หลายท่านคงเคยได้ข่าวว่าประเทศทางตะวันออกกลางจะมาเช่าที่นาไทยปลูกข้าวส่งกลับไปประเทศเขา ความจริงเขามาซื้อก็ได้ เพราะเงินหนา คนที่เงินเข้ากระเป๋าจริงๆไม่ใช่เจ้าของที่นาหรอก นายหน้าต่างหากครับ…
ผมกลับไปบ้านที่วิเศษชัยชาญ พบว่ามีเค้าความจริง เพราะน้องสาวกล่าวว่ามีคนไทยแปลกหน้ามาถามเช่าที่นาจำนวนมาก แต่ที่สุดโดนถูกประโคมข่าวนี้เลยเงียบไป…
หากเกิดวิกฤติอาหารนั้นผมเคยกล่าวว่าคนเมืองแม้จะเป็นผู้มีกำลังซื้อแต่จะประสบปัญหาก่อน เพราะไม่มีที่ซื้อ หรือไม่มีอาหารจะให้ซื้อ หรือเป็นโอกาสของชาวนา ชาวบ้านที่จะกำหนดราคาอาหาร..ไม่รู้เว่อร์ไปหรือเปล่า
หากวิกฤติอาหารเกิดขึ้นประเทศที่ตายก่อนคือประเทศอุตสาหกรรม และประเทศที่ผลิตน้ำมันเป็นหลัก..เพราะน้ำมันกินไม่ได้ มีเงินซื้อแต่ไม่มีอาหารจะขาย…
วิกฤตอาหารนั้นไม่ไกลความจริงแน่นอน… สิ่งบอกเหตุมีตลอด.. การขาดแคลนอาหารจะนำไปสู่สงครามโลก เพราะคนมีเงินก็กลัวอดตาย ประเทศที่ร่ำรวยก็กลัวอดตาย
คนเมืองที่ Sensitive ก็มองทางออกกันโดยไปหาที่ดินทำกินในชนบท สร้างบ้านและทำสวนเล็กๆ ประเทศที่ร่ำรวยก็มีแผนงานเตรียมรับสถานการณ์นี้…
ที่ผมทราบชัดเจนคือ ขณะนี้ประเทศที่ผลิตน้ำมันขายตั้งงบประมาณ(Fund)จำนวนมากให้ประเทศด้อยพัฒนาทำโครงการพัฒนาชลประทานขนาดกลาง เพื่อทำการผลิตข้าว และอาหารอื่นๆส่งเข้าประเทศเขา มาในรูปของความช่วยเหลือในงานพัฒนาพื้นที่ชลประทาน แต่สิ่งที่ซ่อนภายในนั้นคือ สัญญาการผลิตเพื่อส่งตรงไปประเทศเขา…. สิ่งเหล่านี้สร้างความเนียนง่ายจะตายไปเพราะมันมี Nominees มากมายเป็นผู้รับผิดชอบในเบื้องหน้า
มีเงินซะอย่างจะเอาเทคโนโลยี่อะไรบ้าง จะเอาผู้เชี่ยวชาญด้านไหนบอก จะเอาพันธุ์ข้าวชนิดไหนระบุมา…ฯลฯ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยนะครับ แต่เป็นเพื่อนบ้านเรานี่แหละ
มองได้หลายมุมครับ..
มุมหนึ่งก็ดีนี่…ประเทศยากจน หรือด้อยพัฒนาอย่างเราและเพื่อนบ้านนั้นต้องการงบประมาณอีกจำนวนมากมาพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานทางการผลิต เพื่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่าจะเสี่ยงกับการแปรปรวนของธรรมชาติ ระบบชลประทานช่วยได้มาก ผมทำงานการผลิตกับระบบชลประทานมาพอสมควร เชื่อมั่นว่าการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถยกระดับการผลิตแบบ Dual tract ได้ คือ ผลิตเพื่อบริโภคเอง และผลิตเพื่อขายสร้างรายได้ การผลิตเพื่อขายนั้นสามารถกำหนดให้มาเลี้ยงคนเมืองที่ไม่ได้ทำการผลิตได้อย่างพอเพียง เพราะการทำนาในพื้นที่ชลประทานนั้น ไม่ใช่ทำปีละสองครั้งแล้ว สองปีห้าครั้ง หรือมากกว่านั้นในบางพื้นที่
การผลิตแบบนี้ต้องลดความเสี่ยงลงโดยการแบ่งพื้นที่ทำการผลิตแบบผสมผสานควบคู่กันไปด้วย การผลิตโดยระบบชลประทานนั้นเกษตรกรต้องยกระดับความรู้ด้านการผลิตมากมาย แต่ไม่ใช่เรื่องยาก เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานหลายแห่งเก่งกว่าเกษตรตำบลเสียอีก เพราะเกษตรตำบลมีแต่วิชาการมาบอกมากล่าว ไม่เคยลงมือทำเอง แต่ชาวบ้านทำมากับมือจึงรู้ตื้นลึกหนาบาง พร้อมที่จะดัดแปลง และหรือค้นพบแนวทางใหม่ๆด้วยตัวเอง
มองในแง่ร้าย หากเกิดกรณีมีการทำสัญญาทำการผลิตเพื่อส่งออกอย่าเดียวนั้น เหมือน Contract Farming อันตรายสำหรับชาวนาและประเทศ เพราะในสัญญาจะผูกมัดการผลิต ให้เป็นไปตามคำสั่ง หรือ Order ชาวนาจะกลายเป็นแรงงาน และหากรัฐให้ความร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติ หรือแหล่งทุนนั้นแล้ว รัฐมีสิทธิ์ออกกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบร้อยแปดเพื่อกระทำตามสัญญานั้นๆ ในประเทศที่ปกครองโดยสังคมนิยมมีแนวโน้มที่จะทำเช่นนั้นได้ และเคยทำมาแล้ว
รัฐยังมอง GDP เป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศ ทุ่มเทภาคส่งออก ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องรังเกียจ แต่ปล่อยปละละเลย หรือไม่จริงจัง หรือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น จำนำข้าว ตั้งกองทุน ฯลฯ นี่มันปลายเหตุ แต่สิ่งที่ต้องทำก่อน ทำมากๆคือ ทุ่มเทงานศึกษาค้นคว้า การวิจัย การผลิตให้มากๆ อย่างควรมีการวิจัย ค้นคว้าเรื่องพืชในภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะข้าว
อาจารย์ท่านหนึ่ง แห่งคณะเกษตรศาสตร์ มช. ท่านทำ Simulation เรื่องผลผลิตข้าวในภาวะโลกร้อนอยู่ และพืชหลักอื่นๆอีก น่าสนใจมาก นี่ก็วิกฤติอาหาร ก็เมื่อโลกร้อน ผลผลิตข้าวจะลดลง โรคแมลงชนิดใหม่ๆจะเกิดขึ้น ในขณะที่วิชาการด้านการกำจัดโรคแมลงยังต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีที่จะค้นพบวิธีการกำจัด
เมื่อต้นตอทางการผลิตนักการเมืองไม่มีนโยบาย เอาแต่ยาหอมสวยๆ จำนำข้าว นี่ประกาศแล้ว ข้าวขาวมะลิ 105 ให้ราคาตันละ 20,000 บาท
โธ่ โธ่ โธ่…โรงสีกับนักการเมืองรวยกันอีกแล้ว….