ไทยเป็นครัวโลก..? ฟังดูดี
อาชีพเกษตรกรทำนาลดลง ลูกหลานไม่ทำนา….?
ส่งลูกให้เรียนหนังสือ เพื่อให้เป็นเจ้าคน นายคน…?
ทุนทางสังคมจางหายไป ….?
เด็กรุ่นใหม่ ไม่เข้าใจ ต่อไม่ติด คุยกันไม่รู้เรื่องกับคนรุ่นเก่า..?
พ่อไล เป็นชาวบ้านธรรมดาที่มีอาชีพทำนาและเติบโตมาในยุคพัฒนา วิถีชีวิตปรับเปลี่ยนไปมากมายจากรุ่นพ่อแม่ การทำนาสมัยใหม่เอาพันธุ์ข้าวใหม่เข้ามา ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ มีรถไถนา รถดำนา รถเก็บเกี่ยว..นี่คือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตจากเดิมที่เลี้ยงวัวควาย เอามูลวัวควาย มีสถานที่เลี้ยงควาย มีวัฒนธรรม ประเพณีที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตเหล่านี้ ก็จางหายไป คนรุ่นใหม่ ไม่เข้าใจ สัมผัสไม่ได้ เข้าไม่ถึงคุณค่า ตรงข้าม ดูหมิ่นดูแคลน …ไปเลย
ทำไมลูกหลานถึงไม่เดินเข้ามาสืบต่ออาชีพเกษตร ทำนาทำสวนเหมือนพ่อแม่…?
คุณเอ้ย….พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนวิทยาลัยเกษตร เข้าคณะเกษตรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสักหนึ่งเปอร์เซ็นต์ไหมที่เมื่อศึกษาจบแล้วกลับไปทำนาทำสวนโดยใช้ความรู้นั้นๆไปพัฒนาอาชีพเกษตร ทั้งหมดไปทำราชการ เข้าทำงานกับบริษัทธุรกิจ หรือไม่ก็ทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับวิชาชีพนั้นเลย..
ทำไม..?
คุณ..ข้าราชการนั้นแสนสบาย มีหลักประกัน มีเงินเดือนกิน สิ้นเดือนก็ได้เงิน และเงินเดือนก็ขึ้นไปเรื่อยๆ ออกสนามก็มีเบี้ยเลี้ยง ไปไหนๆก็มีค่าที่พัก มีรถรับส่ง ไม่ต้องเติมน้ำมัน ไม่ต้องควักกระเป๋าซ่อมแซมรถ เจ็บป่วยก็มีสวัสดิการดูแลดีกว่า หลักประกันแบบนี้ คุณว่ามันต่างจากอาชีพเกษตรกรอย่างไรล่ะ
มันตรงข้ามเลยใช่ไหม ทำนาทำสวน สารพัดจะเสี่ยงตั้งแต่เริ่มปลูกจนจบกระบวนการคือตลาด ราคาสินค้า เจ็บป่วยก็ได้รับการรักษาแบบยาพื้นๆ อยากได้ยาดีดีต้องจ่ายเอง ไม่มีเงินเดือน ไปไหนมาไหนก็ควักกระเป๋าเอง..มันเทียบกันไม่ได้เลย..แล้วชีวิตจะเลือกอะไรล่ะ
ไอ้ความรู้ที่ข้าราชการเอามาแนะนำน่ะ เขาเคยทำมากับมือบ้างไหม ก็เป็นข้อมูลมือสอง มือสาม มือสี่ ที่ไม่มีประสบการณ์ตรงมาเลย
การศึกษา มันสร้างหุ่นยนต์ มันไม่ได้สร้างคน
ระบบสังคมใหม่มันหล่อหลอมจิตใจที่แตกสลายให้กับลูกหลานของเราภายใต้สีสันของความทันสมัย ความก้าวหน้า ….
ไม่ได้ปฏิเสธ สิ่งใหม่ๆหลอกนะ แต่หากไร้ราก ไร้ฐาน เองก็คือมนุษย์ที่ฟุ้งลอยไปกับ ลมเป่าของระบบทุน ระบบธุรกิจที่ฟุ้ง ฟูมฟาย กับสินค้าใหม่ๆของเขา ที่เกินความจำเป็นที่วิถีเจ้า
ลองพิจารณากล่องกระดาษสวยงามกล่องนั้นซิ ใครเห็นก็ต้องอยากได้มาเป็นเจ้าของอยากกินขนมข้างในเพราะกล่องมันสวย ทั้งสีทั้งลาย ทั้งการออกแบบ แต่เมื่อกลับเอาไปที่บ้าน เจ้ากินขนมข้างในแล้ว ก็รู้สึกว่า ก็งั้นๆ แค่รู้รสและไปเล่าให้เพื่อนๆฟังว่า ได้กินมาแล้ว กล่องกระดาษสวยๆก็ทิ้งลงถังขยะอย่างไร้ความหมาย กว่าจะมาเป็นกล่องโรงงานใช้ต้นไม้ไปกี่ต้น ใช้พลังงาน ใช้ทรัพยากรต่างไปเท่าไหร่ มันต่างจาก ขนมโบราณที่ห่อใบตองเพียงแค่สิ่งห่อหุ้มเท่านั้นเอง ใบตองที่ทิ้งไป กับกล่องกระดาษที่ทิ้งลงถังขยะไปนั้น ความหมายต่อสังคม ต่อโลกต่างกันมากมายทีเดียว
ระบบสังคมดึงเราไปทางไหนกัน…
อาชีพเกษตรกรมันจะเหลืออะไร เมื่อช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับรัฐบาลนั้นมีพ่อค้าเข้ามาแทรกตรงกลาง และเป็นตัวจริงที่กำกับวิถีการเกษตร…
แล้วรัฐก็ผลักใสเกษตรกรด้วยคำว่า “จงพึ่งตนเอง” ป่าวประกาศทางออกของชีวิตว่า เกษตรกรทั้งหลายจงพึ่งตนเอง แต่เขาเหล่านั้นก็เดินต่อไปตามเส้นทางความทันสมัย ความก้าวหน้า การบริโภคเกินความจำเป็นแห่งชีวิต อาหารหนึ่งคำก่อนเข้าปาก ผ่านธุรกิจมาหลายประเภท ที่ลอยละล่องไปบนระบบประชาธิปไตยเสรี ที่คนกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้ปลดปล่อยสังคมไปยืนที่ตรงนั้น แต่ความเป็นจริงประชาธิปไตยเสรีนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะคำว่าเสรีนั้นคือเสรีบนความแตกต่างของอำนาจของทุน ทุนคือโอกาส แล้วมัน…เสรีแบบมึงได้เปรียบนี่หว่า..
พ่อไล..ส่ายหน้า พร้อมกับมองหน้าเรา
สังคมนี้สะสมความแตกต่าง ความแตกต่างคือพลังงานอย่างหนึ่ง มันเป็นพลังงานของความขัดแย้งและนำไปสู่รอบใหม่ของการเปลี่ยนแปลง มันเป็น Social cycle เพียงแต่มีใครมา organize มันเท่านั้น พลังนั้นย่อมไม่ต่างจาก Tsunami แล้วทุกอย่างราบเป็นหน้ากลอง
มนุษย์จะเกิดสติขึ้นมาอีกครั้งก่อนที่จะหลงใหลไปในวงจรใหม่ รอบใหม่ และเป็นรอบแล้วรอบเล่าท่ามกลางการป่าวประกาศธรรมของศาสนา ที่ทุกวันมนุษย์ได้ยินแต่ไม่สำนึก
พ่อไลยื่นมะละกอสุกสองสามลูกมาให้ อาจารย์เอาไปกิน หลังบ้านปลูกไว้เหลือกิน…
นึกถึงพ่อครูบาและแม่หวี ที่ช่องว่างหลังรถไม่มีที่เหลือเพราะเต็มไปด้วยผลผลิตจากสวนป่าที่ขนเอาไปฝากลูกหลานคนโน้นคนนี้…
ขณะที่ท้องผมอิ่มเพราะอาหารจากสวนป่า….
รอยหยักบนหน้าผมมีร่องลึกมากขึ้น… เพราะคำพูดของพ่อไล..ชาวบ้านธรรมดา