ความขัดแย้ง ทางออก …3

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 มิถุนายน 2009 เวลา 0:04 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2695

ผมคงเหมือนๆกับท่านอื่นๆที่ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องการเข้าสู่การเมืองโดยตรง แม้ว่าน้องพ่อผม(อา) เคยเป็น สส.มาหนึ่งสมัยแล้วเสียชีวิตไป แต่ผมก็ไม่มีส่วนใดๆต่อการใกล้ชิดกับการเมือง การเข้าสู่กระบวนการนักศึกษาที่มีความคิดเห็นทางการเมืองก็อยู่ในช่วงของเยาวชนมากกว่า เมื่อมาทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านในชนบท ด้านการพัฒนาองค์กร มีบทสรุปส่วนตัวที่สามารถจำลองประเทศเป็นองค์กร ถือว่าเป็นข้อสังเกตก็แล้วกัน

ลองทำแบบจำลองขึ้นดังภาพนี้

  1. สังคมอุดมคติคือสังคมสันติภาพ สงบสุข สังคมคุณธรรม พึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออาทรต่อกัน เห็นอกเห็นใจกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบ มีศีลธรรม ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม หรือสังคมนิยม ไม่ว่าคุณจะเป็นนักธุรกิจ หรือเกษตรกร ฯลฯ หากสังคมนั้นๆมีคุณสมบัติหรือองค์ประกอบลักษณะสังคมเป็นเช่นนี้ ก็เป็นสังคมอุดมคติ จากภาพ เป็นเส้นสีแดงตรงแกนกลางนั่น
  2. แต่สังคมในความเป็นจริงนั้นไม่ได้ขับเคลื่อน พัฒนา ก้าวหน้าไปแบบเป็นเส้นตรงที่ราบรื่น สงบเรียบร้อย มีความสุขทั่วหน้า ตรงข้ามมีปัญหาอุปสรรคมีความต้องการการเปลี่ยนแปลงไปตามความประสงค์ของบุคคล กลุ่มคน ฯลฯ ทั้งจากภายนอกประเทศ เช่น กรณีการเสียดินแดนในสมัยล่าอาณานิคม และภายในประเทศเอง เช่นกรณีการปฏิวัติต่างๆ เราเรียกความประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงไปตามบุคคล กลุ่มคนนั้นว่า “แรงผลักทางสังคม” ก็ย่อมหันเหสังคมไปในทิศทางที่เขาต้องการ
  3. ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีบุคคล กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเราเรียกได้ว่า “ความขัดแย้ง” ก็ย่อมที่จะสร้าง “แรงต้านทางสังคม” ตั้งแต่เป็นไปตามกติกาสังคมจนถึงขั้นรุนแรง
  4. การต่อสู้ระหว่างสองแรงดังกล่าวอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นไปตามวิถีของสังคม และเป็นไปในแนวทางที่รุนแรง เมื่อแรงทั้งสองปะทะกันในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งมีทั้งใช้ระยะเวลาสั้นและยาวนาน ก็ลงเอยด้วยข้อสรุปทางสังคม ที่อาจจะเป็นในลักษณะที่สังคมยอมรับได้ หรือจำใจยอมรับ และยังมีคลื่นใต้น้ำ แต่ไม่ปรากฏการกระทำ หรือยังไม่เป็นพลังทางสังคม
    รอเวลาสะสมพลังด้วยขบวนการต่างๆ เช่นกรณีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
  5. มีข้อสังเกตว่าไม่ว่าสังคมจะถูกกระทำแล้วหันเหไปทางใดๆก็ตาม ก็ย่อมหันกลับมาในแนวสังคมอุดมคติ หรือใกล้เคียง เพราะเป็นสภาพที่ทุกคนยอมรับว่านั่นคือสังคมที่ทุกคนปรารถนา แม้ว่าจะไม่ใช่ในทุกกระเบียดนิ้ว แต่สถาบันทางสังคมต่างๆจะเป็นผู้คัดหางเสือสังคม สถาบันต่างๆทางสังคมจึงมีบทบาทมากๆต่อการพัฒนาประเทศชาติ เช่นสถาบันยุติธรรมต่างๆ สถาบันการศึกษา สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา และอื่นๆ
  6. ดังนั้นไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะไปอย่างไร หากสถาบันต่างๆหนักแน่นในหลักการของสังคมอุดมคติก็ย่อมเป็นแรงต้านที่เป็นพลังถ่วงให้พลังผลักที่ไม่พึงประสงค์ไม่เข้ามาครอบงำสังคม
  7. นี่คือทางออกของความขัดแย้งในสังคมที่สถาบันต่างๆต้องออกมาแสดงพลังความถูกต้องของการขับเคลื่อนสังคมอุดมคติ ให้สังคมทุกภาคส่วนมีสติ
  8. เนื่องจากปัจจุบันพลังความต้องการที่เป็นแรงผลักทางทางสังคมนั้นซับซ้อนมากขึ้น เขาพูดในสิ่งที่ดูดี แต่เบื้องลึกแฝงเร้นไปด้วยผลประโยชน์ยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจ นี่คือปัญหาที่ซับซ้อน และยุ่งยากมากขึ้นในการทำความเข้าใจถึงความเป็นจริง
  9. ทางออกที่สำคัญคือ ผู้ปกครองที่มีคุณธรรม ต้องสร้างสังคมอุดมคติให้ใกล้เคียงความเป็นจริงให้มากที่สุด สนับสนุนสถาบันทางสังคมได้แสดงพลังที่ถูกต้องออกมาเพื่อร่วมกันคัดหางเสือสังคมให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง

หากปล่อยให้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเช่นนี้สังคมจะเป็นอย่างไร

  1. สังคมก็จะเสียเวลาในการขับเคลื่อนสังคมเข้าสู่สังคมอุดมคติ นานมากขึ้น เสียหายมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น ยุ่งเหยิงมากขึ้น
  2. เพราะแรงผลักดันทางสังคมที่มีทิศทางมิใช่สังคมอุดมคติจะใช้เวลาที่เขาครองอำนาจนั้นๆสร้างความเข้าใจแก่สังคมใหม่ตามแนวทางที่เขากำหนด

ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นเบื้องต้นอย่างหยาบๆ นะครับ



Main: 0.023735046386719 sec
Sidebar: 0.06976580619812 sec