คอก

โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 17, 2012 เวลา 19:24 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1409

ไปทวนบันทึกเก่าเมื่อสองสามปีก่อนโดยบังเอิญ ไปหยุดอยู่ที่บันทึกที่มีผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผมในเรื่องงานพัฒนาสังคม พัฒนาชนบท ก็มีสิ่งที่สะกิดใจ อยากจะหยิบเอามาเขียนอีก

ประเด็นคือ ท่านศาสตราจารย์ท่านนี้ถามผมว่าทำไมข้าราชการไทยจึงต้องมีเบี้ยเลี้ยง ? ข้าราชการญี่ปุ่นมีแต่เงินเดือน ไม่มีเบี้ยเลี้ยง การออกไปทำงานในพื้นที่ เป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมีเบี้ยเลี้ยงด้วย…

ผมตอบไม่ได้….

แต่ก็คิดไปเองว่า ระบบวางมาเช่นนี้นานนับร้อยปีแล้ว ตั้งแต่มีระบบข้าราชการในเมืองไทยกระมัง ผมคิดเอาเองนะครับ เพราะไม่เคยทราบมาก่อนถึงที่ไปที่มาของการมีเบี้ยเลี้ยง

อาจเป็นเพราะเงินเดือนของข้าราชการไทยเราไม่สูงมาก การออกพื้นที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการนั่งทำงานในสำนักงาน จึงกำหนดเบี้ยเลี้ยงให้ เมื่อทำกันมานาน ก็กลายเป็นสิ่งปกติไป เลยลามไปถึงหน่วยงานเอกชนต่างๆก็มีเบี้ยเลี้ยงเมื่อออกสนาม หรือ ตามข้อกำหนดของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งหน่วยงานเอกชนมักมีค่าเบี้ยเลี้ยงสูงกว่าราชการด้วยซ้ำไป

เรามีประเด็นอื่นเข้ามาจึงไม่ได้ขยายการแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ต่อ แต่เป็นประเด็นที่น่าคิดเหมือนกันทั้งในแง่บวกและลบ สมมติว่าต่อไปนี้ยกเลิกเบี้ยเลี้ยง แต่จะเพิ่มเงินเดือนให้จำนวนหนึ่ง คนที่ออกสนามก็อาจจะมีความรู้สึกเปรียบเทียบกับสมัยที่มีเบี้ยเลี้ยง ซึ่งอาจจะพอใจ หรือไม่พึงพอใจก็ได้ แต่น่าคิดไม่น้อยทีเดียว….

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมหงุดหงิดใจบ่อยครั้งเมื่อพบภาพการ “เข้าคิว” ของสังคมไทย สมัยก่อนนั้นเราไม่มีวัฒนธรรมการข้าคิว มีแต่กรูแย่งกันไปอยู่ข้างหน้า แต่ต่อมาดูดีขึ้น แต่ก็ยังเห็นการไม่เข้าคิวบ่อยๆ จนหลายแห่งต้องทำ “คอก” บังคับให้คนเข้าคิว ขนาดมีคอก ยังแซงในคอกก็เคยเห็นครับ

เมื่อสามสัปดาห์ก่อนที่อยู่ในลาว พวกเรากำลังจอดรถฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง รอเรือเฟอรรี่ข้ามฝั่ง รถก็จะต้องเข้าคิวตามลำดับมาก่อนหลัง วันนั้นพบกลุ่มคนไทยสี่คัน ขับรถท่องเที่ยวลาวแล้วมารอเรือเฟอรรี่ พอเรือมาจอดรถข้างหน้าก็ขยับลงแพข้ามฟากนั้น กลุ่มคนไทยมัวตื่นเต้นกับเรือเฟอร์รี่และทัศนียภาพแม่น้ำโขงทำให้เกิดการทิ้งช่องว่างของรถที่ลงเรือไปแล้วกับกลุ่มคนไทยที่ไม่ได้ขับไล่ตามลงไปทันทีทันใด ก็เกิดมีรถปิกอัพด้านหลังรีบขับแซงลงไปในเรือทันที กลุ่มคนไทยเห็นดังนั้นก็พูดเสียงดังๆออกมาว่า “ทำไมทำอย่างนั้น ไม่มีวัฒนธรรมเลย” เขาคนนั้นย้ำพูดเช่นนั้นหลายครั้งเหมือนจงใจให้คนขับรถปิกอัพและคนแถวนั้นได้ยิน..ก็ไม่มีอะไรแค่ทำให้กลุ่มคนไทยหัวเสียไปพักหนึ่ง

แต่ในเรื่องเข้าคิวเช่นเดียวกัน ภาพที่ออกทีวีช่วงที่เกิดสึนามิถล่มเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นนั้น มีภาพคนญี่ปุ่นเข้าคิวรับของช่วยเหลือ ผมประทับใจมากที่ในแถวนั้นมีเด็กชายเล็กๆคนหนึ่งเข้าคิวต่อท้ายกับเขาด้วย ไม่มีการแซง ใครมาก่อนอยู่หน้า ใครมาหลังอยู่ถัดไป ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง เข้าคิว แถวเดี่ยวไม่เห็นมีคอก…

แต่บ้านเราต้องสร้างคอก…..

« « Prev : Budget Sheet

Next : นับ.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 กุมภาพันธ 2012 เวลา 19:27

    ผมลองตั้งค่า “ลานเก็บเรื่องมาเล่า” เท่าไหร่ก็ไม่ได้ พอมาใช้ลานดงหลวง ได้เลย อิอิ ก็เอานี่ไปก่อนเน๊าะ ขอบคุณ คอนครับ

  • #2 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 กุมภาพันธ 2012 เวลา 21:10

    ทุกวันนี้ก็ยังต้องนั่งทำงานในคอกอยู่เลยค่ะ น้อง ๆ ก็ไม่ค่อยเดินมาคลุกคลีเหมือนสมัยไม่มีคอก เลยยังงง ๆ ว่า วัฒนธรรมการแบ่งชนชั้นด้วยการเพิ่มระยะห่างระหว่างกันแบบนี้ มันคุ้มกันจริงหรือ กับพื้นที่ส่วนตัวที่เอาไว้บริหารเรื่องเฉพาะ บางเรื่อง สร้างคอกส่วนกลางไว้ใช้เฉพาะกรณีดีไหม เพราะคนในคอกก็เหงาเป็นเหมือนกันนะ สิบอกไห่ :P

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 กุมภาพันธ 2012 เวลา 21:41

    เรื่องคอกที่นั่งนี่มีหลายมุมครับ บางมุมเขาบอกว่าเป็นบริเวณส่วนตัวที่ใครๆก็อยากมีพื้นที่ส่วนตัว จะได้ทำอะไรต่อมิอะไรได้ตามใจชอบของตัวเอง ไม่ไปยิ่งเดี่ยวกับพื้นที่ของคนอื่นๆ บางท่านบอกว่าการมีพื้นที่ส่วนตัวทำให้ทำงานได้มากขึ้น ผมมไ่ทราบมีใครศึกษาเรื่องนี้กันบ้างหรือเปล่า น่าจะมีนะครับโดยเฉพาะระบบองค์กรทางธุรกิจนั้นมักจะสร้างคอกให้ และเช่นเดียวกัน อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็มีคอกที่มีกองหนังสือล้นโต๊ะ นัยว่า ……. บางมุมก็ดูเป็นการแบ่งชั้นชน คอกใหญ่ คอกเล็ก หรูหรามาก น้อย …. ก็เป็นอีกมุมหนึ่ง ส่วนหลายแห่งเปิดโล่งแค่มีฉากกั้นข้างหน้าเห็นหัวดำๆของคนที่นั่งตรงข้าม ก็ทำงานระดับสิบล้าน ร้อยล้านก็มีให้เห็น ก็แล้วแต่ ระเบียบ ข้อตกลง ความเห็นของแต่ละองค์กรนะครับ

  • #4 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 กุมภาพันธ 2012 เวลา 12:34

    เมื่อก่อนเวลามีงานบุญตักบาตรในวันพิเศษอย่างปีใหม่ ไปตักบาตรก็ไปต่อแถว ใครไปก่อนได้หัวแถว ใครไปหลังได้ท้ายแถว
    ไปรอก็ไม่นานเพราะพระให้พรรูปเดียว

    ตอนหลังเกิดวัฒนธรมให้นักการเมืองให้พร ต้องไปยืนรอผู้ว่าให้พร นักการเมืองให้พร เอาคนที่ตำแหน่งมาให้พรมากๆๆๆๆ เข้าขาแข็ง …พอพระเดินเบิณฑบาตรเท่านั้นแหละ …กรูกันไปรีบใส่บาตรจะได้ไปพ้นๆ บริเวณพิธีซะ เลยเป็นไม่มีแถวไม่มีคิว

    นี่ก็ว่าตามที่เคยเจอและเคยเห็นจากการถ่ายทอดสดจากมณฑลพิธีต่างๆ ค่ะ

    เรื่องคอกเรื่องคิว มันคงมีที่มาจากวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายของนักการเมืองด้วยมั้งคะพี่…อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.04780387878418 sec
Sidebar: 0.041607141494751 sec