แสดงความเห็นต่อโจทย์พ่อครูบาฯ 2

อ่าน: 2808

โจทย์ ที่พ่อครูบาฯตั้งไว้ ว่า จะเอาความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ออกไปพัฒนาวิถีชุมชนอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไร..??

ยกที่ 1 ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยมีข้อจำกัด หากท่านอธิการบดีสั่งรวบรวมนวัตกรรมทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเอามากองรวมกัน ทั้ง Hard & soft innovation ผมก็คิดว่ายังทำงานภายใต้ข้อจำกัดของกรอบระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ของระบบมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะยืดหยุ่นมากกว่าระบบราชการทั่วไปก็ตาม แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


มหาวิทยาลัย

ยกที่ 2 นวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยผลิตขึ้นมานั้น “มาจากความต้องการของชุมชน หรือมาจากความอยากรู้ของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย” แตกต่างกันมากนะครับ เพราะความต้องการของชนบทนั้นจะถูกออกแบบนวัตกรรมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพชนบทเพราะเป็นตัวตั้ง แต่หากนวัตกรรมนั้นมาจากคณาจารย์อยากทำ อาจจะไม่เหมาะ ไม่สอดคล้องกับชนบท หรืออาจจะต้องถูกดัดแปลงอีกมากก็ได้ เหมือนที่พ่อครูกล่าวว่าเพลงลูกกรุงนั้นจะเอาไปให้ลูกทุ่งร้องนั้นมันคนละคีย์กันครับ แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


ชุมชนชนบท

ยกที่ 3 แม้ว่าจะรู้ความต้องการของชนบท หรือความอยากของคณาจารย์สอดคล้องกับความต้องการของชนบท กระบวนการเอานวัตกรรมไปสู่ชนบทนั้นคืออย่างไร บ้าง อบรม หรือศึกษาดูงาน หรือทั้งสองอย่าง หรือ ฝึกทำ หรือทำแปลงสาธิต หรือตั้งศูนย์เรียนรู้ หรือ ลองผิดลองถูกกันไป หรือ…..ใครเป็นคนออกแบบกระบวนการนี้ เอาละให้เกษตรกรมีส่วนร่วม แต่กระบวนการให้มีส่วนร่วมก็มีรายละเอียดมากมาย บ่อยครั้งนวัตกรรมนั้นนำเสนอโดยคนข้างนอก ให้ชาวบ้านออกความเห็นสองสามคนแล้วก็บอกว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมแล้ว โดยทั้งกระบินั้นมาจากคนข้างนอกผลักดันมากกว่า แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


ชาวบ้าน

ยกที่ 4 ชนบทไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีทั้งน่ารักน่าชัง ทั้งน่าสงสารและน่าตียิ่งนัก ข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยนั้นเรื่องหนึ่งคือเวลาที่มีกำหนดตายตัว งานชิ้นนี้ต้องทำภายใน สามเดือน แปดเดือน แต่หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นั้น บางเรื่องต้องใช้เวลาเข้าใจมากมาย โดยเฉพาะส่วนลึกที่เป็น soft side ราชการมักให้ผู้ใหญ่บ้านเชิญชาวบ้านเป้าหมายมาประชุมที่ศาลาวัด ท่านทราบไหมว่าชาวบ้านที่มานั่งทั้งหมดนั้นน่ะ แต่ละคนมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง หากไม่เข้าใจแล้วจะทำงานพัฒนาอย่างไรล่ะ มันก็แค่เอาลงไปใช่ไหม… ในทางการแพทย์เขาใช้คำว่า Triage ในทางการพัฒนาชนบทเราก็ใช้คำนี้เราต้องเข้าใจรายบุคคล รายครัวเรือน แล้วจึงรู้ตื้นลึกหนาบางของปัญหาแต่ละคน แล้วการเยียวยารักษาจึงจะเหมาะสมถูกต้อง สอดคล้อง เพราะปัญหาแต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน หรือเหมือนกันแต่หนักเบาไม่เท่ากัน อาจจะหนักเท่ากันแต่เงื่อนไขแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ครอบครัวอาจจะเหมือนกัน แต่บุคลิกภาพแต่ละคนแตกต่างกัน…. เราต้องแยกแยะ จำแนก จัดกลุ่ม จัดหมู่ จัดพวกของคนและปัญหาออกมาแล้วก็แก้ไขกันไปตามเหตุปัจจัยแต่ละคน งานแบบนี้จะมาแล้วไปแบบราชการนั้นไม่ได้ ต้องลงคลุกคลีตีโมงกันพักใหญ่ๆ หากมาแล้วไป ไม่มีความผูกพันเลย ชาวบ้านก็หลอกกินเอาได้ โดยที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

ยกที่ 5 การทำงานชนบทไม่เหมือนการผสมสารเคมีในห้องทดลอง เมื่อเอาไฮโดรเจนสองส่วนมาผสมกับอ๊อกซีเจนหนึ่งส่วนแล้วจะได้น้ำออกมาทันที (H2O) แต่คนมีพื้นฐาน มีที่มาที่ไป มีฐานประวัติชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และชุมชน สิ่งแวดล้อม แม้เอาการฝึกอบรมเข้าไป เอาการศึกษาดูงานเข้าไป เอาเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเข้าไป แต่บ่อยครั้งยังต้องการปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย และไม่เหมือนกัน ชนบทที่สุรินทร์ กับที่สกลนครเงื่อนไขก็แตกต่างกัน แล้วทำอย่างไรล่ะมหาวิทยาลัยที่มีเงื่อนไข ข้อจำกัดมากมาย ผู้บริหารเข้าใจก็ดีไป หากไม่เข้าใจ ทีมงานอาจถูกฆ่าตายในทางการทำงานก็เป็นได้


ยกที่ 6 ส่วนที่สำคัญยิ่งคือ ด้าน Soft side ของตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน เราเอาชาวบ้านมาฝึกทหารก่อนที่จะเอาออกไปประจำการในสนามจริง เพราะอะไร ทุกท่านคงหาคำตอบได้ การที่พระคุณเจ้ามุ่งสู่หนทางละวางทั้งหมดก้าวเข้าสู่นิพพานนั้น สมณะรูปนั้นๆต้องฝึกฝนตนเองนานนับชั่วชีวิตทีเดียว หากเราจะสนับสนุนให้ชาวบ้านเดินทางไปสู่แนวทางการพึ่งตนเองนั้น การจะไปพูดไปจาเพียงไม่กี่คำนั้นคงไม่สำเร็จ โดยเฉพาะการทำอย่างไรจะขจัดคราบไคลของลัทธิบริโภคนิยม ค่านิยมของทุน แล้วก้าวเดินบนเส้นทางที่ต้องถูกยั่วยวนตลอดเวลานั้น เป็นเรื่องการต่อสู้ภายในทั้งสิ้น กระบวนการพัฒนาจึงทำงานด้านในด้วย เราอาจจะประสบผลสำเร็จในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป้าหมาย แต่ล้มเหลวลงหมดเพราะเกษตรกรคนนั้น ครอบครัวนั้นหลงใหลกับการบริโภค ที่ไม่มีวันจบสิ้น แต่งานพัฒนาชนบทไม่เน้นเรื่องนี้ เพราะเห็นผลยาก รายงานยาก ประเมินผลยาก สำเร็จยาก สร้างอาคารเสร็จก็รีบถ่ายรูปรายงานว่าทำสำเร็จแล้ว แต่การเอาอาคารไปใช้ประโยชน์นั้นถ่ายรูปไปครั้งเดียวก็อ้างไปหลายปี ทั้งที่การใช้ประโยชน์มีแค่ 6 เดือนแรกเท่านั้น…ผมจึงทึ่งกับ CUSO ที่หลังโครงการจบไปแล้ว 6 ปีเขาจึงมาประเมินผล..??!!


ยกที่ 7 องค์ประกอบที่สำคัญ ที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ ผู้นำชุมชน พี่เลี้ยงจากภายนอก key person ในชุมชน ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญมาก แต่ก็ขึ้นกับศักยภาพของแต่ละชุมชน จากบทเรียนเราพบว่า หมู่บ้านไหนผู้นำดีดี เท่ากับทำงานเสร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วทีเดียว ตรงข้ามหากผู้นำในชุมชนไม่มี หรือไม่ดีก็เหนื่อยหน่อย หลายกิจกรรมก็ล้มลุกคลุกคลานเพราะขาดผู้รับผิดชอบ ขาดการรับลูกอย่างต่อเนื่อง เพราะขาดความตระหนัก หรือการให้ความสำคัญ ผู้นำชุมชนดีดีหายาก ยิ่งในปัจจุบันถูกการเมืองระบบใหญ่ระดับประเทศ และการเมืองท้องถิ่นระดับตำบลทาสีแดงไปหมด บทบาทที่เหมาะที่ควรก็ถูกเบี่ยงเบนไปเพื่อผลประโยชน์เสียสิ้น

ยกที่ 8 ระบบการเรียนรู้ในชุมชน ระหว่างชุมชน… การท่องเที่ยวไปในโลกกว้างย่อมเสริมสร้างโลกทัศน์ยิ่งนัก เห็นทั้งส่วนเล็กและใหญ่ เห็นแนวโน้ม เห็นที่ตั้งของปัญหาว่าอยู่ส่วนไหนของสังคม ของประเทศ ของการดำรงชีวิตอย่างมีสุข ปัจจุบันจึงต้องมีองค์กร และเครือข่าย เพราะการโดดเดี่ยวนั้นคือจุดอ่อนด้อย การรวมกลุ่มคือพลัง หากกลุ่มดี ระบบดี ก็พากันเดินทางไปข้างหน้าอย่างมีพลัง เพราะชุมชนเดิมของเรานั้นไม่ได้โดดเดี่ยว ชุมชนเดิมของเราเดินไปด้วยกัน พร้อมๆกัน จูงมือไปกัน ระบบกลุ่ม เครือข่ายจึงเอื้อให้นวัตกรรมต่างๆถูกถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งด้วยตัวของมันเอง บทเรียนตรงเหนือบ้านอาจจะถูกดัดแปลงไปอีกนวัตกรรมหนึ่งเมื่อเอาไปทำที่ท้ายบ้าน การเกิดขึ้น พัฒนา และถ่ายทอดนวัตกรรมนั้นต้องอาศัยกลุ่ม เครือข่าย… เครือข่ายคือระบบการเรียนรู้ในชุมชน..


ยกที่ 9 ย้ำเรื่องการเห็นคนชนบทต้องเห็นให้ทั้งหมด.. ความหมายคือ การที่ชาวบ้านเดินเข้ามาหาเราและเข้าร่วมกิจกรรมของเรานั้น เราไม่ใช่รู้จักชาวบ้านคนนั้นเท่านั้น ไม่พอ เราต้องรู้เรื่องราวของครอบครัวเขาทั้งหมด ทั้ง Hard & soft side อย่างที่เฮียตึ๋งและท่านไร้กรอบกล่าว ทางคริสตชนเรียกว่ารู้ทั้งครบ ตัวอย่าง นาย ทักษิณ เป็นเกษตรกรที่ก้าวเข้ามาร่วมกิจกรรมตามหลักการของเราในเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีตารางการปฏิบัติชัดเจน แต่แล้วเขาหายตัวไปถึงสองเดือนไม่ได้ทำตามกำหนดที่คุยกันไว้ ต่อมาทราบว่า เขาต้องตัดสินใจลงไปหางานทำเพื่อหาเงินด่วนไปให้ลูกที่จะเปิดเทอมที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง..?? งานการเพิ่มผลผลิตจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย… เมื่อเราคุยกันจึงทราบรายละเอียดถึงความจำเป็นสุดๆของเขา..ตัวอย่างที่สอง นายจตุพร เข้าร่วมกิจกรรมการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ ที่มีกำหนดว่าจะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์เมื่อครบกำหนด จะต้องพ่นปุ๋ยน้ำหมักทางใบเมื่อครบกำหนด แต่นายจตุพรไม่ได้ทำเขาหายไปสองสัปดาห์ ต่อมาเรารู้ว่าเขาขึ้นป่าไปยิงบ่าง กระรอก หรือสัตว์ป่า ต้องการกินสัตว์ป่าเพราะมันอร่อยมากกว่าเนื้อหมูที่ตลาด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการกินของชาวบ้านแถบนี้ ทำให้การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังของเขาไม่ถูกปฏิบัติตามกำหนด ผลผลิตก็ไม่ได้สูงสุด การบันทึกข้อมูลก็สะดุด…


ทั้งหมดนี้คือเพียงบางส่วนเท่านั้น

นี่คือบทเรียน นี่คือข้อสรุป และนี่คือของจริง หากมหาวิทยาลัยจะเดินทางเข้าชนบทเอาความรู้ไปลงสู่ชนบท ลองเอาประสบการณ์เหล่านี้ไปพิจารณาดูเถิดครับ


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 20 Temple Hotel..

2009 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 สิงหาคม 2009 เวลา 8:34 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 33214

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

สมัยนั้น เมื่อเราเดินทางออกไปทำงานส่วนใหญ่ไม่ได้ไปเช้ากลับเย็น แต่จะตระเวนไปทั้งสัปดาห์ ออกจากหมู่บ้านนี้ ไปบ้านถัดไป เรื่อยๆตามแผนงานทั้ง 4 ตำบล 27 หมู่บ้าน

ปกติเราจะพักบ้านชาวบ้านที่เราสนิทสนมด้วย ซึ่งเราก็ฝากท้องไว้กับชาวบ้าน และชาวบ้านก็ยินดีมากที่เราไปพักด้วย บางครอบครัวก็เรียกเราเป็นลูกหลาน ผ่านไปไม่พักก็งอนเอาเลย ต้องไปง้อ และแน่นอนช่วงสงกรานต์เราก็ตระเวนไปรดน้ำดำหัวท่านเหล่านั้น

แต่ก็มีบ่อยๆที่เราไปเป็นคณะหลายคนรวมทั้งฝรั่งผู้รับผิดชอบโครงการ เราจึงไปพักที่วัด ก็โบสถ์ด้านหลังรูปนี้แหละครับ เป็นทั้งที่ประชุมชาวบ้านไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน เป็นสถานที่ใช้ฝึกอบรมต่างๆ เป็นสถานที่กินข้าว..ฯลฯ สารพัดประโยชน์ รวมทั้งเป็นที่นอน ท่านเจ้าอาวาสเป็นพระหนุ่มก็ยินดีและมาดูแลอย่างดี

ดูเหมือนว่าวัด โบสถ์ เป็นสถานที่ที่ใช้ประโยชน์มากสำหรับสังคมชนบท และการใช้ประโยชน์ต่างๆนั้นจะมีความเชื่อกำกับอยู่ในมโนสำนึกว่า อยู่ในบริเวณวัด เป็นสถานที่มงคล ศักดิ์สิทธิ์ จะไม่พูดจาที่โกหก หรือเป็นเท็จ

ก่อนทำกิจกรรมใดๆ และเมื่อจบสิ้นกิจกรรมใดๆทุกคนก็ก้มกราบพระประธานในโบสถ์นั้นๆ อย่างน้อยที่สุดกิจกรรมต่างๆที่ทำในที่นั้นจะอยู่บนความเชื่อและหลักการศาสนากำกับอย่างแน่นอน..

แม้แต่เราใช้เป็นที่นอนพักผ่อน เราก็ก้มกราบพระก่อนทุกครั้ง ฝรั่งเลยเรียกว่า Temple Hotel อิอิ


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 11 กล้วยอบสะเมิง

1320 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:19 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 76384

สถานที่: สะเมิง

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2523

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

พื้นที่สะเมิงนั้นอาชีพหลักคือการทำนาปีข้าวเหนียว และข้าวไร่ตามไหล่เขา หลังนาก็ปลูกกระเทียม ซึ่งขึ้นชื่อว่าคุณภาพดี เพราะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี กระเทียมที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือใช้ปุ๋ยมูลสัตว์นั้นเก็บเอาไว้นานๆจะไม่ฝ่อ เหมาะเอาไปทำพันธุ์ต่อ สรรพคุณทางยาก็มีมากกว่า นอกจากนี้มีพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ข้าวโพดพื้นบ้าน ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา ฯลฯ พืชเศรษฐกิจที่ทำเป็นแบบ Contract farming คือยาสูบพันธุ์เวอจิเนีย และที่ขาดไม่ได้คือกล้วยน้ำว้า


ชาวสะเมิงมีทั้งคนเมืองและชนเผ่าไทยลื้อ นอกนั้นก็เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ส่วนมากเป็นม้งกับปกากะญอ กล้วยที่สะเมิงลูกใหญ่ หวาน ดก เพราะดินภูเขาดีมาก อาชีพที่สำหนึ่งคือการทำกล้วยอบขาย

เราเคยได้ยินกล้วยตาก แต่ที่สะเมิงเป็นกล้วยอบ เพราะใช้วิธีอบในเตา เกษตรกรเรียนรู้และดัดแปลงมาจากอาคารอบ หรือบ่มใบยาสูบนั่นเอง โดยสร้างอาคารเล็กๆขึ้น ภายในอาคารปิดด้วยดินที่มีโครงด้านในเป็นไม้ไผ่สาน ทึบ แบ่งป็นสองชั้น ชั้นล่างเกือบติดพื้นดิน เว้นไว้สำหรับเอาฟืนท่อนใหญ่ๆใส่เข้าไปได้ ชั้นบนแบ่งย่อยเป็นชั้นสำหรับใส่ตะแกรงอบกล้วย จะกี่ชั้นก็แล้วแต่การออกแบบของเจ้าบ้านนั้น

ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างแบ่ง หรือ กั้นด้วยแผ่นเหล็กชิ้นใหญ่ เพื่อใช้เผาพื้นด้านล่างแล้วให้เกิดความร้อนส่งแผ่ไปอบกล้วยที่อยู่บนชั้นต่างๆนั้น


ขั้นตอนการอบกล้วยนั้นเป็นความลับ(ทางราชการ)ที่มีเทคนิคเฉพาะของใครของมัน แต่โดยทั่วไปคือ คัดเลือกกล้วยที่เริ่มสุก และกล้วยเหล่านั้นจะไม่เอามาจากสวนที่มีต้นหญ้าคาขึ้น ชาวบ้านบอกว่า หากเอากล้วยจากสวนที่มีหญ้าคา จะทำให้กล้วยออกรสฝาดมากกว่า เอากล้วยมาปอกเปลือกลงในอ่างใหญ่ ล้างน้ำปูนเพราะ….

แล้วก็เอาไปเข้าเครื่องบีบให้แบนดังรูป แล้วก็เอาไปวางเรียงกันในตะแกรง มากเพียงพอสำหรับการอบครั้งหนึ่งๆ แล้วก็ปิดประตู ทำการก่อไฟเผาฟืนใส่เข้าไปด้านล่างของเตาอบนี้ ควบคุมความร้อนด้วยเทอร์โมมิเตอร์ ความร้อนเท่าไหร่เป็นความลับ(ทางราชการ)

นานพอสมควรก็เปิดประตูเอาตะแกรงออกมากลับกล้วยเอาด้ายอื่นลงล่างบ้าง และสลับตะแกรงบนลงล่าง ล่างขึ้นบนบ้าง ดูแลฟืนให้มีตลอด นานเท่าไหร่เป็นความลับ(ทางราชการ) เมื่อได้ที่ก็เอาออกมาทิ้งให้อุ่นๆบรรจุถุงพลาสติก ขาย

สมัยก่อน กก.ละ 10 บาท กินกันพุงกาง เดียวนี้แพงขึ้นไปเท่าไหร่แล้วไม่รู้…

กล้วยอบสะเมิงขึ้นชื่อว่ารสอร่อย สะอาด ออกจากเตาก็เข้าถุงเลย.. ไม่ได้ทิ้งให้แมลงวันตอม..

ใครเข้าสะเมิงละก็ถามหากล้วยอบนะครับ ที่บ้านศาลา หรือบ้าน ป่ากล้วยก็ได้ รับรองไม่ผิดหวังแน่ๆ..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 6 ยานพาหนะสมัยนั้น

896 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กรกฏาคม 2009 เวลา 14:47 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 16665

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2522

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

ปี พ.ศ. 2518-2522 นั้น ถนนมีแต่ฝุ่นกับโคลน ฝุ่นในฤดูแล้ง โคลนในฤดูฝน เวลาเราออกพื้นที่ ก็จะไปหลายวัน ไปหมู่บ้านไหนก็ค้างนอนกับบ้านชาวบ้าน อุปกรณ์ประจำของเราก็คือเป้ที่มีถุงนอน เสื้อ กางเกงและสิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้



ระหว่างเดินทางจากบ้าน อมลอง ไปหาดส้มป่อย จะต้องผ่านแม่น้ำแม่ขาน ที่ฤดูแล้งชาวบ้านเอาต้นไม้ใหญ่ๆมาทำสะพานแบบหยาบๆให้รถปิคอัพผ่านไปยังตำบลยั้งเมิน ที่ไกลออกไป


สะพานไม้แบบชั่วคราวนี้ คือต้นไม้ทั้งต้นที่เอามาวางเรียงกัน ยึดติดกันด้วยเหล็กที่มีปลายแหลมสองด้านตอกเข้าไปในเนื้อไม้ให้ยึดติดกัน(ดูเหมือนจะเรียกปลิง หากผิดขออภัย) เมื่อฤดูฝนมา น้ำป่าหลาก ตรงนี้แหละที่เราต้องมาพร้อมๆกันหลายคน เพราะบางช่วงไม่สามารถขับขี่มอเตอร์ไซด์ได้ต้องช่วยกันประคองเอาข้ามฝั่ง


บางช่วงน้ำป่ามาแรงมาก พัดพาเอาสะพานไม้สักทั้งต้นนั้นหายไปหมดแล้ว เราก็ต้องช่วยกันแบกมอเตอร์ไซด์ข้ามแม่น้ำขานแห่งนี้ หากน้ำลด ก็อาจจะขับข้ามได้

และรูปนี้ คลาสสิคจริงๆ นายสุรพล จำนามสกุลไม่ได้แล้ว เป็นนายอำเภอสะเมิง ออกตรวจเยี่ยมชาวบ้านกับพวกเรา ยังต้องยอมถอดกางเกงนุ่งผ้าขาวม้าข้ามแม่น้ำขาน…

มันจริงๆ..ชีวิตคนทำงานพัฒนาชนบท..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 5 โรงเรียนเด็กเล็ก

55 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:54 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 5019

สถานที่: Kindergarten บ้านงาแมง ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2520

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


ใครไปพระบาทห้วยต้มก็จะเห็น “ป้าดาว” ผู้เป็นเจ้าของกิจการ น้ำพลูคาวหมักใส่ขวดขาย กิจการส่งออกหัวไม้ดอกไปต่างประเทศ กิจการน้ำดื่มที่ จ.ลำพูน และอื่นๆ อดีตเธอคือครูพี่เลี้ยงสถานดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียนภายใต้โครงการที่ผมทำงานอยู่ ภายใต้ความรับผิดชอบคนข้างกายผม

วันนั้นเธอคือสาวเพิ่งจะรุ่น ชื่อ สุธรรม ชาวบ้านเชื้อสายปกากญอ ที่มีความแตกต่างจากเด็กชาวบ้านคนอื่นๆ ตื่นตัว กล้าแสดงออก กล้าพูดจาไม่กลัวเกรงใคร ฉะฉาน ฉับฉับฉับ… รักความก้าวหน้า ทำทุกอย่างที่ทำได้ ไม่รังเกียจ


นี่คือสภาพ Kindergarten ในป่าเขาลำเนาไพร ไกลความเจริญ อิอิ.. ดูเหมือนว่าพ่อแม่เด็กเสียเงินเดือนละสิบบาท ค่าบริหารจัดการ สถานที่ดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียนนี้..

รูปเหล่านี้มีอายุมากกว่า 30 ปีแล้วครับ… สมัยนั้นยังไม่มี digital


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 2 ยานพาหนะและการเดินทาง

54 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 0:32 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4463

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


ยานพาหนะในการทำงานคือ มอเตอร์ไซด์ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง คุณสมบัติประการหนึ่งคือ ต้องขับขี่มอเตอร์ไซด์ได้ สมัยนั้นเป็น เอนดูโร 125 CC รุ่นที่เห็นเป็น ซูซูกิ 2 จังหวะ ใช้ปีเดียวพัง ต่อมาเปลี่ยนเป็น Honda รุ่น Trial 125 CC ระบบ 4 จังหวะ


ต้องใส่หมวกกันน็อค (Helmet) ใส่ถุงมือ และใส่รองเท้าหุ้มหน้าแข้ง ตามกติกาฝรั่งที่ว่า safety first เป็นครั้งแรกๆในสังคมไทยที่คนขับขี่มอเตอร์ไซด์ต้องใส่หมวกกันน็อค ชาวบ้านชอบมามองเราเป็นตัวตลก


สภาพพื้นที่ หมู่บ้านใน อ.สะเมิง อย่างที่เห็น เป็นป่าเขา ทางลำบากมาก ลำห้วยแม่ขานสมัยนั้นยังไม่มีสะพาน ต้องข้ามลำต้นไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันทำ เมื่อฤดูน้ำหลาก ต้นไม้ใหญ่ๆที่เห็นก็หลุดลอยไปตามน้ำ ออกเขื่อนภูมิพลโน้น ฤดูแล้งก็หาต้นไม้มาทำใหม่…!!!??? ฤดูฝน เส้นทางเป็นร่องลึก ดินเหนียว ล้มแล้วล้มอีก บางปีต้องพันล้อด้วยโซ่ และมีไม้แคะดินออกจากล้อประจำรถเรา


น้ำในลำห้วยแม่ขานสะอาดใสแจ๋ว ชาวบ้านบางคนก็ดื่มกิน

มอเตอร์ไซด์เหล่านี้ทุกคนต้องเรียนวิธีการซ่อมแซมปัญหาพื้นฐานได้ และต้องทนุถนอมดุจหญิงสาว เพราะเมื่อใช้งานครบสามปี ทางโครงการโอนรถนี้ให้เป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้าหน้าที่คนนั้นเลย…


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 1 วิถีนักพัฒนาชุมชน

30 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:56 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3155

สถานที่: บ้านแม่สาบ ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2519

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


งานหน้าที่หลักประการหนึ่งคือตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆของพื้นที่โครงการ เพื่อประชุมชาวบ้านในเรื่องการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์ ที่มีสันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุน ภายใต้การดูแลของสภาแคทอลิคแห่งประเทศไทย ต่อมาจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ชนิดหนึ่งภายใต้กรมส่งเสริมสหกรณ์

เราจะตระเวนไปตามหมู่บ้านแล้วพักนอนที่บ้านชาวบ้าน ซึ่งจะมีบ้านประจำที่เราสนิทสนมด้วย บ้านนี้เป็นไทยลื้อ ชายหนุ่มที่ยืนขวามือของผมเป็นลูกชายแม่อุ้ย พ่ออุ้ย เจ้าของบ้าน ที่เราเลือกให้เป็น เกษตรกรผู้นำประจำหมู่บ้านนี้ ไทยลื้อเป็นชนเผ่าที่ขยัน แข่งขันกันทำงาน รักความก้าวหน้า อัตราการเรียนหนังสือสูงๆของเด็กรุ่นใหม่สูงกว่าชนเผ่าอื่นๆ ปรับตัวต่อเทคโนโลยี่ได้เร็ว ฉลาด อิอิ สาวก็สวย..ด้วย :-


ปรุงทฤษฎีให้ร้อน..

2041 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 มิถุนายน 2009 เวลา 14:03 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 80925

ครอบครัวผมเป็นพวกบริโภคนิยม คือ นิยมหาอาหารอร่อยทานกัน ถึงได้อ้วนไง.. คนข้างกายผมก็ทำอาหารอร่อย ถูกปาก เพียงแต่เธอไม่ค่อยมีเวลาทำเท่านั้น เดินทางร่อนไปทั่วประเทศ เหนือ ใต้ ออก ตก ไปหมด สิ้นสุดงบประมาณปีนี้เธอก็ออกจากราชการแน่นอนแล้ว ไปเป็นอิสระ Freelance ดีกว่า อิอิ

พูดถึงอาหาร แกงเหลืองภาคใต้ก็มีสูตรเฉพาะ มีทั้งคนชอบเผ็ดมากเผ็ดน้อย ใส่หน่อไม้ดองต้องคัดสรรมา น้ำต้องข้น ปลาต้องเป็นเฉพาะชนิดนี้เท่านั้นถึงจะเข้ากันดี และจะกินแกงเหลืองต้องมีผักท้องถิ่นมากๆ หากมีไข่เจียวมาคู่กัน…อูย…หิวหละซี… ในขอนแก่นเองมีร้านอาหารภาคใต้มากกว่า สามร้าน ล้วนแต่คนแน่นตลอด คืออร่อยทุกร้าน แม้ว่ารสชาติและส่วนประกอบจะแตกต่างไปบ้างก็ตาม

แรกๆผมไม่คิดว่าจะมาตกล่องปล่องชิ้นกับสาวใต้ ผมว่าสาวเหนืองาม กิริยามารยาทเรียบร้อย..ซะไม่เมี๊ยะ มาทำงานอีสานผมก็ว่าสาวเขมรแถบสุรินทร์ดำขำก็งามไปอีกแบบ ยิ่งสาวผู้ไท กะเลิง..งามก็มีมากมายชวนให้มองไปหมด ไปเที่ยวทางใต้ ทางตะวันออก ก็มีสาวงามถูกตาต้องใจไม่แพ้กัน

เป็นว่า ไม่ว่าอาหารชนิดเดียวกัน ก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน องค์ประกอบแตกต่างกันไปบ้างตามเงื่อนไข และกระบวนการปรุงอาหารก็คงจะมีเคล็ดลับเฉพาะที่เป็นแบบฉบับของใครของมัน เป็นของเก่าต้นตระกูลก็เคยได้ยินบ่อยๆ ปัจจุบันสูตรอาหารเหล่านี้เมื่อเป็นธุรกิจไปแล้วราคาค่างวดซื้อขายกันแพงๆเชียวหละ

สาวที่ไหนก็สวยทั้งนั้น แม้สาวดอยบนที่สูงเมื่อจับมาแต่งตัวแล้วเธอก็เช้งวับไปหมด ที่เรามักเรียกกันว่า สวยไปคนละแบบ.. ไม่เชื่อไปถามอาเหลียง เฮียตึ๋งดูซี พูดทีไรเอาผ้าเช็ดหน้ามาเช็ดปากทุกที..อิอิ..

อาหารอร่อย สาวสวยนั้น มันขึ้นอยู่กับการปรุงแต่ง การปรับปรุง พัฒนา การทดลองปรุงแบบนั้นแบบนี้ นานเข้า ก็ลงตัวว่ารสชาดแบบนี้ ใช้ได้ ผู้คนชม ติดใจ เราก็ได้สูตรอาหารที่เป็นที่ยอมรับกัน

สาวท้องทุ่ง..ตัวดำเหนี่ยง สาวดวงตาไม่มีเล่าเต้ง หรือสาวไหนๆ ลองมาแต่งใส่เสื้อผ้า ทำผมทำเผ้า ผัดหน้าทาปาก ใส่น้ำปรุงน้ำหอม โอย..ขี้คร้านหนุ่มๆ แก่ๆ จะช๊อคตาย..

แม้ว่าปัจจุบันจะมีสูตรที่บอกกล่าวกันทั่วไปว่า แกงเหลืองนั้นต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง การแต่งตัวควรพิจารณาอะไรบ้าง หากไม่มีศิลปะการทำอาหารก็เทให้สุนัขรับประทานเถอะ.. แต่หากพัฒนาจนสุดยอดแล้ว น้ำแกงหยดสุดท้ายก็อร่อย..ไม่ยอมทิ้งเด็ดขาด สาวๆบางคนหน้าตาไปวัดไปวาได้ แต่แต่งตัวไม่เป็น โทษที คุณดำเหนี่ยงข้างวัดสวยกว่าเยอะเลย

การปรุงแต่งเป็นศิลปะ เป็นเรื่องฝีมือ เป็นทักษะ เป็นความชำนาญ เป็นศาสตร์เฉพาะตัวของใครของมัน เลียนแบบได้แต่อาจดีไม่เท่า

ผมเรียนรู้ทฤษฎีการพัฒนามากก็มาก หลักการต่างๆก็เยอะ แต่เมื่อเอาลงสู่ชุมชนจริงๆ บางทีมันไปไม่เป็นก็เกิดขึ้นบ่อยๆ ล้มกลางเวทีก็เคยหน้าแตกมาแล้ว ผมจึงมักแลกเปลี่ยนกับน้องๆว่า เราเป็นคนทำงานพัฒนาชุมชนนั้น คือคนที่ต้องเรียนรู้หลักการ หรือทฤษฎี แล้วเอามาปฏิบัติให้เกิดมรรคเกิดผล ซึ่งเป็นเรื่องยาก ไม่ง่ายอย่างที่พูดกันปาวๆในชั้นเรียน

หลักการเดียวกัน ทฤษฎีเดียวกัน ไปใช้ที่ภาคเหนือ ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากภาคใต้ ในภาคอีสานเดียวกัน เอาหลักการ หรือทฤษฎีไปปฏิบัติที่อีสานใต้ กับชุมชนเทือกเขาภูพานก็แตกต่างกัน ในภูมินิเวศวัฒนธรรม ภูมินิเวศเกษตร ภูมินิเวศสังคมที่แตกต่างกัน ก็มีรายละเอียดการปรุงแต่งที่แตกต่างกัน

ผู้บริหารมักมองไม่เห็น แม้นักปฏิบัติเองก็ไม่เข้าใจว่าหลักการเหมือนกัน แต่การนำไปใช้ต้องรู้จักดัดแปลง ปรับปรุงขั้นตอน รายละเอียดให้สอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆ

ครูบาอาจารย์ หรือนักวิชาการ จำนวนมาก ก็มักสร้างทฤษฎี สร้างหลักการใหม่ๆขึ้นมา เป็นตัวย่อบ้าง เป็นคำคล้องจองกันบ้าง เป็นโค้ดต่างๆบ้าง แต่เมื่ออธิบายลงไปไม่เคยได้ยินการกล่าวถึงรายละเอียดการปรุงแต่งในระดับปฏิบัติการเลย หากจะบอกว่าเป็นเรื่องของนักปฏิบัติที่ต้องไปหาเอาเอง ผมก็ว่า เป็นการกล่าวที่ไม่สมบูรณ์

ผมสนับสนุนชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แบบเครดิตยูเนี่ยน ขึ้นในระดับหมู่บ้านและชุมชนใหญ่ กว้างขึ้นไป หลักการของเครดิตยูเนี่นยนั้น มีเป็นต้นฉบับที่ใช้กันทั่วโลกคือ จิตตารมณ์ 5 ประการ คือ ซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้วางใจกัน แต่ที่สุรินทร์ ชาวบ้านซึ่งเป็นชนชาวเขมรนั้นบอกว่า “อาจารย์ พวกเราแค่ดื่มน้ำสาบานแบบท้องถิ่นเท่านั้น เจ้าจิตตารมณ์ ตาแรม อะไรนี่ผมไม่เข้าใจ ไม่ต้องพูดถึงเลย ดื่มน้ำสาบานเท่านั้นพอ…”…!!

เมื่อรายละเอียดในความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ จะไปกำหนด KPI แบบเดียวกันใช้ทั่วประเทศ ผมว่านักประเมินผลท่านนั้นก็ล้าหลังไปแล้ว

หากนักปฏิบัติบ้าแต่ทฤษฎี ปรุงไม่เป็น ท่านผู้นั้นก็เป็นเพียงผู้หวังดีคนหนึ่งเท่านั้น

หากนักบริหาร นักวิชาการ นักพูด กล่าวแต่หลักการ ทฤษฎี แต่ไม่บ่งชี้ถึงการปรุงแต่งในภาคปฏิบัติ ศาสตร์นั้นก็แห้งแล้งเกินไป จืดชืด ใช้อะไรแทบไม่ได้..



Main: 0.088598012924194 sec
Sidebar: 0.46810698509216 sec