นึกถึงสมัยเด็กๆ คุณอาผมซื้อวิทยุมาฟัง โห ใช้ถ่านไฟฉายตรากบเป็นโหล และต้องต่อเสาอากาศบนยอดไม้ เกะกะไปหมด…เด็กสมัยนี้นึกไม่ออกแล้วว่าวิทยุสมัยแรกๆนั้นเป็นเช่นไร วิทยุสมัยนั้นใช้หลอด เมื่อมีทรานซิสเตอร์ เครื่องก็เล็กลงมา ใช้ถ่านเพียง 4-6 ก้อนเท่านั้น หากใครอยู่บ้านนอก ก็ฟังแต่เพลงลูกทุ่ง..และหัดร้องตามกันลั่นทุ่ง เลี้ยงควายไปด้วยร้องกล่อมควายไปด้วย เช่นเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ, ชาย เมืองสิงห์ .. ผมร้องมาก่อน.. เดี๋ยวนี้ไม่เหลือซาก..
พอมาถึงยุคทีวี วิทยุก็ค่อยๆหายไป หรือลดบทบาทลงไปมาก ยิ่งเป็นระบบ AM บางคนลืมไปแล้วว่ามีวิทยุ AM
แต่ปัจจุบันวิทยุกลับมามีอิทธิพลมากขึ้น ยิ่งเมื่อรัฐเปิดโอกาสให้มีวิทยุชุมชน ก็เลยกลายเป็นการเมืองไปแล้ว… คนที่ใช้รถใช้ถนน ได้อาศัยวิทยุมากสักหน่อย ผมเองก็ใช้ฟังข่าวสารต่างๆ ฟังเพลง แต่เบื่อการโฆษณา..มากเกินเหตุ และบางทีมันเกินความจริงไป..
ผมเพิ่งกลับมาจากภาคเหนือ ตลอดการเดินทาง คนนั่งไปด้วยเปิดวิทยุตลอด เพื่อฟังรายการของท้องถิ่น ทั้งโดยตั้งใจและภาคบังคับ ที่ว่าบังคับเพราะ กำลังฟังรายการถูกใจดีดี เมื่อรถวิ่งไปไกลมากขึ้น คลื่นก็เริ่มจางหายไป เราก็ต้องเปลี่ยนสถานีใหม่ และสถานีที่ชัดที่สุดก็เป็นสถานีท้องถิ่นที่รถเรากำลังวิ่งผ่านนั่นแหละ
คนนั่งไปด้วยชอบฟังรายการวิทยุภาคเหนือ ตั้งแต่ อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่..ฯ โดยเฉพาะที่แพร่ ผ่านไปกี่ครั้งก็พยายามเปิดช่องท้องถิ่น นอกจากจะฟังภาษาถิ่นที่เป็นภาษาเหนือ หรือ “คำเมือง” รายการก็ถูกใจ ที่คนนั่งไปด้วยชมเปาะก็คือ เป็นรายการที่ อบจ.แพร่มาพูดในรายการวิทยุท้องถิ่นประจำ
ท่านนายกฯอบจ.เล่าให้ฟังถึงแผนงาน งานที่ทำ สิ่งที่ทำไปแล้ว สิ่งที่จะทำ รายละเอียดของแต่ละงาน อุปสรรค ฯลฯ โห เราเป็นประชาชนแพร่เราก็ชอบ เพราะทุกคนจะตามติดได้ว่า ขณะนี้ อบจ.ทำอะไรอยู่..รายละเอียดเป็นเช่นไร เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีมากๆ
รายการ อบจ.พบประชาชนแบบนี้ไม่มีที่อีสาน
ผ่านไปลำปางลำพูน เชียงใหม่ มีรายการของนักข่าวมาจัดรายการข่าวทั้งท้องถิ่นและของประเทศ แต่เป็นการวิเคราะห์ข่าว และเอาผู้รู้จริงๆมาวิเคราะห์ ฟังแล้วเขามีข้อมูลมากจริงๆ วิเคราะห์เจาะลึกละเอียด ทำให้เราหายโง่ไปเยอะ..
รายการวิเคราะห์ข่าวดีดีแบบนี้ไม่มีที่อีสาน
เพราะไม่เคยได้ยินน่ะครับ
แล้วอีสานมีรายการอะไร… มีแต่เพลง เพลง โฆษณาสินค้า และการเมืองสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง…
สื่อสารมวลชนเป็นสิ่งสำคัญมากๆต่อสาธารณะ สมัยหนึ่งเราใช้คำว่า มอมเมาประชาชน โฆษณาชวนเชื่อ เพราะการพูดย้ำๆ จะไปสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการจำแก่ผู้ฟัง… ระบบสื่อสารมวลชนเกือบจะไม่มีขอบเขตจำกัด ยิ่งมีผลสองด้านต่อผู้ฟัง หากข่าวสารดีดี ผู้ฟังก็เสพแต่สิ่งดีดี ในทางตรงข้าม หากไม่ดี ก็กลายเป็นการสร้างปัญหา คล้าย Echo effect ปวดหัวตัวร้อนก็ไปซื้อแต่ แอนตาซิล ไปสะท้อนการได้ยินจากการโฆษณา อย่างอื่นไม่รู้จักไปแล้ว…
ท่านผู้เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชนโปรดพิจารณาด้วยเถิด ขอรายการดีดีสร้างสรรค์ในรายการวิทยุในภาคอีสานหน่อยเถอะ
สมองจะเน่าอยู่แล้วเพราะฟังแต่น้ำเน่าทุกวัน ทุกวัน…