ผีพาย

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 21, 2009 เวลา 13:03 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3232

ผมไม่ได้หันมาเขียนเรื่องผีผีนะครับ มันเป็นอย่างไร..ตามไปดูนะครับ..

ผมเคยบันทึกเรื่องรถพุ่มพวงไว้บ้างแล้ว รถพุ่มพวงคือชาวบ้านที่เอารถมอเตอร์ไซด์มาดัดแปลงเบาะด้านหลังเป็นที่ใส่สินค้าของกินต่างๆมากมายจนเต็มหรือล้น แล้วก็วิ่งไปขายในหมู่บ้าน ตั้งแต่เช้ามืดจนค่ำ หรือจนกว่าสินค้าจะหมด หรือสินค้าน้อยลงแล้วก็กลับบ้านตัวเอง เพื่อพักผ่อนแล้วเริ่มกิจกรรมนี้ในวันใหม่ ส่วนมากจะเริ่มกันตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เพราะไปเอาสินค้าจากตลาดในตัวเมือง… อาชีพนี้เราเรียกพ่อค้าขายปลีกแบบเข้าถึงบันไดบ้านเลย รถที่ใช้นี้เรียกรถพุ่มพวง ใครเป็นคนเริ่มเรียก ก็ไม่ทราบ..

ในทำนองเดียวกันผมได้พบอีกอาชีพหนึ่ง ที่เด็กหนุ่มๆรักดีเอามอเตอร์ไซด์มาดัดแปลงเบาะด้านหลังแล้วเอามาใส่สินค้าลงกล่องใหญ่ แล้วก็เร่ขายไปตามหมู่บ้านต่างๆ แต่สินค้านี้ไม่ใช่อาหารแต่เป็นของใช้…สารพัดชนิดที่ครอบครัวจำเป็นต้องใช้(รวมของตกแต่งร่างกายบางอย่างด้วย)

เด็กหนุ่มช่างพูด รับผิดชอบ ทำอาชีพสุจริต ท่องเที่ยวไป ..อิสระ..

ที่ดงหลวงเมื่อวานนี้ ผมเชิญเด็กหนุ่มคนนี้มาคุยด้วยเขาชื่อ ลิขิต อุยซา อยู่บ้านกุดตาไก้ อำเภอปลาปาก นครพนม อายุ 28 ปี เรียนจบ ป.6 มีครอบครัวแล้ว…..ทำอาชีพนี้มา 4 ปีแล้ว

ทำไมมาทำอาชีพนี้: แต่ก่อนผมไม่มีอะไรทำก็ไปเป็นลูกจ้างเถ้าแก่ ซึ่งเขาก็ทำอาชีพแบบนี้ แต่เขาใช้รถปิคอัพ แล้วหาลูกจ้างหลายๆคนนั่งรถไปปล่อยตามหมู่บ้านต่างๆ บ้านคน แบกกล่องสินค้าพวกนี้เดินขาย กล่องเล็กกว่านี้ เย็นๆเถ้าแก่ก็วนรถมารับกลับที่พัก แล้ววันรุ่งขึ้นก็ไปบ้านอื่นต่อไป ทำอยู่หกปี เฒ่าแก่ขึ้น เงินปีให้ จากปีแรกๆ ได้ 20,000 บาท เป็น 30,000, 40,000, หลังสุดเถ้าแก่ให้ผม 60,000 บาท ผมเห็นว่าทำไมเราไม่ทำเอง ลงทุนเอง เลยออกมาลงทุนเอง..

เิปิดกล่องเสนอขายสินค้า

มีเพื่อนในหมู่บ้านทำกันไหม: ทำครับ เมื่อเขาเห็นอย่าง เด็กหนุ่มๆก็หันมาเอาอย่าง ออกมอเตอร์ไซด์แล้วไปซื้อสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันในครัวเรือนจากร้านขายส่งตามชายแดน ริมน้ำโขง ไม่ว่า มุกดาหาร นครพนม หนองคาย เลย มีตลอด แล้วก็หาเส้นทางที่จะไปขายกัน..

มีทุกอย่างที่ครอบครัวมีความจำเป็นต้องใช้

มีจำนวนมากแค่ไหน: มีประมาณ 20 คนไปขายที่จังหวัดสระแก้ว 20 คนไปขายที่จังหวัดกำแพงเพชร และไปขายจังหวัดค่างๆทางภาคเหนือประมาณ 30 คน

น้องเคยไปขายถึงที่ไหนบ้าง: ผมชอบตระเวนไปทั่ว ตะวันออกไปถึงจันทรบุรี ภาคใต้ไปถึง นาสาร สุราษฏธานี ภาคเหนือไปถึง เชียงราย


กล่องซ้ายมือตามรูปนี้คือเสื้อผ้าที่ใช้แล้วเตรียมซัก ถุงตรงกลางคือมุ้ง ขวามือคือเสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ใช้

น้องกินนอนกันอย่างไร: ไปกันอย่างนี้กินนอนตามศาลาวัดต่างๆที่ผ่านครับ (ผมนึกถึงศาลาวัดที่เพิ่งบันทึกไปเมื่อสองสามวันก่อน) ผมเตรียมเสื้อผ้า มุ้งมาพร้อมที่กล่องท้ายรถมอเตอร์ไซด์นั่น…


แพ็กกิ้ง เพื่อเดินทางไปต่อ

แล้วเงินที่ขายได้เก็บอย่างไร: ไม่เก็บครับ ทุกวันเมื่อขายได้ ตอนบ่ายๆ เย็นๆ ก็หาทางโอนเงินเข้าบัญชีที่บ้านครับ เก็บติดตัวนิดหน่อยพอใช้

ขายตลอดปีเลยหรือ: จะกลับบ้านช่วงสงกรานต์ และช่วงทำนาครับ

สินค้ามีกี่อย่าง แล้วมีรายการราคาสินค้าไหม: ผมจำเอา ไม่ได้จด ทุกอย่างอยู่ในหัว สินค้าในกล่องนี้มี 30 กว่าชนิด(ผมดูแล้วน่าจะมากกว่า) ราคาผมจำได้หมด

ไปเอากล่องมาจากไหน: เป็นกล่องกระดาษอย่างหนาใส่เครื่องมือเกษตรยี่ห้อ คูโบต้า ไปขอซื้อจากร้านเขามา

เพื่อนร่วมอาชีพของลิขิต มาจากหมู่บ้านเดียวกัน คนนี้จะมีผ้านวมขายด้วย

ฤดูฝนไม่เปียกและกล่องไม่เสียหายหมดหรือ: ด้านนอกกล่องเอาเทปพลาสติกบางๆขนาดกว้างๆมาติดรอบทั้งด้านนอกกล่องหมด มันกันฝนได้ น้ำตกลงมามันก็ไม่จับไหลออกไปหมด..??

กล่องกระดาษใส่สินค้าที่กันฝนได้แบบชาวบ้าน

ผมแอบชื่นชมเด็กกลุ่มนี้ที่แทนที่จะเอาเวลาไปเที่ยวเล่น ติดยา ติดเกมส์ ไร้สาระ ก็มาออกมอเตอร์ไซด์แล้วทำอาชีพที่สุจริต ดูเขาภูมิใจมาก ความเป็นเด็กหนุ่มที่ชอบการเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ แปลกหูแปลกตา และได้เงินด้วย มันเป็นอาชีพที่เข้าถึงผู้บริโภค จึงได้รับการตอบรับที่ดี

ผมถามว่าได้รายได้เท่าไหร่ เขาไม่ตอบ แต่ว่า มากกว่าที่เถ้าแก่เคยให้เขาเป็นสองเท่าสามเท่า…???


เดินทางไปต่อตามวิถี..

คำถามสุดท้ายก่อนที่ ลิขิต จะขอตัวเดินทางต่อไปคือ

ชาวบ้านเขาเรียกรถแบบนี้ว่าอะไร: บางทีก็เรียก ผีพาย

ผมฟังตั้งนานว่าอะไรแน่นะเพราะแปลกและไม่คุ้นหูและไม่เชื่อว่าทำไมไปเกี่ยวข้องกับผี…

ตอนแรกๆผมคิดว่า ผีพรายชาวบ้านที่ร่วมสนทนาด้วยบอกว่า ผีพายครับ พายนั้นย่อมาจาก สะพาย คืออาการคล้ายแบก หาม น่ะครับ เพราะสมัยก่อนตามหมู่บ้านชนบท ก็มีอาชีพคนเดินสะพายผ้าขาย อยู่ๆก็โผล่มาในหมู่บ้าน และอยู่ๆก็หายไปจากหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียกคนกลุ่มนี้ อาชีพนี้ว่า ผี เอาไปรวมกับสะพาย เป็น ผีพาย

เออ..ผมตกงานเมื่อไหร่ อาจจะไปยึดอาชีพเป็นผีพายก็ได้นะ

จะตระเวนไปขายน้ำใจ ขายความรัก ขายสันติ ให้พี่น้องตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ กำแพงเพชร ลำพูน พิดโลก ยันกระบี่ ปัตตานีเลย ขายได้เท่าไหร่จะโอนส่งไปเก็บไว้ที่พ่อครูบา ทุกสัปดาห์เลย อิอิ.. วันเมื่อขายได้ ตอนบ่ายๆ เย็นๆ ก็หาทางโอนเงินเข้าบัอผ้า มุ้งมาพร้อมที่กล่องท้ายรถมอเตอร์ไซด์นั่น…

ในครัวเรือนจาก


ศาลาวัดหลังเก่า: ประเด็นสำหรับ Dialogue for Consciousness

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 13, 2009 เวลา 12:35 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4761

ตั้งใจจะเขียนเรื่องตลาดชุมชนที่ผมไปร่วมงานมาเมื่อวานนี้ แต่อดใจไม่ได้ที่จะหยิบเอาเรื่องศาลาวัดแห่งนี้มาก่อน

ผมมีความประทับใจลึกๆเกี่ยวกับศาลาวัดอย่างในรูปนี้ ซึ่งวัดอื่นๆสมัยโบราณโดยเฉพาะในชนบทจะมีกันเกือบทุกวัด มีขนาด ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แล้วแต่ศรัทธาและเงื่อนไขของชุมชนนั้นๆ

ศาลาวัดมีไว้ทำอะไร??

เอาไว้จัดงานบุญต่างๆ ฟังเทศน์ฟังธรรม เอาไว้จัดงานศพในบางแห่งบางพื้นที่ เอาไว้นั่งพักผ่อน เอาไว้จัดประชุมชาวบ้าน ….. ถูกหมดครับ แต่ในที่นี้ต้องการจะกล่าวการใช้ประโยชน์ศาลาวัดเพื่อคนสัญจรไปมาได้พักผ่อน น่าจะเรียกอะไรคล้ายๆความหมายว่าโรงทาน..ทำนองนั้น ผมไม่ได้ถามชาวบ้านว่าภาษาถิ่นเขาเรียกว่าอะไร…ท่านผู้ใดทราบกรุณาบอกด้วยครับ..

สมัยโบราณไม่มีถนนหนทางดีดี ไม่มียานพาหนะ ไปไหนมาไหนใช้วิธีเดินด้วยเท้า อย่างดีก็ม้าต่างวัวต่างเป็นต้น และสมัยโบราณก็มีผู้มีอาชีพค้าขายระหว่างหมู่บ้าน ระหว่างถิ่นเช่นเดียวกัน เช่น ขายเกลือ ขายน้ำมันก๊าด ขายเสื้อผ้า ขายยาสมุนไพร หรือแลกเปลี่ยนสิ่งของและอื่นๆตามยุคสมัย

คนสมัยก่อนที่ยังเป็นยุคบุกเบิกกันนั้น คนเดินทางด้วยเท้าไปแสวงหาถิ่นที่อยู่ใหม่ๆ ไปหาญาติพี่น้องต่างถิ่น การเดินทางก็ใช้เวลาหลายวัน ระหว่างทางก็ต้องอาศัยศาลาวัดเช่นนี้แหละเป็นที่พักผ่อน นอนพัก หากไม่มีคนรู้จักในหมู่บ้านนี้ ได้อาศัยข้าวก้นบาตร ได้อาศัยน้ำเย็นๆจากวัด ร่มเงาศาสนาแผ่ครอบคลุมหัวจิตหัวใจคนไทยโบราณมานาน

ผมมาดงหลวงปีแรก (2544) ก็ยังเห็นพ่อค้ามาขายเสื้อผ้า ยาสูบ และของใช้ในครัวเรือนสารพัด เอารถปิคอัพเก่าๆมา และมาพักกันที่ศาลาแห่งนี้ ทั้งๆที่มีศาลาใหญ่สวยงาม แต่เขามาใช้ศาลาแห่งนี้เพื่อพักผ่อนนอนกินที่นี่

คนที่เห็นแล้วผ่านเลยไปไม่ได้คิดอะไรก็แค่นั้น แต่ผมคิด ว่านี่คือวัฒนธรรมสังคมไทยโบราณของเรา ที่เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่คนต่างหน้า แปลกถิ่นให้มีที่กินที่นอน เหมือนคนภาคเหนือมีตุ่มใส่น้ำดื่มหน้าบ้าน…ทุกบ้าน ใครผ่านมาหิวก็สามารถดื่มกินได้…ช่างสวยงามจริงๆ นี่มั๊งสาวเหนือจึงงามแต้ๆ…งามทั้งกายทั้งใจ…อิอิ..

โรงทาน หรือศาลาวัดแห่งนี้เก่ามากแล้วทรุดโทรม คงถูกใช้ประโยชน์มาเท่าอายุคนทีเดียว ปัจจุบันไม่เห็นใช้ประโยชน์อะไรแล้ว เพราะมีศาลาวัดหลังใหม่ ใหญ่กว่า โอ่อ่ากว่า แต่วัดก็ไม่ได้รื้อศาลาหลังนี้ไปทิ้ง

อาคารหลังนี้ไม่มีคุณค่าทางศิลปะความงดงามล้ำค่าแต่อย่างใด แต่…

ผมนึกไปถึงว่าทำไมโรงเรียนไม่ใช้อาคารเก่าที่กำลังผุพังหลังนี้มาเป็นวัตถุโบราณเป็นครูสอน สะท้อนวัฒนธรรมดีงามของสังคมไทยรุ่นพ่อแม่เรา เอานักเรียนมานั่งที่นี่ มาสัมผัสจิตวิญญาณแห่งอดีตของเรา เอาผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อใหญ่แม่ใหญ่ เจ้าอาวาส มาเล่าประวัติ เล่าถึงการใช้ประโยชน์ในอดีตที่ผ่านมา.. (อย่าไปซุกหัวแค่ในห้องสี่เหลี่ยม จนสมองทึบกันหมดแล้ว) ย้อนรอยถอยหลังไปในอดีตที่เราร่ำรวยน้ำใจ เราฟุ่มเฟือยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราล้นเหลือการทำทาน ให้ทานแก่ผู้ผ่านทาง…..  มาซักไซร้ไล่เรียง สอบถาม เล่าความ บรรยาย สัมผัส แล้วเรื่องที่เกี่ยวเนื่องในวิถีชีวิตของคนโบราณก็จะหลุดออกมาเป็นกะบิ แล้วมาลงท้ายด้วยการกราบงามๆแก่พ่อใหญ่แม่ใหญ่ผู้เป็นวิทยากรท่านนั้นๆ จะเลยไปถึงผูกข้อต่อแขน รดน้ำดำหัวก็ไม่ผิดอะไร…

พ่อแม่เรา พ่อใหญ่แม่ใหญ่เรามีชีวิตหล่อหลอมมาอย่างนี้ เราให้กันอย่างนี้ ลูกหลานเอาเป็นตัวอย่าง เรียนรู้ไว้ ก่อนที่จะเติบใหญ่เป็นคนในสังคมใหม่ที่ขาดแคลนทาน การให้ ยากจนน้ำใจ ตระหนี่ถี่เหนียวผิดมนุษย์มนาในเรื่องไม่เป็นเรื่อง สังคมจะอยู่ได้อย่างไรหากทุนสังคมเดิมดีดีของเราหดหายไปจนสิ้น สิ่งที่งอกเงยมามีแต่การเอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่งกัน ไขว่คว้าปริมาณให้มากที่สุด ละเลยคุณค่าทางใจแก่กัน

ภาพเหล่านี้สะท้อนใจผมมากครับ….เพื่อนร่วมโลก..

ผมเรียกการกระทำพูดคุยของคนต่างวัย ต่างรุ่น แบบนี้ว่า Dialogue for consciousness or awareness เป็นสุนทรียสนทนาอีกแบบหนึ่ง ที่ทำเพื่อปลุกสำนึกคนรุ่นดิจิตอลให้เห็น รับรู้ สัมผัสและตระหนักคุณค่าทางวัฒนธรรมดีดีของเราครับ


สะเมิง: เมื่อม้งเข้าห้องเรียน

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 5, 2009 เวลา 14:19 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3607

โครงการที่ผมทำที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคแรกๆของ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่เรียกว่า อพช. หรือ NGO ก็ได้ ทีมงานไม่ถึง 10 คน รับผิดชอบกันคนละตำบล และมีทีมงานกลาง 2 คนที่รับผิดชอบทุกตำบลเฉพาะด้าน ผมเองรับผิดชอบงานด้านสังคม เน้นการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์นั่นเอง

โครงการนี้สนับสนุนโดยมูลนิธิจากประเทศเยอรมันแห่งหนึ่ง โดยการชักชวนของ ส.ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษฝีปากกล้า พนักงานโครงการจึงถูกฝึกอบรมก่อนทำงานที่ โครงการบูรณชนบทแห่งประเทศไทย จังหวัดชัยนาท ที่มีอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นประธาน ที่เรียกย่อๆว่า บชท. คือ Thailand Rural Reconstruction Movement (TRRM) ซึ่งจำลองหลักการมาจาก ดร. เจมส์ ซี เยน แห่งประเทศ ฟิลิปปินส์ ที่เรียกว่า PRRM หลักการของท่านเรียก Credo 10 ท่านที่สนใจเข้าไปที่กูเกิลครับ

สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้วหลักการพัฒนาชนบทของบ้านเรานั้นเรียกได้ว่านำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งนั้น ไม่ว่า คิบบุช โมชารป จากอิสราเอล เซมาเอิล อุลดอง จากเกาหลีใต้ ซาโวดายา จากศรีลังกา กรามินส์แบ้งค์ จากบังกาเทศ(ที่ได้รับรางวัลโนเบล) เครดิตยูเนี่ยน ที่ท่านคุณพ่อบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ แห่งสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยนำเข้ามาจากยุโรป ในปี 2509 ซึ่งมีต้นกำเนิดที่เยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เท่าที่ผมทบทวนดูสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า การมีส่วนร่วม การบูรณาการ ฯลฯ แต่มีคำว่า การยืนอยู่บนขาตนเอง การช่วยเหลือเขาให้เขาช่วยตัวเองได้ Top down-Bottom up และศัพท์แสงทางวิชาการก็เกิดมาภายหลังที่งานพัฒนาชนบท โดยองค์กรพัฒนาเอกชน กระจายไปทำงานทั่วประเทศ และพัฒนาประสบการณ์งานพัฒนาสังคมขึ้นมาเอง ผนวกกับกระแสงานพัฒนาสังคมทั่วโลกที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น เพราะ คนทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่ก้าวมาจากสถาบันการศึกษา ที่มีสำนึกทางการเมืองในยุคนั้น จึงนิยมสุมหัวคุยกัน เป็นประจำจนต่อมาก่อให้เกิด ศูนย์ประสานงานองค์กรพัฒนาสังคมเอกชนที่เรียก NGO-CORD หรือ พอช. ขึ้นทุกภูมิภาค

เดี๋ยวจะกลายเป็นเล่าพัฒนาการ NGO ในเมืองไทยไปซะ… วกเข้ามาที่ สะเมิง

เราไปจัดตั้งผู้นำชาวนาขึ้นทุกหมู่บ้าน สมัยนั้นสุ่มเสี่ยงมาก เพราะเป็นยุคที่รัฐต่อต้านแนวความคิดคอมมิวนิสต์ ชื่อผู้นำชาวนาจึงเป็นเป้ามองของสันติบาลว่า ทำอะไรกัน ทุกเดือนเราก็เอาผู้นำชาวนานี้มาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมที่สำนักงานเกษตรภาคเหนือ(บริเวณสำนักงานที่มีร้านอาหารชื่อกาแลตั้งอยู่ในปัจจุบัน) ซึ่งมี ดร.ครุย บุญยสิงห์เป็นผู้อำนวยการสำนักงานอยู่ คนสมัยนี้ไม่รู้จักท่านแล้ว ท่านก็คือสามีของอาจารย์เต็มศิริ บุญยสิงห์ นักอภิปรายทางทีวีตัวยงในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ดร.ครุยเอง ท่านจบมาจาก มหาวิทยาลัยคอแนล ที่มีชื่อเสียงของอเมริกา และท่านเป็นทีมงานศาสตราจารย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลในช่วงนั้นด้วย ..

ผู้นำชาวนาที่มาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมนั้นก็จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำมาหากิน การยกระดับผลผลิต การปรับปรุงพันธุ์พืช การพัฒนาการเกษตรโดยเอาพืชเศรษฐกิจใหม่ๆเข้าไป ตามยุคสมัยนั้น.. ปรากฏว่าเมื่อผู้นำชาวนากลับไปในหมู่บ้านเขา บางคนก็ไปเล่าความรู้ใหม่ๆให้ญาติพี่น้องฟัง ให้เพื่อนบ้านฟัง อันเนื่องมาจากสะเมิงเป็นเมืองค่อนข้างปิดดังกล่าว

ความรู้เหล่านี้เป็นที่สนใจของชาวบ้านที่ตื่นตัว อยากรู้มาก และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ผู้นำชาวเขาเผ่าม้งที่ตำบลยั้งเมิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไกลที่สุดของโครงการ ผู้นำม้งติดต่อโครงการขอมารับการฝึกอบรมด้วย เขาจึงได้มาเข้าร่วมเพิ่มพูนความรู้ทุกเดือน แต่เนื่องจากเขามีข้อจำกัด เพราะว่าม้งฟังภาษาไทยได้ แต่คำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการเขาจะไม่ค่อยรู้เรื่อง และที่สำคัญเขาไม่สามารถทำการบันทึกความรู้ได้ ใช้วิธีจำใส่หัวโตๆอย่างเดียว

ต่อมาผู้นำม้งขออนุญาตโครงการเอาลูกชายที่ผ่านระบบโรงเรียนของไทยมาแล้วเอามาด้วย เพื่อวัตถุประสงค์ทำการบันทึกความรู้โดยตรง….??? นี่คือความพยายามของเขาที่จะเรียนรู้ หรือพูดในภาษานักพัฒนาก็คือ มีความตื่นตัวในการรับเทคโนโลยี่ใหม่ๆ มีความตื่นตัวในการปรับตัวเองไปตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดีไม่ดี ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์


การอบรมครั้งหนึ่ง ที่ประชุมพูดถึงว่าพื้นที่สะเมิงนั้นล่อแหลมต่อการเป็นแหล่งผลิตฝิ่น ที่นำไปทำเป็นเฮโรอิน ซึ่งผิดกฎหมายไทย และมีผลร้ายแรงต่อคนที่เสพติด ผู้นำม้งท่านนั้นก็บอกว่า เป็นความจริงที่ ชาวเขาหลายเผ่าทำการปลูกฝิ่น โดยเฉพาะเผ่าม้ง ปลูกกันเป็นไหล่เขาเลย

แต่ผู้นำม้งกล่าวว่า เฮาปลูกฝิ่น แต่เฮาบ่กินฝิ่น คนไทยน่ะง่าว กินฝิ่นกันมากมาย…. ??? แปรความได้ว่า เราปลูกฝิ่นแต่เราไม่เสพฝิ่น คนไทยน่ะโง่ที่ไปเสพฝิ่น…???

แสบไหมล่ะพี่น้องที่ได้ยินคำนี้….โส..น้า..น่า..โค กิ ฝิ่.. อิอิ


สะเมิง: นายหวื่อ แซ่ย่าง

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 5, 2009 เวลา 1:00 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3186

ช่วงปี 18-23 ที่ผมทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่นั้น เป็นคนสองโลก (ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น) คือ เวลาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สะเมิงซึ่งเป็นชนบท อาจเรียกว่าเป็นเมืองเกือบปิดก็ได้ เพราะไม่ค่อยมีการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก มีรถประจำทางที่เป็นปิคอัพเก่าๆ วันละเที่ยว เท่านั้น ใครพลาดก็ต้องรอไปอีกวันหนึ่ง

การเป็นเมืองปิด หรือสังคมปิดนั้น มีความหมายมากในทางสังคมวิทยาการพัฒนาชนบท เพราะสังคมปิดนั้น ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของสังคมยังเป็นแบบเดิมๆมาก อิทธิพลสังคมเมืองยังเข้าไปไม่ถึงมากนัก นอกจากไปทางฟ้า คือคลื่นวิทยุ และ ทีวี ซึ่งก็มีไม่กี่หลังคาเรือนที่มีทีวีเพราะ ภูเขาสูงมีส่วนสำคัญทำให้การรับคลื่นไม่ดี

ชาวบ้านสะเมิงนั้นมีทั้งคนเมืองและชาวไทยลื้อ ซึ่งมีประวัติยาวนาน ที่ผมประทับใจชาวไทยลื้อคือ เป็นคนขยันทำงานเกษตรและรักความก้าวหน้า จะพยายามส่งลูกเรียนหนังสือกันมาก และจำนวนไม่น้อยก็ได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตก็มี ผมเองไปกินไปนอนบ้านชาวไทยลื้อบ่อย เพราะทำอาหารอร่อย สาวก็งามด้วย อิอิ..


อาชีพหลักก็คือปลูกข้าวนาปีและข้าวไร่ เนื่องจากพื้นที่อยู่ในหุบเขา การถือครองต่อครัวเรือนจึงมีไม่มาก ข้าวจึงเป็นพืชที่สำคัญที่สุด ต้องพยายามทำให้พอกิน การดูแลเอาใจใส่นาจึงเต็มที่ มีการทำเหมืองฝาย ทั้งใหญ่เล็กมากมาย ทั้งฝายแม้ว ฝายม้ง เต็มไปหมด เนื่องจากน้ำท่าบริบูรณ์เพราะอยู่ในเขตภูเขา นอกจากนั้นหลังนาก็จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ กระเทียม ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย ถั่วเหลือง หอมแดง ฯลฯ กระเทียมนั้นขึ้นชื่อมาก เพราะน้ำดี ดินดี ผลผลิตจึงสมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ก็งามแล้ว

นอกจากนี้ในพื้นที่สะเมิงไกลออกไปเป็นตำบลบ่อแก้วติดเขตอำเภอปาย แม่ฮ่องสอน เป็นดอยสูง ก็จะเป็นพื้นที่ชาวไทยภูเขา ส่วนมากเป็นม้ง กะเหรี่ยง มูเซอร์ ม้งจะมีมากที่สุด และเป็นราชาคนภูเขาเลย เพราะขยันทำมาหากินมากที่สุดและปลูกฝิ่นเป็นดงใหญ่ทีเดียว ช่วงที่ผมไปอยู่สะเมิงใหม่ๆนั้นนโยบายปรายฝิ่นยังไม่แรงมากเท่าไหร่ ไร่ฝิ่นจึงมีให้เห็นเหมือนอย่างข้าวไร่เลยทีเดียว พวกเราชอบที่จะขับมอเตอร์ไซด์ขึ้นไปดูไร่ฝิ่นกัน…

เสาร์อาทิตย์พวกเราก็ออกจากชนบทมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ มาเช่าบ้านแถวสันติธรรม สมัยนั้นยังเป็นหมู่บ้าน ไม่มีตึกรามใหญ่โตเหมือนปัจจุบัน เจ้าของบ้านก็เป็นตำรวจกองเมืองเชียงใหม่ เราจึงสบายใจที่เช้าบ้านหลังนั้น อยู่กัน 5-6 คน ไปซื้ออาหารมาทำกินบ้าง ไปกินตามร้านรวงตามซอกมุมต่างๆที่ชอบบ้าง แล้วก็กลับมาซุกหัวนอนกัน เช้ามืดวันจันทร์ก็รีบบึ่งมอเตอร์ไซด์เข้าพื้นที่…

วันหนึ่งที่บ้านเช่าหลังนี้ในเมืองเชียงใหม่ มีชาวเขาเผ่าม้งคนหนึ่งเดินเข้ามาในบ้าน พร้อมกับถามหานายตำรวจคนหนึ่ง.. เราก็งง เราบอกว่าที่นี่ไม่มีใครเป็นตำรวจ เราเป็นนักพัฒนาที่สะเมิงมาเช่าบ้านหลังนี้ ชาวเขาคนนี้ก็ดีใจ บอกว่า เขาก็อยู่สะเมิง ที่บ่อแก้ว ชื่อนายหวื่อ แซ่ย่าง..

ท่านที่เคยคุ้นเคยชาวไทยภูเขาพูดภาษาไทยคงพอเดาสำนวนออกนะครับว่า คำที่พูดนั้นจะไม่มีตัวสะกด เราคุ้นเคยสำนวนเหล่านี้ดีจึงรู้เรื่องที่นายหวื่อสื่อสารกับเรา สรุปความว่า เขามาหานายตำรวจ ตชด.ท่านหนึ่งที่เขารู้จักดี และเคยเช่าบ้านหลังนี้ ทั้งนี้เขามาหาเพราะเดือดร้อน ว่า เมียเขาตาย และไม่มีเงินจะทำศพ ไม่มีเงินจะซื้อข้าวไปเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน จึงอยากมาขอเงิน ตชด.ท่านนั้นไปซื้อข้าวจัดงานศพเมีย….

ผมและเพื่อนๆที่เช่าบ้านหลังนี้ได้ฟังก็รู้เรื่อง เข้าใจความต้องการ หลังจากซักไซ้ว่าบ้านอยู่ตรงไหนของตำบลบ่อแก้ว เพราะเราก็ขึ้นไปเที่ยวแห่งนั้นหลายครั้ง แต่ไม่เคยพบนายหวื่อ แซ่ย่างคนนี้ แต่เขาก็ตอบถูกหมดว่า ผู้ใหญ่บ้านชื่ออะไร มีเจ้าหน้าที่ราชการใครบ้าง ครูชื่ออะไร ตอบถูกหมด พวกเราก็เชื่อใจ และความเป็นนักพัฒนาก็สงสารเรื่องที่เขาเดือดร้อน…


นายหวื่อตกลงขอความช่วยเหลือจากเราเป็นข้าวสารหนึ่งกระสอบ แถมยังเชิญไปงานศพเมียเขา หากขึ้นไปบ่อแก้วก็ไปหาเขาจะให้ลูกหมาน้อย ที่เราเรียกกันว่า หมาแม้วหนึ่งตัว เราตกลงกันว่าจะไปเบิกเงินที่อำเภอแม่ริมให้นายหวื่อไปซื้อข้าวหนึ่งกระสอบ เมื่อจัดการเสร็จ นายหวื่อได้เงินสดไปซื้อข้าวแล้ว เราก็ไปทำงานตามปกติ…

หนึ่งสัปดาห์ผ่านมา พวกเรานัดกันขับมอเตอร์ไซด์ไป บ่อแก้ว เที่ยวดูไร่ฝิ่น และเยี่ยมนายหวื่อ แซ่ย่างหน่อย หากโอกาสดีก็จะขอลูกหมาน้อยที่นายหวื่อออกปากให้ไว้เอาลงมาที่สะเมิงด้วย พวกเราสนุกสนานกันเมื่อได้ขับมอเตอร์ไวด์เที่ยวตามยอดดอยเช่นนั้น วิว ทิวทัศน์สวย อากาศดี หากพบไร่ฝิ่นดี เพราะดอกฝิ่นสวยมาก(แต่พิษร้ายเหลือเกิน) ส่วนมากก็แดง และขาว หรือสลับแดงขาวกัน เราถ่ายรูปกันจนหนำใจก็ไปหานายหวื่อตามที่เขาเคยบอกไว้ว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้..

หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ ถามตามร้านขายของเล็กๆก็ไม่รู้จัก เราชักเอะใจ จึงตรงไปหาผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นม้งเช่นกัน ถามหานายหวื่อ แซ่ย่าง ผู้ใหญ่บ้านก็คิ้วขมวดนึกเป็นนานก็ตอบว่าในหมู่บ้านนี้ไม่มีคนม้งชื่อนายหวื่อ แซ่ย่างเลย แซ่ย่างนั้นมี แต่ชื่อหวื่อนี้ไม่มี เอ้าไปถามม้งแซ่ย่างหลายต่อหลายคนก็บอกว่า ไม่มีญาติชื่อหวื่อ…….ไม่มีคนตาย ไม่มีผู้หญิงตาย ไม่มีเมียใครตายซักคน…

พวกเรามองหน้ากันแล้วก็ร้องอือ..เสร็จแล้วพวกเรา…เสร็จชาวไทยภูเขาซะแล้ว..

นักพัฒนาชนบทโดนชาวไทยภูเขาหลอกเข้าแล้ว…อิอิ…เอิ๊กกก…โส..น้า..น่า…

(ภาพเหล่านี้มีอายุมากกว่า 30 ปีแล้วครับ)


ปลา และ อีกา 2

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 4, 2009 เวลา 15:24 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3494

เวลาที่ทำความรำคาญและสร้างความโกรธแค้นเจ้าอีกามากที่สุดก็ช่วง พอเราเอาปลาเค็มไปตากแดดในกระด้ง กระจาด ตะกร้า หรือแผ่นสังกะสีบ้าง เพื่อผึ่งให้แห้ง ก่อนที่จะเก็บ อีกามักจะบินลงมาเกาะที่ลูกกรงชานบ้านนับสิบๆตัว แล้วก็บินโฉบเอาปลาของเราไปกินหน้าตาเฉยเลย.. แถมถ่ายมูลรดหลังคาบ้าน ชานบ้าน ลูกกรงชานบ้านขาวไปหมด พ่อต้องเอาฝาชีมาครอบ เอาแหเก่าๆที่ขาดมาคลุม แต่ก็ไม่วายถูกแย่งอยู่เสมอๆ

เสียงอีกาจะหายไปตอนพลบค่ำแล้วไปส่งเสียงดังที่ต้นไม้ใหญ่ที่วัด และเช้ามืดมันก็จะมาปลุกเราตื่นแต่เช้าตรู่อีก ช่วงเวลากลางวันเราต้องมากลับปลาที่พึ่งไว้นั้นให้อีกด้านถูกแดดด้วย หรือมาดูว่าปลาถูกแมลงวันมาหยอดไชขาง(ไข่)ทิ้งไว้ไหม หากพบก็จะเขี่ยออก บ่อยครั้งที่ปลาตะเพียนผ่าซีกของเราในกระด้งอยู่ไม่ครบตัว เพราะอีกาแอบมาเอาไปกินน่ะซี ตกเย็นหมดแดดหากไม่รีบเก็บปลาที่ตากไว้นั้น มดก็จะมาขึ้น เราก็ต้องคอยไล่มด เคาะให้มดออกจากตัวปลาแล้วก็เอาเก็บใส่ปีบ พรุ่งนี้ก็เอาตัวที่ยังไม่แห้งดีออกมาตากใหม่…

ผมไม่ชอบอีกาเอามากๆ คอยแอบยิงเสมอแต่ร้อยครั้งจะถูกสักครั้ง แต่ก็ไม่ตายหรอก ทุกปีผมจะได้กินปลาเค็มที่ทำด้วยปลาตะเพียน มันย่อง เลิศรส เค็มพอดี กับข้าวร้อนๆบ้าง ข้าวต้มตอนกลางวัน หรือไม่ก็แกงผักบุ้งใส่ปลาเค็ม ปลาช่อนเค็มผมชอบกินกับแกงมากกว่า วันไหนที่ผมต้องหาบข้าวอาหารมื้อเช้าไปส่งพ่อ แม่ที่เกี่ยวข้าวกลางนา จะเป็นอาหารที่อร่อยมากๆเพราะกินกันกลางทุ่งนา แต่ไม่ชอบเกี่ยวข้าวเพราะมันไม่สนุก เมื่อย ปวดหลัง และบางทีดินยังไม่แห้งเป็นโคลนต้องย่ำ เปื้อนน่อง เท้า ล้างมันก็ไม่ค่อยออกหมดมันก็จะแตก และหนาว

ผมชอบให้พ่อทำปี่จากปล้องต้นข้าว เป่าแก้มโป่งไปเลย เวลาค่ำเลิกงานนา เดินกลับบ้านจากทุ่งผมชอบดูแสงหิงห้อยนับล้านๆตัว บินอวดแสงที่ก้นมัน แต่ผมมักจะปิดตาแล้วเกาะมือแม่เดินตามคันนากลับบ้านด้วย เพราะกลัวผี.. กลัวงู…

นับตั้งแต่ปี 2509 ผมลงไปเรียนหนังสือที่ฝั่งธนบุรี เป็นช่วงที่เปลี่ยนชีวิตผมครั้งใหญ่ จากเด็กบ้านนอกมาอยู่ในเมืองหลวง เพื่อเรียนหนังสือมุ่งหวังเข้ามหาวิทยาลัย…. ช่วงนั้นจะกลับมาบ้านก็ช่วงปิดเทอมเท่านั้น ชีวิตส่วนใหญ่ก็เริ่มห่างไกลชนบท คลุกคลีกับสังคมเมือง บางเทอมก็ไม่ได้กลับบ้านเพราะทำงานรับจ้างหาเงินบ้าง

เมื่อผมเรียนจบมหาวิทยาลัยเดินทางกลับบ้าน แม่ทำปลาร้าทรงเครื่องให้กิน แกงผักบุ้งปลาเค็มตามคำร้องขอของผม ผมอร่อยในฝีมือแม่ กินจนพุงกาง แล้วถามว่าแม่เอาปลามาจากไหน แม่ตอบว่า ก็ซื้อมาซิลูก.. พ่อเขาไปตลาดก็เลยซื้อมา ซื้อมาหลายอย่าง น้ำปลาด้วย ปลานั่นเป็นปลาเลี้ยงตามบ่อต่างๆ เดี๋ยวนี้เขาขุดบ่อเลี้ยงปลากันแล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว…

เสร็จอาหารมื้อเย็นผมปลีกตัวเงียบๆไปที่โคนต้นก้ามปูใหญ่ต้นเดิมที่สมัยเด็กๆชอบมานั่งเล่นนั้น ผมทวนคำว่าปลาซื้อมา… ผมนึก 10 ปีที่ผมไม่อยู่บ้าน เราต้องซื้อปลากินแล้ว มิน่าเล่าผมไม่ได้ยินเสียงอีกาเลย ผมไม่เคยเห็นอีกาอีกเลย

พรุ่งนี้ผมจะลาจากพ่อแม่กลับไปทำงานพัฒนาชนบทที่ภาคเหนือที่ได้งานหลังเรียนจบแล้ว….

ผมคิดถึงงานพัฒนาชนบทที่เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับบัณฑิตหนุ่มอย่างผม????…

(เป็นบทความที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่ 22 กันยายน 2527 ในสมุดบันทึกส่วนตัว 25 ปีที่แล้ว)


ปลา และ อีกา 1

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 4, 2009 เวลา 15:22 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2772

เมื่อเด็กๆสมัยอยู่ชั้นประถมเป็นวัยที่สนุก เมื่อขึ้นชั้นมัธยมเราต้องเดินไปเรียนหนังสือกันวันละ นับสิบกิโลเมตรไปกลับ แต่มีเพื่อนมากมาย การเดินระยะทางเช่นนั้นจึงไม่ใช่อุปสรรค

แม่ซึ่งมีอาชีพทำนาเลี้ยงลูกๆ 6 คนนั้นต้องตื่นแต่ตี 4 ตี 5 หุงข้าวให้ลูกเมื่อไปโรงเรียนกันแล้วก็อุ้มลูกคนเล็กไปนาจนเย็นค่ำ พ่อเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดใกล้บ้าน พอได้ช่วยแม่บ้างยามว่าง หน้าออกพรรษาประเพณีชาวบ้านก็จะกวนกระยาสารท เตรียมกล้วยไข่บ้างกล้วยน้ำว้าบ้าง เต็มเรือนหมด คัดเอาหวีงามๆไว้ทำบุญพระที่วัด ที่เหลือก็แจกญาติ พี่น้อง บ้านเหนือบ้านใต้ พวกเราก็กินกระยาสารทกันพุงกางทุกวัน

ชีวิตช่วงนี้ชาวบ้านจะเตรียมแห เตรียมยอกัน ใครมีแหก็เอามาปะชุนส่วนที่มันขาด บ้างก็ย้อมน้ำลูกตะโกที่ตำจนละเอียดแช่น้ำ เครื่องมือจับปลาที่เตรียมไว้เพราะหลังออกพรรษานั้นเข้าสู่ฤดูน้ำลด ปลาที่อยู่ในทุ่งนาก็จะออกสู่ลำคลองแม่น้ำน้อย ตามธรรมชาติของเขา

ปลาชุกชุมมากสารพัดชนิด น้ำปลาที่ใช้ประกอบอาหารนั้นไม่ต้องไปซื้อกิน ทุกบ้านจะทำน้ำปลาจากปลาสร้อยกันเอง ชาวบ้านจะใช้แหทอด บ้างยกยอบ้าง เวลาช่วงปลาออกจริงๆมันใช้เวลาแค่สองสามวันแค่นั้นก็หมด ชาวบ้านจะนัดกันมาทอดแหโดยใช้ เรือมาดบ้าง เรือไผ่ม้า บ้าง หรือเรื่ออื่นๆที่มีอยู่ แบ่งเป็นสองกลุ่มสองฟากฝั่งแม่น้ำ 20-30 ลำก็เคยเห็น ดำเต็มแม่น้ำไปหมด…เวลาทอดแหก็จะนัดพร้อมๆกัน เป็นภาพที่ไม่มีอีกแล้ว..

ปลาสร้อยที่ได้มานั้นก็จะเอาใส่ตุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างหมักเกลือปิดฝาให้มิดชิดเอาตากแดดไว้กลางชานบ้านเลย หรือบางบ้านก็ทำร้านเฉพาะก็มี พ่อเล่าให้ฟังว่าสมัยพ่อหนุ่มๆนั้นปลาสร้อยในแม่น้ำน้อยมากจริงๆ ยามที่เราพายเรือไป หากไปโดนฝูงปลาสร้อยเข้ามันตกใจกระโดดเข้าเรือเราเยอะไปหมด แต่สมัยผมนั้นไม่เห็นภาพเหล่านี้อีกแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีปริมาณปลามากอยู่ คนที่ไม่มีแรงงาน หรือไม่มีแหไม่มียอก็จะซื้อปลาสร้อยมาทำน้ำปลาเลิศรสกัน ใช้กินตลอดทั้งปี ไม่ต้องซื้อน้ำปลาขวดที่มาจากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ หรือจังหวัดชายทะเล

นอกจากปลาสร้อยก็มีปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาอื่นๆทุกชนิดเมื่อได้มาเหลือกินมื้อนั้นๆก็เป็นหน้าที่เด็กๆเอามาขอดเกล็ดผ่าท้องเอาไส้ออกทิ้งไป บั้งข้างๆปลา หรือไม่ก็ผ่าซีกครึ่งตัวแผ่ออก เอาเกลือที่ตำจนละเอียดพอสมควรมาทาให้ทั่ว หมักเอาไว้หนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นก็เอาไปล้างน้ำเอาเกลือออก แล้วก็เอาไปผึ่งแดด เพื่อทำปลาเค็ม (สมัยนี้ก็เป็นปลาแดดเดียว) หากว่ามีปลาจำนวนมากก็จะเอามาย่างถ่าน พอสุกได้ที่ก็เก็บใส่ปีบปิดให้สนิท กัน ขี้ขมวน กิน (เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ชอบมาชอนไชกินปลาย่าง)

ทั้งปลาเค็ม ปลาย่าง ทำไว้เพื่อเอาไปใช้ประกอบอาหารในฤดูหนาวที่ต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อเตรียมเขน็ดมัดข้าว ลงมือเก็บเกี่ยวข้าวในนา หรือคุมการเกี่ยวข้าวของลูกจ้าง ขนข้าวจากที่นาเข้าลาน นวดข้าว ฝัดข้าว และเก็บเมล็ดข้าวเปลือกที่ได้ทั้งหมดเข้ายุ้งฉางซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่างานทุกอย่างจะแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นช่วงที่ยุ่งที่สุด ไม่มีเวลาไปหาของกินอื่นๆ ก็ได้ปลาเค็ม ปลาย่างที่ทำไว้นั่นเอง…

จำได้ว่าช่วงฤดูจับปลานี้ ปริมาณปลาที่มากมายในแม่น้ำน้อย และตามทุ่งนาใครมีปัญญาจับปลาด้วยวิธีใดก็ทำได้เต็มที่ ช่วงเวลาทำปลาเค็มปลาย่างนั้นศัตรูที่สำคัญคือ อีกาและเหยี่ยว แต่อีกามีจำนวนมากกว่าหลายเท่านัก มันจะมาเกาะเต็มหลังคาบ้านเวลาเช้าๆแล้วส่งเสียงร้องดังหนวกหูไปหมด ผมเคยเอาหนังสะติกมาไล่ยิงมัน แต่ไม่เคยยิงถูกเลย มันบินหลบเก่งมาก แค่มันเห็นเราเงื้อหนังสะติกมันก็บินหลบไปแล้ว


คนมีเบอร์

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 23, 2008 เวลา 0:29 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 3894

ความจริงคนเรามีเบอร์มานานแล้ว เมื่ออายุครบตามกฎหมายไทยทุกคนต้องไปทำบัตรประชาชน ซึ่งในบัตรประชาชนนั้นจะมีหมายเลขประจำตัวที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่าเลข 13 หลัก ทั้งทางราชการและหน่วยงานทางธุรกิจเอาตัวเลขนี้ไปใช้มากมาย เพราะเป็นหลักฐานที่ออกโดยราชการที่ระบุความเป็นคนไทยและข้อมูลอื่นๆที่ทางราชการกำหนด

ในโครงการที่ผมทำอยู่ภายใต้หน่วยงานนี้ ได้นำตัวเลขของประชาชนมาใช้เพื่อจัดทำระบบข้อมูล การวิเคราะห์ วางแผน การติดตาม การประเมินผล และอื่นๆอีกมากมายในรูปของแผนที่ที่เรียกว่าระบบ GIS

ระบบนี้เข้ามาในเมืองไทยนานแล้ว สมัยผมทำงานกับ USAID ปี 23-28 นั้นก็เริ่มใช้ระบบนี้มาผสมผสานกับการวิเคราะห์พื้นที่ที่เรียกว่า Agro-ecosystem Analysis หรือ AEA แล้ว แต่สมัยนั้นระบบยังไม่สมบูรณ์ รูปร่างแผนที่ยังหยาบ แต่ก็สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์การวิเคราะห์พื้นที่ และใช้เป็นแนวทางการวางแผนงานได้จริง เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นกว่าเดิม ผมมีส่วนช่วยทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นเริ่มใช้ AEA วิเคราะห์พื้นที่ภาคอีสานรายจังหวัดเพื่อส่งเสริมการเกษตร และต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรก็นำหลักการนี้ไปใช้ทั่วประเทศ

ความเป็นเหตุเป็นผลในการนำข้อมูลต่างๆมาดูความสัมพันธ์กันนั้น ส่งผลให้มีการปรับกระบวนการทำแผนงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม การกำหนดเป้าหมาย กระบวนการทำงาน และระบบการส่งเสริมที่เน้นตัวชาวบ้านเรียนรู้ระหว่างกันเองมากขึ้น โดยหลักการแล้ว นี่เป็นการใช้เทคโนโลยีมามีส่วนในการเริ่มกระบวนการ ที่เรียกว่า Area Base Approach (ABA)

มาวันนี้ หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่นี้มีแนวคิดวิเคราะห์เจาะลึก เกษตรกรทุกครัวเรือนในพื้นที่โครงการ โดยนำผลการวิเคราะห์มาแสดงในแผนที่ Base Map กล่าวคือ ที่ดินที่เกษตรกรถือครองตามกฎหมายของหน่วยงานนี้ เขาจัดระบบแปลงที่ดินไว้แล้ว คือ มีชื่อพื้นที่ มีหมายเลขกลุ่มพื้นที่ มีหมายเลขแปลง มีหมายเลข 13 หลักของเจ้าของแปลง แล้วก็นำข้อมูลทางชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคมต่างๆมาแสดงผลในรูปของแผนที่ดังกล่าวได้ โดยใช้สัญลักษณ์สี หรือต่างๆมาแสดง

ตัวอย่างแผนที่นี้แสดงถึงการถือครองที่ดินของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองแคน

ตัวอย่างแผนที่นี้แสดงถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินถือครองของเกษตรกร

ตัวอย่างแผนที่นี้แสดงถึงเจ้าของที่ดินถือครองที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในระดับต่างๆ

ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อการวิเคราะห์และพิจารณาจัดทำนโยบาย แผนงาน และการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา กิจกรรม พื้นที่ ฯ ได้โยอาศัยข้อมูลเหล่านี้

ข้อมูลเหล่านี้มีการใช้ประโยชน์มานานแล้ว โดยเฉพาะอเมริกา และประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง เช่นดาวเทียมที่สามารถถ่ายภาพพื้นที่ต่างๆทั่วโลกอย่างละเอียดได้ เขาสามารถทราบเลยว่า พื้นที่ใดในโลกนี้ปลูกอะไร ขนาดพื้นที่เท่าใด ผลผลิตจะได้เท่าใด ฯ แม้ว่าจะไม่ละเอียดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การพัฒนาความละเอียดก็มีตลอดเวลาและคาดการณ์ที่แม่นยำมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อหลายเรื่องที่ไม่ขอกล่าวในที่นี้…

หน่วยงานที่ผมมีความรับผิดชอบอยู่นี้ ได้นำเทคนิคนี้มาใช้ ก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะก้าวไปได้ไกลสักแค่ไหน

แต่ที่แน่ๆคือ กิจกรรมทุกกิจกรรมที่ทำร่วมกับเกษตรกรนั้นจำเป็นต้องบันทึกหมายเลขประจำตัวประชาชน หมายเลขกลุ่มแปลง และหมายเลขแปลงของเกษตรกร ที่ทำกิจกรรมนั้นๆ เพื่อนำมาใช้แสดงผลในรูปของแผนที่ต่อไป

นี่คือเรื่องราวของคนมีเบอร์หละครับ….


ตอก….(2)

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 19, 2008 เวลา 16:37 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 4354

ผมคุ้นชินกับตอกมัดข้าว เพราะในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม เลยไปจนถึงเดือนหน้าคือ พฤศจิกายน อีสานจะเห็นการจักตอกมัดข้าวกันทั่วไป และเห็นชาวบ้านเอาตอกกมาตากแดดกันที่ลานหน้าบ้านกัน เรามีความรู้เรื่องตอกมัดข้าวแค่ไหน… และปัจจุบันมันกลายเป็นธุรกิจชาวบ้าน หรือตัวทำเงินของชาวบ้านไปแล้ว (ผมเองก็เพิ่งทราบ) และจะเกี่ยวเนื่องกับอะไรหลายอย่างทีเดียว ลองพิจารณาดูกันนะครับ

· ท่านทราบไหมว่าตอกสั้นกับตอกยาวนั้นมีขนาดความยาวเท่าไหร่ : ตอกสั้นนั้นมีขนาด 80 เซนติเมตรครับ ส่วนตอกยาวมีขนาด 1.10 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร 10 เซนต์

· ทำไมเป็น 80 และ 110 เซนติเมตร : ไม่จำเป็นต้องเท่านี้หรอก แล้วแต่ความต้องการของชาวนาคนนั้นๆ แต่โดยค่าเฉลี่ยทั่วไปที่นิยมกันเป็นขนาดดังกล่าวนี้

· ทำไมต้องมีสองขนาดความยาว : ขนาดสั้นเหมาะสำหรับมืออาชีพ ชาวนาที่จัดเจนในการมัดข้าว ส่วนตอกขนาดยาวสำหรับมัดข้าวสองรอบ ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่นิยมใช้ขนาดยาวเพราะสร้างความมั่นใจว่ามัดแล้วแน่นหนา ไม่หลุดง่ายซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหาย

· ไผ่อะไรที่ดีที่สุดในการทำตอกมัดข้าว : ชาวนาหลายคนบอกว่าไผ่บง เพราะมีความเหนียว แต่หลายคนก็บอกว่า ไผ่ป่า และไผ่บ้าน

· ไผ่อายุขนาดไหนที่เหมาะแก่การทำตอก : ใช้วิธีดูเนื้อไม้ไผ่ ที่ไม่แก่เกินไปและไม่อ่อนเกินไป หากแก่เกินไปความเหนียวจะลดลง หากอ่อนเกินไป ก็ขาดง่าย ชาวนาที่จัดเจนเท่านั้นจะเป็นผู้รู้ว่าไผ่ลำไหนมีความเหมาะสม

· ตอกที่ทำเป็นเส้นแล้วทำไมต้องเอาไปตากแดด : เพราะต้องการทำให้แห้ง สนิท มิเช่นนั้นจะขึ้นรา หรือเชื้อราจะมาเกาะกินทำให้เสียคุณภาพไป


· การตากแดดที่มีความเหมาะสม ควรเป็นอย่างไร : ไม่แห้งเกินไป ไม่สดเกินไป ควรตากแดดประมาณ 4 แดด ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณแดด และความจัดเจนของชาวนาที่ทำตอก

· ตอกที่ตากแดดครบ 4 แดดแล้วเวลาใช้ต้องทำอะไรบ้าง : เวลาเอาตอกเหล่านี้ไปใช้ต้องพรมน้ำก่อน หรือจุ่มลงน้ำพอเปียกแล้วมาสลัดให้น้ำหลุดออกไป ทั้งนี้เพื่อฟื้นเนื้อไผ่ให้มีปริมาณน้ำติดเนื้อไผ่บ้างซึ่งน้ำจะทำให้เกิดความนุ่มและเหนียวตอนมัดข้าว ซึ่งหากเอาไปใช้ก็จะแตก หัก

ผมพยายามลองสอบถามปริมาณตอกที่ใช้ว่า นา 1 ไร่ต้องใช้ตอกจำนวนเท่าไหร่ หมายถึงกี่มัด กี่เส้น ผมไม่ได้คำตอบ แต่นายอภิชาต วังคะฮาต หนุ่มรูปบนสุดนั้น เขาคำนวณให้ดูว่า นาที่ผลิตข้าวเปลือกได้จำนวน 200 ถุงปุ๋ยนั้น จะต้องใช้ ตอกเส้นจำนวน 6,000 เส้น หากต้องซื้อจะคิดเป็นเงินประมาณ 600-700 บาท

จากปรากฏการณ์ที่ผมพบเห็นผมคิดไปหลายเรื่องคือ

· เดี๋ยวนี้การจักตอกกลายเป็นธุรกิจชาวบ้านที่ทำเงินไปแล้ว

· กรณีนางบัวเรือน ผิวขำ บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี ต้องจ่ายเงินสดไปเป็นจำนวนเกือบแสนบาท(กู้มาจาก ธกส.ห้าหมื่นบาท) สั่งตอกมาตุนไว้ขาย และความจริงเธอขายผ้านวมและถ้วยชามด้วย ในทุกวันพฤหัสบดีจะเอาไปขายที่ตลาดนัดหน้าอำเภอคำชะอี (ผมไม่มีเวลาตามไปสังเกตการณ์)

· แหล่งผลิตตอกมัดข้าวอยู่ที่ อ.นาเหนือ จ.ลำปางและเพชรบูรณ์ และน่าที่จะมีที่อื่นอีกที่มีป่าไผ่ เช่นจังหวัดเลย นครราชสีมา ชัยภูมิ ฯลฯ ไม่แน่ใจว่าจะมีอาชีพนี้หรือไม่…

· แหล่งผลิตเหล่านั้นมีปัญหาเรื่องการตัดไผ่บงมากเกินไปหรือเปล่า เมื่อเป็นธุรกิจ ไผ่บงที่ปลูกอาจเติบโตไม่ทัน ต้องเอามาจากป่า แล้วป่าบงถูกทำลายไป วงจรชีวิตอื่นๆจะเป็นอย่างไรบ้าง ห่วงโซ่อาหารได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างต่อระบบนิเวศท้องถิ่นที่ไผ่ลดน้อยลงและจะหมดไป คนที่ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ทราบดีว่ามักจะไปเอาเชื้ออินทรีย์ธรรมชาติมาจากขุยโคนไผ่ในป่า

· แสดงว่าไผ่บงในอีสานมีน้อยลงมาก จึงไม่เพียงพอต่อการทำตอก

· ทำไมชาวนาต้องซื้อตอก ทำไมไม่ทำเอง อาจเป็นเพราะหลายเหตุผล อะไรคือเหตุผลหลัก

· ราชการ เช่น กรมป่าไม้ อบต. อำเภอ จังหวัด เข้ามามีส่วนรับรู้และคิดอ่านเรื่องนี้อย่างไรบ้าง…..

· หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทำไมต้องมีการสั่งซื้อข้ามภาคให้เปลืองพลังงานและราคาก็น่าจะสูงกว่าหากมีการผลิตภายในภาค หากไม่มีไผ่บง อบต.ทำแผนงานปลูกไผ่บง และไผ่อื่นๆ ในระยะยาวเพื่อทำธุรกิจนี้ได้ไหม

· คนข้างกายบอกว่า ตอก เป็นสินค้านำเข้ามาจากฝั่งลาว ราคา 1000 เส้นละ 45 บาท และทำมาจาก ไผ่พุงเข้าที่อุบลราชธานี (น่าจะหลายช่องทาง หรือน่าจะเป็นตลอดแนวไทยลาวด้วยเช่นกัน) ราคาตอกนำเข้าจากลาวถูกกว่าราคาตอกที่มาจากลำปางเกือบเท่าตัว

· ฯลฯ

นี่คือวิถีชุมชน ชาวบ้านก็ดิ้นรนไปตามจังหวะชีวิต เมื่อใครเห็นลู่ทางอะไรอย่างไร ก็ดิ้นรนกันไป

มีหน่วยงานใดบ้างที่ก้าวเข้าไปให้ความรู้ในเรื่องการจัดการ ศึกษาผลกระทบต่อป่า ต่อวิถีวงจรชีวิตที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในเรื่องนี้ ให้ความรู้ในสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่ชาวบ้านผู้เกี่ยวข้องเรื่องเหล่านี้

มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กเกินไปสำหรับรัฐบาล กระทรวงทบวงกรมต่างๆ มันอาจจะไม่น่าสนใจต่อนักวิชาการมหาวิทยาลัย ที่สนใจเรื่องใหญ่ๆ

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเกิดมานานแล้ว แต่ผมเพิ่มจะรู้ ในทัศนะผม ไม่ใช่เรื่องเล็ก และเป็นรูปธรรมของการพึ่งธรรมชาติของอาชีพชาวนา จึงต้องตั้งประเด็นขึ้นในโครงการแล้วหละครับ….


ตอก….(1)

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 18, 2008 เวลา 17:33 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 6745

วันนั้นผมเดินทางจากมุกดาหารกลับไปขอนแก่นเพื่อภารกิจ เมื่อมาถึง อ.คำชะอี บริเวณหน้าวัดหลวงปู่จาม ข้างถนนซ้ายมือผมสังเกตเห็นกองไม้ไผ่เล็กๆอยู่ เมื่อรถผมเลยมา นึกได้ว่านั่นน่าจะเป็น ตอกมัดข้าว นี่นา ทำไมมากองอยู่ริมถนนจำนวนมาก เช่นนั้น ผมตัดสินใจหยุดและกลับย้อนไปที่นั่น

ลงไปถ่ายรูป ใช่แล้วนี่มัน ตอกมัดข้าวตอกมีหลายความหมาย ที่นี่จะหมายถึง วัสดุที่ทำจากไม้ไผ่ เหลาให้เป็นเส้นๆ บางๆ เพื่อใช้มัดสิ่งของต่างๆ ชาวอีสานนิยมใช้ ตอกไม้ไผ่ นี้มัดข้าว ภาคกลางที่วิเศษชัยชาญจะใช้ต้นข้าวนำมาหลายๆต้นแล้วมาทำให้เป็นเกลียว ม้วนเก็บไว้ แล้วเอาไปมัดข้าว ซึ่งเรียกว่า ขะเน็ด [ขะเน็ด หรือเขน็ด คือฟางที่ทำเป็นเชือกมัดฟ่อนข้าว : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525, หน้า 150]

มองเข้าไปในบ้านเห็นสุภาพสตรีมองย้อนมาที่ผม เธอคงนึกว่ามาถ่ายรูปทำไม เมื่อแนะนำตัวแล้ว ก็ยิงคำถามเสียพรุนไปหมด… เธอเป็นแม่บ้านกำลังอุ้มหลานและมีลูกสาวแม่ลูกอ่อนกำลังชงนมให้..

เมื่อเดินเข้าไปในตัวบ้านผมเห็น กองตอก เต็มบ้านไปหมดทั้งกองเล็กและใหญ่ เธอตอบว่า ตอก ที่วางนั้นขายแก่ชาวนาทั่วไปที่ต้องการ มัดเล็กราคา 70 บาท ใหญ่ 80 บาท แต่ละมัดมีจำนวน 800-1000 เส้น กองนี้ทั้งหมดมี 2,000 มัด ติดเป็นต้นทุนประมาณเกือบ 1 แสนบาท  หากขายได้หมดจะได้กำไรประมาณ 20,000 บาท

เอาไม้ไผ่อะไรมาทำครับ ผมถามเธอ เป็นไผ่บ้านนี่แหละ ความจริงที่ผมรู้มาก่อนว่าไผ่ที่มาทำตอกนั้น ไผ่บงดีที่สุด แต่ชาวบ้านแต่ละแห่งเรียกไม่เหมือนกัน เช่นเรียกไผ่บ้าน ไผ่ป่า เป็นต้น ผมถามเธอต่อว่า โอ้โฮ กองใหญ่โตนี่เอาไว้ขายหมดเลยใช่ไหม เธอตอบว่า ใช่ แล้วเอาไผ่มาจากไหนมากมายขนาดนี้ แล้วใช้กี่คน กี่วันถึง จักตอก ได้จำนวนเท่านี้…..


ผมถึงกับตะลึง เมื่อเธอตอบว่า…. ไม่ได้ทำเอง ทั้งหมดนี้สั่งมาขายจากจังหวัดลำปาง… หา…. ผมอ้าปากค้าง สั่งซื้อมาจากลำปาง…..ผมย้ำคำตอบ ..ใช่เมื่อสองอาทิตย์มานี่เอง… ไหนช่วยเล่าให้ฟังหน่อยซิครับ ผมรุกเร้าให้เธอเล่าที่มาที่ไปถึงการสั่งตอกมัดข้าวมาขายที่คำชะอีแล้วมาจากภาคเหนืออันไกลโพ้น…

เมื่อปีก่อนๆมีพ่อค้าเอาตอกมาเร่ขาย และมีชาวบ้านซื้อจริงๆ จึงเห็นลู่ทางว่าหากเราสั่งซื้อมาขายชาวบ้านน่าจะดี จึงคุยรายละเอียดกับพ่อค้านั้นจึงรู้ว่ามาจากลำปาง อ.นาเหนือ จึงตัดสินใจพาพ่อบ้านไปดูหมู่บ้านนี้ที่นาเหนือ ลำปางให้เห็นกับตาเลย และตกลงกันว่าจะสั่งซื้อและเป็นผู้ขายเองในคำชะอีและพื้นที่แถบนี้

เธอกล่าวว่ามีชาวบ้านมาซื้อไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มาก คิดว่าจะเป็นปลายเดือนนี้และเดือนหน้าซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนาที่ไม่มีเวลาทำตอกเองก็จะมาซื้อ

ทำไมชาวบ้านต้องมาซื้อ ทำไมไม่ทำเอง ผมถามเธอ .. ก็แล้วแต่ หลายเหตุผล คือ ไม่มีเวลาเพราะต้องทำงานอื่นๆด้วย เพราะไม้ไผ่หายากมากขึ้นแล้ว และบางครอบครัวแรงงานก็ไม่มีต้องจ้างเขาทำ จึงมีชาวบ้านต้องซื้อตอกมัดข้าวกันมากขึ้น..เธออธิบาย (ต่อตอน 2)


ว่าวลุงภี…(2)

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 14, 2008 เวลา 22:51 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 6549

ลุงภีวัย 61 ปี ยังแข็งแรง สูบบุหรี่บ้าง กินเหล้าบ้างนิดหน่อย ซื้อหวยบ้างนานๆครั้ง ลุงไม่ชอบอยู่บ้าน ชอบที่จะมาตระเวนขายว่าวไปทั่วทุกแห่ง ผมมันชอบอย่างนั้น หนุ่มๆผมเป็นคนเที่ยว ไปทั่ว ประเทศลาวผมก็ไปทำงานเป็นคนงานตัดไม้มาแล้ว ชอบท่องเที่ยวไป เมื่อผมมาขายว่าว ก็นอนไปตามปั้มน้ำมัน ศาลาวัด โคนต้นไม้ ไม่เคยเช่าโรงแรมนอน เคยมีลูกค้าที่คุยกันถูกคอเชิญให้ไปนอนบ้านก็มี..

ว่าวตัวใหญ่รูปแบบแปลกตานั้น ลุงภีเอาแบบมาจากฝรั่งที่พัทยา ไปขอซื้อเขามาสองตัว 900 บาท เอามาถอดแบบแล้วทำขึ้นเองใหม่ ลองชักดู ตกแต่งไปเรื่อยๆจนใช้ได้ดีก็เอามาขาย ในหมู่บ้านโนนเมืองผมเป็นคนแรกที่ทำว่าวทรงนี้

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง และชอบขนาดเล็กๆ ผมจะขายไม่แพงแล้วแถมเชือกให้ด้วย ยาวประมาณ 15 เมตร ผมไปซื้อกระป๋องกาแฟสำเร็จรูปมาจากร้านรับซื้อเศษขยะในราคากิโลกรัมละ 5-6 บาท เอาด้ายมาพันให้ลูกค้า พ่อค้าบางคนเขาไม่แถมแต่ขาย 10 บาท แต่ผมแถมให้ฟรี…


เมื่อสามสี่ปีก่อนรายการคุณไตรภพเคยมาถ่ายทำสารคดีการทำว่าวของลุงภีที่บ้านโนนเมือง ต.โนนข่า อ.พล จ.ขอนแก่น… จนชาวบ้านแซวเอาว่าผมเป็นดาราไปแล้ว..

การทำว่าวขายเป็นอาชีพรอง เป็นอาชีพเบา สุจริต สิบกว่าปีที่ยึดอาชีพรองนี้มามีรายได้ดีมาก จึงเป็นความสุขของลุงภีที่ได้ทำขาย เร่ร่อนไปทั่วสารทิศ ได้เงินมาก็ให้ยายที่บ้านเก็บ ก็ลูกๆนั่นแหละเป็นคนใช้เงิน แต่ก็เป็นความสุขของลุงภี… ปัจจุบันเพื่อนบ้านยึดอาชีพนี้ตามอย่างกันทั่วหน้า…


เมื่อ หลายปีก่อนทางราชการพยายามมาสนับสนุนให้ตั้งกลุ่มผลิตว่าว OTOP เอาเงินทองมาลงทุนให้เป็นแสนๆ ทำไปได้ปีหนึ่งกลุ่มก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะต่างไม่ไว้ใจกัน ฝ่ายผลิตก็ผลิตไป ฝ่ายขายก็เอาสินค้าไปขาย แต่เงินที่ได้มา ฝ่ายผลิตไม่เชื่อใจว่าครบตามที่ได้ขายจริงหรือไม่ เมื่อไม่ไว้ใจกันก็เลิกระบบกลุ่ม เอาไผเอามันซะ ลุงภีกล่าว เมื่อต่างคน ต่างทำ ต่างขาย ต่างจัดการกันเอง ก็ไม่มีเรื่องราวอะไร

เงินแสนที่ได้มาจากการขายว่าวแต่ละปีนั้นเป็นกำไรสุทธิ แม้จะลงทุนค่อนข้างสูง ประมาณ 5-6 หมื่นบาทต่อปี แม้บางปีขายไม่ได้ เช่นปีที่แล้วมา ลุงภีให้เหตุผลว่าเพราะคนไทยไว้ทุกข์สมเด็จพระพี่นาง จึงขายว่าวได้ไม่หมด แต่ก็กำไรเป็นแสนเช่นกัน หากขายหมดก็จะกำไรมากกว่าสองแสน…ลุงภีกล่าว

ใครจะไปรู้ว่า ว่าวริมถนน นั้น มูลค่าตลอดปีได้กลายมาเป็นบ้านให้ลูกๆลุงได้อยู่อาศัยกัน กลายเป็นรถปิคอัพที่ใช้วิ่งทำมาหากินกันทุกวันนี้ และเป็นทุนที่ยายสะสมไว้ยามหมดแรง

เมื่อถึงฤดูทำนาลุงภีก็พาลูกๆทำนา (รวมทั้งลูกเขย) เมื่อว่างเว้นทำนาก็ทำว่าวเก็บสะสมไว้ตลอดปี แล้วเอาออกมาขายในช่วงออกพรรษานี้ อาชีพทำว่าวได้ขยายตัวไปทั่วทั้งหมู่บ้าน และขยายไปถึงบางหมู่บ้านอื่นๆ เช่น ที่ อ.บ้านไผ่ แล้ว

ลุงภีกล่าวว่าใครอยากเรียนรู้ก็ไม่หวงความรู้ มาเรียนได้ เพราะไม่ได้ยากเย็นอะไร เคล็ดลับมีบ้างนิดหน่อย …..


ก่อนจาก..ลุงภีกล่าวกับผมว่า… ผมขายในราคาถูกกว่าเพื่อนบ้านคนอื่น 5-20 บาท หรือบางทียังให้ฟรีๆมาแล้วก็มาก เงินเป็นของหายาก พ่อแม่บางคนไม่มีเงินซื้อจริงๆ แต่ลูกๆอยากได้ ว่าวเป็นของเล่นของเด็กที่ไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ตรงข้ามเด็กสนุก และช่วยให้เด็กบางคนคิดเลยไปว่า มันบินได้อย่างไร บางคนก็เอาไปฝึกทำเองก็มี ผมให้ฟรีครับ หากเด็กไม่มีเงินซื้อและอยากได้จริงๆ…..

ชายผู้มีอายุ 61 ปีคนนี้ จากบ้าน จากเรือน จากครอบครัวมาอาศัยริมถนน ขายฝีมือล้วนๆจากครอบครัวของเขาเอง… สุจริต และมีใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อแก่ผู้ขาดแคลน ลุงภีคือชาวบ้านธรรมดาที่น่าสนใจคนหนึ่ง….ท่ามกลางยุคสมัยนี้…



Main: 0.14907884597778 sec
Sidebar: 0.076828002929688 sec