มหาวิทยาลัยในฝัน

1271 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 กรกฏาคม 2010 เวลา 23:15 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 15633

พ่อครูบาท่านมีเมตตาผม กระซิบมหาวิทยาลัยอุบลฯให้เชิญผมเข้าร่วมการอภิปรายเรื่องมหาวิทยาลัยในฝัน: มหาวิทยาลัยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ผมเองก็กริ่งเกรงในสถานที่เพราะข้าน้อยคนทำงานชนบทเล็กๆ(แต่ตัวใหญ่) พูดอะไรไปจะมีใครฟังหรือ..

ผมมองตัวเองว่า เราเสมือนแม่ครัว ที่เอาสูตรอาหารจานเด็ดทั้งหลายมาปรุงให้ถูกปากถูกคอประชาชนในพื้นที่ สูตรอาหารทั้งหลายจะไม่อร่อยเลยหากคนปรุงไม่ได้เรื่อง ไม่มีศิลปะเสน่ห์ปลายจวัก เพราะเราเป็นผู้ที่เอาหลักการต่างๆของการพัฒนาลงมาปฏิบัติจริงกับมือ..

มหาวิทยาลัยในฝัน: มหาวิทยาลัยของประชาชน นั้นช่างเป็นความฝันที่สุดเลิศประเสริฐศรี หากเป็นไปตามคำที่เขียน คือ..ของประชาชนจริงๆ ส่วนที่ต่อมาคือ โดยประชาชน เพื่อประชาชนนั้น ผมตั้งประเด็นย้อนไปถามมหาวิทยาลัยว่า ประชาชนคือใคร….?


มหาวิทยาลัยคิดเรื่องนี้อย่างไร.. ประชาชนที่ปัตตานีใช่ไหม หรือประชาชนที่แม่สายเชียงราย หรือที่แม่สอด ตากโน้น.. แม้ว่าในทางหลักการประชาชนทุกภูมิภาคมีสิทธิในการสมัครเข้ามาเรียนที่นี่ แต่ความเข้าใจส่วนตัวนั้นน่าจะเน้นหนักที่ประชาชนในภูมิภาคอีสาน

ถ้าเช่นนั้น มหาวิทยาลัยแห่งนี้รู้จักประชาชนในพื้นที่นี้แค่ไหน มีใครอยู่ตรงนี้บ้าง เช่น ไทยอีสาน ผู้ไท ย้อ กะเลิง โส้ แสก บรู บน เขมร ส่วย ราษฎรไทยเชื้อสายเวียต เชื้อสายเขมร เชื้อสายลาว แรงงานอพยพหลายชาติ กลุ่มเขยฝรั่ง…ฯ หากตั้งประเด็นว่ามหาวิทยาลัยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน นั้น เรารู้จักเขาดีแค่ไหน เราจะมีเวทีให้ชนเหล่านั้นเข้ามาอ้างความเป็นเจ้าของได้อย่างไร..ฯ เหล่านี้ก็เป็นประเด็น…

แต่ละชนเผ่ามีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน อยู่ในภูมินิเวศเกษตรวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ผมเชื่อว่าคณาจารย์จำนวนไม่น้อยเข้าใจ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจ ถ้าเช่นนั้นมหาวิทยาลัยต้องลงไปท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน เพื่อเข้าใจ เข้าถึง แล้วจะทำวิจัยอะไรก็มีเรื่องมากมายทุกสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยมีบุคลากรอยู่

การลงไปเรียนรู้ชุมชนนั้นทำได้หลายรูปแบบ เช่น แบบมหาวิทยาลัยเคลื่อนที่ ทำแบบ Mobile Unit หากจะลึกซึ้งเฉพาะเรื่องเฉพาะด้านก็ทำแบบ Community dialogue ไม่รู้ทำอย่างไรก็เชิญท่านจอมป่วนไปคุย เชิญท่านไร้กรอบไปแนะนำก็ย่อมได้ หรือไปทำโครงการเล็กๆ แบบ action research หรือแค่ไปเยี่ยมองค์กรพัฒนาเอกชน ไปคุยกันเป็นพักๆ ก็ได้ประเด็นเรื่องราวมากมาย… ยังมีวิธีต่างๆอีก แม้แค่ไปเยี่ยมเยือนท่องเที่ยวแบบเอาประเด็นก็ล้นกระเป๋ากลับมาแล้ว


เมื่อทำได้เช่นนี้ คณาจารย์ก็รู้จักท้องถิ่น ชาวบ้านก็รู้จักมหาวิทยาลัย แล้วการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็เกิดขึ้น แล้วทุกอย่างก็ตามมา ก็จะเป็นมหาวิทยาลัยติดดิน ติดท้องถิ่น วิชาการทุกสาขามุ่งมาตอบสนองท้องถิ่นจากกข้อมูลที่ได้มาด้วยกระบวนการดังกล่าว ไปฟังเสียงชาวบ้าน และหากเสียงชาวบ้านมีความหมาย มหาวิทยาลัยตอบสนองท้องถิ่น นี่แหละคือมหาวิทยาลัยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

จริงๆ มหาวิทยาลัยมีบทบาทมากกว่านี้มากนัก นี่เป็นเพียงมุมหนึ่งกับชนบท ที่เป็นเรื่องท้องถิ่น..



Main: 0.011600017547607 sec
Sidebar: 0.039672136306763 sec