เรียนรู้จากการปฏิบัติ

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 16, 2010 เวลา 21:02 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2925

ยังอยู่ที่พ่อแสนครับ คราวนี้พ่อแสนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ จากการทดลอง แต่ละบทเรียนนั้นมาจากการปฏิบัติเอง ผ่านกาลเวลา แล้วก็ได้ข้อสรุป เก็บเอาไปสอนลูกหลานและผู้ผ่านเข้ามา


หลายปีก่อนผมบันทึกใน G2K ว่า พ่อแสนไล่ตีค้างคาว ภาษาถิ่นเรียก “เจี่ย” บนขื่อบ้านเพราะมันถ่ายและฉี่รดหลังคามุ้ง ที่พ่อแสนนอนในตูบน้อยๆในสวนป่า แต่ตีเท่าไหร่ก็ไม่ถูก อิอิ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมันดี เลยอยู่กับมันซะเลย แต่ป้องกันโดยเอาพลาสติกมาคลุมหลังคามุ้งซะ….

แต่แล้ว..หลายวันต่อมาพ่อแสนมาดูพลาสติกนั้นพบสิ่งที่จุดประกายบางอย่างเกิดขึ้นกับพ่อแสน คือ เห็นมูลค้างคาวจำนวนไม่น้อย อ้าว…มูลค้างคาวมันคือปุ๋ยชั้นดีไม่ใช่หรือ…. และอะไรนั่น สิ่งที่ผสมอยู่ที่มูลค้างคาวคือ ปีกผีเสื้อกลางคืนหลายตัว….

เท่านั้นเองพ่อแสนเปลี่ยนใจที่จะไล่เจี่ย เป็นมีใจรักมัน เชื้อเชิญมัน เพราะปีกผีเสื้อนั้นคือผีเสื้อกลางคืนที่เป็นศัตรูพืชของพ่อแสน และมูลเขาก็คือปุ๋ยชั้นเลิศ พ่อแสน แวบความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนั้นเราอยากให้มันมาอยู่อาศัยมากๆ เราก็จะได้ผู้ที่มาช่วยจัดการผีเสื้อกลางคืน และได้ปุ๋ยสุดเลิศ เราจะทำอย่างไรดีล่ะ

พ่อแสนจึงตัดไม้ไผ่กระบอกใหญ่ๆ เอาข้อปล้องไว้ แล้วเอาไปแขวนคว่ำลง วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นบ้านของเจี่ย และทดลองเอากระป๋องพลาสติกสีดำแขวนแบบคว่ำไว้ด้วย เวลาผ่านไปเป็นปี..ไม่มีเจี่ยเข้าไปพักอาศัยในบ้านจัดสรรที่พ่อแสนสร้างไว้ให้เลย อิอิ.. แต่แปลก มันบินไปนอนหลังคาบ้านลูกสาวในตัวอำเภอ แต่บ้านจัดสรรในสวนป่านี้เจี่ยไม่เลือกที่จะเข้าไปอาศัย…


อาว์เปลี่ยนเคยเล่าไว้บ้างว่า พ่อแสนมีความคิดพิสดารเรื่องคอกหมู ใครๆเขาเลี้ยงหมูหลุม ใครๆเขาเอาขี้หมูไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เอาไปหมักแก๊ส แต่พ่อแสนเลี้ยงหมูในคอกเคลื่อนที่ได้ ความคิดพ่อแสนมาจากการสังเกตว่าหมูหากปล่อยมันไปอิสระ มันก็เข้าไปตามดงหญ้าเพื่อหาอาหารแล้วมันก็เหยียบย่ำหญ้าราบเรียบไปหมด สวนป่าพ่อแสนก็พบว่ามีหญ้าธรรมชาติรกเต็มไปหมด จะไปดายหญ้าก็ไม่ไหว เลยเอาหมูใส่ในคอกที่เคลื่อนที่ได้ ใช้ให้ธรรมชาติของหมูจัดการหญ้าซะราบเรียบ แล้วก็ขยับคอกไปเรื่อยๆ ตามที่ที่มีหญ้ามากๆ…สุดยอดพ่อแสน คิดได้ไง ไม่เคยมีความคิดแบบนี้ออกมาจากนักวิชาการเลย

ปีต่อมาพ่อแสนสั่นหัวแล้วพูดว่า .. ไม่เอาแล้ว ไม่เลี้ยงหมูแล้ว อ้าว…. พ่อแสนอธิบายว่า สวนป่านี้ผมเลี้ยงสัตว์หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ “หอยหอม” หรือ “หอยแก๊ด” มันอาศัยหญ้าที่รกนั่นแหละเป็นที่อยู่อาศัยและหากิน หมูของผมไปกินหอยซะหมดเลย…อิอิ นี่เองพ่อแสนเลือกหอย ไม่เลือกหมู..อิอิ


ตูบน้อยของพ่อแสนนั้นที่เสาทุกต้นจะมีสังกะสีพันรอบ เด็กหนุ่มจบวิศวะมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังถามว่า พ่อแสนเอาสังกะสีมาพันทำไม.. กันหนูขึ้นไปข้างบน กันได้ดีมาก แต่กันจิ้งจกตุ๊กแกไม่ได้…


บทเรียนจาก เจี่ย บทเรียนจากหมูในคอกเคลื่อนที่ บทเรียนจากสังกะสีพันเสา…และ..ฯ มาจากการกระทำกับมือของพ่อแสนทั้งนั้น

หากเอาเด็กน้อย เยาวชนรุ่นใหม่มาเดินให้พ่อแสนเล่านวัตกรรมเหล่านี้ ก็เป็นการต่อยอดความรู้กันเป็นอย่างดี ซึ่งเราทำมาบ้างแล้ว และจะทำต่อไปอีก


บทเรียนจากการปฏิบัติของช่วงชีวิตของพ่อแสนนี้ เด็กรุ่นลูกหลานควรมาซึมซับเอาไปด้วย

อิอิ งานน่ะมีเหลือล้นครับท่าน..แต่หลายคนมองไม่เห็น…


บันทึกของพ่อแสน

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 15, 2010 เวลา 20:20 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 7653

คนไทยเรามักจะมีจุดอ่อนในเรื่องการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ยิ่งเป็นชาวบ้านด้วยแล้วเป็นที่ถอนหายใจของคนแนะนำทั่วไป ยกตัวอย่างการที่หน่วยราชการแนะนำให้ชาวบ้านจดบันทึกรายรับรายจ่ายทุกวัน ที่เรียกว่าบัญชีครัวเรือน พบว่าล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะว่าชาวบ้านไม่ใช่คนที่มีความถนัดในเรื่องบันทึก แม้พวกเรียนหนังสือก็มีน้อยรายที่เป็นคนที่ทำบันทึกอย่างสม่ำเสมอ


เรื่องการบันทึกอุณหภูมิของพ่อแสนนั้น จริงๆผมเป็นคนแนะนำให้พ่อแสนทำการบันทึก เพราะผมเองก็ไม่ได้คิดมาก่อน แต่ที่หมู่บ้านตีนเขาใหญ่ ริมน้ำลำตะคอง ตอนที่ผมและคนข้างกายสำรวจลำตะคองจากต้นสายไปปลายสายหลายปีก่อน พบคุณลุงท่านหนึ่ง จดบันทึกละเอียดยิบถึงอุณหภูมิเอง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ ตลอดปี ตลอดหลายปี และยังเก็บบันทึกปริมาณน้ำฝนแบบง่ายๆอีกด้วย โดยเอากระป๋องนมมาติดบนยอดเสา หากฝนตกก็เอาไปตวงเอาว่าปริมาณเท่าไหร่ ทำแบบง่ายๆ พบว่าหลายปีต่อมาลุงสามารถคาดการณ์ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง หากอุณหภูมิเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น….สุดยอดจริงๆ

ต่อมาผมทราบว่า ข้าว กข. 6 ที่คำชะอีเกิดโรคระบาด ขณะที่อีกหมู่บ้านในอำเภอเดียวกันไม่มีโรคระบาดเลย นักเกษตรเข้าไปศึกษาพบว่า บ้านที่โรคระบาดนั้นเป็นเพราะความชื้นสัมพัทธ์แตกต่างจากบ้านอื่นเพราะหมู่บ้านนั้นตั้งในหุบเขา…?? นักเกษตรจึงแนะนำให้เปลี่ยนพันธุ์ข้าว ก็ได้ผลไม่มีโรคนั้นระบาดอีก เพราะพันธุ์พืช สถานที่ และความชื้นสัมพัทธ์ แน่นอนหมายถึงอย่างอื่นด้วย เช่นความแปรปรวนของอุณหภูมิ ช่วงเวลาที่ปลูกพืช ฯลฯ


พ่อแสนก็เล่าให้ฟังว่า คนอีสานรู้กันโดยทั่วไปว่า เมื่อฤดูร้อนมาเต็มที่ และเกิดฝนตกแต่อากาศร้อนระอุ นั่นเห็ดป่าจะออก ชาวบ้านต่างมุ่งหน้าขึ้นป่าไปหาเห็ด โดยที่ไม่รู้ว่าความชื้นสัมพัทธ์เท่าไหร่ แต่สัญชาติญาณ และประสบการณ์เป็นผู้บอก

ผมจึงซื้อเทอร์โมมิเตอร์แบบง่ายๆที่มีตุ้มแห้งและตุ้มเปียกให้พ่อแสนไปติดตั้งที่สวนและจดบันทึกทุกวัน เช้า เที่ยง เย็น พร้อมทั้งปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆหากมี

พ่อแสนทำได้ดีมาก ไม่คิดว่าเกษตรกรจะมีความพยายามทำได้ขนาดนี้ เราทำแบบฟอร์มไปให้ พ่อแสนจดลงแบบฟอร์มพักใหญ่ก็ทำแบบฟอร์มตัวเองดีกว่า แล้วก็มีเล่มสรุปเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นแยกต่างหากอีกด้วย โดยให้ลูกๆช่วยกันเขียน ลอกจากเล่มต้นฉบับ

อะไรจะขนาดนั้นพ่อแสน..สุดยอดชาวบ้าน



ถังสี่ใบในรูปนั้น คือตู้เก็บเอกสารของพ่อแสน ชาวบ้านที่เอาเถียงนาเป็น Office จะมีที่ไหนเก็บเอกสารได้ วางที่โน่นที่นี่เดี๋ยวปลวกก็กินเอา เดี๋ยวลมฝนมาก็ปลิวหาย ว่าแล้วก็ลงทุนซื้อถังใบใหญ่น้อยมาใส่เอกสารเก็บมิดชิดกันฝนกันปลวก เป็นสัดส่วน แยกประเภท แยกลุ่ม แยกเรื่อง แยกโครงการ คิดได้ไงพ่อแสน…



รูปซ้ายมือข้างล่าง นึกถึงสวนป่าพ่อครูบาฯ ที่เราไปอาศัยร่มไม้นั่งคุยกันแบบง่ายๆ กันเอง ไม่มีพิธีรีตองอะไร ใกล้ชิดธรรมชาติ กาต้มน้ำนั้นคือสมุนไพร จิบไปคุยกันไป จะนั่งท่าไหนก็ตามสะดวก เป็น Small Group Dialogue ที่วิเศษ ถึงแก่น ถึงใจ สาระหลุดออกมาเต็มๆ ไม่มีกำแพงใดๆขวางกั้น



รูปขวามือนั่น พ่อแสนนำชมกล้า “เร่ว” หรือ “หมากเหน่ง” ที่เอามาจากป่ามาเพาะกล้าไว้ ใครซื้อก็ขาย ไม่ซื้อก็เอาไปปลูกในสวน เร่ว นี่ผมเขียนมาหลายครั้งแล้วว่าเป็นพืชป่าตระกูลข่า ผลเร่วมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็น “ส่วย” หรือ “เครื่องบรรณาการ” ที่โบราณหัวเมืองต้องเอาส่งรัฐบาลกรุงเทพฯ 80 หาบต่อปี ดงหลวงคือดงของ เร่วป่า

นอกจากนี้ยังมีเร่วหอม หอมทั้งใบ ต้น ราก หอมจริงๆ เคยเอาให้ป้าจุ๋มไปปลูก ขยายโดย “ไหล” หรือเหง้าของเขา ดูเหมือน สปาในกรุงเทพฯจะซื้อไปใช้เป็นเครื่องหอมอบห้องด้วย ใครอยากได้ ไปดงหลวงครับ…


พ่อแสนซาดิส..อิอิ..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 14, 2010 เวลา 23:10 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 4805

เมื่อพูดถึงพ่อแสน วงศ์กะโซ่ จุดเด่นคือ เรียนรู้ธรรมชาติอย่างลึกซึ้งแล้วดัดแปลงธรรมชาติมาใช้เพื่อสร้างฐานอาหารของตัวเอง และครอบครัว


พ่อแสนเฝ้าเรียนรู้สรรพสิ่ง ต้นไม้ สัตว์ แม้แต่ตัวเอง พ่อแสนจึงมีนวัตกรรมใหม่เสมอ

ผักหวานป่านั้นเป็นพืชซาดิส ใช้มือเด็ดแบบเต็มๆ ไม่ต้องใช้กรรไกรเก็บยอดแบบกลัวช้ำ ไม่ได้..เหมือนกับความรุนแรงหรืออันตรายต่างๆกับต้นผักหวานนั้นไปกระตุ้นให้เขาแตกใบอ่อนมาใหม่

นักป่าไม้เคยพูดเสนอว่า ไฟป่าเกิดขึ้นเพราะชาวบ้านจุดไฟเพื่อกินผักหวาน ความหมายคือ จุดไฟป่าให้ไฟไปลวกต้นผักหวานช่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง แล้วต้นผักหวานจะรีบแตกใบอ่อน ชาวบ้านบางส่วนก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่มีมารยาทขึ้นหน่อยคือใช้คบไฟจุดขึ้นแล้วไปลนตามต้นผักหวาน แล้วทิ้งไว้ ไม่กี่วันก็จะแตกใบอ่อน



คราวนี้พ่อแสนใช้วิธีฟันกลางต้นผักหวานเลย ดังรูป ฟันแบบไม่ให้ขาดแล้วโน้มกิ่งลงมานอนเฉียงๆ เอาไม้ค้ำยันไว้ เท่านั้นเอง ต้นผักหวานก็จะแตกกิ่งอ่อนในแนวตั้งขึ้นหนีศูนย์กลางแรงดึงดูดโลก.. กิ่งอ่อนเกิดใหม่จำนวนมากทีเดียว


นี่เป็นนวัตกรรมใหม่ของพ่อแสน ความจริงที่ทุกคนนิยมปลูกผักหวานจะประสบสถานการณ์เดียวกันคือ ต้นผักหวานจะสูงขึ้น และยากลำบากในการเก็บใบอ่อนที่แตกใหม่ ชาวบ้านหลายคนใช้วิธีทำร้านเป็นชั้นๆ เพื่อใช้ปีนขึ้นไปเก็บใบอ่อน หากเป็นผู้หญิงก็ลำบากที่จะปีนป่ายขึ้นไป


ปัญหานี้พ่อแสนเผชิญมานานแล้ว และพยายามแก้โดยใช้วิธี โน้มกิ่งอ่อนลงมาแล้วเอาเชือกมัด ตรึงให้กิ่งโน้มต่ำลงมาให้ง่ายต่อการเก็บยอดอ่อน ก็ได้ผลระดับหนึ่ง

และพ่อแสนก็ทดลองวิธีอื่นๆต่อไปอีก นั้นก็คือการตัดต้นดังกล่าวข้างบน


เราโชคดีที่ช่วงนี้ผักหวานเริ่มแตกใบอ่อนพอดี เราได้เห็นความสำเร็จการทดลองของพ่อแสนแล้ว


อยู่กับธรรมชาติ เรียนรู้ธรรมชาติ เอาความรู้จากธรรมชาติมาใช้ ตอบแทนธรรมชาติ เพื่อการอยู่รอดแบบพึ่งตัวเองอย่างสมดุลกับธรรมชาติ

พอแสนมิใช่จะเรียนรู้ธรรมชาติแล้วจะประสบผลสำเร็จไปทั้งหมด คราวหน้ามาดูกันว่าพ่อแสนล้มเหลวอะไรบ้าง

ผมตั้งชื่อให้หวาดเสียวเล่น อิอิ



ปรอทของลุง..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 10, 2010 เวลา 23:58 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2674

ชายผู้สูงอายุท่านนี้ทำเรื่องทึ่งให้ผมและใครต่อใครเสมอ ผมเขียนบันทึกถึงชายคนนี้มากที่สุด ตั้งแต่ G2K น่าจะประมาณ 3-4 ครั้ง ผมมาทึ่งอีกแล้ว เพราะเทอร์โมมิเตอร์ หรือชาวบ้านเรียกปรอทนั้นชายสูงอายุท่านนี้ได้ใช้ประโยชน์มากกว่า เราๆท่านๆ

ราคามันแค่ ร้อยกว่าบาท แต่คุณค่ามันมากกว่าหลายเท่าตัวนัก ก็ดูที่สมุดบันทึกของลุงซิครับ ท่านทำการบันทึกอุณหภูมิทุกวัน เช้า เที่ยง บ่าย แต่ละช่วงบันทึกสองช่อง เพราะเทอร์โมมิเตอร์ของจีนราคาถูกนี้มีเทอร์โมมิเตอร์แห้งและเปียก เมื่อเราทราบค่าสองอย่างเราสามารถเทียบค่าความชื้นสัมพัทธ์ได้


ท่านผู้ใดเป็นนักเกษตร หรือสนใจด้านนี้ย่อมทราบดีว่า อุณหภูมินั้นสำคัญต่อพืชและสัตว์ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ความชื้นสัมพัทธ์ครับ

ลุงท่านนี้มีความขยันเกินชาวบ้านทั่วไป และละเอียดเกินไทโซ่ทั้งเหล่า วันที่บันทึกนั้น มีสิ่งรอบตัวเกิดอะไรขึ้นมา จดบันทึกลงไป โดยเฉพาะเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ พืช สัตว์ แม้แต่ตัวท่านเอง ตัวอย่าง ที่ท่านบันทึกไว้ วันที่ 17 กันยายน มีงูออก วันที่ 28, 30 กันยายน มีลม วันที่ 8, 10, 12, 13, 15 สิงหาคมมีฝนตก วันที่ 6,7 ตุลาคม มีควัน มีอาการภูมิแพ้ วันที่ 9 ตุลาคม มีเห็ดผึ้งออก 8 ดอก….ฯลฯ

ลุงท่านนี้ ชื่อ ลุงแสน วงศ์กะโซ่ วันพรุ่งนี้ พี่น้องสารคาม 30 คนจะไปศึกษาดูงานที่สวนลุงแสน มีอะไรอีกมากที่จะเอามาบอกกล่าวกัน

สองภาพหลังนี่คงบ่งชี้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับลุงแสนได้บ้างนะครับ


ใบปะหน้า..

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 13, 2010 เวลา 23:32 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 3398

วันนี้ไป Dialogue กับชาวบ้านเรื่องการเตรียมจัดวันไทบรูประจำปี 2553

เราแลกเปลี่ยนกันถึงสาระของงาน ในฐานะคนนอก ผมเองติดใจวิถีไทบรูเดิมๆที่ชาวบ้านบอกว่า เคยเล่าให้ลูกๆฟัง ลูกๆบอกว่า พ่อเอานิทานมาเล่า คือเด็กไม่เชื่อว่าสิ่งที่พ่อเล่านั้นคืออดีตวิถีไทโซ่


ผมเสนอให้รวบรวมสิ่งของที่เป็นเครื่องหาอยู่หากินเดิมๆของไทโซ่มาแสดง มีคนมาบรรยาย เชิญเด็กนักเรียนมาศึกษา เรียนรู้ ฯลฯ ทุกคนเห็นดีด้วย แล้วผมก็ลองสอบถามว่า ไหนลองบอกซิว่าเครื่องมือโบราณนั้นมีอะไรบ้าง…

เท่านั้นเอง แต่ละคนก็บอกว่า มีหน้าไม้ ยางน่องอาบพิษ มีเครื่องมือจับสัตว์สารพัดแบบที่ผมนึกไม่ถึงว่าไทโซ่โบราณนั้นจะมีภูมิปัญญาลึกซึ้งขนาดนี้ ง่ายๆ เป็นกลไกที่ง่าย ฉลาดและได้ผล บางคนขับมอเตอร์ไซด์กลับบ้านไปเอาเครื่องมือมาให้ดู บางคนเดินออกไปนอกวงคุย เดี๋ยวเดียวได้ไม้มาท่อนหนึ่ง แล้วก็สร้างเครื่องมือดักสัตว์แบบจำลองแต่ทำงานได้จริงๆให้ดู ฯลฯ


กำลังทำรายงานเรื่องนี้อยู่ครับ

ระหว่างนั้นผมพยายามกระตุ้นว่า การจัดงานต้องมีงบประมาณ ทางโครงการมีอยู่จำนวนหนึ่ง เป็นไปได้ไหมที่กรรมการเครือข่ายไทบรูไปประสานงาน ขอรับการสนับสนุนจาก อบต.ท้องถิ่น


ทุกคนส่ายหน้า บอกว่า เคยไปขอหลายครั้งแล้วเขาไม่เคยให้อะไรเลย ตรงข้าม เขาจะจัดศึกษาดูงานหรูๆ สร้างถนน ซื้อเครื่องจักรที่ไม่มีประโยชน์แก่ชุมชน ฯลฯ แต่ที่เรื่องการลงทะเบียนกลุ่มสวัสดิการชุมชนที่เสนอต่อจังหวัดนั้นยังไม่ผ่าน ทิ้งเรื่องไว้ตั้งหลายเดือน

ชาวบ้านเล่าให้ฟังอีกว่า นายกอบต.บอกว่า ทางราชการรับเรื่องการลงทะเบียนแล้วแต่มีแต่เอกสาร และรายชื่อสมาชิก ไม่มีใบปะหน้าเอกสารเหล่านี้ เขารอให้ อบต.ทำใบปะหน้าไป

นายกบอกว่า ใบปะหน้ามันเป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น และไม่รู้จะทำอย่างไร ทำไม่เป็น…?????

ขำไม่ออกจริงๆ เจ้า “ใบปะหน้า” และ “นายก อบต.” ตำบลหนึ่งของดงหลวง…???


ช่วงเวลาที่ดำมืดของดงหลวง….

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 26, 2009 เวลา 23:03 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2477

ผมมีงานที่จะต้องทำอยู่ชิ้นหนึ่งกับพี่น้องเครือข่ายไทบรู ดงหลวง คือการพูดคุยกันถึงเรื่องระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรมแบบดงหลวง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเราจึงเชิญสมาชิกเครือข่ายไทบรูประมาณ 35 คนมา โดยเอาเวลาชาวบ้านเป็นหลักและเน้นสบายๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไรให้บรรยากาศเกร็งเกินไป


ผมถามชาวบ้านว่าใครอายุมากกว่า 55 ปียกมือขึ้น มี 16 คน นอกนั้นต่ำกว่า จึงให้น้องที่ทำงานแยกกลุ่มชาวบ้านนั้นออกไปนั่งใต้ต้นไม้ ที่มีกองฟาง จึงใช้มารองนั่งได้ น้องจะพูดคุยกับชาวบ้านในหัวข้อ ระบบการปลูกพืชในปัจจุบัน และวัฒนธรรม ประเพณีที่ยังปฏิบัติกันอยู่ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร


ส่วนผมนั้นอยู่กับกลุ่ม สว. คุยกันเรื่องพัฒนาการไทบรูในอดีตจนถึงปัจจุบัน และลงรายละเอียดแต่ละเรื่องเท่าที่เวลาจะอำนวย ความจริงเรื่องเหล่านี้เรามีข้อมูลอยู่แล้ว แต่การมาจัดพูดคุยกัน เพื่อ ตรวจสอบข้อมูล และเติมเต็มในส่วนที่เราต้องการเจาะลึกลงไป


บุคลากรในรูปนั้น อดีต คือ ทปท. หรือทหารปลดแอกประชาชนไทย บางคนมีตำแหน่งเป็นนายพัน ที่คุมงานสำคัญมาแล้ว บางคนเป็นฝ่ายเสบียง บางคนเป็นฝ่ายสร้างมวลชน บางคนเป็นผู้ผลิต บางคนเป็นหมอ ฯลฯ ล้วนทำหน้าที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาแล้วทั้งสิ้น..

บางตอนที่เราพูดคุยกันนั้น ผมสะอึก เหมือนมีอะไรจุกอยู่ที่ลำคอ

บางทราย: พี่น้องครับ ผมอยากเรียนรู้ว่าสมัยที่ท่านเข้าป่าไปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง…


พ่อสำบุญ: พ่อสำบุญพูดออกมาก่อนคนอื่นเลยว่า..อาจารย์ครับ ผมไม่อยากพูด มันยังแค้นอยู่….

บางทราย: ผมสังเกตใบหน้าพ่อสมบุญ นัยน์ตาท่านแดงกล่ำขึ้นมา..ผมตกใจเล็กๆ พยายามอธิบายว่า ผมไม่ต้องการรื้อฟื้น หรือไปสะกิดแผลใดๆให้บรรยากาศชุมชนเราเสียไป แต่เพียงผมอยากเรียนรู้ความเป็นไปของชุมชนนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากพ่อๆไม่สบายใจก็ไม่ต้อเล่าให้ฟังก็ได้ครับ..

พ่อสำบุญ: ผมจะเล่าให้ก็ได้….เราถูกทหารตำรวจกระทำเกินไป ญาติ พี่น้องของพวกเราถูกกระทำเกินไป ใช้อำนาจบาดใหญ่ปฏิบัติกับเราอย่างไม่ใช่คน ชีวิตเราอยู่กับป่า เมื่อว่างจากงานประจำเราก็เข้าป่าไปหาของป่ามากิน มาแบ่งปันกัน ทหารมาตั้งฐานที่อำเภอ แล้วสั่งให้ชาวบ้านทุกคนรายงานตัว แล้วใครจะเข้าป่าต้องไปเอาบัตรที่อำเภอก่อน ซึ่งจะให้บัตรประมาณเวลา เก้าโมงเช้า และจะต้องกลับจากป่าก่อนสี่โมงเย็น มิเช่นนั้นจะถูกสอบสวนและลงโทษรุนแรง

เพราะระยะนั้นมี บุคคลสำคัญของ พคท.มาอาศัยในป่าแล้ว ทหารทราบ และพยายามกันมิให้ชาวบ้านติดต่อ หรือสนับสนุน หากทหารสงสารใครก็จะลากตัวไป ชาวบ้านนั้นตั้งตัวไม่ติด ไม่ชินกับมาตรการต่างๆ ทำตัวไม่ถูก และมีพี่น้องจำนวนมากถูกลากตัวไปลงโทษอย่างรุนแรง ป่าเถื่อน เช่น เตะ เอาท้ายปืนตี หากใครไม่ยอมรับ มีหลายคนถูกจับขึงพืดกางแข้งกางขา โดยไม่มีเสื้อผ้าทั้งชายหญิง เอาไฟลนอวัยวะเพศ….

ครั้งหนึ่งที่บ้านก้านเหลืองดงมีงานวัด ตามประเพณีท้องถิ่น ทหารสั่งว่าใครจะไปเที่ยวงานกลางคืนต้องเอาไฟที่ทำเป็นคบเพลิงไปด้วย ผมก็ไปกับเพื่อนบ้านกันหลายคน เดินกันเป็นแถว คนเดินนำหน้ามีไฟ แต่คนสุดท้ายไม่มี มันเตะเสียข้อมือหักเลย….

มันอยากกินไก่ กินเป็ดก็เอาไปเฉยๆ กลางคืนมีไฟบนยอดเสาสว่าง มันก็เอาปืนยิงซะแตกละเอียดเลย ส้มสูกลูกไม้ มะละกอ มันก็เอาปืนยิงเอา

ที่ร้าย มันขึ้นบ้านไหน ลูกเมียใครหน้าตาดีดีมันก็เอาไปนอนด้วย สุดที่จะมีใครขัดขืนได้ บางคนมีญาติพี่น้องขัดขืนมันก็ยิงตายไปบ่อยๆ แล้วก็ออกข่าวว่าเป็นสายคอมมิวนิสต์ เวลามันจัดงานมันก็เอาพวกสาวๆในหมู่บ้าน เอาครู มาเสริฟอาหาร เหล้ายาปลาปิ้ง แล้วมันก็เอาไปนอนด้วย….

ใครบางคน: อาจารย์..พวกผมน่ะไม่รู้จักเลยว่าคอมมิวนิสต์มันเป็นอย่างไร แต่ที่เข้าป่าก็เพราะทนไม่ได้ต่อเรื่องเหล่านี้ บุคคลดังๆที่เป็นนักการเมืองทั้งเหลืองทั้งแดงนั้น เคยอยู่กับพวกเรามาแล้ว

พ่อสำบุญ: อาจารย์…. ผมสุดทนอีกต่อไป วันหนึ่งมีงานที่อำเภอ ผมนัดสหายป่าสามคน อาวุธครบมือ ปนมากับชาวบ้านเพื่อมาสังหารนายพันท่านนั้น…แต่แล้วบุญเขายังมีอยู่ วันนั้นเขาไม่มาในงาน…..

……

ช่วงที่เราออกจากป่ามาแล้ว ทางราชการจัดงานใหญ่ แล้วเอานายทหารท่านนั้นมา…เขามาขึ้นเวทีใหญ่ มากล่าวขอโทษ มากล่าวสำนึกการกระทำที่ผิดพลาดไปแล้ว นายทหารท่านนั้นร้องให้กลางเวที…

……

ผมปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปจนไม่ได้ควบคุมตามกำหนดการ ปล่อยให้ความพลั่งพรูของพี่น้องปลดปล่อยสิ่งดำมืดในอดีตออกมา

ก่อนที่เราจะหยุดพักกินข้าวกลางวันที่เป็นอาหารพื้นเมืองง่ายๆ ลาบหมู กับต้มไก่บ้าน ส้มตำ ข้าวเหนียวเยอะๆ ชาวบ้านต่างอิ่มหนำสำราญ..

ผมแอบไปนั่งทบทวนสิ่งที่ได้รับมาทั้งหมด.. ใจผมหลุดลอยเหมือนย้อนไปเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมา…เห็นใบหน้าพี่น้องที่ดำกร้าน นัยน์ตาแสดงความรู้สึกที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ

แต่วันนี้ เขาสลัดสิ่งเหล่านั้นไว้ในหลุมดำหมดแล้ว เขารวมกลุ่มกันใหม่ แต่เป็นกลุ่มเพื่อการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง ท่ามกลางกระแสทุนที่ยั่วยวนจิตใจเราให้คล้อยตามไปทุกวินาที

ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมพี่น้องบรู หรือไทโซ่ดงหลวง ผมมองตาท่านเหล่านั้น ผมสัมผัสเรื่องราวย้อนหลังไปได้มากกว่า 50 ปี…. ค่อยๆก้าวไปกันเถอะ

เราไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะมาเนรมิตใดๆ มีแต่ร่วมคิดร่วมทำ เราตระหนักพระราชดำริของในหลวงที่พระราชทานไว้ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา…”


พกพา….

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 24, 2009 เวลา 20:23 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1559


สยามคือชื่อของเขา พ่อเขาตั้งชื่อให้คราวสมัยที่อยู่ในป่า มาบัดนี้สยามโตเต็มที่เป็นหนุ่มกลัดมันเต็มตัว เขาชอบมาใกล้ชิดกับพวกเรา ให้ช่วยทำอะไรก็เอาทุกอย่าง อาว์เปลี่ยนเอามาเป็นลูกมือก็หลายครั้ง สยามก็ก้าวเข้ามาอย่างสนุกสนาน

ชาวบ้านไปไหนมาไหนก็มักติดมีดไปด้วย เผื่อใช้ประโยชน์ต่างๆที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ บางทีเราก็นึกไม่ถึงว่ามีกี่วิธีที่เขาจะพกพาเอามีดไปด้วย แม้จะดูหวาดเสียว ประสบการณ์ก็ช่วยให้เขาคุ้นกับสิ่งเหล่านี้ ก็อยากจะมีสิ่งป้องกันแต่ยังไม่ได้ทำ ก็เอาเท่าที่มีไปก่อน

เรียบง่ายดี..


เรียนรู้ชาวบ้าน..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 12, 2009 เวลา 22:16 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2020

การเฝ้าเรียนรู้ฅนนั้น ไม่ง่ายอย่างพฤติกรรมที่เห็น

คำว่ารู้หน้าไม่รู้ใจ สะท้อนว่าฅนนั้นซับซ้อนมากกว่าตัวเป็นๆที่เห็น

แต่อยากจะพูดอีกมุมหนึ่งว่า พฤติกรรมที่เห็นนั้น ไม่อาจด่วนสรุปความคิดรวบยอดได้เสมอไป


การเข้าใจฅนนั้นต้องสนิทแนบพอสมควรจึงจะเข้าถึงมุมด้านในขิงเขา

ยิ่งเราเป็นคนนอก ชาวบ้านเป็นคนใน เราเองก็ไม่ได้อยู่กินตลอดเวลากับเขา แม้จะรู้ว่า ชาวบ้านนั้นตรงไปตรงมากับเรามาก มากกว่าอีกหลายคนที่ผ่านเข้ามาในวิถีชีวิตเขา แต่ก็ไม่ใช่ที่สุด


วันนั้นที่ประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำ บ้านพังแดงประชุมเพื่อปรับเปลี่ยนชุดบริหารงานใหม่ อดีตประธานมีสิ่งไม่ค่อยปกติหลายอย่าง เช่น ไม่ได้ทำบัญชีค่าใช้จ่ายของกลุ่มทุกครั้งที่มีการรับจ่าย ขอดูเอกสารหลายครั้งก็อิดออดที่จะเอามาให้ดู นัดพบปะกันเพื่อจัดระบบการบริหารงานใหม่ก็ไม่มา อ้างเหตุผลติดธุระต่างๆ ในที่สุดกลุ่มก็ลงมติตั้งประธานคนใหม่ แล้วลุยสะสางระบบต่างๆให้ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้


คณะกรรมการชุดใหม่ดูขึงขัง และ active ประธานคนใหม่รับปากจะเข้าไปเคลียร์กับประธานคนเก่าตามแบบคนในหมู่บ้านเดียวกัน กรรมการคนอื่นๆ ก็เริ่มทำงาน

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ประธานคนใหม่มาบอกว่า ได้พบกับประธานคนเก่าแล้วและได้คุยกันแล้ว พบว่า เขาไม่มีอะไรจะต้องระแวงสงสัยเลย ทุกอย่างมีเหตุผล อธิบายได้ แต่ความไม่พึงพอใจบางอย่างทำให้เกิดอาการปิดตัวเอง เมื่อเข้าถึงอาการปิดตัวเองก็ยุติ และประธานคนใหม่ก็เข้าใจ นำความมาบอกกล่าวกับทุกคนและ เสนอให้ประธานคนเก่าควรทำหน้าที่ต่อไปอีกด้วย


แม้ว่าประเด็นนี้ยังไม่ถึงที่สุด แต่ ได้เรียนรู้ใหม่ๆขึ้นมาในเรื่องการทำงานกับชาวบ้าน พัฒนาฅน พัฒนาชุมชน มีอะไรใหม่ๆให้เราขบคิดเสมอ มีสาระที่ให้เราต้องตามติดอยู่เรื่อยๆ

นึกเลยไปถึงกระบวนวิธีทางการแพทย์สอนนักศึกษาในปีสุดท้ายที่เรียน แพทย์ฝึกหัดนั้น นักศึกษาแพทย์จะต้องออกเยี่ยมเตียงคนไข้ โดยมีอาจารย์หมอยืนเป็นพี่เลี้ยง ให้นักศึกษาเรียนรู้จริงจากคนไข้ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแพทย์ฝึกหัดมีความสามารถเพียงพอจึงผ่านไปสู่การเป็นแพทย์จริงๆ เข้าใจว่าพยาบาลก็เช่นกัน

นักศึกษาพัฒนาชนบท ไม่มีการลงสู่ชนบทแล้วเอาประเด็นที่พบมาถกกันให้ทะลุไป ที่ส่งนักศึกษาไปฝึกงานนั้นก็ดูจะ แค่ได้ไปชนบทเท่านั้นเอง….

อ้าว….ไปจนได้ อิอิ


เปลือก.. กับกระโถน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 29, 2009 เวลา 18:29 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 1569

ตั้งใจจะบันทึกเรื่องราวทำนองนี้ไว้นานแล้ว จะ จะ อยู่นั่นแหละ วันนี้ขอหยุดงานหลักมาเขียนบันทึกนี่ซะหน่อย

ก็คราวที่นานใหญ่ไปดูงานสนามเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี่แหละทำให้จำต้องบันทึกเรื่องนี้ไว้ เดี๋ยวจะผ่านไปอีก อิอิ

เรื่องของเรื่องก็คือ การรับนายใหญ่นั้นเราก็เชิญผู้นำชาวบ้านมาพบด้วยเผื่อท่านทั้งหลายอยากคุยกับชาวบ้านก็พร้อมที่จะให้พบกับชาวบ้าน มาประมาณ 10 คน ในระหว่างที่คุยกันเรื่องทรายถมทับหัวสูบ ก็มีหัวหน้างานคนหนึ่งเดินไปคุยกับชาวบ้านสอบถามเรื่องนั้นเรื่องนี้แหละ แล้วก็เดินกลับไปวงคุยกันนั้น สักพักก็รายงานนายใหญ่ว่า ชาวบ้านให้น้ำพืชโดย flooding หรือปล่อยให้ไหลไปตามลาดเอียงของพื้นที่ให้ท่วมร่องน้ำ และบอกด้วยว่า ข้างปลายท่อไม่ได้น้ำ….

ผมเดาออกเลยว่าทั้งหมดนั้นชาวบ้านหมายถึงอะไร แต่คนที่มาฟังเดี๋ยวเดียวโดยไม่รู้รายละเอียดทั้งหมดนั้นฟังแล้วเข้าใจว่าอย่างไร ผมทำงานระบบ On farm มาก่อนกับพื้นที่ชลประทานที่เขื่อนลำปาวกาฬสินธุ์ และอีก 6 เขื่อนขนาดกลางในอีสานในโครงการ NEWMASIP จึงทราบรายละเอียดพวกนี้ดี ผมทำงานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ออกไปประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำเอง จึงรู้ว่าวิธีการจัดสรรน้ำนั้นทำอย่างไร ใครควรได้ก่อนหลังทั้งตามหลักชลประทาน และตามหลักการพัฒนาชุมชน

แต่ท่านหัวหน้าที่ไปสอบถามชาวบ้านมานั้นเป็นวิศวกรโยธา ไม่เข้าใจความหมาย และรายละเอียดของพื้นที่ และเดาใจชาวบ้านไม่ออกว่าที่เขาพูดถึงนั้นพุ่งเป้าไปที่ไหน สิ่งเหล่านี้หากไม่ได้คลุกคลีกับชาวบ้านแล้วจะตีความหมายคำพูดของชาวบ้านผิดเพี้ยนไปได้

หลักจากที่หัวหน้าท่านนั้นรายงาน ผมเห็นสีหน้าของนายใหญ่ไม่ค่อยดี ซึ่งพอเดาใจได้ว่าท่านคิดอะไร

หากเราดูระบบราชการที่ทำงานกับชนบทนั้นต่างจากระบบ NGO ที่ทำงาน คือ ราชการนั้นจะเน้นงานสำนักงานเป็นหลัก ใช้วิธีสั่งการลงไป เมื่อถึงคราวที่จะต้องลงไปในพื้นที่ก็ลง และเมื่อเสร็จก็กลับ จนกว่าจะมีกิจกรรมใหม่ก็ลงไปอีก….แบบเข้าชนบทเฉพาะกิจกรรมแล้วออก แต่ระบบงาน NGO นั้นการทำงานกับการคลุกคลีชาวบ้านเกือบแยกกันไม่ออก เพราะทุกอย่างเป็นงานและเป็นการชวนคุยธรรมดา ให้เวลากับชาวบ้านมากฯลฯ จึงมีความเข้าใจมากกว่า สนิทสนมกับชาวบ้านมากกว่า ลงลึกมากกว่า ชาวบ้านให้ความเปิดเผยมากกว่า (แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมดนะครับ ดีดีก็มีเยอะไป)

ยิ่งมาแบบฉาบฉวย ชาวบ้านจะพูดเพื่อเปิดโอกาสรอประโยชน์ที่อยากได้รับ… ซึ่งก็เป็นค่านิยม เป็นสิทธิ เป็นความหวังของเขา และหลายแห่งราชการ ให้เสียจนชินเหมือนกัน ดงหลวงก็เหมือนกัน หลังจากที่เขาออกจากป่า ราชการก็อยากดึงเขาเข้ามาเป็นคนไทยที่ไม่มีความต่างทางความเชื่อทางการเมือง จึงทุ่มเทการให้ต่างๆมากมาย แม้ปัจจุบันเขาก็เผลอขอเราเฉยๆก็บ่อย…เผื่อเราใจอ่อนให้… ซึ่งเราก็ให้ แต่ให้ของเรามีเงื่อนไข มีความเข้าใจลึกๆถึงคนนั้น ครอบครัวนั้นมากกว่า ให้แบบคนนอกที่ไม่เข้าใจรายละเอียด

อย่างเช่น เกษตรกรคนหนึ่งเป็นคนขยัน มีพื้นที่ทำกินอยู่นอกโครงการสูบน้ำ แต่ติดขอบพื้นที่รับน้ำ เขาอยากเพาะปลูกพืชนั่นพืชนี่ตามที่เราแนะนำเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โครงการ แกก็ปลูก ก็ทำ โดยพยายามลงทุนต่อท่อจากหัวจ่ายข้ามถนนไปพื้นที่แกจนได้ และก็ประสบผลสำเร็จด้วย เราส่งเสริมอะไร เอาด้วยหมด ไปทุกครั้งก็บ่นว่า “พวกที่มีที่ดินในพื้นที่รับน้ำไม่ทำการเพาะปลูกกัน ผมไม่ได้รับน้ำแต่อยากปลูก” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่เกษตรกรท่านนี้พูดมาก เรียกร้องตลอด และแอบทำการทดลองเอง ตามความคิดความเชื่อของตนเอง ทั้งได้ผลและล้มเหลว

ท่านที่มาจากกรุงเทพฯรับฟังชายคนนี้มาแบบคนนอก ที่ไม่เข้าใจก็รายงานนายใหญ่ หากเราจะแจ้งข้อเท็จจริงก็จะหน้าแตกกันยับเยิน เราถือคติให้อภัยเขาเถอะ…. จึงยอมเป็นกระโถน..

ผมหละฝืนๆความรู้สึกจริง ต่อผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางโครงการที่ผมทำอยู่ เพราะท่านเหล่านั้นมาใหม่ และออกพื้นที่เฉพาะเรื่อง เมื่อออกทำกิจกรรมเสร็จก็กลับ แต่คนที่จังหวัด เดินทางไปมาหาสู่ ไม่มีกิจกรรมก็เยี่ยมเยือน ไปเรื่องอื่น แต่ผ่านหน้าบ้านก็แวะทักทายกัน

เรื่องเหล่านี้เป็นวิถีงานชุมชนที่ต้องทำ แล้วความสนิทสนม ใกล้ชิดเกิดขึ้น เมื่อคนเราใกล้ชิดกัน อะไรอะไรก็ง่าย พูดจากันก็ง่าย เพราะเข้าใจกัน เห็นกันและกันทั้งหมด การทำอะไรก็เปิดเผยจริงใจเข้าหากัน ตรงข้ามการทำงานแบบ เช้าไปเย็นกลับ ไปเช้าวันนี้กลับเย็นพรุ่งนี้ แต่อีกครึ่งค่อนเดือนหรือมากกว่านั้นไปอีกที..มันขาดมิติความสนิทสนมกัน เมื่อขาดตรงนี้ ก็ขาดพื้นฐานการทำงานกับคนชนบท

หากมากไปกว่านี้ก็จะเป็นที่ฝรั่งกล่าวว่า Tourism Development ไป


งานสูบน้ำห้วยบางทราย ดงหลวง

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 12, 2009 เวลา 21:52 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2620

บ้านพังแดง เป็นหมู่บ้านไทโซ่ ที่มีที่ตั้งเป็นที่ค่อนข้างราบ เป็นหมู่บ้านขนาดกลาง อาชีพทำนาปี ข้าวไร่และมันสำปะหลังเป็นหลัก ขึ้นป่าเอาของป่ามาเป็นอาหารและเอาไปแลกข้าวบ้าง จากการทำ Feasibility study เมื่อก่อนที่จะมีโครงการนั้นพบว่าเกษตรกรต้องการแหล่งน้ำมาทำการเกษตร แม้ว่าจะมีลำห้วยบางทรายไหลผ่าน แต่ก็มีปัญหาการนำน้ำมาใช้


โครงการจึงตัดสินใจวางแผนก่อสร้างโครงการสูบน้ำเพื่อการชลประทานขึ้น มีพื้นที่รับประโยชน์ 1500 ไร่ ระบบน้ำใช้การสูบน้ำไปเก็บไว้บนถังแล้วปล่อยน้ำไปตามระบบท่อลึกใต้ดิน 1 เมตร ไปโผล่ที่แปลงนาเกษตรกรจำนวน 145 หัวจ่าย เกษตรกรเป็นผู้รับผิดชอบค่ากระแสไฟฟ้าโดยทางราชการจะรับผิดชอบในช่วง 3 ปีแรก แต่ทั้ง 3 ปีนั้นก็เก็บค่าบริการน้ำจากเกษตรกรทุกเดือนตามมิเตอร์น้ำเหมือนระบบประปาในเมืองในอัตรา ลบม.ละ .65 บาท เก็บเป็นกองทุนไว้ เมื่อปีที่ 4 เกษตรกรก็ต้องรับผิดชอบเต็มร้อยเปอร์เซนต์


รูปซ้ายมือนั้นคืออาคารสูบน้ำเมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ มีเครื่องสูบน้ำสองชุด เป็นระบบอัตโนมัติได้ และ Manual ได้ระบบไฟฟ้าเหมือนระบบที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์
(ดีซะไม่เมี๊ยะ….ดีเกินไป…)

รูปขวามือนั่นแหละคือปัญหา A คืออาคารสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยบางทราย B คือถังเก็บกักน้ำก่อนปล่อยเข้าสู่ระบบท่อ เพราะที่ตั้งอาคารอยู่ตรงทางโค้งทางฝั่งซ้ายของลำห้วยบางทรายเมื่อฤดูน้ำหลากมาถึง น้ำก็พัดพาเอาทรายตามธรรมชาติไหลมาด้วย ซึ่งก็ไหลเข้ามาถมทับหัวสูบน้ำ ตามรูปด้านล่างซ้ายมือ


ปริมาณทรายที่ถมทับนั้นมากมายใช้แรงงานคน ประมาณสองวันเต็มๆ ที่เหน็ดเหนื่อย ขั้นตอนการเอาทรายออกก็ต้องนั่งเรือข้ามฝั่งเอาถุงปุ๋ยที่ซื้อมาจากเมืองไปใส่ทรายบนตลิ่ง ใส่เรือนำข้ามฝั่งมาวางซ้อนทับกันเป็นเขื่อนแล้วสูบน้ำภายในอาคารหัวสูบน้ำออก แค่นี้ก็ค่อนวันเข้าไปแล้ว จากนั้นก็เปิดลูกกรงเหล็กลงไปที่อาคารหัวสูบน้ำค่อยๆตัดทรายทีละกระป่อง จนเอาทรายที่ถมทับหัวสูบน้ำออกหมด..


ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างก็มาร่วมใช้แรงงานกัน ใครติดธุระไม่ได้มาก็เอาไก่ต้มมาแทน วัยรุ่นหรือลูกหลานที่กำลังหนุ่มแน่นก็เป็นแรงงานหลักต่างมาช่วยกันเต็มที่


เหนื่อยก็ล้อมวงกินข้าวเหนียวที่เตรียมมา เนื้อที่เป็นโปรตีนคือ หนูป่าย่างหอมกรุ่น.. ชาวบ้านเหนือยอย่างนี้ทุกปี จนมาสรุปบทเรียนว่า ปัญหานี้ควรแก้ไข โดยการทำหัวสูบน้ำยื่นออกไปกลางลำห้วยบางทราย เพราะตรงนั้นน้ำไหลตลอดจะไม่มีทราย ทางวิศวกรราชการมาดูหลายครั้ง ก็ยังไม่ได้แก้ไขอย่างใด

ชาวบ้านอ่อนใจที่ระบบถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้เตรียมแก้ปัญหาสิ่งนี้ ทุกปีก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งจะต้องระดมแรงงานมาขุดลอก คนที่นั่งอยู่กรุงเทพฯก็คิดว่า “ราชการสร้างให้แล้ว แค่นี้ชาวบ้านก็ช่วยๆกันหน่อยซิ…” อุปสรรคนี้เป็นประการหนึ่งที่ทำให้การใช้ประโยชน์จากโครงการไม่เป็นไปตามที่โครงการคาดหวัง…

ประเด็นคือ ที่สถานที่อื่นที่สามารถตั้งอาคารสูบน้ำได้โดยไม่เกิดปัญหาทรายมาถมทับหัวสูบน้ำ
นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนอื่นๆอีก เช่น ปลายท่อระบบน้ำไม่มีทางเปิดออก, น้ำที่ปล่อยลงท่อแม้จะมีตัวกรอง แต่ตะกอนขนาดเล็กก็หลุดไปตามท่อได้ ก็จะไปจับตัวที่มิเตอร์วัดปริมาณการใช้น้ำ ทำให้เกิดไม่หมุน ก็ไม่ทราบปริมาณการใช้น้ำ ท่อรั่ว แกนวาล์วเปิดปิดน้ำที่เครื่องสูบน้ำเป็นเหล็กหล่อ เกิดหักขึ้นมา ผ่านไปเกือบปีแล้วยังไม่ซ่อม…ฯ

ระบบที่ซับซ้อน ดีเกินไปนั้นเมื่อถ่ายโอนให้อบต. จะสามารถดูแลได้มากน้อยแค่ไหน.. งานแบบนี้หากอยู่ภายใต้ระบบราชการก็ยากที่จะคล่องตัวในการบำรุงรักษา แค่บริหารจัดการระบบก็หนักอึ้งแล้ว ยังต้องมาบริหารชาวบ้านให้มาใช้ประโยชน์อีก…

แค่โครงการสูบน้ำนี้โครงการเดียวก็ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์… มิเช่นนั้นงบที่ลงทุนไปครึ่งร้อยล้านบาท ก็จะเป็นซากอีกแห่งหนึ่งของระบบที่มีเจตนาดี แต่ไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ



Main: 0.075133085250854 sec
Sidebar: 0.063498020172119 sec