่กัน ปัจจุบันมาจากอดีต และอดีตมีส่วนส่งผลถึงปัจจุบัน สรุปมุมมองเป็นแผนผังคร่าวๆดังที่เห็นนี้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมิได้พัฒนามาจากเพียงอดีตแต่อย่างเดียว แต่ยังมาจากการนำเขามาจากภายนอกประเทศ อันเนื่องมาจากการเปิดประเทศทั้งในด้านการค้าขาย การศึกษา อุตสาหกรรมจนมาถึงยุคธุรกิจในระบบโลกาภิวัฒน์

การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศจึงเป็นผลพวงของปัจจัยหลักของทั้งสองนั้น แต่ที่เป็นตัวชี้ขาดของการปรับเปลี่ยนคือ ตัวของตัวเราเองว่าเราสืบต่อของเก่าเพราะอะไร เรารับของใหม่เข้ามาเพราะอะไร เราเอาสองส่วนมาผสมผสานกันเพราะอะไร..

รากฐานสังคมไทยเราที่น่าจะมีส่วนของการพัฒนาไปเป็นปัญหา

  • ระบบอุปถัมภ์: เราพูดกันมากในเรื่องนี้ส่วนตัวเองยอมรับว่าระบบอุปถัมภ์มีส่วนดีและสามารถพัฒนาไปเป็นความล่อแหลมของการเกิดปัญหา เช่น ครูบาอาจารย์นั้น คนโบราณ เขายกย่องส่งเสริมนับถือไว้เป็นคนที่มีสถานภาพที่สูง ลูกศิษย์ลูกหาก็จะมักเยี่ยมเยือน ไปมาหาสู่ และการไปมาหาสู่วัฒนธรรมไทยก็จะมีสิ่งของติดไม้ติดมือไปด้วย ส่วนมากแต่ก่อนก็จะเป็นส้มสุกลูกไม้ ผู้ใหญ่ หรือครูบาอาจารย์ก็จะให้ศีลให้พร..แค่นั้นความสัมพันธ์ต่อกันก็แน่นแฟ้น ที่เรียกว่ามีใจให้แก่กัน นี่คือทุนทางสังคมที่มีคุณค่ามาก แต่ปัจจุบันระบบอุปถัมภ์ได้พัฒนาไปสู่ผลประโยชน์แก่กันและกัน อันเป็นความสัมพันธ์ที่ส่งผลเสียหายต่อฐานรากของเศรษฐกิจและสังคมของเรา การพัฒนาการของระบบอุปถัมภ์ในลักษณะนี้ไม่ใช่เป็นทุนทางสังคม แต่ตรงข้ามเลยทีเดียวเป็นตัวบ่อนทำลายทุนทางสังคม
  • ระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม: ของเรานั้น น่าจะอยู่บนฐานของการพึ่งตัวเองได้โดยภาพรวม อาชีพเกือบทุกอาชีพจะมีฐานรากอยู่บนการเกษตรเป็นองค์ประกอบ มากน้อยแล้วแต่เงื่อนไข ยกเว้นกลุ่มพ่อค้าคนจีน ข้าราชการจำนวนมาก นอกจากรับราชการก็ยังทำนาทำไร่ทำสวนกันอยู่ เหมือนสังคมในประเทศลาวปัจจุบัน ซึ่งสภาพเช่นนั้น เป็นระบบเศรษฐกิจพอเพียงในสิ่งแวดล้อมแบบดั้งเดิม สังคมไทยวัฒนธรรมไทยทั้งมวลตั้งอยู่บนฐานสังคมเกษตรกรรม ทุนทางสังคม คุณค่าต่างๆทางสังคมตั้งอยู่บนฐานสังคมเกษตรกรรม เมื่อประเทศชาติก้าวเข้าสู่รับไทยใหม่ ที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการพัฒนาอาชีพใหม่ๆเข้ามา ค่านิยมดูถูกอาชีพเกษตรกรรม ยกย่องการรับราชการและพ่อค้าธุรกิจ การดำรงชีวิตชั้นลูกหลานจึงห่างไกลสังคมเกษตรกรรม ก็ห่างไกลสังคมที่อุดมด้วยรากฐานทุนทางสังคม คุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี ถามว่าจะมีสักกี่คนที่ซาบซึ้งต่อประเพณีจุดบั้งไฟ มีแต่สนุกสนาน และสร้างความอลังการของปราสาทผึ้ง เด็กรุ่นใหม่เชื่อมไม่ติดกับคุณค่าเหล่านั้น เด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าใจว่าทำไม พ่อแม่จึงต้องพาไปกราบไหว้ ศาลเจ้าปู่ เมื่อยามเจ้าจะจากหมู่บ้าน หรือเมื่อกลับมาหมู่บ้าน รากเหง้าตรงนี้เชื่อมกันไม่ติดเสียแล้ว มันกลายเป็นแค่พิธีกรรม แต่ไม่เข้าใจ ไม่น้อมรับ ไม่ศรัทธา ไม่สำนึก ไม่สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติที่ควบคุมพฤติกรรมความดีของการปฏิบัติตนในสังคมกว้างใหญ่… เหล่านี้ทั้งหมดอยู่บนฐานของสังคมเกษตรกรรม สังคมใหม่ที่ประกาศตนว่าก้าวหน้ากว่า ทันสมัยกว่ามีอะไร เปิดสำนักงานใหม่ก็เอาโป้งฉิ่งมาแสดง ดนตรีที่ดังหนวกหู พิธีเปิดป้ายเชิญผู้ใหญ่ที่คอรับสั่งบ้านเมืองมาทำพิธี เฒ่าจ้ำบทบาทหดหายไปแล้ว…เฒ่าจ้ำผู้คอยคัดหางเสือสังคมนั้นไม่มีที่นั่งในสังคมแล้ว เลือนหายไปแล้ว เด็กอีสานยุคใหม่เกือบจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่าเฒ่าจ้ำในหมู่บ้านของเราคือใคร..มีประโยชน์อย่างไร.. แต่ดันร้องให้เมื่อไมเคิล แจ็คสันตายลงไป..
  • รากเหง้าสังคมอีสาน: เฒ่าจ้ำคือตัวอย่างของโครงสร้างสังคมเดิม ก่อนโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบสมัยใหม่จะเข้ามา สังคมเดิมมี จ้ำ หมอธรรม มีหมอสมุนไพร หมอตำแย หมอบีบนวด หมอเหยา หมอเป่า หมอน้ำมัน ฯลฯ ทั้งหมดนั้นมีบทบาทต่อสังคมชุมชนตั้งแต่เด็กเกิดจนกระทั่งตาย เรามีโครงสร้างสังคมที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว และทั้งหมดนั้นอยู่ไม่ได้หากเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับนับถือ อยู่ไม่ได้หากไม่มีคุณธรรม อยู่ไม่ได้หากไม่ปฏิบัติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ด้วยอี้และตองของอีสานที่เป็นครอบใหญ่ควบคุมสังคมให้อยู่อย่างปกติสุข เมื่อโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามา ก็เป็นโครงสร้างซ้อนทับกันใหม่ๆก็ไม่มีปัญหาอะไรต่างอยู่ด้วยกันได้ แต่เมื่อพัฒนาการสังคมนำระบบทุนเข้ามาเต็มตัว ระบบอำนาจเข้ามาเต็มที่ โครงสร้างเดิมก็หดหายไปสิ้น แม้คงอยู่ก็เกือบจะไม่มีบทบาทมากนัก ตรงข้ามโครงสร้างใหม่พร้อมกับอำนาจ และผลประโยชน์ตามค่านิยมใหม่ของระบบโลกาภิวัฒน์ ทุนทางสังคมหดหายไป จางลงไป
  • ศาสนา: น่าตั้งคำถามว่าสังคมอีสานนั้นมีพระปฏิบัติที่มีผู้คนในประเทศเคารพกราบไหว้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าสังคมอีสานมีความสุขมากที่สุด การดำรงอยู่ของศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับวิถีชีวิตของคนอีสานเป็นอย่างไรถึงคุณค่าทางศาสนาจึงเข้าไม่ถึง หรือไม่เข้าไปอยู่ในเนื้อในของจิตใจของชาวอีสาน(แม้ภาคอื่นๆก็ตาม) หลายวัดหาพระไม่ได้ หลายวัดพระทำบัดสี หลายต่อหลายวัดมุ่งแต่สร้างสิ่งก่อสร้าง อาจเป็นเพราะสังคมเราไม่ได้ให้วันพระเป็นวันหยุดราชการเหมือนแต่ก่อน ที่ทุกคนหยุดกิจการแล้วเข้าวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ เมื่อกิจกรรมที่จะยึดโยงทางศาสนาไม่มีตรงข้ามสิ่งยั่วยุทางวัตถุอื่นๆเข้ามา คนก็ห่างวัด ความละอายต่อบาปก็หมดสิ้นไป ความเชื่อศรัทธาก็หดหายไป ความสัมพันธ์ของคนในสังคมห่างออกไป ระหว่างรุ่นก็ห่างออกไป รากฐานใหญ่ของทุนทางสังคมที่มาจากศาสนาก็ไม่เหลือหรอ

ทางออก

แผนผังคร่าวๆนี้ช่วยสรุปจากมุมมองผมว่า

สังคมเราต้องมีสถาบันที่ก้าวเข้ามาจริงจังต่อเรื่องนี้

  • ศึกษา ค้นคว้า วิจัย สร้างสรรค์สิ่งดีดีที่เป็นรากเหง้าของสังคมเราออกมา แล้ว
  • อะไรที่ดีดี คิดอ่านสานต่อกิจกรรมนั้นๆอย่างที่เป็นคุณค่าแท้จริงมิใช่เพียงสักแต่เป็นกิจกรรม
  • อาจพิจารณาดัดแปลงสิ่งดีดีของเดิมๆให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขใหม่
  • อะไรที่เป็นอุปสรรค ต้องออกมาคัดค้าน ต่อต้าน ควบคุม กำจัด จำกัด ในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม

ต่อตอนสอง..


ไปสุรินทร์ทำไม..

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 กรกฏาคม 2009 เวลา 2:22 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2470

ขณะที่ผมนั่งดูรายการระลึกถึงไมเคิล แจคสัน พิธีกรเชิญคุณมาโนช พุฒตาลมาคุยด้วย ซึ่งเขาเป็นผู้รู้ในเรื่องเสียงเพลงและประวัติบรรดานักร้องต่างประเทศ คุณมาโนชพูดถูกใจผมมาก กล่าวว่า ความคลั่งใคร้ของแฟนๆไมเคิลนั้น “เกินจริง ยกให้ไมเคิลเป็น King of Pop เขามีชื่อเสียงมากตั้งแต่เด็ก และดังมาตลอด วิถีเขาอย่างราชา จนเขาไม่เคยสัมผัสชีวิตความเป็นปุถุชนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเกินจริง ในสังคมนี้มีสิ่งเกินความจริงหลายอย่าง… การที่คนยกย่องเขามากมายมหาศาลนั้นมันไม่ได้ก่อประโยชน์แก่สังคม อาจจะมีเพียงธุรกิจเท่านั้นที่รองรับการเป็น Superstar ของเขา ขณะที่มีคนเล็กๆที่ทำประโยชน์แก่สังคมนี้ แต่เขาอยู่ในมุมมืดของการเป็นข่าว การดำเนินชีวิตของเขาเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าไมเคิล แต่สังคมไม่เคยกล่าวถึงเขาเหล่านั้น....”


ผมนึกถึงเรื่องในอดีตน้องเขยผมมีเหตุขัดคอกับเพื่อนบ้านที่เป็นคนนอกเข้ามาอยู่ในสายเครือญาติ เขาไม่ทราบพัฒนาการตระกูลเราเพราะเขาเป็นคนนอก ความรุนแรงของความขัดแย้งนั้นมันบานปลายมากกว่าที่เราคิดถึง เรื่องนี้เปิดเผยมาในภายหลังอีกหลายปีต่อมา คือ คู่ขัดแย้งของน้องเขยผมไปว่าจ้างมือปืนมาให้ไปทำร้ายแก่ชีวิตน้องเขยผม ต่อมามือปืนมาสารภาพแก่ครอบครัวผมว่า เขารับงานมาไม่รู้ว่าเป้าหมายคือใคร แต่เมื่อจะลงมือทราบว่าเป็นคนในครอบครัวผม มือปืนคนนั้นยกเลิกงานชิ้นนี้ เพราะเขากล่าวว่าเขาสำนึกใน “ข้าวแดงแกงร้อน” ที่อดีตปู่ผม พ่อผมเคยมีโอกาสเลี้ยงดูเขามา บุญคุณต้องทดแทน แม้ว่าน้องเขยผมเป็นคนนอก แต่ก็เข้ามาในตระกูลผมแล้ว มือปืนคนนี้จึงไม่ทำงานชิ้นนี้ต่อให้จบ….

ผมไม่ทราบว่าสังคมนี้จะมีอะไรอย่างนี้คงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน.ไม่มีสำรวจหาความคงอยู่ หรือมันเป็นเพียงสิ่งบอกเล่าเรื่องในอดีตเท่านั้น


หลายสิบปีก่อน ขณะที่ผมและเพื่อนนั่งทานก๊วยเตี๋ยวที่ร้านเล็กๆแห่งหนึ่ง มีขอทานเข้ามาขอเงิน เพื่อนผมถามว่า เอาเงินไปทำอะไร ขอทานคนนั้นบอกว่า เอาไปซื้อข้าวกิน เขายังไม่ได้กินข้าว เพื่อนผมกล่าวกับขอทานคนนั้นว่า หากหิวข้าวก็นั่งลงตรงนี้เดี๋ยวจะสั่งก๊วยเตี๋ยวให้กินเอาไหม ขอทานคนนั้นพยักหน้า แล้วเราก็นั่งกินก๋วยเตี๋ยวโต๊ะเดียวกัน เขากินเสร็จก็ขอห่อเศษที่เหลือกลับไปด้วย…… ผมจำได้ติดหูติดหาต่อการกระทำของเพื่อนคนนี้…

เวลาผมออกหมู่บ้าน และมีโอกาสกิน นอนที่หมู่บ้านชาวบ้าน เราทราบดีว่า อาหารทุกมื้อที่ชาวบ้านทำให้ผมและเพื่อนๆกินนั้น เป็นอาหารที่ดีที่สุดที่เขาสรรหามาให้

ตอนที่คุณแม่(ยาย)ผมยังมีชีวิตและนอนแบบอยู่บนเตียงเป็นเวลา 7 ปีนั้น แม่มักจะเรียกผมไปหา แล้วกล่าวว่า “แม่ดีใจที่บู๊ดอยู่บ้านให้เห็นหน้า…” คนป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้เลยนั้นอยากให้คนใกล้ชิดมาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ก็แค่ให้สบายใจ..

ผมไม่รู้จักคุณปิ๋วเป็นการส่วนตัว แทบจะไม่เห็นหน้าค่าตาด้วยซ้ำไป แต่ผมกินข้าวจากฝีมือเธอ จากความตั้งใจของเธอ จากน้ำใจของเธอ ผมอิ่มหนำสำราญจากการประกอบอาหารของเธอให้ผมและเพื่อนๆอีกนับจำนวนไม่หมดที่ผ่านสวนป่า…

ผมเชื่อว่าเพื่อนทุกคนก็คิดเหมือนผม และมีประสบการณ์คล้ายๆที่ผมกล่าวมา เมื่อผมมีโอกาสจึงเก็บหยูกยา และของใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานของแม่ที่เหลืออยู่ น่าจะเป็นประโยชน์แก่คุณปิ๋วมากกว่าที่เก็บไว้เฉยๆที่บ้านผม…

คุณปิ๋วต้องการกำลังใจ เธอต้องการคุณหมอและการรักษากาย แม้ว่าคุณปิ๋วเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ไปทำให้ฟันเฟืองใหญ่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมนี้ สังคมในฝันของเรา…

ผมมีความรู้สึกดีดีมอบให้คุณปิ๋วน่ะครับ

นี่คือเหตุผลที่ผมไปสุรินทร์…

(หมายเหตุ: เอารูปมาจาก blog ของพ่อครูบาฯ)


หนึ่งขวบปี..ที่นี่มีอะไร 1

290 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 กรกฏาคม 2009 เวลา 10:36 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3167

(ย้ายมาจากลานเจ๊าะแจ๊ะครับ)

ถามตัวเองว่าหนึ่งขวบปีของลานปัญญามีอะไรที่นี่บ้าง ก็นึกๆพอจะเห็นสิ่งต่อไปนี้

จุ๊บจุ๊บ..เจ๊าะแจ๊ะ:
ผม เห็นคนคอเดียวกันมาเจ๊าะแจ๊ะกันที่นี่ในสาระพันเรื่องทั้งบ่นกะปอดกะแปด ทั้งเศร้า ทั้งดีใจ เรื่องในใจเอามาบอกกัน ให้กำลังใจกัน ชี้แนะกัน ทักท้วงกัน เสริมทักษะกัน จุดไฟปัญญาให้แก่กัน ปลอบประโลมแก่กัน ไถ่ถาม เติมเต็ม แม้กระทั่งฟ้องร้องกัน อิอิ..

โดย ธรรมชาติและเป็นที่เข้าใจกันว่าตรงนี้เป็นอะไรแบบสั้นๆ ได้ใจความที่ต้องการสื่อแก่กัน และใครต่อใครอย่างน้อยก็เข้ามาผ่านข้อความนี้ ก่อนไปลานอื่นๆ หากอยากจะเจ๊าะแจ๊ะก็หยอดลีลาลงไปตามแบบฉบับของตัวเอง หลายหลากอารมณ์

หลากหลายรสคำ:
แต่ ละคนมีเบ้าหลอมที่แตกต่างกัน ใครมีเบ้าแบบไหนไปรู้จักกันได้ที่ “เจ้าเป็นไผ๑” แต่ละคนมีรสนิยม ต่างกัน แม้กระทั่งความตั้งใจที่แตกต่างกัน แต่ละ “ลาน” จึงเป็นแบบฉบับของตนเอง ซึ่งมีทั้ง ขำกลิ้ง อมยิ้ม น่าคิด ชวนคิด แหย่ให้คิด จนกระทั่งกระแทกให้คิด บอกกล่าว เคร่งขรึม ตามจับความคิดตนเอง เตือนตัวเอง บอกกล่าวสิ่งที่พบเห็น สาระแห่งการงาน การชีวิต เทคโนโลยี ใครอยู่ในแบบไหนนึกกันเอาเองเด้อครับ..

ไม่ใช่สาระเท่านั้นที่เป็นแบบเฉพาะ การใช้ภาษา อักษร ก็หลากหลายลีลา ไปจนถึงหลุดลุ่ย(บางที)..อิอิ

เห็นคนในคน:
ใคร ก็ไม่รู้กล่าวว่าอยากรู้จักกันก็คุยกันซี อยากรู้จักกันมากกว่านี้ก็ต้องหากิจกรรมทำด้วยกัน อยากจะสัมผัสมุมลึกกันก็ต้องยามมีปัญหา แต่เพื่อนพ้องในลานพิสูจน์แล้วว่า เป็นคนคอเดียวกันจริงๆ เพราะเราชุมนุมกันหลายครั้ง และร่วมแก้ปัญหากันหลายครั้ง จากวันแรกมาถึงวันนี้ ผมว่าพวกเรากลายเป็นคนรู้ใจกันไปหมดแล้ว ยิ่งปอกเปลือกเห็นแก่นใน จปผ๑ ก็ยิ่งแดงโล่มาเลย ผมหลับตานึกถึงใครสักคน ก็เห็นอากัปกิริยาไปหมด ได้ยินน้ำเสียง หัวเราะ แหย่เย้าจนรู้นิสัยใจคอที่น่ารักแก่กัน

ที่มาแรงแซงโค้งดูจะเป็นอาม่าที่รักของพวกเรา..

ทำในสิ่งที่ไม่เคยหรือไม่ค่อย:
อัน นี้ผมเห็นก็ขำแบบดีใจที่ CEO ใหญ่ของเราลงทุนหาจอบขุดดินถมถนน ผมเดาว่าท่านผู้นี้ไม่เคยมาก่อน แต่อยู่ในชุมชนนี้ได้ทำ อิอิ..น่ารักจะตาย… บางท่านคงไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวา ก็ได้มีโอกาสกราบพระงามๆ มีช่วงเวลาที่สัมผัสรากเหง้าทางจิตวิญญาณบ้าง บางคนไม่เคยและไม่ค่อยเข้าครัวก็ได้ย้อนรอยปลายจวักกัน ให้อิ่มเอมเปรมพุงกะทิไปหลายมื้อหลายคราว ยังคิดถึงผัดหมี่โคราชของท่านสะมะนึกะ …..ฯลฯ….

รุมสอน:
นี่ เป็นกรณีพิเศษจริงๆ ไม่มี blog ที่ไหนที่มีเหตุการณ์นี้ ไม่มีชุมชนเสมือนที่ไหนที่เป็นเช่นนี้ ไม่มี KM ที่ไหนที่มีภาพนี้ ที่นี่มีเจ้า “จิ” เหน่อเสน่ห์ เป็นกรณีเด่นที่สุดประการหนึ่งของลานเรา เพราะเราอยากเห็นภาพเหล่านี้ คล้ายๆๆแบบนี้ในกลุ่มคนทำงานแต่ไม่เกิด ไม่ค่อยเกิด แต่กลับมาเกิดกับลูกหลานน่าหยิกคนนี้ เธอมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็มาวางไว้ที่ลาน ลุง ป้า น้า อา ปู่ ทวด ต่างทยอยกันมาเยี่ยมเยือนลูกลิง เอ้ยลูกหลานคนนี้.. คำแนะนำออกมา มันช่างวิเศษแท้ๆ พ่อครูว่าเหมือนกดปุ่ม..

ผมชอบสังคมนี้ตรงนี้มาก นึก ถึงสมัยเด็กๆ ในหมู่บ้านนอกที่วิเศษชัยชาญ เย็นๆเด็กในหมู่บ้านจะรวมตัวกันที่ลานกลางบ้านแล้วนัดเล่นสนุกๆกัน และเป็นที่รู้กันว่า เด็กที่เล่นนั้นไม่ว่าจะลูกครูใหญ่ หรือลูกคนไม่มีที่ดินชายบ้าน ผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิ์สั่งสอน ตักเตือน แนะนำทุกอย่างหากเด็กคนใดเล่นพิเลนเกินไป หรือเกเร หรือทำให้ข้าวของเสียหาย แม้กระทั่งลงโทษตีเด็กคนนั้น พ่อแม่ทุกครอบครัวก็อนุญาต  ผมมองย้อนหลัง มันเป็นสังคมที่สวยงาม ที่ต่างช่วยกันประคับประคองความดีงาม ถูกต้อง ถูกทำนองครองธรรม กรณีจิคนสวย ก็เช่นกัน ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย มาช่วยกันชี้แนะสิ่งที่ถูกที่ควรเมื่อเด็กมีปัญหา และเธอกล้าเอามาบอกกล่าว… งามจริงๆสังคมแห่งนี้

แปลกใหม่:
ปัจจุบัน มีบางคนเรียกเราว่า ป๋า..เรายังต๊กกะใจ ว่า เฮ้อ ตูข้านี่เป็น สว.ไปแล้วหรือนี่.. ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนลืมนับไปแล้ว มีหลายเรื่องก็ไม่รู้ก็ได้รู้ในที่นี่ ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ไม่เคยสัมผัสก็ได้รับรู้ อยากกอดสาวๆก็ได้กอด อิอิ.. ต้นอะไร เอกมหาชัย ชื่อก็พิสดาร แถมยังสารพัดประโยชน์ ทึ่งกระบี่ สุดยอดมุมลับของภูเก็ต อลังการเชียงราย ศรัทธายิ่งใหญ่ที่ลี้ลำพูน โดยเฉพาะท่านเทพ เอาอะไรก็ไม่รู้ไม่เคยพบเคยเห็นมาให้ศึกษา น่าดูน่าเรียนทั้งนั้น ท่านแฮนดี้ ก็คนอะไรช่างคิดช่างทำช่างสร้างสรรค์ ผมละอยากให้ถ้วยรางวัล “นักประดิษฐ์พอเพียง” แก่ท่านจริงๆ ผมว่าหลายคนก็เพิ่งได้ยินคำว่า dialogue ในมุมการเอามาใช้ประโยชน์เชิงพัฒนาคน.. ฯลฯ.. เห็นไหมล่ะ มากมายสาระที่แปลกใหม่สำหรับผม

น่าจะมีอีกมาก เท่าที่ด่วนๆคิดเอาก็เห็นดังกล่าวนี้แหละครับ



พิธีก๊วบของไทยโซ่ดงหลวง..

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 22:49 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 917

เอาพิธีครอบ หรือก๊วบ ของไทยโซ่ ดงหลวงมาให้ชมครับ กรุณาดูจากซ้ายไปขวา แล้วลงไปที่ซ้ายและขวาตามลำดับนะครับ


ระลึกถึงครูองุ่น มาลิก…

235 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 0:39 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 4458

ผมได้รับจดหมายจากมูลนิธิไชยวนา ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา กทม

ความจริงผมก็ได้รับข่าวสารประจำของมูลนิธิแห่งนี้ แต่คราวนี้เป็นการเชิญเข้าร่วมงานรำลึกถึงครูองุ่น มาลิก ครบรอบ 19 ปีที่ท่านถึงแก่กรรมไปในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2533 ตรงพอดีที่ครอบครัวเราขึ้นไปลำพูน เชียงใหม่ จึงรับปากกับคุณสินสวัสดิ์ ยอดบางเตย กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไชวนา จะเขียนบันทึกถึงครูองุ่น


ลูกช้างรุ่นเก่าๆโดยเฉพาะคนที่ทำกิจกรรมทุกคนย่อมรู้จักครูองุ่น มาลิก ท่านนี้ เพราะท่านเป็นครูสอนจิตวิทยา หลาย Courses ซึ่งวิธีการสอนของท่านก็ไม่เหมือนท่านอื่นๆ นักศึกษาคนใดที่เป็นนักกิจกรรมก็ยิ่งรู้จักท่าน เพราะท่านเป็นผู้สนับสนุนคนให้เรียนหนังสือ และใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่ประเทืองปัญญา และช่วยเหลือสังคม


เดินขึ้นบันไดไปห้องขวามือแรกสุดที่เห็นนั่นแหละครับคือวิมานของผม

แน่นอนครับผมทั้งเรียนกับท่านและทำกิจกรรมกับท่าน และพวกที่ทำกิจกรรมส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มาจากครอบครัวที่ยากจน ที่มาจากครอบครัวมีอันจะกินก็มีแต่จำนวนน้อยกว่า พวกที่มีฐานะยากจนก็มักพบปัญหาเรื่องการเงินสนับสนุนจากทางบ้าน ผมจำได้ว่าครอบครัวผมส่งธนาณัติไปให้ผมเดือนละ 600 บาทเพื่อนบางคนได้น้อยกว่าผมอีก ครูองุ่นท่านไปซื้อที่ดินข้างมหาวิทยาลัย ปลูกบ้านแล้วอนุญาตให้นักศึกษาพวกนี้ไปสิงสถิตที่นั่น เราเรียกที่ตรงนี้ว่า “สวนอัญญา” ที่นี่จึงเป็นแหล่งนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยซึ่งรวมนักศึกษาที่มาจากเกือบทุกคณะ
ที่นี่เป็นที่พัก เป็นที่ประชุมทั้งทางการและไม่ทางการ เป็นที่สะสมเอกสารความรู้ต่างๆที่เราใช้เพื่อการเสวนากันและเป็นที่พักผ่อนหย่อนกาย จึงเป็นที่เพ่งเล็งของพวกตำรวจทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ จนครั้งหนึ่งถูกเผาเสียเรียบอย่างอยุธยาเสียเมือง…


ครูองุ่นเป็นสาวสวยจากรั้วจามจุรี ท่านเป็นดาวจุฬา ดูรูปสิครับสาวๆท่านสวยมาก ท่านบินข้ามฟ้าไปเรียนเมืองนอกเมืองนา แล้วกลับมาเป็นครูสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยแรกๆ ปี 2512 ผมเข้าไปเรียน มช. ผมพักที่หอชายอาคาร 1 ท่านก็พักที่นี่เป็นห้องมุมสุดขวามือ
ท่านเดินไปสอนที่คณะสังคมศาสตร์ เป็นครูท่านเดียวที่นุ่งผ้าถุงไปสอน พูดจาฉะฉาน active เกินคนปกติ มีจิตใจเมตตาธรรมเหลือประมาณนับ โดยเฉพาะลูกศิษย์ลูกหาที่ยากจน และพวกบ้ากิจกรรมเพื่อส่วนรวม เพื่อสังคม ท่านจะเข้าไปสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำเสมอแม้กระทั่งเงินทองกินข้าวท่านก็ให้บ่อยๆ โดยไม่คิดจะเอาคืน


ครูองุ่นเป็นลูกศิษย์ตัวยงของท่านพุทธทาส ท่านเอานักศึกษาลงไปสวนโมกหลายต่อหลายครั้ง ท่านเอาคำสอนและแนวคิดของท่านพุทธทาสไปเผยแพร่ในห้องเรียน ซึ่งหลายเรื่องสอดคล้องกับวิชาที่ท่านรับผิดชอบการสอน ท่านเอาเอกสารสวนโมกไปแจก ให้นักศึกษาได้เรียนได้อ่าน และตั้งวงเสวนาเล็กๆกันเป็นประจำ ผมเองสมัยนั้นไม่ได้สนใจศาสนาในมุมการปฏิบัติธรรม แต่สนใจศาสนาในแง่หลักการสร้างคนให้เป็นคนดี ยุติธรรม ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน และเรามักจะตีความคู่ขนานไปกับหลักการของระบบคอมมูน ท่าน ดร.นิพนธ์ ศศิธร อดีตอธิการบดี มช.และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ(ท่านเสียชีวิตไปเมื่อเดือนที่แล้วเอง) ท่านเคยกล่าวในเวทีอภิปรายไว้ว่า ใครก็ตามที่พัฒนาความรู้ในวิชาสาขาใดๆก็แล้วแต่ไปสู่สูงสุด ก็จะไปสู่จุดเดียวกันของความจริง

สมัยก่อนและหลัง 14 ตุลา 2516 นั้น ถือว่าเป็นยุคแรกๆของขบวนการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งพอๆกับการจัดงานเต้นรำที่เรียกงานบอลล์ของนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง ครูองุ่นจะเข้าร่วมการฟังบ่อยครั้งที่สุดและแน่นอนเกือบทุกครั้งท่านจะยกมือลุกขึ้นแสดงความเห็นเป็นประจำ จะเรียกขาประจำก็ได้ หลายครั้งเมื่อจบการอภิปรายแล้ว พวกเรายังมาตั้งวงคุยกันต่อที่สวนอัญญา ครูองุ่นก็ตามมาร่วมแจมด้วย ผมจำได้ว่าเหตุผลของครูนั้นเน้นเรื่องความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และหลักการของพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะแนวทางที่มนุษย์สามัญทั่วไปควรยึดถือปฏิบัติ



ด้วยความที่ครูเป็นผู้ศรัทธาพุทธศาสนาแรงกล้า ครูจึงชวนพวกนักกิจกรรมทางการเมืองเข้าวัดบ่อยๆ วัดหนึ่งที่ท่านมีกิจกรรมประจำคือวัดประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือวัดฝายหิน ที่ตั้งอยู่ที่สูงขึ้นไปเหนือที่ตั้งมหาวิทยาลัย เราต้องเดินขึ้นไป ครูองุ่นไปสนทนาธรรมกับท่านเจ้าอาวาส ท่านชวนพวกเรามาปลูกต้นไม้ มาพัฒนาบริเวณวัดให้น่าดูน่าพักผ่อน และหลายครั้งเราก็ใช้บริเวณวัดเป็นที่ตั้งวงเสวนาการเมืองกัน


ครั้งหนึ่งท่านศิลปินใหญ่ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านมีงานสอนที่คณะศึกษาศาสตร์ในวิชา Art Appreciation ผมก็ลงเรียนกับท่านด้วย ตอนนั้น อ.ถวัลย์กำลังดังสุดขีด ท่านได้รับเชิญไปอภิปรายในมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งคนฟังล้นหลามจริงๆ ทึ่งในความเป็นศิลปินของท่าน การแต่งเนื้อแต่งตัว การพูดจาฉะฉานเอะอะ ดังทะลุเหมือนฟ้าจะแตก แต่สาระทุกคำพูดของท่านล้วนมาจากแก่นแกนของพุทธศาสนาทั้งนั้น ผมฟังท่านไม่กระดิกหรอกครับ แต่ได้สร้างประเด็นในใจติดตัวมาจนผมออกบวชนั่นแหละจึงศึกษาในหลายเรื่องที่ท่านกล่าวไว้ ครูองุ่นชวนพวกเราและอาจารย์ถวัลย์ไปเปิด นิทรรศการงานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ที่ Rock Bowl ที่วัดฝายหิน เดิ่นซะไม่เมี๊ยะ ก็ช่วยกับแบกงานศิลปะซึ่งเป็นแผ่นงานเขียนรูปบนผ้าใบบ้าง บนแผ่นเหล็กบ้างจำนวนมาก ไปวางตามโขดหิน โน่นบ้าง นี่บ้าง เต็ม Rock Bowl แล้วอาจารย์ถวัลย์ก็ยืนเอามือกอดอกผมยาวที่ม้วนเรียบร้อยดูเคร่งขรึม นักศึกษาอาจารย์ต้องปีนภูเขาขึ้นมาดูงานศิลป์ อาจารย์ถวัลย์ก็เดินอธิบาย ครูองุ่นก็เติมเต็มในมุมสาระของศาสนา…


อีกช่วงหนึ่งที่ผมใกล้ชิดท่านครูองุ่นคือช่วงที่ผมออกมาทำงานพัฒนาชนบทแล้วและถูกตำรวจจับกุมในข้อหา “ผู้เป็นภัยต่อสังคม” คนสมัยนี้ได้ยินคำนี้อาจจะนึกว่าผมเป็นผู้ร้ายเที่ยวขโมย ปล้นเขากิน ลักเด็กเรียกค่าไถ่ หรือ ทำพิเรนเอาก้อนหินขว้างรถ ไม่ใช่นะครับ ข้อหานี้ความจริงก็คือกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลสมัยนั้น ครูองุ่นโดนข้อหานี้ด้วย และเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันที่เรียกเสียไพเราะว่า “ศูนย์การุณยเทพฯ” ในเวลาเดียวกับผม มีผู้นำชาวนา ผู้นำนักศึกษาที่หนีเข้าป่าไม่ทัน มีอาจารย์อีกหลายท่าน ครูองุ่นมักจะพาพวกเรานั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ และเสริมสร้างจิตใจในช่วงทุกข์ให้แก่พวกเรา

แม้ท่านออกจากราชการไปแล้วท่านก็ไม่หยุดการทำงานเพื่อสังคม ยังทำคณะหุ่นมือแล้วตระเวนไปจัดแสดงตามที่ต่างๆหลายภูมิภาคเพื่อสร้างเด็ก สั่งสอนสิ่งดีงามกับเด็กๆผ่านละคอนหุ่นมือ ครั้งหนึ่งท่านไปแสดงที่ขอนแก่น ผมพาครอบครัวไปพบท่าน ตอนนั้นลูกขวัญยังเล็ก ท่านก็ให้ลูกขวัญหยิบหุ่นมือมาหนึ่งตัว ขวัญหยิบหัวไก่โต้ง เธอเอามาเล่นที่บ้านตามจิตนาการแบบเด็กๆเป็นนาน และเอานอนบนที่นอนด้วยทุกคืนจนโต

ผมไม่อาจกล่าวคุณงามความดีของครูองุ่นได้หมด ผมกราบครูคนนี้ด้วยความสนิทใจ ความมีเมตตาของท่านนั้นเปี่ยมล้นเหลือคณา เพื่อนอดีตนักศึกษาอีกหลายท่านก็กล่าวถึงครูองุ่นมามากมายในวาระอื่นๆ


ท่านยังได้ตั้งมูลนิธิไชวนาขึ้นที่ที่ดินของท่านในซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55 เพื่อประโยชน์แก่สังคมดังนี้

  • ขอเห็นสถานที่นี้ ร่วมเย็นเขียวขจี รักษาความเป็นธรรมชาติไว้จวบจนนิรันดร
  • ที่นี้จะเป็นศูนย์ย่อมๆแสดงถึงความรัก ความเมตตาของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
  • ขอให้เราเลือกเส้นทางถ่อมตน ยืนหยัด ทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอแบบนกน้อยทำรังแต่พอตัว
  • หวังว่าคนรุ่นหลังผู้มีจิตใจเสียสละเพื่อสังคม จะเข้ารับภาระสืบทอดดำเนินกิจกรรมในที่ดินแห่งนี้ จักมีความคิดกว้างไกล สามารถขยายงานรับใช้สังคมได้ในวงกว้างยิ่งขึ้นสืบไป

เนื่องในวาระครบรอบการเสียชีวิตของครูองุ่น ขอก้มกราบระลึกถึงคุณงามความดีของครู ที่ผมเดินบนเส้นทางวิถีชีวิตชนบทจนถึงปัจจุบันนี้นั้นก็เพราะอดีตส่วนหนึ่งสำนึกของผมเกิดมาเพราะส่วนที่เกี่ยวข้องกับครูนี่แหละ
ครูมีส่วนสร้างผมมาครับ


ลูกศิษย์ลูกหาของครูยังสืบสานเจตนารมณ์ทำงานเพื่อแผ่นดินอยู่ครับครู…


ขอเธอจงมั่นใจ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2007

กุมภาพันธ์ที่เชียงใหม่อากาศกำลังสบาย ข้าพเจ้านั่งพูดคุยอยู่กับเพื่อนอาจารย์ผู้ดำริว่าจะบวชทั้งๆที่ท่านเพิ่งทำปริญญาโทสาขาเคมีจากมหิดลมาหยกๆ โรงไม้หลังคาตองตึงที่เรานั่งอยู่นี่ พวกเราเรียกว่าโรงธรรม สร้างขึ้นด้วยเงินของนักศึกษาและอาจารย์บางคนที่สนใจอยู่ด้านเหนือของเนื้อที่สามไร่ครึ่งซึ่งคุณชวน รัตนรักษ์ มอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อสร้างเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของนักศึกษา บริเวณตรงนี้จึงได้ฉายานามว่า “สวนธรรมรักษ์” ทิศตะวันตกติดวัดฝายหิน ทิศตะวันออกมีถนนเล็กๆคั่นกลางระหว่างสวนธรรมรักษ์และพิพิธภัณฑ์ชาวเขาของมหาวิทยาลัย


มองออกไปเห็นลูกสาวบุญธรรมวัยสิบขวบของข้าพเจ้าวิ่งลงมาจากทางลาดขึ้นวัดพร้อมกับเด็กหญิงเพื่อนของเธอ กระหืดกระหอบตรงมาที่เรานั่งอยู่

“แม่ แม่ ไปดูซี พี่นักศึกษาเขานั่งน้ำตาไหลอยู่หน้าพระ เขาให้เงินโอ้กับสุนทรีคนละยี่สิบบาท เขาบอกว่าวันนี้วันเกิดพี่ น้องเอาไปทำอะไรก็ได้ตามใจชอบนะ”

ข้าพเจ้ามองไปทางเพื่อนเชิงถามความเห็น อาจารย์วัฒนะลุกขึ้นยืนพลางบอกว่าเราไปกันเถอะ ส่วนเด็กรับปากว่าจะเล่นอยู่แถวนั้น

ตอนนั้นบ่ายอ่อนๆดวงอาทิตย์เพิ่งจะพ้นเส้นฉากไปน้อยเดียว เมื่อเรารุดไปถึงหน้าวิหารมองเข้าไปเห็นสาวคนหนึ่งใส่เสื้อม่อฮ่อม ผมเรียบประบ่านั่งขัดสมาธิอยู่หน้าพระพุทธ ศีรษะ, คอ,ไหล่ หลังที่ตรงแน่วนิ่งอย่างนั้นอธิบายว่ามีประสบการณ์เชิงสมาธิมิใช่น้อย เราสองคนพากันเดินเบาๆไปที่หน้าพระนั่งลงห่างจากเธอแค่เอื้อม เรากราบพระแล้วนั่งนิ่งๆ ข้าพเจ้าชายตาสังเกตที่ข้อมือเธอ มีสายสิญจน์ผูกข้างละเส้น เธอเป็นเด็กผิวขาว ใบหน้าที่น้ำตาไหลพรากเป็นสีชมพูเข้ม เธอไม่เปลี่ยนท่านั่งและไม่หันมามองเรา สักครู่เธอทอดแขนลงกับพื้น แล้วค้อมศีรษะลงซบ

ข้าพเจ้าไม่รู้จะสื่อสารกับเธอท่าไหนดี และเริ่มด้วยเรื่องใด จึงนั่งงงอยู่ ส่วนภายในเหมือนปฏิภาณกำลังถูกระดมเมื่อเธอเงยศีรษะขึ้นแล้วข้าพเจ้ากระเถิบเข้าไปใกล้ แล้วทำเป็นสนใจ

“คุณผูกสายสิญจน์รับขวัญ แล้วใจคอสบายขึ้นหรือ ใครผูกให้นะ”

“ไม่ช่วยอะไรหรอก พระที่ลำพูน”

ข้าพเจ้าต้องหาเรื่องสนทนาต่อให้ได้ สังเกตรู้ว่าเธอเป็นนักศึกษาไม่ปีสามก็ปีสี่

“คุณมีปัญหากับอาจารย์วิชาสัมมนาหรือเปล่า มันมีทางทำความเข้าใจกันได้นะ”

“ไม่มี” น้ำเสียงเด็ดขาดฟังชัด ไม่ปนสะอื้นสักหยด

ข้าพเจ้าต้องแหวกกำแพงการร้องไห้สงสารตัวเองนี่น่ะเกราะกำบังตัวร้าย สังเกตดูหน้าตาท่าทางเป็นเด็กเชาวน์ปัญญาสูงพอใช้ ลักษณะช่วยตัวเองได้ หันมาทางอาจารย์วัฒนะเชิงปรึกษา สหายก็พยักหน้าให้ว่าต่อไป

“แล้วคุณไปพบอาจารย์ที่ปรึกษามาแล้วรึ ท่านว่าไงมั่งล่ะ”

“ไม่จำเป็น”

ข้าพเจ้าเดาว่าไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับอาจารย์ ไม่ใช่เกี่ยวกับเพื่อนหญิงหรือชายแต่ก็ลองดู

“เพื่อนน่ะเขาให้ความอบอุ่นใจ แต่เรื่องสอบนี่ตัวใครตัวมัน”

เธอนิ่ง ข้าพเจ้าซุ่มเสี่ยงเอาว่า ต้องบุกเรื่องสติ ปัญญาและการช่วยตัวเองมากกว่าเรื่องคิดพึ่งพิงครอบครัวและเพื่อนฝูง จึงทดลองป้อนการสื่อสารให้เกี่ยวกับสัมฤทธิ์ผลทางการงานต่อไป

“คุณร่ำเรียนช่วยตัวเองมาได้ถึงขนาดนี้ ได้พิสูจน์ความเด็ดเดี่ยวเชาวน์ปัญญาจนแน่ใจแล้ว อ้ายเรื่องยุ่งๆน่ะมันส่วนหนึ่ง ความสามารถที่ฝึกฝนมาน่ะมันยุ่งอยู่ มันไม่ลดถอยสาบสูญไปไหน ก็ปัญหาที่มันเกิดขึ้นนี่ใช้ปัญญาแก้ได้มิใช่รึ”

ข้าพเจ้าหยุด ไม่มีเสียงตอบจากเธอ สังเกตใบหน้าไม่มีร่องรอยของน้ำตาอีกต่อไป ดวงตาที่จ้องจับพื้นตรงหน้าแสดงความเด็ดเดี่ยว เลือดที่เคยฉีดแรงแถบแก้มลดระดับลงแล้ว เธอนั่งนิ่ง

“ปัญหามันเกิดกับเรา สำคัญอย่าไปทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ต้องแก้มันด้วยฝีมือเราเอง ต้องจับเงื่อนงำของปมให้ได้ แง่มุมไหนของปมแข็งที่มันทิ่มแทงเจ็บคุณต้องรู้ คนอื่นเขาช่วยคุณได้เพียงปัดเป่าให้มันโล่งๆ จนเห็นอ้ายตัวขัดแย้ง แต่คนที่จะพิชิตความขัดแย้งคือเราคนเดียว”

เธอนั่งนิ่ง ลมหายใจสม่ำเสมอทั้งกายและอารมณ์สงบระงับลงแล้วคงเป็นโอกาสให้ข้าพเจ้าร่ายยาวอีกครั้ง

“เรื่องทั้งหลายที่มันมาประชุม มาประกอบกันแล้วสร้างความวุ่นวายนี่นะเพราะมันโถมกระหน่ำเข้ามาพร้อมๆกัน มันกองสุมกันจนหาไม่พบว่าอะไรก่อนกลัง ปุบปับคุณก็เห็นเป็นภาพที่ยุ่งเหยิง คุณก็ระย่อท้อใจเป็นธรรมดา คุณหวาดหวั่นสิ้นหวังเอาง่ายๆตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือศึกษาปัญหา เอาใหม่ เอาใหม่ ถอยออกมาหลายๆก้าว ตั้งสติให้มั่น รื้ออ้ายกองยุ่งออกมาทีละชิ้น ใจเย็นๆแกะออกมาเป็นเรื่องสู้มันทีละเปราะ”

เธอนั่งนิ่ง ลักษณะอารมณ์ผ่อนคลาย ข้าพเจ้าว่าต่อ

“อ้ายสองเรื่องนี่สอดเป็นปมเพราะมันบังเอิญเกิดขึ้นพร้อมๆกัน อ้อความกระชั้นชิดของเวลาน่ะเราต้องรู้ อ้าวก็เรื่องต่างๆน่ะบางทีมันก็เกิดขึ้นในสถานที่ใกล้ๆกันก็ได้นี่นา เอ้าจับมันแยกออกจากกันให้ได้ จะได้แก้มันทีละส่วน

ก็ตอนนั้นคุณเหนื่อย จิตใจก็ห่วงเรื่องสอบ หวั่นใจจะทำไม่ได้เป็นเยี่ยมอย่างหวัง แล้วก็อีกเรื่องมันโถมซ้อนทับมาที่คุณ คุณก็ต้องเซถลาเป็นธรรมดา เอ้อ บัดนี้ตั้งตัวใหม่ก็ยังทัน คุณร้องบอกมันซิ อ้ายตัวยุ่งทั้งหลาย เจ้าจะรวมกันมาปรุงแต่งอารมณ์ฉันให้เอียงล่มไม่ได้อีกต่อไป”

ไม่มีเสียงตอบ ข้าพเจ้าหันไปมองที่อาจารย์วัฒนะ เห็นท่านนั่งนิ่งราวกับกำลังระดมกำลังภายใน สายตาจับนิ่งอยู่ที่พื้นตรงหน้า ข้าพเจ้าหันมามองหญิงสาว เห็นเธอนั่งสงบ ข้าพเจ้าวางมือบนตักตัวเอง หลับตาลง ตั้งกายให้ตรงและหายใจลึกๆ

เมื่อรู้สึกความเคลื่อนไหวอีกครั้ง มือเธอเอื้อมมากุมมือข้าพเจ้าไว้ แล้วก้มศีรษะลงต่ำใกล้จรดมือของเราทั้งสอง

“อาจารย์ขา หนูขอบคุณอาจารย์ อาจารย์ช่วยหนูไว้ หนูไปได้ละ”

“จ้ะ กราบพระซิ ท่านคุ้มครองคุณ”

“อาจารย์ทั้งสองต่างหากช่วยหนู หนูไปล่ะค่ะ”

เธอพลันลุกขึ้นก้าวเท้าออกเดิน ข้าพเจ้ายังงงไม่หาย ไม่ทันพูดจาอะไรกับเธออีก มองไปที่ประตูวิหาร เห็นแต่ด้านหลัง

เมษายน 2520 ชุมนุมพุทธศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดพิธีบวชนักศึกษาที่วัดบุปผาราม ทันใดนั้นก็มีหญิงผู้หนึ่งเดินตรงมาจับมือทั้งสองข้างของข้าพเจ้ากุมมือไว้แน่นนาน ปากพร่ำว่า นี่หรืออาจารย์องุ่น อาจารย์ช่วยลูกสาวดิฉันไว้ หญิงผู้นี้คือมารดาของหญิงสาวร่างระหงในเสื้อม่อฮ่อมน้ำเงิน สาวผู้นั้นจบจากคณะสังคมได้เกียรตินิยมในปี 2518 นั้นเองได้มีงานทำเป็นหลักฐาน

คุณแม่เล่าว่า ลูกสาวเป็นเด็กเรียนดีมาแต่เล็กๆ ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบเที่ยวเตร่ ใส่ใจเรื่องทำใจให้สงบ

ก่อนหน้าจะเกิดเรื่อง ลูกสาวฝันไปว่าถูกสุนัขกัด ตั้งแต่นั้นมาแกก็ขี้ตกใจเพราะใกล้วันเกิดและใกล้สอบ จากนั้นมาไม่กี่วันมีผู้หญิงแก่ๆคนหนึ่งเดินเข้าประตูบ้านมา สุนัขที่เลี้ยงในบ้านก็งับเอา ขณะนั้นคุณแม่กำลังไปธุระนอกบ้าน จึงมอบให้ลูกสาวช่วยดูแลตลอดจนพาแกไปส่งบ้าน

เมื่อลูกสาวส่งเงินให้หญิงชราร้อยบาทก็บอกให้นั่งคอยสักครู่จะแต่งตัวแล้วพาไปโรงพยาบาล ครั้นเมื่อแต่งตัวเสร็จออกมาหน้าบ้านก็ไม่พบหญิงชราผู้นั้น ความห่วงใยว่าหญิงชราจะไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง สร้างความกระสับกระส่ายอย่างสุดจะระงับได้

รับปากแม่ว่าจะจัดการช่วยหญิงชรา ก็ไม่ได้ทำ ตัวเองฝันว่าถูกสุนัขกัดแต่คนแก่ก็มารับเคราะห์แทน บัดนี้หญิงชราจะเป็นไงบ้างก็ไม่รู้ แม่กลับมาเย็นนี้ก็จะกลุ้มใจอีก อาการหวาดหวั่นและกังวลอย่างหนักจึงปรากฏแก่เธอ เศร้าและซึมไม่พูดจา ย้ำคิดแต่เรื่องคนแก่รับเคราะห์แทน และคนแก่จนๆนั้นจะระเหเร่ร่อนไปแห่งใด กำหนดสอบก็ใกล้เข้ามา นอนไม่หลับ อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง น้ำตาไหลพรากหักห้ามไม่ได้ จิตใจที่เคยสงบเป็นสมาธิก็พลุ่งพล่านจนทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เปิดหนังสือออกอ่านเปิดหน้าไหนก็อยู่หน้านั้น มีแต่น้ำตาเท่านั้นที่หยดเผาะๆราดอักษร

ก่อนจะถึงวันเกิด ลูกด้นดั้นไปถึงลำพูน ไปคนเดียว ปรารถนาจะให้คุณพระคุณเจ้าช่วย กลับมาแล้วก็ยังตั้งตัวไม่ได้ จนวันนั้นแหละค่ะ เขาออกจากบ้านแล้วไปพบอาจารย์ที่วัดฝายหิน กลับมาบ้านเขาจึงทำอะไรๆได้เหมือนเคย

ภาพด้านหลังของหญิงสาวระหง ผมตรงประบ่า ท่ามกลางกรอบประตูวิหาร เบื้องหน้าเธอ ผืนฟ้าสีคราม ฉันไม่รู้จักชื่อเธอ ภาพเธอพูดว่าอะไรหนอ

ข้าพเจ้ารักภาพนี้ตรึงตรามิรู้ลืม เธอคือลูกสาวผู้กล้าหาญของสถาบัน เธอสอบผ่านวิชา “พิชิตความกลัว” ด้วยคะแนนพอตัว เธอคงอยากประสาทพรให้แก่เพื่อนทุกคน

“ขอเธอจงมั่นใจ”

———-

หมายเหตุ ผมขออนุญาตคัดงานเขียนของครูองุ่น มาลิก ซึ่งท่านเขียนมาประมาณ 25 ปีมาแล้ว ท่านเอาไปลงในหนังสือชื่อ นรี ปีที่2 ฉบับที่ 25 ปักษ์หลังเดือนเมษายน 2527 เนื่องในโอกาสที่จะครบรอบการเสียชีวิตของครูองุ่นปีที่ 19 ในวันที่ 21 มิถุนายน นี้…

เรื่องนี้มูลนิธิไชวนา ของครูองุ่นนำมาลงในหนังสือชื่อ ภาพนี้ขอเธอจงมั่นใจอีกครั้ง ในเดือนมิถุนายน ปี 2545


แรงกระทบใจ..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 มิถุนายน 2009 เวลา 12:10 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2473

ใครอ่านบันทึกของผมเกี่ยวกับดงหลวงมาตั้งแต่ blog เดิม คงจะพอรู้ว่าดงหลวงเป็นอย่างไร ท่านที่เข้าร่วมเฮฮาศาสตร์ครั้งที่ 3 ดงหลวงก็คงได้สัมผัสชาวบ้านที่เป็นชนเผ่าโซ่มาบ้างแล้ว


เนื่องจากเมื่อวานผมประชุมทีมงานเพื่อรื้อแผนงานทั้งหมดใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ดังที่ผมเกริ่นมาตลอดนั่นแหละว่ามีการเปลี่ยนแปลงเบอร์หนึ่งไปแล้ว เลี้ยงส่งกันแล้วที่ร้อยเอ็ดเมื่อคืนวานนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานใหม่ก็มาต้อนรับกัน…เฮ่อ


ผมก็ทำความเข้าใจกับทีมงานว่าเราถูกจำกัดงบประมาณหมดสิ้น จากที่เคยมีเคยได้ เคยทำ เป็นถูกรวบยอดไว้ที่ท่านคนเดียว กิจกรรมจำนวนหลายกิจกรรมเราจึงไม่มีงบประมาณ ทีมงานก็ออกไปทำงานก็ไม่มีงบประมาณสนับสนุนเท่าที่ควร หลายต่อหลายครั้งเจ้าหน้าที่ก็ตัดสินใจควักกระเป๋าเองแล้วเอามาเบิกงบประมาณบริหารสำนักงาน ซึ่งเราพอเจียดให้ได้ แต่ก็จำกัดจำเขี่ยเต็มที

เพื่อควบคุมงบประมาณบริหารสำนักงานให้อยู่ในวงที่พอสัมมาพาควร แก่เหตุแก่ผล ผมจึงกล่าวกับน้องๆว่า ทุกครั้งที่เราไปประชุมกับชาวบ้านนั้นไม่จำเป็นต้องขนกระติก ถ้วยกาแฟ แก้วน้ำ ขนมอีกเป็นปี๊บๆ ไปบริการชาวบ้านทุกครั้ง เพราะการเอากาแฟไปให้ชาวบ้านกินเดี๋ยวชาวบ้านติดกาแฟก็จะไปสร้างรายจ่ายให้แก่เขา เอาขนมไปเป็นปี๊บๆแจกพร้อมกาแฟ พร้อมทั้งเทให้หมดเมื่อจบการประชุม มันเป็นเงื่อนไข เดี๋ยวคราวต่อๆไปไม่มีไปให้ก็จะถูกต่อว่า เอาแค่น้ำดื่มสะอาด ก็เพียงพอ อีกทั้งประหยัดงบประมาณที่เราก็ไม่ค่อยมีด้วย ขนมที่ซื้อยกปี๊บไปให้นั้นเราก็รู้ดีว่าคุณค่ามันไม่มีอะไรหรอก มีแต่แป้งกับน้ำตาล กินมากๆก็จะเป็นการเสียวัฒนธรรมการบริโภค ติดน้ำตาล กลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวานขึ้นมาอีก เจตนาดีแต่ผลที่เกิดไม่ดีต่อสุขภาพ


ที่ร้านสหกรณ์กลางหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เราเคยสนับสนุนการบริหารจัดการของเขานั้น เราพบว่า ในถังขยะมีแต่กระป๋องกาแฟสำเร็จรูปที่โฆษณาทางทีวีสารพัดยี่ห้อ ยิ่งเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว กินกันจนติดเป็นนิสัยไปแล้ว จะเข้าป่าไปหากบหาเขียดก็ต้องแวะมาซื้อเจ้าขวดนี้ก่อนไป เงินเสียไปโดยไม่ควรเสีย…ขวดเกลื่อนป่าเป็นมลภาวะต่อไปอีก…..

ในกรณีเช่นนี้เป็นการมองต่างมุมกันนะครับ ความจริงแต่ละครั้งๆนั้นใช้งบประมาณไม่มากมายอะไรหรอก สำนักงานบริหารได้ แต่หลักการ แนวคิด เหตุและผล มองต่างกัน


น้องเธอบอกว่า สงสารชาวบ้านเขา ยิ่งช่วงนี้ ข้าวใหม่กำลังปลูก ยังไม่ได้ผลผลิต ข้าวเก่าก็เริ่มน้อยลงหรือเกือบหมด หรือบางครอบครัวหมดลงแล้ว จึงต้อง “หากินซามตาย” ความสงสารของนักพัฒนานั้นมีท่วมหัวอกหัวใจ เราเข้าใจแต่มิใช่เอากาแฟเอาขนมที่ไม่มีประโยชน์ไปให้ กินข้าวก็พอแล้ว…

ข้าวนั้นทำให้เยอะๆ ทั้งข้าวทั้งกับข้าว เลี้ยงไปเลย ไม่ว่ากัน…

เพราผมต้องแอบบอกความลับไว้อย่างหนึ่งว่า ผมเคยน้ำตาตกมาแล้วที่การประชุมครั้งหนึ่งชาวบ้านมากันมากพอสมควร เราเองก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้เอะใจอะไร แต่ดีใจที่ชาวบ้านมากันมาก

ท่านครับ… แต่ละคนตักข้าวพูนจาน กับข้าวพูนจาน คนเมืองมาเห็นก็จะต้องคิดว่า พี่น้องโซ่ของผมมูมมาม ตะกละตะกราม ไม่มีมารยาทในการกิน (มารยาทคนเมือง)


แต่ท่านครับ…เมื่อทุกคนอิ่มข้าวแล้ว ที่หม้อแกงนั้นมีแกงติดก้นหม้อมีแต่น้ำโหลงเหลง คนแก่ คนเฒ่า ทั้งชาย หญิง และคนเป็นแม่หลายคนกำลังตักใส่ถุงพลาสติกที่เตรียมมารวมทั้งข้าวที่เหลือด้วย แล้วก็เอาใส่ถุงย่าม หรือห่อพกของตนเอง บางคนก็เดินกลับบ้านไปเลย บางคนก็รอการประชุมบ่ายต่อไป…

เขาไม่ได้กินข้าวอิ่มมาหลายวันแล้วครับ..

ลูกหลานที่บ้านก็รอข้าวเหมือนกัน…ครับ..



รากเหง้า…2

270 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 มิถุนายน 2009 เวลา 1:04 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 5125

ผมเอาบางตอนของการคุยกับพ่อคืนวันนั้นมาแสดง

———–

พ่อ: นามสกุลของย่าคือ กุลมา … ตอนพ่ออายุ 6 ขวบเศษ ย้ายบ้าน.. เหตุที่ย้ายเพราะแพ(คนสมัยก่อนบางส่วนอาศัยเรือนแพ..บางทราย) ย่าถูกโจรปล้นเป็นครั้งที่สอง… คืนนั้นเวลาตีสองเศษๆ ใครๆก็ได้ยิน สมัยโน้นชาวบ้านเรามีอาวุธไม่ค่อยดี เตี่ยไปอยู่แพ เห็นผิดสังเกต ก็เตรียมปืนกันคนละกระบอก มีปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา และปืนปัสสะตัน ปืนนี้นับว่าเยี่ยมแล้วในสมัยนั้น ผลที่สุดเอาจริงเอาจังเข้า ปืนก็ยิงไม่ออกสักกระบอกเดียว…


พ่อ: โจร 7 คนมาปล้น เรามีแพอยู่ 4 หลังเชี่อมต่อกัน ในแพก็มี ย่าตุ้ย ก๋งเริก อาแต้ม แพอีกหลังก็มี อาเทียม อาถมกับลูกๆ ต่างหนีเอาตัวรอดไปได้หมด ย่าอิ่มของเรานอนล่อที่สุดริมแผงกั้นมีซี่เหล็กและผ้าม่านกั้นถกขึ้นไปได้ น้ำแรงจัด โจรมันเอาเรือมาก็ปะทะแพโครมคราม ย่าอิ่มตื่นตกใจก็เอะอะขึ้น โจรเข้าคว้าแขนย่า แกสะบัดหลุด หนีออกทางหลังแพครัวกระโดดน้ำหนีไปได้หวุดหวิด ก๋งคลานขึ้นฝั่งได้ ไอ้พวกโจรเข้าในแพไม่ได้เป็นนานจึงเข้าไป มันใช้ขวานจาม “กำปั่น” อยู่เป็นชั่วโมง ก็เปิดได้ เอาของในกำปั่นไปหมด สารพัดเงินทอง เพชรนิลจินดา ข้าวของมีค่ามันเอาไปหมด ย่าตุ้ยมีเงินทองมาก ใครๆก็เรียกกันว่า “ยายตุ้ยแพเอียง” ก็เงินทองมากมาย หนักจนแพเอียง กำปั่นใหญ่มีใบเดียวแต่หีบเหล็กมีเยอะหลายสิบใบ..

พ่อ: ..ย่าโกรธกับก๋ง เลยเอาพ่อกับอาชินหนีก๋งไปอยู่กับญาติที่นครชัยศรี นครปฐม สมัยนั้นต้องนั่งเรือไปกรุงเทพฯก่อน มีเรือกลไฟของบริษัทพิทักษ์พานิช คือเรือเขียว กับบริษัทสยามสตีมเบกเกท คือเรือแดง เจ้าของเรือแดงเป็นฝรั่งชาติเดนมาร์ค เข้ามาขอสัมปทาน ส่วนเรือเขียวเป็นของคนไทย อยู่ผักไห่ ชื่อ ขุนพิทักษ์ เป็นคหบดีร่ำรวยมาก มีที่ดินไร่นาสาโทเยอะแยะ มีกิจการเรือกลไฟรับส่งคนโดยสารจากกรุงเทพฯถึง อ.วิเศษชัยชาญ..

พ่อ: ไปอยู่นครชัยศรีเป็นแรมเดือน เตี่ยไปซื้อปืนเมาเซอร์สามกระบอกที่กรุงเทพฯ แล้วเลยไปรับย่ากลับบ้าน เมื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เตี่ยก็ชวนพ่อไปเที่ยววัดมหาธาตุ พ่อไม่ได้คิดอะไร คิดว่าไปเที่ยวกันเท่านั้น ไปถึงวัดมหาธาตุก็ไปคณะที่ 24 แทนที่จะไปเที่ยว เตี่ยกลับเอาพ่อไปฝากพระอาจารย์เรื่อง ซึ่งเป็นญาติกัน เตี่ยตั้งใจจะให้เรียนหนังสือที่วัดมหาธาตุนี้ พ่อดีใจที่จะได้เรียน แต่ใจหนึ่งก็คิดถึงแม่คิดถึงน้อง เตี่ยกลับไปแล้ว พ่อก็ร้องให้จะกลับ ดิ้นพลาดๆ พระอาจารย์ก็ตีซะจนหยุดร้อง.. คืนนั้นทั้งคืนไม่ได้นอน เพราะคิดถึงแม่ คิดถึงน้อง ตี 4 เช้ามืด เรือจะออกจากท่า เปิดหวูด โอย…มันโหย หวน ใจจะขาดรอน รอน เชียวเอ๋ย นานเข้าก็จางไป จนอาจารย์เห็นว่าเราเชื่องแน่ก็เลยพาเราไปตัดเสื้อผ้า เพื่อเข้าโรงเรียน…


พ่อ: สมัยพ่อเรียนนั้นยังไม่มีกระดานชนวนเลย ใช้กระดานไม้มะกอก หรือกระดานไม้สักอย่างดี เอาดินหม้อผสมน้ำข้าว หรือผสมน้ำมันยาง ทาให้เป็นสีดำ แล้วใช้ดินสอพองปั้นเป็นแท่งยาวๆเป็นดินสอเขียน แล้วก็ไม่ได้อ่านเป็น กอ ขอ คอ ฅอ งอ อย่างปัจจุบัน สมัยนั้นอ่าน กอ ข้อ ขอ ค่อ คอ งอ, จอ ฉอ ช่อ เชาะ ยอ, ดอ ตอ ถ่อ ท่อ เทาะ นอ มีตำราเรียนเร็ว มีประถมกอกา มีมูลบทบรรพกิจ คนเขียนหนังสือสมัยโน้น เอาอักษรทั้ง 24 ตัว ผสมสระทั้งหมด เรียกว่า แจกลูก แล้วไปเรียนตัวสะกด แม่กม แม่กก แม่กด แม่กบ…แม่เกย พ่ออ่านได้ถึงแม่เกย เกย ไก กาย กาว กิว กีว กึว กืว กุว กูว เกว เกว แกว แกว…..

พ่อ: สมัยนั้นเรียนกับพระท่านสอนเป็นธรรมทาน ไม่มีสินจ้างรางวัล ไม่มีเงินเดือน เครื่องแบบนักเรียนวัดมหาธาตุสมัยนั้นโก้หรูมาก คล้ายๆนักเรียนวชิราวุธปัจจุบัน เสื้อห้าตะเข็บ กางเกงฟอร์มสีดำยาวคลุมเข้า หมวกฟางถัก หัวตัด ทรงปีกแข็ง อยู่วัดมีกติกาว่า เช้าขึ้นมาต้องปัดกวาดเช็ดถูกุฏิ คอยจัดอาหารให้พระอาจารย์ คอยรับบาตรมาจัดให้ท่าน ประเคน เป็นกิจวัตร พระกรุงเทพฯสมัยนั้นบางวันอัตคัด บางวันได้ข้าวทัพพีเดียวไม่พอฉันท์ ต้องหุงข้าว สมัยนั้นไม่ว่าผู้ดีหรือชาวบ้านต้องมีหม้อ 2 แบบเท่านั้นคือ หม้อดิน กับหม้อทองเหลือง… หม้อดินหุงข้าวไม่มีหู ทรงคอชะลูด ปากบาน มีฝาครอบ เวลาข้าวสุกน้ำเดือดต้องยกลงวางที่ “เสวียน” ถักด้วยหวายมีหูโค้งเข้าหากันถึงปากหม้อพอดี หาผ้าเทินฝาหม้อแล้วก็เอียงหม้อเช็ดเอาน้ำข้าวออก หาก “ฝาละมี” เลื่อน ข้าวร่วง ข้าวหกก็ถูกดุ หากทำเป็นครั้งที่สองที่สามก็โดนเฆี่ยน

ครั้งหนึ่งพ่อทำจานแตกใบหนึ่ง เป็นจานที่พระใช้ฉันท์ จะเอาไปเก็บเข้าที่ หลุดมือตกแตก เราก็รีบจะไปเรียน พระอาจารย์เห็นก็วิ่งมาฉุดเข้ากุฏิลั่นกลอนเลย เหลียววซ้ายขวาไม่มีอะไร เห็นสากกะเบือ แกก็คว้าเอามาห้ำตั้งแต่หลังมือเรื่อยไปถึงข้อศอก แล้วห้ำลงมา จากแขนซ้ายไปแขนขวา พ่อร้องสุดชีวิต แกก็ไม่หยุด จนเจ้าคณะต้องพังกุฏิเข้ามาช่วย.. พ่อไม่ได้ไปโรงเรียนสามวัน.. ต่อมาแม่มารับกลับวิเศษชัยชาญ ไปเรียนต่อที่นั่นโดยไปอาศัยบ้านเสมียนสรรพากร แม่บ้านสมัยนั้นติดการพนัน พวกเมียข้าราชการเล่นการพนันกันมาก หยอดบ่อ ทอยกอง ไพ่ตองบ้างละ.. พ่อไปจบ ม. 3 ที่จังหวัดอ่างทอง…

——-

การคุยกับพ่อแม่ หรือแม้ผู้เฒ่าผู้แก่ทั่วไปนั้น เราได้อะไรมากมายจริงๆครับ เราเห็นประวัติศาสตร์สมัยนั้น เห็นวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม ระบบการเรียน การสั่งสอนนอกจากความรู้ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าได้มากๆ คือ การสัมผัสรากเหง้าอันเป็นชีวิตของผู้เล่า ยิ่งเป็นบุพการีเราด้วยแล้ว เนื้อหาสาระ อารมณ์ ความรู้สึกมันมีพลังอย่างมาก รับรู้ได้ สัมผัสได้ ซึ่งบรรยากาศเช่นนั้นมันได้สร้างความสำเหนียก ความสำนึกแก่เราโดยอัตโนมัติ…

ด้วยเหตุฉะนี้เอง ผมจึงชอบใจที่อัยการชาวเกาะ เขียนบันทึกสอนลูก…ตลอดไปถึงสาระในหน้าที่การงาน ที่น้อยคนจะเข้าถึงสาระละเอียดเช่นนั้น

ในวาระที่พ่อครูบาฯในฐานะเป็นคนเก่า เล่าความหลัง ถือว่าจะเป็นบันทึกของยุคสมัย ของหนุ่มอีสานคนหนึ่ง ผมว่าจะสะท้อนเรื่องราวต่างๆทำให้เราเข้าใจอีสานอีกมุมหนึ่งได้ดีทีเดียว นักประวัติศาสตร์ถือว่านี่เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่า

สังคมเราพัฒนาไปแต่ข้างหน้า ผมก็คิดว่าเราสมควรที่จะก้าวไปข้างหน้า แต่การก้าวไปข้างหน้านั้นหากมีรากเหง้าเหล่านี้ติดสมองบ้างแล้ว สังคมคงชั่งน้ำหนักออกว่า สังคมไทยที่มีขั้วชนบทกับเมือง ที่เราจำลองภาพมานี้นั้น ความทันสมัยที่เหมาะสมกับบ้านเราจะอยู่ตรงไหนจึงจะพอดี ลงตัวกับบ้านเรา มิใช่ก้าวไปข้างหน้าเพราะต้องการให้ทันสมัย หรือให้ทัดเทียมต่างประเทศ โดยไม่พิจารณาให้อยู่บนรากของสังคมไทยเลย

ถ้าเราเอาแต่มุ่งไปข้างหน้าแบบสุดโต่ง ย่ิอมจะสร้างช่องว่างของความเป็นคนไทย ชนบทกับเมือง เกษตรกรกับธุรกิจ ช่องว่างนี้จะถ่างออกมากขึ้น หลักการปกครองบ้านเมืองนั้นถือว่าปรากฏการณ์นี้เป็นอันตราย

นับได้ว่า เจ้าเป็นไผ เป็นส่วนย่อย เล็กๆ ที่จารึกรากเหง้าสังคมไทยทั่วทุกภาคเอาไว้บ้างแล้ว….


รากเหง้า..1

2114 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 พฤษภาคม 2009 เวลา 20:58 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 21686

ผมมานั่งทบทวนแนวคิดเจ้าเป็นไผ และสิ่งที่เบิร์ดเสนอที่ http://lanpanya.com/sutthinun/?p=1831 และที่ คอน เสนอ ธีม จปผ. 2 ไว้ที่ http://lanpanya.com/journal/archives/4979 นั้น ผมมีความคิดเห็นคล้อยตาม และนึกถึงอะไรอีกมากมาย

ประเด็นของผมคือ : พ่อแม่สร้างชีวิตมาด้วยชีวิต มีคุณค่ามาก แต่ลูกไม่ค่อยได้รับรู้ ไม่ได้เรียนรู้อย่างละเอียด แม้ว่าเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป ยุคสมัยของพ่อแม่กับลูกต่างกันลิบลับก็ตาม แต่พัฒนาการชีวิตของพ่อแม่นั้นหากลูกๆได้สัมผัสอย่างลึกซึ้ง ก็เป็นการรับลูกต่อทางรากเหง้า และวัฒนธรรม ที่มีฐานแท้ของท้องถิ่นสังคมไทย

ชีวิตเด็กบ้านนอกอย่างผมและหลายๆคนนั้น ต่างใฝ่ฝันมุ่งไปข้างหน้า มากกว่าจะเซ้งกิจการทำนาของพ่อแม่มาทำต่อ พ่อแม่เองก็คิดเช่นนั้น “ไปเป็นเจ้าคนนายคนซะ ไปเป็นข้าราชการมีเงินเดือนกินซะ จะได้ไม่มาลำบากอย่างพ่อแม่”

ครอบครัวที่ยากจนหลายคนทั้งคนไทยคนจีน ลูกคนโตบางทีเสียสละให้น้อง ยอมออกมาเป็นแรงงานกับพ่อแม่ เพื่อหาเงินส่งน้องเรียนหนังสือ ดอกเตอร์หลายคนที่ผมยกมือไหว้ก็มีร่องรอยเช่นนี้

พ่อแม่ผมก็คงเหมือนกับทุกคนที่ต่างพร่ำสอนมารยาท วิธีการครองตนในสังคมที่หลากหลาย และให้ยึดถือสารพัดวัฒนธรรม ประเพณีทั้งที่สั่งสอนโดยตรงและโดยอ้อม โดยปกติพ่อ แม่ ก็จะเล่าบางช่วงชีวิตให้ฟังตามจังหวะ สถานการณ์ แต่ก็ไม่ต่อเนื่องแบบม้วนเดียวจบ จึงมีหลายเรื่องที่พ่อแม่ไม่ได้เล่า บางทีญาติพี่น้องซะอีกเล่าให้ฟัง

ช่วงที่ผมทำงานที่ขอนแก่นประมาณปี 2529 พ่อซึ่งเป็นข้าราชการครูเกษียณ ล้มป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง ต้องนอนที่โรงพยาบาลอ่างทอง ผมก็ลงไปเยี่ยม ไปนอนด้วย ไปปรนนิบัติแทนแม่ที่รับมาหนักนานตลอด


ค่ำวันนั้น พ่อเรียกผมเข้าไปนั่งข้างเตียงแล้วก็เล่าชีวิตของพ่อให้ฟังอย่างละเอียด ผมตงิดในใจจึงเอาเทปบันทึกเสียงพ่อไว้ด้วย พ่อเล่าแบบลืมตัว จนสว่างคาตา แม่ตื่นขึ้นมาก็ต่อว่าพ่อ ว่าลูกต้องเดินทางกลับไปขอนแก่นทำไมคุยกันยันสว่างเลย เดี๋ยวลูกขับรถไม่ไหว อันตราย.

จริงๆผมไม่ทราบหลายช่วงหลายตอนของชีวิตพ่อมาก่อน เพราะไม่มีใครเล่าให้ฟัง เรื่องราวที่พ่อเล่าให้ฟังตลอดคืนนั้น มีทั้งรากเหง้าของตระกูล ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บ้านเมือง บุคคล สังคม การดำรงชีวิต วิถีชีวิตยุคก่อนสงครามโลก การเปลี่ยนครั้งสำคัญๆของประเทศชาติ ฯลฯ เพราะมันเป็นทางเดินของชีวิต ตลอดทั้งคืนมีทั้งหัวเราะกันสองคนพ่อลูก มีทั้งร้องให้ เพราะพ่อฝ่าด่านความยากลำบากมามากกว่าเราหลายร้อยหลายพันเท่านัก

คืนแห่งประวัติศาสตร์นั้นผมเกิดสำนึกขึ้นอย่างสูงส่งโดยอัตโนมัติ ผมเข้าใจว่าทำไมพ่อจึงเป็นดุ โดยเฉพาะกับลูกๆ ทำไมพ่อจึงเคี่ยวเข็ญพวกเราในเรื่อง การรักใคร่กันระหว่างพี่น้อง แม้ว่าพ่ออยากให้รับราชการ แต่หากเราตัดสินใจอยากเป็นอะไร พ่อก็ไม่ได้ขัด แต่ขอให้เป็นคนดี…. ในตระกูลผมนั้น พ่อเสียสละโอกาสที่ไม่ได้เรียนหนังสือสูงทั้งที่อยากจะเรียน เสียสละมรดกที่นาทำกิน ให้น้องๆ(อาผม)ก่อน พ่อก็ได้น้อยที่สุด ดังนั้นอาทุกคนเคารพพ่อมาก เมื่อพ่อพูดอะไร อาทุกคนฟัง

ผมไม่ได้มุ่งหมายให้ลูกๆ ก็อปปี้มาทั้งหมดซึ่งเป็นไปไม่ได้ ซึ่งทำไม่ได้ และไม่ควรทำ แต่ลูกเมื่อมีวุฒิภาวะแล้วย่อมรู้ดีว่าอะไรควรอะไรไม่ควร

  • มีลูกจำนวนมาก พอออกจากบ้านก็รู้แต่โลกข้างนอก แต่ชีวิตของพ่อแม่อย่างละเอียดนั้นไม่รู้เรื่อง หรือรู้น้อย เพราะไม่มีเวลาให้กับพ่อแม่ แต่มีเวลาให้กับเพื่อนและโลกสื่อสารยุคใหม่
  • อนุมาณว่าพ่อแม่อยากจะเล่าชีวิตให้ลูกๆฟัง แต่เมื่อลูกบอกจะทำโน่นทำนี่ พ่อแม่ก็ตามใจ และคิดไปข้างหน้ามากกว่าจะเอาอดีตของพ่อแม่มาเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อกลั่นเอา ชีวิตออกมาให้ลูกได้เรียนแบบต่อยอด
  • อดีตของพ่อแม่จะล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไรนั้น แม้ว่าพ่อแม่อยากจะเล่าให้ลูกๆฟัง ลูกที่เป็นวัยรุ่นนั้นเขาฟัง แต่ไม่ได้ยิน เพราะใจเขาจดจ่อแต่เรื่องอื่นๆ กว่าจะสำนึกได้ว่าชีวิตของพ่อแม่นั้นมีค่าต่อเรา ก็มักสายไปเสียแล้ว
  • ลูกบางคน เมื่อมีโอกาสได้ทราบรายละเอียดชีวิตของพ่อแม่แล้วคิดได้ เกิดมุมหักเหชีวิตครั้งสำคัญ เกิดสติ เกิดสำนึก เกิดความผูกพัน ซึ่งนี่คือฐานรากของทุนทางสังคม วัฒนธรรมของตะวันออก

อีกไม่กี่เดือนถัดมาพ่อผมก็เสียชีวิต ที่โรงพยาบาล ด้วยโรคต่างๆอันเนื่องมาจากถุงลมโป่งพอง ผมถอดเทปสิ่งที่พ่อและผมคุยกันคืนนั้น จัดทำเป็นเล่มและทำสำเนาแจกให้ญาติพี่น้อง เทปบันทึกการคุยกันคืนนั้นผมทำสำเนาแจกญาติพี่น้องทุกคน..

บังเอิญเรื่องที่จะเขียนนี้กลายเป็นมีสองวัตถุประสงค์ไปโดยบังเอิญ อันแรกคือ ต้องการบอกกล่าวว่า การทำเจ้าเป็นไผนั้น เล่มสอง ควรจะตกแต่งสาระความชัดเจนให้เข้าเป้าหมายร่วมกัน อย่างที่ “คอน”เสนอ อย่างที่สองบุคคลที่ผมกล่าวถึงในบันทึกนี้คือพ่อผมซึ่งท่านเสียชีวิตด้วยโรคถุงลมโป่งพอง

พอดีวันนี้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลกพอดี…


A52S 3

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 พฤษภาคม 2009 เวลา 23:41 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1306
  1. เรามาลองทบทวนความหลังจั๊กหน่อยนะขอรับคุณท่าน เมื่อตอนเฮสามที่ดงหลวง ผมได้สรุปลักษณะของเฮฮาศาสตร์ไว้สมัยนั้นว่าดังนี้นะเจ้าคุณ



ถือว่าเป็นบันทึกช่วงเวลาหนึ่งของการเคลื่อนตัวของเฮฮาศาสตร์ก็แล้วกันนะครับ สิ่งเหล่านี้สรุปจาการเฝ้ามองรถขบวนนี้ที่ชื่อเฮฮาศาสตร์ครับ

เมื่อสมัยที่ทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่ อยู่ในหมู่บ้านคนเมือง วันหนึ่งมีงานศพในหมู่บ้าน พิธีกรรมของภาคเหนือก็คล้ายๆชนบททั่วไป แต่ที่ผมประทับใจมากๆคือ บ้านที่ผมไปพักช่วงนั้น ก็ไม่ได้เป็นญาติโกโหติกาอะไรกับครอบครัวที่มีงานศพนั้น เพียงเป็นเพื่อนบ้าน ร่วมหมู่บ้าน เขาก็ต้องลงจากบ้านหยิบเอาของติดมือไปร่วมงานศพ โดยเจ้าภาพไม่ต้องออกการ์ดเชิญ ไม่ต้องเดินมาออกปากเชิญ แต่ทุกคนต้องลงบันไดเรือนชานไปร่วมงานศพ แต่สังคมในเมือง ออกการ์ดเชิญยังไม่ไปเลย… ปรากฏการณ์นี้เราคงไม่ต้องอธิบาย

ผมเห็นหลายครั้งที่พ่อครูบาตีฆ้องงานนั่นงานนี่ ก็มีคนลงจากบ้านเดินไปร่วมงานโดยไม่ต้องออกปากเชิญ ป้าจุ๋มก็ดี รอกอดก็ดี อาจารย์แฮนดี้ ก็ดี จอมป่วน ก็ดี และใครต่อใครต่างลงบันไดเดินมาที่สวนป่า ยิ่งกรณีเจ้าเป็นใผ โน้นสุดใต้เมืองไทย(น้องแป๊ด) สุดเหนือเมืองล้านนา(น้องอึ่งอ๊อบ) ต่างก็ส่งเสียงอาสาช่วยอย่างเต็มหัวใจ ผมเห็น ผมรู้สึกได้ และทุกท่านก็เห็นและรู้สึกเหมือนผมเช่นกัน (อีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวถึงนะครับ)

นี่คือความสวยงามของเฮฮาศาสตร์ หากจะมองว่านี่คือกลุ่มยุ่งเหยิงหรือ Chaos ผมก็ว่าเป็น chaos ที่สวยงาม

  1. อย่างที่ผมเฝ้ามองกลุ่ม หรือองค์กรชาวบ้านมาหลายปีและพบเห็นการปรับตัวหลายๆแบบก่อนเดินเข้าสู่เป้าหมาย และผมเคยสร้างไดอะแกรมไว้เพื่อบอกให้ทราบว่า เส้นทางเดินของกลุ่มนั้นไม่ใช่ราบรื่น ไหล วิ่งไปสู่เป้าหมายอย่างไม่มีแรงเสียดทาน ไม่ใช่ครับลองดูนี่ซิ


ลองดูไดอะแกรมนี่นะครับ คนแซ่เฮรวมกลุ่มกันที่ A และต้องการเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ X ตามเส้นทางสีแดงนั้นคือเส้นทางเดินโดยมีการทำกิจกรรมต่างๆแล้วแต่กลุ่มจะสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่นเฮฮาศาสตร์ครั้งต่างๆ การทอดกฐิน การปลูกป่า ทำหนังสือเจ้าเป็นใผ ระพี…ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ยิ่งทำก็ยิ่งมีส่วนสำคัญที่ให้เฮฮาศาสตร์เข้าถึงกัน และปรับตัวเข้าหากันโดยอัตโนมัติด้วยปัจเจกเอง แต่ในทางตรงข้ามก็จะมีปัญหา อุปสรรค เข้ามา ทั้งเบาๆ และหนัก ถึงหนักหนา

ข้อสังเกตการปรับตัวขององค์กรชาวบ้านคือ การเดินทางจาก A ไปที่ X นั้นเมื่อพบปัญหา องค์กรก็จะปรับไปสมมุติปรับไปที b องค์กรเดินไปสักพักก็พบปัญหาอีก องค์กรก็ปรับ สมมุติปรับไปที่ c และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ข้อสังเกตคือ การปรับตัวนั้นก็ยึดเอาเป้าหมายเป็นหลัก การแกว่งขององค์กรอาจเกิดขึ้น แต่แล้วก็ปรับเข้ามาเส้นตรง ผมอาจะเรียกเส้นตรงนี้ว่า ความมีคุณธรรม หรือ norm ขององค์กรพึงประสงค์ที่จะเดินเข้าสู่เป้าหมายที่ดีที่สุด


ข้อสังเกตของผมต่อองค์กรชาวบ้านในกรณีที่พบอุปสรรคก็คือ

สมาชิกต่างมาหาข้อเท็จจริงว่ามันคืออะไร บกพร่องตรงไหนและหาทางออกแบบชาวบ้าน ซึ่งหลายๆครั้งเราคิดไม่ถึงหรอกครับ… เพราะเขามีความเชื่อ มีวัฒนธรรม มีวิถีปฏิบัติแบบของเขา แต่กลุ่มก็เดินต่อไปได้หลังการปรับตัว แล้วก็มักจะพบปัญหาอีก หนักบ้างเบาบ้าง บางกลุ่มแก้ไม่ไหวล้มไปต่อหน้าต่อตาก็มี ที่แก้ได้ ปรับตัวได้แต่แคระแกรน ล้มก็ไม่ล้ม โตก็ไม่โต ก็มี ที่เติบโตแบบหยุดไม่อยู่ก็มี เหล่านี้ผมมีข้อสังเกตว่า

  • กลุ่มผู้นำมีบทบาทที่สำคัญในการแก้ปัญหา หากฟังเสียงสมาชิกอย่างจริงใจ แสดงความจริงใจต่อกลุ่ม แสดงให้เห็นถึงเป็นคนมีคุณธรรม ไม่ถือประโยชน์ส่วนตน เสียสละจริงๆให้สมาชิกเห็น มีประวัติที่ดี สรุปว่าเป็นคนดี
  • กลุ่มผู้นำมีภาวะผู้นำสูง เมื่อนำก็นำ แต่นำอย่างมีส่วนร่วม กล้าตัดสินใจ มีประสบการณ์ฯ
  • สมาชิกก็จริงใจต่อการแสดงออกในการมีส่วนร่วม ให้ความร่วมมือในข้อตกลงของกลุ่ม หรือไม่ผิดแผกไปจากวัฒนธรรม ข้อปฏิบัติทางวิถีของชุมชนนั้นๆ
  • หากกลุ่มนั้นมีกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับ ก็เอามาทบทวน ปรับให้เกิดความเหมาะสม
  • ข้อที่พบบ่อยมากทั้งองค์กรในชุมชน และองค์กรใหญ่ๆนอกชุมชน แม้ราชการ ธุรกิจ คือ “การสื่อสาร” ระบบการสื่อสาร เครื่องมือการสื่อสาร วิธีการสื่อสาร ช่องทางการสื่อสาร ภาษาที่ใช้ ฯ
  • อีกประการที่พบบ่อยเช่นกันกันคือ “ความคาดหวัง” พ่อจอมป่วนคาดว่าลุงบางทรายจะเข้าใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ ลุงบางทรายคาดหวังว่าตาออตจะเข้าใจเรื่องที่คุยกัน ประธานคาดว่าสมาชิกจะเข้าใจ สมาชิดคาดว่าสิ่งที่พูดนั้นประธานจะรู้เรื่อง เข้าใจตรงที่อยากสื่อสาร…. เปล่า…ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด มีเรื่องตลกมากมายเกี่ยวกับ การสื่อสาร เมื่อยี่สิบปีก่อน ผมนั่งรถราชการไปกับ ดร.ท่านหนึ่งที่เป็นรอง ผอ. สำนักงานเกษตรภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมประชุมประจำปี เราเชคอินที่โรงแรมเอากระเป๋าไว้ แล้วก็เดินทางเข้าที่ประชุมที่จังหวัดนครพนม เมื่อเราเดินทางถึง ดร.ท่านนั้นก็คิดว่า การประชุมคงนานให้พนักงานขับรถคอยเขาคงเบื่อ ให้เขากลับไปพักที่โรงแรมก่อนด้วยความหวังดี จึงบอกพนักงานขับรถว่า “กลับไปก่อนเถอะเดี๋ยวกลับไปกับเพื่อนที่เข้าร่วมประชุมนี้ก็ได้” (ในความหมายคือเมื่อเสร็จการประชุมจะกลับที่พักโรงแรมพร้อมกับท่านอื่นๆเอง) แต่แล้วพนักงานขับรถขับรถกลับขอนแก่นเฉยเลย..เพราะคิดว่านายบอกให้กลับบ้านแล้วนายจะเดินทางกลับกับเพื่อนๆที่มาร่วมประชุมนั้น….ฮา..(ไม่ออก)

(มีต่อ)



A52S 2

2658 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 พฤษภาคม 2009 เวลา 8:18 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 26334

 

  1. การเป็นเฮฮาศาสตร์แบบไม่มีโครงสร้างในรูปแบบองค์กรทั่วไปนั้น เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวของมันเอง

     


     

  • เราย้อนกลับไปพิจารณาพัฒนาการจากเริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบันนั้น เฮฮาศาสตร์เกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างไร ความไม่ติดยึดในกฎระเบียบ ข้อบังคับ การมา การไป การเข้าร่วม ไม่เข้าร่วม เป็นอิสระ มิได้อยู่ภายใต้ระเบียบ ข้อบังคับ แต่เป็นใจสั่งมา เป็นสำนึก เป็นมารยาท เป็นวัฒนธรรม หรือเรียกได้ว่าเอาตัวตนมาสัมพันธ์กัน ทั้งหมดนี้คือต้นทุนทางสังคม ชนิดหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบที่เราคุ้นชินกับโครงสร้างที่มีชั้นของตำแหน่ง ส่วนใหญ่เราจึงประทับใจและโหยหา ความสัมพันธ์ระหว่างกันในเงื่อนไขแบบเฮฮาศาสตร์ ที่สลัดหลุด ยศ ตำแหน่งออกไป เหลือเพียงลักษณะทางวัฒนธรรม เช่น พี่ น้อง พ่อ แม่ ฯลฯ ไม่มีเกราะกำแพงขวางกั้น เปิด และเรียบง่าย
  • ลักษณะดังกล่าวนี้จะมีความยืดหยุ่นสูงกว่า ซึ่งผมมองว่าน่าจะส่งผลให้มีการปรับตัวได้สูง หากต้องการการปรับตัว
    แต่สุมเสี่ยงต่อการทำกิจกรรมร่วมกันที่มีความซับซ้อนมาก

     


    เฮฮาศาสตร์ เหมือนเราขึ้นรถลงเรือลำเดียวกัน

     

  • กรณี A52S นั้นบ่งชี้มาให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อกลุ่มมีภารกิจงานที่มีความซับซ้อนที่ต้องการความจัดเจนต่องานนั้นๆ ก็สุ่มเสี่ยงหากกิจกรรมนั้นๆอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดต่างๆ เช่นเวลาที่จำกัด ย้อนไปนึกถึงสังคมดั้งเดิมจะจัดงานใหญ่ เช่นงานศพ หรืองานโกนจุก บวชนาค ในหมู่บ้านนั้น จะมี “แม่งาน” เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งก็คือ เจ้าภาพนั่นเองหรือญาติสนิทของเจ้าภาพ ก็จะปรึกษาหารือกันว่างานมีอะไรบ้างที่ต้องทำ ขนาด จำนวน เวลา ฯ จะทำได้อย่างไร ก็ต้องไหว้วานญาติสนิท เพื่อนบ้านที่สนิท หรือ เพื่อนบ้านที่เป็นผู้ชำนาญการในเรื่องนั้นๆ เช่นจะทำขนมหม้อแกงต้องป้าจุ๋ม จะแกงเผ็ดเป็ดย่างต้องแม่สร้อย จะทำห่อหมกต้องแม่เบิร์ด จะจัดอาสนะสำหรับพระมาสวดมาเทศน์ ต้องพ่อเหลียง จะหุงข้าวกระทะใบบัวต้องตาจอมป่วน จะประดิษฐ์ประดอยดอกไม้ถวายพระต้องตาออต เหล่านี้เป็นต้น ก็ไปเชิญมา บอกกล่าวมา หรือบางทีไม่ต้องบอกเขาเหล่านั้นก็มาโดยอัตโนมัติ เพราะในหมู่บ้านไม่มีใครอีกแล้ว.. รู้งาน จิตอาสา เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ โอยรายละเอียดเรื่องนี้มีมากมาย เขียนได้เป็นเล่ม และน่าสนใจมาก…. ดูซิงานที่ซับซ้อนไม่มีองค์กรโครงสร้างก็จัดได้ ทำได้ สำเร็จลงได้ด้วยความเป็นชุมชนแบบหมู่บ้าน แต่เฮฮาศาสตร์เป็นชุมชนแบบไหน..จะจัดงานใหญ่ๆภายใต้รูปแบบกลุ่มเฮฮาศาสตร์ได้อย่างไร


ทุกครั้งที่เฮจัดงาน เราเห็นลูกหลานมาอยู่ร่วมกัน การถ่ายเททุนสังคมเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

  1. ผมคิดว่าทำได้เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคสังคมโบราณ เราก็ดัดแปลงความรู้ความสามารถสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ เฮฮาศาสตร์เป็นสังคมพิเศษของยุคสมัย เป็น Cyber community เป็นชุมชนเสมือน เราพบปะกันทุกวันบนตัวอักษร แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ ไม่เหมือนชุมชนดั้งเดิมจริงที่สัมพันธ์กันที่เขาคลุกคลีกันแบบตัวถึงตัวกันทุกวัน ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงแนบแน่นกว่าหลายเท่าตัว เฮฮาศาสตร์ก็น่าจะพัฒนาไปในทิศทางนั้น

     


     

  2. แต่เฮฮาศาสตร์ยังอยู่ในขั้น Formulate ความเป็นองค์กรตามธรรมชาติ ที่คล้ายคลึงหมู่บ้านที่ค่อยๆปรับความกลมกลืนกันมากขึ้นตามเหตุการณ์ ตามกาลเวลาที่เคลื่อนไปพร้อมกับกิจกรรมที่ทำร่วมกัน สังเกตเวลามีกิจกรรมอะไร พ่อครูบาก็ตีฆ้อง ร้องป่าวทาง blog จะมีนั่นมีนี่เมื่อนั่นเมื่อนี่ ใครว่างก็ยกมือขึ้น ใครปลีกตัวได้ก็ลงชื่อมาร่วมงานกัน แล้วต่างๆก็ค่อยๆเข้ารูปเข้าร่วมมากขึ้น แต่กิจกรรมที่ซับซ้อนเช่นการทำหนังสือเจ้าเป็นใผนั้น เป็นกิจกรรมที่มีรายละเอียดมาก ต้องการความถูกต้อง แม่นยำ ต้องการคนที่มีประสบการณ์มาช่วยกัน ยิ่งมีเวลาที่จำกัดก็ต้องยิ่งต้องการจำนวนคนเป็นทวีคูณ เนื่องจาก เฮฮาศาสตร์ ไม่มีโครงสร้างชั้นตามลำดับทำดีที่สุดก็ประกาศลงใน Blog ดังที่แป๊ดและอึ่งอ๊อบได้ทำไปแล้ว แต่ความเป็นองค์กรหลวมๆ แบบ Cyber ที่ต่างจากชุมชนที่มีหอกระจายข่าว การเข้าถึงข่าวสารด่วนๆนั้นเรายังไม่ได้พิจารณากัน ปล่อยให้เป็นการเข้าถึงผ่านหน้าลานเจ๊าะแจ๊ะ ซึ่งหลายท่านอาจจะไม่ได้เข้ามาสำรวจทุกวันทุกเวลา เพราะภารกิจส่วนตัวนั่นเอง จึงกลายเป็นจุดอ่อนไปทันที และความรู้สึกของแป๊ด อึ่งอ๊อบต่องานที่รับมานั้นกับความรู้สึกของสมาชิกเฮทั่วไปนั้นก็ต่างกัน การ Pay attention จึงไม่ได้กระทำโดยทันทีทันใด หรือ serious กับข่าวสารนั้นเท่าที่ควร บทเรียนนี้จึงชี้มาที่กลุ่มว่า “ต้องทบทวนและหาทางรับมือกับงานในอนาคตนะ”

     

(มีต่อ)

    


A52S 1

18 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 พฤษภาคม 2009 เวลา 14:48 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1490

ตั้งใจไว้ว่าจะบันทึกเรื่องนี้ เห็นด้วยที่น้องหมอตาบอกว่า ทำ AAR “เจ้าเป็นใผ๑” กันหน่อย เลยพยายามสำรวจมุมมองตัวเองเรื่องนี้ออกมาครับ

ต้องบอกว่าความคิดเห็นต่อไปนี้มิใช่ถูก ผิด เป็นเพียงความเห็นที่พวกเรามักถามไถ่กันเองว่า พี่คิดไงอ่ะ น้องคิดไงอ่ะ ดังนั้นการกล่าวถึงสถานการณ์นี้จึงมิได้เจตนาที่จะยกย่องใครและกล่าวร้ายท่านผู้ใดนะครับ ผมคิด วิเคราะห์ด้วยการสรวมวิญญาณนักเฝ้ามองการเคลื่อนไหวของกลุ่มคน การขยับตัวของสังคม

ผมมีฐานรากเป็นนักพัฒนาเอกชนที่อิสระ แต่ทำงานกับระบบราชการ สังกัดบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง คลุกคลีกับชาวบ้านมานานพอสมควร สนใจเรียนรู้เรื่องราวของระบบทุน และเรียนรู้โลกแห่งธรรมชาติ มุมมองนี้อาจจะมีประโยชน์แก่สังคมนี้บ้างก็พอใจที่ไม่เก็บเอาไว้ในถังแห่งความทรงจำ


  1. จั่วหัวไว้ว่าเป็นการวิเคราะห์เฮฮาศาสตร์ผ่าน A52S ก็คือการ หยิบเอาสถานการณ์เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2552 มาเป็นตัวเริ่ม แล้วมองย้อนไปรอบๆเฮฮาศาสตร์จากทัศนของตัวเองดังกล่าว A52S ก็เป็นตัวย่อของ April 52 Situation เรียกให้มันแปลกๆไปซะงั้นแหละ เพราะช่วงที่มีสถานการณ์ A52S นั้นมันสะท้อนภาพกลุ่มเฮฮาศาสตร์ที่ชัดเจน ในทัศนะของผม ที่พวกเรา พี่ๆ น้องๆ มักไถ่ถามกันว่า เอ..มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร นะเจ้าเฮฮาศาสตร์นี่น่ะ เราก็บอกอธิบายยากให้เข้ามาสัมผัสเอง A52S ก็เป็นอีกคำอธิบายหนึ่งของเฮฮาศาสตร์


  2. เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่องค์กรแบบปกติทั่วไป (Formal Organization) ที่มีโครงสร้างขององค์กรเป็นชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ ที่มักเรียนกันว่า Organization chart เช่น มีผู้มีตำแหน่งสูงสุด แล้วลดหลั่นกันลงมา มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน เหมือนกับองค์กรระบบราชการ องค์กรบริษัท ระบบธุรกิจต่างๆ แต่เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรที่ไม่มีโครงสร้าง เป็น Un-Structural Organization หรือ Non-Formal Organization ไม่มีโครงสร้างที่เป็นชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ ไม่มี Organization chart ไม่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน

  3. แต่เฮฮาศาสตร์มีโครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง….ย้ำว่าเป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง ความหมายคือ กลุ่มจัดรูปของกลุ่ม(กลุ่มเฮฮาศาสตร์)ตามความรู้ ความสามารถที่ปรากฏออกมาในระหว่างสมาชิกในกลุ่มและเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยาย ตามการนำ ตามการศรัทธา….นี่แหละเป็นโครงสร้างแบบดั้งเดิมของสังคมเรา

    ขออธิบายดังต่อไปนี้ ย้อยหลังไปก่อนที่ระบบราชการจะเข้าไปสู่สังคมชนบทนั้น(รัชการที่ 5) สังคมชนบทอยู่กันแบบดั้งเดิมไม่มีกำนัน ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีอนามัยตำบล ไม่มีผู้ช่วยฯ ไม่มีสารวัตร…ไม่มีตำรวจ..ไม่มี.. แต่มีหมอพื้นบ้าน มีช่างไม้ ช่างหล่อ มีผู้ทำพิธีกรรมพื้นบ้าน ผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ทางอีสานก็มี เจ้าโคตร เฒ่าจ้ำ หมอธรรม หมอเป่า หมอนวด นางเทียม ฯลฯ ทุกภูมิภาคไม่ว่าเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ทุกชุมชนจะมีบุคลากรเหล่านี้อยู่ ซึ่งต่างก็มีบทบาทในสังคมนั้นๆและระหว่างชุมชนที่เราเรียกท้องถิ่น ต่างอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน มิได้ใช้เงินทองมาเป็นสื่อกลางในการพึ่งพาว่าจ้าง มีน้ำใจแก่กันและกัน เคารพ ยอมรับและมีมารยาทระหว่างกันที่เราเรียกว่าวัฒนธรรมชุมชน


    ภาพนี้เราเรียกว่า Local structure หรือ Traditional structure และซ่อนตัวอยู่ในสังคมปัจจุบันที่เอาโครงสร้างระบบราชการที่เรียกว่า การปกครองท้องถิ่นเข้าไป โครงสร้างเหล่านั้นก็เลือนจางหายไปกับกาลเวลา มากน้อย แล้วแต่ปัจจัย ที่นักสังคมศาสตร์มักเรียกว่า ความเข้มข้นของระบบดั้งเดิมอาจดูจากระยะห่างของที่ตั้งหมู่บ้านนั้นกับศูนย์กลางอำนาจ (Periphery theory) แต่หลักการนี้ด้อยลงไปมากเมื่อระยะทางในสมัยก่อนถูกลดลงด้วยระบบการสื่อสารยุคดิจิตอล ในป่าในเขาก็สามารถรับรู้เรื่องไข้หวัด H1N1 ได้พร้อมๆกับในเมือง

    เวลาเราเข้าไปทำงานในชุมชนเราจะวิเคราะห์ชุมชนด้วยสองมิติ คือ หนึ่งมิติสมัยใหม่ หมายถึงระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ซึ่งเปิดเผยชัดเจน เห็นชัดจับต้องได้ มีสถิติ มีการจดบันทึก มีรายงาน..ฯ อีกมิติคือ ระบบโครงสร้างเดิมของชุมชน ใครคือเจ้าโคตร ใครคือเฒ่าจ้ำ ใครคือหมอธรรม ใครคือหมอนวด ใครคือช่าง ใครคือผู้นำจิตวิญญาณ…เราหาตัวได้อย่างไร เราก็ใช้ sociogram (ไม่ขออธิบายครับ) บทบาทของโครงสร้างนี้ในสังคมชุมชนมีบทบาทไม่แพ้โครงสร้างทางระบบการปกครองท้องถิ่น ใครทำงานกับชุมชนแล้วไม่เข้าใจมิตินี้ก็ทำงานยากสักหน่อย..

    เฮฮาศาสตร์จำลองภาพโครงสร้างสังคมเดิมนี้มา และหากเราจะทำ sociogram ในกลุ่มเฮฮาศาสตร์ เราก็จะพบว่า ใครมีปัญหาเรื่อง blog คอมพิวเตอร์ ก็ต้องวิ่งไปหา คอน เม้ง โสทร เป็นต้น ใครมีคำถามเรื่องสมุนไพรก็ต้องแวะไปจีบป้าจุ๋ม ใครอยากสนทนาเรื่องการส่งเสริมการเกษตรก็ต้องน้องสิงห์ป่าสัก และหากจะถามว่าทั้งกลุ่มยอมรับใคร ศรัทธาใครในลักษณะนำก็ต้องพ่อครูบาฯ ลุงเอก เป็นต้น การยอมรับเป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องแต่งตั้ง แต่ไม่มีโครงสร้าง แต่มีการยอมรับในความรู้ความสามารถ ซึ่งคล้ายๆบทบาทหน้าที่โดยธรรมชาติต่อกลุ่ม…

    นี่เองจึงเรียกว่า เฮฮาศาสตร์เป็นกลุ่มที่มีโครงสร้าง(แบบความรู้ความสามารถ ความถนัด)แบบไม่มีโครงสร้าง(ตำแหน่งหน้าที่ลำดับชั้น)

    (มีต่อ)


เฮฮาศาสตร์เพื่อวันนี้และวันข้างหน้า

843 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 เมษายน 2009 เวลา 0:33 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 16384

เฮฮาศาสตร์ไม่ได้ก่อตัวเพียงเพื่อวันนี้ แต่จะก้าวไปเพื่อวันข้างหน้า

เมื่อผมก้าวเข้ามาเป็น Blogger ผมก็ยังเหนียมๆ เพราะผมมาจากขุนเขาที่ล้าหลัง สกปรก มีแต่กลิ่นโคลนสาบควาย ดงหลวงที่ไม่มีใครรู้จัก แต่เมื่อผมเริ่มบันทึกเรื่องราวจากดงหลวงมากขึ้นก็มีเพื่อนมากขึ้น และผมก็ก้าวออกไปเยี่ยมเยือนบันทึกของท่านอื่นๆ โลกผมกว้างขวางอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน

ผมตระหนักดีว่าเรื่องราวที่ผมบันทึกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะชุมชนชนบท ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวส่วนของเรื่องราวทั้งหมดที่ปรากฏบน blog ผมทราบดีว่าเรื่องราวของบันทึกผมนั้นจำกัดผู้สนใจอยู่ในวงแคบๆเท่านั้น

แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เพียงรอให้ใครต่อใครเข้ามาเยี่ยมเยือนเรา แต่การเข้าไปเยี่ยมเยือนท่านอื่นๆต่างหากที่ช่วยเปิดโลกกว้างมากขึ้น แล้วผมก็ใช้เวลาท่องไปในโลกกว้างนั้น ทั้งที่ปรากฏตัวตนและท่องไปแบบเงียบๆ

และในที่สุดผมก็พบปราชญ์แห่งอีสาน ที่ใครๆก็ต้องแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยือน ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ติดบันทึกของท่านผู้นี้งอมแงม โดยเฉพาะสาระที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผมสนใจ สำบัดสำนวนที่โดนใจ ลูกเล่นลูกฮา เพียบ ทำให้สาระที่แข็งกลับกลายเป็นมีเสน่ห์อย่างที่ยากผมจะทำตามได้

ท่านคือครูบาสุทธินันท์ที่ผมแอบศรัทธาท่านจนผมทนหัวใจเรียกร้องไม่ไหวต้องก้าวเข้าไปสัมผัสกลุ่มผู้เป็นกัลยาณมิตรที่สวนป่า ที่นั่นผมรู้จักเพื่อนตัวเป็นๆมากมายมากันทั่วสารทิศ ผมซึ้งความเป็นผู้ใหญ่ของพ่อครูบาฯ ครอบครัวของท่าน ผมประทับใจเพื่อนทุกคนที่ต่างก็หอบหัวใจมากองไว้ที่นั่น …..

ที่นั่นผมรู้จักเพื่อนๆมากกว่าเพียงพบกันใน blog และการพบกันแบบเป็นๆนี่เองก็เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมต่างๆที่เราเริ่มคิดอ่านทำร่วมกัน…และจะพัฒนาต่อไป..

แล้วคำว่าเฮฮาศาสตร์ก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ในวงการ Blog โดยพ่อครูบาเป็นเสาหลักร่วมกับผู้หลักผู้ใหญ่อีกหลายท่าน รูปแบบของกลุ่ม blogger กลุ่มนี้ก็มีการตั้งคำถามจากคนนอกและแม้คนในด้วยกันเองว่าคืออะไร เพื่ออะไร จะไปทางไหน…. ซึ่งเรามักคุยกันว่าคำถามนั้นไม่มีคำตอบต้องเข้ามาสัมผัสเอง

เฮฮาศาสตร์กลายเป็นเวทีรวมตัวและหัวใจที่สร้างเรื่องทึ่งๆให้เกิดขึ้นมากมาย การเข้าร่วมที่มาจากเหนือสุด ใต้สุด ต่างหอบหัวใจมามอบให้แก่กันอย่างที่ไม่พบเห็นในสังคมนี้มากนัก การร่วมมือ การอาสา การให้ซึ่งกันและกันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า….

ผมไม่อาจกล่าวว่านี่คือสวรรค์ แต่ไม่ใช่นรกแน่นอน

ผมไม่อาจกล่าวว่านี่คืออุดมการณ์สูงสุด แต่นี่คือความสุขและสาระที่หาได้อย่างจริงใจ

ผมไม่อาจกล่าวว่านี่คือที่สิ้นสุด แต่นี่เป็นเพียงเริ่มต้น

ผมไม่เชื่อว่าอุปสรรคจะมาพรากเรา ตรงข้ามผมเชื่อมั่นว่านั่นคือโอกาส

ผมจึงกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มหัวใจว่าเฮฮาศาสตร์ไม่ได้ก่อตัวเพียงเพื่อวันนี้ แต่เพื่อวันข้างหน้า และอนาคตด้วย

ผมเชื่อมั่นว่าเราจะจับมือร่วมกัน…

ปัญหา อุปสรรค เป็นเพียงก้อนกรวดที่เราต้องช่วยกันเก็บกวาดและก้าวผ่านไปบนเส้นทางที่ยาวไกลโน้น…


วิภา กูเป็นกู

201 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 เมษายน 2009 เวลา 21:41 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 6512

ผมไม่ใช่หมอ

ผมไม่ใช่นักจิตวิทยา

ผมไม่ใช่นักพฤติกรรมศาสตร์

แต่ผมอยากแสดงความคิดเห็นต่อบันทึก “กูเป็นกู” ที่นี่ http://lanpanya.com/jogger/?p=371

รู้สึกดีมากที่กระบวนการได้สร้างความสั่นสะเทือนในจิตใจแก่นักศึกษาแพทย์ผู้มีอนาคตเหล่านั้น

แต่จากการสะท้อน reaction ออกมาระหว่างกระบวนการนั้น นับว่าเป็นเลิศแล้วในความคิดผมเพราะ

  • ไม่ใช่ง่ายเลยที่จะสร้างเครื่องมืออะไรสักอย่างที่จะกระแทกให้คนเรา ได้เกิดแรงบีบในห้วงคำนึงจนต้องปลดปล่อยออกมาด้วยน้ำตาและคำพูดที่ยากจะออก มาในภาวะปกติ
  • ปรากฏการณ์นี้ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าดี และมีส่วนสำคัญให้เธอผู้นั้น เกิดคลื่นสะเทือนทางความสำนึก รู้สึก ความคิดต่อเนื่องต่อไปอีก เป็น อาฟเตอร์ช๊อค
  • กระบวนแต่ก่อนทำนองนี้ที่เป็นประสบการณ์ผมนั้น  ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นั้นครั้งยิ่งใหญ่ หากผลสะเทือนนั้นๆไปสร้างภูมิสำนึกขั้นสูง จนเขาเหล่านั้นกล่าวว่า “นี่คือการเกิดใหม่” ทีเดียว  ซึ่งแล้วแต่คน แล้วแต่สถานการณ์ แล้วแต่เงื่อนไข แล้วแต่กระบวนการ แล้วแต่สิ่งแวดล้อม แล้วแต่สาระตอนนั้น แล้วแต่ภูมิหลัง
  • ในงานพัฒนาชนบท ผมก็ใช้สิ่งนี้เหมือนกันในการสร้างสำนึกชาวบ้านให้หันกลับมามองตัวเอง สังคมดั้งเดิม วัฒนธรรมชุมชน ผ่านพิธีกรรม และการกระตุกสำนึกขั้นสูง…จนหลายคนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ เป็นคนใหม่ …..(แล้วผมจะหนีจากเขาไปไหนได้อย่างไร ก็วนเวียนอยู่ตรงนี้แหละ)
  • มีสิ่งหนึ่งที่กระบวนการนี้ขาดไป ในความคิดผมคือ …ไม่มีกระบวนการต่อเนื่อง หลังการเกิดแรงกระทบทางจิตใจอย่างแรงจนน้ำหูน้ำตาหลั่งไหลออกมาพร้อมคำกล่าวต่างๆนั้น ที่ปกติจะไม่ได้ยินคำกล่าวเ้หล่านั้น  แต่การทำงานพัฒนาชนบทเรามีกระบวนการต่อเนื่อง คือการเยี่ยมเยือน ไปมาหาสู่ ทำกิจกรรมต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุดการสนับสนุนให้เขาจับกลุ่มกันขึ้น สร้างเครือข่ายคนรู้ใจกัน ที่เขาจะสร้างกิจกรรมต่อเนื่องร่วมกัน…..
  • มันเหมือนกับตอนที่ผมบวชเป็นพระปฏิบัติ 1 พรรษาที่สำนักวิปัสสนาไทรงาม เขตรอยต่อ อ่างทอง สุพรรณบุรี พระอาจารย์ ธรรมธโร ท่านให้เราปวารณาตัวเองไม่พูดระหว่างวัน ปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ ตามวิธีของท่าน แล้วตกค่ำก็เข้าประชุมร่วมกันทั้งวัด แล้วพระอาจารย์จะ “เป็นผู้มาสอบธรรม” ซักถามความรู้สึกที่เกิด ซึ่งมีสารพัดจะได้ยินจากพระนักปฏิบัติทั้งหลาย เป็นอุบายการเรียนรู้ที่วิเศษจริงๆ ให้แนวทางปฏิบัติ(หลักการ) แล้วไปปฏิบัติ(ทำ) เกิดอะไรก็มาซักถาม พูดคุยกัน(แลกเปลี่ยนความคิดเห็น, อธิบายความหมายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ, หรือ ก็คือ Group Discussion นั่นเอง) โดยมีพระอาจารย์ผู้แก่กล้าทางประสบการณ์เป็นผู้คอยให้คำแนะนำ
  • กระบวนการของเราขาดขั้นตอน หลังการเกิดผลสะเทือน แน่หละเพราะเงื่อนไขต่างๆที่เราเข้าใจกัน
  • แต่เชื่อว่า ในกลุ่มนักศึกษาแพทย์นั้น หลังที่เธอกลับไปแล้วน่าที่จะมีการจับกลุ่ม เพื่อนสนิท แลกเปลี่ยนกันต่อโดยธรรมชาติ บางคน หรือหลายคนอาจจะเกิดพฤติกรรมใหม่ๆเชิงบวก บางคนอาจจะคิดอะไรในระยะยาวออกไป และหรือเกิดอะไร อะไร เชิงบวกอีกมากมายสุดจะคาดได้….

ประเด็น

  • จะมีทางสร้างกระบวนการที่ต่อเนื่องหลังจากที่เธอเหล่านั้นเดินทางกลับไปแล้วบ้างไหม… ระหว่างเขาเหล่านั้นเอง…หน่วยงานหรือสถาบันที่เธอเหล่านั้นสังกัดเข้าใจกระบวนการนี้แล้วเป็นผู้ร่วมสร้างกระบวนการที่ต่อเนื่อง
  • หรือ สวนป่ามีกระบวนการรองรับ…??

ทิ้งประเด็นไว้เฉยๆไม่ต้องการคำตอบครับ

______________________________

ผมขอขอบคุณกระบวนกรทุกท่านที่ร่วมกันสร้างผลสะเทือนเหล่านี้

ขอขอบคุณโอกาส ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ดีดีแบบนี้

ขอขอบคุณเจ้าของสถานที่ที่เป็นความทรงจำที่สวนป่าจะฝังลึกในห้วงคำนึงของเธอเหล่านั้นไปอีกนานเท่านาน

ขอขอบคุณฝ่ายสนับสนุน ผู้ปิดทองหลังพระทุกท่านที่ทำอาหารคาวหวาน น้ำท่า สารพัดจะประกอบขึ้นมาเพื่อ หนุนเนื่องให้เกิดปรากฏการณ์เชิงบวกเหล่านี้

และขอบคุณเจ้าของบันทึกที่ถ่ายทอดสิ่งนี้ออกมา ความจริงน้องหมอเจ๊ น้องสร้อย น้องอึ่งอ๊อบ และหลายๆท่านที่ไม่ได้กล่าวถึง ก็บันทึกทำนองนี้ออกมาก่อนแล้ว แต่ผมไม่มีโอกาสแสดงความเห็นเต็มๆ เช่นครั้งนี้..

ขอบคุณ “กูเป็นกู”

หมายเหตุ วิภา หมายถึง รัศมี, แสงสว่าง, ความแจ่มแจ้ง, ความสุกใส, ความงดงาม จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หน้า 745


วาทะพ่อใหญ่..

334 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 เมษายน 2009 เวลา 15:42 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 4069

ลูกเอ้ย….

พ่อใหญ่เห็นโลกมานานพอสมควรแล้ว

ผิดชอบชั่วดีนั้นสามัญสำนึกก็บอกได้ จำแนกได้

เวลาที่เหลือก็เพียงแค่ประคองใจ กาย ให้อยู่ในครรลองธรรมเท่านั้น

ก่อนที่จะดับสูญไปตามวาระ

มันไม่ใช่วาระแห่งชาติ แห่งโลกอะไรนะลูกนะ

มันเป็นวาระแห่งชีวิตน่ะลูก…

ไอ้คนที่มาอ่านนี่ก็อยู่ในวาระนี้กันทั้งน้านแหละ… เหอะ..เหอะ..

…..

คนอย่างพ่อใหญ่จะพูดอะไรก็ไม่มีใครฟังร๊อก..

แต่หากใครจะฟังบ้างก็เป็นกุศลซึ่งกันและกัน

พ่อใหญ่อยากจะบอกว่า

“ธรรมะเท่านั้นที่เป็นฐานของสังคมสันติสุข”

……

โสร่งพ่อใหญ่ สวยไหมล่ะ นี่ดีที่สุดเท่าที่มีแล้วนา..

วันนี้มาพูดกับลูกๆ เลยเอาโสร่งตัวโปรดมาใส่ซะหน่อย..

มันไม่ได้ช่วยให้คำพูดพ่อใหญ่ดังคับฟ้าร็อก..

เพราะ ใครๆก็รู้คำนี้อยู่แล้ว

เหลือแต่ว่า เอาไปปฏิบัติเท่านั้นเองแหละ..เหอะ..เหอะ..

เอา… เอา… พ่อใหญ่ไปก่อนหละลูก..

ให้อยู่เย็นเป็นสุขกันทั่วหน้านะลูกเอ้ย….


ทุนสังคมสร้างได้

85 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 เมษายน 2009 เวลา 17:42 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 5667

เมื่อผมมาทำงานที่ขอนแก่นใหม่ๆสัก 20 ปีที่แล้ว เราไปเช่าบ้านกันอยู่ในหมู่บ้านไทยประสิทธิ์ประกันภัย ติดถนนสายหลักมิตรภาพ ด้านหลังหมู่บ้านติดกับชุมชนสามเหลี่ยม เดี๋ยวนี้หมู่บ้านนี้ก็ยังมีอยู่ สมัยนั้นมีคุณอภิชาต ทองอยู่ พี่บำรุง บุญปัญญาไปเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆกัน….

ผมทำงานกับ USAID ที่ท่าพระ ขอนแก่น คุณอภิชาตทำงานกับ Redd Barna ที่เมืองพล พี่เปี๊ยกก็เป็นที่ปรึกษา Foster Parent Plan เมื่อนักพัฒนามาอยู่ใกล้ๆกันก็ระเบิดเถิดเทิง จะอะไรล่ะ ตกเย็นก็ตั้งวงกินเหล้าแล้วก็คุยกันสารพัดเรื่อง ต่างก็งัดแนวคิดต่างๆมาแลกเปลี่ยนกัน….

ในหมู่บ้านจัดสรรที่เราอยู่นั้นก็มีสารพัดครอบครัวทั้งพ่อค้า ข้าราชการ หน่วยงานต่างๆ เอกชน ครอบครัวเหล่านี้ก็มีลูกหลานกัน เมื่อรวมๆกันทั้งหมู่บ้านก็มากพอสมควร หลังหมู่บ้านเป็นที่โล่ง ป่าละเมาะเล็กๆขึ้นเต็ม ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร..

ในหมู่บ้านนั้นมีครอบครัวหนึ่งเป็นครู ดูเหมือนจะอยู่ในเขตเทศบาล เป็นครูพละ ระหว่างนั่งโซ้ยเหล้าเย็นวันหนึ่งเราก็คุยกันว่า เด็กๆในหมู่บ้านมีเยอะ น่ากลัว น่าเป็นห่วงเรื่องยาเสพติด เด็กเหล่านี้พ่อแม่ทำงาน ออกจากบ้าน บางครอบครัวกว่าจะกลับมาก็เย็นค่ำ ไม่มีใครอยู่กับเด็ก พวกเราน่าจะหากิจกรรมสำหรับเด็กทำกัน ..อภิชาตปรึกษากับพวกเรา

พวกเราเห็นด้วย ในฐานะที่อภิชาตเป็นผู้อำนวยการโครงการพัฒนาชนบทที่เมืองพลควบคุมงบประมาณพัฒนาชนบทจึงเจียดงบประมาณมาก้อนหนึ่งก็ไม่มากเท่าไหร่นัก พวกขี้เหล้าคุยกันไปซดเหล้ากันไปว่าจะทำอะไรดี ในที่สุดก็มาลงที่ว่า เรามีครูพละในหมู่บ้าน น่าที่จะให้ครูสอนเรื่องฟุตบอลอย่างถูกวิธีกับเด็กๆ คุณอภิชาตจะสนับสนุนอุปกรณ์กีฬาชนิดนี้ให้…

ครูพละท่านนั้นเห็นด้วยและยินดีสอนเด็กโดยไม่คิดค่าจ้างอะไร… พื้นที่ว่างหลังหมู่บ้านจึงเกิดการพัฒนาเป็นสนามฟุตบอลแบบง่ายๆ อภิชาต ผม พี่เปี๊ยกและเพื่อนๆคนอื่นก็ไปขออนุญาตผู้ปกครองเด็กๆตามบ้านต่างๆในหมู่บ้านนั้นว่าจะเอาเด็กไปสอนฟุตบอลให้… ผู้ปกครองทุกคนก็เห็นด้วยและสนับสนุน…

หนึ่งเดือนผ่านไปทีมฟุตบอลเด็กของหมู่บ้านก็เกิดขึ้น เด็กๆชอบ และสนุก บางคนมานั่งรอทุกเย็นเพื่อจะมาเล่น มาฝึกฟุตบอล เด็กเหล่านี้ก็มาจากโรงเรียนต่างๆ ทั้งจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรียนวัด โรงเรียนเทศบาล โรงเรียนเอกชน แล้วแต่ครอบครัวเขาจะเอาบุตรไปเข้าเรียนที่ไหน แต่ทีมฟุตบอลเด็กเกิดขึ้นในนามของชุมชน

เมื่อทีมฟุตบอลมีแล้วการฝึกแบบมาตรฐานก็เกิดขึ้นแล้ว การฝึกฝนก็ผ่านเวลาไปนานพอสมควร ต่างก็อยากประลองฝีมือการแข่งกับทีมฟุตบอลเด็กจากที่อื่นๆ ในฐานะที่ครูพละมีเครือข่ายครูพละอยู่ในจังหวัดจึงเกิดการติดต่อประลองฝีมือกันขึ้น…

พ่อแม่เด็กๆต่างก็ก้าวออกมาสนับสนุน และเห็นว่ากิจกรรมนี้น่าชื่นชมที่เด็กมีกิจกรรมที่ผู้ใหญ่คอยดูแล ต่างสบายใจ สนับสนุน เอาน้ำเอาท่ามาให้เด็ก ลงขันกันตัดเสื้อทีมให้เด็ก เพิ่มเติมอุปกรณ์กีฬา พ่อแม่เด็กก็ถือโอกาสพบปะกัน แทนที่จะมุดหัวในบ้านใครบ้านมัน ก็ออกมาคุยกัน สมาคมกัน แลกเปลี่ยนต่างๆนานา….สารพัดที่จะเกิดประโยชน์กระทบกว้างขวางออกไป

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ทีมฟุตบอลเด็กของชุมชนออกไปแข่งขันกับทีมอื่นๆ ก็มีแพ้บ้างชนะบ้าง แต่จำนวนครั้งที่ชนะจะมีมากกว่า ก็เป็นที่ปลื้มอกปลื้มใจของชุมชน พ่อแม่ คุณครูพละท่านนั้นก็อุทิศเวลาให้เต็มที่…. ชื่อเสียงของทีมฟุตบอลเด็กชุมชนนี้ก็ระบือไปถึงจังหวัดใกล้เคียง โรงเรียนรอบนอก กลายเป็นเรื่องเป็นราวที่ผู้ใหญ่ต่างก้าวเข้ามาสมาคมมากขึ้นเพื่อเติมเต็มให้เด็กๆ ให้คุณครู ให้กับกิจกรรมนี้…..

ประเด็นที่เห็น

  • ทุนสังคมสร้างได้
  • เริ่มจากเล็กไปสู่ใหญ่
  • เริ่มจากค้นหาศักยภาพในชุมชนแล้วผลักดันให้ศักยภาพนั้นแสดงพลังออกมา
  • สังคมมีจุดเชื่อมต่างๆอยู่แล้ว เมื่อกิจกรรมทำดี ย่อมส่งผลสะเทือนที่ดีไปเขย่าให้เครือข่ายธรรมชาติที่มีศักยภาพข้างเคียงมาร่วมพลังด้วยเป็นทวีคูณ
  • เราเติมคุณค่าดีดีของความเป็นคนลงไปในกลุ่มเด็กเหล่านั้นได้ระหว่างที่เขามาฝึกฝนฟุตบอล ทั้งครูพละที่รับบทใหญ่เป็นพระเอก และเราที่เป็นพี่เลี้ยง และพ่อแม่เด็กๆที่ก้าวออกกมาสนับสนุน
  • การสร้างทุนสังคมต้องมีการเริ่มต้นและผลักดันให้ขยายออกไปทั้งโดยธรรมชาติและสร้างขึ้นมาเพิ่มเติม
  • จากกีฬา สู่การให้คุณค่าทางจริยธรรม กฎ กติกาในการเล่นกีฬา การปฏิบัติตัวต่อเพื่อน ต่อผู้ใหญ่ ต่อคู่ต่อสู้ในเกม
  • จากกีฬา เอาสารพัดเรื่องดีดีมาเติมในจิตใจแก่เด็กได้ตามโอกาส เงื่อนไขมากมาย มากมาย…
  • แล้วเด็กเหล่านี้โตขึ้นจะมีประสบการณ์ชีวิตที่ดีดีต่อไป เป็นการสร้างสมทุนชีวิตที่เป็นภายในให้แก่เขา…


ปัจจุบันคุณอภิชาตเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิสวัสดีที่กรุงเทพฯ เป็นอดีตกรรมการ TV สทท. และล่าสุดเป็นผู้จัดรายการสั้นๆแนะนำหนังสือดีดีใน สทท. (ช่วงเวลาประมาณ 5 ทุ่ม)จากรูปจะเห็นว่าเชิญวิศิษฐ์ วังวิญญูเจ้ายุทธจักร voice dialogue เป็นที่ปรึกษาร่วมกับ สถาพร ศรีสัจจังจาก มอ. เพื่อนรักผมอีกเช่นกันตั้งแต่ มช.สมัย 14 ตุลา เจ้าของโศลกดำตัวจริงที่โด่งดังในสมัยนั้น


ปัจจุบันที่บำรุง บุญปัญญา หรือพี่เปี๊ยกก็เป็นนักพัฒนาอิสระ ที่ยังแรงไม่หยุดกำลังตกผลึกความคิดจะออกหนังสือเล่มใหม่ออกมา และให้ความสนใจเรื่องของวัฒนธรรมชุมชนเป็นที่ยิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน Social Spiritual พี่เปี๊ยกประจำที่บ้านบรรพชน กลางเมืองขอนแก่น


ให้น้ำมด..

194 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 เมษายน 2009 เวลา 20:41 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 2329

เพื่อนบ้านคนหนึ่ง เป็นคริสเตียน เป็นคนพื้นเพจากสกลนคร บ้านเดียวกันกับ ดร.เสรี พงศ์พิศ และเติบโตมาจากศาสนาด้วยกัน การดำเนินชีวิต จึงเต็มไปด้วยหลักการทางศาสนา

……

ที่บ้านเพื่อนคนนี้จะทำอะไรที่เล็กๆ ง่ายๆ แต่ยิ่งใหญ่ ที่คนธรรมดาน้อยคนจะทำเช่นนี้

นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมเอามาฝากกันครับ

เดาไม่ออกจะบอกให้ นี่คือที่ให้น้ำมดแดง

เพื่อนเอาขวดน้ำพลาสติกมาตัดปาก แล้วเอามาผูกติดกับต้นไม้ที่รั้วบ้าน เอาน้ำมาใส่

แล้วมดก็มากินน้ำจริงๆ….



Main: 2.2089848518372 sec
Sidebar: 0.26848697662354 sec