ค่านิยมในวันรับปริญญา….
อ่าน: 1777อาจจะเป็นเรื่องเก่าสำหรับท่าน แต่ใหม่สำหรับผมครับ… ก็เรื่องค่านิยมของการมอบสิ่งของเพื่อแสดงความยินดีแก่บัณฑิตใหม่น่ะซี
อาจเป็นเพราะผมห่างเหินเรื่องนี้ไปสามสิบกว่าปี ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป จะว่าพัฒนาไปแบบไหนก็แล้วแต่จะพิจารณากันเถอะครับ เพียงแต่หยิบเอามาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น
สมัยโน้น..ไม่มีดอกไม้เป็นมัดเบ่อเริ่มเบ่อเร่อ..อย่างปัจจุบัน
ไม่มีดอกไม้เทียม มีแต่ดอกไม้สดๆ แน่นอนส่วนใหญ่ก็เป็นดอกกุหลาบ
แต่ที่ มช.จะมีดอกไม้ประจำสถาบันแซมเข้ามาคือ ดอกทองกวาว ซึ่งช่วงรับปริญญาดอกจานก็ออกดอกเต็มต้นพอดี ผมจำได้ว่าไปเดินหักกิ่งดอกทองกวาวจากต้นเตี้ย แล้วเอาไปมอบให้พี่ที่เราเคารพนับถือ..
การถ่ายรูปสมัยนั้นยังเป็นระบบฟิล์มที่จะต้องล้างอัดกันในลักษณะโปสการ์ด ตกราคาแผ่นละ 3-5 บาทซึ่งถือว่าแพงมาก ใครถ่ายหลายๆม้วนก็ค่าล้างอัด(ขยาย)อ่วมแน่ๆ ผมเองถ่ายมาแค่ม้วนเดียว กล้องถ่ายรูปก็ไม่มีขอยืมเพื่อนที่เป็นประธานชมรมถ่ายรูปมาถ่ายเอา ส่วนมากก็ถ่ายรูปคณะ เพื่อนสนิทและพ่อแม่ญาติที่ไปร่วมงานด้วย..และรูปสมัยนั้นยังนิยมขาวดำอยู่เลย..
สมัยนี้เป็นระบบดิจิตอล เอาแผ่นหน่วยความจำขนาดใหญ่ใส่เข้าไปก็ถ่ายกันไม่อั้น เรียกกันว่าถ่ายทิ้งถ่ายขว้าง แล้วมาเลือกเอารูปดีดีเก็บเข้าแฟ้มไว้ ชอบรูปไหนก็ไป Develop เอาเฉพาะ ที่เหลือก็เก็บไว้ในแผ่น CD หรือที่อื่นๆตามสะดวก
มาวันนี้ผมไปร่วมงานรับปริญญาลูกสาว โห..ทำตัวไม่ถูกเลย มัยเลยวัยไปไกลแล้ว..อิอิ ที่สะดุดตาครั้งแรกก็คือ เห็นบัณฑิตสาวท่านหนึ่งถือแผ่นป้ายแดงๆเหมือนแผ่นทะเบียนรถป้ายแดง ผมนึกในใจว่า โฮ..คุณพ่อคุณแม่เขาต้อนรับและแสดงความยินดีกับลูกของท่านด้วยรถป้ายแดงเลยนะเนี่ย…..อือ… ของผมคงซื้อเกวียน หรืออีแต๊กให้ละมั๊ง..อิอิ.
ระหว่างนั่งรอพิธีมอบปริญญาบัตรก็มีคนเอาดอกไม้กำใหญ่พร้อมกับป้ายกระดาษตัวใหญ่ใส่ข้างว่า “…เกรียตินิยมอันดับ 1..” ผมก็นึกในใจว่าโฮ.. เธอเก่งจริงๆนะ …..
แต่เดินผ่านกลุ่มบัณฑิตและญาติพี่น้องที่คลาคล่ำไปหมดแล้วสังเกตว่า เอไม่ใช้ป้ายทะเบียนรถนี่นา แต่เป็นป้ายข้อความ และก็น่าที่จะเป็นเพื่อนๆซื้อจากร้ายค้าย่อยชั่วคราวในบริเวณงานที่พ่อค้าทำมาโดยคาดการณ์ว่าน่าจะมีคนซื้อเอาไปแสดงความยินดีกับบัณฑิต…
ผมเห็นมากกว่าหนึ่งป้าย ข้อความแตกต่างกันไป อ้อ…นี่เอง.. นอกจากการซื้อดอกไม้ทั้งห่อใหญ่ เล็ก แล้วก็มีอย่างอื่น เช่น ตุ๊กตาตั้งแต่เล็กและใหญ่ๆ ถึงใหญ่มากๆก็เห็น ขนมเค้ก ซองของขวัญเล็กๆ เลยไปถึงสลากกินแบ่ง และเจ้าป้ายทั้งเลียนแบบป้ายทะเบียนรถและป้ายธรรมดา มีทั้งใหญ่และเล็กๆ…
ผมไม่วิภาควิจารณ์เรื่องนี้ในแง่ดี เหมาะสม หรือ ไม่ดี ไม่เหมะสม แต่สนใจในแง่ว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดค่านิยมเหล่านี้ นักธุรกิจ หรือผู้ไปแสดงความยินดีที่คิดสร้างสรรค์บรรเจิดแล้วไปสั่งร้านทำให้ หรือร้านธุรกิจเขาเดาออกว่าควรจะทำอะไรไปขายแล้วขายได้.. หรือทั้งสองส่วน.. สร้างค่านิยมมาด้วยกัน
นอกจากป้ายข้อความดังกล่าวแล้ว ผมยังเห็นป้ายที่มีข้อความอีกมากมายแต่ถ่ายรูปไม่ทัน จะเดินไปขอถ่ายรึ ก็ไม่ใช่ผมแน่.. ข้อความต่างๆนั้น เช่น… จบแล้วยังไม่มีงาน.. จบแล้วยังโสด..
ค่านิยมเหล่านี้หากเอามาสร้างให้สอดคล้องกับการสร้างค่านิยมในการเสริมสร้างทุนทางสังคมบ้างจะได้ไหม.. เช่นเขียนข้อความในแนวทางใหม่ว่า
จบแล้ว ด้วยหยาดเหงื่อของพ่อแม่..
จบแล้ว กราบขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน..
จบแล้ว..จะยึดคำสอนของอาจารย์
จบแล้ว จะเป็นพลเมืองดี สร้างชาติให้เจริญต่อไป.. ฯลฯ..
หรือ
จบแล้วพ่อแม่จ๋า.. ลูกจะกลับไปดูแลเอง รักนะ จุ๊บๆ