ที่นี่มีแรงงานขาย..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 19, 2010 เวลา 13:41 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1875

เช้านี้นายหล้อง เชื้อคำฮด เกษตรกรรุ่นใหม่ของเราที่ประสบผลสำเร็จในการทำการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังมาพบที่สำนักงานในเมือง

ผมเอาเงินมาคืน ส.ป.ก.ครับ ผมจ่ายคืนปีละ 7,000 บาท ปีหน้าก็หมดแล้วครับ นายหล้องบอกพวกเรา


ทางเราแอบดีใจที่หล้อง มีทัศนคติที่ดีต่อการทำการเกษตรแบบผสมผสานและการร่วมทดลองกับโครงการของเรา แม้ว่าจะใส่เสื้อแดง แต่หล้องไม่มีความคิดทางการเมืองแต่อย่างใด เขามุ่งหน้าสร้างครอบครัวใหม่ของเขาอย่างเข้มแข็งและมั่นใจ

อาจารย์ จะเอารถเข้าไปขุดสระน้ำประจำไร่นาให้ผมเมื่อไหร่ ผมอยากทราบ หล้องเอ่ยปากปรึกษากับผม ผมเลยเชคข้อมูลกับวิศวกรโครงการเรื่องนี้ ก็พบว่ารถจะเข้าไปขุดสระน้ำให้ประมาณปลายเดือนหน้า ผมถามว่า ที่ถามเรื่องนี้เป็นห่วงเรื่องการทำไร่ทำนาหรือ..เพราะฝนตกลงมาแล้ว ใครๆก็เริ่มขยับเรื่องนี้กัน

หล้องตอบว่า เปล่า..ผมจะไปจันทร์บุรี… จะไปรับจ้างเก็บเงาะ ผมเคยไปมาแล้ว ค่าจ้างแรงงานคิดกิโลกรัมละ 3 บาท ทำเพียงเดือนครึ่งเดือนก็ได้เงินก้อนเล็กๆกลับบ้าน… มีนายหน้าติดต่อแรงงานอยู่ที่บ้านเปียด ใกล้ๆอำเภอดงหลวงนั่นแหละ นายหน้าคิดค่ารถ 500 บาทต่อเที่ยว บางทีเจ้าของสวนก็ออกค่ารถให้ บางสวนก็ไม่จ่ายให้เราออกเอง


เมื่อเดือนก่อนผมก็ไปรับจ้างแบกเสาปูนที่หว้านใหญ่ ทำงานแค่ครึ่งเดือนครับ…

พิเคราะห์

  • ปกติโครงการหรือใครๆก็พยายามดึงแรงงานให้อยู่กับไร่นา โดยการสนับสนุนให้ทำการเกษตร ทำอาชีพเสริมต่างๆ และอื่นๆ
  • แต่กรณีนี้ หล้องไม่ได้เป็นแรงงานอพยพถาวร แต่เป็นแบบชั่วคราวที่ไปแล้วกลับในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ ครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน เมื่อภารกิจเสร็จก็กลับบ้าน ไม่ได้หางานอื่นต่อ
  • หล้องยังยึดการเกษตรเป็นอาชีพหลัก การขายแรงงานเป็นแบบชั่วคราว ครั้งคราว
  • หล้องใช้เวลาเพื่อขายแรงงาน ต่างจากหนุ่มรุ่นเดียวกันที่มักเลือกการขึ้นป่า ไปหาของป่าเพื่อกินเองและขาย
  • แม้หล้องจะเหล่ รถมอเตอร์ไซด์คันในฝันไว้ แต่ยังไม่มีเงินก้อนจะไปซื้อมา แต่ก็รับผิดชอบเงินกู้ ส.ป.ก. ที่ต้องเอามาคืนตามกำหนด
  • หล้องมุ่งหวังจะได้สระน้ำจากโครงการและใช้เลี้ยงปลา ขอบบ่อจะปลูกพืชสารพัดชนิด และแปลงมันสำปะหลังก็จะเอาความรู้ที่ร่วมการทดลองการเพิ่มผลผลิตไปทำต่อ นาไร่ก็ทำตามปกติ แต่จะหันมาใช้ปุ๋ยน้ำหมักมากขึ้น
  • ผมไม่ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านหล้องที่จะไปจันทร์บุรีเพื่อขายแรงงานกับสวนเงาะ ผมแอบสนับสนุนในใจเพราะรู้ว่าเป็นแรงงานชั่วคราว ดีกว่าอยู่บ้านในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
  • การเขามาถามช่วงเวลาที่ ส.ป.ก.จะไปขุดสระน้ำประจำไร่นา นั้น เป็นการมาหาข้อมูลเพื่อวางแผนงานตารางชีวิตของเขาว่าจะไปจันทร์บุรีไหม ไปเมื่อไหร่ เพื่อไม่สับสนกับช่วงที่มีการขุดสระ ใจจริงเขาให้น้ำหนักการได้สระน้ำมากกว่าไปจันทร์บุรี
  • หล้องเติบโตขึ้น พัฒนามากขึ้น รู้จักคิด พิจารณาอะไรก่อนหลัง อะไรควรไม่ควร


เวลาของการพัฒนา..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 16, 2010 เวลา 8:59 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1911

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเราก็เชิญเกษตรกรที่เข้าร่วมการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังมาสรุปบทเรียนกัน ห้องประชุมของ อบต.ติดงานประชาสังคมแผนงานประจำปี เราก็ใช้ข้างบ้านผู้นำนั่นแหละเป็นสถานที่คุยกัน


แต่น้องๆเอาป้ายชื่อเกษตรกรมาติดหน้าอก เหมือนประชุมกันในโรงแรมใหญ่ในเมือง ขัดตาอย่างไรไม่รู้ แต่ก็ไม่เสียหายอะไร สถานที่ตรงนี้คือเกษตรกรชาวนาชาวสวนที่ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย ถึงสองคน ต้องปั่นเงินค่าเทอมให้ลูกจนจบจนได้ แต่ก็เห็นความยากลำบากของเขา เห็นการดิ้นรนของพ่อบ้านที่เอาทุกอย่างเพื่อลูก สภาพบ้านพักปกติชาวบ้านก็เดาได้ว่า ไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่สะอาด กรณีครอบครัวนี้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ พ่อบ้านวิ่งวุ่นไปกับการหาเงินให้ลูกใช้ทุกเดือน แม่บ้านก็มีลูกน้อย ใครมีครอบครัวเดาสภาพออกนะครับว่ามันวุ่นแค่ไหน หากประคับประคองใจไม่ได้ดีละก็ ทะเลาะกันบ้านแตก


เจ้าหน้าที่โครงการออกไปนำการพูดคุย เอากระบวนการทำการเกษตร เทคนิค รายจ่ายที่เกิดขึ้น ผลที่ได้มา ฯลฯ แลกเปลี่ยนผลกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ เกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมนี้พึงพอใจและเห็นว่าการปลูกมันสำปะหลังคราวต่อต่อไปนั้นจะเพิ่มผลผลิตทำได้อย่างไร

เกษตรกรผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต่างมองเห็นจุดบกพร่องของการทดลองครั้งแรก และเห็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นแต่แสดงความมั่นใจ ว่าหากใส่ใจและเอาวิชาการเข้าไปอีกเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มผลผลิตได้

ถามว่าอนาคตเป็นเช่นไรต่อมันสำปะหลัง และทำไมเราจึงเลือกมันสำปะหลังทั้งที่เรารู้ดีว่าพืชตัวนี้ครั้งหนึ่งในอดีตรัฐบาลทำแผนระดับชาติเพื่อลดพื้นที่การปลูก และเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่เราเองรังเกียจมาในระยะเวลาหนึ่ง

เรามีเหตุผลสองสามข้อที่สนับสนุนการทดลองครั้งนี้คือ

หนึ่ง เป็นพืชที่เกษตรกรปลูกอยู่แล้ว มีความคุ้นชิน ง่ายและปลูกได้ในพื้นที่ที่พืชอื่นๆปลูกไม่ได้

สอง จากการศึกษาเราพบว่ามันสำปะหลังเป็นพืชเกษตรกรปลูกคู่ไปกับข้าว เพราะเป็นหลักประกันการมีข้าวกิน เพราะหากปีใดข้าวไม่ได้ผลผลิตเพียงพอ เขาสามารถขุดมันขายแล้วเอาเงินมาซื้อข้าวกิน เป็นการดิ้นรนสร้างหลักประกันการมีข้าวกินของเขาเอง


สาม มันสำปะหลังกลายเป็นพืชพลังงานไปแล้ว ในอนาคตอาจจะพัฒนามันสำปะหลังในพื้นที่แปลงเป็นพลังงานได้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่า เอามันสำปะหลังไปหมักเมื่อได้แก๊ส ก็เอาแก๊สไปผ่านกระบวนการเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าได้และการทดลองของมหาวิทยาลัยประสพผลสำเร็จกำลังขยายจากห้องทดลองไปสู่ระดับชุมชน การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ อาจจะมีส่วนที่ดีในอนาคตต่อเรื่องนี้ด้วย


เราพบว่าส่วนบุคคลนั้นประสพผลสำเร็จ แต่เมื่อเราถามเกษตรกรว่าความรู้ หรือประสบการณ์ครั้งนี้เอาไปเผยแพร่ให้เกษตรกรในหมู่บ้านได้ไหม..? ต่างร้องโอย..กล่าวว่า

อาจารย์ เขาไม่ฟังผมหรอก… ต่างก็บอกว่า ต้องจัดฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ทุกช่วงการผลิตจริง ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ช่วงเวลานี้การปลูกมันสำปะหลังก็ทำไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าไม่มีเกษตรกรคนไหนทำตามเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทดลองเลย ยังใช้วิธีการเดิมๆ ใช้ต้นพันธุ์ตัดสั้น ปลูกถี่เกินไป ไม่ปรับปรุงบำรุงดิน ฯลฯ ล้วนมีเหตุผลอธิบายเมื่อเราสอบถาม… การขยายผลนั้นไม่ง่ายเลยนะ

ผมนึกย้อนไปที่ “พิลา” พนักงานขับรถของเราที่เขาแอบเอาความรู้ที่เราแนะนำชาวบ้านในโครงการเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยใช้วิธีอินทรีย์ไปทดลองทำเองโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ฉี่วัว และอื่นๆ และพบว่าประสพผลสำเร็จ ก็ไม่มีเพื่อนบ้านเอาอย่าง แม้พี่ชายของเขาเองที่ใกล้ชิดสนิทสนม แม้จะบอกว่าการปลูกข้าวแบบอินทรีย์นั้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง และประหยัดมากกว่าแบบใช้ปุ๋ยเคมีก็ตาม

แต่…แต่ มาปีที่สาม พี่ชายหันมาทำตามแล้ว…

เรานึกย้อนเข้าไปในพื้นที่..คิดไปว่า เออ อีกปี สองปี เกษตรกรในพื้นที่อาจจะหันมาทำตามเกษตรกรที่เข้าร่วมทดลองการเพิ่มผลผลิตของเรานะ

อือ.. การเปลี่ยนแปลงนั้นใช้เวลา ไม่ใช่ข้ามคืนนะ


เรื่องของโจ้ย..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 14, 2010 เวลา 23:42 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2641


รักใครชอบใครนั้น มีต่างเหตุปัจจัยกันมากมาย ต่างมุมมองกันอย่างไม่น่าเชื่อ บางทีเห็นหน้ากันก็นึกชอบ ไม่มีเหตุผล หากถามก็ตอบไม่ได้ ก็มันชอบอ่ะ..

รูปข้างบนนั้น ถ่ายมาจากการประชุมชาวบ้านผู้เข้าร่วมการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบมีสัญญา เราต้องการสรุปบทเรียนก็เชิญมาคุยกัน น้องๆก็ทำป้ายชื่อห้อยคอ ซึ่งผมเองนึกในใจว่าไม่จำเป็นเล้ย เพราะชาวบ้านเขารู้จักกันหมด ทำไมต้องไปทำเป็นพิธีการมากไป เอามันง่ายๆ ลดงาน ประหยัด และไม่แปลกแยกด้วย แต่น้องๆเขาทำ เอ้าทำแล้วก็ใช้


ชาวบ้านนั้นมักได้รับของแจกจากพรรคการเมืองมากมาย หวังอะไรล่ะ..ไม่บอกก็รู้ และพรรคเจ้าบุญทุ่มก็จะปรากฏในชนบทมากมายรวมทั้งที่บ้านพังแดง ต.พังแดง อ.ดงหลวงแห่งนี้ด้วย เจ้าของเสื้อคนนี้ชื่อนายโจ้ย ชื่อนี้จริงๆ ชื่อพิสดารมากกว่านี้ก็มี อิอิ หลังจากที่เราสรุปบทเรียนการปลูกพืชเสร็จสิ้นแล้ว ผมก็พยายามถามชาวบ้านที่มาร่วมประชุมว่า ฤดูการผลิตต่อไปจะสนใจทำการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ต่อไปหรือไม่ นายโจ้ยตอบว่า …แล้วแต่หัวหน้าใหญ่..นายเสร็จโน่น.. หันไปถามคนอื่นก็โบ้ยหน้าไปหาพ่อเสร็จทั้งนั้น..


นายเสร็จหรืออีกชื่อก็คือพ่อเช็ค เชื้อคำฮด ผู้เฒ่าในชุมชนที่มีบทบาทเป็นผู้นำทางธรรมชาติของชาวบ้านในด้านการปลูกพืช ชาวบ้านที่เข้าร่วมการปลูกพืชเศรษฐกิจต่างก็อ้างถึงพ่อเช็ค หากพ่อเช็คปลูกต่อทุกคนก็ปลูกต่อ หากพ่อเช็คไม่ปลูกต่อต่างก็ไม่ปลูกต่อ….เอากะพ่อซิ..ทำไมชาวบ้านต้องขึ้นต่อพ่อเสร็จ ทำไมไม่ตัดสินใจเอง.. งงอ่ะ…

ไม่งงหรอกครับหากเข้าใจชาวบ้าน รู้จักชาวบ้าน

มันเป็นเรื่องราวจากชนบทน่ะครับ…

สิ่งที่ชาวบ้านพูดนี่มีสอนในตำราพัฒนาชนบทที่ไหนบ้างล่ะ…


ภาพเหลืองแดงสมานฉันท์กัน..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 25, 2010 เวลา 20:59 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3101

แม้ว่าจะแดงทั้งดงหลวง แต่ผมก็จับเอาแดงมานั่งคู่กับเหลืองอย่างสันติได้ รักกันจะตายไป ใครก็รู้ว่าแดงดงหลวงนั้นไม่ใช่แดงปกติเพราะที่นี่คือเขตปลดปล่อยแห่งแรก และออกจากป่าเป็นกลุ่มสุดท้าย ดูที่หมวกวิทยากรหนุ่มคนกลางนั่นซิ ดาวแดงชัดๆไปเลย นี่หากเป็นสมัยก่อนก็เรียบร้อยไปแล้ว..


ผมก็ฝอยไป ภาพนี้คืองานวันนี้ที่เพิ่งสิ้นสุดลง มีน้องออตมานั่งชม ฟังสัมมนาแบบบ้านนอกด้วยทั้งสองวันครับ

การสัมมนาแบบบ้านนอกของวันไทบรูดงหลวงครั้งนี้ เราเล่นเรื่องการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ คือไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เน้นการปรับปรุงดินและใช้ปุ๋ยน้ำหมักสูตรต่างๆ เราใช้เยาวชนที่ร่วมการทำการทดลองมา เป็นวิทยากร เพื่อต้องการสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมา ต้องการฝึกการเป็นวิทยากร ต้องการเอาผู้ทำจริงมาเล่าให้เพื่อนชาวดงหลวงได้ยินได้ฟังเอง


เยาวชนหนุ่มคนนี้ชื่อจริงก็ต๊อก ชื่อเล่นก็ต๊อก ใส่เสื้อแดงแจ๋ แถมหมวกดาวแดงชัดๆไปเลย เขาเข้าร่วมงานทดลองการเพิ่มผลผลิตเรามาและติดอกติดใจที่ประสบผลสำเร็จสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 2 ตันต่อไร่เป็น 9 ตันต่อไร่โดยการใช้วิธีอินทรีย์ของเรา แต่นายต๊อกเป็นคนขี้อายสุดๆกว่าจะลากขึ้นเวทีได้ต้องโอ้โลมกันมากมาย แต่เขาก็ขึ้นเวทีจนได้


ชาวเสื้อเหลืองที่นั่งคู่นายต๊อกนั้นชื่อนายหล่อง นี่คือพระเอกของเราเพราะเขาได้ผลผลิตถึง 10 ตันต่อไร่ แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่สูง แต่จาก 2-3 ตันต่อไร่เป็น 10 ตันนั้นมันเป็นตัวเลขที่ทุบสถิติ ทุบความรู้สึกของชาวบ้านแถบนั้นให้ทึ่ง แอบไปดูในแปลงมันกันจริงๆ นายหล่องยิ้มทั้งวัน จนเขาทำการลดพื้นที่ปลูกมันลงมาเพราะมั่นใจว่าแม้พื้นที่ลดลงแต่จะเพิ่มผลผลิตมากขึ้นได้ พื้นที่ที่เหลือก็ไปทำเกษตรผสมผสานซะดีกว่า


เด็กหนุ่มอีกคนที่ใส่เสื้อสีตองอ่อนนั้น ชื่อสยาม เพราะพ่อเคยเป็นคนป่า เขาเกิดในป่าจึงตั้งชื่อสยามซะเลย เขาร่วมทำการทดลองและสามารถทำสถิติเพิ่มขึ้นได้ 6 ตันต่อไร่ เด็กหนุ่มเหล่านี้ยังใหม่กับกระบวนการทอลอง หลายอย่างเขาก็ไม่ได้ทำตามคำแนะนำเมื่อลับหลังเรา แต่ผลงานก็ยังออกมาดีกว่าเดิมๆ แต่เมื่อเอาผลงานทั้งหมดมาคุยกัน เปรียบเทียบกัน เขาก็เกิดสำนึกว่า โอ….นี่ถ้าทำตามคำแนะนำทั้งหมด ผมจะได้ดีกว่านี้…


จริงๆแล้วสองคนนี้ไม่ใช่ชาวเหลือง หรือแดงอย่างที่เดินอยู่ในกรุงเทพฯนี้หรอกครับ ทั้งคู่คือเพื่อนรักกัน อยู่หมู่บ้านเดียวกันและร่วมมือกันทำการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังครั้งนี้ด้วยแต่แตกต่าง Treatment กัน และเป็นเยาวชนแม้จะมีครอบครัวแล้วทั้งคู่แต่วุฒิภาวะก็ยังออกวัยรุ่นมากอยู่


การที่นายต๊อกใส่หมวกดาวแดงนั้นก็เป็นเรื่องปกติ ยิ่งกว่านี้ก็เคยแต่งชุดทหารป่าก็มีให้เห็นครับ

ผมเชื่อว่าเราอยากเห็นแดงกับเหลืองจริงๆในขบวนการสังคมรักใคร่กันแบบนี้

และผมเชื่อว่าทุกท่านก็อยากเห็นเช่นเดียวกับผม…ใช่ใหมครับ..

(อิิอิ ไม่เกี่ยวกันเลยนะ จะเหลืองจะแดง กับการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง เพียงแต่มั่วเอามางั้นๆแหละ ห้า ห้า)


เมื่อคนรักมีชู้..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 22, 2010 เวลา 17:14 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2652

เมื่อภารกิจสังคมและส่วนตัวเบาบางลงมา ก็หยิบงานสำคัญเร่งด่วนมาทำทันที นั่นคือ การเตรียมงานวันไทบรู ซึ่งจะจัดในวันที่ 24-25 มีนานี้ ท่านรองเลขา ส.ป.ก. จะไปเป็นประธาน ผมมีคนทำงานเต็มๆเพียงสามคนกับงานใหญ่ๆอย่างนี้ก็วุ่นวายเอาการ ไหนจะต้องเตรียมสาระทางวิชาการ ไหนจะจัดการเรื่องชาวบ้าน ไหนจะประสานงานข้าราชการที่ต้องเอาตัวเองไปพบหน้าค่าตา พูดจาให้ชัดเจน


ผมบึ่งรถอีแก่ที่วิ่งรอบโลกมาแล้ว 11 รอบ เข้าดงหลวงแต่เช้า เพราะต้องไปประสานงานครั้งที่สอง ที่สาม ที่สี่ กับ เทศบาล อบต. วิทยากร รวมทั้ง โรงเรียนที่เชิญคุณครูนำนักเรียนมาเรียนรู้สาระจากงาน เข้าพบนายอำเภอ ย้ำเรื่องการต้อนรับผู้ใหญ่ ฯลฯ…แล้วก็เข้าลุยถนนฝุ่นแดงๆไปพบผู้นำเพื่อย้ำเรื่องงานต่างๆที่พรุ่งนี้ต้องจัดการ


แล้วสายตาผมก็ไปเห็นกระต๊อบพี่น้องชาวโซ่ หรือ บรู ข้างถนนแดงๆ เอ..ทำไมมีธงแดงอยู่หน้ากระต๊อบนั่น ผมหยุดรถลง และพยายามสอดส่ายสายตาว่ามีใครแถวนั้นบ้าง จะได้ซักถามกัน


ไม่มีใครอยู่.. ผมก็คว้ากล้องถ่าย ฉับๆ…เอนั่นมันธงของชาวเสื้อแดงนี่….


ผมซูมเข้าไป มันชัดเจนเลยครับ….


“โค่นรัฐบาลอำมาตย์ ยุบสภา” เจ็บแปลบเข้าไปในหัวใจ เมื่อคนที่ผมรักไปมีชู้เช่นนี้ พี่น้องโซ่ที่ผมรักไปรักคนอื่น มันเจ็บแปลบจริงๆ แม้ว่าผมจะรู้มานานว่า ดงหลวงนั้นแดงทั้งดง แต่ไม่คิดว่าพี่น้องจะชักธงรบเช่นนี้….


แม้แต่ไก่ดงหลวง ยังแดงไปทั้งตัวเลย คอ งี้แดงแป๋เลย…..

ไม่เชื่อดูใกล้ๆซิ


แม่จ๋า.. พ่อจ๋า..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 6, 2010 เวลา 1:16 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1765

บ่ายวันที่ 4 มีนาคม ที่ดงหลวง…

แม่….. แม่….. แม่……. พ่อ…… พ่อ…. พ่อ….

แม่จ๋า…. พ่อจ๋า…แม่อยู่ไหน พ่ออยู่ไหน หนูหาไม่เจอ…. แม่จ๋า แม่อยู่หน๋ายยยยยย

หนูไม่เกเรแล้ว หนูจะอยู่ใกล้ๆแม่ตลอดเวลาเลย หนูคิดถึงแม่ แม่อยู่หน๋าย… หนูรักพ่อ… หนูรักแม่….แม่จ๋า….

(เขาคงหลงแม่ครับ วิ่งออกมาจากป่าข้างทางแล้ววิ่งเยาะๆไปตามถนนที่ไปทางหมู่บ้าน เขาคงจะวิ่งไปบ้านเพื่อหาแม่หาพ่อเขา น่ารักนะครับ ผมขับรถค่อยๆตามเขาไปเป็นกิโลเลย..)


ขยะ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 22, 2010 เวลา 19:31 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3978

เช้าวันที่จะต้องเข้าไปดงหลวงเพื่อจัดประชุมชาวบ้านวันนั้น อากาศหนาวลง หลังจากที่อุ่นขึ้นมาสองสัปดาห์ เราเองชอบอากาศแบบนี้ แต่หลายคนต้องคว้าเอาเสื้อหนาๆแขนยาวมาใส่ ผมขับรถเอง มีน้องร่วมงานนั่งไปด้วย คุยกันไปหลายเรื่อง


แล้วสายตาผมก็เห็นเด็กกลุ่มหนึ่งเดินหิ้วถุงดำข้างถนน สัญชาติญาณนักข้าวเก่า ผมก็หยุดรถแล้วก็ลงมาดูเด็กกลุ่มนี้ แล้วก็เดินไปสอบถามเพื่อให้กระจ่างต่อพฤติกรรมที่เห็น


หนูมาเก็บขยะหน้าบ้านต่างๆค่ะ เอาไปให้ที่สถานีอนามัยค่ะ หมูเพิ่งมาครั้งแรก แต่คนอื่นมากันก่อนหลายวันแล้ว คุณครูจัดเวรมาเก็บขยะค่ะ….

ผมเอ่ยปากขอดูขยะในถุงดำได้ไหมว่าได้อะไรมาบ้าง.. เด็กๆตอบว่าได้ซิคะ


ผมคุยอีกสองสามคำถามก็ปล่อยให้เด็กทำหน้าที่ของเขาไป ก่อนที่ผมจะขึ้นรถไปยังภารกิจที่นัดหมายเช้านี้ ผมมองไปอีกซอยซึ่งอยู่อีกฟากของถนน ผมเห็นกลุ่มเด็กชายทำในสิ่งเดียวกัน เขาคงแบ่งพื้นที่รับผิดชอบกัน…


แหมน่ารักที่สุดเลยที่เห็นภาพเหล่านี้ และชุมชนนี้ก็สะอาด ชื่นอกชื่นใจ ผ่านไปมาก็เห็นทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สกปรก รุงรัง น่าอยู่น่าอาศัย ชุมชนนี้เป็นผู้ไท อยู่บริเวณตะวันออกของตัวอำเภอดงหลวง

ผมขับรถไปก็รู้สึกว่าเช้านี้รู้สึกดีดีจังเลย


ใบไผ่..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 21, 2010 เวลา 21:37 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4663



หลายวันที่ผ่านมาอากาศที่ดงหลวงเย็นลงพรวดพราด เหลือ 19 C การเสวนากลางป่าจึงมีภาพอย่างที่เห็น แต่ละคนนั้นฉกาจฉกรรกับอดีตมา ผมกำลังให้เวลารวบรวมเรื่องราวของท่านเหล่านี้อยู่ครับ


หลังจากหลงไปหลายปีเราก็หันมาคุยเรื่องหลักของชีวิตคือ ข้าว เราพบว่าข้าวพันธุ์พื้นบ้านหายไปมากแล้ว เราจึงพยายามค่อยๆรื้อฟื้นมาใหม่ ขณะเดียวกันก็ค่อยๆขยับกระบวนวิธีการเพิ่มผลผลิตข้าวด้วยวิธีที่ห่างไกลจากสารเคมี

ไม่ขอลงรายละเอียดเพราะมันยาว…..

มีหลายขั้นตอน หลายวิธี หลายประเด็น ที่เป็นองค์ประกอบของการเพิ่มผลผลิตข้าว ทุกคนนั้นใช้น้ำหมักชีวภาพ สูตรต่างๆ ช่วงเวลาที่ใส่ก็แตกต่างกันไป เทคนิคการใส่ก็หลากหลาย เอามาแบ่งปันกัน ….


สิ่งหนึ่งที่ พูดเป็นเสียงเดียวกันคือการฟื้นฟูดิน หลังจากที่หลงไปกับราชการที่มาเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากพันธุ์พื้นบ้านเดิมมาเป็นข้าว กข. แต่ต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใช้สารเคมี ดูแลน้ำ วัชพืช ฯลฯ แล้วดินก็ตายลงไปเรื่อยๆ


พ่อสำบุญ วงศ์กะโซ่ ลุกขึ้นเดินไปหยิบใบไผ่ที่มีอยู่เต็มทั่วไปมากำมือใหญ่ แล้วพูดว่า…พี่น้องผมใช้สิ่งนี้ปรับปรุงดิน ใบไผ่นี่แหละคือปุ๋ยชั้นเลิศ ไม่ต้องคอยให้มันผุพังไปแล้วจึงเอาไปใส่นา มันช้าไป ผมเอาไปใส่คอกหมู ปกติเราทำหมูหลุมใช่ไหม และเราไปซื้อแกลบมาใส่รองพื้น แล้วก็เอาแกลบนั้นไปใส่นา พี่น้องก็ทราบว่าแกลบเดี๋ยวนี้เป็นราคาไปหมดแล้ว คันรถอีแต๊กราคา 80-100 บาท นาเรามีกี่ไร่ กว่าจะใส่หมด เราสู้ไม่ไหวหรอก อย่าไปหวังแกลบ เอาใบไผ่นี่แหละครับ เก็บกวาดเยอะๆ แล้วเอาไปใส่คอกหมู คอกวัว คอกควายของเรา มันก็ซับขี้ เยี่ยว และสัตว์มันก็ย่ำใบไผ่ ป่น คลุกเคล้ากันดี ไม่นานเท่าไหร่ ก็พอดีเอาไปใส่นาของเรา เอาไปทำเถอะครับ ผมทำมาแล้วได้ผลดีมาก ข้าวงาม รวงใหญ่ น้ำหนักดี ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากทีเดียว…


เราเพียงแค่จัดกระบวนการเรียนรู้ใต้ร่มไผ่ กลางธรรมชาติแห่งวิถีของเขา ค่อยๆกระตุก เคาะมุมมอง การทดลองและผลที่เกิดขึ้นจริง การเรียนรู้ในแนวราบมีคุณค่าและเกิดผลมากด้วยเงื่อนไขที่เขาไม่มีกำแพงมาขวางกั้น

เดินไปข้างหน้าอย่างค่อยๆไปเถอะพี่น้องไทโซ่ดงหลวง..ด้วยความมั่นใจ.


กรรมชิน 2

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2010 เวลา 14:53 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2841

พวกเราสรุปกลุ่มผู้ไทและไทโซ่มาก่อนแล้วว่า ผู้ไทนั้นปรับตัวได้ดีต่อการไหลบ่าเข้ามาของสังคมใหม่ เทคโนโลยี่ใหม่ แนวความคิดใหม่ๆ แต่ ไทโซ่นั้น ปรับตัวได้ช้ากว่า มีลักษณะเฉพาะสูง มีลักษณะความพอเพียง แต่คำนี้สำหรับกลุ่มคนไทโซ่ต้องวิเคราะห์ลึกๆ คำเดียวกันแต่ต่างความหมายกันนะครับ


ย้อนกลับไปพิจารณาข้อสรุปของพระอาจารย์นรินทร์ ที่ว่า ..ไทยดำนั้น ชอบอยู่ป่า ติดการเข้าป่า พอเพียง ยึดติดประเพณี นิยมให้ทานมากกว่ารักษาศีล นับถือผี และ “กรรมชินหรือความเคยชิน”…


ไทโซ่นั้น อะไรอะไรก็ป่า ทั้งอาหารที่ถูกปาก เหมือนคนอีสานชอบหอยจูบ ได้สัตว์ป่ามานั้น เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม ก็มันชอบอ่ะ ที่เราเรียกทางวิชาการว่าวัฒนธรรมการบริโภค เมื่อมีเวลาก็เข้าป่าไปหาอาหารที่ชอบ

ไปหาของป่ามาขายตามฤดูกาล ฤดูนี้สิ่งที่มีราคาคือ ผักหวานป่า วันนี้ราคาที่หมู่บ้าน ขีดละ 25 บาทครับ หากเป็นดอกผักหวานจะสูงถึง 40 บาทต่อขีด หอยหอม ปูภูเขา ตัวแลน ตัวอ้น ตัวบ่าง ล้วนเป็นอาหารเลิศรสและมีราคา


ได้กินแล้ว ได้ขายแล้วได้เงินมาแล้ว ก็สบายใจ เว้นวันสองวันขึ้นป่าอีก นี่คือความหมายพอเพียงที่พระอาจารย์พูดถึง หรือใครต่อใครพูดถึง ความพอเพียงนี้จึงมีความหมายเฉพาะ ไม่เหมือน หรือแตกต่างจากความพอเพียงที่ในหลวงท่านทรงพระราชทานมา

รายได้ที่มาจากของป่าจึงไม่มีความมั่นคงแน่นอน ทำไมไม่รู้จักเลี้ยง ปลูก ขยายในพื้นที่ดินของตัวเอง.. เป็นคำถามีที่เราถามตัวเอง และตั้งคำถามชาวไทโซ่มานาน ก็มีบางคนซึ่งเป็นส่วนน้อยที่ทำเช่นนั้น เช่นพ่อแสน หรือกลุ่มผู้นำในเครือข่ายไทบรูเป็นหลัก แต่ภาพรวมนั้นยังน้อยอยู่


เทคโนโลยี่ใหม่ๆที่เราเอาเข้ามาแนะนำเราก็พบว่า เราต้องทำหน้าที่เหมือนเลี้ยงเด็กเล็ก ดูแลอย่างใกล้ชิด อะไรที่ซับซ้อนก็ผิดพลาด และเรียนรู้ช้า หรือปฏิเสธไปเลย แล้วกลับไปทำแบบเดิมๆ ตรงนี้เองแตกต่างจากกลุ่มผู้ไทที่ปรับตัวได้ดีกว่า พยายามเรียนรู้และยกระดับตัวเองเสมอ สำหรับพ่อแสนนั้นเป็นกรณีพิเศษจริงๆของไทโซ่


เหล่านี้คือ กรรมชิน หรือความเคยชินของไทโซ่ที่พระอาจารย์นรินทร์ท่านสรุปเองซึ่งมาตรงกับข้อสรุปของพวกเรา

พระอาจารย์นรินทร์ ท่านสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า “มันเป็นจริตของเขานะ มันเป็นอุปนิสัยของเขานะ…..”

ในแง่ของงานพัฒนานั้น เราไม่ได้ท้อถอย หรือหยุดเพียงแค่นี้ ตรงข้าม เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องหาสิ่งที่คลิกกับกลุ่มไทโซ่ให้ได้ มันท้าทายคนทำงานพัฒนายิ่งนัก แต่ที่รำคาญหัวใจก็คือ เรามักจะขัดคอกับกลุ่มผู้บริหาร หรือคนที่นั่งอยู่ข้างบนเสมอ เพราะเขาไม่เข้าใจ และพยายามไม่เข้าใจ มองอย่างเดียวคือ output ทำไมไม่อย่างนั้น ทำไมไม่อย่างนี้

อธิบายอย่างไรก็ “บ่หัวซา” อิอิ


อัสดงที่ดงหลวง

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 17, 2010 เวลา 23:32 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2287


ที่บ้านพังแดง ต.พังแดง อ.ดงหลวง เราเห็นพระอาทิตย์กำลังจะลาลับซีกโลกนี้ไป อดไม่ได้ที่จะหยิบกล้องตัวเก่าของเราขึ้นมาหยุดความงามไว้ที่เวลา 17:59 น.

เราไปพูดคุยกับชาวบ้านในเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวแบบอินทรีย์ และแลกเปลี่ยนเรื่องอื่นๆ


เอาร่มเงาต้นไม้ที่บ้านสวนของชาวบ้านคนหนึ่งเป็นห้องเรียน ใช้งบราชการอย่างไรก็สลัดรูปแบบบางอย่างไม่หมด เพราะเขาต้องเอาไปรายงาน อิอิ เอาเถอะ เน้นสาระที่ควรเกิดขึ้นมากกว่าว่าคุยกันแล้วได้อะไร…

ดีครับเอาชาวบ้านที่ลงมือทำนาทดลองมาเล่าให้ฟังแล้วสอบถามกันแบบถึงแก่น แล้วเอาประสบการณ์ครั้งนี้ไปพิจารณาใช้ต่อไป


บางมุมของชนบทก็ดูมีความหมายลึกๆซ่อนอยู่นะครับ

เลยเอารูปที่ชอบมาฝากครับ



Main: 0.059798002243042 sec
Sidebar: 0.047128200531006 sec