งานสูบน้ำห้วยบางทราย ดงหลวง

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 12, 2009 เวลา 21:52 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2620

บ้านพังแดง เป็นหมู่บ้านไทโซ่ ที่มีที่ตั้งเป็นที่ค่อนข้างราบ เป็นหมู่บ้านขนาดกลาง อาชีพทำนาปี ข้าวไร่และมันสำปะหลังเป็นหลัก ขึ้นป่าเอาของป่ามาเป็นอาหารและเอาไปแลกข้าวบ้าง จากการทำ Feasibility study เมื่อก่อนที่จะมีโครงการนั้นพบว่าเกษตรกรต้องการแหล่งน้ำมาทำการเกษตร แม้ว่าจะมีลำห้วยบางทรายไหลผ่าน แต่ก็มีปัญหาการนำน้ำมาใช้


โครงการจึงตัดสินใจวางแผนก่อสร้างโครงการสูบน้ำเพื่อการชลประทานขึ้น มีพื้นที่รับประโยชน์ 1500 ไร่ ระบบน้ำใช้การสูบน้ำไปเก็บไว้บนถังแล้วปล่อยน้ำไปตามระบบท่อลึกใต้ดิน 1 เมตร ไปโผล่ที่แปลงนาเกษตรกรจำนวน 145 หัวจ่าย เกษตรกรเป็นผู้รับผิดชอบค่ากระแสไฟฟ้าโดยทางราชการจะรับผิดชอบในช่วง 3 ปีแรก แต่ทั้ง 3 ปีนั้นก็เก็บค่าบริการน้ำจากเกษตรกรทุกเดือนตามมิเตอร์น้ำเหมือนระบบประปาในเมืองในอัตรา ลบม.ละ .65 บาท เก็บเป็นกองทุนไว้ เมื่อปีที่ 4 เกษตรกรก็ต้องรับผิดชอบเต็มร้อยเปอร์เซนต์


รูปซ้ายมือนั้นคืออาคารสูบน้ำเมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ มีเครื่องสูบน้ำสองชุด เป็นระบบอัตโนมัติได้ และ Manual ได้ระบบไฟฟ้าเหมือนระบบที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์
(ดีซะไม่เมี๊ยะ….ดีเกินไป…)

รูปขวามือนั่นแหละคือปัญหา A คืออาคารสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยบางทราย B คือถังเก็บกักน้ำก่อนปล่อยเข้าสู่ระบบท่อ เพราะที่ตั้งอาคารอยู่ตรงทางโค้งทางฝั่งซ้ายของลำห้วยบางทรายเมื่อฤดูน้ำหลากมาถึง น้ำก็พัดพาเอาทรายตามธรรมชาติไหลมาด้วย ซึ่งก็ไหลเข้ามาถมทับหัวสูบน้ำ ตามรูปด้านล่างซ้ายมือ


ปริมาณทรายที่ถมทับนั้นมากมายใช้แรงงานคน ประมาณสองวันเต็มๆ ที่เหน็ดเหนื่อย ขั้นตอนการเอาทรายออกก็ต้องนั่งเรือข้ามฝั่งเอาถุงปุ๋ยที่ซื้อมาจากเมืองไปใส่ทรายบนตลิ่ง ใส่เรือนำข้ามฝั่งมาวางซ้อนทับกันเป็นเขื่อนแล้วสูบน้ำภายในอาคารหัวสูบน้ำออก แค่นี้ก็ค่อนวันเข้าไปแล้ว จากนั้นก็เปิดลูกกรงเหล็กลงไปที่อาคารหัวสูบน้ำค่อยๆตัดทรายทีละกระป่อง จนเอาทรายที่ถมทับหัวสูบน้ำออกหมด..


ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างก็มาร่วมใช้แรงงานกัน ใครติดธุระไม่ได้มาก็เอาไก่ต้มมาแทน วัยรุ่นหรือลูกหลานที่กำลังหนุ่มแน่นก็เป็นแรงงานหลักต่างมาช่วยกันเต็มที่


เหนื่อยก็ล้อมวงกินข้าวเหนียวที่เตรียมมา เนื้อที่เป็นโปรตีนคือ หนูป่าย่างหอมกรุ่น.. ชาวบ้านเหนือยอย่างนี้ทุกปี จนมาสรุปบทเรียนว่า ปัญหานี้ควรแก้ไข โดยการทำหัวสูบน้ำยื่นออกไปกลางลำห้วยบางทราย เพราะตรงนั้นน้ำไหลตลอดจะไม่มีทราย ทางวิศวกรราชการมาดูหลายครั้ง ก็ยังไม่ได้แก้ไขอย่างใด

ชาวบ้านอ่อนใจที่ระบบถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้เตรียมแก้ปัญหาสิ่งนี้ ทุกปีก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งจะต้องระดมแรงงานมาขุดลอก คนที่นั่งอยู่กรุงเทพฯก็คิดว่า “ราชการสร้างให้แล้ว แค่นี้ชาวบ้านก็ช่วยๆกันหน่อยซิ…” อุปสรรคนี้เป็นประการหนึ่งที่ทำให้การใช้ประโยชน์จากโครงการไม่เป็นไปตามที่โครงการคาดหวัง…

ประเด็นคือ ที่สถานที่อื่นที่สามารถตั้งอาคารสูบน้ำได้โดยไม่เกิดปัญหาทรายมาถมทับหัวสูบน้ำ
นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนอื่นๆอีก เช่น ปลายท่อระบบน้ำไม่มีทางเปิดออก, น้ำที่ปล่อยลงท่อแม้จะมีตัวกรอง แต่ตะกอนขนาดเล็กก็หลุดไปตามท่อได้ ก็จะไปจับตัวที่มิเตอร์วัดปริมาณการใช้น้ำ ทำให้เกิดไม่หมุน ก็ไม่ทราบปริมาณการใช้น้ำ ท่อรั่ว แกนวาล์วเปิดปิดน้ำที่เครื่องสูบน้ำเป็นเหล็กหล่อ เกิดหักขึ้นมา ผ่านไปเกือบปีแล้วยังไม่ซ่อม…ฯ

ระบบที่ซับซ้อน ดีเกินไปนั้นเมื่อถ่ายโอนให้อบต. จะสามารถดูแลได้มากน้อยแค่ไหน.. งานแบบนี้หากอยู่ภายใต้ระบบราชการก็ยากที่จะคล่องตัวในการบำรุงรักษา แค่บริหารจัดการระบบก็หนักอึ้งแล้ว ยังต้องมาบริหารชาวบ้านให้มาใช้ประโยชน์อีก…

แค่โครงการสูบน้ำนี้โครงการเดียวก็ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์… มิเช่นนั้นงบที่ลงทุนไปครึ่งร้อยล้านบาท ก็จะเป็นซากอีกแห่งหนึ่งของระบบที่มีเจตนาดี แต่ไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ


ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 2

อ่าน: 3865

การพัฒนาแก่ง จุดเริ่มของปัญหา..?

เมื่อฤดูฝนผ่านไปน้ำในแม่น้ำชีลดลง ก็ดึงเอาน้ำในแก่งละว้าไหลออกเป็นปกติที่ห้วยจิบแจงและห้วยปากผีแป้ง เกษตรกรจึงมีความเห็นว่าควรสร้างทำนบกั้นการไหลออกที่ห้วยจิบแจง แต่พบว่ากำลังของชาวบ้านไม่สามารถสร้างทำนบที่แข็งแรงได้ สร้างขึ้นมาก็พังทลายทุกปี จึงเสนอทางราชการเข้ามาพิจารณาก่อสร้างอย่างแข็งแรงต่อไป


เรื่องนี้ตกไปอยู่ที่ อบจ.ขอนแก่น ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับผิดชอบและมีความชำนาญเฉพาะด้านอย่างกรมชลประทานควรเข้ามารับผิดชอบ กรมชลจึงออกมาสำรวจรายละเอียดแล้วจัดทำการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำตามที่ชาวบ้านเสนอให้แล้วยังจัดทำคันดินรอบแก่งละว้า ทำนบดินเป็นชนิด Homogeneous Type
สันทำนบดินกว้าง 6.00 เมตรยาว 7/668.25 กม. ไม่มีระบบส่งน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีอาคารทิ้งน้ำ (River Outlet) อาคารระบายน้ำล้น (Service spillway) ทางระบายน้ำฉุกเฉิน (Emergency Spillway) ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 2,920 เมตร

เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จ สภาพน้ำในแก่งละว้าก็เริ่มผิดปกติไปจากเดิม ปริมาณน้ำไหลเข้าลดลง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรอบแก่งละว้ามากขึ้น

เมื่อทรัพยากรน้ำแก่งละว้าถูกแย่งชิง..

นานแสนนานมาแล้วที่ชาวบ้านต่างอพยพมาจากต่างถิ่นเข้ามาตั้งรกรากรอบแก่งละว้าแห่งนี้ เพียงเพื่อใช้ทรัพยากรน้ำทำมาหากินไปตามวิถี แต่แล้ววันหนึ่งน้ำแห่งนี้ถูกแบ่งไปให้ชาวเมืองอย่างเทศบาลบ้านไผ่โดยการชักน้ำใส่ท่อยาม 15 กม.ไปทำประปาในปริมาณมากมายต่อวัน เมื่อกรมชลประทานมาก่อสร้างทำนบกั้นน้ำไหลออกจากก่งละว้า ชาวบ้านต่างชื่นชม แต่เมื่อสร้างคันดินรอบแก่งด้วย

วัตถุประสงค์ที่ทางราชการตั้งไว้คือ



1 ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบของกิจการประปา อ.บ้านไผ่ ในอัตรา 99,000 ม.3/วัน น้ำจำนวนนี้รวมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในเขตเทศบาล

2 ใช้เป็นแหล่งแพร่-เพาะและขยายปลาน้ำจืด รวมทั้งราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงจะได้ใช้เป็นแหล่งจับปลาได้ด้วย
3 ราษฎรและสัตว์ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่รอบหนองสามารถจะอาศัยใช้น้ำในหนองเพื่อการอุปโภคบริโภค ในฤดูแล้ง - ประโยชน์โดยทางอ้อม - ราษฎรที่อาศัยอยู่รอบๆ หนองสามารถจะซักน้ำในหนองไปใช้ในการเพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งเท่าที่ปริมาณน้ำต้นทุนจะอำนวย
4 อาจใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับโรงงาน และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะตั้งขึ้นในอนาคต
5 ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของราษฎรที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง


เมื่อท่านเห็นวัตถุประสงค์นี้แล้วท่านคิดอะไร…..

น้ำในแก่งละว้าที่ชาวบ้าน 40 หมู่บ้านได้กินได้ใช้มานานแสนนานกลับกลายเป็น น้ำแก่งละว้าเพื่อคนในเทศบาลบ้านไผ่ไปแล้ว ส่วนเพื่อเกษตรกรนั้นเอกสารราชการกล่าวว่า …”ต้องพิจารณาน้ำต้นทุนที่จะอำนวยก่อน….”

หากท่านเป็นชาวบ้านตาสีตาสาที่รอบแก่งละว้านี้

ท่านคิดอะไรบ้าง และจะทำอะไรบ้าง….???!!!

ขอบคุณแหล่งข้อมูล http://www.rid6.net/~khonkaen/MidProject/Lawa/Lawa.htm

http://ridceo.rid.go.th/khonkhan/datamid/pm_lawa.html


เห็ดเรืองแสง..

16 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 24, 2009 เวลา 22:29 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 7350

วันนี้โครงการมีการสัมมนาเกษตรกรผู้นำกิจกรรมด้านการเกษตรสาระต่างๆในดงหลวงทั้งหมด 40 คนมาคุยกันตามแผนงาน ก็เป็นกึ่งรูปแบบทางการตามระเบียบราชการที่มีกฎระเบียบกำกับ..


ผมไม่พูดสาระการประชุมนะครับ แต่มีสาระที่เกิดขึ้นระหว่างการคุยกันช่วงพัก อย่างที่ผมกล่าวถึงบ่อยๆว่าพี่น้องดงหลวงนั้นวิถีชีวิตเขานั้นพึ่งพิงป่าสูงมาก


วันนี้มีอดีตข้าราชการท่านหนึ่งมาสารภาพว่าอดีตของท่านนั้นคือนายพรานล่าสัตว์ป่ามาขาย เพราะเงินเดือนครูนั้นนิดหน่อย พอแค่ส่งลูกเรียนหนังสือเท่านั้น ต้องเข้าป่าล่าสัตว์หารายได้เพิ่ม ไม่ลงรายละเอียด

มีสิ่งหนึ่งที่อดีตนายพรานกล่าวว่า โอ กลางคืนผมก็ไป เอาไฟฉายไป หมาตัวหนึ่ง ผมได้สัตว์ทุกครั้ง เพราะผมยิงแม่น ไม่ว่าปืนแก็ป อาก้า หรือ เอ็ม16 ก็ตาม ผมยิงแม่น แม้ปัจจุบันนี้..??

บ่อยครั้งผมไปกลางคืนเห็นเห็ดเรืองแสง... ผมหูผึ่งเลย จึงถามรายละเอียดว่ามันเป็นอย่างไรเห็ดเรืองแสง… มีทั้งเห็ดที่เราฉายไฟไปแล้วเรืองแสงออกมา และที่มืดๆก็เรืองแสงออกมา พวกนี้เป็นเห็ดพิษทั้งนั้น กินไม่ได้ มันก็แปลกดีนะครับว่าเห็ดมันเรืองแสงได้


แสงของเห็ดสีอะไรครับ… สีนวลๆเหมือนไฟฉายเรานี่แหละ พบบ่อย

มีอดีตสหายป่าท่านหนึ่ง บอกว่า สมัยอยู่ป่านั้นเราจะเดินทางโยกย้ายที่พัก หรือปฏิบัติการกลางคืนกัน แม้มีไฟฉายแต่เราไม่ใช้เพราะจะเสียลับ เราจะใช้เห็ดเรืองแสงเหล่านี้แหละ เอามาติดข้างหลังเสื้อบ้าง เป้บ้าง แล้วจึงเดินทางไปมืดๆ คนเดินข้างหลังก็เห็นเราว่าเดินไปทางไหนเพราะเห็ดเรืองแสงนี่แหละ…


ผมสนใจจึงตามไปหาครู Goo ได้ความรู้เพิ่มเติมมาว่า ที่คณะเกษตรฯ มข.มีคณาจารย์ศึกษาประโยชน์ของเห็ดเรืองแสงมาหลายปีแล้ว และพบว่าสามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ที่มักเป็นศัตรูการปลูกมะเขือเทศ

ในต่างประเทศ เห็ดเรืองแสงในสกุลอื่นๆ มีสารบางชนิดที่สามารถบำบัดโรคมะเร็ง และยับยั้งการดื้อสารแอนตี้ไบโอติกส์ได้

เอกสารของ มข. ยังกล่าวว่า เห็ดเหล่านี้เปล่งแสงได้โดยไม่ปล่อยความร้อนออกมา ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ไบโอลูมิเนสเซนซ์

ผมอยากทำงานด้านค้นคว้าพืชป่าที่จะมีประโยชน์แก่มนุษยชาติจริงๆ เพราะยังมีอีกมากมายที่เราไม่รู้จักคุณค่าของเขา แม้เห็ดพิษเรืองแสงนี้ ก็มีอีกมากมายหลายชนิดที่เรายังไม่ได้ศึกษา…

——————–

แหล่งข้อมูลและรูป : http://www.darasart.com/webboard/Question.asp?GID=3277 ; http://ora.kku.ac.th/res_kku/Abstract/AbstractView.asp?Qid=766385826; http://board.212cafe.com/viewcomment.php?aID=7007494&user=roverden30&id=25&page=2&page_limit=50



เมฆทะมึนกับรุ้งสวย..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 4, 2009 เวลา 22:47 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2817

หลังจากประชุมกับราชการช่วงเช้า บ่ายประชุมทีมงาน แล้วเดินทางกลับขอนแก่น ประชุมอีกพรุ่งนี้


เราฝ่าฝนก้อนใหญ่ ดำทะมึน น่าเกรงขาม


เมื่อเราผ่านอุโมงค์เมฆฝนก้อนมหึมาแล้ว ฟ้าก็ใสแดดส่อง ผมมองกระจกข้างคนขับ เห็นรุ้งในกระจกสวย จึงหยุดรถแล้วเก็บภาพมาฝาก


นานแล้วที่ไม่ได้เห็นรุ้งเต็มวงของเขา (ครึ่งวงกลม) เสียดายที่กล้องผมจับได้แค่ที่เห็น สวยมากครับสีแจ่มชัด ใหญ่ แม้เสาไฟจะเกะกะไปหน่อย แต่ก็หามุมยาก เอาเท่าที่ได้ครับ.
.


วัฒนธรรมการบริโภค กับการผลิตพืชเศรษฐกิจ (1)

อ่าน: 2775

เรื่องกินเรื่องอยู่นั้นไม่น่าจะเป็นเรื่อง แต่ก็เป็นเรื่อง โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการกินการอยู่ และการดำรงชีวิต

หลายปีก่อนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทย์ศาสตร์ร่วมกับคณะนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา ทำการศึกษาสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับของคนอีสาน ค้นพบว่าเพราะวัฒนธรรมการบริโภคของคนอีสานนั้น กินดิบจึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมาก อาหารที่ชาวอีสานกินดิบนั้นสารพัดอย่าง รวมไปถึง หอยน้ำจืด ซึ่งทางชีววิทยาพบว่า หอยนั้นเป็น Host ของพยาธิชนิดหนึ่งในวงจรชีวิตเขา เมื่อคนอีสานกินดิบ โอกาสที่พยาธิจะเข้าไปในร่างกายก็เกิดขึ้นได้ และพยาธิชนิดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับ

แม้แต่ท่านอาจารย์ที่รักเคารพของผมท่านหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าภาพวิชาโภชนาการ มข. ก็เสียชีวิตเพราะมะเร็งตับ ซึ่งท่านก็บอกว่า ก็กินมาตั้งแต่เด็กๆ มาเข้าใจเอาตอนโต เรียนหนังสือแล้ว แต่พยาธิมันเข้าไปอาศัยในร่างกายนานแล้ว และมาแสดงผลเอาตอนอายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว…. นี่คือเรื่องวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่ง…

คนใต้ ไปอยู่ไหนๆก็ต้องมองหาร้านอาหารปักษ์ใต้ ก็แกงเหลือง แกงไตปลา ขนมจีนแบบปักษ์ใต้ คั่วกลิ้ง ฯลฯ…..มันหร้อยจังฮู้.. ที่บ้านก็ต้องหามากินบ่อยๆหากคุณเธอไม่มีเวลาทำเอง…

ผมเองก็ติดน้ำพริก ผักสดหรือผักลวกก็ตาม สารพัดชนิดชอบมั๊กมั๊ก…. สมัยก่อนหากกลับบ้านก็ต้องให้แม่หรือน้องสาวทำปลาร้าทรงเครื่อง ที่มีผักพื้นบ้านเต็มถาด จะเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในโลกนี่เป็นวัฒนธรรมบริโภคของคนประจำภาค ประจำถิ่น …เพราะติดในรส ที่ถูกฝึกมาทั้งชีวิตตั้งแต่เด็กๆ

ผมมาอยู่ดงหลวงถิ่นชนเผ่า ไทโซ่ มีที่ตั้งชุมชนติดภูเขา ที่เรียกว่ามีระบบภูมินิเวศแบบเชิงเขา ชาวบ้านก็จะมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงป่าสูงมาก กล่าวกันว่า ทุกคนทั้งหญิงและชายจะต้องขึ้นป่า ด้วยจิตวิญญาณ..

ดังนั้น ผมเคยขึ้นป่ากับชาวบ้าน พบว่าชาวบ้านเตรียมแต่ข้าวเหนียวไปเอามีดไปและเครื่องครัว อาหารการกินไปหาเอาข้างหน้า เช่นลงไปในลำห้วยก็ได้เขียด ได้หอยป่า ได้ปูภูเขา อาจจะได้ปลามา หากโชคดีก็ได้สัตว์ป่า ซึ่งเหลือน้อยเต็มทีแล้ว แล้วก็มาทำกินกันแบบลูกทุ่ง เอาใบไม้มารองอาหาร การหุงข้าวหากไม่ได้เอาหม้อไป หรือเอาหม้อที่ซ่อนไว้ในป่า ก็ไปตัดไม้ไผ่ปล้องใหญ่ๆมาผ่าครึ่งแล้วก็หุงข้าวในนั้น

นรินทร์ เยาวชนรุ่นใหญ่ดงหลวงคนหนึ่งบอกว่า อาจารย์…เวลาเข้าป่าเขาหุงข้าวด้วยปล้องไม้ไผ่ ข้าวหอมมากๆ น่ากิน ช้อนก็ไม่จำเป็นต้องเอาติดตัวไปก็ได้ ใช้มือเรานี่แหละ หากวันนั้นมีต้มมีแกงก็ไปหาใบไม้สารพัดชนิดที่ใกล้ตัว เด็ดมาห่อทำเป็นช้อนตักน้ำแกงซดกิน ใบไม้บางชนิดเมื่อโดนความร้อนมันก็หอม อร่อย… และที่สำคัญ เราก็ติดใจในรสอาหาร และธรรมชาติของป่านั้น…

ไม่ว่าวัยรุ่นวัยเฒ่าแค่ไหนวิถีชีวิตก็ขึ้นป่า…หากินกันแบบนั้น.. ผมเคยตั้งคำถามนรินทร์ เยาวชนรุ่นใหญ่ดงหลวงว่า

..บ่อยครั้งแค่ไหนที่เข้าป่า นรินทร์ตอบว่า “อย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละหนึ่งครั้งโดยเฉลี่ย เพราะไปหาอาหารป่า หรือก็ขอให้ได้เข้าป่า แม้จะไม่ได้อะไรติดมือมาเลยก็ตาม….

ไปคนเดียวผมก็ยังไปเลย แรกๆก็กลัวๆกล้าๆ นานไปกลับสนุก กลางคืนก็ไปคนเดียว นอนกลางป่าเลย… (ต่อตอน 2)


ช้างแดง

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 15, 2009 เวลา 19:27 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 5581

เอาดอกกล้วยไม้ช้างแดงมาฝาก

เขาหอมเหมือนช้างกระ ช้างเผือก ช้างพลาย สีแดงเข้มจนออกดำ

เป็นของหายาก ต้นนี้ซื้อมาจากงานเกษตรอีสานปีก่อนโน้น…


ปลา และ อีกา 2

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 4, 2009 เวลา 15:24 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3469

เวลาที่ทำความรำคาญและสร้างความโกรธแค้นเจ้าอีกามากที่สุดก็ช่วง พอเราเอาปลาเค็มไปตากแดดในกระด้ง กระจาด ตะกร้า หรือแผ่นสังกะสีบ้าง เพื่อผึ่งให้แห้ง ก่อนที่จะเก็บ อีกามักจะบินลงมาเกาะที่ลูกกรงชานบ้านนับสิบๆตัว แล้วก็บินโฉบเอาปลาของเราไปกินหน้าตาเฉยเลย.. แถมถ่ายมูลรดหลังคาบ้าน ชานบ้าน ลูกกรงชานบ้านขาวไปหมด พ่อต้องเอาฝาชีมาครอบ เอาแหเก่าๆที่ขาดมาคลุม แต่ก็ไม่วายถูกแย่งอยู่เสมอๆ

เสียงอีกาจะหายไปตอนพลบค่ำแล้วไปส่งเสียงดังที่ต้นไม้ใหญ่ที่วัด และเช้ามืดมันก็จะมาปลุกเราตื่นแต่เช้าตรู่อีก ช่วงเวลากลางวันเราต้องมากลับปลาที่พึ่งไว้นั้นให้อีกด้านถูกแดดด้วย หรือมาดูว่าปลาถูกแมลงวันมาหยอดไชขาง(ไข่)ทิ้งไว้ไหม หากพบก็จะเขี่ยออก บ่อยครั้งที่ปลาตะเพียนผ่าซีกของเราในกระด้งอยู่ไม่ครบตัว เพราะอีกาแอบมาเอาไปกินน่ะซี ตกเย็นหมดแดดหากไม่รีบเก็บปลาที่ตากไว้นั้น มดก็จะมาขึ้น เราก็ต้องคอยไล่มด เคาะให้มดออกจากตัวปลาแล้วก็เอาเก็บใส่ปีบ พรุ่งนี้ก็เอาตัวที่ยังไม่แห้งดีออกมาตากใหม่…

ผมไม่ชอบอีกาเอามากๆ คอยแอบยิงเสมอแต่ร้อยครั้งจะถูกสักครั้ง แต่ก็ไม่ตายหรอก ทุกปีผมจะได้กินปลาเค็มที่ทำด้วยปลาตะเพียน มันย่อง เลิศรส เค็มพอดี กับข้าวร้อนๆบ้าง ข้าวต้มตอนกลางวัน หรือไม่ก็แกงผักบุ้งใส่ปลาเค็ม ปลาช่อนเค็มผมชอบกินกับแกงมากกว่า วันไหนที่ผมต้องหาบข้าวอาหารมื้อเช้าไปส่งพ่อ แม่ที่เกี่ยวข้าวกลางนา จะเป็นอาหารที่อร่อยมากๆเพราะกินกันกลางทุ่งนา แต่ไม่ชอบเกี่ยวข้าวเพราะมันไม่สนุก เมื่อย ปวดหลัง และบางทีดินยังไม่แห้งเป็นโคลนต้องย่ำ เปื้อนน่อง เท้า ล้างมันก็ไม่ค่อยออกหมดมันก็จะแตก และหนาว

ผมชอบให้พ่อทำปี่จากปล้องต้นข้าว เป่าแก้มโป่งไปเลย เวลาค่ำเลิกงานนา เดินกลับบ้านจากทุ่งผมชอบดูแสงหิงห้อยนับล้านๆตัว บินอวดแสงที่ก้นมัน แต่ผมมักจะปิดตาแล้วเกาะมือแม่เดินตามคันนากลับบ้านด้วย เพราะกลัวผี.. กลัวงู…

นับตั้งแต่ปี 2509 ผมลงไปเรียนหนังสือที่ฝั่งธนบุรี เป็นช่วงที่เปลี่ยนชีวิตผมครั้งใหญ่ จากเด็กบ้านนอกมาอยู่ในเมืองหลวง เพื่อเรียนหนังสือมุ่งหวังเข้ามหาวิทยาลัย…. ช่วงนั้นจะกลับมาบ้านก็ช่วงปิดเทอมเท่านั้น ชีวิตส่วนใหญ่ก็เริ่มห่างไกลชนบท คลุกคลีกับสังคมเมือง บางเทอมก็ไม่ได้กลับบ้านเพราะทำงานรับจ้างหาเงินบ้าง

เมื่อผมเรียนจบมหาวิทยาลัยเดินทางกลับบ้าน แม่ทำปลาร้าทรงเครื่องให้กิน แกงผักบุ้งปลาเค็มตามคำร้องขอของผม ผมอร่อยในฝีมือแม่ กินจนพุงกาง แล้วถามว่าแม่เอาปลามาจากไหน แม่ตอบว่า ก็ซื้อมาซิลูก.. พ่อเขาไปตลาดก็เลยซื้อมา ซื้อมาหลายอย่าง น้ำปลาด้วย ปลานั่นเป็นปลาเลี้ยงตามบ่อต่างๆ เดี๋ยวนี้เขาขุดบ่อเลี้ยงปลากันแล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว…

เสร็จอาหารมื้อเย็นผมปลีกตัวเงียบๆไปที่โคนต้นก้ามปูใหญ่ต้นเดิมที่สมัยเด็กๆชอบมานั่งเล่นนั้น ผมทวนคำว่าปลาซื้อมา… ผมนึก 10 ปีที่ผมไม่อยู่บ้าน เราต้องซื้อปลากินแล้ว มิน่าเล่าผมไม่ได้ยินเสียงอีกาเลย ผมไม่เคยเห็นอีกาอีกเลย

พรุ่งนี้ผมจะลาจากพ่อแม่กลับไปทำงานพัฒนาชนบทที่ภาคเหนือที่ได้งานหลังเรียนจบแล้ว….

ผมคิดถึงงานพัฒนาชนบทที่เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับบัณฑิตหนุ่มอย่างผม????…

(เป็นบทความที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่ 22 กันยายน 2527 ในสมุดบันทึกส่วนตัว 25 ปีที่แล้ว)


ปลา และ อีกา 1

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 4, 2009 เวลา 15:22 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2749

เมื่อเด็กๆสมัยอยู่ชั้นประถมเป็นวัยที่สนุก เมื่อขึ้นชั้นมัธยมเราต้องเดินไปเรียนหนังสือกันวันละ นับสิบกิโลเมตรไปกลับ แต่มีเพื่อนมากมาย การเดินระยะทางเช่นนั้นจึงไม่ใช่อุปสรรค

แม่ซึ่งมีอาชีพทำนาเลี้ยงลูกๆ 6 คนนั้นต้องตื่นแต่ตี 4 ตี 5 หุงข้าวให้ลูกเมื่อไปโรงเรียนกันแล้วก็อุ้มลูกคนเล็กไปนาจนเย็นค่ำ พ่อเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดใกล้บ้าน พอได้ช่วยแม่บ้างยามว่าง หน้าออกพรรษาประเพณีชาวบ้านก็จะกวนกระยาสารท เตรียมกล้วยไข่บ้างกล้วยน้ำว้าบ้าง เต็มเรือนหมด คัดเอาหวีงามๆไว้ทำบุญพระที่วัด ที่เหลือก็แจกญาติ พี่น้อง บ้านเหนือบ้านใต้ พวกเราก็กินกระยาสารทกันพุงกางทุกวัน

ชีวิตช่วงนี้ชาวบ้านจะเตรียมแห เตรียมยอกัน ใครมีแหก็เอามาปะชุนส่วนที่มันขาด บ้างก็ย้อมน้ำลูกตะโกที่ตำจนละเอียดแช่น้ำ เครื่องมือจับปลาที่เตรียมไว้เพราะหลังออกพรรษานั้นเข้าสู่ฤดูน้ำลด ปลาที่อยู่ในทุ่งนาก็จะออกสู่ลำคลองแม่น้ำน้อย ตามธรรมชาติของเขา

ปลาชุกชุมมากสารพัดชนิด น้ำปลาที่ใช้ประกอบอาหารนั้นไม่ต้องไปซื้อกิน ทุกบ้านจะทำน้ำปลาจากปลาสร้อยกันเอง ชาวบ้านจะใช้แหทอด บ้างยกยอบ้าง เวลาช่วงปลาออกจริงๆมันใช้เวลาแค่สองสามวันแค่นั้นก็หมด ชาวบ้านจะนัดกันมาทอดแหโดยใช้ เรือมาดบ้าง เรือไผ่ม้า บ้าง หรือเรื่ออื่นๆที่มีอยู่ แบ่งเป็นสองกลุ่มสองฟากฝั่งแม่น้ำ 20-30 ลำก็เคยเห็น ดำเต็มแม่น้ำไปหมด…เวลาทอดแหก็จะนัดพร้อมๆกัน เป็นภาพที่ไม่มีอีกแล้ว..

ปลาสร้อยที่ได้มานั้นก็จะเอาใส่ตุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างหมักเกลือปิดฝาให้มิดชิดเอาตากแดดไว้กลางชานบ้านเลย หรือบางบ้านก็ทำร้านเฉพาะก็มี พ่อเล่าให้ฟังว่าสมัยพ่อหนุ่มๆนั้นปลาสร้อยในแม่น้ำน้อยมากจริงๆ ยามที่เราพายเรือไป หากไปโดนฝูงปลาสร้อยเข้ามันตกใจกระโดดเข้าเรือเราเยอะไปหมด แต่สมัยผมนั้นไม่เห็นภาพเหล่านี้อีกแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีปริมาณปลามากอยู่ คนที่ไม่มีแรงงาน หรือไม่มีแหไม่มียอก็จะซื้อปลาสร้อยมาทำน้ำปลาเลิศรสกัน ใช้กินตลอดทั้งปี ไม่ต้องซื้อน้ำปลาขวดที่มาจากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ หรือจังหวัดชายทะเล

นอกจากปลาสร้อยก็มีปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาอื่นๆทุกชนิดเมื่อได้มาเหลือกินมื้อนั้นๆก็เป็นหน้าที่เด็กๆเอามาขอดเกล็ดผ่าท้องเอาไส้ออกทิ้งไป บั้งข้างๆปลา หรือไม่ก็ผ่าซีกครึ่งตัวแผ่ออก เอาเกลือที่ตำจนละเอียดพอสมควรมาทาให้ทั่ว หมักเอาไว้หนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นก็เอาไปล้างน้ำเอาเกลือออก แล้วก็เอาไปผึ่งแดด เพื่อทำปลาเค็ม (สมัยนี้ก็เป็นปลาแดดเดียว) หากว่ามีปลาจำนวนมากก็จะเอามาย่างถ่าน พอสุกได้ที่ก็เก็บใส่ปีบปิดให้สนิท กัน ขี้ขมวน กิน (เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ชอบมาชอนไชกินปลาย่าง)

ทั้งปลาเค็ม ปลาย่าง ทำไว้เพื่อเอาไปใช้ประกอบอาหารในฤดูหนาวที่ต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อเตรียมเขน็ดมัดข้าว ลงมือเก็บเกี่ยวข้าวในนา หรือคุมการเกี่ยวข้าวของลูกจ้าง ขนข้าวจากที่นาเข้าลาน นวดข้าว ฝัดข้าว และเก็บเมล็ดข้าวเปลือกที่ได้ทั้งหมดเข้ายุ้งฉางซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่างานทุกอย่างจะแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นช่วงที่ยุ่งที่สุด ไม่มีเวลาไปหาของกินอื่นๆ ก็ได้ปลาเค็ม ปลาย่างที่ทำไว้นั่นเอง…

จำได้ว่าช่วงฤดูจับปลานี้ ปริมาณปลาที่มากมายในแม่น้ำน้อย และตามทุ่งนาใครมีปัญญาจับปลาด้วยวิธีใดก็ทำได้เต็มที่ ช่วงเวลาทำปลาเค็มปลาย่างนั้นศัตรูที่สำคัญคือ อีกาและเหยี่ยว แต่อีกามีจำนวนมากกว่าหลายเท่านัก มันจะมาเกาะเต็มหลังคาบ้านเวลาเช้าๆแล้วส่งเสียงร้องดังหนวกหูไปหมด ผมเคยเอาหนังสะติกมาไล่ยิงมัน แต่ไม่เคยยิงถูกเลย มันบินหลบเก่งมาก แค่มันเห็นเราเงื้อหนังสะติกมันก็บินหลบไปแล้ว


ปาย..จะเป็นไป..

อ่าน: 2431

หากจะแสดงความเห็นต่อปายในทัศนะคนทำงานพัฒนานั้น ระยะเวลาสั้นๆที่ปายนั้นผมมีความคิดเห็นความเป็นไปบางเสี้ยวส่วนดังนี้


หนึ่ง… ปายมีเสน่ห์มากๆ ด้านกายภาพนั้น ปายเป็นเมืองที่ตั้งในหุบเขาที่ซ่อนตัวหลีกลี้จากเมืองใหญ่ ทำให้ปายคือปายรักษาความบริสุทธ์ เดิมๆ ด้วยธรรมชาติที่สวยงาม มีแม่น้ำปายไหลผ่านกลางเมือง จะดูพระอาทิตย์ขึ้นให้ไปอยู่แถบหมู่บ้านสันติชน หากจะดูพระอาทิตย์ตกดินก็ไปดูที่วัดแม่เย็น มีแหล่งน้ำพุร้อนที่มีคุณค่าทางด้านสุขภาพด้วย ความยากลำบากของการเดินทางไม่ว่าจากเชียงใหม่ไปปาย หรือ แม่ฮ่องสอนไปปาย ถนนเพิ่งจะมีการก่อสร้างเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง แม้มีถนนแต่จากเชียงใหม่ไปปายนั้นมีมากกว่า 900 กว่าโค้ง ความยากลำบากมีส่วนสำคัญที่ชะลอการไหลบ่าของวัฒนธรรมเมือง หรือกล่าวตรงๆคือวัฒนธรรมทุนนิยม จึงทำให้เมืองปายมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่มาก …. แต่วันนี้ไม่ใช่เสียแล้ว

สอง… กลุ่มชนชาวปาย คือความหลากหลาย ของชนเผ่าที่มีวิถีชีวิตอาศัยอยู่ล่างสุดคือคนเมือง ขยับขั้นมาเป็นปกาเกอญอ ขึ้นมาเป็น คนจีนยูนานหรือจีนฮ่อ สูงขึ้นไปคือ ลีซอ และสูงสุดคือ มูเซอร์ โดยเฉลี่ยภาพรวม ต่างอยู่ด้วยกันอย่างสงบ ไม่มีปัญหาระหว่างกัน แต่ละชนเผ่าก็มีวิถี มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่อยู่ร่วมกัน วัฒนธรรมที่โดดเด่นที่เป็นจุดขายปายที่สำคัญคือกลุ่มชนชาวจีนที่หมู่บ้านสันติชน โดยเฉพาะร้านอาหารชาวจีนที่สร้างด้วยดิน ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สินค้าบางอย่างที่มาจากเมืองจีน หมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินที่เมื่อขึ้นไปแล้วมองได้เกือบทั่วปาย ฯลฯ ลีซอ สร้างหัตถกรรมที่สวยงาม ฯลฯ ทุกชนเผ่ามีการเกษตรที่เป็นความถนัดของตนเอง และเป็นอาหารเพื่อบริโภค และขาย ด้วยสภาพธรรมชาติที่ดี อุดมสมบูรณ์

สาม… ถนนคนเดินกลางคืน แม้ว่าเหมือนกับไนท์บาร์ซาร์ที่เชียงใหม่ที่ทำมานานแล้ว เหมือนตลาดกลางคืนของหลวงพระบาง ฯ แต่ถนนคนเดินที่ปายมีความเป็นท้องถิ่นที่ยกระดับมาเป็นอินเตอร์มากขึ้นอย่างค่อนข้างกลมกลืน โดยเฉพาะมีอาหารท้องถิ่น มีขนมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่มีที่อื่น ใครๆก็อยากชิม อยากลอง จนติดใจและเป็นจุดขายได้ หรือการทำน้ำดื่มง่ายๆ เช่นน้ำตะไคร้ น้ำขิง ฯลฯ ใส่หม้อดิน อุ่นขาย เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เป็นสีสัน ของถนนคนเดิน

สี่… การเงินเดินสะพัด โดยเฉพาะช่วงวันหยุด ต่างๆ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีจนถึงวันอาทิตย์ ที่พักตั้งแต่ราคา 100 บาทจนถึงคืนละ 4,000 บาท เต็มหมด จนล้น ชาวปายต่างดัดแปลงที่ดินเป็นอาคารเพื่อให้เช่ามากมาย เมื่อคนจำนวนมากไปรวมกัน เรื่องการใช้ชีวิตปกติ แต่ไม่ปกติก็ไหลหลั่งเต็มๆ เช่นการกิน การเดินทาง การซื้อบริการต่างๆ แม้ว่าจะเป็นสองมุมของการพัฒนาที่จะเจริญแบบสร้างสรรค์ หรือเจริญแบบทำลาย แต่บทเรียนที่มีมากมายที่คนปายเรียนรู้ และคงน้อมนำมา สร้างปายที่เหมาะสมได้

ห้า… ศาสนา ดูเหมือนว่าการท่องเที่ยวได้ส่งผลกระทบทั้งดีและไม่ดีต่อระบบศาสนาในพื้นที่อำเภอปายแห่งนี้ เพราะวัดมีสถานที่ตั้งบนเนินที่สวยงาม และมีสิ่งก่อสร้างที่บ่งชี้วัฒนธรรมล้านนาผสมชนเผ่าต่างๆ สวยไปอีกแบบ และมีความหมายในทางศาสนาคติ ความเชื่อ…. เมื่อคนหลั่งไหลมาส่วนหนึ่งก็ไปกราบพระที่วัด ชื่นชมศิลปวัฒนธรรม และที่วัดส่วนหนึ่งก็กลายเป็นตลาดของกลุ่มแม่บ้านที่เอาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมาวางขาย ภาพที่ผมประทับใจมากๆคือ แม่อุ้ยท่านมานั่งหน้าโบสถ์ คอยบอกกล่าวนักท่องเที่ยว และทำความสะอาดโดยใช้ไม้กวาด ทุกๆ ครั้งที่นักท่องเที่ยวทำพื้นสกปรก นอกจากนี้ข้อมูลความเป็นมาเป็นไปทางประวัติศาสตร์ก็ถูกบอกผ่านแก่นักท่องเที่ยวด้วย กำอู้ของกลุ่มคนเฒ่า เอกสาร และแผ่นป้ายที่สรุปเรื่องราวไว้… ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย เช่น กรณีวัดน้ำฮู เกี่ยวกับพระนางสุพรรณกัลยา เป็นต้น

หก… ที่น่าตกใจ คือการไหลบ่ามาของนักท่องเที่ยวนั้น ปัจจุบันมันเกินกว่าพื้นที่จะรับได้ (ผมประเมินเอง) ผมสอบถามเจ้าของที่พัก เจ้าของร้านค้าบางแห่งบอกว่า คนที่มามากมายนี้ก็แค่ 4-5 ปีมานี่เอง ปากต่อปาก และการที่ท้องถิ่นพยายามจัดงานท้องถิ่นขึ้นมา น่าเป็นห่วงมากๆเรื่องการมาของการท่องเที่ยวที่จำนวนมากเกินพอดี…. เหมือนที่เราเคยพูดกันว่าน่าห่วงหลวงพระบาง…

เอาแค่นี้ก่อน จะเดินทางแย้วววว


พระจันทร์ร้องไห้…ที่ปาย..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 2, 2008 เวลา 8:09 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 3336

เราตระเวนปายตามแผนที่ที่เราได้มาจากขอนแก่น หลายที่ เช่นไปไหว้พระที่วัดน้ำฮู หมู่บ้านคนจีน น้ำตก หมอแปง โป่งน้ำร้อนท่าปาย สะพานประวัติศาสตร์ กองแลน วัดเย็น แล้วมาค่ำที่วัดหลวงกลางเมืองปาย

เรากะว่าเอารถไปจอดไว้หน้าโรงพยาบาลปายที่คุณหมอสุพัฒน์ kmsabai อยู่ที่นี่ แล้วเราก็เดินไปชมวัดหลวงแล้วเลยกินข้าวกลางเมืองปายแล้วเที่ยวอีกรอบถนนคนเดิน

ค่ำสลัวๆแล้วแต่เราก็ยังเดินเข้าวัดหลวง จึงรู้ว่าที่นี่เป็นลานจอดรถ เพื่อให้คนเอามาจอดใกล้ถนนคนเดิน เราเห็นพระเจดีย์สวยงาม จึงเดินเข้าไปถ่ายรูป แม่ลูกก็เดินชมรอบๆพระเจดีย์ แล้วลูกสาวก็เห็นพระจันทร์ยิ้ม โอยสวยจัง…..เราก็กดซะหลายรูป ทั้งๆที่ไม่มีขาตั้งกล้อง ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่มีก็เสียหายไปแล้ว ต้องใช้มือนี่แหละ

ถ่ายรูปเสร็จก็เดินออกไปหาข้าวพื้นเมืองกินสมใจอยาก ระหว่างนั้นคนในตลาดเริ่มพูดกันถึงพระจันทร์ยิ้มแล้ว

เราอิ่มข้าวก็เดินชมสินค้าอีก ทีนี้เสียงโทรศัพท์มากันลั่นปายเลย ชักชวนให้ดูพระจันทร์ คนข้างกายก็โทรบ้าง มีญาติพี่น้องที่ไหน กี่คน บอกโม้ดดดด

แต่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าชมมากครับ

รูปนี้เป็นพระจันทร์ร้องไห้ เพราะ พธม.ตายอีกแล้ว..

เด็กน้อยแก้มยุ้ย  อิอิ



Main: 0.070508003234863 sec
Sidebar: 0.063431024551392 sec