สำนึก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 5, 2012 เวลา 15:17 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1412

วันก่อนผมเขียนถึงบัณฑิตคืนถิ่น โครงการของสมเด็จพระเทพฯ ที่มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดูแล และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเขาไปจัดค่ายหรือเสวนากันที่น่าน วิทยากรท่านหนึ่งให้ผมโฟนอินเข้าไปร่วมด้วย ตอนหนึ่งผมกล่าวว่า “…ระบบการศึกษาให้แต่ความรู้ไม่ได้ให้สำนึก..” ผมเอามาโพสต์ในนี้ นักวิชาการศึกษาที่ผมนับถือยิ่งท่านหนึ่งกล่าวเห็นด้วย และจะไปพิจารณาต่อไป

ผมนำประเด็นนี้มาทบทวน เห็นว่าคำกล่าวของผมนั้นยังไม่ถูกต้อง ที่กล่าวว่า “ระบบการศึกษาให้แต่ความรู้ไม่ได้ให้สำนึก” ผมมีความเห็นว่า..ระบบการศึกษาให้แต่ความรู้..นั้นเป็นความจริง แต่การกล่าวว่า..ไม่ได้ให้สำนึกนั้น ไม่ถูกต้อง เพาะสำนึกนั้นให้ไม่ได้ แต่ควรใช้คำว่า “สร้างสำนึก” เพราะสำนึกนั้นมันเป็น “เรื่องภายใน” เป็นเรื่องจิต สภาวะหยั่งรู้ของจิตถึงความดี ความชอบ สิ่งที่ควรทำสิ่งที่ไม่ควรทำ สิ่งควรเคารพ ควรประพฤติ ควรปฏิบัติ มันเป็นเรื่องที่บอกกันได้ เรียนรู้กันได้ รับรู้ได้ แต่รู้แต่ไม่สำนึก รับรู้แต่ไม่เกิดสำนึก ซึ่งเป็นเรื่องสภาวะด้านในของจิต น่าจะใช้คำว่า “สร้างสำนึก” มากกว่า

รูปธรรมในเรื่องนี้มีมากมายในแต่ละวันของสังคมไทย

การจราจรทุกวันในเมืองโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯนั้น มีพฤติกรรมมากมายที่บ่งบอกทั้ง ว่าผู้ขับขี่รถยนต์นั้นมีความรู้เรื่องกฎ กติกาจราจร แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งในท้องถนนที่มีสำนึกสูงมาก เขาหยุดรถ ตรงเครื่องหมายที่เว้นช่องว่าไม่ควรหยุดรถตรงนี้ มีผู้ขับขี่จำนวนไม่น้อยที่ยอมให้รถอีกเส้นทางหนึ่งไปก่อน ที่เราเรียก “น้ำใจ” ที่มีให้ต่อกัน เห็นป้ายจราจรหลายแห่งบอกให้มีน้ำใจต่อกัน ซึ่งก็ดีที่เป็นป้ายเตือนสติให้คนเราไตร่ตรองเรื่องนี้มากขึ้น แต่ป้ายนี้ไม่สามารถสร้างคนให้มีน้ำใจได้

นานๆเราจะได้ยินว่าคนขับแท็กซี่เก็บกระเป๋าเงิน หรือสิ่งของมีค่าที่ผู้โดยสารลืมไว้ในรถแล้วเอาไปให้สื่อมวลชนประกาศหาเจ้าของ…นี่คือ “น้ำใจ” และนี่คือ “สำนึก” ไม่ต้องมีป้าย ไม่ต้องมีใครบอก แต่มันเกิดขึ้นมาภายในจิตใจว่า สิ่งที่ถูกต้องที่สังคมควรพึงปฏิบัติต่อกันนั้นคือการเอาสิ่งของมีค่านั้นๆคืนให้เจ้าของเขาเสีย

บังเอิญผมดูรายการไทยพีบีเอส เกี่ยวกับรัฐสภา ซึ่งวิทยากรเชิญคุณดำรง พุฒตาลมาคุยกันถึงเรื่อง AEC ตอนหนึ่งวิทยากรพูดถึงว่า ประเทศที่ไม่มีคอรัปชั่น โปร่งใสที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุด ประชาชนเคารพกติกาสังคมมากที่สุด คือ ประเทศนิวซีแลนด์ วิทยากรเล่าว่า เขาได้รับฟังเรื่องเล่าจากสตรีไทยที่มีสามีเป็นชาวนิวซีแลนด์ เล่าว่า วันหนึ่งสามีไปตกปลา ก็นำปลากลับมาบ้าน แล้วบอกภรรยาที่เป็นคนไทยว่า …วันนี้ตกปลาได้ 10 ตัว…

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมภรรยาไปเอาปลามาเพื่อประกอบอาหาร พบว่ามีปลาแค่ 4 ตัว จึงไปถามสามีว่า ที่บอกว่าตกปลาได้ 10 ตัวทำไมมีปลาเพียง 4 ตัว สามีกล่าวว่า ตกปลาได้ สิบตัวจริง แต่ 6 ตัวนั้นปล่อยกลับคืนทะเลไป ภรรยาคนไทยงงมากๆ ทำไมเป็นเช่นนั้น สามีอธิบายว่า ปลา 6 ตัวนั้น 3 ตัวเป็นปลาขนาดเล็ก กฎหมายห้ามจับปลาเล็กจึงปล่อยไป อีก 3 ตัวเป็นปลาขนาดใหญ่มาก กฎหมายก็ระบุว่า ปลาขนาดใหญ่นั้นเขาจะเป็นพ่อพันธ์แม่พันธ์ต่อไป ควรปล่อยให้เขาขยายพันธ์ต่อไป จึงปล่อยลงทะเลไป..

ภรรยางงใหญ่ บอกสามีว่า ก็เอาปลาใหญ่มาบ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องปล่อยไปทั้งหมด สามีบอกว่า ทำเข่นนั้นไม่ได้ พร้อมทั้งกำมือมาทุบที่ดวงใจพร้อมกล่าวว่า หากทำเช่นนั้น “..จะเป็นความรู้สึกผิดข้างใน..” ไม่มีคำอธิบายใดๆอีกแล้ว มันแจ่มแจ้งแทงใจจริงๆ นี่คือ “สำนึก” ที่มันเกิดขึ้นมาข้างใน แม้เขาจะมีโอกาสละเมิดกฏิกา โดยที่ผู้อื่นไม่รู้ แต่ “ตัวเขาเองรู้” และนั่นคือรู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิด ไม่ถูกต้อง สำนึกข้างในบอกว่า ไม่ควรทำ.. กฏิกามีไว้ดีแล้ว เหมาะสมแล้ว ทุกคนควรเคารพ และปฏิบัติตามเพื่อวัตถุประสงค์ของกติกานั้นๆ….

ผมนึกถึงช่วงที่ผมมีโอกาสไปลงชุมชนชนบทในประเทศลาว ผมพบว่า ในหมู่บ้านมีครอบครัวที่มีแต่คนแก่ หรือผู้สูงอายุ หรือผู้เฒ่า อยู่อย่างโดดเดี่ยว ผมนึกว่าหากเป็นเมืองไทย เขาอาจจะไปเป็นขอทานตามถนนในเมือง หรือดีหน่อยก็สังคมสงเคราะห์ก็เอาไปพักที่สถานที่พกคนชรา หรือมีเงินช่วยเหลือให้ แต่ที่ชนบทลาวแห่งนี้ คนแก่ คนเฒ่า ผู้สูงอายุอยู่ในชุมชนตามปกติได้ แม้จะไม่มีลูกหลานมาดูแลเพราะ “…..ชุมชนเขาช่วยกันดูแล…” คนโน้นคนนี้เอาข้าวมาให้ บ้านซ้ายบ้านขวาเอาเสื้อผ้า หยูกยามาให้…นี่คือน้ำใจ นี่คือสำนึก..

ในสังคมไทยเราก็มีเรื่องราวแห่งสำนึกนี้มากมาย โดยเฉพาะในชนบท… แต่หายากยิ่งกว่าหาทองในฝาเครื่องดื่มชนิดหนึ่งเสียอีก….

แล้วสังคมเราจะช่วยกันได้อย่างไร การศึกษาจะมีส่วนสร้าง “สำนึก” นี้ให้แก่คนหนุ่ม สาว ที่เป็นอนาคตของชาติได้อย่างไร..

เป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบครับ



Main: 0.28244304656982 sec
Sidebar: 0.52369809150696 sec