บัณฑิตชนบท..

อ่าน: 1794

ที่สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งรับนักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนมาฝึกงาน อาจารย์ก็มอบงานให้ทั้ง 5 คนไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสนามตามแผนงานที่มีอยู่แล้ว

ก่อนลงสนามก็ต้องมาคุยกันก่อนว่ามี วิธีเก็บข้อมูลอย่างไร กระบวนวิธีมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และอีกมากมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักวิชาการ หรือนักพัฒนาชุมชนเมื่อจะเก็บข้อมูลก็ต้องมาทำความเข้าใจกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะสาระของข้อมูลที่จะต้องเก็บ อย่างละเอียดยิบ เพราะประเด็นคำถามนั้นมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจด้วยภาษาให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ มีบ่อยครั้งที่ผู้ไปซักถาม ตีความหมายผิด ก็จะทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความประสงค์ของผู้ออกแบบสอบถาม ยิ่งไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่น สำนวนท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีปฏิบัติของท้องถิ่น ก็จะยิ่ง สื่อสารให้ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจ ผู้ตอบก็จะให้ข้อมูลที่ไปคนละทิศละทาง สิ่งที่ได้ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง กลายเป็นขยะไป

มีเรื่องเก่าที่ขอยกตัวอย่างอีกครั้ง นักศึกษาปริญญาโทมาเก็บข้อมูลสนาม ในเรื่องความรู้ความเข้าใจของชาวชนบทต่อหลักศาสนาบางประการ

นักศึกษา: คุณยายนับถือศาสนาอะไรครับ

คุณยาย: ศาสนาพุทธซิไอ้หนู

นักศึกษา: คุณยายช่วยอธิบายเรื่อง เมตตา หน่อยซิครับว่าหมายความว่าอย่างไร

คุณยาย: ห้วย…. จะให้ยายอธิบายจั๊งใด๋ ยายบ่อจั๊กแหล่ว…

ระหว่างคุยกันนั้น ยายก็เอาน้ำมาให้นักศึกษาดื่มกิน เมื่อเวลามาถึงเที่ยง ก็เตรียมอาหารมาให้กิน… เมื่อสิ้นสุดการซักถามนักศึกษาก็ลากลับไป แล้วก็ไปสรุปว่า คุณยายไม่เข้าใจเรื่องศาสนา โดยเฉพาะเรื่องความมีเมตตา แค่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น…?

หารู้ไม่ว่า ยายนั้นไม่สามารถอธิบายความหมายเป็นภาษาได้ แต่ยายปฏิบัติ ก็ยายมีเมตตาต่อนักศึกษาไงถึงได้เอาน้ำเย็นมาให้ดื่มกิน เอาข้าวปลามาเลี้ยงดูปูเสื่อ นักศึกษาเองนั่นแหละยังไม่เข้าใจหลักศาสนาภาคปฏิบัติ…

นักศึกษาคุ้นเคยแต่ท่องจำแล้วไปสอบเอาคะแนน ตามหลักการวัดผลการศึกษาไงเล่า การวัดผลวัดแค่การท่องจำและขีดเขียนออกมาได้ แต่การเอาความรู้นั้นๆไปปฏิบัติวัดไม่เป็น หรือไม่ได้วัด หรือไม่อยากไปวัดมันยาก…

กลับมาที่นักศึกษาที่มาฝึกงานที่สถาบันวิจัยฯ อาจารย์บอกว่า เธอทุกคนต้องจดบันทึกการสัมภาษณ์ว่าชาวบ้านตอบอะไรบ้าง จดมาให้ละเอียดเลย นักศึกษาสาวคนหนึ่งไม่สนใจการทำความเข้าใจเตรียมตัวลงสนาม กลับบอกอาจารย์ว่า หนูไม่จดหรอกค่ะ หนูมีเทปบันทึก ..?

วันแรกที่ลงสนามจริงๆ เธอแต่งตัวอย่างกับไปช็อปปิ้ง ทาปากแดง สวยเชียว แล้วก็ทำเช่นนั้นจริงๆให้รุ่นพี่สัมภาษณ์แล้วเธอก็เอาเทปมาบันทึก เธอไม่สนใจการสนทนาเพื่อเก็บข้อมูลของรุ่นพี่กับชาวบ้าน เธอเล่นผมยาวๆของเพื่อน นั่งถักเปียกัน…และ….

วันรุ่งขึ้นเธอมาบอกอาจารย์ว่าหนูไม่ไปฝึกงานแล้ว มันลำบาก หนูขอลาออกจะไปฝึกงานที่สำนักงานเทศบาลเมืองดีกว่านั่งแต่ในห้องแอร์เย็นๆ สบายกว่า…???

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยนั้น ก็อนุญาตให้ลาออกไปฝึกงานที่อื่น..พร้อมส่ายหัวว่า นี่นักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนนะเนี่ยะ เข้าเรียนผิดคณะหรือเปล่า…

ไม่ระบุสถาบันนะครับ เสียหาย ความจริงมีรายละเอียดมากกว่านี้เยอะแต่เขียนไม่ได้….

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยท่านนั้น บอกว่า ให้เด็กพัฒนาชุมชนไปทำ Seasonal calendar ของครอบครัวชาวบ้านหน่อย เขาบอกว่าทำไม่เป็น อาจารย์ถามว่าท่านไหนสอนเรื่อง “เครื่องมือการเก็บข้อมูลชุมชน” นักศึกษาตอบว่า ก็อาจารย์ ดร. …………..เป็นผู้สอน พอเดาออกครับว่า กระบวนการเรียนการสอนนั้น เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ แค่เรียนในห้องเรียน อาจารย์ก็พูดปาวๆพร้อมกับเทคโนโลยีทางการสอน เช่น Power point รูปภาพ รายงานที่วางไว้หน้าชั้น ….. แต่ไม่เคยพานักศึกษาออกปฏิบัติจริง จึงทำไม่เป็น

นักศึกษาทั้ง 5 คนลาออกไปฝึกงานกับเทศบาลที่นั่งแต่ในห้องเย็นๆ ต่อมาอีกสองวัน มีเด็กสองคนในห้าคนนั้นกลับมากราบอาจารย์ที่สถาบันวิจัย ขอกลับมาฝึกงานที่นี่ใหม่ แต่สามคนไม่มา สองคนนี้บอกว่า หากไปฝึกงานที่เทศบาลจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องชนบทเลย ขอกลับมาและกราบขออภัยคราวที่แล้ว…

ที่บริษัทที่ปรึกษาก็เอาเด็กปริญญาโทออกไป แม้ปริญญาเอกก็เอาออกไปก็มีเพราะทำงานไม่เป็น ไม่ได้ ได้ไม่มีคุณภาพ ห่วยแตกว่างั้นเถอะ….

เป็นเรื่องหนักใจของหน่วยงานจริงๆที่บัณฑิตไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น…. ก็ดูการฝึกงานเป็นกรณีตัวอย่างซิ

สรุปว่า.. เป็นห่วงบัณฑิต ที่ไม่ได้มุ่งเน้นความรู้เชิงปฏิบัติ เราเป็นห่วงคุณภาพของความเป็นบัณฑิต ไม่ได้เข้าใจรากเหง้าของความรู้ ไม่ใช่ของจริง แค่ฉาบฉวย ล่องลอยไปกับกระแสสังคมที่เป็นสังคมบริโภค โอยจะสาธยายอย่างไรถึงจะหมดเนี่ยะ

ครับไม่ใช่ทุกสถาบันนะครับ ไม่ใช่บัณฑิตทุกคนนะครับ แต่ดูจะมีเรื่องราวดังกล่าวมานี้มากเหมือนกันครับ

จริงๆนักศึกษาที่มาสนใจทำงานพัฒนาชนบทนั้นไม่จำเป็นต้องแต่งตัว เซอ เซอ มอมๆ หล่อได้ สวยได้ครับ แต่ต้องไม่สักแต่หล่อ แต่สวยแต่ไม่มีกึ๋น หากสนใจอย่างนั้นไปเป็นพริตตี้ดีกว่านะจ๊ะคนสวย….



Main: 0.28750109672546 sec
Sidebar: 0.53914284706116 sec