เสื้อในตู้….

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 28, 2012 เวลา 19:04 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1241

 

มีเสื้อที่ผลิตออกมาแนวนี้เยอะ เห็นบ่อยๆ

และจำนวนไม่น้อยเป็นภาษาอังกฤษ

และผู้ใส่ไม่เข้าใจว่ามันหมายความว่าอะไร

บ้างมีความหมายที่ขำกลิ้ง บ้างประชด

บ้างเที่ยวบอกใครๆว่าไปที่นั่น ที่นี่ มาแล้ว

…………………………

แต่บางตัว ไม่กล้าแปลให้ผู้ใส่เข้าใจ

มันหวาดเสียวน่ะซี….

เฮ่อ….ในตู้เสื้อผ้าของท่านมีกี่ตัวล่ะ

อิอิ อิอิ


มิติของข้าว วิถีชุมชน

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 27, 2012 เวลา 21:04 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2016

สมัยทีผมบวชเรียนที่สำนักวิปัสสนาไทรงาม รอยต่ออ่างทอง-สุพรรณบุรีนั้น แม้ว่าผมจะมีความสนใจหลักธรรม แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อในของธรรมทั้งหลายได้ พระอาจารย์ธรรมธโร เจ้าสำนักท่านจึงกล่าวเสมอว่า ถ้าจะบวชก็ขอให้ครบพรรษา เพราะจะได้ใช้เวลาปฏิบัติให้มาก ท่านสอนว่า ไม่ต้องเอาหนังสือธรรมมาอ่าน ไม่ฟังวิทยุ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูทีวี ให้สามเดือนมุ่งอยู่แต่การคู้ เหยียดแขน เพื่อจับความรู้สึกที่เกิดขึ้นและทำจิตให้นิ่ง…….

ท่านให้หลักมหาสติปัฏฐาน 4 เพ่งพิจารณา กายในกาย จิตในจิต…….ฯ ผมก็ไม่กระดิก เมื่อผมลาสิกขาออกไป กลับไปทำงานพัฒนาชนบท และย้ายสถานที่มาอยู่อีสาน ที่จังหวัดสุรินทร์ และเข้ารับการฝึกอบรมกระบวนการทำงานชนบทอีกครั้งกับ อ่านอาจารย์ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อ.มรว. อคิน รพีพัฒน์ และ….. เริ่มลงลึกถึงมิติของชุมชนมากขึ้น เนื่องจากท่าน อ.อคิน ท่านเป็นนักสังคมวิทยา เขียนตำราเรื่องคนนอกคนใน และเรื่องราวของชนบทไว้มาก จนมีคนแซวท่านไว้ว่า “เจ้าที่ทำตัวเป็นไพร่” ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์ทั้งสองท่านมากมาย และเมื่อย้อนกลับไปนึกถึงสมัยที่บวชเรียน ก็ร้องอ๋อ…. มิติแห่งธรรมนั้นลึกซึ้งมาก ตาเนื้อมองไม่เห็น แต่ต้องใช้ตาปัญญามอง ถึงจะเห็น ถึงจะสัมผัสมิติด้านในได้..


กองข้าวที่เห็นนี้ ก็ไม่เห็นมีอะไร ก็แค่กองข้าว….. นี่คือตาเนื้อที่เราเห็น แต่ความหมายนั้นมากกว่าการเห็นแค่การเก็บข้าวเปลือกไว้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ข้าวคืออาหารหลักของชาวบ้าน มีข้าวไม่มีข้าวคือเรื่องใหญ่ กับข้าวเรื่องเล็ก หรืออาหารที่จะกินกับข้าวนั้นหาง่าย ชาวบ้านอยู่กัน 5 คน เขารู้ว่าจะต้องเก็บข้าวเปลือกไว้กินกี่ถุง กี่กระสอบ

ปกติเขาจะเก็บข้าวไว้ให้มากพอที่จะกินถึงสองปี…. นี่คือวิถีชุมชน เพราะเป็นหลักประกันว่าหากปีไหนนาล่ม หรือเสียหายก็ยังมีข้าวกิน หากไปไหนๆ ไม่มีความเสียหาย ก็เอาข้าวเก่าไปขายเอาข้าวใหม่เก็บเข้าแทนที่ตามจำนวนที่กินได้สองปี นี่คือระบบคิดรักษาความปลอดภัยไว้ก่อน

ปัจจุบันความต้องการใช้เงินมีมากขึ้น โดยเฉพาะเงินที่จำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อการศึกษาลูก หากเปิดเทอม ลูกต้องการค่าเทอม หากไม่มีเงินเก็บ ก็พิจารณาตัดสินใจว่าจะเอาข้าวส่วนเกิน หรือไม่เกินก็ตามแต่จ้ำเป็นต้องหาเงินให้ลูก ก็ต้องแบ่งข้าวเปลือกไปขาย ขนาดของถุงนั้นพอดี เหมาะสำหรับการเคลื่อนย้าย เหมาะสำหรับการกะปริมาณข้าวที่ต้องขายกับจำนวนเงินที่ต้องการได้มา แน่นอนหลายครอบครัวตัดสินในขายวัวทั้งตัว และเก็บข้าวไว้กิน

ข้าวเหล่านี้ แบ่งเอาไปเป็นเมล็ดพันธุ์ได้ สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป แต่หลายแห่งจะแยกออกไปต่างหาก ไม่ปะปนกับจำนวนนี้

ข้าวเหล่านี้สามารถแบ่งเอาไปทำบุญ ในงานประเพณีต่างๆขอกลุ่มชนเผ่า ของท้องถิ่น ทั้งเอาไปบริจาคที่วัดใกล้บ้าน หรือมีผู้ภิกขาจารมาขอข้าวก็แบ่งเอาไป หรือบ้านอื่นๆขาดข้าวก็เอาสิ่วของมาแลกข้าว ก็แบ่งเอาไป ปีหนึ่งๆมีการบริจาคข้าวเปลือกเพื่องานบุญในวาระต่างๆไม่น้อยทีเดียว เพราต่างหมู่บ้านก็มาบอกบุญ ข้ามตำบล ข้ามอำเภอก็พบบ่อยๆ

แบ่งข้าวให้ญาติพี่น้องที่ขาดแคลนข้าว แบ่งให้ลูกหลานเอาไปกินในต่างถิ่น แม้ลูกหลานมาทำวานกรุงเทพฯ กลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ เมื่อคราวกลับไปงาน พ่อแม่ก็เอาข้าวให้ไปกิน

ข้าวจึงมีคุณค่า มีมูลค่ามากกว่าแค่เอาไว้กินเป็นอาหารหลักเท่านั้น ประเพณีพื้นบ้านจึงเกี่ยวข้องกับข้าวก็มี อย่างเช่น ประเพณี 3 ค่ำ เดือน 3 ที่อาว์เปลี่ยนและผมเคยเขียนไว้บ้างแล้ว เรียกพิธีทำขวัญข้าวที่ยุ้งฉาง หรือเรียกพิธีเปิดประตูเล้าข้าว ของพี่น้องไทโส้ดงหลวง และที่อื่นๆ

แต่มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเพิ่งทราบมาว่า การที่เอาถุงข้าวมาเก็บกองไว้ในบ้านแบบโจ่งแจ้งนั้นแทนที่จะเก็บไว้ในยุ้งฉางมิดชิด กล่าวกันว่าเป็นการแสดงออกถึงการมีฐานะ มีความมั่นคง มีหลักมีฐานของครอบครัวนั้นๆ แขกไปใครมาก็เห็น …??!!!

กองข้าว ที่มีความหมายมากกว่ากองข้าว

นี่คือมิติต่างๆของข้าว

นี่คือวิถีชุมชน..


สีอะไรก็ได้…

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 27, 2012 เวลา 6:30 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2238

มะพร้าวสีอะไรก็ได้

ข้างในเป็นน้ำหอมทั้งหมด

(ภาพจากโรงเรียนไม้ไผ่ ลำปลายมาศ)


ชีวิตที่เกะกะ…

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 26, 2012 เวลา 15:16 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1806

หากท่านเป็นคนเดินดิน คือเดินไปไหนมาไหนบ้าง ก็อาจจะเห็นภาพเช่นนี้ได้ ภาพนี้ผมได้มาจากหน้าอาคารประชุมของอำเภอเมืองขอนแก่น ภายในห้องที่กว้างใหญ่จุคนได้นับพัน มักใช้จัดประชุมใหญ่ต่างๆของทางราชการ แทนที่จะไปเช่าโรงแรมก็มาใช้ที่นี่กัน รวมทั้งประชุมเรื่องแผนงานของอำเภอต่างๆ

ภายในห้องนั้นคุยงบประมาณกัน ปีละหลายพันล้านบาท ต่างระบุความสำคัญในการนำงบประมาณไปพัฒนาสังคม ประเทศชาติ ด้วยเหตุผลที่ฟังดูแล้ว บ้านเมืองเราจะไปโลด โดดเด่น ศิวิไลซ์ ไฉไล ทันสมัย หมดความยากจน ฯลฯ สารพัดเหตุผลดีดีทั้งนั้น

แต่ข้างนอกเพียงแค่ไม่กี่ก้าว ที่นักบริหารใหญ่ ผู้มีเกียรติ ทั้งหลาย คุยกันถึงงบประมาณพัฒนาสังคมก้อนใหญ่นั้น เรามีภาพเช่นนี้ได้ท้าทายให้คิดกันลึกๆ

ลุงแก่แล้ว ไม่มีลูกหลานมาดูแล จริงๆมี แต่มันหายหัวไปนานแล้ว แต่ชีวิตต้องอยู่ต่อไป จะทำมาหากินอะไรเล่าเพื่อให้พอมีรายได้เข้ามาบ้าง ลุงจะไปทำโครงการอะไรกับเขานั่น หรือ….? จะให้ลุงไปเดินๆ นั่งๆอยู่ในหมู่บ้านคนชราหรือ…? ลุงขอทำที่หุ้มคมมีดมาขาย ที่ดักหนู เสียมขุดดิน เอามาขาย ก็ลุงทำได้แค่นี้ รู้ดีว่าสิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งที่เหมาะกับชนบท แต่ที่นี่กลางเมืองขอนแก่น มันจะขายได้หรือ

ลุงมีทางเลือกอะไรบ้างเล่าไอ้หนู…. ปัญญาของลุงคิดได้อย่างนี้ ทำได้แค่นี้ เองพอใจก็ซื้อไป ลุงก็มีรายได้ เองไม่ซื้อก็แล้วไป ลุงไม่ได้เอ่ยปากซักแอ๊ะ ไม่เคยเรียกร้องให้มาซื้อด้วยความสงสาร แค่เอามาวางๆที่นี่ เจ้าหน้าที่ก็ค้อนไปหลายตลบแล้ว เขาว่ามันเกะกะ

ใช่…….ชีวิตลุงมันเกะกะบ้านเมือง แต่ลุงไม่งอมือขอทาน ทำของมาขายด้วยสุจริต เองจะเรียกอะไรก็เรื่องของเอง แต่ลุงขอที่วางของขายตรงนี้ นะ ขายไม่ได้ลุงก็จะไปที่อื่น ลุงไม่ได้มาขอกินนะ

ใช่…..ชีวิตลุงมันเกะกะบ้านเมือง………สำหรับความคิดบางคน…


CIA…

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 21, 2012 เวลา 13:21 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1395

อย่าเพิ่งตกใจว่าผมกำลังจะเขียนถึงหน่วยงานสายลับของอเมริกานะครับ ไม่ใช่ครับ คืองี้… ผมทำงานในบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง ธุรกิจส่วนใหญ่มีสินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ธุรกิจที่ผมเป็นลูกจ้างอยู่นี้เป็นธุรกิจขายความรู้ทางวิชาการ ที่เรียกปริษัทที่ปรึกษา ซึ่งมีหลายมุมมองของคนหลายกลุ่ม เช่น พี่น้อง NGO ส่วนใหญ่ก็จะมองว่าพวกนี้เป็นมือปืนรับจ้างทำเรื่องไม่ดีให้ดี กลุ่มที่มีกิจกรรมที่จะต้องทำประเมินผลกระทบก็ต้องว่าจ้างมืออาชีพที่มีชื่อเสียงมาทำการศึกษา

ผมคิดว่าเป็นความก้าวหน้าทางการพัฒนาบ้านเมือง ที่มีกฎหมายออกมาบังคับให้มีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆมากมาย และมีกิจการมากมายที่ไม่ผ่าน หมายความว่าจะต้องปรับปรุงบางส่วนของกิจการเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงจะดำเนินการต่อไปได้

ที่ผ่านมานั้นก็มักจะได้ยินว่ามีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียก EIA หรือ Environmental Impact Assessment และมีการศึกษาผลกระทบอื่นๆอีกเช่น IEE, HIA, SIA ฯ ซึ่งล้วนมีกฎหมายบังคับ และมีขั้นตอน มีกระบวนการ มีส่วนร่วมมากมาย ซึ่งใช้งบประมาณค่อนข้างมากในการดำเนินงานศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล ใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านประกอบเป็นทีมงาน

ผมนั้นมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลชนิดต่างๆเหล่านี้ตามความถนัดและชำนาญที่มีอยู่ ล้วนเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน เกี่ยวกับสนาม และข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นชาวบ้านหรือผู้มีส่วนได้เสีย

สิ่งที่ดีอีกประการหนึ่งของการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมคือ หากว่ามีประเด็นใดๆที่เสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบ จะต้องมีการกำหนดมาตรการต่างๆในการแก้ไข ปรับปรุง ดำเนินการต่างๆออกมา และเจ้าของธุรกิจนั้นๆก็จะต้อนำไปปฏิบัติ มิเช่นนั้นกิจการก็อาจถูกปิดลงตามกฎหมายที่ควบคุมได้

ผมพบว่าส่วนใหญ่ดูเรื่องเศรษฐกิจ และกายภาพต่างๆ สุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ตรวจวัดได้ สิ่งที่หายไปนั้นก็คือ ส่วนทื่จับต้องไม่ได้ก็คือผลกระทบด้านวัฒนธรรม จริงๆมีอยู่ครับแต่เป็นประเด็นย่อยในด้านสังคม ใน EIA มิได้หยิบมาให้เป็นประเด็นใหญ่ แต่ผมเห็นว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ มิใช่เรื่องเพียงผิวเผินเท่านั้นเอง

ผมยกตัวอย่าง สังคมเราตั้งแต่โบราณมานั้น วัฒนธรรมสังคมของเรานั้นมีความเรียบร้อย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ใครไม่มี คนมีก็แบ่งปันกัน ใครขาดอะไรก็ขอกันได้ เพียงเอ่ยปากบอกกล่าว มิได้ใช้เงินตรามาซื้อหากัน ฯลฯ แต่เมื่อสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ซิวิไลซ์ ก้าวหน้า แล้วแต่จะสรรหาคำพูดมาอธิบาย คุณค่าทางวัฒนธรรมเดิมของเราก็จางหายไป อย่างที่เราๆ ท่านๆซึ้งอยู่แก่ใจ และเรียกร้องให้กลับคืนมา มีการจัดงานโน่นนี่เพื่อประกาศคืนสู่คุณค่าแบบดั้งเดิมแต่ก็เป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น

การก่อสร้างสรรพสินค้า สมควรมีการศึกษาผลกระทบด้านวัฒนธรรม การเข้ามาของ เทคโนโลยี่ใหม่ๆ ควรศึกษาผลกระทบด้านวัฒนธรรม ฯลฯ มิใช่ศึกษาเพื่อเอาไม่เอาเทคโนโลยี่นั้นๆ เทคโนโลยีมีผลสองด้าน ด้านดีเรารับ แต่ด้านส่งผลเสียก็น่าที่จะพิจารณามีมาตรการป้องกัน แก้ไข หรืออย่างใดอย่างหนึ่งมิให้ใช้เทคโนโลยี่นั้นๆอย่างอิสระ และปล่อยให้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของเรา

สมควรหยิบเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หรือเป็นวาระแห่งชาติอะไรก็ว่าไป ทีน้ำเสียส่งกลิ่นนิดเดียวโอยมีมาตรการมากมายไปบังคับให้เจ้าของกิจการแก้ไข ปรับปรุง แต่กรณีเด็กนัดเรียนหนีโรงเรียนไปนั่งเล่นเกมที่ห้างสรรพสินค้าเป็นวันๆ ไม่มีมาตรการใดๆ ร้านเกมปล่อยให้เด็กวัยรุ่นเปิดดูภาพลามก…ฯลฯ

การพัฒนาเมืองไปสู่ความทันสมัยไปสร้างค่านิยมว่าคนเราต้องมุ่งหาเงินเพื่อไปซื้อสิ่งที่ใจต้องการ แต่มากเกินขอบเขตปัจจัยการดำรงชีวิตแบบพอเพียง ผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่นกรณีตัวอย่างที่ผมประสบมาคือ ที่เมืองหนึ่ง เป็นสังคมพุทธ เป็นสังคมค่อนข้างชนบทกำลังเร่งพัฒนา เป็นสังคมที่ดีงาม เย็นวันหนึ่งผมเดินไปชมบ้านเมือง พร้อมกล้องถ่ายรูปที่นิสัยผมชอบถ่ายรูปวิถีชีวิต ขณะที่ผมเดินผ่านห้องแถว มีสาวกลางคนอุ้มลูกน้อยเดินรี่มาหาผมแล้วถามตรงๆดังชัดเจนว่า “เอาผู้สาวบ่” ผมตะลึงที่ไม่คิดว่าจะได้ยินคำนี้ออมาจากปากสตรีในเมืองเช่นนี้ ในเวลาเย็นๆที่อากาศกำลังดีเช่นนี้…

เราเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ กายภาพ ความทันสมัย การเติบโต ฯลฯ แต่คุณค่าทางสังคมเดิมๆของเราก็กลายเป็นสินค้าไปด้วย เพียงเพื่อเงิน เพราะเงินคือสื่อกลางที่จะนำมาในสิ่งที่ใจต้องการ ใจที่ต้องการนั้นมาจากการกระตุ้นของระบบค่าทางสังคมที่มีธุรกิจเป็นตัวสร้างค่านี้ขึ้นมา และจากปัจจัยอื่นๆที่ระบบสังคมเราไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบ

ผมคิดว่าทุนนิยมไม่ได้เลวร้ายไปหมด ผมก็ไม่ได้คิดว่า วัฒนธรรมเดิมของสังคมเราจะดีไปหมดทุกเรื่อง แต่ควรมีการศึกษา กลั่นกรอง ปรับแก้ มีมาตรการที่เลือกสรรสิ่งที่เป็นประโยชน์สังคมเท่านั้น การปล่อยฟรี อิสระ ในระบบประชาธิปไตยเสรีนั้น คือเหยื่อของระบบธุรกิจสามานย์ ทั้งแบบจงใจและไม่รู้ตัว..

นี่คือความหมายหยาบๆที่เสนอให้มีการทำการศึกษาผลกระทบด้านวัฒนธรรมและคุณค่าทางสังคมหรือ Cultural Impact Assessment หรือ CIA นี่แหละครับ..


หิมะหมอก..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 19, 2012 เวลา 18:07 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1933

 

ปลายเดือนมกรา ที่ผ่านมา ที่เมืองนี้หนาวมากๆ เช้ามีแต่หมอก ผมเห็นคลุมยอดเขา ไกลออกไปแถวชายแดน ลาว-เวียตนาม มันแปลกตามากๆ เหมือนหิมะปกคลุมยอดภูเขา สวยสะใจจริงๆ รีบขอขึ้นไปที่หน้าอาคารที่ทำการเมืองซึ่งอยู่ที่สูง ถ่ายรูปนี้..

คนท้องถิ่นบอกว่าลมทะเลจากเวียตนามหอบลมเย็นพัดเข้ามาแผ่นดินลาว ลมแรงๆจึงเกิดปรากฏการณ์แบบนี้

เขาว่างั้นครับ


ไปกินฝิ่น..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2012 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3880

ไปขุดเอาภาพที่ไปทำงานในลาวมาเขียนบันทึก ให้เห็นบางมุมของชนบท ที่เหมือนบ้านเราในอดีต สภาพยังต้องการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

พูดถึงเรื่องนี้มีบางมุมในทฤษฎีทางสังคมที่กล่าวว่า ระดับของการพัฒนานั้นขึ้นกับชุมชนนั้นอยู่ห่างไกลตัวเมืองมากน้อยแค่ไหน แต่ปัจจุบันหลักการนี้อาจจะไม่จริงเสียแล้วเพราะ หลักการนี้จะใช้สภาพถนนเป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงชุมชน หากถนนดี ก็จะมีการเดินทางเข้าออกมาก ระบบธุรกิจก็เข้าไปมาก การลงทุนก็มีมาก ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก แต่ปัจจุบันมีระบบสื่อสารที่เป็นคลื่น ไม่มีถนน หรือถนนไม่ค่อยดี แต่การรับรู้ข่าวสารทางอื่นมีมากมาย อย่างผมเคยพบ ชุมชนชายป่าห้วยขาแข้งที่นครสวรรค์ โทรศัพท์ติดต่อกับลูกสาวที่ญี่ปุ่นได้..


ดูภาพเหล่านี้สิครับ มันเป็นธรรมชาติของวิถีชนบท พี่เลี้ยงน้อง เพื่อนเด็กชายหญิงเล่นด้วยกัน มีความผูกพัน ใกล้ชิด เห็น สัมผัสชีวิตกันและกัน เหล่านี้คือพื้นฐานแรกๆของแรงเกาะเกี่ยวทางสังคมอันเป็นฐานของ ทุนทางสังคมชุมชน


ที่บ้านนี้ผมตื่นเต้นที่เกือบทุกบ้านปลูกต้นไม้ทำเป็นรั้ว ผมสงสัยว่าต้นอะไร พ่อท่านนี้บอกว่าต้นกฤษณา ที่พ่อค้าซื้อเอาเนื้อไม้ไปกลั่นเป็นน้ำหอม หากต้นที่มีแก่นก็ราคาแพง หากไม่มีแก่นอยากได้เงินก็ตัดขายได้ ชั่งเป็นน้ำหนักขาย ผมไม่ได้ค้นสมุดบันทึกดูว่าราคาเท่าไหร่ แต่ถูกมาก พ่อท่านนี้กล่าว


ผมเดินไปอีกหน่อยก็เห็นกะบะยกพื้นสูงปลูกผักสวนครัว คือหอมแดง แต่มีต้นฝิ่นแซม ดอกฝิ่นสีขาวกำลังชูช่อสวยงามเชียว ผมคุ้นเคยดอกฝิ่นทั้งสีขาวและสีแดง เพราะสมัยทำงานที่สะเมิงที่นั่นเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นเป็นไหล่เขาเลย ผมปีนไปถ่ายรูปบ่อยๆ ต่อมาจึงมีการปราบปรามและเป็นพืชต้องห้าม แต่ที่นี่ปลูกในบ้านเลย


ผมถามพ่อที่เดินมาด้วยกันว่า เขาไม่ห้ามปลูกหรือ และปลูกทำไมในกะบะที่บ้านเช่นนี้ พ่อเขายิ้มๆแล้วตอบผมว่า หากปลูกเล็กน้อยเช่นนี้ไม่เป็นไร ก็ปลูกเอาไว้กินใบอ่อนนั่นไง อร่อยด้วยนะ กรอบ กินสดๆกับน้ำพริก กับลาบ และสารพัดเหมือนผักทั่วไป….

แหม เราทราบดีว่าฝิ่นนั้น ยางที่ผลนั้นมีฤทธิ์เป็นยาแก้ปวด หากกินมากๆก็ติด แต่ใบฝิ่นนี่มีคุณสมบัติทางยาอย่างไรบ้างผมไม่ทราบ และไม่ได้ทดลองชิมด้วยซี แหม….มังสวิรัติแบบผม แบบพ่อครูบาฯ มีพืชที่น่าทดลองเพิ่มขึ้นอีกแล้วซิ

แต่เป็นพืชต้องห้าม อิอิ….



สายภู..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2012 เวลา 20:31 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1442

เป็นรูปเมฆและทิวภูเขาที่เมืองคำเกิด แขวงบริคัมไซ

ภูเขาที่เห็นนั้นอยู่ใกล้ชายแดน ลาว-เวียตนาม

มีเหมืองทองคำอยู่ที่นั่น และเป็นเขตต้องห้ามเข้า

ช่วงที่ไปที่นั่นมันหนาวมากๆ แถมมีลมพัดอีกด้วย


นับ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2012 เวลา 9:40 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1324

ไปทำงานที่ลาวก็สนุกดีครับ งานรับผิดชอบผมก็ประชุมชาวบ้านคู่กับอาว์เปลี่ยน ในเรื่องต่างๆเพื่อพัฒนาตัวเขาเอง ผมต้องอาศัยเปลี่ยนมากเพราะเปลี่ยนเขาเขียนลาวได้ ฟังลาวออก พูดลาวแท้ๆได้ ศัพท์แสงเฉพาะต่างๆนั้น เปลี่ยนเข้าใจหมด ส่วนผมนั้นเตาะแตะอยู่ เผลิดเปิดเปิงไปก็หลายครั้ง

ผมชอบชนชาวลาวหลายประการ โดยเฉพาะความซื่อใส น้ำใจดี และต่อหน้าเราเขากล้าหาญมากทีเดียวที่จะพูดในสิ่งที่อยากจะพูด แต่ต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเขาก็จะไม่พูด หรือพูดน้อย ก็เหมือนๆชาวไทยนี่แหละ โดยเฉพาะในสมัยก่อน


เราได้เยาวชนสตรีลาวทั้งเจ้าหน้าที่โครงการและลูกจ้างรัฐบาลลาวกรมกสิกรรมและป่าไม้มาช่วย เขียน ประชุมกลุ่มย่อย และอื่นๆ เธอเหล่านั้นทั้งหมดจบปริญญาตรีมาแล้ว และนุ่งผ้าถุงทุกคน ไมมีใครนุ่งกางเกงเพราะเป็นกฎหมายแห่งชาติ ผมนั้นติดใจน้องสาวคนที่กำลังวาดรูปโดยหันหลังให้เราในภาพแรกนั้น เธอฉลาด เก่งมาก ในสายตาผม จึงไปชมเด็กคนนี้ให้อาว์เปลี่ยนฟัง อาวเปลี่ยนบอกว่าเธอสอบได้ที่ 1 ของการเข้ามาเป็น Community Development Worker ผมก็ร้องอ๋อ…..เธอช่างซักถามผมในเรื่องงานพัฒนาชนบท เธอฟังผมสอนมาสองชั่วโมงเมื่อครั้งก่อน เธอติดใจอยากให้ผมสอนให้อีก… อิอิ


เธอกระโดดเข้ามาเป็นผู้ช่วยผมในกลุ่มย่อย เพื่อการสื่อสารระหว่างผมกับชาวบ้านในรายละเอียดบางประเด็น และเลยไปถึงเป็นผู้รวบรวมความคิดเห็นจากชาวบ้านแล้ววาดความคิดเห็นนั้นลงในกระดาษ ความจริงเราอยากให้ชาวบ้านเป็นผู้ทำเอง บังเอิญกลุ่มนี้มีแต่สตรี จึงไม่มีใครกล้าออกมาทำหน้าที่นี้ คนลาวกล่าวกับผมเองว่าสตรีลาวส่วนใหญ่ด้อยการศึกษาทำให้ขาดทักษะพื้นฐานในหลายเรื่อง


ประเด็นคือ เมื่อผมตรวจสอบกิจกรรมที่ชาวบ้านปฏิบัติในครอบครัว และพืชที่ชาวบ้านเพาะปลูก และความสนใจชนิดพืชที่ต้องการปลูก ลูกศิษย์คนนี้ก็ช่วยดำเนินการให้และมีการตรวจนับจำนวน ผมเองทึ่งวิธีการนับของลูกศิษย์คนนี้ ดูตามรูปด้านบนซิครับ ท่านผู้อ่านอาจจะคุ้นชินกับการนับแบบนี้มาแล้ว แต่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน เคยเห็นแต่การนับนิ้ว เด็กๆมีสิบนิ้วไม่พอยังเอานิ้วเท้ามานับ ส่วนผู้เฒ่าหลายท่านนับข้อของนิ้ว ไม่ต้องยกเท้ามานับนิ้วเหมือนเด็กๆ

เราคุ้นกับการนับแบบคะแนนเสียงบนกระดาน ที่เอาขีดมาเรียงกันครบห้าก็ขีดเฉียงๆรวมสี่เส้นตรงไว้ เป็นหนึ่งกลุ่มที่มีความหมายเป็นจำนวน 5 แต่ลูกศิษย์คนนี้ใช้เส้นตรงที่ประกอบเป็นสี่เหลี่ยม และขีดเฉียงตรงมุมสี่เหลี่ยมเท่ากับจำนวน 5 ผมว่าเป็นความฉลาด เพราะประหยัดพื้นที่และไม่พลาดง่ายๆ เพราะสี่เหลี่ยมนั้น เป็นรูปสามัญที่เราและใครๆก็คุ้นกัน

แต่วิธีขีดเส้นตรงที่มีความหมาย สอง หรือสามนั้น อาจจะต่อจากข้างบนหรือข้างล่างนั้น ก็แล้วแต่ความถนัด

นักพยากรณ์ อาจจะเอาไปดูหมอทายลักษณะนิสัยเลยเถิดไปก็ได้ อิอิ..


คอก

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 17, 2012 เวลา 19:24 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1342

ไปทวนบันทึกเก่าเมื่อสองสามปีก่อนโดยบังเอิญ ไปหยุดอยู่ที่บันทึกที่มีผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผมในเรื่องงานพัฒนาสังคม พัฒนาชนบท ก็มีสิ่งที่สะกิดใจ อยากจะหยิบเอามาเขียนอีก

ประเด็นคือ ท่านศาสตราจารย์ท่านนี้ถามผมว่าทำไมข้าราชการไทยจึงต้องมีเบี้ยเลี้ยง ? ข้าราชการญี่ปุ่นมีแต่เงินเดือน ไม่มีเบี้ยเลี้ยง การออกไปทำงานในพื้นที่ เป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมีเบี้ยเลี้ยงด้วย…

ผมตอบไม่ได้….

แต่ก็คิดไปเองว่า ระบบวางมาเช่นนี้นานนับร้อยปีแล้ว ตั้งแต่มีระบบข้าราชการในเมืองไทยกระมัง ผมคิดเอาเองนะครับ เพราะไม่เคยทราบมาก่อนถึงที่ไปที่มาของการมีเบี้ยเลี้ยง

อาจเป็นเพราะเงินเดือนของข้าราชการไทยเราไม่สูงมาก การออกพื้นที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการนั่งทำงานในสำนักงาน จึงกำหนดเบี้ยเลี้ยงให้ เมื่อทำกันมานาน ก็กลายเป็นสิ่งปกติไป เลยลามไปถึงหน่วยงานเอกชนต่างๆก็มีเบี้ยเลี้ยงเมื่อออกสนาม หรือ ตามข้อกำหนดของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งหน่วยงานเอกชนมักมีค่าเบี้ยเลี้ยงสูงกว่าราชการด้วยซ้ำไป

เรามีประเด็นอื่นเข้ามาจึงไม่ได้ขยายการแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ต่อ แต่เป็นประเด็นที่น่าคิดเหมือนกันทั้งในแง่บวกและลบ สมมติว่าต่อไปนี้ยกเลิกเบี้ยเลี้ยง แต่จะเพิ่มเงินเดือนให้จำนวนหนึ่ง คนที่ออกสนามก็อาจจะมีความรู้สึกเปรียบเทียบกับสมัยที่มีเบี้ยเลี้ยง ซึ่งอาจจะพอใจ หรือไม่พึงพอใจก็ได้ แต่น่าคิดไม่น้อยทีเดียว….

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมหงุดหงิดใจบ่อยครั้งเมื่อพบภาพการ “เข้าคิว” ของสังคมไทย สมัยก่อนนั้นเราไม่มีวัฒนธรรมการข้าคิว มีแต่กรูแย่งกันไปอยู่ข้างหน้า แต่ต่อมาดูดีขึ้น แต่ก็ยังเห็นการไม่เข้าคิวบ่อยๆ จนหลายแห่งต้องทำ “คอก” บังคับให้คนเข้าคิว ขนาดมีคอก ยังแซงในคอกก็เคยเห็นครับ

เมื่อสามสัปดาห์ก่อนที่อยู่ในลาว พวกเรากำลังจอดรถฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง รอเรือเฟอรรี่ข้ามฝั่ง รถก็จะต้องเข้าคิวตามลำดับมาก่อนหลัง วันนั้นพบกลุ่มคนไทยสี่คัน ขับรถท่องเที่ยวลาวแล้วมารอเรือเฟอรรี่ พอเรือมาจอดรถข้างหน้าก็ขยับลงแพข้ามฟากนั้น กลุ่มคนไทยมัวตื่นเต้นกับเรือเฟอร์รี่และทัศนียภาพแม่น้ำโขงทำให้เกิดการทิ้งช่องว่างของรถที่ลงเรือไปแล้วกับกลุ่มคนไทยที่ไม่ได้ขับไล่ตามลงไปทันทีทันใด ก็เกิดมีรถปิกอัพด้านหลังรีบขับแซงลงไปในเรือทันที กลุ่มคนไทยเห็นดังนั้นก็พูดเสียงดังๆออกมาว่า “ทำไมทำอย่างนั้น ไม่มีวัฒนธรรมเลย” เขาคนนั้นย้ำพูดเช่นนั้นหลายครั้งเหมือนจงใจให้คนขับรถปิกอัพและคนแถวนั้นได้ยิน..ก็ไม่มีอะไรแค่ทำให้กลุ่มคนไทยหัวเสียไปพักหนึ่ง

แต่ในเรื่องเข้าคิวเช่นเดียวกัน ภาพที่ออกทีวีช่วงที่เกิดสึนามิถล่มเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นนั้น มีภาพคนญี่ปุ่นเข้าคิวรับของช่วยเหลือ ผมประทับใจมากที่ในแถวนั้นมีเด็กชายเล็กๆคนหนึ่งเข้าคิวต่อท้ายกับเขาด้วย ไม่มีการแซง ใครมาก่อนอยู่หน้า ใครมาหลังอยู่ถัดไป ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง เข้าคิว แถวเดี่ยวไม่เห็นมีคอก…

แต่บ้านเราต้องสร้างคอก…..



Main: 1.079097032547 sec
Sidebar: 0.2671320438385 sec