ถึงบัณฑิตคืนถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 3, 2012 เวลา 13:25 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1436

ขอแนะนำตัวเองว่า เป็นคนภาคกลาง ไปเรียนจบที่ภาคเหนือ มีครอบครัวกับคนภาคใต้ แต่มาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่ภาคอีสาน ครอบครัวที่บ้านเกิดมีอาชีพทำนาพ่อเป็นครูประชาบาล

ตัวเองเรียนจบสมัยคลื่นกระแส 14 ตุลา หลายคนเรียก คนเดือนตุลา ก็มีอุดมการณ์กะเขาบ้าง สมัยเรียนก็ไม่ค่อยเรียน จับกลุ่มออกชนบททางภาคเหนือ รอบๆเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พอจบออกมาเพื่อนๆเข้าป่ากันหมด ผมก็เข้าป่าเหมือนกันแต่เป็นป่าอำเภอสะเมิงจังหวัดเชียงใหม่ ทำงานพัฒนาชนบทกับสำนักงานเกษตรภาคเหนือ

ทำงานไปก็ศึกษาไป ก็รู้ตัวดีว่า ไม่เข้าใจชนบทดีพอ เพราะไม่มีความรู้เรื่องทางสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา แต่มีใจจะพัฒนาชนบทเท่านั้น แม้ตัวเองจะเป็นลูกชาวนา บ้านนอก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจวิถีชนบทไปทั้งหมด

ภายใต้รูปธรรม ที่เรามองเห็น จับต้องได้ สัมผัสได้นั้น มันมีสิ่งที่เรียกว่านามธรรมที่เป็นสาระเรื่องราวมากมายที่เราไม่เข้าใจ มันมีประวัติศาสตร์ มีที่มาที่ไป กว่าจะมาเป็นสิ่งที่เห็นนั้นมีเรื่องราวที่มีคน กลุ่มคนเข้าไปเกี่ยวข้อง มีความคิดความเห็นเข้าไปเกี่ยวข้อง มีคามเชื่อ ศรัทธาเข้าไปเกี่ยวข้อง มีความสัมพันธ์ระหว่างกันเข้าไปเกี่ยวข้อง

อย่างที่มีการสรุปกันว่า ความเกี่ยวข้องนี้เรียกความสัมพันธ์ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ระหว่าคนกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ

แต่ทั้งหมดนี้ล้วนมีเพื่อ ความสงบ ร่มเย็น ความพอดี พึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งนำไปสู่คำสั่งสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เอื้ออาทรแก่กัน เคารพซึ่งกันและกัน ให้อภัยกัน เกรงอกเกรงใจกัน และมีสำนึกแห่งความพอดีที่จะอยู่ร่วมกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นี่คือภาพคร่าวๆของสังคมดั้งเดิมของเรา

ขยายความสักนิดหนึ่ง

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน: คือลักษณะทางวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆที่พึงปฏิบัติต่อกัน เช่น ผู้เด็กเคารพผู้ใหญ่ คนทั่วไปเคารพนักบวชหรือผู้ประพฤติในศีลในธรรม น้องเคารพพี่

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ: มีประเพณีสิบสองเดือน มีฮีต หรือจารีต เช่น ยามสามค่ำเดือนสามของชนเผ่าไทยอีสานจะทำพิธีเปิดประตูเล้าข้าว แล้วทำขวัญวัวควายที่เคยใช้งานหนัก     ทุบตีเขา วันนั้นจะบำรุงบำเรออาหารการกิน ไปสารภาพบาปแก่เขาไปพูดจาสำนึกบุญคุณแก่สัตว์ที่เราใช้แรงงานเขา เป็นสำนึกที่พึงปฏิบัติต่อกัน แล้วเอามูลวัวควายไปใส่ไร่นา เตรียมการทำนาครั้งต่อไป..

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ: คนภาคกลางไหว้เจ้าที่ เจ้าทาง ศาลพระภูมิ คนอีสานไหว้ปู่ตา ใครไปใครมาต้องไหว้ บอกกล่าว คนไทโซ่นั้นหากใครจะเข้าไปอยู่ในสังคมเขาถาวรหรือกึ่งถาวรต้องทำพิธีก๊วบ หรือไหว้เจ้าที่ บอกกล่าวเจ้าที่ เมื่อคนก้มกราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ สำนึกด้านในของเขาก็คิดแต่สิ่งดีดี สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่มีประโยชน์ สำนึกเหล่ารี้ก็จะกำกับความคิด และมาสู่การปฏิบัติที่ดีดี ที่ถูกต้อง ที่สอดคล้องต่อวิถีของเขา…

 

เหล่านี้คือเนื้อหาสาระของชนบทที่ซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตของเขา ส่วนใหญ่เราเคยเห็น แต่ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจเหตุผล แต่ไม่ได้พัฒนาขึ้นไปสู่สำนึก

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันเคลื่อนตัวไป เปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนตัวของสังคมใหญ่ สิ่งใหม่ๆเข้ามาแล้วบดบังของเดิมๆเสียสิ้น ยิ่งเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ได้คลุกคลีกับชนบท กลับไปคลุกคลีกับสังคมเมือง หลุดออกไปจากชนบท และไปถูกสังคมเมืองหล่อหลอมจิตวิญญาณท่านให้เป็นคนเมืองด้วยวิถีชีวิต ระบบสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ ค่านิยม พลังการโฆษณา พลังการดำเนินการค้าทางธุรกิจ เพลง เทคโนโลยี่ใหม่ ความทันสมัย ศิวิไลซ์…..อินเทรนด์…. คนเข้าคิวกันตั้งแต่เที่ยงคืนเพื่อซื้อ iPhone5 และตื่นสายจนไปใส่บาตรพระไม่ทัน

ภาพเหล่านี้บอกอะไรเราบ้างเล่า…

ผมเคยคุยกับเพื่อนๆในวงการพัฒนาชนบทว่า พวกเรานั้นเป็นมนุษย์สามโลก

โลกที่ 1 คือโลกเมือง มีความสะดวกสบายทุกอย่าง เจริญ ทันสมัย พัฒนาแล้ว แต่คุณต้องมีเงินเท่านั้นจึงจะอยู่ได้

โลกที่ 2 คือโลกชนบท ก็อย่างที่เล่าให้ฟัง

โลกที่ 3 คือโลกในความฝัน ที่อยากให้สังคมเป็น อยากให้เมืองและชนบทอยู่กันอย่างมีความสุข…..

ระบบสังคมเรา ดึงคนออกจากชนบทมาอยู่ในเมือง กินทุกอย่างที่ชนบทกิน แต่ต้องมีเงินเดือน อยู่ไปนานๆลืมรากเหง้าดั้งเดิมเสียสิ้น ลืมกำพืด กลับเข้าชนบทก็เห็นแต่ความล้าหลัง ความด้อย สกปรก ไม่เจริญหูเจริญตา ไม่ทันสมัย มองไม่เห็นอีกภาพของชนบท

ระบบการศึกษาให้แต่ความรู้ไม่ได้ให้สำนึก ความรู้ที่ได้จึงเดินหน้าเข้าเมืองหมด เพราะเมืองคือตลาดงานที่ใหญ่ที่สุดของบัณฑิต มีเงินเดินสะพัดมากที่สุด ความรู้ที่ได้ ที่มี จึงไปรับใช้ระบบธุรกิจที่มุ่งผลประโยชน์สูงสุด ใครทำได้มีรางวัลให้ ความรู้ที่มี ถูกกฎระเบียบข้อบังคับและวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจกำกับให้ทำตามคำสั่ง หรือ Job description เท่านั้น วัฒนธรรมองค์กรธุรกิจเป็นเบ้าหล่อหลอมคนที่เราเรียกบัณฑิต ลืมรากเหง้าสังคมเดิมไปสิ้น

คำตอบของสังคมแบบนี้คือ ความร่ำรวย ความหรูหรา บ้านแพงๆ รถแพงๆ เครื่องมือเทคโนโลยี่ดีดี เครื่องแต่งตัวดีดี…. แล้วบอกว่านั่นคือความสำเร็จของชีวิต… ???

ภาพทั้งหมดนี้หลุดลอย ออกห่างจากสังคมชนบท ไกลไปจนต่อไม่ติด ไม่เข้าใจ สัมผัสสาระด้านในที่เป็นนามธรรมของสังคมชนบทไม่ได้

ขอเล่าเรื่องประกอบให้ฟังสักเรื่อง

ครั้งหนึ่งผมไปทำงานที่ประเทศลาว มีโอกาสไปเที่ยวเมืองหลวงพระบาง ที่เป็นเมืองมรดกโลก คนมักจะเที่ยว พระราชวัง วัดเชียงทอง พระธาตุพูสี สุสานมูโอต์ และอีกมากมายหลายที่…

ขอกล่าวเฉพาะพระธาตุพูสีตั้งอยู่หน้าพระบรมมหาราชวังหลวงพระบาง เป็นภูเขาเล็กๆบนยอดนั้นมีวัดมีพระเจดีย์ บันไดสองข้างทางที่ขึ้นไปนั้นมีต้นลั่นทม (คนลาวเรียกต้นจำปา) ตลอดแนว คนขึ้นไปกราบไว้ พระธาตุแล้วยืนข้างบนเพื่อชมวิวหลวงพระบาง โดยเฉพาะช่วงพระอาทิตย์ตก สวยงามมาก

ก่อนขึ้นพระธาตุพูสีทางขวามือห่างไปสัก 50 เมตรมีโบสถ์เก่าหลังหนึ่งที่หน้าโบสถ์มีกระดานแผ่นเล็กๆเขียนไว้ว่า “เชิญชมวัดป่าฮวกสร้างโดย รัชการที่ 5 ของไทย” แต่โบสถ์หลังนี้ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมของบริษัทจัดทัวร์ของคนไทยเลย

ผมเดินเข้าไป พบชาวลาวคนหนึ่งนั่งที่พื้นโบสถ์ มีโต๊ะเล็กๆตัวหนึ่งวางสินค้าจำหน่ายแก่ผู้คนที่เข้ามาชมศิลปกรรมภาพวาดด้านในโบสถ์ หรือมากราบไหว้พระประธาน ภาพวาดบนโต๊ะของชายคนนั้นเป็นภาพเกี่ยวกับศาสนาที่วาดลงบนกระดาษสา

ผมเดินชมและกราบพระประธานแล้วมาคุยกับท่านผู้นั้น ท่านบอกว่าเป็นข้าราชการกรมศิลป์ของนครหลวงพระบาง ใช้เวลาว่างตอนเย็นหรือเสาร์อาทิตย์มาวาดรูปขายเพื่อเอาเงินมาทำนุบำรุงโบสถ์หลังนี้

ผมขอให้ท่านผู้นี้เล่าประวัติให้ฟังท่านยินดีเล่า ว่า…. วัดนี้ชื่อวัดป่าฮวก เพราะเดิมตรงนี้เป็นป่าไผ่รวก ก่อสร้างโดยรัชการที่ 5 แห่งสยาม มีหลักฐานคือหน้าบัญเป็นรูปพระครุฑซึ่งเป็นสัตว์ประจำกษัตริย์ของอาณาจักรสยาม ด้านหลังโบสถ์มีเจดีย์ และสถานที่กราบไหว้บูชา เป็นคติของชาวสยามว่าหากมเหสีชิ้นพระชนม์ก็จะเก็บพระอัฐิไว้ที่เจดีย์หลังวัด เมื่อคราวใดมาที่วัดก็จะถือโอกาสมากราบไหว้อัฐิด้วย เช่น วัดสวนดอกเชียงใหม่ เจดีย์ด้านหลังวัดคืออัฐิเจ้านายฝ่ายเหนือทั้งสิ้น

วัดแห่งนี้สมเด็จพระพี่นางเสด็จมามากกว่าสองครั้ง สมเด็จพระเทพฯเสด็จมามากกว่าสองครั้ง และเจ้านายองค์อื่นๆก็มาบ่อย

สมเด็จพระเทพฯท่านทรงมีพระราชดำริว่าต้องการสนับสนุนให้คนหลวงพระบางมาเรียนศิลปกรรมการบำรุงศาสนาศิลปกรรม แล้วให้มาทำหน้าที่ดูแล พระองค์ท่านจึงพระราชทานทุน 5 ทุนให้คนหลวงพระบางมาเรียนที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วให้กลับไปดูแลโบสถ์หลังนี้และศิลปกรรมอื่นๆในหลวงพระบาง เช่นพระบรมมหาราชวังเป็นต้น ท่านผู้นี้จึงมีโอกาสไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะศิลปกรรมล้านนาล้านช้างเป็นอันเดียวกัน

ท่านผู้นี้จึงมาใช้เวลาว่างวาดรูปขายเพื่อเอารายได้เข้ากองทุนทำนุบำรุงวัดป่าฮวกแห่งนี้ เพื่อนๆที่เหลือก็ใช้ความรู้นั้นวาดรูปขายที่ตลาดกลางคืนของหลวงพระบางเพื่อแบ่งรายได้มาสมทบกองทุนนี้….

ท่านผู้นี้ชื่อสมบุน ท่านกล่าวว่าเป็นมหากรุณาธิคุณเหลือเกินที่ทรงเมตตาให้ทุนการศึกษาครั้งนั้น ด้วยสำนึกในพระราชดำริจึงตั้งใจทำหน้าที่นี้โดยรับมาดูแลโบสถ์หลังนี้ สลับกับเพื่อนๆ

น้องทุกคน กำลังคิดอะไร หวังอะไร และจะทำอะไรต่อไปตามเจตนารมณ์ขององค์สมเด็จพระเทพรัตนสุดาสยามบรมราชกุมารีพระองค์นี้ที่ทรงพระราชทานโครงการบัณฑิตคืนถิ่นมาเช่นนี้

พี่ๆขอให้น้องพิจารณาเอาเองเถิด..

สวัสดีครับ



Main: 0.024739980697632 sec
Sidebar: 0.033627986907959 sec