ปากกาของบัณฑิตคืนถิ่น
อ่าน: 1417เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปงานศพพี่จำลอง พันธุ์ไม้ท่านเป็นบัณฑิตอาสาของโครงการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นแรกๆ ที่มี ดร.ป๋วย เป็นผู้ริเริ่ม ในงานศพที่ขอนแก่นครั้งนั้นมีเพื่อนบัณฑิตร่วมรุ่น ต่างรุ่น ร่วมสถาบัน ต่างสถาบันไปร่วมมากมาย รวมทั้งยาหยีของผม เพราะเธอเป็นบัณฑิตอาสารุ่น 8 ของ มธ. แม้ว่าเธอจะเรียนจบจากจุฬาฯ
ผมกล่าวได้ว่า ความเป็นบัณฑิตอาสาของ มธ.นั้นมีแรงเกาะเกี่ยวกันเหนียวแน่นมากๆ ไม่ว่าแต่ละคนจะไปประกอบอาชีพอะไร ฐานะทางสังคมเป็นเช่นไร ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เกาะเกี่ยวกันแน่นมากแม้ยามร่วงโรยลาจากกันไป
เป็นเพียงปรากฏการณ์ด้านหนึ่งเท่านั้นในสังคมที่มีคนกลุ่มหนึ่งผ่านกระบวนการฝึก ในหลักสูตรเพียงปีเดียวก็มีเยื่อใยกันขนาดนี้ เป็นสิ่งที่ดีครับ
คนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ผ่านกระบวนการบัณฑิตอาสา(ส่วนใหญ่) แต่มีสำนึกต่อบ้านเมืองสูงมาก คนกลุ่มนี้เอาบ้านเอาเมืองเป็นโจทย์ใหญ่ และกระโดดเข้าแบก อุ้ม ดัน ผลัก ลาก จูง คือกลุ่มคนที่เป็นผลผลิตทางอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมเข้ามาเป็นสำนึกอย่างสูง คนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อย กัดไม่ปล่อย ทำในทุกบทบาทที่เขาสังกัดอยู่ อาจจะเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มที่มีอิทธิพลเดือนตุลาเป็นพลัง หลายคนก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงใดๆได้พอสมควรทีเดียว หลายคนยังจมดิ่งอยู่กับกระบวนการชาวไร่ชาวนา แม้ว่าหลายคนบ่ายหน้าเข้าสู่วงการธุรกิจ นักวิชาการ แต่ก็ไม่ทิ้งการร่วมด้วยช่วยกัน ยามใดที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ร้องขอ เขาก็พร้อมจะเทกระเป๋าให้ แม้ว่าจะเอาสีมาสาดใส่เสื้อเป็นนั้นเป็นนี่ แต่ความเข้มข้นนั้นปรอทวัดไม่ได้
บัณฑิตจะก้าวลงลึกถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งบัณฑิตรุ่นใหม่ที่ฝันนี้ แน่นอนทุกท่านคาดคิดว่า “ต้องเปลี่ยนด้านใน” คือสำนึก ที่ตกผลึกมาจากระบบคิด ความใฝ่ฝัน เจตนา ประสงค์ ต้องการ ที่มาจากด้านใน เราจะสร้างสำนึกได้อย่างไร เราจะวัดมันได้อย่างไร เราจะประคับประคองให้สำนึกมันเติบโตขึ้น เข้มแข็งขึ้น มิใช่ฝ่อไปในบั้นปลาย เพราะแรงโน้มน้าวของค่านิยมแห่งยุคสมัยมันมาแรงจัดมากๆ
โปรแกรมด้านนี้ เชื่อว่าคณาจารย์ทุกท่านตระหนักดี และมีรูปธรรมหลายประการรองรับอยู่ แต่ต้องตรวจสอบบ่อยๆนะครับ เพราะจิตใจคนนั้นตอบสนองต่อสิ่งเร้า ตามหลักทั่วไปที่เราเข้าใจ ตราบใดที่สำนึกไม่ได้ตกผลึก มันก็พร้อมที่จะรื่นไหล เลี้ยวออกไปทิศทางอื่นๆ ผมเชื่อว่าการคืนถิ่นนั้นมิใช่ เอาทุนไปซื้อจอบซื้อเสียมแจก เอาที่ดินไปแล้วเจ้าไปทำมาหากินให้อยู่ได้ แต่สมัยนี้นอกจากจอบเสียมแล้ว เกษตรกรสมัยใหม่ต้องพก “ปากกา” ด้วย ปากกา เป็นตัวแทนการก้าวทันเทคโนโลยี ความรู้ใหม่ๆ และการรู้จักดัดแปลงเอาไปใช้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคม เงื่อนไข แห่งนั้นๆ วิชาดัดแปลงมีเรียนมีสอนไหมล่ะ
หลายอย่างบัณฑิตต้องใช้ความรู้ไปสร้างความรู้ใหม่ๆ สถาบัน คณาจารย์ไม่สามารถป้อนได้หมดหรอก ดังนั้น เมื่อดัดแปลงได้เธอก็ก้าวไปอีกขั้นของการเป็นบัณฑิต อาจจะสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้กัน โดยใช้เทคโนโลยี่ปัจจุบันที่มันพัฒนาการไปไกลมากแล้วนั้นให้เป็นประโยชน์แก่เส้นทางของเราเถิด
เขียนบันทึกไว้เผื่อฟ้าดินจะสื่อสารไปถึงบัณฑิตที่เป็นอนาคตของสังคมของเรา…