“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.3

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 8, 2009 เวลา 23:20 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2531

มีอีกวลีหนึ่งที่คอนกล่าวในที่ประชุมนั้นและผมก็ชอบมากด้วย ที่ว่า ชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย คำนี้บ่งบอกความหมายกว้างขวาง คอนได้ผ่านปัญหาอุปสรรคมามากทั้งหน้าที่การงาน การบริหารลูกน้อง และอื่นๆ แม้ว่าความรู้ในด้านต่างๆจะพัฒนามากมาย และมีวางขายในร้านหนังสือทั่วไป แต่เหล่านั้นเป็นเพียงหลักการ หลักคิด เงื่อนไขของปัญหาที่เกิดขึ้นต่อหน้านั้นมันแตกต่างไปจากหลักการนั้นๆ ที่พูดเพียงกว้างๆ

ผมชอบที่ เฒ่าแก่ ส่งลูกของตัวเองที่อุตสาห์เรียนหนังสือจบเมืองนอกเมืองนา ให้ไปทำหน้าที่เสมียนระดับล่างก่อน เพราะต้องการให้รู้จักงาน รู้จักคน รู้จักรายละเอียดในงานที่เป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งของกิจการ แล้วค่อยยกระดับไปบริหารกิจการในท้ายที่สุดด้วยความรอบรู้แท้จริง เพราะสัมผัสมาด้วยตัวเองแล้ว

เฒ่าแก่ ก็จะมั่นใจว่า ลูกตัวเองเป็นผู้รู้จริงก็จะสามารถไว้ใจในการดำเนินกิจการต่อไปได้ แน่นอนระหว่างนั้นอาจจะผิดพลาด บกพร่องก็เป็นเรื่องมีประโยชน์ทั้งสิ้นเพราะลูกคนนั้นจะรู้ซึ้งถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเป็นต้น

ชีวิตไม่ใช่มีตัวเลือกให้หมดแล้ว หลายครั้งชีวิตต้องเผชิญอุปสรรค ปัญหาที่ไม่มีตัวเลือก แต่ต้องเดิน ผมยังชอบตัวแบบชีวิตที่ก้าวจากดินไปสู่ดาวของน้องรักคนหนึ่ง และผมชอบที่จะยกตัวอย่างเขาเสมอๆ เพราะชีวิตเขาเป็นอัตนัยทั้งหมด ไม่มีตัวเลือกเลย แต่การตั้งมั่นในความวิริยะอุตสาหะ และค่อยๆเดินไปนั้น เขาก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ ยากที่คนทำงานพัฒนาตัวเล็กๆคนหนึ่งจะก้าวไปถึงจุดยืนตรงนั้นได้ ขออนุญาตฉายซ้ำ

เพื่อนนักพัฒนารุ่นน้องที่ไปคว้าสาวชาวบ้านมาเป็นคู่ชีวิต เมื่อโครงการจบก็ตกงาน ไม่มีอะไรจะทำ จึงพากันลงไปกรุงเทพฯเอาลูกน้อยลงไปด้วยไปใช้ความรู้การทำน้ำเต้าหู้ขายตามริมถนน แต่ก็โดนตำรวจเทศกิจไล่จับเพราะไปกีดขวางทางเดินเท้า ต้องหิ้วหม้อน้ำเต้าหู้ร้อนๆ อุ้มลูกด้วย หนีตำรวจ เพราะหากถูกจับจะไม่มีค่าปรับ

แต่ก็อยู่ไม่ได้เพราะเทศกิจจ้องตลอด จึงขึ้นไปบ้านเชียงใหม่ ไปเช่าเครื่องทำสำเนารับจ้างตามริมถนน สามีไปทำงานโรงแรมเก่าๆ พอมีเวลาเหลือก็ไปรับจ้างทำสวนไม้ดอกตามหมู่บ้านจัดสรร และรีสอร์ทต่างๆที่กำลังก่อสร้างมากมายในเชียงใหม่สมัยนั้น

มีโชคเข้ามา เพราะคนญี่ปุ่นคู่หนึ่งเห็นเด็กหนุ่มสาวทำงานอย่างขยันขันแข็งเช่นนี้ จึงชวนไปทำงานส่งออกดอกไม้ประเภทหัวใต้ดิน เช่น ต้นแสงตะวัน โดยไปหาที่ดินและตระเวนเก็บสะสมหัวดอกทานตะวันจากที่ต่างๆทั่วประเทศ ตลอดจนต่างประเทศใกล้เคียง มาเพาะแล้วส่งออกไปญี่ปุ่น

งานหนักเอา เบาสู้ และใช้ความคิดพัฒนากิจการไปเรื่อยโดยที่ไม่มีตำราที่ไหนสอน คลำไปกันเอง หาความรู้เอง เรียนรู้เอง ลงมือทำเอง ไปแม่โจ้ ไปคณะเกษตร มช. ไปโครงการพระราชดำริ ไปทุกที่ที่จะมีความรู้มาพัฒนากิจการนี้ ตลอดจนไปเรียนรู้การทำ Tissue culture เพื่อมาขยายพันธุ์พืชที่ตระเวนสะสมไว้ในแปลงนั้น

จากไม้หัวไปสู้ไม้ใบ จากไม้ใบไปสู่ไม้ดอก จากการส่งไปญี่ปุ่นประเทศเดียวขยายไปออสเตรเลีย ยุโรป เปิดโรงงานทำน้ำสะอาดขาย และท้ายที่สุดทำน้ำสมุนไพรคาวตองขาย จากเด็กบ้านนอกในป่าสะเมิง จบเพียง ป.4 จากเด็กที่ผมขุดขึ้นมาจากหลังบ้านมาเป็นครูพี่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน และเมื่อก้าวมาสังคมใหญ่ เธอก็สร้างตัวเธอเองจนเป็นแม่เลี้ยงที่จังหวัดลำพูนในปัจจุบันนี้

ชีวิตเธอไม่ใช่มีทางเลือกใดๆเลย ทุกก้าวคือการคลำไปกับความมุมานะ กับสมองที่มุ่งหาความรู้เติมเข้ามา มันเป็นชีวิตที่เด็กบ้านนอกประสบผลสำเร็จที่น้อยคนนักจะทำได้

นี่คือตัวอย่าง ชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย ที่หลับตาจิ้มเอา แต่ต้องค้นคว้า เรียนรู้ อดทน มุมานะ พยายาม ก่ออิฐชีวิตไปทีละแผ่น….

จากเด็กกะโปโล บ้านนอก มาเป็นผู้บรรยายให้แก่นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์หลายสถาบันที่เข้ามาเรียนรู้..!!

จากเด็กครูพี่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนมาเป็นนักธุรกิจส่งออก….!!!!

จากเด็ก ป. 4 กลายมาเป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ..!!!!!!????? ทั้ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรปบางประเทศ…!!!???

สักวันหนึ่งอยากจะพาเฮฮาศาสตร์ไปที่นั่นกัน เธอยินดีต้อนรับแม้จะไปกัน 100 คนเธอก็สู้ไหว

ผมหละแอบชื่นชมผลของการทำข้อสอบอัตนัยของเธอจริงๆ


สะเมิง: นายหวื่อ แซ่ย่าง

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 5, 2009 เวลา 1:00 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3173

ช่วงปี 18-23 ที่ผมทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่นั้น เป็นคนสองโลก (ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น) คือ เวลาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สะเมิงซึ่งเป็นชนบท อาจเรียกว่าเป็นเมืองเกือบปิดก็ได้ เพราะไม่ค่อยมีการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก มีรถประจำทางที่เป็นปิคอัพเก่าๆ วันละเที่ยว เท่านั้น ใครพลาดก็ต้องรอไปอีกวันหนึ่ง

การเป็นเมืองปิด หรือสังคมปิดนั้น มีความหมายมากในทางสังคมวิทยาการพัฒนาชนบท เพราะสังคมปิดนั้น ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของสังคมยังเป็นแบบเดิมๆมาก อิทธิพลสังคมเมืองยังเข้าไปไม่ถึงมากนัก นอกจากไปทางฟ้า คือคลื่นวิทยุ และ ทีวี ซึ่งก็มีไม่กี่หลังคาเรือนที่มีทีวีเพราะ ภูเขาสูงมีส่วนสำคัญทำให้การรับคลื่นไม่ดี

ชาวบ้านสะเมิงนั้นมีทั้งคนเมืองและชาวไทยลื้อ ซึ่งมีประวัติยาวนาน ที่ผมประทับใจชาวไทยลื้อคือ เป็นคนขยันทำงานเกษตรและรักความก้าวหน้า จะพยายามส่งลูกเรียนหนังสือกันมาก และจำนวนไม่น้อยก็ได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตก็มี ผมเองไปกินไปนอนบ้านชาวไทยลื้อบ่อย เพราะทำอาหารอร่อย สาวก็งามด้วย อิอิ..


อาชีพหลักก็คือปลูกข้าวนาปีและข้าวไร่ เนื่องจากพื้นที่อยู่ในหุบเขา การถือครองต่อครัวเรือนจึงมีไม่มาก ข้าวจึงเป็นพืชที่สำคัญที่สุด ต้องพยายามทำให้พอกิน การดูแลเอาใจใส่นาจึงเต็มที่ มีการทำเหมืองฝาย ทั้งใหญ่เล็กมากมาย ทั้งฝายแม้ว ฝายม้ง เต็มไปหมด เนื่องจากน้ำท่าบริบูรณ์เพราะอยู่ในเขตภูเขา นอกจากนั้นหลังนาก็จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ กระเทียม ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย ถั่วเหลือง หอมแดง ฯลฯ กระเทียมนั้นขึ้นชื่อมาก เพราะน้ำดี ดินดี ผลผลิตจึงสมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ก็งามแล้ว

นอกจากนี้ในพื้นที่สะเมิงไกลออกไปเป็นตำบลบ่อแก้วติดเขตอำเภอปาย แม่ฮ่องสอน เป็นดอยสูง ก็จะเป็นพื้นที่ชาวไทยภูเขา ส่วนมากเป็นม้ง กะเหรี่ยง มูเซอร์ ม้งจะมีมากที่สุด และเป็นราชาคนภูเขาเลย เพราะขยันทำมาหากินมากที่สุดและปลูกฝิ่นเป็นดงใหญ่ทีเดียว ช่วงที่ผมไปอยู่สะเมิงใหม่ๆนั้นนโยบายปรายฝิ่นยังไม่แรงมากเท่าไหร่ ไร่ฝิ่นจึงมีให้เห็นเหมือนอย่างข้าวไร่เลยทีเดียว พวกเราชอบที่จะขับมอเตอร์ไซด์ขึ้นไปดูไร่ฝิ่นกัน…

เสาร์อาทิตย์พวกเราก็ออกจากชนบทมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ มาเช่าบ้านแถวสันติธรรม สมัยนั้นยังเป็นหมู่บ้าน ไม่มีตึกรามใหญ่โตเหมือนปัจจุบัน เจ้าของบ้านก็เป็นตำรวจกองเมืองเชียงใหม่ เราจึงสบายใจที่เช้าบ้านหลังนั้น อยู่กัน 5-6 คน ไปซื้ออาหารมาทำกินบ้าง ไปกินตามร้านรวงตามซอกมุมต่างๆที่ชอบบ้าง แล้วก็กลับมาซุกหัวนอนกัน เช้ามืดวันจันทร์ก็รีบบึ่งมอเตอร์ไซด์เข้าพื้นที่…

วันหนึ่งที่บ้านเช่าหลังนี้ในเมืองเชียงใหม่ มีชาวเขาเผ่าม้งคนหนึ่งเดินเข้ามาในบ้าน พร้อมกับถามหานายตำรวจคนหนึ่ง.. เราก็งง เราบอกว่าที่นี่ไม่มีใครเป็นตำรวจ เราเป็นนักพัฒนาที่สะเมิงมาเช่าบ้านหลังนี้ ชาวเขาคนนี้ก็ดีใจ บอกว่า เขาก็อยู่สะเมิง ที่บ่อแก้ว ชื่อนายหวื่อ แซ่ย่าง..

ท่านที่เคยคุ้นเคยชาวไทยภูเขาพูดภาษาไทยคงพอเดาสำนวนออกนะครับว่า คำที่พูดนั้นจะไม่มีตัวสะกด เราคุ้นเคยสำนวนเหล่านี้ดีจึงรู้เรื่องที่นายหวื่อสื่อสารกับเรา สรุปความว่า เขามาหานายตำรวจ ตชด.ท่านหนึ่งที่เขารู้จักดี และเคยเช่าบ้านหลังนี้ ทั้งนี้เขามาหาเพราะเดือดร้อน ว่า เมียเขาตาย และไม่มีเงินจะทำศพ ไม่มีเงินจะซื้อข้าวไปเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน จึงอยากมาขอเงิน ตชด.ท่านนั้นไปซื้อข้าวจัดงานศพเมีย….

ผมและเพื่อนๆที่เช่าบ้านหลังนี้ได้ฟังก็รู้เรื่อง เข้าใจความต้องการ หลังจากซักไซ้ว่าบ้านอยู่ตรงไหนของตำบลบ่อแก้ว เพราะเราก็ขึ้นไปเที่ยวแห่งนั้นหลายครั้ง แต่ไม่เคยพบนายหวื่อ แซ่ย่างคนนี้ แต่เขาก็ตอบถูกหมดว่า ผู้ใหญ่บ้านชื่ออะไร มีเจ้าหน้าที่ราชการใครบ้าง ครูชื่ออะไร ตอบถูกหมด พวกเราก็เชื่อใจ และความเป็นนักพัฒนาก็สงสารเรื่องที่เขาเดือดร้อน…


นายหวื่อตกลงขอความช่วยเหลือจากเราเป็นข้าวสารหนึ่งกระสอบ แถมยังเชิญไปงานศพเมียเขา หากขึ้นไปบ่อแก้วก็ไปหาเขาจะให้ลูกหมาน้อย ที่เราเรียกกันว่า หมาแม้วหนึ่งตัว เราตกลงกันว่าจะไปเบิกเงินที่อำเภอแม่ริมให้นายหวื่อไปซื้อข้าวหนึ่งกระสอบ เมื่อจัดการเสร็จ นายหวื่อได้เงินสดไปซื้อข้าวแล้ว เราก็ไปทำงานตามปกติ…

หนึ่งสัปดาห์ผ่านมา พวกเรานัดกันขับมอเตอร์ไซด์ไป บ่อแก้ว เที่ยวดูไร่ฝิ่น และเยี่ยมนายหวื่อ แซ่ย่างหน่อย หากโอกาสดีก็จะขอลูกหมาน้อยที่นายหวื่อออกปากให้ไว้เอาลงมาที่สะเมิงด้วย พวกเราสนุกสนานกันเมื่อได้ขับมอเตอร์ไวด์เที่ยวตามยอดดอยเช่นนั้น วิว ทิวทัศน์สวย อากาศดี หากพบไร่ฝิ่นดี เพราะดอกฝิ่นสวยมาก(แต่พิษร้ายเหลือเกิน) ส่วนมากก็แดง และขาว หรือสลับแดงขาวกัน เราถ่ายรูปกันจนหนำใจก็ไปหานายหวื่อตามที่เขาเคยบอกไว้ว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้..

หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ ถามตามร้านขายของเล็กๆก็ไม่รู้จัก เราชักเอะใจ จึงตรงไปหาผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นม้งเช่นกัน ถามหานายหวื่อ แซ่ย่าง ผู้ใหญ่บ้านก็คิ้วขมวดนึกเป็นนานก็ตอบว่าในหมู่บ้านนี้ไม่มีคนม้งชื่อนายหวื่อ แซ่ย่างเลย แซ่ย่างนั้นมี แต่ชื่อหวื่อนี้ไม่มี เอ้าไปถามม้งแซ่ย่างหลายต่อหลายคนก็บอกว่า ไม่มีญาติชื่อหวื่อ…….ไม่มีคนตาย ไม่มีผู้หญิงตาย ไม่มีเมียใครตายซักคน…

พวกเรามองหน้ากันแล้วก็ร้องอือ..เสร็จแล้วพวกเรา…เสร็จชาวไทยภูเขาซะแล้ว..

นักพัฒนาชนบทโดนชาวไทยภูเขาหลอกเข้าแล้ว…อิอิ…เอิ๊กกก…โส..น้า..น่า…

(ภาพเหล่านี้มีอายุมากกว่า 30 ปีแล้วครับ)


ปลา และ อีกา 2

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 4, 2009 เวลา 15:24 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3481

เวลาที่ทำความรำคาญและสร้างความโกรธแค้นเจ้าอีกามากที่สุดก็ช่วง พอเราเอาปลาเค็มไปตากแดดในกระด้ง กระจาด ตะกร้า หรือแผ่นสังกะสีบ้าง เพื่อผึ่งให้แห้ง ก่อนที่จะเก็บ อีกามักจะบินลงมาเกาะที่ลูกกรงชานบ้านนับสิบๆตัว แล้วก็บินโฉบเอาปลาของเราไปกินหน้าตาเฉยเลย.. แถมถ่ายมูลรดหลังคาบ้าน ชานบ้าน ลูกกรงชานบ้านขาวไปหมด พ่อต้องเอาฝาชีมาครอบ เอาแหเก่าๆที่ขาดมาคลุม แต่ก็ไม่วายถูกแย่งอยู่เสมอๆ

เสียงอีกาจะหายไปตอนพลบค่ำแล้วไปส่งเสียงดังที่ต้นไม้ใหญ่ที่วัด และเช้ามืดมันก็จะมาปลุกเราตื่นแต่เช้าตรู่อีก ช่วงเวลากลางวันเราต้องมากลับปลาที่พึ่งไว้นั้นให้อีกด้านถูกแดดด้วย หรือมาดูว่าปลาถูกแมลงวันมาหยอดไชขาง(ไข่)ทิ้งไว้ไหม หากพบก็จะเขี่ยออก บ่อยครั้งที่ปลาตะเพียนผ่าซีกของเราในกระด้งอยู่ไม่ครบตัว เพราะอีกาแอบมาเอาไปกินน่ะซี ตกเย็นหมดแดดหากไม่รีบเก็บปลาที่ตากไว้นั้น มดก็จะมาขึ้น เราก็ต้องคอยไล่มด เคาะให้มดออกจากตัวปลาแล้วก็เอาเก็บใส่ปีบ พรุ่งนี้ก็เอาตัวที่ยังไม่แห้งดีออกมาตากใหม่…

ผมไม่ชอบอีกาเอามากๆ คอยแอบยิงเสมอแต่ร้อยครั้งจะถูกสักครั้ง แต่ก็ไม่ตายหรอก ทุกปีผมจะได้กินปลาเค็มที่ทำด้วยปลาตะเพียน มันย่อง เลิศรส เค็มพอดี กับข้าวร้อนๆบ้าง ข้าวต้มตอนกลางวัน หรือไม่ก็แกงผักบุ้งใส่ปลาเค็ม ปลาช่อนเค็มผมชอบกินกับแกงมากกว่า วันไหนที่ผมต้องหาบข้าวอาหารมื้อเช้าไปส่งพ่อ แม่ที่เกี่ยวข้าวกลางนา จะเป็นอาหารที่อร่อยมากๆเพราะกินกันกลางทุ่งนา แต่ไม่ชอบเกี่ยวข้าวเพราะมันไม่สนุก เมื่อย ปวดหลัง และบางทีดินยังไม่แห้งเป็นโคลนต้องย่ำ เปื้อนน่อง เท้า ล้างมันก็ไม่ค่อยออกหมดมันก็จะแตก และหนาว

ผมชอบให้พ่อทำปี่จากปล้องต้นข้าว เป่าแก้มโป่งไปเลย เวลาค่ำเลิกงานนา เดินกลับบ้านจากทุ่งผมชอบดูแสงหิงห้อยนับล้านๆตัว บินอวดแสงที่ก้นมัน แต่ผมมักจะปิดตาแล้วเกาะมือแม่เดินตามคันนากลับบ้านด้วย เพราะกลัวผี.. กลัวงู…

นับตั้งแต่ปี 2509 ผมลงไปเรียนหนังสือที่ฝั่งธนบุรี เป็นช่วงที่เปลี่ยนชีวิตผมครั้งใหญ่ จากเด็กบ้านนอกมาอยู่ในเมืองหลวง เพื่อเรียนหนังสือมุ่งหวังเข้ามหาวิทยาลัย…. ช่วงนั้นจะกลับมาบ้านก็ช่วงปิดเทอมเท่านั้น ชีวิตส่วนใหญ่ก็เริ่มห่างไกลชนบท คลุกคลีกับสังคมเมือง บางเทอมก็ไม่ได้กลับบ้านเพราะทำงานรับจ้างหาเงินบ้าง

เมื่อผมเรียนจบมหาวิทยาลัยเดินทางกลับบ้าน แม่ทำปลาร้าทรงเครื่องให้กิน แกงผักบุ้งปลาเค็มตามคำร้องขอของผม ผมอร่อยในฝีมือแม่ กินจนพุงกาง แล้วถามว่าแม่เอาปลามาจากไหน แม่ตอบว่า ก็ซื้อมาซิลูก.. พ่อเขาไปตลาดก็เลยซื้อมา ซื้อมาหลายอย่าง น้ำปลาด้วย ปลานั่นเป็นปลาเลี้ยงตามบ่อต่างๆ เดี๋ยวนี้เขาขุดบ่อเลี้ยงปลากันแล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว…

เสร็จอาหารมื้อเย็นผมปลีกตัวเงียบๆไปที่โคนต้นก้ามปูใหญ่ต้นเดิมที่สมัยเด็กๆชอบมานั่งเล่นนั้น ผมทวนคำว่าปลาซื้อมา… ผมนึก 10 ปีที่ผมไม่อยู่บ้าน เราต้องซื้อปลากินแล้ว มิน่าเล่าผมไม่ได้ยินเสียงอีกาเลย ผมไม่เคยเห็นอีกาอีกเลย

พรุ่งนี้ผมจะลาจากพ่อแม่กลับไปทำงานพัฒนาชนบทที่ภาคเหนือที่ได้งานหลังเรียนจบแล้ว….

ผมคิดถึงงานพัฒนาชนบทที่เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับบัณฑิตหนุ่มอย่างผม????…

(เป็นบทความที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่ 22 กันยายน 2527 ในสมุดบันทึกส่วนตัว 25 ปีที่แล้ว)


ปลา และ อีกา 1

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 4, 2009 เวลา 15:22 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2762

เมื่อเด็กๆสมัยอยู่ชั้นประถมเป็นวัยที่สนุก เมื่อขึ้นชั้นมัธยมเราต้องเดินไปเรียนหนังสือกันวันละ นับสิบกิโลเมตรไปกลับ แต่มีเพื่อนมากมาย การเดินระยะทางเช่นนั้นจึงไม่ใช่อุปสรรค

แม่ซึ่งมีอาชีพทำนาเลี้ยงลูกๆ 6 คนนั้นต้องตื่นแต่ตี 4 ตี 5 หุงข้าวให้ลูกเมื่อไปโรงเรียนกันแล้วก็อุ้มลูกคนเล็กไปนาจนเย็นค่ำ พ่อเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดใกล้บ้าน พอได้ช่วยแม่บ้างยามว่าง หน้าออกพรรษาประเพณีชาวบ้านก็จะกวนกระยาสารท เตรียมกล้วยไข่บ้างกล้วยน้ำว้าบ้าง เต็มเรือนหมด คัดเอาหวีงามๆไว้ทำบุญพระที่วัด ที่เหลือก็แจกญาติ พี่น้อง บ้านเหนือบ้านใต้ พวกเราก็กินกระยาสารทกันพุงกางทุกวัน

ชีวิตช่วงนี้ชาวบ้านจะเตรียมแห เตรียมยอกัน ใครมีแหก็เอามาปะชุนส่วนที่มันขาด บ้างก็ย้อมน้ำลูกตะโกที่ตำจนละเอียดแช่น้ำ เครื่องมือจับปลาที่เตรียมไว้เพราะหลังออกพรรษานั้นเข้าสู่ฤดูน้ำลด ปลาที่อยู่ในทุ่งนาก็จะออกสู่ลำคลองแม่น้ำน้อย ตามธรรมชาติของเขา

ปลาชุกชุมมากสารพัดชนิด น้ำปลาที่ใช้ประกอบอาหารนั้นไม่ต้องไปซื้อกิน ทุกบ้านจะทำน้ำปลาจากปลาสร้อยกันเอง ชาวบ้านจะใช้แหทอด บ้างยกยอบ้าง เวลาช่วงปลาออกจริงๆมันใช้เวลาแค่สองสามวันแค่นั้นก็หมด ชาวบ้านจะนัดกันมาทอดแหโดยใช้ เรือมาดบ้าง เรือไผ่ม้า บ้าง หรือเรื่ออื่นๆที่มีอยู่ แบ่งเป็นสองกลุ่มสองฟากฝั่งแม่น้ำ 20-30 ลำก็เคยเห็น ดำเต็มแม่น้ำไปหมด…เวลาทอดแหก็จะนัดพร้อมๆกัน เป็นภาพที่ไม่มีอีกแล้ว..

ปลาสร้อยที่ได้มานั้นก็จะเอาใส่ตุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างหมักเกลือปิดฝาให้มิดชิดเอาตากแดดไว้กลางชานบ้านเลย หรือบางบ้านก็ทำร้านเฉพาะก็มี พ่อเล่าให้ฟังว่าสมัยพ่อหนุ่มๆนั้นปลาสร้อยในแม่น้ำน้อยมากจริงๆ ยามที่เราพายเรือไป หากไปโดนฝูงปลาสร้อยเข้ามันตกใจกระโดดเข้าเรือเราเยอะไปหมด แต่สมัยผมนั้นไม่เห็นภาพเหล่านี้อีกแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีปริมาณปลามากอยู่ คนที่ไม่มีแรงงาน หรือไม่มีแหไม่มียอก็จะซื้อปลาสร้อยมาทำน้ำปลาเลิศรสกัน ใช้กินตลอดทั้งปี ไม่ต้องซื้อน้ำปลาขวดที่มาจากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ หรือจังหวัดชายทะเล

นอกจากปลาสร้อยก็มีปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาอื่นๆทุกชนิดเมื่อได้มาเหลือกินมื้อนั้นๆก็เป็นหน้าที่เด็กๆเอามาขอดเกล็ดผ่าท้องเอาไส้ออกทิ้งไป บั้งข้างๆปลา หรือไม่ก็ผ่าซีกครึ่งตัวแผ่ออก เอาเกลือที่ตำจนละเอียดพอสมควรมาทาให้ทั่ว หมักเอาไว้หนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นก็เอาไปล้างน้ำเอาเกลือออก แล้วก็เอาไปผึ่งแดด เพื่อทำปลาเค็ม (สมัยนี้ก็เป็นปลาแดดเดียว) หากว่ามีปลาจำนวนมากก็จะเอามาย่างถ่าน พอสุกได้ที่ก็เก็บใส่ปีบปิดให้สนิท กัน ขี้ขมวน กิน (เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ชอบมาชอนไชกินปลาย่าง)

ทั้งปลาเค็ม ปลาย่าง ทำไว้เพื่อเอาไปใช้ประกอบอาหารในฤดูหนาวที่ต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อเตรียมเขน็ดมัดข้าว ลงมือเก็บเกี่ยวข้าวในนา หรือคุมการเกี่ยวข้าวของลูกจ้าง ขนข้าวจากที่นาเข้าลาน นวดข้าว ฝัดข้าว และเก็บเมล็ดข้าวเปลือกที่ได้ทั้งหมดเข้ายุ้งฉางซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่างานทุกอย่างจะแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นช่วงที่ยุ่งที่สุด ไม่มีเวลาไปหาของกินอื่นๆ ก็ได้ปลาเค็ม ปลาย่างที่ทำไว้นั่นเอง…

จำได้ว่าช่วงฤดูจับปลานี้ ปริมาณปลาที่มากมายในแม่น้ำน้อย และตามทุ่งนาใครมีปัญญาจับปลาด้วยวิธีใดก็ทำได้เต็มที่ ช่วงเวลาทำปลาเค็มปลาย่างนั้นศัตรูที่สำคัญคือ อีกาและเหยี่ยว แต่อีกามีจำนวนมากกว่าหลายเท่านัก มันจะมาเกาะเต็มหลังคาบ้านเวลาเช้าๆแล้วส่งเสียงร้องดังหนวกหูไปหมด ผมเคยเอาหนังสะติกมาไล่ยิงมัน แต่ไม่เคยยิงถูกเลย มันบินหลบเก่งมาก แค่มันเห็นเราเงื้อหนังสะติกมันก็บินหลบไปแล้ว


ชีวิตครอบครัวที่หายไป

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 3, 2009 เวลา 10:58 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1995

เสียงเด็กร้องให้ เสียงไอคนเฒ่า เป็นประโยคธรรมดาที่บางท่านอาจจะคิดไปถึงว่า สถานที่แห่งนั้นมีเด็กอาจจะไม่สบายและมีคนเฒ่าที่อาจจะกำลังป่วย

ไม่ผิดครับ….เพราะไม่ได้อธิบายอะไรมากไปกว่าการกล่าวถึงประโยคนั้นเฉยๆ

แต่ผู้บันทึกต้องการมองอีกมุมหนึ่งคือ.. เป็นคำกล่าวที่สะท้อนถึง 3 รุ่นอายุ (Generation) คือรุ่นเด็กเล็ก(ลูก) รุ่นพ่อแม่(วัยแรงงาน)และรุ่นปู่ย่าตายายที่เป็นคนเฒ่า(วัยชรา วัยพักผ่อนและเผชิญโรคภัยไข้เจ็บ)

สภาพเช่นนี้คือสังคมไทยในสมัยก่อนแผนพัฒนาชาติ ที่สังคมยังเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่ด้วยกันทั้งสามรุ่นหรือมากกว่าสามรุ่นด้วยซ้ำไปหากครอบครัวนั้นอายุยืนมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ก็อาจจะมีรุ่นแหลน โหลน หลอน ด้วยซ้ำไป มันเป็นสังคมที่มีความอบอุ่นและมีความเป็นสังคมครอบครัวที่หนาแน่น สะท้อนด้วยเสียงร้องให้ของเด็กเล็กซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา สะท้อนด้วยเสียงไอของคนเฒ่า ก็เป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกัน

ครอบครัวแบบนี้มีข้อดีมากมาย

  • อบอุ่น ดูจะเป็นประเด็นใหญ่เพราะมีเครือญาติมากมายอยู่อย่างใกล้ชิด มีกินด้วยกัน เล่นด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ทุกข์ยากอย่างไรก็ช่วยเหลือกันเต็มที่

  • มีการถ่ายทอดทุนทางสังคมต่างๆอย่างเป็นธรรมชาติ ที่อาจจะเรียกว่า Informal learning ไม่ต้องเข้าห้องเรียน ไม่ต้องแบ่งกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยน ไม่ต้องมีใครมานำเสนอ ฯลฯ แต่ทำเลย ทำนา ทำไร่ จักตอก สานตะกร้า ไปวัด ไหว้พระ ผู้ใหญ่ให้เด็กทำแล้วก็สอนไปด้วย

  • จุดเด่นที่สุดดูจะเป็นการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน ผมจำได้ว่า ที่บ้านพ่อจะทำยอดักปลาในช่วงน้ำหลาก เมื่อเราได้ปลาจำนวนมากเกินที่จะกินในครอบครัว แม่ก็จะเอาตะกร้าไปแบ่งปลามาแล้วให้ผมเอาไปให้ ป้าคนนั้น ตาคนนี้ ไม่ต้องซื้อหากัน อยากกินผักพื้นบ้านอะไรก็เดินไปริมรั้วบ้านคนนั้นแล้วตะโกนขอผักหน่อย เท่านั้นก็ได้กิน

  • เด็กๆรุ่นเดียวกันก็จับกลุ่ม เล่นขายของ เล่นโป้งแปะ เล่นสารพัดจะสรรค์หาการเล่นมา แต่หากเล่นเลยเถิดไปจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ข้าวของบ้านใคร พ่อแม่อนุญาตให้ผู้ใหญ่คนไหนก็ได้ในหมู่บ้านมีสิทธิ์ที่จะเอาเด็กคนนั้นมาดุด่าว่ากล่าว จนกระทั่งตีก้นได้เลย เป็นที่เข้าใจกัน

  • วันพระทุกบ้านจะแต่งตัวสวยงามไปวัดกัน ที่วัดจะรวมคนทุกรุ่นตั้งแต่เด็กเล็กที่เดินได้ก็พ่อแม่จะจูงมือไป คนเฒ่าแก่ก็ไปแต่เช้านั่งคุยกับพระเจ้าอาวาส กินน้ำชา คุยกันสารพัดเรื่อง เป็นการ update ข้อมูลหมู่บ้าน สังคม ประเทศชาติ ฯลฯ

  • ฯลฯ

ครอบครัวแบบนี้ สังคมแบบนี้มีในอดีต ที่ทุกท่านคนเห็นภาพนี้มาแล้ว แต่นับวันจะหดหายไปสิ้น ยิ่งสังคมเมือง ที่เอาคนเฒ่าไปไว้ที่บ้านคนชรา พ่อแม่เฝ้าบ้าน ลูกแยกครอบครัวออกไป กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว….

ครอบครัวผมก็เช่นกัน เป็นสังคมเมือง ตอนลูกเล็ก แม่(ยาย)มาอยู่ด้วยเพราะอาสาจะมาเลี้ยงหลาน คนสุดท้าย (ที่เลี้ยงมาแล้ว 14 คน อิอิ) คนข้างกายเป็นข้าราชการ ก็ไปเช้ากลับเย็น ส่วนผมช่วงนั้นโชคดีที่ได้งานทำในเขตอำเภอเมือง ก็ไปเช้ากับเย็นได้ แม้ว่าบางครั้งต้องออกชนบทก็ไม่บ่อยนัก ชีวิตครอบครัวก็เป็นครอบครัวที่อบอุ่น ได้กินข้าวด้วยกันเกือบทุกวัน ฯ

เมื่อลูกโตขึ้น ส่งเขาไปเรียนไฮสคูลที่ NZ โดยไม่ได้วางแผนมาก่อน และผมเองก็ต้องย้ายที่ทำงานไปต่างจังหวัด กลับบ้านทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ครอบครัวก็ไม่เป็นครอบครัว คุณแม่ก็เริ่มก้าวเข้าสู่ชราภาพ ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เข้ามาเยือน คนข้างกายแม้จะเป็นข้าราชการแต่ตำแหน่งหน้าที่การงานต้องเป็นนักวิจัย มีโครงการวิจัยมากมายล้นมือ ต้องเดินทางบ่อยไปทั่วประเทศทุกภูมิภาคทั้งในเมืองในชนบท ต่างประเทศก็ไปบ่อย ครอบครัวจึงเกือบไม่มีสภาพครอบครัว คุณแม่ต้องอยู่กับผู้ช่วยแม่บ้านที่นิสัยดีเหลือเกิน จนเราต้องจุนเจือครอบครัวเขาไปด้วยในหลายสถานะ

เมื่อลูกสาวเรียนจบไฮสคูลก็มาเข้าเรียน ABAC ที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันอีกแต่ยังดีที่อยู่ในเมืองไทย คนข้างกายก็ยังตระเวนทั่วประเทศเช่นเดิม ผมเองก็ตระเวนต่างจังหวัดตามเงื่อนไขของอาชีพ

แล้วคุณแม่ก็จากไป ลูกยังเรียน ผมยังอยู่ต่างจังหวัด บ้านจึงมีแต่คนข้างกายอยู่กับเด็กที่เราเอามาอยู่ด้วยเพื่อเป็นเพื่อนและส่งเสียเขาเรียนหนังสือตามกำลังเล็กน้อยที่พอจะมี

มาวันนี้ลูกสาวเรียนจบแล้วและกลับมาบ้าน ที่ไม่มีคุณแม่แล้ว การเป็นครอบครัวกลับมาอีกครั้งแต่ก็ไม่เต็มที่ แต่ก็เป็นบรรยากาศที่เรามีความสุข ที่พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันมากขึ้น รอวันว่าเส้นชีวิตจะผกผันไปอย่างไรอีก แต่พยายามที่จะให้เป็นครอบครัวมากที่สุด….

สภาพสังคมเปลี่ยนไปนานแล้วและครอบครัวก็แตกแยกกันนานแล้วด้วยสาเหตดังกล่าว… ไม่เฉพาะครอบครัวผมหรอก ใครๆก็เป็นเช่นนี้… หากพ่อแม่ไม่เป็นหลักดีดีแล้วความเป็นครอบครัวคงรักษาไว้ให้มีความสุขได้ยาก

ไม่มีเสียงเด็กร้องไห้ ไม่มีเสียงไอคนแก่ อีกต่อไปแล้ว

ไม่มีการถ่ายทอดทุนทางสังคมแบบเดิมๆอีกต่อไป

สภาพครอบครัว สังคม เปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง

เราจะประคับประคองสังคมของเราที่มีสิ่งดีดีให้สืบต่อได้อย่างไรหนอ…


สะเมิง : แข่งมอเตอร์ไซด์

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 31, 2008 เวลา 1:46 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 7112

เข้าไปบันทึกของเม้งที่ http://lanpanya.com/lanaree/?p=111#comment-154 เรื่อง นวัตกรรมใหม่กับแฟนท่อมคู่กาย ทำให้ผมนึกถึงสมัยทำงานที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ปี 2518-2522 (ค่อยย้อนแนะนำพื้นที่ในบันทึกหน้านะครับ) ผมทำงานในโครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ (พชบ.) แถบภูเขา ที่สูงชันและเป็นลูกรัง ซึ่งมีความยากลำบากในการเดินทางทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง แต่เราก็ต้องใช้เส้นทางนี้ เพราะหมู่บ้านต่างๆนั้นซ่อนอยู่ในภูเขาโน้น เราต้องเดินทางไปหาโดยมอเตอร์ไซด์นี่แหละ..


ฤดูฝนนั้นก็จะมีความลื่น และความชันก็ทำให้มอเตอร์ไซด์ล้มคว่ำโดยง่าย เรากล่าวกันว่า ใครขับมอเตอร์ไซด์ในสะเมิงไม่ล้มไม่มี ในฤดูนี้เรามีเครื่องมือพิเศษติดมอเตอร์ไซด์คือโซ่มัดล้อใช้ตะกุยช่วงถนนมีความลื่นมาก อีกอย่างคือไม้แคะดินออกจากล้อรถ  อิอิ… ยามเข้าฤดูแล้งก็เป็นฝุ่น เสื้อผ้า หน้าตา ผมเพ่า มีแต่ฝุ่นแดง จนหลายคนเป็นริษสีดวงตาเพราะฝุ่นเข้าตาเป็นประจำ


ยานพาหนะที่ใช้หัวหน้าใช้ปิคอัพมีเพียง 1 คัน ส่วนพนักงานใช้มอเตอร์ไซด์ สมัยนั้นที่นิยมมากก็คือ รุ่น เอนดูโล่ แรกๆเราใช้ ซูซูกิ 125 ซีซี สองจังหวะ แต่ก็ไม่ทนในสภาพภูเขา จึงเปลี่ยนมาใช้ ฮอนด้า สี่จังหวะ 100 ซีซี และท้ายที่สุดมาใช้ ฮอนด้า รุ่น Trial 125 ซีซี จำได้ว่าราคาแพงที่สุดประมาณ สามหมื่นกว่าบาท ผู้จัดการโครงการซึ่งเป็นเยอรมันมีนโยบายว่า รถมอเตอร์ไซด์นั้นหากใช้ 3 ปี ก็จะยกให้เลย.. สมัยนั้นก่อนที่จะมีสิทธิ์ใช้มอเตอร์ไซด์ พนักงานทุกคนจะต้องไปเข้ารับการฝึกอบรมการซ่อมบำรุงมอเตอร์ไซด์ก่อน และทุกคนจะต้องใช้หมวกกันน๊อก (Helmet) ใส่ถุงมือใส่เสื้อแขนยาวและรองเท้าที่หนา เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ตามหลักความปลอดภัย

ปีหนึ่ง…ทางอำเภอสะเมิงจัดงานประจำปี และจัดแข่งรถมอเตอร์ไซด์วิบาก แล้วมาเชิญพนักงานโครงการเข้าร่วมการแข่งขันด้วย ผมสนใจจึงเข้าร่วมด้วย ในครั้งนั้นมีจำนวนคนเข้าร่วมประมาณ 10 กว่าคันโดยมีมืออาชีพเข้าร่วม 3 คน เขาใช้ยามาฮ่า 175 ซีซี แต่ผมและเพื่อนใช้ ฮอนดา 100 ซีซี เพราะเรามีอย่างนั้น เส้นทางที่ใช้ก็คือวิ่งไปตามถนนระหว่างตำบลรวมความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านต่างๆที่เราทำงาน เส้นทางที่ใช้ก็คือเส้นทางประจำที่ผมใช้อยู่ทุกวัน…

เส้นทางเหล่านี้เป็นไหล่เขา ที่ผมซิ่งมาประจำอยู่แล้วจึงได้เปรียบ แต่สภาพมอเตอร์ไซด์นั้นเทียบไม่ได้เลยกับมืออาชีพที่มาแข่งด้วย แต่เขาก็ไม่สามารถจะบิดได้เต็มที่เพราะเส้นทางที่เป็นไหล่เขานี่เอง หากพลาดก็ตกไปก้นเหวโน้น… และความไม่ชิดเส้นทางจึงไม่สามารถใช้ความเร็วได้เต็มที่ตามสมรรถภาพมอเตอร์ไซด์ของเขาที่มีอยู่เหลือหลาย

อย่างไรก็ตามผมเองไม่เคยแข่งมาก่อนก็แหยงๆเจ้ามืออาชีพทั้งสามคน เพราะเราเห็นฝีมือที่เขาทดลองแล้ว หนาวววว แต่ก็สู้เพราะสนามคือถิ่นของเราเอง.. มอเตอร์ไซด์ของเราก็ไม่ได้ โม.. อิอิ ภาษานักรถแข่งเขาย่อมาจาก โมดิฟายหรือการปรับแต่งรถให้วิ่งเร็ว และปลอดภัยนั่นเอง ชาวบ้านก็มาเชียร์เรา เพราะเขารู้จักเรา

ผลการแข่งขัน ผมเป็นผู้เข้าเส้นชัยด้วยเวลาน้อยที่สุดจึงเป็นผู้ชนะ ได้รับถ้วยรางวัลจากท่านนายอำเภอสะเมิง และเงินอีก 3,000 บาท หลังจากนั้นก็ฉลองร่วมกับเพื่อนๆ ชาวบ้าน ข้าราชการ ผู้นำชุมชน…. หมดเงินไป 4,000 บาท อิอิ..

ในงานประจำปีของอำเภอสะเมิงนั้น ปกติก็มีการประกวดสาวงามท้องถิ่น ปีนั้นเป็นปีแรกที่มีการแข่งมอเตอร์ไซด์กัน งานประกวดสาวงามนั้นใช้การนับคะแนนจากประชาชนที่ซื้อลูกโป่งมอบให้ ก็ง่ายๆดี

จะบอกอะไร:

  • พบว่าหลักการปลอดภัยเบื้องต้นในการใช้รถมอเตอร์ไซด์นั้นเป็นสิ่งที่ดี เหมาะสม และเกิดประโยชน์จริงๆ

  • การใช้เทคโนโลยีใหม่นั้นเราควรที่จะรู้จักการบำรุงรักษาเบื้องต้นด้วย ซึ่งพบว่าแค่การบำรุงรักษาประจำตามกำหนด ช่วยให้อายุการใช้งานของมอเตอร์ไซด์ยาวขึ้น สมรรถนะดี ในมุมที่สำคัญคือช่วยการประหยัดโดยอัตโนมัติด้วย กรณีมอเตอร์ไซด์ นั้นทุกเดือน เราจะถอดโซ่รถมาต้มอ่อนๆกับน้ำมันเบรก น้ำมันจะแทรกเข้าไปตามข้อด้านในของโซ่ ตรงซี่ล้อมอเตอร์ไซด์ที่ภาษาบ้านเรียก กรรมรถนั้น ตรงที่มันไขว้กันเป็นกากะบาดนั้นเอาลวดมารัดตรงนั้นจะช่วยให้ล้อรถแข็งแรงมากขึ้น หากมีการบรรทุกก็รับน้ำหนักได้มากขึ้น เปิดห้องลูกสูบเอามาขัดเขม่าที่เกาะให้สะอาด ช่วยให้การทำงานเต็มสมรรถภาพ และอื่นๆ..

  • นโยบายการมอบมอเตอร์ไซด์ให้พนักงานหลังการใช้งานแล้วสามปี เป็นนโยบายที่ดี เพราะพนักงานทุกคนก็ดูแลรักษามอเตอร์ไซด์อย่างกับดูแลสาวๆแน่ะ..เพราะคาดหวังว่าเมื่อครบสามปีมันจะเป็นของเรา ซึ่งยังอยู่ในสภาพดี…. ก็ทำให้การทำงานราบรื่นไม่มีปัญหาเรื่องความเสียหายของรถมอเตอร์ไซด์ในการทำงาน

  • มอเตอร์ไซด์เป็นเครื่องมือการทำงาน ช่วยให้การปฏิบัติงานตามแผนงานและความรับผิดชอบมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการใช้งานตามคู่มือที่แนะนำ

  • การฉลองชัยแบบไม่บันยะบันยัง ไม่ดี ไม่ควรเอาอย่าง

(รูปเหล่านี้อายุประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว คุณภาพสีแย่ลง)


เปิดตัว……

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 15, 2008 เวลา 17:25 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1981

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง โรคเหงาหงอยท่ามกลางฝูงชน ใน G2K ซึ่งเป็นสภาวะที่นักจิตวิทยาและคุณหมอทั้งหลายทราบรายละเอียดเรื่องนี้ดี ผมน่ะไม่รู้เรื่องร๊อก แต่ท่านอาจารย์ ดร.อำนวย ทะพิงค์แก อดีตอาจารย์ของผมท่านเล่าให้ฟังหลายสิบปีก่อน ว่าในเมืองที่เจริญรุ่งเรืองเช่นที่อเมริกาที่ท่านเคยไปเรียนหนังสือที่นั่นนั้น โรคนี้กำลังระบาดอย่างหนัก อาจารย์อธิบายว่า ก็คนเดินกันเต็มถนน เกือบจะชนกัน แต่ไม่รู้จักกัน แถมไม่คุยกันเลย รถวิ่งกันเต็มถนน เมื่อติดไฟแดง รถจอดนิ่งๆ ต่างคนต่างก็มองหน้ากันไปมาระหว่างคันนี้คันนั้น แต่ไม่พูดกัน ซึ่งลักษณะเมืองก็เหมือนกันทั่วโลก….??

แต่มันตรงกันข้ามกับสังคมชนบท สะเมิงที่ผมรู้จัก หรือที่ไหนๆก็ตาม (แต่น่าจะสำรวจว่าเปลี่ยนไปมากแค่ไหน) สังคมเมืองจึงมีความต่างกับชนบทอย่างน่าเป็นห่วงในหลายสาระ

เมื่อท่านจอมป่วนเปิดลานเรื่อง เล่าเรื่องตัวเองทำไม ? อ่านเรื่องคนอื่นทำไม ที่ http://lanpanya.com/jogger/?p=204#comment-530 ทำให้ผมนึกถึงสมัยเรียนที่ มช. เมื่อระหว่างปี 2512-2516 ซึ่งเป็นยุคของขวนนักศึกษา และนักศึกษาที่เรียกกันว่า activist ผมไม่ทราบว่าที่สถาบันอื่นเป็นเช่นไร แต่ที่ มช.และกลุ่มนักศึกษาที่ผมเกาะกลุ่มกันไว้นั้น มีลักษณะที่น่าสนใจ อยากจะเล่าความหลังไห้ฟัง

กลุ่มนี้เรียกตัวเองในหลายชื่อด้วยกัน ภายในเราเข้าใจกันดีคือ กลุ่ม วลัญชทัศน์ กลุ่มนี้ไม่ค่อยเรียนหนังสือ เอาแต่จับกลุ่มคุยกัน ทำงานเคลื่อนไหวให้การศึกษาในกลุ่มนักศึกษาด้วยกัน และออกชนบททั้งศึกษาชนบทและไปทำงานค่ายพัฒนาแบบต่างๆกันไม่ได้หยุด กลุ่มวลัญชทัศน์นี้มีรุ่นพี่คณะรัฐศาสตร์เป็นผู้นำ และในปีสุดท้ายพี่ท่านนี้ถูกถีบตกรถไฟเสียชีวิต เราเชื่อกันว่าเป็น การเก็บ ของฝ่ายบ้านเมือง

เรามีเพื่อนที่มีความคิดในครรลองเดียวกันทุกคณะทั้งชาย หญิง โดยเฉพาะฝั่งสวนดอก อันได้แก่ คณะแพทย์ คณะทันตแพทย์ คณะเภสัชฯ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาล มีจำนวนมากด้วย นอกจากนั้น คณะเกษตรฯ คณะวิศวะฯ ก็มีหลายคนไม่ต้องเอ่ยคณะทางสังคมศาสตร์ เป็นตัวหลักเชียวหละ

ก่อนที่เราจะไปทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันนั้นเราจะมีค่ายหนึ่งที่ทุกคนจะต้องผ่าน เรียกว่าค่ายศึกษา ไปจัดในหมู่บ้านที่มีพื้นที่เหมาะสม เช่นเป็นสวนของผู้นำชาวนาที่เราคุ้นเคย ที่ไม่โจ่งแจ้งเกินไป เพราะสมัยนั้น การที่นักศึกษาออกสู่ชนบทนั้นจะเป็นเป้าสายตาของฝ่ายปกครองจะต้องรายงานให้ตำรวจและนายอำเภอ ผู้ว่าราชการทราบ

เราไปกินนอนกัน ประมาณ 1 สัปดาห์ เอาเต็นท์ไปกางนอนกันตามใต้ต้นไม้ กองฟาง เป็นต้น เช้าตื่นขึ้นมาก็ออกไปช่วยกันทำมาหากิน เก็บกวาดสถานที่ หรือช่วยทำงานของเจ้าของที่ที่มีคั่งค้างอยู่

กิจกรรมที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนจะต้องทำคือ การเปิดตัวและการทำสามัคคีวิพากษ์ หรือสามัคคีวิจารณ์ วิธีการก็คือ พี่พี่ที่คุ้นเคยและผ่านเรื่องนี้มาก่อนจะทำการเปิดตัวตนเองอย่างสิ้นเปลือก เป็นใคร มาจากไหน พ่อแม่ เป็นไง….ละเอียดยิบ จนมาถึงทำไมถึงมาคิดเห็นต่อสังคมบ้านเมืองเช่นนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร มีเหตุผลอะไร….. ใช้เวลานานเท่าที่อยากจะพูด และเพื่อนๆสามารถซักถาม ได้บ้าง แต่ส่วนมากไม่ได้ถาม คนเล่าเล่าหมดสิ้น มันน่าจะเป็นการเริ่มพัฒนามาสู่ สุนทรีย์สนทนา ละมั๊งเพราะท่านเจ้าสำนักขวัญเมืองก็เป็นยุคเดียวกับผม และน่าที่จะผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว

เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ เราสนิทกันแบบเพื่อนรักมากๆ พี่กับน้อง น้องกับพี่ ที่รู้ใจกันหมดสิ้น ท่านคงเดาบรรยากาศในการเปิดตัวในกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันออกนะครับว่า น่าจะเป็นเช่นไร…

นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ปี 4 ตัวใหญ่เท่าช้าง ร้องให้อย่างก๊ะเด็ก เมื่อเขาเล่าสิ่งที่เขาสะเทือนใจในชีวิตเขาออกมา มันเป็นการปลดปล่อย…. ปลดปล่อยออกมาท่ามกลางเพื่อนที่รัก…..

นักศึกษาแพทย์สง่างามต้องหยุดพูดกลางคันเมื่อเขาเล่าถึงความต่ำต้อย ในฐานะทางบ้านและการสูญเสียแม่อันเป็นที่รักที่สุดของเขาไป…..

ลูกพ่อเลี้ยงใหญ่กลางเมืองเชียงใหม่ อึดอัดต่อครอบครัวที่คาดคั้นให้เขาเดินตามสิ่งที่ครอบครัวต้องการ…..

สาวสวยการศึกษาดีจากครอบครัวธุรกิจ Export เล่าอย่างไม่อายว่าเขาไม่รู้เรื่องชนบทเลยแม้ต้นข้าว เพราะบ้านเขาเนรมิตทุกอย่างให้เขาได้ แต่รักความยุติธรรม ความถูกต้อง และเห็นอกเห็นใจคนยากจนทำให้เธอเดินมาเส้นทางนี้โดยทางบ้านยังไม่รู้เรื่อง..

ดูเหมือนว่าสิ่งที่เหมือนกัน หรือสิ่งที่สามารถรวมศูนย์จิตใจให้มายอมรับกันได้คือ การรักความยุติธรรม ความถูกต้อง และต้องการช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะผู้ที่ด้อยกว่า…

การเปิดตัวแบบเปิดอก สมัยนั้นมีพลังมหาศาล

v มันสร้างความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันแบบลึกซึ้งในกลุ่มคนร่วมอุดมการณ์อย่างไม่เคลือบแคลง

v และพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น

สองสิ่งนี้ก็คือฐานที่มั่นคงในการที่กลุ่มจะทำงานเพื่อสังคมร่วมกัน หรืองานใดๆที่กลุ่มตกลงกัน

สิ่งที่มากไปกว่าการเปิดตัวแบบเปิดอกคือ การวิพากษ์วิจารณ์แบบสามัคคี โดยปกติคนเราย่อมมีจุดเด่นจุดด้อย เปิดออกมาเลยว่าตัวเองมีแบบไหนอย่างไร แล้วพี่ๆเพื่อนๆที่ใกล้ชิดจะช่วยแสดงความเห็นต่อเรื่องนั้นๆ หรือแม้แต่วิพากษ์เพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เห็นตัวตนมากยิ่งขึ้นไปอีกแบบปอกเปลือกหมดสิ้นแดงแจ๋ ยิ่งทำงานด้วยกันนานๆก็ยิ่งเห็นตัวตนมากขึ้น

ตลก.. ที่ผมเอากระบวนวิธีนี้ไปทำกับเพื่อร่วมงานสมัยทำงานพัฒนาชนบทใหม่ๆ พบว่าเพื่อนๆรับได้ แต่หัวหน้างานรับไม่ได้ ไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนนี้ เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่กว่า ท่านคิดว่าไม่ควรเปิดเรื่องส่วนตัวให้ลูกน้องทราบในหลายๆเรื่อง แต่ลูกน้องควรรับฟังคำสั่ง หรือความคิด ข้อชี้แนะของหัวหน้างานเท่านั้น…

นี่คือ พลังเยาวชน ช่างตรงกับที่ บรรจง บรรเจิดศิลป์ เขียนไว้จริงๆ

ที่เขียนมาเพื่อต่อยอดท่านครูบาฯ และเฮียตึ๋ง ที่รักของเรานี่แหละ..ครับท่าน..


ร่องรอยบางทราย….๓

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 14, 2008 เวลา 14:44 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2828

ตอบท่านครูบาฯ

กระชากหน้ากากตัวเองหน่อย…

เปลี่ยนแปลง…

* ที่สุรินทร์นี่เองที่ผมกับเพื่อนๆวงการ NGO และรุ่นพี่ๆรวมตัวกันตั้ง NGO-CORD และจัดประชุมสัมมนาทุกปี ผมเป็นกรรมการอยู่พักหนึ่งก็ลาออกให้รุ่นน้องๆทำต่อ เพื่อนที่ขอนแก่นชวนมาทำงานกับโครงการ USAID ที่สำนักงานเกษตรท่าพระ ก็เปลี่ยนจาก NGO ร้อยเปอร์เซ็นต์มาเป็นที่ปรึกษา

* ทำงานกับฝรั่ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรมวิเทศสหการ เงินเดือน 9,000 บาท เป็นครั้งแรกที่ทำงานร่วมกับฝรั่งเต็มทีม และส่วนใหญ่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ มีสิทธิพิเศษสามารถสั่งเหล้าฝรั่งทุกยี่ห้อในราคาสินค้า PX ผมก็ PX บ้างแต่ไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร กินเหล้าฝรั่งยี่ห้อดังๆซะหมดทุกยี่ห้อแล้วในราคาไม่ถึงพันบาทต่อ ขวดใหญ่

* สถานที่ทำงานแห่งนี้เองที่ ผมได้เรียนรู้เครื่องมือทำงานวิจัยและสามารถนำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาชนบทที่เรียก RAT (Rapid Assessment Technique) ซึ่งเข้ามาครั้งแรกในประเทศไทยที่สถาบันวิจัยระบบการทำฟาร์ม(FR/E) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝรั่งที่โครงการก็ร่วมมือกับคณะเกษตรเอาเข้ามาใช้ แล้วพัฒนาเครื่องมือนี้เป็น RRA (Rapid Rural Appraisal) และเป็น PRA(Participatory Rapid Appraisal) ในที่สุด ก่อนที่จะดัดแปลงไปอีกมากมายขยายไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้

* เครื่องมือที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่เรียนรู้ในครั้งนั้นคือ Agro-ecosystem Analysis (AEA) เป็นเครื่องมือใช้วิเคราะห์พื้นที่ เหมาะที่จะใช้ประกอบการวางแผนงานพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะทางกายภาพ ต่อมาได้พัฒนาให้เป็นตัวเด่นตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ PRA ประมาณปี 2525-2530 ที่ผมทำงานที่นั่น ได้เรียนรู้เทคนิคการทำงานต่างๆมากมาย ประสบการณ์ครั้งนั้นยังเอามาใช้ในการทำงานจนทุกวันนี้ อิอิ..

* แล้วผมก็ผันไปทำงานโครงการอื่นๆในวงการพัฒนา คือ โครงการไทย-ออสเตรเลีย เรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ทั่วภาคอีสาน โครงการ ไทย-เนเทอร์แลนด์ เรื่องการพัฒนาน้ำในระดับไร่นาที่เขื่อนลำปาว กาฬสินธุ์ โครงการ NEWMASIP กับกลุ่มประเทศประชาคมยุโรปเรื่องน้ำชลประทานทั่วภาคอีสาน แล้วก็ย้อนไปทำงาน International NGO ที่ห้วยขาแข้ง นครสวรรค์ แล้วเข้ากรุงเทพฯไปทำงานกับบริษัทที่ปรึกษา 1 ปี แล้วย้ายออกมาอยู่ชนบทอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

บ่าย….

* ทำงานพัฒนาชุมชน ยิ่งทำก็ยิ่งมีสิ่งที่ต้องทำ เห็นโน่นก็อยากทำ เห็นนี่ก็อยากทำ แต่หันมามองสังขารตัวเองก็ปลง ก็เลยสนับสนุนน้องๆก้าวเข้ามาแทนที่เรา

* ถึงช่วงที่ถ่ายทอดประสบการณ์ผิดๆถูกๆให้น้องๆเรียนรู้ต่อยอดกันไป เท่าที่จะทำได้ และทำงานต่อไปเท่าที่กำลังจะมีเหลืออยู่ ใช้ประสบการณ์บ่งชี้ให้ผู้รับผิดชอบรับฟัง ส่วนเขาจะสำเหนียกเอาไปสู่การปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องของการเห็นตรงกันหรือเห็นต่างกัน

* มันเป็นสัจธรรมของชีวิตที่เมื่อเข้าสู่ยามบ่าย ก็ต้องคิดถึงการเดินเข้าสู่การปรับตัวตามวัยเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับชีวิตใหม่

วิธีการเรียน

* โดยส่วนตัวชอบอ่านหนังสือหนักๆ ไม่ใช่น้ำหนักของเอกสารนะครับ สาระหนักๆต่างหาก แล้วเอามาเขียนย่อให้ตัวเองเข้าใจ สรุปสาระนั้นๆไว้เป็นส่วนตัว เพราะการเขียนเป็นการกลั่นกรองความคิดออกมา เอาเฉพาะแก่นออกมา (แต่ไม่ได้ทำทุกเรื่อง)

* ส่วนตัวชอบ เทคนิค flowchart, diagram, mind map, graph, note ย่อ วิธีการเขียนก็เอาตามแบบสไตล์ตัวเองที่ชอบ ที่เข้าใจง่าย ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่ชอบ หรือเข้าใจยากกว่า แต่เราเข้าใจ จับหลักให้ได้ แล้วขยายรายละเอียดทีหลัง การที่เราสนใจดังกล่าว รู้สึกว่าเราจะได้มุมมองเรื่องราวต่างๆได้ดี เราเห็นทั้ง Overview และเฉพาะเจาะลึก

* เทคนิคที่เราเรียนมาจากการร่วมลงมือทำ กรณี AEA นั้นทำให้เรามีมุมมอง Overview มากกว่าเพื่อนคนอื่นๆบางคน และเมื่อเราคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือต่างๆของ PRA ทำให้เราสามารถเจาะลึกถึงข้อมูลต่างๆได้ดี และพยายามหาข้อมูลด้านนี้มาประกอบการตัดสินใจด้วยเสมอ มุมมองของเราจึงกว้าง ลึกและรอบด้านมากกว่า อันนี้เป็นการมองตัวเอง ประเมินตัวเอง

* การที่เราผ่านการใช้เครื่องมือการหาข้อมูลต่างๆมาพอสมควร ช่วยให้เรามี จินตนาการ ได้ดีกว่า เมื่อเอ่ยถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง(Subject) เราสามารถกวาดข้อมูลมาจากแหล่งต่างๆได้ (Subject area) แม้จะไม่มีข้อมูลเราก็รู้ว่าจะไปหาที่ไหน (Information sources)

* การเรียนที่ดีที่สุดคือทำเอง ปฏิบัติเอง เพราะมันมีช่องว่างระหว่างภาษาอักษรกับภาษาความรู้สึก ตัวอักษรไม่มีรายละเอียดเท่า หรือหากจะบรรยายให้เทียบเท่าก็ไม่ใช่ความรู้สึกจริงๆ การปฏิบัติจริงมันมีความรู้สึกเข้ามาอยู่ในผลของการเรียนรู้ด้วยที่ต่างจากการเรียนจากตัวหนังสือ หรือเพียงการบอกเล่า ความรู้สึกจะช่วยให้เราชั่งน้ำหนักในขั้นตอนสุดท้ายได้ (อันนี้เป็นส่วนตัวนะครับ)

* ความรู้สึกเป็นอุบายหนึ่งของการฝึกสมาธิในหลักทางพุทธศาสนา หากเราคู้แขนเข้าออก เดินจงกรม นั่งพิจารณากายสัมผัสสิ่งต่างๆ การจับจ้องที่ความรู้สึกนั้นๆช่วยให้เราหยั่งรู้ หากนิ่งและสงบจริงก็จะเป็นขั้นตอนแรกๆที่จะก้าวเข้าสู่สมาธิขั้นสูงขึ้น สูงขึ้น ความรู้สึกจะเกิดได้ก็ต้องสัมผัส การจะสัมผัสได้ก็ต้องลงมือทำจริง

* ครั้งที่ตัดสินใจกินเจ (ต่อมาลดลงแค่มังสวิรัติ) ก็เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เบื่อชีวิตเก่าๆ ก็ตัดสินใจคืนเดียวแล้วกระโดดเข้าวงการคนกินเจ ที่มีข้อห้ามมากมาย ทุกวันหยุดก็ไปรวมตัวกันนั่งสมาธิติดต่อกันมากกว่า 5 ปี การกระโดดลงไปปฏิบัติเองนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะได้ความคิดใหม่ ความรู้สึกใหม่ มุมมองโลกใหม่ๆ และรวมถึงสุขภาพที่ดีกว่าเดิม

* เนื่องจากเราเป็นมนุษย์สามโลก คือโลกในเมือง โลกในชนบท และโลกในจินตนาการ การคลุกคลีสองโลกเมืองกับชนบทจึงเห็นโลกที่สามว่าภาพรวมควรเป็นอย่างไร ความเข้าใจเหล่านี้ช่วยให้เรามีทัศนคติกว้างต่อสังคมโดยรวม และเฉพาะส่วนที่เราเข้าไปทำงานด้วย

คิดอะไร…..

* เป็นคนจัดอยู่ในประเภท Introvert ก็แค่คนเล็กๆคนหนึ่งในสังคมใหญ่ที่หนาแน่นไปด้วยคนที่แก่งแย่งกันไปยืนอยู่ข้างหน้า หรือสถานที่เหนือกว่า สูงกว่า…… ผมจะเลือกตรงข้าม

* เพราะเป็นคนชนบท ยากจน และบังเอิญผ่านกระบวนการ 14-16 ตุลาเต็มๆ จึงตั้งใจว่าจะทำงานเกี่ยวกับชนบท…..และได้ทำสมใจอยาก

* คิดเยอะ แต่ทำได้น้อย แต่เพียงนิดหน่อยก็ขอให้ได้ทำเถอะ….ดีกว่าคิดเฉยๆหรือพูดเฉยๆ

* ยังมีเพื่อนที่คิดคล้ายเรา ทำคล้ายเราอีกมาก ไปจับมือกับเขาสิ….

* ไม่จำเป็นต้องมาทำเหมือนกันหมด ยืนตรงไหนก็ทำดีที่ตรงนั้นได้ เพราะสังคมมิใช่มีแต่ชาวนา เกษตรกร มีอีกหลายกลุ่ม ทุกกลุ่มประกอบกันเป็นสังคม ประเทศ ที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน แต่อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน ขี่คอกันขึ้นไป…… ผมจะอยู่ตรงข้ามทันที

* คำสอนทางศาสนาทุกศาสนาคือสิ่งที่เราพยายามดัดแปลงตนเองให้เข้าใกล้มากที่สุด เห็นว่าเส้นทางเดินตามคำสอนนั้นคือทางรอดของมวลมนุษยชาติ…เอกายิโน อะยังภิกขะเวมัคโคฯ …ดูกรภิกษุทั้งหลาย…ทางสายนี้เป็นทางสายเดียว ไปได้คนเดียว คือผู้ปฏิบัติเท่านั้น…

* ธรรมชาติคือสรรพสิ่ง เราก็เป็นเสี้ยวส่วนของธรรมชาติ เราไม่มีทางอยู่รอดได้หากไม่มีธรรมชาติ แต่ธรรมชาติอยู่ของเขาได้แม้ไม่มีเรา

* ให้อภัยเขาก่อนให้อภัยตัวเอง..

ยิ่งสูงอายุขึ้นก็เห็นสัจธรรมของธรรมชาติที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนไว้นานแสนนานแล้ว ช่วงเหลือของชีวิตจึงบันทึกร่องรอย ความเห็น แลกเปลี่ยน ทำงาน และศึกษา ปฏิบัติคำสอนประเสริฐเหล่านั้น..


ร่องรอยบางทราย….๒

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 14, 2008 เวลา 12:08 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2952

ตอบท่านครูบาฯ

กระชากหน้ากากตัวเองหน่อย…

เที่ยงแล้ว…..

* เมื่อเกิด 16 ตุลา เพื่อนๆเข้าป่าหมด ผมพลาดการติดต่อ เลยเข้าป่าหลังดอยสุเทพ เป็นโครงการพัฒนาชนบท ของมูลนิธิเยอรมัน สังกัดสำนักงานเกษตรภาคเหนือ ที่ตั้งร้านกาแลปัจจุบัน มี ดร.ครุย บุญยสิงห์เป็น ผอ. สมัยนั้น

* พูดถึงการทำงานของตำรวจลับก็น่าขำ เพราะเขามีวิธีมากมายที่จะหาข้อมูลพิสูจน์ว่าเราคือใครกันแน่ โดยคนใกล้ตัวเรามากที่สุดนั่นแหละจะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่เรียก แหล่งข่าว หรือสายให้ตำรวจ

* บ่อยครั้งที่เราไม่ได้นอนพักที่สำนักงานที่หน้าอำเภอสะเมิง แต่ไปพักตามบ้านชาวบ้านและที่พักที่ตำบลที่โครงการไปสร้างไว้แบบง่ายๆ เพื่อนผมคนหนึ่งเขาเอาแฟนเข้าไปพักด้วย เราก็อาศัยเธอได้ช่วยทำอาหารให้ ต่อมาเพื่อนสังเกตว่าทำไมเธอต้องออกจากพื้นที่เข้าจังหวัดทุกเดือน แรกๆเธอก็บอกว่ากลับบ้าน ก็ปกตินี่ ใครๆก็อยากกลับบ้านบ้าง แต่หากสังเกตอย่างละเอียดเธอผิดปกติไป ในที่สุดเรารู้ว่าเธอเป็นสายให้ตำรวจเพราะในสมุดบันทึกเธอนั้นทำรายงานไว้ว่าใครทำอะไรที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แล้วที่เธอออกไปในเมืองเพราะเอารายงานไปส่งให้ตำรวจลับ…

* เมื่อเรารู้ว่าเธอเป็นสายตำรวจ เพื่อนก็ให้เธอออกไปจากพื้นที่… แล้วเราก็มุ่งหน้าทำงานกันต่อและระวังตัว แต่งานของเรานั้นต้องพบปะชาวบ้าน ประชุมกับชาวบ้าน ยามค่ำคืนเพราะกลางวันชาวบ้านไปไร่นาทำงาน ว่างตอนเย็นเป็นต้นไปเราก็ไม่รบกวนการทำงานจึงใช้เวลากลางคืนประชุม ในสายตาราชการนั้นผิดปกติเพราะการประชุมต้องใช้เวลากลางวันเท่านั้น …เราสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่อนามัยตำบลที่เป็นสตรีเพราะเธอห้าวเหมือนผู้ชาย และคบผู้ชาย เล่นกีฬาแบบผู้ชายขี่มอเตอร์ไซด์เอนดูโร่ลุยๆ แถมพูดภาษาก้าวหน้า แต่แล้ววันหนึ่งเราขี่มอเตอร์ไซด์ไปทำงานพบซองจดหมายตกอยู่ระหว่างทาง เราหยิบขึ้นมาดูเห็นลายมือเรารู้ว่าเป็นของอนามัยตำบลท่านนั้น แต่ส่งถึงตู้ป.ณ.แห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ เราและเพื่อนสงสัยตัดสินใจเปิดดู….ตายกับตายเลย..นี่คือจดหมายส่งรายงานให้ตำรวจลับที่เชียงใหม่ โดยใช้หมายเลขแทนตัวบุคคล ที่สาระเรื่องราวคือการทำงานของเราที่ไปประชุมกับชาวบ้านในที่ต่างๆ….!!!!!?????

* สำนักงานเล็กๆของเราในพื้นที่ก็จ้างชาวบ้านที่เรียนจบ ปวช.มาเป็นเลขาสำนักงาน ทำหน้าที่เลขาทั่วไป บันทึกการประชุม พิมพ์รายงาน ฯลฯ ไปประชุมที่ไหนหัวหน้างานก็เอาเธอไปด้วย ปีละครั้งที่เราออกนอกพื้นที่ไปเปลี่ยนบรรยากาศประชุมสรุปงานกันตามชายทะเลบ้าง หรือที่ที่ทุกคนลงความเห็นว่าอยากไป เลขาท่านนี้ก็ลุยๆ สามารถนั่งวงดื่มกับพวกเราที่กำลังแตกเนื้อหนุ่มได้ยันสว่าง ไม่รู้คุยอะไรกันนักหนา..อิอิ.. ทุกครั้งที่เธอออกไปในตัวเมืองก็มักอ้างว่าขอไปเยี่ยมเพื่อนที่นั่นที่นี่… แต่แล้วเราก็จับได้ว่า เธออีกคนที่เป็นสายลับให้ตำรวจ..หมดตูด…อะไรต่อมิอะไรที่เป็นเอกสารในการทำงาน ที่เราคุยกันแบบส่วนตัว มุมมอง ความคิดเห็นต่างๆที่เป็นส่วนตัว สาระที่เราคุยกันในวงเหล้า เธอเก็บรายละเอียดหมดสิ้นแล้วถูกส่งไปที่….. เป็นอันว่าคนรอบข้างเราถูกตำรวจลับซื้อตัวไปหมดสิ้น…..ทราบต่อมาว่าสตรีที่เป็นอนามัยตำบลท่านนั้นถูกฆ่าตายเมื่อเธอย้ายที่ทำงานไปอยู่ที่จังหวัดอื่น…????

* นอกจากเรื่องราวเครียดๆแบบนี้แล้วผมยังพบเรื่องเหลือเชื่ออีกหลายอย่าง พื้นที่ที่มีสภาพป่าเขาอย่างสะเมิงสมัยนั้นเป็นเมืองปิด..วิถีชาวบ้านยังเดิมๆความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติมีมากและมักมีปรากฏการณ์ที่ทำให้ต้องเชื่อ นี่เองที่เป็นเบ้าหล่อหลอมให้คนชนบทมีพฤติกรรมความเชื่อที่ต่างไปจากคนเมือง

* เรื่องเหลือเชื่อมีหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญคือ ผมร่วมมือกับคุณหญิงกนก สามเสนวิลล์ ท่านนายกสมาคมสตรีผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยสาขาภาคเหนือ จัดค่ายเยาวสตรีขึ้นในพื้นที่โครงการ ก็เอาสนามฟุตบอลเป็นลานกว้างที่ที่กางเต็นท์เป็นวงกลมให้เยาวสตรีที่มาจากต่างหมู่บ้านต่างอำเภอต่างเผ่าพันธุ์มาอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมต่างๆตามหลักสูตร เรานักพัฒนาพื้นที่ก็เป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลความเรียบร้อยและเข้าร่วมเป็นวิทยากรบางส่วน เรื่องเกิดเพราะเยาวสตรีท่านหนึ่งเธอกรีดร้องเสียงหลงยามถึงเวลานอน เสียงของเธอทำให้ทุกคนตื่น และตกใจ ความผิดปกตินี้ผู้นำชาวบ้านที่มาร่วมดูแลบอกว่า เธอผีเข้าไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่มีทางสงบลงได้จนสว่าง ผู้เฒ่าผู้แก่ก็มาเยี่ยมดู ซักถามรายละเอียดกัน และแนะนำทำพิธีกรรมต่างๆตามความเชื่อ เราทำหมดทุกอย่างก็ไม่ดีขึ้น เดือดร้องไปถึงพระอาจารย์หนุ่มที่วัดใกล้ๆมาดูแล้วก็ทำพิธีให้แล้วก็ให้ทุกคนไปกราบพระในโบสถ์ ท่านจะประพรมน้ำมนต์ให้ เด็กทุกคนเข้าไปในโบสถ์ได้ แต่เด็กคนนี้ไม่สามารถก้าวผ่านธรณีประตูโบสถ์ได้ … ในที่สุดค่ายเยาวสตรีก็แตกต้องจบลงอย่างอกสั่นขวัญหาย เด็กทุกคนกลับบ้านแต่เด็กคนนี้บ้านอยู่ อ.พร้าวต้องนอนค้างอยู่ที่สำนักงานในเมือง คืนนั้นก็เกิดเรื่องอีกเด็กสตรีคนนี้มีการผีเข้า แล้วก็ประกาศว่า ….มึงไม่เคารพกู…กูคือเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก…มึงทำสิ่งไม่ดีกับกู…ฯ เจ้าหน้าที่ทุกคนต่างมารุมล้อมฟังคำประกาศนี้ แล้วเมื่อยุติเด็กคืนสติ ก็มีการซักถามกันอย่างละเอียดว่าตั้งแต่เข้าไปในพื้นที่เธอไปทำอะไรที่ไหนบ้างอย่างไร… ในที่สุดลงความเห็นว่า เป็นเพราะ เย็นวันหนึ่งเธอชวนเพื่อนไปเล่นน้ำลำห้วยเล็กๆกลางทุ่งนาที่มี   “หอเจ้านาย” อยู่ เธอไม่ได้คิดอะไร ระหว่างเล่นน้ำเธอก็ฉี่..โดยไม่ได้บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางอย่างใด…ฯ…. แค่นั้นเองเป็นเรื่อง เมื่อเรื่องนี้เข้าหูผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ท่านก็บอกวิธีขอขมาลาโทษให้ทำเสีย…ทุกอย่างก็เรียบร้อย ต่อมาท่านอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์แห่ง มช.ทำวิจัยเรื่อง ผีเจ้านาย พบว่า เจ้าพ่อข้อมือเหล็กก็คือผีเจ้านายตนหนึ่งที่มีพื้นที่ดูแล เขตป่าเขาตั้งแต่ อ.แม่ริม อ.สะเมิง….เฮ่อ อย่าลบหลู่เป็นเด็ดขาด…

* อีกเรื่องที่เหลือเชื่อ..ต่อเนื่องจากเรื่องผีเจ้านาย ในช่วงกระบวนการทำค่ายเยาวสตรีนั้น ผู้จัดต้องทำจดหมายราชการไปขออนุญาตผู้ปกครองเด็กเยาวสตรีทุกคน เมื่องานค่ายจบสิ้นไปแล้ว วันหนึ่งสมาคมฯได้รับซองจดหมายที่เคยส่งไปถึงผู้ปกครองเยาวสตรีตีกลับมาที่สำนักงานตามที่อยู่หัวซองจดหมาย หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นการใช้ซองจดหมายสมาคมลบการจ่าหน้าซองเดิมออกแล้วจ่าหน้าซองใหม่ ส่งไปให้คนคนหนึ่งที่สมาคมไม่เกี่ยวข้องด้วย แต่จดหมายไม่ถึงผู้รับจึงตีกลับ(เข้าใจว่าที่อยู่ผิดพลาด) เมื่อเปิดอ่านความภายในทุกคนก็ต้องตกตะลึง….. เพราะเป็นจดหมายที่ส่งไปจากผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในพื้นที่ทำงานของผมที่สะเมิง จดหมายไปถึงคนหนึ่งสาระคือ คนเดิมที่ส่งรายละเอียดวันเดือนปีเกิดมาให้นั้นคนนั้นตายไปแล้ว คราวนี้ส่งเพิ่มมาให้ใหม่ขอให้ทำพิธีไสยศาสตร์ฆ่าคนนี้…!!!!???? รายชื่อที่ระบุนี้เป็นผู้นำชาวบ้านของเรา…มีความขัดแย้งกับผู้นำหมู่บ้าน…. ทำไงดีล่ะเมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ผมเข้าไปตรวจสอบข้อมูลพื้นที่พบว่ามีคนตายในหมู่บ้านจริงโดยไม่ทราบสาเหตุ และเราก็เอาจดหมายนี้ไปแจ้งความตำรวจไว้ก่อน….พร้อมกับไปแจ้งให้ผู้มีรายชื่อนั้นทราบ แล้วก็ทำพิธีแก้เคล็ด…วุ้ย…เสียว….อย่าลบหลู่เป็นเด็ดขาด…

* ความอ่อนด้อยในประสบการณ์ชีวิตแบบนี้ และความบริสุทธิ์ในความตั้งใจทำงาน คิดอะไรพูดอย่างนั้น แต่ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ระแวดระวังเรื่องลัทธินั้น เรากลายเป็นพวกสุ่มเสี่ยง … แค่ปีเดียว ผมก็โดนตำรวจพื้นที่ซิวในฐานะ ผู้เป็นภัยต่อสังคมตามข้อหานักเคลื่อนไหวสมัยนั้น ที่ศูนย์การุณยเทพภาคเหนือ ผมพบอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายท่าน อาจารย์วิทยาลัยครู นักศึกษา แม้กระทั่งผู้นำชาวนามากมายเต็มศูนย์ไปหมด

* ทหารและตำรวจ เอาตัวเราไปอบรมประชาธิปไตยเสียใหม่ สามเดือนก็ปล่อยออกมาพร้อมใบประกาศว่าผ่านการอบรมมาแล้ว และให้กลับเข้าไปทำงานเดิมได้ แต่อยู่ภายใต้การติดตามของตำรวจลับ ท่านอาจารย์ ดร.ชัยอนันท์ สมุทรวาณิช เป็นท่านหนึ่งที่ช่วยเจรจากับ กอ.รมน.ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาผมที่สนิทสนมกันคือ ดร.ชยันต์ วรรธนภูติ ว่าเด็กคนนี้ไม่มีอะไร ปล่อยออกมาให้เขาทำงานเถอะ

* ที่ศูนย์การุณยเทพฯเชียงใหม่นั้น(อยู่ตรงข้ามกับรพ.สวนปรุง) ผมได้พบนักศึกษาสาว มช.รุ่นน้องคนหนึ่ง เธอสวยงามและเธอเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่งในเชียงใหม่ เป็นบุตรสาวร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ และเป็นพระสหายด้วย ผมพบอดีตดาวจุฬาที่มาเป็นอาจารย์ มช. และเป็นอาจารย์ผม ท่านอาจารย์ท่านนี้มีสมบัติเป็นที่ดินในกลางกรุงเทพฯราคานับหลายร้อยล้าน(ปัจจุบันคงเป็นพันล้านบาท) แต่ท่านอาจารย์ได้บริจาคให้เป็นที่ตั้งของสถาบันปรีดีพนมยงค์ ผมพบน้องนักศึกษา ปวช.ที่มีความสามารถทางการวาดการ์ตูน และต่อมาเขาโด่งดังในเรื่องความสามารถของเขาเพราะเป็นการ์ตูนนิสในหนังสือพิมพ์ที่ขายดีของเมืองไทยทั้งรายวันและรายสัปดาห์…..

* แม้ว่าที่ทำงานเก่าจะยินดีรับกลับเข้าทำงาน แต่ฝรั่งเจ้าของงานอิดออดที่จะให้ทำต่อ อ้างว่ายังส่งผลกระทบต่อหน่วยงานราชการที่เคลือบแคลงใจในตัวผม ผมบวชซะเลย ที่สำนักวิปัสสนาไทรงาม สุพรรณบุรี 1 พรรษา แล้วมาสึกในพื้นที่ทำงานโดยพระอาจารย์ท่านเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่และท่านก็เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมณ์ที่ อ.แม่ริมอีกด้วย

* การทำงานพัฒนาชนบทที่สะเมิง ผมพบคนข้างกายที่เธอเป็นบัญฑิตอาสารุ่น 6 มธ เธอจบจุฬา ภาษาเยอรมัน จึงพูดกับเจ้าของโครงการที่เป็นชาวเยอรมันได้ ครั้งหนึ่งรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งของเยอรมันเดินทางมาดูงานที่เยอรมันให้การสนับสนุน โดยมี ท่านอานันท์ ปัญยารชุน อดีตเอกอัคราชทูตไทยประจำเยอรมันพามาพื้นที่ คนข้างกายถือโอกาสนำเสนองานเป็นภาษาเยอรมัน ท่านรัฐมนตรีสตรีดูเหมือนจะชื่อ  มิส แฮมบรูเชอร์ เมื่อฟังจบ ท่านทูตก็ควักนามบัตรออกมามอบให้แล้วก็กล่าวว่า หากต้องการไปศึกษาต่อที่เยอรมันที่ไหนก็ได้ ยินดีสนับสนุน

* สถานการณ์ผมไม่ดีขึ้นโดยเฉพาะฝ่ายบริหารโครงการ ผมเลยไม่สร้างความอึดอัดอีกต่อไป ลาออก ไปหางานอีสานทำดีกว่าและได้งานทำที่สุรินทร์ โดยการแนะนำของพี่ใหญ่ในวางการพัฒนาชนบทคือ พี่บำรุง บุญปัญญา หรือพี่เปี๊ยก คนข้างกายผม ก็เดินทางไปเรียนต่อที่เยอรมันโดยทุนของมูลนิธิหนึ่ง…….

* ที่สุรินทร์ผมทำงานชายแดนกับชาวเขมรแถบ กาบเชิง สังขะ บัวเชด เป็นช่วงที่ทหารเขมรมักจะบุกเข้ามาปล้นเอาข้าวไปกิน ฆ่าชาวนาตาย หรือชาวนาเข้าป่าไปเหยียบกับระเบิดตาย ผมมาเรียนภาษาเขมรกับวิทยาลัยครูสุรินทร์ ขะหมาดยัยขะแมร์บาน….


ร่องรอยบางทราย….๑

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 13, 2008 เวลา 15:21 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2962

ตอบท่านครูบาโดย

กระชากหน้ากากตัวเองหน่อย…

เช้ามืด….

· บ้านริมแม่น้ำน้อย วิเศษชัยชาญสมัยนั้นเป็นชนบทไปไหนมาไหนก็เดินด้วยเท้าเปล่า อย่างดีก็จักรยานหรือพายเรือ ชาวบ้านเกือบทั้งหมดคือชาวนา ชีวิตผันไปตามฤดูกาล ชนบทคือโรงเรียนที่กล่อมเกลาจิตใจให้คุ้นเคยกับทำนอง เพลงชีวิต เป็นครอบครัวใหญ่ ปู่มีย่าสองคน แต่ละย่ามีลูก 7 คน พ่อเป็นลูกย่าใหญ่และเป็นคนโตจึงต้องรับภาระเลี้ยงน้องสองแม่มาทั้งหมด กระนั้นพ่อยังกระเสือกกระสนเรียนจนจบ ม 3 และได้สิทธิเป็นครูเลย แม่เป็นชาวนาธรรมดาที่กำพร้าพ่อมาแต่เล็ก ซึ่งสัตย์และจิตใจเหมือนพุทธศาสนิกชนทั่วไป ชอบทำบุญ ไหว้พระ เข้าวัด ฟังเทศน์ เลี้ยงลูก 6 คนด้วยการทำนา พยายามให้ได้เรียนหนังสือทั้งหมด

· เนื่องจากปู่มีเชื้อจีน จึงรู้จักทำมาค้าขายแต่มาแต่งงานกับชาวนาจึงผันมาทำนา เป็นคนดุมากๆ น้องพ่อคนถัดมาจึงทนไม่ไหว เพียงขโมยปืนปู่ไปเล่นก็แจ้งตำรวจมาจับลูกเข้าคุกเลย อาคนนี้ออกจากคุกได้ก็ไม่กลับบ้านเข้าป่าเป็นเสือปล้นเขากินไปเลยแต่ก็มาถูกเสือด้วยกันฆ่าตาย พ่อมีนิสัยดุเหมือนปู่ เอะอะอะไรก็ไม้เรียวที่เหน็บข้างฝาตลอดสองอัน เกือบทุกวันที่บ้านจะต้องมีลูกคนใดคนหนึ่งถูกตี….

สาย….

· หน้าฤดูทำนาก่อนไปเรียนหนังสือทุกคนต้องตื่นแต่ตี 4 แบกไถบ้าง จูงควายบ้างออกไปทำนากับพ่อ เดินทางไกลเป็นกิโล กลัวผีก็กลัวเพราะต้องเดินผ่านวัด ผ่านป่าช้า ขณะเดินตาก็หลับ จึงล้มลุกคลุกคลาน ไปกับโคลนบ้าง ขี้ควายบ้าง ถึงนาก็ฟ้าสางพอดี เอาควายเทียมไถ ไถนาพอเหนื่อย สว่างเต็มที่แม่กับพี่สาวก็หาบกระจาดข้าวมาถึง จึงหยุดพักกินข้าว แล้วก็รีบกลับบ้านไปอาบน้ำไปโรงเรียน

· หน้าแล้งก็เอาควายไปเลี้ยงกับพี่ กับน้องและเพื่อนบ้าน เอาผ้าขาวม้าปูท้องนาบ้างใต้ต้นไม้ใหญ่บ้าง ดูท้องฟ้า เห็นเครื่องบินพ่นควันสีขาวออกมาทางก้น ใจก็ฝันอยากเป็นนักบิน เห็นนักเรียนนายสิบแต่งตัวด้วยเครื่องแบบหล่อ เท่ห์กลับบ้าน ใจก็อยากแต่งชุดแบบนั้นบ้าง

· โรงเรียนวัด พ่อเป็นครูใหญ่ จึงถูกตีเป็นตัวอย่างเสมอหากทำอะไรผิด

· โรคคางทูมระบาด เป็นกันทั้งโรงเรียน อีสุกอีใสระบาด เป็นกันทั้งตำบล โรคอหิวาระบาด เป็นกันทั้งอำเภอ เจ็บตายกันมาก มีตายทั้งกลม(คลอดลูกไม่ออกเสียชีวิต) กลัวผีที่สุด ปีปีหนึ่งมีชาวบ้านถูกงูกัดตายหลายคน สถานที่อนามัยที่ดีที่สุดคือไปหาหมอมิชชันนารี ที่มาเปิดโรงพยาบาลเล็กๆที่ตลาดวิเศษชัยชาญ รักษาได้ทุกโรค…ราคาถูก แถมแจกเอกสารศาสนาด้วยเป็นการ์ตูน

· สิ่งที่ชอบที่สุดคือ งานวัด หนังกลางแปลง งานบุญกลางบ้าน งานประเพณีต่างๆ ได้กินขนมแปลกๆ ได้กินน้ำแข็งใสใส่น้ำสีแดงสีเขียวและนมข้นโรย ข้าวโพดคั่ว ตังเม … ถ้าเป็นงานศพก็ได้กิน ข้าวตัง ก้นกระทะใบบัวใหญ่ที่เขาใช้หุงข้าวเลี้ยงคนทั้งวัดที่มาในงาน คืนไหนมีหนังกลางแปลงมาฉาย ไม่เคยดูหนังจบสักเรื่องหลับก่อน พ่อต้องแบกกลับบ้านทุกที แต่ตื่นเช้ามืดกับพี่ชายจะวิ่งกันมาที่บริเวณฉายหนัง เพื่อเดินหน้ากระดานหาสตางค์ที่อาจจะมีคนมาดูหนังทำหล่นตามพื้นเมื่อคืน ก็มักจะได้บ่อยๆ…

· ชอบวิ่งเกาะท้ายรถชลประทานที่มาขุดคูน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกระบบส่งน้ำ เป็นรถสีส้ม กับเพื่อนๆเคยวิ่งเกาะท้ายรถแล้วปีนขึ้นไปท้ายรถได้ ก็ไปกับรถเขาเรื่อยๆเพราะรถไม่หยุด เลยไม่ได้ไปโรงเรียน ข้าวปลาไม่ได้กิน กลับมาบ้านโดนพ่อตีตูดลายเลย

· วันนั้นมีงานศพคนเฒ่า เพื่อนชวนไปเล่นที่กองฟางข้างบ้านงานศพ ริสูบบุหรี่กับเพื่อน ติดไฟเสร็จไฟเกิดหล่นลงพื้นติดกองฟาง ดับเท่าไหร่ก็ไม่ได้ ต่างวิ่งหนีกันคนละทิศละทาง ชาวบ้านเขาเห็นเราคนเดียว ก็ตะโกนว่าลูกครูใหญ่จุดไฟเผากองฟาง คนที่อยู่ในงานต่างวิ่งกันมาช่วยดับไฟ เราวิ่งหนีไม่รู้ไปไหนก็ไปแอบนอนที่หน้าโบสถ์วัดข้างบ้าน พ่อตามมาเห็นลากไปตีต่อหน้าแขกที่มาในงานทุกคน อายสุดๆในชีวิต

· ขึ้นชั้นมัธยมก็ไปโรงเรียนประจำอำเภอ ต้องเดินวันละ 10 กิโลไป-กลับ ผ่านตลาดวิเศษชัยชาญ บ้านอาจารย์เจิมศักดิ์เป็นร้านขายหนังสือในตลาด พ่ออาจารย์กับพ่อเราเป็นเพื่อนกัน แต่เด็กตลาดเรียนเก่ง เด็กบ้านนอกอย่างเราเข็นแล้วเข็นอีก กำลังจำดีดี พ่อตะคอกหน่อยเดียวความรู้วิ่งหนีไปหมด กลัวจนลาน แอบร้องให้ น้อยใจที่เห็นพ่อลูกคนอื่นเขาเล่นกัน กอดกัน แต่บ้านเราไม่มีเลย

· กระแสการสร้างชีวิตคือการเรียนหนังสือและเข้ารับราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง เก้าสิบเปอร์เซ็นต์จะส่งลูกเรียนให้จบ ม 3 แล้ว ไปเรียนต่อครู ปกศ. ที่ อยุธยา ใครเก่งก็เข้าสวนสุนันทา บ้านสมเด็จ ที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นมีครูคนเดียวที่จบปริญญาตรีมาจากประสานมิตร

ยามสายแก่ๆ….

· โชคดีที่คุณตาเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่วิเศษชัยชาญมานอนค้างที่บ้าน เพราะเป็นบ้านหลังเดียวที่มีส้วมซึม (เพราะพ่อเป็นครูใหญ่) เห็นเราทำงานบ้าน ตักน้ำใส่ตุ่ม กวาดบ้านถูบ้าน ตัดไม้ รดน้ำต้นไม้ ก็ออกปากให้ไปเรียนต่อ มศ. 4-5 ที่ธนบุรีที่คุณตาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่นั่น บุญหล่นทับแล้วเรา ดีใจสุดจะควบคุมได้ เที่ยวเดินแหกปากบอกเพื่อนๆว่า กูจะเข้ากรุงเทพฯแล้ว ไปเรียนที่นั่น ไปอยู่กับคุณตา….

· คืนแรกที่ธนบุรี คลองสำเหร่ บ้านสวน ก็น้ำตาตก เมื่อมาอยู่สภาพเมืองที่เราไม่เคย อึดอัดไปหมด จะทำอะไรก็ย่องๆ ไม่กล้าคุยกับใคร อยู่บ้านนอกกินข้าวทีเป็นจานพูนเต็มๆ ตักเพิ่มเอาเต็มที่ ก็บ้านเราทำนา ข้าวปลาเหลือเฟือ คนเมืองกรุงเขากินข้าวนึ่งเป็นก๊อกเล็กๆ มันจะไปอิ่มอย่างไง จะกินหลายก๊อกก็ไม่ได้ อายเขา คนอื่นเขากินอย่างมากก็ก๊อกครึ่ง เราหรือ 3-4 ก็ไม่อิ่ม ก็เด็กกำลังโต กลางคืนท้องร้อง หิว นอนร้องให้ คิดถึงแม่ที่บ้านนอก คิดถึงน้อง คิดถึงพี่ แต่ก็ต้องทนเพราะมาเรียนหนังสือ…

· เช้าตื่นขึ้นมาคุณน้ามีลูกสาวสองคนเรียนชั้นประถมโรงเรียนเดียวกันก็ต้องจูงมือไปโรงเรียนด้วยกัน แหกปากร้องทุกวันเดินไปด้วยร้องไปด้วย เราก็ถือกระเป๋ามือหนึ่ง อีกมือก็จูงน้องไปด้วย

· บางคืนนั่งดูหนังสือเรียนทนไม่ไหว หิวข้าว ค้นกระเป๋ากางเกงมีเหรียญสิบบาทติดก้นกระเป๋า แอบออกจากบ้านลงใต้ถุนไปปากซอยซื้อราดหน้ากินห่อหนึ่งแล้วแอบเข้าบ้าน หมาเสือกเห่าเสียงดังลั่น เลยความแตกว่าเราหนีออกจากบ้านไปปากซอย พ่อรู้เรื่องจึงขึ้นมาจากวิเศษชัยชาญมาสั่งสอนเสียยกใหญ่……โอย..ไม่อยากอยู่แล้วเมืองหลวงเมืองหลอน อยากกลับบ้านนอกดีกว่า…อิอิ..

ใกล้เที่ยง….

· โชคดีอะไรที่สอบผ่าน ม.ศ. 5 แล้วติด มช. ทั้งๆที่ไปสอบครูพิเศษที่อยุธยาก็ได้ แต่สละสิทธิเพราะเลือกเอามหาวิทยาลัย ทราบข่าวว่าพ่อดีใจเป็นที่สุดที่ลูกคนแรกได้เรียนมหาวิทยาลัย เที่ยวเดินอวดคนโน้นคนนี้ว่าลูกสอบได้ แต่แม่เล่าว่า ตกกลางคืนพ่อก็นอนเอามือก่ายหน้าผาก แล้วบ่นกันว่า ..แล้วจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียนกันเนี่ย… พี่สาวก็เรียน ผมก็กำลังเข้ามหาวิทยาลัย น้องอีก 4 คนก็กำลังเรียนไล่ๆขึ้นมา ครูประชาบาลกับแม่บ้านที่เป็นชาวนาจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียน

· จำได้ว่าแม่ไปขอยืมเงินพระที่วัด พ่อต้องกู้เงินครู และทำนามากขึ้น ที่จำแม่นที่สุด ครั้งหนึ่งปิดเทอมกลับมาบ้าน ตอนถึงเวลาต้องกลับไปเรียน มช. ทางบ้านไม่มีเงินเลย แม้ค่ารถจะเดินทางไปเชียงใหม่ แม่บอกให้ผมลงไปใต้ถุนบ้านหาเก็บเศษขวดที่หลงเหลืออยู่รวบรวมไว้พรุ่งนี้เอาไปขาย ได้เท่าไหร่ก็เอา แล้วจะไปขอยืมเงินหลวงพ่อที่วัดอีก…..

· ……..

· ที่เชียงใหม่ ผมมีโลกกว้างมีเพื่อนใหม่ทุกภูมิภาค เพื่อนปักษ์ใต้สนิทกันที่สุดเพราะบ้านมันส่งของกินมาให้เรื่อยๆ อย่างปลาแห้งงี้ เอามาทอดกินกับข้าวต้มกลางคืนดึกๆที่ดูหนังสือกัน ไอ้ศักดิ์ มันบ้าจะสอบใหม่เอาวิศวะให้ได้ จึงไม่เรียนเอาแต่ดูหนังสือจะเอ็นใหม่ เราก็เป็นคนชงโอวัลตินกระป๋องบักเอ็บให้มัน เวลาเราเดินออกไปหน้ามอ ก็ซื้อข้าวผัดมาให้มัน ยังไม่ขึ้นไปให้ ก็เรียกมันจากชั้นสามให้ส่งปลายเชือกลงมา เราผูกห่อข้าวมันก็ชักขึ้นไป กินข้าวแล้วดุหนังสือต่อ เราก็เดินเล่นกับเพื่อนคนอื่นๆหรือไปทำกิจกรรมอื่นๆ กลับมาห้อง ไอ้ศักดิ์ยังนั่งดูหนังสือ เราก็ชงกาแฟให้มันอีก …วันสุดท้ายที่มันสอบเอนใหม่เสร็จวิ่งมาบอกพวกเราว่า กูติดวิศวะแน่ๆ ผลประกาศ ไม่มีชื่อมัน…. มันเลยลาออกไปเรียนที่ฟิลิปปินส์เสียเลย ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฟีนิกส์ พัลพ์ แอนเปเปอร์ ที่ขอนแก่น แต่ไม่ค่อยเจอะกัน.อิอิ..

· สมัยนั้นเข้าสู่ 14 ตุลา บรรยากาศมหาวิทยาลัยอบอวลไปด้วยการอภิปราย การทำกิจกรรมนอกหลักสูตร บังเอิญเราอยู่ในกลุ่มเด็กบ้านนอกที่สนใจเรื่องความยากจน ปัญหาชนบท บ้านเมืองจึงเข้ากลุ่ม และมีท่านอาจารย์หลายท่านมาเป็นที่ปรึกษา และรุ่นพี่พี่ที่แรงสุดๆ

· เราทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมากมาย เช่น ล้มระบบเชียร์แบบเก่าๆที่เป็นระบบ ว๊ากเกอร์ จับกลุ่มศึกษาหนังสือป็อกเก็ทบุ๊คที่ออกมามากมายในช่วงนั้นที่เป็นหนังสือที่เรียนว่าก้าวหน้า เช่น หนังสือเรื่อง การพัฒนาความด้อยพัฒนา หนังสือของจิตรภูมิศักดิ์ ยูโทเปีย สรรนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตุง สตาลิน แม่ของกอร์กี้ หนังสือโฉมหน้าศักดินา ที่เป็นหนังสือต้องห้าม เดอ แคปปิตัลลิส และมากมาย…. เราอ่านกันอย่างจะไปสอบ(ทีหนังสือเรียนหละไม่เอา) เอามาเสวนากัน คุยกัน ถกกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกัน เชิญอาจารย์มาแสดงความเห็น เชิญรุ่นพี่พี่มาแสดงความเห็น และที่บ้าๆสุดขีดคือเราไปล้มงานบอลที่นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งชอบจัดงานแบบนั้น…

· ในที่สุดเราจัดค่ายศึกษา เอาเพื่อนนักศึกษาที่สนใจทิศทางเดียวกันออกชนบท สนุกมาก ออกกันเอง จัดกันเอง ควักกระเป๋ากันเอง แล้วมาแลกเปลี่ยนชีวิตที่ไปอยู่ชนบทกัน มันสุดๆเพราะสารพัดสิ่งที่พบมา รับรองว่าทุกคนที่ผ่านค่ายศึกษาจดจำจนถึงวันนี้ ครั้งนั้นมีคนไปค่ายยี่สิบกว่าคน ล้วนเป็นนักศึกษาแพทย์ เภสัช ทันต เทคนิคการแพทย์ พยาบาล ที่เรามักเรียกกันว่าฝั่งสวนดอก มีพวกสังคมไม่กี่คน เข้าป่ากันหมดเลย…

· จัดตั้งพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยเสนอตัวเป็นนายกองค์การนักศึกษา มช. โดยผมเป็นเลขาธิการพรรค ฟอร์มทีมกันมีจาตุรนต์ลงเลือกตั้งเป็นนายกองค์การ ผมอยู่เบื้องหลัง และทีมเราได้รับเลือก…

· เอาแต่ทำกิจกรรมชนบท ไม่ค่อยได้เรียน……. แต่เราก็จบออกมา



Main: 0.29734992980957 sec
Sidebar: 0.062371015548706 sec