กินทุกอย่างที่ปลูก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 10, 2010 เวลา 20:14 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2991

การทำงานพัฒนาชุมชนหรืออื่นๆนั้นเรามักจะตั้งตัวชี้วัดที่สำคัญหนึ่งคือ ความต่อเนื่องยั่งยืน ซึ่งเป็นยาหม้อใหญ่สำหรับนักปฏิบัติ เพราะองค์ประกอบ ที่มาที่ไป การเริ่มต้น เงื่อนไขชุมชน การสนับสนุนจากภายนอก แม้แต่ระเบียบราชการต่างก็มีส่วนไม่มากก็น้อยต่อประเด็นชี้วัดดังกล่าว


เรามิใช่เทิดทูนทุกอย่างที่เป็นชุมชนว่าดีเลิศประเสริฐศรีไปหมด ที่ดีก็มีมาก ที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็มีไม่น้อย ยกตัวอย่างหากเปรียบเทียบครอบครัวกลุ่มผู้ไทกับกลุ่มไทบรู หรือโส้ กลุ่มโส้จะสกปรกกว่า บ้านช่องห้องหอ เกะกะ มองตรงไหนก็เป็นเรื่องต้องตำหนิติติงในมุมมองของคนเมืองอย่างเราไปหมด แต่เราจะไปชี้นิ้วให้เขาเปลี่ยนไปหมดทุกอย่างนั้น เขาคงหนีตะเลิดขึ้นป่าขึ้นดอยไปอีก ก็ค่อยเป็นค่อยไป แต่หลายอย่างของเขานั้น ชนเผ่าอื่นๆอาจจะทำอยากกว่า เช่นการปฏิบัติทำการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเอง โดยเน้นเกษตรผสมผสานตามเงื่อนไขตัวเองนั้น มันสอดคล้องกับวิถีเดิมๆของเขา โส้ทำได้ดีมาก

เมื่อวันก่อนมีประชุมกรรมการเครือข่ายไทบรู แล้วลืมสมุดบันทึก จึงกลับไปเอา พบผู้นำรุ่นสองกำลังปฏิบัติหน้าที่ “คุณมาดี” เจ้าหน้าที่สถิติแห่งชาติที่กำลังทำการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ ใช้เวลาพอสมควร แต่ก็ให้กำลังใจเขาเพราะผลการสำรวจมีผลต่อการพัฒนาประเทศ


พอดีเข้าสู่เวลาอาหารกลางวัน ประสิทธิ์ ผู้นำรุ่นสองอีกคนก็เตรียมอาหาร แบบง่ายๆ ผมไม่ทราบว่าเรียกอะไร เห็นเขาบอกว่าเป็นเมี่ยง ก็แปลกๆ เขาเอาตะไคร้มาหั่น ใส่ครก เอาพริกใส่ ข่ากลางอ่อนกลางแก่ ส้มมะขาม ตำพอแหลก แล้วที่ขาดไม่ได้คือปลาร้า เป็นเสร็จ


แล้ว ภรรยาพ่อหวังก็ไปเอากล้วยอ่อนและปลีมาหั่นใส่กะละมังที่ใส่น้ำ เอาเกลือใส่ลงไปพอสมควรขยำๆแล้วเทน้ำออก ใส่น้ำใหม่เข้าไปเพื่อล้างความฝาด ประสิทธิ์บอกว่านี่คือเมี่ยงของชาวบ้าน เอาปลีกล้วยมาห่อกล้วยอ่อน แล้วไปจ้ำเมี่ยงที่ตำมาแล้วนั้นใส่ปาก หยิบข้าวเหนียวตามไป

สักพักประสิทธิ์ก็เดินไปสวนข้างบ้านคว้าเอาใบมะละกอมาใบหนึ่ง ผมงง งง เอามาทำไม เขาบอกว่าเอามากินกับเมี่ยงนี่แหละ เขาบอกว่า หากกล้วยอ่อนยังฝาดอยู่ก็เอาใบมะละกอมาเพื่อตัดฝาด ความอยากรู้ผมลองชิมดู ก็จืดๆ รสชาติจะอยู่ที่ตัวเมี่ยงที่เขาตำมามากกว่า

ภรรยาพ่อหวังบอกว่า หากมีมะเดื่อก็เอามากินได้ ยิ่งได้มะเข่งยิ่งอร่อย เพราะเขาจะออกเปรี้ยว มะเข่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ใบมีรสส้มใช้แทนมะขามได้ หน่วยสุกกินได้ หน่วยอ่อนจะมีรสฝาด ส่วนมะเดื่อนั้นมีสองชนิด ชนิดหนึ่งนั้นกินไม่ได้ แต่เอาไปให้วัวควายกินเวลาเขาคลอดลูก เพราะจะช่วยให้ “น้องวัว” ตกง่าย น้องวัวคืออะไร นี่ต้องถาม อาวเปลี่ยน ได้ข่าวว่าชอบนัก..

ภรรยาพ่อหวังบอกว่า “นี่ไงปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” เพราะทุกอย่างที่เป็นอาหารมื้อกลางวันนี้ไม่ได้ซื้อหามาเลย และทุกอย่างมีอยู่ในสวนเล็กๆนี่เอง ชาวบ้านถึงบอกว่า เข้าป่านั้นเอาแค่กระติ๊บข้าวไปเท่านั้น อาหารหรือกับข้าวไปหาเอาข้างหน้าในป่า

หากมองในมุมของนักโภชนาการนั้นสอบตกหมด เพราะความสะอาดนั้นไม่ผ่าน..

เรื่องนี้หากหยิบมาพัฒนากันละก็คงใช้เวลามากกว่าโครงการปัจจุบันที่กำลังจะปิดตัวลงน่ะครับ…


ไผ่กับชีวิต

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 9, 2010 เวลา 19:50 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2647


มันเป็นภาพธรรมดาที่ใครๆก็อาจจะเห็นรถมอเตอร์ไซด์ที่บรรทุกไม้ไผ่ด้านหลัง

บางท่านอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่สำหรับคนทำงานชนบทมันมีความหมายที่บ่งบอกเรา ให้รู้ว่าฤดูเก็บเกี่ยวใกล้เข้ามาแล้ว ฤดูหนาวเริ่มเข้ามาแล้ว และ… เพราะไม้ไผ่นี้จะเอาไปทำ “ตอก” มัดข้าว ที่ชาวนา รู้ว่าจะต้องทำอะไรล่วงหน้าก่อนที่ข้าวจะสุกเต็มที่และต้องเก็บเกี่ยว

พ่อบ้านจะเข้าป่าไปหาไผ่ที่เพิ่งผ่านฤดูฝนมากำลังงาม เลือกลำที่ไม่แก่ไม่อ่อน ตัดลงมาให้มากพอที่จะเอาไปใช้ โดยชาวบ้านเขาคำนวณในหัวเสร็จว่า ข้าว ไร่ต้องใช้ตอกจำนวนกี่เส้น หากปีไหนข้าวงามดี ก็เพิ่มจำนวน ไผ่ที่จะเอามาทำตอกที่ดงหลวงนิยมใช้ไผ่ไร่ เพราะปล้องยาวและเหนียว เหมาะที่จะเอามาทำตอกมัดข้าว และใช้สานทำเครื่องใช้ในครัวเรือนตามวัฒนธรรมพื้นบ้านอีกหลายอย่าง


ปัจจุบันอะไรอะไรก็เปลี่ยนไปเยอะ มีอาชีพไปรับจ้างหาไผ่ป่ามาขายทำตอก หรือมีพ่อค้าขายตอกจากภาคเหนือบุกอีสานที่ผมเคยเขียนบันทึกไว้แล้ว การจักตอกนั้น มิใช่ใครก็ทำได้ ต้องมีความรู้มีทักษะมีภูมิปัญญาที่สั่งสมและส่งต่อกันมานานแสนนาน การเลือกไม้ไผ่ การผ่าให้เป็นเส้นการจัก การพ่นน้ำ การผึ่งให้แห้ง ล้วนมีองค์ความรู้และเทคนิคที่ไม่มีการสอนในห้องเรียน แต่มีสอนแบบไม่สอนในชีวิตจริง


ภาพเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งบอกอย่างหนึ่งว่าฤดูกาลเปลี่ยนแล้ว จริงๆมีหลายอย่างที่เป็นความรู้ชาวบ้านที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ชาวบ้านคนหนึ่งบอกผมว่า ช่วงนี้ใส้เดือนจะออกจากรูขึ้นมาบนผิวดิน ชาวบ้านที่เลี้ยงเป็ดก็จะบอกลูกหลานให้เอาตะกร้าออกไปเก็บใส้เดือนมาให้เป็ดกิน หากเป็นเป็ดแม่ไข่ จะได้ไข่สีแดงจัดด้วย….

มีความรู้มากมายที่ซ่อนอยู่ในวิถีชุมชนที่เราเห็น.. หากมีเวลาก็อยากจะบันทึกเรื่องราวเหล่านี้จริงๆครับ..


จากฟักข้าวถึงงานสมุนไพรชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 28, 2010 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 3928

ต้องเข้าไปดงหลวงเพราะงานที่ทำช่วงปิดโครงการ เลยหยิบเอาข้อมูลเรื่องฟักข้าวไปสอบถามชาวบ้าน ได้ข้อมูลจากอาว์เปลี่ยนว่าไปถ่ายรูปผลฟักข้าวมาจากบ้านพ่อชาดี เสร็จงานก็เลยไปดูซะหน่อย

ตรงไปบ้านพ่อหวัง เจอะแม่บ้านและลูกสาว ผมเอารูปที่อาว์เปลี่ยนให้ดู ลูกสาวก็บอกเลยว่าลูกฟักข้าว กินอยู่ มีที่สวน ปีนี้ออกลูกเดียว พร้อมทั้งชี้ไปที่ต้นไม้ของบ้านเพื่อนบ้าน นั่นไงต้นฟักข้าว เลื้อยพันจนไม่เห็นต้นไม้ที่เขาอาศัยเลย กำลังออกลูกส้มๆ


เราเลยไปบ้านพ่อชาดี ตามที่อาว์เปลี่ยนให้ข้อมูล พ่อชาดีนอนหลับก็เลยไปคุยกับศรีภรรยาพ่อชาดี ผมยื่นรูปให้ดู แม่บอกว่านั่นไง ต้นอยู่นั่นไง พร้อมชี้ให้ดู และเดินนำทางเราไปหลังบ้านซึ่งเป็นสวนเกษตรผสมผสานที่พ่อชาดีสร้างมันขึ้นมากับมือ โฮ..หนึ่งสอง สาม สี่ ลูก มีทั้งเหลืองส้มและส้มแดงแก่แล้ว เลยคุยกับแม่ว่าเอามากินไหม แม่ก็บอกว่ากิน เอาลูกอ่อนมาต้มจิ้มน้ำพริก ออกขมนิดๆ เอายอดมาแกง แต่คนไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เมื่อเทียบกับหวาย คนชอบหวายมากกว่า ทั้งที่หวายขมกว่า..

เด็กๆเอาลูกสุกมากินเหมือนกัน แต่ไม่ชอบมากเหมือนผลไม้อื่นๆ


เมื่อผมเอาสรรพคุณที่เป็นเอกสารที่เตรียมไปเผยแพร่ให้พี่น้องไทบรูได้เรียนรู้ แม่ก็ว่า เออ ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะบอกพ่อชาดีเขา…

ฟักข้าวเป็นพืชพื้นบ้านทั่วไป ชาวบ้านรู้จัก แต่ไม่นิยม เท่าที่ผมตรวจสอบความรู้นั้น ชาวบ้านไม่รู้จักสรรพคุณทางยาของฟักข้าว รู้เพียงว่ามันกินได้ ผมคิดว่าแม้ชาวบ้านจะรู้จักสรรพคุณยาในพืชผักหลายชนิด แต่ก็มีพืชอีกหลายตัวที่ชาวบ้านไม่รู้จักสรรพคุณทางยา นี่ก็น่าจะเป็นงานในการพัฒนาชุมชนที่สำคัญหนึ่ง

ปัจจุบันก็ทำกันบ้าง เครือข่ายไทบรูก็มีแผนงานด้านการรื้อฟื้นสมุนไพรโบราณ แต่ก็ยังไม่ได้กว้างขวางเท่าใดมากนัก

ประดงขาวใช้แช่น้ำหรือฝน แล้วเอาน้ำไปทา แก้ปวดเมื่อย

วันนี้ก็พบหมอยาสมุนไพรหนุ่มคนหนึ่ง เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าเขาเป็นผู้รู้สมุนไพร บังเอิญแท้ๆ ที่หลายสัปดาห์ก่อน พิลาพนักงานขับรถบ่นว่า ภรรยาเขาปวดหลังมาก ลุกเดินแต่ละที ยังกะคนเฒ่าคนแก่เดินหลังค่อมไปเลย ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำเราคนหนึ่งได้ยินเข้าก็บอกว่า เออ..ไปเอายาสมุนไพรไปลองดูไหม… พิลาหูผึ่ง แล้วก็ตามไปเอาสมุนไพร เป็นสมุนไพร ชื่อ “ประดงขาว” เป็นต้นไม้ยืนต้นใหญ่ เอาเปลือก ราก แก่น มาแช่น้ำ หรือฝน แล้วเอาน้ำนั้นไปทาตรงปวด พิลาบอกว่า ใช้แล้วได้ผล ภรรยาเดินดีขึ้น อาการปวดเมื่อยลดลง แม้จะยังไม่หายขาดก็ตาม แต่ดีขึ้นจริงๆ

วันนี้พิลาเลยได้ยาไปอีกอย่าง เป็นสมุนไพรรักษาริดสีดวงทวาร จากหมอยาคนเดียวกัน สำหรับญาติที่เป็นมานานและอาการหนักมากขึ้น หมอยาคนนี้บอกว่า หากไม่หายก็ไม่เอาเงิน


สมุนไพรแก้ริดสีดวงทวาร

ระหว่างเดินทางกลับ เราคุยกันว่า ชาวบ้านหลายคนไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นหมอยา แต่หลายคนในหมู่บ้านมีความรู้เรื่องสมุนไพร คนนี้รู้จักสมุนไพรดีสามสี่ชนิด อีกคนรู้จักสมุนไพรดี หก เจ็ดชนิด หรือบางคนรู้จักชนิดเดียว แต่มีประสบการณ์ใช้แล้วได้ผลดี… สมองคิดงานเรื่องนี้ไปเยอะแยะเลย…ทั้งรวบรวม ทั้งตรวจสอบ ทั้งสงวน อนุรักษ์ ทั้งงานวิจัย ทำระบบข้อมูล สัมมนาหมอยา … ทำแผนที่สมุนไพร ฯลฯ

งานแบบนี้มีคน มีกลุ่มทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มีใครทำ แต่ที่ดงหลวงแค่เริ่มต้นเท่านั้นครับ

กลับมาที่ฟักข้าว ความจริง อ.แป๋วเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้วที่ ลานเรียนรู้สบายๆ ที่นี่

http://lanpanya.com/paew/?p=102 และมีข้อมูลมากมายใน goo เช่นที่ หมอชาวบ้าน http://www.doctor.or.th/node/1060 หากสมุนไพรจำนวนมากถูกมหาวิทยาลัยก้าวลงมาในชุมชนสำรวจและเอาสมุนไพรทั้งหลายไปวิจัยน่าที่จะเกิดประโยชน์มากหลาย ซึ่งผมเชื่อว่า บางมหาวิทยาลัยทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งผ่านข้อมูลกลับสู่ชุมชนในระดับกว้าง และสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนหยิบขึ้นมาพัฒนาเป็นสินค้าท้องถิ่น มหาวิทยาลัยไปสนับสนุน ราชการไปสนับสนุนให้ท้องถิ่นนั้นๆผลิตสมุนไพรเหล่านั้นขึ้นมา คล้ายๆโรงพยาบาลอภัยภูเบศร นะครับ

งานเยอะ… จริงๆ ไม่มีทางจบสิ้น อิอิ


วิถีวัว วิถีชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 8, 2010 เวลา 15:17 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2391

ผู้ใหญ่วองไม่อยู่บ้าน ไปภูไก่เขี่ย เห็นว่าวัวหายไปจึงชวนเพื่อนบ้านออกไปตามดู เย็นนี้จะกลับมา แม่บ้านบอกผมเช่นนั้น เมื่อวันที่ไปแวะหาผู้ใหญ่วอง จริงๆเป็นอดีตผู้ใหญ่ แต่เรียกกันติดปาก ก็เลยตามเลย

ผู้ใหญ่วองเป็นไทโซ่น้อยคนที่ช่างพูดจริงๆ พูดน้ำไหลไฟดับ ตรงข้ามกับคนอื่นๆที่รู้จัก อดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยท่านนี้มีบทบาทในสังคมมากพอสมควร เพราะ เป็นผู้ประสานงาน พอช. เป็นหมอดิน เป็นผู้นำไทบรู เป็นนั่นเป็นนี่ แม้จะช่างคุยก็ทำจริงเหมือนกัน แม่บ้านเป็นช่างทอผ้ามีฝีมือผู้หนึ่ง


เมื่อมาหาผู้ใหญ่วองไม่พบก็ไม่เป็นไรฝากความไว้กับแม่บ้านแล้วจะมาเยี่ยมใหม่ เพื่อเตรียมการมาดูงานของ JBIC วันรุ่งขึ้นเราเข้าไปพบ เห็นหน้ากันก็ส่งเสียงมาแต่ไกล

เมื่อวานไปกับพี่น้องเพื่อนบ้าน ขึ้นไปบนภูไก่เขี่ย เพราะตามหาวัว ตามกันมาสามสี่วันแล้วไม่พบวัว ที่ปล่อยขึ้นป่าไปเมื่อเดือนที่แล้ว…

ท่านที่คลุกคลีกับชาวบ้านย่อมรู้ดีว่า ชาวบ้านนั้นหลังเสร็จฤดูดำนาแล้ว ไม่ได้ใช้แรงงานวัวควายแล้ว ก็จะเอาวัวควายไปปล่อยบนภูเขาในท้องถิ่นของตัวเอง ให้เขาหากินเองตามธรรมชาติ สามสี่วัน หรือ สัปดาห์หนึ่ง หรือนานกว่านั้นตามโอกาส ก็ขึ้นไปดูทีหนึ่งว่า วัว ควายไปอยู่ตรงไหน เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรบ้าง หากเรียบร้อยดีก็กลับลงมา แล้วอีกสัปดาห์ก็ค่อยขึ้นไปใหม่

นี่คือวิถีชุมชนที่มีพื้นที่ติดภูเขา ทางภาคเหนือก็เหมือนกัน

บางครั้งที่วัวควายเกิดไม่สบายในป่าในเขา เจ้าของก็จะเอาหยูกยาซึ่งส่วนมากเป็นสมุนไพรไปดูแลรักษา บางทีถูกทำร้ายด้วยสัตว์ป่าก็มี หรือ ถูกลักขโมยไปก็เกิดขึ้น หรือถูกชำแหละทิ้งซากเอาไว้ก็พบเหมือนกัน แต่การปล่อยวัวควายขึ้นไปหากินเองบนภูเขานั้นมิใช่เพียงครอบครัวเดียว ใครๆก็ทำเช่นนั้น ดังนั้นในป่า จึงมี วัวควายเต็มไปหมด นี่แหละเจ้าของต่างก็ขึ้นไปดูของใครของมัน ซึ่งอาจจะไปดูไม่ตรงเวลากัน ต่างก็ช่วยกันดูแล ช่วยกันส่งข่าว เพราะส่วนใหญ่ก็รู้ว่า วัวควายเป็นของใครบ้าง เพราะเขาคลุกคลีกับมัน ย่อมรู้จักมันดี แม้เพื่อนบ้าน

นี่เอง การเอากระดึง หรือกระดิ่งผูกคอวัวคอควายจึงมีความหมายยิ่งนัก เพราะมันเดินไปไหนก็ได้ยินเสียง เจ้าของไม่อยู่ใกล้ๆก็ย่อมรู้ว่า นั่นคือเสียงกระดึงของวัวของใคร เพราะเสียงไม่เหมือนกัน อดีตผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะใช้เวลาบรรจงสร้างกระดึงวัวควายพวกนี้ให้มีเสียงก้องไกล จะได้ง่ายต่อการฟังเสียง นั่นเป็นศิลปะพื้นที่บ้านที่กำลังห่างหายไปแล้ว

การเข้าป่า ย่อมมีพิธีกรรมพื้นบ้าน แล้วแต่ชนเผ่า แล้วแต่ท้องถิ่น แล้วแต่ความเชื่อความศรัทธา ส่วนใหญ่ก็จะยกมือบอกกว่าเจ้าป่าเจ้าเขา ผีเจ้าที่เจ้าทางให้ปกปักรักษา วัวควายให้อยู่รอดปลอดภัย ดังนั้นเมื่อเอาห่อข้าวไปกินกลางป่าก็ต้องเซ่นไหว้เจ้าที่ด้วย

วัวควายก็แปลก เมื่อสิ้นฤดู การเก็บเกี่ยว บางตัวบางฝูงก็เดินกลับบ้านเอง กลับถูกซะด้วย ตื่นเช้าขึ้นมาเจ้าของบ้านเห็นว่า วัวควายที่ไปปล่อยในป่านั้นกลับมาบ้านแล้ว…


ยามนี้ที่ดงหลวงสิ้นสุดการดำนาไปแล้ว คอยลุ้นให้มีฝนตกตามฤดูกาล อย่ามากอย่าน้อย เพื่อความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และที่ยิ่งใหญ่คือต้องการให้ได้ข้าวเต็มที่จะได้เพียงพอกินไปตลอดปี ยามฝนมากไปก็เฝ้าออกไปดูนา เอาจอบเอาเสียมไปเปิดคันนาให้ระบายน้ำออกไป ยามฝนทิ้งช่วงต่างก็จับกลุ่มกันพูดจาพาทีกันว่าจะเอาอย่างไรกันดี…. นี่คือความเสี่ยงที่ชาวนาอยู่กับสภาวะเช่นนี้มาตลอดชั่วนาตาปี…

ผมถามผู้ใหญ่วองว่า ปีนี้ฝนฟ้าบ้านเราเป็นไงบ้าง มากไปน้อยไปอย่างไร.. ผู้ใหญ่วองว่า ใช้ได้ ที่ดงหลวงช่วงนี้น้ำท่าปกติดี แต่ไม่รู้วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรบ้าง… เลยถือโอกาสถามเรื่องชวนเพื่อนบ้านไปขึ้นป่าตามหาวัวว่าพบไหม..

อาจารย์ ผมกับเพื่อนบ้านไปตามกันสามวันจึงพบ แต่มันตายซะแล้ว….

อ้าวทำไมล่ะ.. ผมถาม

ผู้ใหญ่วองตอบด้วยสีหน้าเศร้าว่า มันตกหน้าผาตายครับ.. แหมตัวใหญ่ซะด้วย…เลยทำพิธีเผาซากและส่งวิญญาณมันซะ…


อุปสรรคของการพึ่งตนเองของชาวบ้าน..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 26, 2010 เวลา 22:47 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3045

งานพัฒนาชนบทคือการพัฒนาคน ล้วนเป็นงานที่ยากยิ่งหากหวังคุณภาพ

การพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง เป็นประเด็นใหญ่ที่นับตั้งแต่มีพระราชดำริ หน่วยงานต่างๆก็ขานรับเอาไปปฏิบัติ หน่วยงานที่ทำงานอยู่ก็น้อมรับเอาแนวทางนี้มาปฏิบัติ และมีการติดตาม มีการประเมินผลโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เน้นให้เขาคิดเองกำหนดตัวชี้วัดเอง แม้ว่าเราจะมีกรอบความคิดที่ครอบคลุมมากกว่า แต่ก็ยอมรับการพัฒนาระบบคิดของเขาก่อน แล้วใช้ผลการประเมินสะท้อนกลับไปพัฒนาตัวชี้วัดในช่วงเวลาต่อไป ….การพัฒนาต้องใช้เวลา

เครือข่ายไทบรู ดงหลวง มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเครือข่ายอินแปงแห่งสกลนคร เมื่อเราขอให้คณะกรรมการและสมาชิกประชุมเพื่อกำหนดตัวชี้วัดการพึ่งตนเองขึ้นมาก็ได้แบบฉบับของเขา


ที่ประชุมกำหนดตัวชี้วัดเป็น 4 ด้านหลัก และแบ่งเป็นรายละเอียดย่อยๆอีกเยอะแยะ ซึ่งที่ประชุมมีมาตรฐานการพึ่งตัวเองไว้เป็น “ธง” คณะกรรมการเครือข่ายก็สนับสนุนให้สมาชิกพยายามปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐาน เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ไปประเมินผลโดยใช้มาตรฐานของเขาเป็นตัวตั้ง โดยให้เขาเป็นผู้ถกเถียงกันให้ถึงที่สุดแล้วสรุปเอามาเป็นมติของที่ประชุม ซึ่งเรียกว่า Group Assessment


ผลการประเมินที่ออกมาเราพบว่า คณะกรรมการและสมาชิกมีการพึ่งตัวเองสูงกว่ามาตรฐานหรือบางประเด็นก็เท่ากับค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แม้ว่าจะมีสมาชิกบางส่วนที่มีบางตัวชี้วัดต่ำกว่ามาตรฐานที่เขากำหนด แต่ก็มีเหตุผลที่เรามักไม่ค่อยสืบสาวราวเรื่องมาตีแผ่กัน


ต่อไปนี้เป็นประเด็นหลักสองสามเรื่องที่น่าสนใจ

  • เมื่อเราใช้เทคนิคการประเมินตนเอง (Self Assessment) เมื่อเขาประเมินเสร็จ เอาผลไปให้เพื่อนๆพิจารณาพบว่า เกือบทั้งหมดประเมินตนเองต่ำ เพื่อนๆบอกว่าผลการปฏิบัติของเขาสูงกว่าที่เขาประเมินตนเอง…นี่คือชนเผ่าบรู… หากคนภายนอกควรที่จะเข้าใจความจริงข้อนี้ด้วยเพื่ออธิบายผลการทำการประเมินตนเอง
  • เรามีข้อสงสัยว่ามีสมาชิกหลายคน แม้กรรมการเครือข่ายหลายคน มีผลการปฏิบัติที่เราคิดว่าน่าจะสูงกว่าที่ผลการประเมินออกมา แม้ว่าจะอยู่สูงกว่าเกณฑ์ก็ตาม เราก็เลยถือโอกาสทำ Family profile คือเจาะลึกข้อมูลของครอบครัว แล้วเราก็พบคำตอบ
    • พบว่า ร้อยละ 80 ของสมาชิกเครือข่ายที่ทำการเกษตรผสมผสานและสร้างเงื่อนไขการพึ่งตนเองบนที่ดินที่ยังไม่ได้รับโอนมาจาก พ่อและแม่ ..อาจารย์ ผมยังไม่รู้ว่าพ่อแม่จะเอาที่ดินผืนนี้ที่ผมลงมือทำเกษตรผสมผสานนี้ให้ลูกคนไหน เรามีพี่น้องหลายคน เคยมีตัวอย่างแล้วที่ ลงมือทำเต็มที่ แต่ในที่สุดแม่เอาที่ดินตรงนั้นไปให้น้อง.. ประเด็นนี้สำคัญมากในมุมของชาวบ้าน เพราะไม่กล้าทำการเพาะปลูกเต็มที่ ทั้งที่คิดอยากจะปลูกนั่น นี่ …นี่คือเหตุที่ทำให้การประเมินผลออกมาไม่สูง เหมือนความคิดที่ยกระดับสูงไปนานแล้ว…นี่คือเรื่องใหญ่
    • พบว่า โครงการกองทุนเงินล้าน กองทุน กข.คจ. กองทุนปฏิรูปที่ดิน กองทุนสารพัด.. ที่รัฐบาลเองลงไปในหมู่บ้าน และบางส่วนมีหนี้นอกระบบ ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้สินมากมาย อย่างน่าเป็นห่วง ชาวบ้านแก้ปัญหาโดยการกู้กองทุนนี้ไปปิดหนี้กองทุนโน้น วนไปวนมา บางคนก็รอดพ้น แต่จำนวนมากมีแต่หนักขึ้นเพราะอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีอัตราเสี่ยงสูง ทั้งธรรมชาติและการใช้จ่ายในครอบครัว ค่านิยม และความจำเป็นอื่นๆ เช่น บางครอบครัวส่งลูกเรียนหนังสือมหาวิทยาลัยถึงสองคน ภาระหนี้สินไปกระทบวิถีชีวิต เมื่อถึงกำหนดส่งเงิน หลายคนต้องออกจากหมู่บ้านไปหาเงิน โดยการขายแรงงานทุกรูปแบบเพื่อเอาเงินมาใช้คืน…แน่นอนการอุทิศเวลาเพื่อทำเกษตรผสมผสาน เพื่อบรรลุมาตรฐานการพึ่งตนเองก็ด้อยลงไป ถามว่ามีจำนวนเท่าไหร่…มากกว่าร้อยละ 60 หนักเบาแตกต่างกันไป..

การพึ่งตนเองของชาวบ้านในบางกรณีนั้นเริ่มต้นที่ติดลบ

การทำงานของหน่วยงานเป็นการทำงานเฉพาะส่วน หนี้สินของชาวบ้านที่มีกับที่อื่นเป็นเรื่องของชาวบ้านหน่วยงานนี้ไม่เกี่ยว… เหมือนธนาคารที่ไม่สนใจว่าคุณมีภาระอะไร แต่หนี้ที่คุณมีต้องเอามาคืนเงื่อนไขต่างๆนั้นธนาคารไม่รับรู้..

แต่การทำงานพัฒนาชนบทแบบ “ทั้งครบ” นั้นต้องเอาปัญหาชาวบ้านทั้งหมดมาแบกด้วย ไม่แยกส่วน นี่แหละยาก


เส้นทางของเพ็ญ..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 22, 2010 เวลา 1:07 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2794

การนำหลักการพึ่งตนเองไปประกาศให้ประชาชนเป้าหมายได้นำไปพิจารณาปฏิบัตินั้น แต่ละคำพูดก็ออกมาจากฐานความคิดบนสิ่งที่เรียกว่าเหตุและผล ประกอบกับการศึกษาดู สัมผัสของจริงในสถานที่ต่างๆ จนเรามั่นใจว่านี่คือสิ่งที่ควรนำไปประกาศ

แต่เราไม่เคยปฏิบัติเอง..เพียงหัวใจเราเชื่อมั่น

เพ็ญ เป็นชื่อของชาวบ้านคนหนึ่ง ไม่ใช่อีเพ็ญ แต่เป็นนายเพ็ญ ชายหนุ่มทั้งแท่งด้วยอายุ 47 ปี เขาตระเวนไปขายแรงงานทั่วประเทศไทย ที่ไหนมีงานจ้างเขาไปที่นั่น

แต่แล้ววันหนึ่งเขาเบื่อที่จะเร่ร่อนไปใช้แรงงานรับจ้าง เพราะมองไม่เห็นทางที่จะตั้งเนื้อตั้งตัวได้เลย เพียงสติที่กระตุกเขากลับมาให้คิดในสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ เมื่อไม่มีคำตอบเขาเดินทางกลับบ้านดงหลวงของเขา ทั้งที่ก็ยังคิดไม่ออกว่า แล้วจะทำอะไร

มือที่จับจอบเสียมนั้นต่างจากมือในวันเวลาที่ผ่านไป ผืนที่ดินที่ “แปนเอิดเติด” (โล่งเตียน) ตรงหน้าเขานั้นเขาถามตัวเองว่า จะทำอะไรกับที่ดินตรงนี้ อนาคตเขาจะทำอะไรที่แตกต่างไปจากเพื่อบ้าน พ่อแม่ ที่ต่างก็ย่ำรอย ความยากจนมาตลอด

เป็นช่วงเวลาที่พวกเราเข้าไปทำงานในพื้นที่ ตระเวนไปหาชาวบ้านผู้มีแววแห่งศักยภาพ หรือสนใจ เรานั่งคุยกัน เราชักชวนผ่านผู้นำในพื้นที่ไปดูงานการทำเกษตรผสมผสานเพื่อการพึ่งตนเอง เพ็ญเดินทางไปกับพ่อใบลิกา และพวกเรา ไปดูงานอินแปง ที่นั่นเพ็ญเห็น พ่อเสาร์ พ่อนั่น พ่อนี่ปลูกแต่ต้นไม้เต็มไปหมดบนที่ดินทั้งผืนเล็กผืนใหญ่ แทบจะไม่มีช่องว่างจะให้เดิน ดูพ่อเหล่านั้นอิ่มเอิบมีความสุข มีกินทุกอย่าง มีเสียงนกเสียงกา มีมดแดง มีเห็ดของโปรด มีหน่อไม้ ใบไม้ที่เป็นของเคียงลาบบ้านเรา

เพ็ญแอบคิดเงียบๆว่านี่แหละคือสิ่งที่เขาเดินหา พบแล้ว นี่คือวิถีที่เราต้องการ

อาว์เปลี่ยนเอาระบบน้ำไปให้สนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการและมีแวว วันนั้นเพ็ญหลุดปากออกมาว่า “ผมจะทำให้ส.ป.ก.ดังให้ได้” พวกเราพยักหน้าแล้วก็ลืมไปหมดแล้วว่าเพ็ญพูดอะไรวันนั้น..

วันเวลาที่เปลี่ยนไป จากวันเป็นเดือนเป็นปี เป็นสองปี สามปี สี่ปี….กิจกรรมมากมายผ่านมือเรา สมองเรา ทีมงานและก้าวข้ามปัญหา อุปสรรค การทะเลาะเบาะแว้งกันตามปกติของคนทำงานและความคิด

วันนั้นเพ็ญจูงมือเราไปเยี่ยมแปลงของเขา ว่าอาจารย์ไปดูแปลงผมหน่อย

มันไม่ใช่.. เพ็ญทำอะไรลงไป …บนที่ดินที่เมื่อสามปีที่แล้วมีแต่ดินกับดินและดินไม่มีต้นไม้สักต้น… บัดนี้เต็มไปด้วยต้นไม้สารพัดชนิดเต็มพื้นที่ไปหมด เพียงสามปีบนที่ดินว่างเปล่า บัดนี้เป็นสวนไม้ผลไม้ยืนต้น พืชผัก ไม้ป่านับชนิดไม่ถ้วนที่เพ็ญใช้สองมือปลูกมันด้วยตัวเขาเอง กับศรีภรรยา

ผมจับมือเพ็ญแน่นๆ มองหน้าเขา พร้อมกับโอบไหล่เขา โดยไม่พูดอะไร เราสื่อกันด้วยความรู้สึก…

เมื่อเช้าผมตัดกล้วยไปขายริมถนนได้ 200 บาท วันก่อน ข่า ตะไคร้ คอนแคน ได้มา 300 บาทไม่ต้องไปตลาด แค่ตัดแล้ววางไว้ริมถนนแม่ค้าแย่งกันมาซื้อไปขายที่ อ.เขาวง วันไหนผมตัด เก็บพืชผัก ผมก็ได้เงินทุกวัน

ลูกหลานกลับจากโรงเรียนก็แวะมาสวนผม ผมก็เก็บหมากเม่าให้กิน ปากดำไปเลย เด็กๆก็วิ่งเล่นในสวน..มีความสุข

ผมหลับตาเห็นป่าครอบครัวกำลังโตขึ้นมาบนที่ดินผืนนี้ที่เมื่อสามปีที่แล้วไม่มีต้นไม้สักต้น.. เหมือนพ่อแสนบ้านเลื่อนเจริญ แล้วชีวิตวันวันก็วนไปวนมาอยู่ที่สวนนั่นแหละ เผลอไม่นานก็หมดวัน เพลินไปกับทำโน่นทำนี่กับต้นไม้ทุกต้นในสวน..

มันเป็นความสุขลึกๆของคนทำงานพัฒนา ที่ไม่มีใครมองเห็น

นี่คือฝีมือ ลุงเปลี่ยน.. เมืองหงสา.. เพ็ญเขาฝากความระลึกถึง


ทายาทเกษตรกร

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 18, 2010 เวลา 0:13 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2795

ผมไม่คิดว่าเธอจะเสแสร้ง ผมเชื่อว่าเธอเหล่านั้นพูดความจริง

ผมต้องชื่นชมงานของมูลนิธิสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน เพื่อนร่วมโครงการที่เป็น NGO รับงานด้านพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และงานที่สำคัญคือ สร้างทายาทเกษตรกรขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง


การสัมมนาของเรามีเกษตรกรในโครงการเข้าร่วมมากกว่า 200 คนมาจาก 4 จังหวัดในโครงการคือ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร มูลนิธินี้เป็น เพียงหนึ่ง NGO ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผ่านเครือข่ายอินแปงที่ลือลั่นในอีสานมานาน

ท่านอาจารย์อนันต์ กาญจนพันธ์ แห่งมช.รายงานมานานแล้วว่า โครงสร้างสังคมชาวนาเปลี่ยนไป และหลายปีก่อนเพื่อนรักที่กำลังจะบวชที่เชียงใหม่ก็โทรมาคุยว่า “เฮ้ย..บู๊ด ชาวนาเชียงใหม่เปลี่ยนไปแล้วว่ะ ไม่มีใครทำนาแล้ว เป็นผู้จัดการนาต่างหาก เพราะจ้างแรงงานต่างชาติ เช่นพม่ามาทำแล้ว…??”

ผมกึ่งไม่เชื่อ แต่ก็ต้องจำนนความจริง เหมือนใครต่อใครกล่าวว่า พ่อแม่สร้างสมประสบการณ์เกษตรมามากมาย ปราชญ์และไม่ปราชญ์ทั้งหลายนั้น ลูกหลานท่านจะสืบต่ออาชีพเกษตรกรสักกี่ราย ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่ตำหนิท่านเหล่านั้น แต่สังคมเราเคลื่อนไปทางนั้น ไม่ว่าใครก็หันหน้าไปทางนั้น หันหลังให้ภาคเกษตร ระบบสังคมไม่ได้ใส่ใจจริงจังมากกว่า

แต่วันนี้ NGO นี้ได้สร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาจากการโน้มนำลูกหลานผู้นำเกษตรกรที่ร่วมงานมาพูดคุย มาศึกษา อบรม ศึกษาดูงาน ทำกิจกรรม และลงมือรับผิดชอบงานร่วมกับพ่อแม่

หญิงสามชายหนึ่งบนเวทีในรูปนั่นคือตัวแทนกลุ่มลูกหลานชาวนาของจังหวัดสกลนคร ขอนแก่น มหาสารคามและมุกดาหารที่ล้วนจบปริญญาตรีจากสถาบันต่างๆไม่ไปทำงานที่อื่น กลับมาบ้านเอาศักยภาพมาปรับการเรียนรู้การเกษตรและหลักการการพึ่งตัวเองในท้องถิ่นที่เขาเหล่านั้นอาศัยอยู่


น้องแต๋ว เธอคือลูกสาวของพ่อหวัง วงษ์กระโซ่แห่งเครือข่ายไทบรูดงหลวงเธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า ….”หนูไม่ลืมกำพืดของเกษตรกร” หนูเรียนรู้การเพาะกล้าไม้ ทำเรือนเพาะชำ ทำของใช้ในครัวเรือน เลี้ยงสัตว์ ทำเกษตรผสมผสาน แปรรูปน้ำผลไม้ และอื่นๆ…. แรกๆหนูก็ไม่สนุก แต่หนูได้คุยกับเพื่อนๆที่มาจากต่างจังหวัดต่างก็เป็นลูกชาวนาเหมือนหนู.. แล้วหนูก็สำนึกได้ว่า นี่คือกำพืดหนู..สิ่งที่หนูทำไปตามที่พี่พี่เขาแนะนำนั้น มันทำให้หนูตระหนักถึงชีวิตที่ควรดำรง…

เล่นเอาผู้ใหญ่ พ่อ พ่อ แม่ แม่ ทั้งหลายน้ำตาคลอไปเลยจากคำสารภาพหลังจากที่เธอกล่าวเสร็จแล้วพิธีกรเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น พ่อท่านหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่า ผมซาบซึ้งใจที่ลูกหลานเหล่านี้ได้สำนึกและก้าวเดินตามรอยพ่อแม่ ซึ่งเชื่อว่าเธอจะก้าวไปดีกว่า เพราะเธอเหล่านี้ผ่านระบบโรงเรียนมาสูงกว่าพ่อแม่ และหันกลับมาบ้านเรา ทุ่งนาของเรา วัวควายของเรา ต้นไม้ของเรา ในฐานะที่เป็นพ่อคน ตื้นตันใจที่ลูกๆหลานได้สำนึกในกำพืดของเรา.. เล่นเอาที่ประชุมซึมไปเลย…

น้องแต๋ว เธอเป็นลูกพ่อหวัง วงษ์กระโซ่(ที่เพิ่งออกรายการคุยกับแพะ) แม่ของเธอ สนิทสนมกับเรามาตลอดเราเห็นเธอเป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้ว่าจะเป็นวัยรุ่น ที่มีกลิ่นอายของวัยรุ่นติดอยู่ แต่สำนึกของเธอนั้น ก้าวข้ามสังคมทุนไปแล้ว

เหลือแต่หน่ออ่อนเหล่านี้ต้องคอยรดน้ำพรวนดินให้เติบโตเข้มแข็ง ต่อสู้กับปัญหาข้างหน้าอีกมากมาย หากผ่านไปได้เธอก็คือของจริงที่จะยืนอยู่เคียงข้างพ่อแม่ และสืบต่อสังคมในยุคสมัยของเธอ เราพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้เธอเหล่านั้นอยู่แล้ว…


ท่ามกลางความมืดมน ก็มีแสงสว่างส่องรอดช่องออกมาบ้างนะครับ

ความเหนื่อยล้าของพ่อครูบาฯไม่สูญเปล่าหรอกครับ..


นับก้อนกรวด..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 4, 2010 เวลา 16:44 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2135

คนทำงานพัฒนาชุมชนนั้นต้องเชื่อมั่นว่าชาวบ้านนั้นพัฒนาได้ นี่เป็นหลักพื้นฐานของการพัฒนาคน เงื่อนไขอาจจะอยู่ที่เรามีกระบวนการ วิธีการที่มีประสิทธิภาพแค่ไหน และหรือ คุณสมบัติของชาวบ้านที่มีข้อจำกัดมากกว่าปกติ

ผมเชื่อในหลักการดังกล่าวเพราะตอนทำงานภาคเหนือก็เห็นฝรั่งไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้กับชนเผ่าต่างๆบนภูเขา แล้วชนเผ่าเหล่านั้นก็เปลี่ยนจากนับถือผีมานับถือพระเจ้า เราทึ่งกับความสำเร็จนั้น เราก็มั่นใจว่าเราก็น่าที่จะเข้าไปแนะนำชาวบ้านให้พัฒนาขึ้นได้

และผมก็พบความสำเร็จในหลายพื้นที่เมื่อมองย้อนหลังลงไป แต่ที่ดงหลวงนี่ผมถึงกับสะอึกในหลายครั้งหลายกิจกรรม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นความแตกต่างระหว่างชนเผ่าผู้ไทที่กกตูมกับพี่น้องไทโส้ที่ตำบลพังแดง และตำบลดงหลวง โดยเฉพาะที่พังแดงนี่สาหัสจริงๆ

บังเอิญเรามีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่นี่ ยิ่งนานวันยิ่งบอกตัวเองว่า นี่คือโจทย์ที่ยากมากๆ

เอื้อง เจ้าหน้าที่ของเราผู้ขยันทำงานและรับผิดชอบงานดีเยี่ยมลุยงานที่บ้านพังแดงมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เอื้องกับผมเคยมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ชลประทานลำปาวมาก่อนจึงรู้และเข้าใจกระบวนการกลุ่มผู้ใช้น้ำ แต่สมัยนั้นเราทำงานกับพี่น้องไทอีสาน มิใช่ไทโส้..

เอื้องต้องปวดหัวเมื่อเข้าไปทบทวนระบบบัญชีกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด ทั้งกองทุนต่างๆต้องรื้อทำใหม่ ใช้เวลาไปมากมายทีเดียว แต่เธอก็ตั้งใจทำเพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญแก่กลุ่มในวันข้างหน้า เธอจัดหาเครื่องมือในการทำระบบบัญชีไปให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่ออบรม แนะนำเสร็จก็ปล่อยให้กรรมการกลุ่มทำต่อ ทิ้งไว้เดือนสองเดือนก็ไปดูที ก็พบว่า ยังทำผิด ลงบัญชีไม่ถูก เขียนตัวเลขผิด ลงช่องบัญชีผิด รวมผิด จนกระทั่ง ไม่ได้ลงบัญชีตัวเลขนั้นตัวเลขนี้

เอื้องพยายามที่จะทบทวน แนะนำใหม่ เอาให้เข้าใจและชี้ให้เห็นความสัมพันธ์และความสำคัญของระบบบัญชีที่จะเอาไปตอบสมาชิกได้ในทุกเรื่อง หลังสุดเราประมวลระบบบัญชีได้ว่ามีเงินกู้ค้างอยู่ 5 คน ด้วยยอดเงินประมาณ สามหมืนกว่าบาท และมีกำไรจากดอกเบี้ยจำนวนหนึ่ง เอื้องเสนอให้จัดระบบกำไรให้ลงตัวซะว่าจะเอาไปทำอะไรบ้าง

ที่ประชุมสรุปว่าจะเอากำไรแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 จำนวนร้อยละ 10 เอาไปเป็นค่าตอบแทนคณะกรรมการ ส่วนที่ 2 เอาไปเป็นสวัสดิการสมาชิกกลุ่ม ส่วนที่ 3 เป็นสมทบกองทุน และส่วนที่ 4 เอาไปปันผลให้แก่สมาชิกที่กู้จากกลุ่ม

ในการคิดรายละเอียดตรงนี้ ใช้เวลานานมากเพราะผมสังเกตว่าชาวบ้านนั้นไม่เคยมีประสบการณ์ในการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ จึงมองไม่ออกว่าจะแบ่งกำไรในแต่ละส่วนนั้นควรเป็นเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ต่างถกเถียงกันและที่นิ่งเฉย ยิ่งไม่มีประสบการณ์ ไม่มีตัวเงินนำมาวางพิจารณาจริงๆก็ยิ่งคิดไม่ออก

เอื้องพยายามยกตัวอย่างมาให้เห็นความจริงว่าหากสมมุติว่าปันร้อยละสิบมาให้เป็นค่าตอบแทนกรรมการนั้น หากกำไรหนึ่งพันบาทก็ได้มา 100 บาท เอาจำนวนนี้มาแบ่งปันกันให้เป็นค่าตอบแทนกรรมการเอาจำนวนกรรมการมาหารแบ่งกัน ดูทุกคนพึงพอใจ

แต่การพิจารณาอีกสามส่วนนั้นตกลงกันไม่ได้ เพราะคิดในใจไม่ออก ผมเลยนึกถึงว่าเราเคยใช้หลักการพื้นฐานในการคิดกับชาวบ้านที่เอาสิ่งของมาเป็นตัวแทนง่ายๆให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่นการจัดทำ PRA ว่าแล้วผมก็เดินหาก้อนหินเล็กๆซึ่งมีอยู่ทั่วไปบนผิวดิน ผมหยิบมา 10 ก้อนแล้วก็เอาไปกองให้กลางวงที่ประชุมคณะกรรมการ แล้วบอกว่าสมมุติว่านี่คือ 100 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เราจะพิจารณากัน หินหนึ่งก้อนเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์

พ่อกำนันซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มก็มาร่วมพิจารณาอธิบายและให้คำแนะนำด้วย ดูเหมือนว่าเมื่อเห็นก้อนกรวด 10 ก้อนกลางวงประชุมทุกอย่างก็ง่ายขึ้นทันใด

ที่ประชุมต่างก็จ้องไปที่ก้อนกรวด แล้วกรรมการคนหนึ่งก็หยิบก้อนกรวดออกมา 1 ก้อน บอกว่านี่คือส่วนที่จะตอบแทนคณะกรรมการ ที่เหลืออีก 9 ก้อนกรวด คือ ต้องเอาไปพิจารณาแบ่งให้กับสามเรื่องคือ สมทบกองทุนเงินกู้กลุ่ม แบ่งเป็นสวัสดิการสมาชิกทุกคน และส่วนที่จะเอาไปปันผล

ต่างก็แสดงเหตุผลกันบนกองก้อนหินนั่น ความจริงเราอาจเขียนชื่อกลุ่มเงินที่จะแบ่งลงในกระดาษแล้วเอาไปวางตรงหน้าให้เห็นชัดเพิ่มขึ้นก็ได้ว่า เรากำลังจะพิจารณาแบ่งอีกสามส่วน แต่เห็นว่าทุกคนเข้าใจแล้วและฟังการถกเถียงกันก็รู้ว่าเขากำลังจัดการปันส่วนที่คิดว่าเหมาะสมกันว่าแต่ละส่วนนั้นควรเป็นเท่าไหร่…

ไม่ต้องบอกคำตอบสุดท้ายหรอกครับ เพราะต้องการสะท้อนว่า บางทีการทำงานเรากับชาวบ้านนั้นมาติดสิ่งที่เป็นนามธรรม เพราะเรามักมีแนวคิดที่เป็นนามธรรมเยอะ รูปธรรมน้อย แม้ว่าเราจะเอาสิ่งดีดีมาเล่าให้ชาวบ้านฟังมากมายแต่ไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่ได้สัมผัส ชาวบ้านก็นั่งปากหวอ ไม่โต้ตอบ พยักหน้างึกๆ หลายครั้งเราคิดเลยไปจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานง่ายๆเช่นก้อนกรวด

นึกย้อนไป..เหมือนชนเผ่าโบราณเลยนะ อิอิ


แรงกระเพื่อมราชประสงค์ถึงดงหลวง..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 4, 2010 เวลา 11:50 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2232

ที่กรุงเทพฯ: ไม่คิดว่า 19 พฤษภา 53 จะรุนแรงขนาดนี้


(แหล่งข้อมูลภาพ: จาก FW mail)

ทุกครั้งที่สื่อเสนอภาพออกมาเราอด หดหู่ใจไม่ได้ ทำไมพี่น้องคนไทยต้องมาฆ่าฟันกันอย่างนี้ ต่างไม่เคยรู้จักกัน แค่คิดต่างกันก็มาฆ่าแกงกันได้…

ที่มุกดาหาร: ก่อนปิดโครงการที่รับผิดชอบอยู่มีภารกิจมากมาย หนึ่งในนั้นน้องๆก็ชวนเข้าไปตรวจสอบกิจการของกลุ่มผู้ใช้น้ำก่อนที่จะทบทวนการถ่ายโอนให้กับ อบต. กิจกรรมย่อยเรื่องหนึ่งคือกองทุนเพื่อสนับสนุนการเกษตรในพื้นที่ชลประทานห้วยบางทราย เราเรียกย่อๆว่า กสบ.


มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกกลุ่มที่ขาดเงินลงทุนการเกษตรมากู้ไปได้ตามระเบียบที่กำหนดขึ้น เราสอบถามกรรมการและตรวจสอบระบบบัญชีพบว่า มีสมาชิกค้างจ่ายเงินกู้จำนวน 5 ราย

นายใจ …เป็นอดีตผู้นำของเราคนหนึ่งที่กู้เงินไปจำนวน 5,000 บาท แต่การเกษตรประสบความเสียหาย และมีรายจ่ายจำเป็นอื่นๆเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดรายได้และเงินที่สะสมเก็บออมเพื่อส่งคืนกองทุนต้องถูกนำไปใช้ จึงมีปัญหาไม่มีเงินคืน ด้วยสำนึกบางประการนายใจจึงขอลาออกจากกรรมการและไปหาทางคิดอ่านหาเงินมาคืน..

ปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบ สะเทือนต่อจิตวิทยาของกลุ่ม กล่าวคือ สมาชิกคนอื่นๆไม่ไว้วางใจกลุ่ม กล่าวคือนายใจไม่คืนเงินกู้โดยคนอื่นไม่ทราบข้อเท็จจริง สังคมมักรับรู้แต่ปรากฏการณ์ ไม่ค้นหาความจริงหรือเหตุผล การณ์นี้ทำให้กรรมการปัจจุบันไม่ยอมปล่อยเงินกู้ใหม่ เพราะกลัวว่าผู้กู้จะไม่ส่งคืนโดยอ้างเหมือน 5 คนนั้น สมาชิกที่ทำดีกับกลุ่มมาตลอดก็นินทาวงนอกกลุ่ม เล่าลือกันไปในชุมชน ทำให้กลุ่มมีภาพที่ไม่ดีโดยรวม


คณะกรรมการกลุ่มเองก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร ยิ่งมีแรงกดดันกรรมการก็ยิ่งเครียด เราจึงเสนอขอประชุมร่วมระหว่างกรรมการกับสมาชิกผู้กู้เงินเพื่อศึกษารายละเอียด และปรึกษาหารือแนวทางการแก้ไขต่อไป

ผมทำหน้าที่นำการปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

บางทราย: นายใจครับ กู้เงินจากกองทุนไปเท่าไหร่ครับ เอาไปทำอะไรครับ…ฯ

นายใจ: ผมกู้มา 5,000 บาท เอาไปลงทุนปลูกข้าวและการเกษตรอื่นๆ.. เกิดปัญหาการผลิต จึงไม่มีเงินมาคืน


หลังจากที่เราแลกเปลี่ยนกันพอสมควร …

นายใจ: เดิมนั้นผมมีแผนคืนเงินในเดือนนี้ คือลูกชายผมออกจากทหารก็ไปสมัครเป็นยามของบริษัทหนึ่งในกรุงเทพฯ บริษัทก็ส่งไปทำหน้าที่ตามห้างร้านต่างๆ ลูกผมเขาทราบปัญหาของพ่อก็รับปากจะช่วย เขาบอกว่าจะส่งเงินมาใช้หนี้แทนให้ในเดือนที่ผ่านมานี้ แต่เกิดเหตุการณ์แดงยึดกรุงเทพฯ ห้างร้านยกเลิกการจ้าง บริษัทไม่มีงานให้ลูกผมทำ ก็ไม่ได้เงินค่าจ้าง ลูกก็ไม่มีเงินส่งมาให้ผมเพื่อคืนกลุ่ม…!!!???

หลังจากที่ปรึกษาหารือกันถึงทางออกโดยใช้เชิงบวกคุยกัน ในที่สุดก็เห็นว่ามันสำปะหลังเป็นที่พึ่งสุดท้าย นายใจสัญญาว่าเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554 จะขายมันสำปะหลังแล้วเอาเงินมาคืนให้กลุ่ม พร้อมดอกเบี้ย..

เป็นความจริงที่ผมไม่คิดเลยว่าเหตุการณ์ที่แดงยึดกรุงเทพฯจะส่งผลไปถึงดงหลวง

ในจินตนาการของผมเห็นคลื่นของเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯส่งผลกระเพื่อมกระทบไปทั่วทิศไม่ใช่เฉพาะดงหลวง แต่ทั่วไปทั้งสังคมของประเทศ หนัก เบา แตกต่างกันไป..!!??

ประเด็น

  • นายใจนั้นเป็นระดับนำคนหนึ่งในเรื่องการทำเกษตรผสมผสาน แต่เรื่องรายได้จากกิจกรรมทางการเกษตรยังน้อย กิจกรรมนี้จะสร้างรายได้อย่างไรในเงื่อนไขของแต่ละครอบครัว..
  • คณะกรรมการกลุ่ม กสบ. ยังต้องการพัฒนาการบริหารกิจกรรมกลุ่ม
  • แม้ว่าเกษตรผสมผสานคือการพึ่งตัวเอง แต่สังคมปัจจุบันก็ต้องมีรายจ่าย ดังนั้นรายได้น้อยที่สุดเท่าไหร่ของระดับการพึ่งตัวเองในเงื่อนไขของแต่ละครอบครัว
  • มีประเด็นของงานพัฒนาอีกมากมาย..ฯ


เวลาของอีกวิถีหนึ่ง..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 2, 2010 เวลา 11:12 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2271

ดงหลวงนั้นเป็นพื้นที่อยู่ในหุบเขาของเทือกเขาภูพาน หมู่บ้านที่ทำงานส่วนใหญ่ก็มีภูเขาล้อมรอบ ชาวบ้านเป็นชนเผ่าโส้ หรือไทโส้ หรือบรู เป็นเขตปลดปล่อยเก่าของพคท. เป็นสังคมปิดเพิ่งมาเปิดเอาโดยประมาณปี พ.ศ. 2527 อันเป็นช่วงที่ชาวไทโส้ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย


มาทำงานที่นี่กับอาว์เปลี่ยนก็หลายปี มีทั้งพึงพอใจตัวเองและไม่พึงพอใจในความก้าวหน้าของการพัฒนาทั้งนี้มีรายละเอียดมากมาย หลักๆก็เพราะเรื่องของ “คน” นั่นแหละจนผมเคยใช้คำอธิบายอาชีพตัวเองว่า เป็นคนเข็นครกขึ้นภูเขา ทั้งหนัก เหนื่อย และเริ่มใหม่อยู่เรื่อยๆ ก็ครกมันกลิ้งลงเขาต้องกลับไปเริ่มเข็นขึ้นมาใหม่


นรินทร์เป็นหนุ่มโส้บ้านพังแดงที่ผมชอบแวะไปคุยกับเขาบ่อยๆ เพราะเป็นโส้ที่มีความแตกต่างจากคนอื่นๆอยู่บ้าง คือ เป็นคนหนุ่มที่ทำมาค้าขาย รู้จักคิดอ่านทำธุรกิจเล็กๆแทนที่จะทำนาทำไร่อย่างเดียวเหมือนคนอื่นๆ มีความรู้พอสมควร แต่ก็ยังปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมโส้อยู่อย่างครบถ้วน เขารวบรวมเงินมาเปิดปั้มน้ำมันในหมู่บ้าน และค่อยๆขยายตัวไปทีละเล็กละน้อย เช่น เอาตู้แช่มาขายน้ำประเภทเครื่องดื่ม เอาวัสดุการเกษตรที่ชาวบ้านต้องใช้มาขาย ฯ

เมื่อคืนเรามีการประชุมชาวบ้านเรื่องกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งเริ่มประชุมย่อยมาตั้งแต่บ่ายไปจบเอาเกือบห้าทุ่ม ตอนหัวค่ำเลยแวะไปคุยกับนรินทร์คนนี้ คุยถึงเรื่องการเข้าป่าไปหาของป่า เพราะขณะเรานั่งคุยเรื่องทั่วไปก็มีชาวบ้านหนุ่มๆขับรถอีแต๊ก มอเตอร์ไซด์นับสิบคนมาเติมน้ำมันที่ปั้มของนรินทร์ แต่ละคนแต่งตัวแปลกๆจึงรู้ว่านั่นคือชุดเข้าป่า “เข้าป่ากลางคืน” นี่แหละ


ไปหาสัตว์ป่าตามฤดูกาล หน้านี้ก็มีเขียด อึ่ง กบ ป่า และอื่นๆที่จะพบในป่า ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มชวนกันไปสองคนขึ้นไปต่อกลุ่มหนึ่ง โดยเอามอเตอร์ไซด์ หรืออีแต๊กขับไปใกล้ป่าที่หมายตากัน เอารถจอดทิ้งไว้ชายป่า แล้วก็เอาของติดตัวขึ้นภูเขาไปตามที่เตรียมกัน

สิ่งที่เตรียมก็มีปืนแก็บไทยประดิษฐ์ มีด ร่วมข้าวเหนียว พริก เกลือ ผงชูรส ยาสูบ นรินทร์บอกว่าขาดอะไรก็ขาดได้แต่ยาสูบขาดไม่ได้ ไม่ใช่เป็นซองๆที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังแต่เป็นยาสูบพื้นบ้าน ขายถุงละ 5 บาทพร้อมกระดาษมวน ชาวบ้านบางคนบอกว่า “มันแทงคอ” หรือมันฉุนดีกว่ายาสูบซองๆ

ถามนรินทร์ว่าทำไมต้องเอาข้าวเหนียว พริกเกลือ ผงชูรสไปด้วยล่ะ เขาบอกว่า ..อาจารย์พวกนี้เข้าป่านั้นเขาเดินทางทั้งคืนไปหาสัตว์ตรงนี้ ตรงนั้น ตรงโน้นแล้วเดินทางบนภูเขากลางคืนมันลำบาก เหนื่อย ดึกๆมาสักเที่ยงคืนมันก็หิว ก็จะทำอาหารกินกัน ผมถามต่อว่า อ้าวก็ไม่เห็นเอาหม้อชามรามไหไปเลยแล้วทำอย่างไร นรินทร์ตอบว่า โห อาจารย์ ไม่ต้องเลย เมื่อได้สัตว์ป่ามาแล้วก็ไปหาแหล่งน้ำ แล้วก็ไปตัดไม้ไผ่ป่ามาหุงข้าว มาต้มแกง เขามีวิธีทำ อาจารย์มันหอมไผ่ป่า อร่อยที่สุด อย่างแกงป่าในกระบอกไม้ไผ่แล้ว ก็เอาอีกกระบอกมาผ่าซีก เอาแกงป่ามาเทใส่ทั้งน้ำทั้งเนื้อ


บางคนพกช้อนไปด้วยก็ใช้ซดน้ำแกง ส่วนใหญ่ใช้ใบไม้ชนิดหนึ่งเนื้อเนียนละเอียด เอาแบบไม่อ่อนไม่แก่มารนไฟพออ่อนๆ แล้วห่อทำเป็นช้อนตักน้ำแกงป่าซดกิน อาจารย์เอ้ย…..หอม อร่อยจริงๆ ใบอ่อนๆก็กินได้เลย…ฯลฯ

ชีวิตกลางคืนในป่าแบบนี้ถูกถ่ายทอดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ขณะที่วัยรุ่นในเมืองอาจจะเข้าร้านเนต ไปเป็นเด็กแว้น ไปเที่ยวสถานเริงรมย์ต่างๆ หรือสุมหัวกัน แต่เด็กหนุ่มพังแดง หรือบ้านอื่นๆเข้าป่าไปหาสัตว์ป่ามากินมาขาย เป็นวัฒนธรรมการบริโภค เด็กหนุ่มดงหลวงทุกคนต้องผ่านวิถีชีวิตแบบนี้มาแล้วทั้งสิ้น

มีสิ่งหนึ่งที่คนในเมืองอย่างเราต้องตะลึง ฉงน และคิดมากมาย นรินทร์กล่าวว่า

อาจารย์…พวกนี้เดินป่ากันยันสว่าง ค่อยลงมา เด็กหนุ่มบางคนหาของป่าเก่งพักใหญ่ๆเมื่อได้สัตว์มาพอ ก็จะลงจากภูเขา แต่อาจารย์….เขาจะไม่เข้าบ้านหลัง 5 ทุ่มถึง ตี 5 เขาจะแวะนอนตามเถียงนาชายป่า หรือชายบ้าน ผมแปลกใจถามทำไม นรินทร์บอกแบบจริงจังว่า ชาวบ้านเขาถือ ถือว่าช่วงเวลานั้น “เป็นเวลาของอีกวิถีหนึ่งออกหากิน” เขาจะไม่เดินทางเข้าบ้าน พักซะที่เถียงนาก่อน สว่างค่อยกลับเข้าบ้าน

เวลาอีกวิถีหนึ่ง นั่นคือ เวลาออกหากินของภูติ ผี ปอบ และสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ ที่เป็นความเชื่อของชาวบ้านดงหลวง….

คนในเมืองอย่างเราๆ ท่านๆ รับรู้และเข้าใจ ยอมรับเรื่องแบบนี้แค่ไหน

งานพัฒนาคน ที่จะผสมผสานนวัตกรรมใหม่ๆกับเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร

การอภิปรายของสภาจบไปนานแล้ว… ผมยังคิดเรื่องเหล่านี้จนหลับไป

….!!!???…



Main: 0.093549966812134 sec
Sidebar: 0.081159114837646 sec