456789

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 25, 2010 เวลา 22:30 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2920

บนรถ Mitsubishi Strada ที่ผมใช้มันมาเกือบ 10 ปี เป็นรถของโครงการที่ผมทำงานอยู่ ซึ่งมีพนักงานขับรถให้ แต่ส่วนใหญ่ผมก็ขับเองเสียมากกว่า พนักงานขับรถก็ทำทุกอย่าง เหมือนผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ หรือเป็นทีมงานคนหนึ่ง เราก็รักใคร่กันแบบพี่น้อง เปลี่ยนพนักงานไปหลายคนตามวิถี แต่พิลาเป็นคนเดียวที่ยังคงอยู่กับเรา เรียบง่าย ไม่ดูดาย ขยัน ทำทุกอย่างที่ทำได้ เห็นรถเปื้อนนิดเดียวไม่ได้ เอาไปล้างให้ทันที  เราจึงรักใคร่คนนี้ อาว์เปลี่ยนเอาไปใช้ประจำสมัยอยู่ดงหลวง เพราะไม่พูดมาก ทำลูกเดียว

รถโครงการนั้นเดินทางทุกวันไม่คันนี้ก็คันโน้น การดูแลรักษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องเอาเข้าศูนย์ตรวจสอบทุกระยะทางกำหนด แม้ว่าราคาจะแพงกว่าร้านซ่อมข้างนอกแต่เราก็ยอม (บางครั้งก็ห่วยแตก)

พื้นที่ทำงานดงหลวงที่ไกลที่สุดระยะทางจากที่ทำงานไปประมาณ 100 กม. คือ ตำบลกกตูม ซึ่งติดกับ อ.เขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ไป-กลับแต่ละทีต้องวางแผนดีดี


เช้าวันนั้นผมขับรถจากขอนแก่นกลับไปมุกดาหาร เวลา 11:35 น. เลขไมล์บอกระยะทางที่ผมขับมา 117 กิโลเมตรจากขอนแก่น มุ่งหน้าไปมุกดาหาร


เลขไมล์บอกระยะทางรวมทั้งหมดที่วิ่งมาเท่ากับ 456,789 กิโลเมตรพอดี โห พอดีเลยที่เห็นเลขไมล์สะสม เลยเอากล้องมาถ่ายเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์การเดินทางของเรา นี่คือการเดินทางซึ่งส่วนใหญ่ระยะทางนั้นคือการทำงานในดงหลวง

ผมอยากจะรู้ว่ามันไกลแค่ไหน หากเราขับรถเป็นระยะทาง 4 แสนกว่ากิโลเมตรบนเส้นทางตรงตลอด ก็ลองเอาไปเทียบคร่าวๆกับเส้นรอบวงของโลก ก็ลองไปวัดเส้นรอบวงโลกด้วย Google earth แบบคร่าวๆ พบว่าเส้นรอบวงของโลกอยู่ที่ 40,012.01 กม.


โห…ถ้าเช่นนั้นผมขับรถรอบโลกได้ 11 รอบโดยประมาณ หากคิดมูลค่าที่ใช้ไปคงมากมายทีเดียวนะครับ เดี่ยวต้องไปเอาสถิติค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากระบบบัญชีมาดูซะหน่อย บางทีอาจจะซื้อรถได้อีกคันแน่ๆเลย นี่คือต้นทุนการทำงานพัฒนาชนบท ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน

เอ…คิดไปคิดมาเปลี่ยนจาก ปิคอัพเป็นจักรยานซะดีมั๊งเนียะ อิอิ คงพิลึกพิลั่นแน่เลย..


รองเท้าของคุณราคาเท่าไหร่…

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 22, 2010 เวลา 22:58 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2801


คู่นี้หายี่ห้อไม่พบ เจ้าของรักมาก ใช้ทุกโอกาส จะขึ้นเขาลงห้วย เลี้ยงควาย ไปทำบุญ เข้าเมือง ไปอำเภอ และมาประชุม.. เจ้าของเป็นผู้นำชุมชนเครือข่ายไทบรูในอ.ดงหลวง มุกดาหาร คนหนึ่งครับ


ส่วนคู่นี้ไม่ใช่มาจากเฮติ นะครับ แต่ได้มาจาก FW mail ที่หลายท่านคงได้รับเหมือนกัน

ผมว่าคนเราเมื่ออยู่ในสภาพแร้นแค้น ก็จะมีนวัตกรรมง่ายๆเกิดขึ้น เพราะคนเราก็จะสร้างสรรค์สิ่งรอบตัวเอามาใช้ประโยชน์ นี่คือสังคมที่ไม่มีเงิน

เมื่อมีเงินเราก็ซื้อ ซื้อ ซื้อ.. มีคนทำขาย มีแบบให้เลือก มีรสนิยม…ฯลฯ…และอีกหลายอย่างตามมา


ขยะ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 22, 2010 เวลา 19:31 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3979

เช้าวันที่จะต้องเข้าไปดงหลวงเพื่อจัดประชุมชาวบ้านวันนั้น อากาศหนาวลง หลังจากที่อุ่นขึ้นมาสองสัปดาห์ เราเองชอบอากาศแบบนี้ แต่หลายคนต้องคว้าเอาเสื้อหนาๆแขนยาวมาใส่ ผมขับรถเอง มีน้องร่วมงานนั่งไปด้วย คุยกันไปหลายเรื่อง


แล้วสายตาผมก็เห็นเด็กกลุ่มหนึ่งเดินหิ้วถุงดำข้างถนน สัญชาติญาณนักข้าวเก่า ผมก็หยุดรถแล้วก็ลงมาดูเด็กกลุ่มนี้ แล้วก็เดินไปสอบถามเพื่อให้กระจ่างต่อพฤติกรรมที่เห็น


หนูมาเก็บขยะหน้าบ้านต่างๆค่ะ เอาไปให้ที่สถานีอนามัยค่ะ หมูเพิ่งมาครั้งแรก แต่คนอื่นมากันก่อนหลายวันแล้ว คุณครูจัดเวรมาเก็บขยะค่ะ….

ผมเอ่ยปากขอดูขยะในถุงดำได้ไหมว่าได้อะไรมาบ้าง.. เด็กๆตอบว่าได้ซิคะ


ผมคุยอีกสองสามคำถามก็ปล่อยให้เด็กทำหน้าที่ของเขาไป ก่อนที่ผมจะขึ้นรถไปยังภารกิจที่นัดหมายเช้านี้ ผมมองไปอีกซอยซึ่งอยู่อีกฟากของถนน ผมเห็นกลุ่มเด็กชายทำในสิ่งเดียวกัน เขาคงแบ่งพื้นที่รับผิดชอบกัน…


แหมน่ารักที่สุดเลยที่เห็นภาพเหล่านี้ และชุมชนนี้ก็สะอาด ชื่นอกชื่นใจ ผ่านไปมาก็เห็นทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สกปรก รุงรัง น่าอยู่น่าอาศัย ชุมชนนี้เป็นผู้ไท อยู่บริเวณตะวันออกของตัวอำเภอดงหลวง

ผมขับรถไปก็รู้สึกว่าเช้านี้รู้สึกดีดีจังเลย


ใบไผ่..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 21, 2010 เวลา 21:37 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4663



หลายวันที่ผ่านมาอากาศที่ดงหลวงเย็นลงพรวดพราด เหลือ 19 C การเสวนากลางป่าจึงมีภาพอย่างที่เห็น แต่ละคนนั้นฉกาจฉกรรกับอดีตมา ผมกำลังให้เวลารวบรวมเรื่องราวของท่านเหล่านี้อยู่ครับ


หลังจากหลงไปหลายปีเราก็หันมาคุยเรื่องหลักของชีวิตคือ ข้าว เราพบว่าข้าวพันธุ์พื้นบ้านหายไปมากแล้ว เราจึงพยายามค่อยๆรื้อฟื้นมาใหม่ ขณะเดียวกันก็ค่อยๆขยับกระบวนวิธีการเพิ่มผลผลิตข้าวด้วยวิธีที่ห่างไกลจากสารเคมี

ไม่ขอลงรายละเอียดเพราะมันยาว…..

มีหลายขั้นตอน หลายวิธี หลายประเด็น ที่เป็นองค์ประกอบของการเพิ่มผลผลิตข้าว ทุกคนนั้นใช้น้ำหมักชีวภาพ สูตรต่างๆ ช่วงเวลาที่ใส่ก็แตกต่างกันไป เทคนิคการใส่ก็หลากหลาย เอามาแบ่งปันกัน ….


สิ่งหนึ่งที่ พูดเป็นเสียงเดียวกันคือการฟื้นฟูดิน หลังจากที่หลงไปกับราชการที่มาเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากพันธุ์พื้นบ้านเดิมมาเป็นข้าว กข. แต่ต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใช้สารเคมี ดูแลน้ำ วัชพืช ฯลฯ แล้วดินก็ตายลงไปเรื่อยๆ


พ่อสำบุญ วงศ์กะโซ่ ลุกขึ้นเดินไปหยิบใบไผ่ที่มีอยู่เต็มทั่วไปมากำมือใหญ่ แล้วพูดว่า…พี่น้องผมใช้สิ่งนี้ปรับปรุงดิน ใบไผ่นี่แหละคือปุ๋ยชั้นเลิศ ไม่ต้องคอยให้มันผุพังไปแล้วจึงเอาไปใส่นา มันช้าไป ผมเอาไปใส่คอกหมู ปกติเราทำหมูหลุมใช่ไหม และเราไปซื้อแกลบมาใส่รองพื้น แล้วก็เอาแกลบนั้นไปใส่นา พี่น้องก็ทราบว่าแกลบเดี๋ยวนี้เป็นราคาไปหมดแล้ว คันรถอีแต๊กราคา 80-100 บาท นาเรามีกี่ไร่ กว่าจะใส่หมด เราสู้ไม่ไหวหรอก อย่าไปหวังแกลบ เอาใบไผ่นี่แหละครับ เก็บกวาดเยอะๆ แล้วเอาไปใส่คอกหมู คอกวัว คอกควายของเรา มันก็ซับขี้ เยี่ยว และสัตว์มันก็ย่ำใบไผ่ ป่น คลุกเคล้ากันดี ไม่นานเท่าไหร่ ก็พอดีเอาไปใส่นาของเรา เอาไปทำเถอะครับ ผมทำมาแล้วได้ผลดีมาก ข้าวงาม รวงใหญ่ น้ำหนักดี ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากทีเดียว…


เราเพียงแค่จัดกระบวนการเรียนรู้ใต้ร่มไผ่ กลางธรรมชาติแห่งวิถีของเขา ค่อยๆกระตุก เคาะมุมมอง การทดลองและผลที่เกิดขึ้นจริง การเรียนรู้ในแนวราบมีคุณค่าและเกิดผลมากด้วยเงื่อนไขที่เขาไม่มีกำแพงมาขวางกั้น

เดินไปข้างหน้าอย่างค่อยๆไปเถอะพี่น้องไทโซ่ดงหลวง..ด้วยความมั่นใจ.


กรรมชิน 2

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2010 เวลา 14:53 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2842

พวกเราสรุปกลุ่มผู้ไทและไทโซ่มาก่อนแล้วว่า ผู้ไทนั้นปรับตัวได้ดีต่อการไหลบ่าเข้ามาของสังคมใหม่ เทคโนโลยี่ใหม่ แนวความคิดใหม่ๆ แต่ ไทโซ่นั้น ปรับตัวได้ช้ากว่า มีลักษณะเฉพาะสูง มีลักษณะความพอเพียง แต่คำนี้สำหรับกลุ่มคนไทโซ่ต้องวิเคราะห์ลึกๆ คำเดียวกันแต่ต่างความหมายกันนะครับ


ย้อนกลับไปพิจารณาข้อสรุปของพระอาจารย์นรินทร์ ที่ว่า ..ไทยดำนั้น ชอบอยู่ป่า ติดการเข้าป่า พอเพียง ยึดติดประเพณี นิยมให้ทานมากกว่ารักษาศีล นับถือผี และ “กรรมชินหรือความเคยชิน”…


ไทโซ่นั้น อะไรอะไรก็ป่า ทั้งอาหารที่ถูกปาก เหมือนคนอีสานชอบหอยจูบ ได้สัตว์ป่ามานั้น เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม ก็มันชอบอ่ะ ที่เราเรียกทางวิชาการว่าวัฒนธรรมการบริโภค เมื่อมีเวลาก็เข้าป่าไปหาอาหารที่ชอบ

ไปหาของป่ามาขายตามฤดูกาล ฤดูนี้สิ่งที่มีราคาคือ ผักหวานป่า วันนี้ราคาที่หมู่บ้าน ขีดละ 25 บาทครับ หากเป็นดอกผักหวานจะสูงถึง 40 บาทต่อขีด หอยหอม ปูภูเขา ตัวแลน ตัวอ้น ตัวบ่าง ล้วนเป็นอาหารเลิศรสและมีราคา


ได้กินแล้ว ได้ขายแล้วได้เงินมาแล้ว ก็สบายใจ เว้นวันสองวันขึ้นป่าอีก นี่คือความหมายพอเพียงที่พระอาจารย์พูดถึง หรือใครต่อใครพูดถึง ความพอเพียงนี้จึงมีความหมายเฉพาะ ไม่เหมือน หรือแตกต่างจากความพอเพียงที่ในหลวงท่านทรงพระราชทานมา

รายได้ที่มาจากของป่าจึงไม่มีความมั่นคงแน่นอน ทำไมไม่รู้จักเลี้ยง ปลูก ขยายในพื้นที่ดินของตัวเอง.. เป็นคำถามีที่เราถามตัวเอง และตั้งคำถามชาวไทโซ่มานาน ก็มีบางคนซึ่งเป็นส่วนน้อยที่ทำเช่นนั้น เช่นพ่อแสน หรือกลุ่มผู้นำในเครือข่ายไทบรูเป็นหลัก แต่ภาพรวมนั้นยังน้อยอยู่


เทคโนโลยี่ใหม่ๆที่เราเอาเข้ามาแนะนำเราก็พบว่า เราต้องทำหน้าที่เหมือนเลี้ยงเด็กเล็ก ดูแลอย่างใกล้ชิด อะไรที่ซับซ้อนก็ผิดพลาด และเรียนรู้ช้า หรือปฏิเสธไปเลย แล้วกลับไปทำแบบเดิมๆ ตรงนี้เองแตกต่างจากกลุ่มผู้ไทที่ปรับตัวได้ดีกว่า พยายามเรียนรู้และยกระดับตัวเองเสมอ สำหรับพ่อแสนนั้นเป็นกรณีพิเศษจริงๆของไทโซ่


เหล่านี้คือ กรรมชิน หรือความเคยชินของไทโซ่ที่พระอาจารย์นรินทร์ท่านสรุปเองซึ่งมาตรงกับข้อสรุปของพวกเรา

พระอาจารย์นรินทร์ ท่านสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า “มันเป็นจริตของเขานะ มันเป็นอุปนิสัยของเขานะ…..”

ในแง่ของงานพัฒนานั้น เราไม่ได้ท้อถอย หรือหยุดเพียงแค่นี้ ตรงข้าม เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องหาสิ่งที่คลิกกับกลุ่มไทโซ่ให้ได้ มันท้าทายคนทำงานพัฒนายิ่งนัก แต่ที่รำคาญหัวใจก็คือ เรามักจะขัดคอกับกลุ่มผู้บริหาร หรือคนที่นั่งอยู่ข้างบนเสมอ เพราะเขาไม่เข้าใจ และพยายามไม่เข้าใจ มองอย่างเดียวคือ output ทำไมไม่อย่างนั้น ทำไมไม่อย่างนี้

อธิบายอย่างไรก็ “บ่หัวซา” อิอิ


กรรมชิน 1

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2010 เวลา 13:43 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3244

หลายท่านอาจจะจำภาพนี้ได้ เมื่อเฮ 3 เราไปจัดกันที่อ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เมื่อเดือน พ.ย. 2550 ครั้งนั้นมีโปรแกรมหนึ่งคือขึ้นไปบนภูเขาสูงเพื่อทานอาหารกลางวันและกราบพระอาจารย์นรินทร์ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำน้ำริน



เมื่อต้นสัปดาห์นี้ผมขึ้นไปกราบท่านอีกครั้ง เพราะท่านขอความร่วมมือในการติดตามเรื่องของกรมป่าไม้ที่มาออกเอกสารวัดในป่าให้ท่าน แต่รายละเอียดผิดพลาดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผมติดตามเรื่องให้ท่าน จึงขึ้นไปส่งเอกสารคืนและเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ท่านทราบ

ถือโอกาสคุยกันไปหลายเรื่อง ท่านยังพูดถึงเฮ 3 ว่าญาติโยมมากันเยอะนะ ซึ่งท่านก็ยินดี ท่านพระอาจารย์ยังหนุ่มแน่นเป็นชาวสมุทรปราการ กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของพระอาจารย์สมชาย แห่งเขาสุกิม จันทรบุรีที่โด่งดัง เพราะพระอาจารย์สมชายท่านเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ใครๆที่สนใจพระเกจิอาจารย์ย่อมรู้จักท่านดี…


ผมขึ้นไปกราบท่านคนเดียว วันนั้นท่านก็อยู่รูปเดียว เลยสนทนากันนานกว่าสามชั่วโมง และผมใช้เวลาอีกกว่าสามชั่วโมงระหว่างทางไปถ้ำและลงจากถ้ำ เพราะผมแวะชื่นชมต้นไม้ ธรรมชาติกลางป่าคนเดียว มันเป็นความสุขแบบอธิบายไม่ได้ว่าการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติคนเดียวนั้นเป็นเช่นใด เสียงธรรมชาตินั้นไพเราะกว่าเพลงที่เพราะที่สุดในโลก สีสันธรรมชาตินั้นสวยกว่าภาพที่งามที่สุดในโลก ผมรักธรรมชาติ.

ผมกับพระอาจารย์คุยกันหลายเรื่อง ในที่สุดก็มาลงที่กลุ่มไทโซ่ ที่ท่านเดินลงเขาไปบิณฑบาตทุกวัน และได้อาศัยแรงงานมาช่วยก่อร่างสร้างสำนักสงฆ์ถ้ำน้ำรินแห่งนี้ด้วย ข้อสรุปของท่านคล้ายกับของผมมาก แต่ท่านใช้คำทางธรรมว่า ไทโซ่นั้นมีลักษณะ “กรรมชิน” ตอนแรกผมงง เอ๊ะ ท่านพูดภาษาเกาหลีหรือญี่ปุ่น ฟังไปๆ อ๋อ…เป็นคำที่ได้ยินเป็นครั้งแรกสำหรับศัพท์ตัวนี้


อาว์เปลี่ยน กับผมคลุกคลีกับพี่น้องไทโซ่มานาน และมีสำนึกน้อมนำความเป็นไทโซ่เข้ามาในตัวเราเอง ตามหลักของในหลวงที่กล่าวว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยเรามีความเชื่อพื้นฐานอยู่ก่อนแล้วว่า คนเราพัฒนาได้ แม้ว่าเขาจะเป็นคนป่าคนดง คนชายขอบ หรือจะอยู่ที่ไหนๆก็ตาม เพียงแต่การใช้เทคนิค การใช้เวลา การใช้กระบวนการ วิธีการ แนวทาง อุบาย ฯลฯ อาจจะแตกต่างจากกลุ่มคนอื่นๆบ้าง ก็ขึ้นกับ “การออกแบบ” ของเราผู้เข้าไปเรียนรู้เขานั่นเอง อาจะเรียกมุมนี้ของนักพัฒนาว่า เป็นวิศวกรสังคม หรือ สถาปนิคสังคมก็แล้วแต่

พระอาจารย์นรินทร์: โยม ครูบาอาจารย์ท่านผ่านกลุ่มคนเหล่านี้มาก่อนท่านเรียกว่า ไทยขาว ไทยดำ.. “ไทยขาวหมายถึงกลุ่มผู้ไท ไทยดำหมายถึงไทโซ่” พระอาจารย์ท่านสรุปลักษณะของสองกลุ่มนี้ว่า

ไทยขาวนั้น ขยัน เรียนหนังสือ อดทน รักความก้าวหน้า มีศรัทธาในศาสนา นิยมรักษาศีล เข้าวัดเข้าวามาก น้อมนำคำสอนของพระมากกว่า ผิวพรรณดี ปลูกยางพาราก่อน[(อาจารย์นรินทร์ยกกรณีนายวันชัย พ่ออามาตย์) วันหลังจะเขียนเรื่องนี้]

ส่วนไทยดำนั้น ชอบอยู่ป่า ติดการเข้าป่า พอเพียง ยึดติดประเพณี นิยมให้ทานมากกว่ารักษาศีล นับถือผี และ “กรรมชินหรือความเคยชิน” (ต่อตอนสองนะครับ)


อัสดงที่ดงหลวง

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 17, 2010 เวลา 23:32 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2288


ที่บ้านพังแดง ต.พังแดง อ.ดงหลวง เราเห็นพระอาทิตย์กำลังจะลาลับซีกโลกนี้ไป อดไม่ได้ที่จะหยิบกล้องตัวเก่าของเราขึ้นมาหยุดความงามไว้ที่เวลา 17:59 น.

เราไปพูดคุยกับชาวบ้านในเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวแบบอินทรีย์ และแลกเปลี่ยนเรื่องอื่นๆ


เอาร่มเงาต้นไม้ที่บ้านสวนของชาวบ้านคนหนึ่งเป็นห้องเรียน ใช้งบราชการอย่างไรก็สลัดรูปแบบบางอย่างไม่หมด เพราะเขาต้องเอาไปรายงาน อิอิ เอาเถอะ เน้นสาระที่ควรเกิดขึ้นมากกว่าว่าคุยกันแล้วได้อะไร…

ดีครับเอาชาวบ้านที่ลงมือทำนาทดลองมาเล่าให้ฟังแล้วสอบถามกันแบบถึงแก่น แล้วเอาประสบการณ์ครั้งนี้ไปพิจารณาใช้ต่อไป


บางมุมของชนบทก็ดูมีความหมายลึกๆซ่อนอยู่นะครับ

เลยเอารูปที่ชอบมาฝากครับ


เรียนรู้จากการปฏิบัติ

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 16, 2010 เวลา 21:02 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2947

ยังอยู่ที่พ่อแสนครับ คราวนี้พ่อแสนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ จากการทดลอง แต่ละบทเรียนนั้นมาจากการปฏิบัติเอง ผ่านกาลเวลา แล้วก็ได้ข้อสรุป เก็บเอาไปสอนลูกหลานและผู้ผ่านเข้ามา


หลายปีก่อนผมบันทึกใน G2K ว่า พ่อแสนไล่ตีค้างคาว ภาษาถิ่นเรียก “เจี่ย” บนขื่อบ้านเพราะมันถ่ายและฉี่รดหลังคามุ้ง ที่พ่อแสนนอนในตูบน้อยๆในสวนป่า แต่ตีเท่าไหร่ก็ไม่ถูก อิอิ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมันดี เลยอยู่กับมันซะเลย แต่ป้องกันโดยเอาพลาสติกมาคลุมหลังคามุ้งซะ….

แต่แล้ว..หลายวันต่อมาพ่อแสนมาดูพลาสติกนั้นพบสิ่งที่จุดประกายบางอย่างเกิดขึ้นกับพ่อแสน คือ เห็นมูลค้างคาวจำนวนไม่น้อย อ้าว…มูลค้างคาวมันคือปุ๋ยชั้นดีไม่ใช่หรือ…. และอะไรนั่น สิ่งที่ผสมอยู่ที่มูลค้างคาวคือ ปีกผีเสื้อกลางคืนหลายตัว….

เท่านั้นเองพ่อแสนเปลี่ยนใจที่จะไล่เจี่ย เป็นมีใจรักมัน เชื้อเชิญมัน เพราะปีกผีเสื้อนั้นคือผีเสื้อกลางคืนที่เป็นศัตรูพืชของพ่อแสน และมูลเขาก็คือปุ๋ยชั้นเลิศ พ่อแสน แวบความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนั้นเราอยากให้มันมาอยู่อาศัยมากๆ เราก็จะได้ผู้ที่มาช่วยจัดการผีเสื้อกลางคืน และได้ปุ๋ยสุดเลิศ เราจะทำอย่างไรดีล่ะ

พ่อแสนจึงตัดไม้ไผ่กระบอกใหญ่ๆ เอาข้อปล้องไว้ แล้วเอาไปแขวนคว่ำลง วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นบ้านของเจี่ย และทดลองเอากระป๋องพลาสติกสีดำแขวนแบบคว่ำไว้ด้วย เวลาผ่านไปเป็นปี..ไม่มีเจี่ยเข้าไปพักอาศัยในบ้านจัดสรรที่พ่อแสนสร้างไว้ให้เลย อิอิ.. แต่แปลก มันบินไปนอนหลังคาบ้านลูกสาวในตัวอำเภอ แต่บ้านจัดสรรในสวนป่านี้เจี่ยไม่เลือกที่จะเข้าไปอาศัย…


อาว์เปลี่ยนเคยเล่าไว้บ้างว่า พ่อแสนมีความคิดพิสดารเรื่องคอกหมู ใครๆเขาเลี้ยงหมูหลุม ใครๆเขาเอาขี้หมูไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เอาไปหมักแก๊ส แต่พ่อแสนเลี้ยงหมูในคอกเคลื่อนที่ได้ ความคิดพ่อแสนมาจากการสังเกตว่าหมูหากปล่อยมันไปอิสระ มันก็เข้าไปตามดงหญ้าเพื่อหาอาหารแล้วมันก็เหยียบย่ำหญ้าราบเรียบไปหมด สวนป่าพ่อแสนก็พบว่ามีหญ้าธรรมชาติรกเต็มไปหมด จะไปดายหญ้าก็ไม่ไหว เลยเอาหมูใส่ในคอกที่เคลื่อนที่ได้ ใช้ให้ธรรมชาติของหมูจัดการหญ้าซะราบเรียบ แล้วก็ขยับคอกไปเรื่อยๆ ตามที่ที่มีหญ้ามากๆ…สุดยอดพ่อแสน คิดได้ไง ไม่เคยมีความคิดแบบนี้ออกมาจากนักวิชาการเลย

ปีต่อมาพ่อแสนสั่นหัวแล้วพูดว่า .. ไม่เอาแล้ว ไม่เลี้ยงหมูแล้ว อ้าว…. พ่อแสนอธิบายว่า สวนป่านี้ผมเลี้ยงสัตว์หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ “หอยหอม” หรือ “หอยแก๊ด” มันอาศัยหญ้าที่รกนั่นแหละเป็นที่อยู่อาศัยและหากิน หมูของผมไปกินหอยซะหมดเลย…อิอิ นี่เองพ่อแสนเลือกหอย ไม่เลือกหมู..อิอิ


ตูบน้อยของพ่อแสนนั้นที่เสาทุกต้นจะมีสังกะสีพันรอบ เด็กหนุ่มจบวิศวะมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังถามว่า พ่อแสนเอาสังกะสีมาพันทำไม.. กันหนูขึ้นไปข้างบน กันได้ดีมาก แต่กันจิ้งจกตุ๊กแกไม่ได้…


บทเรียนจาก เจี่ย บทเรียนจากหมูในคอกเคลื่อนที่ บทเรียนจากสังกะสีพันเสา…และ..ฯ มาจากการกระทำกับมือของพ่อแสนทั้งนั้น

หากเอาเด็กน้อย เยาวชนรุ่นใหม่มาเดินให้พ่อแสนเล่านวัตกรรมเหล่านี้ ก็เป็นการต่อยอดความรู้กันเป็นอย่างดี ซึ่งเราทำมาบ้างแล้ว และจะทำต่อไปอีก


บทเรียนจากการปฏิบัติของช่วงชีวิตของพ่อแสนนี้ เด็กรุ่นลูกหลานควรมาซึมซับเอาไปด้วย

อิอิ งานน่ะมีเหลือล้นครับท่าน..แต่หลายคนมองไม่เห็น…


บันทึกของพ่อแสน

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 15, 2010 เวลา 20:20 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 7680

คนไทยเรามักจะมีจุดอ่อนในเรื่องการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ยิ่งเป็นชาวบ้านด้วยแล้วเป็นที่ถอนหายใจของคนแนะนำทั่วไป ยกตัวอย่างการที่หน่วยราชการแนะนำให้ชาวบ้านจดบันทึกรายรับรายจ่ายทุกวัน ที่เรียกว่าบัญชีครัวเรือน พบว่าล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะว่าชาวบ้านไม่ใช่คนที่มีความถนัดในเรื่องบันทึก แม้พวกเรียนหนังสือก็มีน้อยรายที่เป็นคนที่ทำบันทึกอย่างสม่ำเสมอ


เรื่องการบันทึกอุณหภูมิของพ่อแสนนั้น จริงๆผมเป็นคนแนะนำให้พ่อแสนทำการบันทึก เพราะผมเองก็ไม่ได้คิดมาก่อน แต่ที่หมู่บ้านตีนเขาใหญ่ ริมน้ำลำตะคอง ตอนที่ผมและคนข้างกายสำรวจลำตะคองจากต้นสายไปปลายสายหลายปีก่อน พบคุณลุงท่านหนึ่ง จดบันทึกละเอียดยิบถึงอุณหภูมิเอง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ ตลอดปี ตลอดหลายปี และยังเก็บบันทึกปริมาณน้ำฝนแบบง่ายๆอีกด้วย โดยเอากระป๋องนมมาติดบนยอดเสา หากฝนตกก็เอาไปตวงเอาว่าปริมาณเท่าไหร่ ทำแบบง่ายๆ พบว่าหลายปีต่อมาลุงสามารถคาดการณ์ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง หากอุณหภูมิเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น….สุดยอดจริงๆ

ต่อมาผมทราบว่า ข้าว กข. 6 ที่คำชะอีเกิดโรคระบาด ขณะที่อีกหมู่บ้านในอำเภอเดียวกันไม่มีโรคระบาดเลย นักเกษตรเข้าไปศึกษาพบว่า บ้านที่โรคระบาดนั้นเป็นเพราะความชื้นสัมพัทธ์แตกต่างจากบ้านอื่นเพราะหมู่บ้านนั้นตั้งในหุบเขา…?? นักเกษตรจึงแนะนำให้เปลี่ยนพันธุ์ข้าว ก็ได้ผลไม่มีโรคนั้นระบาดอีก เพราะพันธุ์พืช สถานที่ และความชื้นสัมพัทธ์ แน่นอนหมายถึงอย่างอื่นด้วย เช่นความแปรปรวนของอุณหภูมิ ช่วงเวลาที่ปลูกพืช ฯลฯ


พ่อแสนก็เล่าให้ฟังว่า คนอีสานรู้กันโดยทั่วไปว่า เมื่อฤดูร้อนมาเต็มที่ และเกิดฝนตกแต่อากาศร้อนระอุ นั่นเห็ดป่าจะออก ชาวบ้านต่างมุ่งหน้าขึ้นป่าไปหาเห็ด โดยที่ไม่รู้ว่าความชื้นสัมพัทธ์เท่าไหร่ แต่สัญชาติญาณ และประสบการณ์เป็นผู้บอก

ผมจึงซื้อเทอร์โมมิเตอร์แบบง่ายๆที่มีตุ้มแห้งและตุ้มเปียกให้พ่อแสนไปติดตั้งที่สวนและจดบันทึกทุกวัน เช้า เที่ยง เย็น พร้อมทั้งปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆหากมี

พ่อแสนทำได้ดีมาก ไม่คิดว่าเกษตรกรจะมีความพยายามทำได้ขนาดนี้ เราทำแบบฟอร์มไปให้ พ่อแสนจดลงแบบฟอร์มพักใหญ่ก็ทำแบบฟอร์มตัวเองดีกว่า แล้วก็มีเล่มสรุปเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นแยกต่างหากอีกด้วย โดยให้ลูกๆช่วยกันเขียน ลอกจากเล่มต้นฉบับ

อะไรจะขนาดนั้นพ่อแสน..สุดยอดชาวบ้าน



ถังสี่ใบในรูปนั้น คือตู้เก็บเอกสารของพ่อแสน ชาวบ้านที่เอาเถียงนาเป็น Office จะมีที่ไหนเก็บเอกสารได้ วางที่โน่นที่นี่เดี๋ยวปลวกก็กินเอา เดี๋ยวลมฝนมาก็ปลิวหาย ว่าแล้วก็ลงทุนซื้อถังใบใหญ่น้อยมาใส่เอกสารเก็บมิดชิดกันฝนกันปลวก เป็นสัดส่วน แยกประเภท แยกลุ่ม แยกเรื่อง แยกโครงการ คิดได้ไงพ่อแสน…



รูปซ้ายมือข้างล่าง นึกถึงสวนป่าพ่อครูบาฯ ที่เราไปอาศัยร่มไม้นั่งคุยกันแบบง่ายๆ กันเอง ไม่มีพิธีรีตองอะไร ใกล้ชิดธรรมชาติ กาต้มน้ำนั้นคือสมุนไพร จิบไปคุยกันไป จะนั่งท่าไหนก็ตามสะดวก เป็น Small Group Dialogue ที่วิเศษ ถึงแก่น ถึงใจ สาระหลุดออกมาเต็มๆ ไม่มีกำแพงใดๆขวางกั้น



รูปขวามือนั่น พ่อแสนนำชมกล้า “เร่ว” หรือ “หมากเหน่ง” ที่เอามาจากป่ามาเพาะกล้าไว้ ใครซื้อก็ขาย ไม่ซื้อก็เอาไปปลูกในสวน เร่ว นี่ผมเขียนมาหลายครั้งแล้วว่าเป็นพืชป่าตระกูลข่า ผลเร่วมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็น “ส่วย” หรือ “เครื่องบรรณาการ” ที่โบราณหัวเมืองต้องเอาส่งรัฐบาลกรุงเทพฯ 80 หาบต่อปี ดงหลวงคือดงของ เร่วป่า

นอกจากนี้ยังมีเร่วหอม หอมทั้งใบ ต้น ราก หอมจริงๆ เคยเอาให้ป้าจุ๋มไปปลูก ขยายโดย “ไหล” หรือเหง้าของเขา ดูเหมือน สปาในกรุงเทพฯจะซื้อไปใช้เป็นเครื่องหอมอบห้องด้วย ใครอยากได้ ไปดงหลวงครับ…


พ่อแสนซาดิส..อิอิ..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 14, 2010 เวลา 23:10 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 4822

เมื่อพูดถึงพ่อแสน วงศ์กะโซ่ จุดเด่นคือ เรียนรู้ธรรมชาติอย่างลึกซึ้งแล้วดัดแปลงธรรมชาติมาใช้เพื่อสร้างฐานอาหารของตัวเอง และครอบครัว


พ่อแสนเฝ้าเรียนรู้สรรพสิ่ง ต้นไม้ สัตว์ แม้แต่ตัวเอง พ่อแสนจึงมีนวัตกรรมใหม่เสมอ

ผักหวานป่านั้นเป็นพืชซาดิส ใช้มือเด็ดแบบเต็มๆ ไม่ต้องใช้กรรไกรเก็บยอดแบบกลัวช้ำ ไม่ได้..เหมือนกับความรุนแรงหรืออันตรายต่างๆกับต้นผักหวานนั้นไปกระตุ้นให้เขาแตกใบอ่อนมาใหม่

นักป่าไม้เคยพูดเสนอว่า ไฟป่าเกิดขึ้นเพราะชาวบ้านจุดไฟเพื่อกินผักหวาน ความหมายคือ จุดไฟป่าให้ไฟไปลวกต้นผักหวานช่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง แล้วต้นผักหวานจะรีบแตกใบอ่อน ชาวบ้านบางส่วนก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่มีมารยาทขึ้นหน่อยคือใช้คบไฟจุดขึ้นแล้วไปลนตามต้นผักหวาน แล้วทิ้งไว้ ไม่กี่วันก็จะแตกใบอ่อน



คราวนี้พ่อแสนใช้วิธีฟันกลางต้นผักหวานเลย ดังรูป ฟันแบบไม่ให้ขาดแล้วโน้มกิ่งลงมานอนเฉียงๆ เอาไม้ค้ำยันไว้ เท่านั้นเอง ต้นผักหวานก็จะแตกกิ่งอ่อนในแนวตั้งขึ้นหนีศูนย์กลางแรงดึงดูดโลก.. กิ่งอ่อนเกิดใหม่จำนวนมากทีเดียว


นี่เป็นนวัตกรรมใหม่ของพ่อแสน ความจริงที่ทุกคนนิยมปลูกผักหวานจะประสบสถานการณ์เดียวกันคือ ต้นผักหวานจะสูงขึ้น และยากลำบากในการเก็บใบอ่อนที่แตกใหม่ ชาวบ้านหลายคนใช้วิธีทำร้านเป็นชั้นๆ เพื่อใช้ปีนขึ้นไปเก็บใบอ่อน หากเป็นผู้หญิงก็ลำบากที่จะปีนป่ายขึ้นไป


ปัญหานี้พ่อแสนเผชิญมานานแล้ว และพยายามแก้โดยใช้วิธี โน้มกิ่งอ่อนลงมาแล้วเอาเชือกมัด ตรึงให้กิ่งโน้มต่ำลงมาให้ง่ายต่อการเก็บยอดอ่อน ก็ได้ผลระดับหนึ่ง

และพ่อแสนก็ทดลองวิธีอื่นๆต่อไปอีก นั้นก็คือการตัดต้นดังกล่าวข้างบน


เราโชคดีที่ช่วงนี้ผักหวานเริ่มแตกใบอ่อนพอดี เราได้เห็นความสำเร็จการทดลองของพ่อแสนแล้ว


อยู่กับธรรมชาติ เรียนรู้ธรรมชาติ เอาความรู้จากธรรมชาติมาใช้ ตอบแทนธรรมชาติ เพื่อการอยู่รอดแบบพึ่งตัวเองอย่างสมดุลกับธรรมชาติ

พอแสนมิใช่จะเรียนรู้ธรรมชาติแล้วจะประสบผลสำเร็จไปทั้งหมด คราวหน้ามาดูกันว่าพ่อแสนล้มเหลวอะไรบ้าง

ผมตั้งชื่อให้หวาดเสียวเล่น อิอิ




Main: 0.097666025161743 sec
Sidebar: 0.047827005386353 sec