ดอกไม้ที่ Queen Emma ทรงโปรดปราน…

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 4, 2008 เวลา 8:48 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 9124


วันก่อนผม post ดอกไม้รวมมิตรขึ้น แล้วน้องราณีถามผมว่าดอกนั้นชื่ออะไร ดอกนี้ชื่ออะไร โดยเฉพาะดอกที่ทำลูกศรชี้นั่น ผมจำชื่อไม่ได้ และติดอยู่ในใจว่าชื่ออะไรหนอ พอมีเวลาสั้นๆจึงไปค้น file เก่ามาดูและหยิบพจนานุกรมดอกไม้ประดับในเมืองไทยของท่านอาจารย์ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ปรมาจารย์ดอกไม้ประดับของเมืองไทยมาตรวจสอบ โป๊ะเช๊ะ……รู้แล้ว น้องราณี….


เธอชื่อดอกพลับพลึงครับ….อ๋อ….

เมื่อไปดูข้อมูลก็พบว่าพลับพลึงมีหลายชนิด เช่น พลับพลึงตีนเป็ด พลับพลึงหนู พลับพลึงแมงมุม และพลับพลึงเตือน (บางชื่อเป็นภาษาท้องถิ่น)


(เป็นพลับพลึงที่บ้าน รูปเก่าที่ถ่ายเก็บไว้เมื่อปีก่อน)

พลับพลึงสีแดงม่วงนี้เรียกว่า พลับพลึงแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Crinum augustum ชื่อสามัญ คือ Crinum Lily มีขนาดใหญ่ ลักษณะต้นเป็นกอกลุ่มใหญ่ ใบเป็นรูปหอกปลายแหลม ขอบใบเรียบสีเขียว ผิวเนื้อใบอ่อนนุ่ม หนาเหนียว ดอกออกปีละครั้งประมาณเดือน กันยายน-ตุลาคม ดอกเป็นช่อใหญ่ ก้านดอกชูมาจากกลางกอ ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 15-25 ดอก กลีบดอกแคบเรียบยาว มี 6 กลีบต่อหนึ่งดอก เมื่อบานเป็นที่กลีบดอกจะงองุ้มเข้าหาก้านดอก เกสรยาวยื่นออกมากลางดอก ด้านบนเป็นสีม่วงอ่อน หรือชมพู กลีบด้านล่างสีแดงเข้ม มีกลิ่นหอม เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา

ที่บ้านมีสองกอใหญ่ เอาดอกมาปักแจกันหอมฟุ้งไปทั่วบ้านเชียว


(เป็นพลับพลึงที่บ้าน ปลูกไว้ในกระถางไม่ได้เอาลงดิน)

รูปร่างเด่นสวยนี้ชื่อพลับพลึงเตือน หรือพลับพลึงเตือนตา ชื่อวิทยาศาสตร์เขาคือ Crinum rubra หรือชื่อสามัญแสนไพเราะว่า Cinderella Lily ลักษณะที่แตกต่างจากพลับพลึงแดงคือ ต้นเล็กกว่า กอเล็กกว่า ก้านดอกมีดอกเดียว ดอกมีสีขาวเป็นรูปดาวที่มีหลายแฉก มีกลีบยาวยื่นออกมาจากตัวดอกอีก 6 กลีบ เมื่อบานเต็มที่กลีบยาวนี้จะม้วนงอโค้งเข้าหาก้านดอก กลางดอกมีเกสร 6 เส้น มีกลิ่นหอมอ่อน ออกดอกกลางฤดูฝน เป็นของอเมริกาใต้

(รูปนี้เอามาจาก google photos)

สีแดงสดนี้คือ พลับพลึงใหญ่ หรือพลับพลึงดอกแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Crinum amabille ชื่อสามัญ Milk-And-Wine Lily หรือ Higanbana Lily มีถิ่นกำเนิดที่ลุ่มทั่วไป หรือตามชายฝั่งน้ำจืดของทวีปเอเชีย ส่วนตัวผมไม่เคยเห็นพลับพลึงสีนี้ครับ สำหรับท่านที่ชอบสีแดงนั้น พลับพลึงดอกนี้คงอยู่ในใจท่านแน่ๆ สวยจริงๆ


(ดอกนี้ผมถ่ายมาจากภูเก็ตช่วงที่ไปเฮฮา 4 ที่พักมีกอพลับพลึงอยู่เลยไม่พลาดที่จะเก็บเอามาชื่นชมครับ)

ราชินีของพลับพลึงต้องดอกนี้ เรียกว่า พลับพลึงแมงมุม ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Hymenocallis Caribaea ชื่อสามัญ คือ Spider Lily ก้านดอกจะมีประมาณ 4-8 ดอก จะทยอยกันบานทีละ 2-3 ดอก แต่ละดอกจะมี 6 กลีบสีขาวนมสด กลีบดอกจะเรียวยาวประมาณ 13 ซม. เมื่อดอกบานเต็มที่ปลายกลีบจะงอโค้งเข้าหาก้านดอก เกสรมี 6 เส้นตอนปลายจะเป็นสีเหลือง หรือสีน้ำตาล มองดูคล้ายแมงมุม ออกดอกเป็นระยะตลอดปี

ปลูกในร่มรำไร และกลางแจ้งแสงแดดจัด ชอบดินปนทรายมีความชุ่มชื้นตลอดเวลา

คุณสมบัติทางสมุนไพรของพลับพลึงพบว่า มีการนำมาต้มดื่มทำให้อาเจียน(ไม่ใช่แก้อาเจียน) แก้เคล็ดขัดยอก แก้น้ำดีพิการ ใบเอามาย่างไฟพันแก้ฟกช้ำ บวม เคล็ดขัดยอก ใช้อยู่ไฟหลังคลอด หัวมีรสขมในอินเดียใช้เป็นยาระบาย ขับเสมหะ ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี

ทราบว่าธุรกิจสปานำดอกพลับพลึงสกัดเอากลิ่นมาใช้ และเป็นที่นิยมกันมากด้วย….

ราชินีของพลับพลึงคือ Spider Lily สุดสวยนี้มีถิ่นเดิมที่หมู่เกาะอินดีส เป็นดอกไม้ที่โปรดปรานของพระราชินีเอมม่าแห่งประเทศกรีก จึงได้ชื่อภาษากรีกว่า “Krion” ชาวสเปนเรียก “Liriod cinata”

สำหรับผมรักหมดเลย กลัวเขาเสียใจ อิอิ..

ท่านละครับชอบดอกไหนครับ…

(ข้อมูลจาก Google Photos และ พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ ของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)


ปรากฏการณ์นกกะปูด

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 3, 2008 เวลา 0:27 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 4439

ที่ตั้งเมืองในอีสานหลายแห่งอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่เลือกสถานที่เช่นนี้ ประโยชน์เกิดขึ้นมากมายจนถึงปัจจุบัน เมืองดังกล่าว เช่น ขอนแก่น โคราช นครสวรรค์ อุดรธานี ร้อยเอ็ด……

ที่ขอนแก่นเองมีแหล่งน้ำซึ่งเป็นที่ลุ่มอยู่รอบเมือง เช่นตะวันตกกมีหนองโคตร ทิศใต้มีบึงแก่นนคร ทิศเหนือมีบึงทุ่งสร้าง ตะวันออกมีบึง…. แหล่งน้ำขนาดใหญ่เหล่านี้ในสมัยโบราณเป็นแหล่งน้ำอุบโภค บริโภค ใน ปัจจุบันพัฒนาเป็นแหล่งพักผ่อน สวนสาธารณะ เป็นแหล่งรับน้ำเสีย น้ำทิ้ง น้ำโสโครกของตัวเมืองทั้งหมด 

และที่สำคัญอีกประการปนึ่งคือเป็นแก้มลิง… รองรับน้ำส่วนเกินยามฝนตกมาก เขื่อนอุบลรัตน์จำเป็นต้องระบายน้ำทิ้งเพราะเกินกำลังความสามารถในการเก็บกัก  หรือระบายตามหลักการจัดการน้ำเพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำใหม่ที่ไหลเข้ามาตลอด ยามเกิดมีพายุใหญ่เข้าช่วงปลายฤดูกาลฝน น้ำก็จะท่วมบึงทุ่งสร้าง เจิ่งนอง ภาพข้างบนนั้น บริเวณว่างๆนั้นคือแหล่งรับน้ำดังกล่าว

บริเวณบึงทุ่งสร้างนี้เป็นที่สาธารณะ ยามฤดูแล้งก็เป็นที่เลี้ยงวัวควายของชาวบ้าน (เมืองรุกหมู่บ้านเดิม)ของหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อเป็นที่สาธารณะก็เป็นที่หมายตาของกลุ่มคนยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือไม่มีที่พักอาศัย เริ่มเข้ามาสร้างเพิงเล็กๆ จาหนึ่งหลังเป็นสอง เป็นสาม….

เทศบาลเมืองขอนแก่นไหวทันจึงเข้ามาจัดการไม่อนุญาตให้คนยากจนเหล่านั้นเข้ามาพักอาศัย แต่ผมไม่ทราบว่าเขาจัดการทางออกให้กลุ่มคนเหล่านั้นอย่างไร  แต่เศบาลก็เอาแทรกเตอร์ใสขุดร่องน้ำใหญ่รอบขอบบึงเพื่อสร้างอุปสรรคในการที่คนจะเข้าไปอีก

การกระทำดังกล่าวเกิดผลหลายอย่าง ขอกล่าวในสิ่งที่ผมคิดว่าดี คือ เมื่อเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีวัวควายเข้ามาอีก ไม่มีชาวบ้านบุกรุกเข้าไปสร้างเพิงพัก นานวันเข้าต้นไม้ก็เติบโต สารพัดชนิด ตั้งแต่ไมยราบยักษ์ ไปจนถึงต้นจามจุรี  โดยเฉพาะจามจุรี ใหญ่เอ๊า ใหญ่เอา  รอบๆรั้วบ้านจัดสรรที่ผมอาศัยอยู่ติดบึงนี้ ต้นไม่สารพัดเล็กใหญ่ เติบโตตามธรรมชาติของเขา บ่อยครั้งที่เห็นชาวบ้านมาเก็บเอาไปกิน บ่อยๆ เด็กๆก็มายิงกะปอมบ้าง  ….

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนและชนิดต้นไม้ในบึงแห่งนี้คือ สัตว์ มีมาอยู่อาศัย และมากขึ้น  มากขึ้น ต่างบ่งบอกการมาอยู่โดยการส่งเสียงให้ผู้อาศัยในบ้านจัดสรรแห่งนี้ได้เสพสุขตั้งแต่เช้ามืดยันค่ำมืด  ทั้งที่อยู่อาศัยประจำ จนถึงผู้มาเยือน แล้วจากไป

หนึ่งในผู้อยู่อาศัยประจำคือนกกะปูด  สองสามคู่…

วันนั้นฝนตกหนัก ต้นมะขามหวานเตี้ยๆใต้ต้นจามจุรีที่ผมปล่อยให้ต้น “มันสามสี” ที่ผมขอแบ่งเอามาจากชาวบ้านดงหลวง เอามาปลูกใว้หลังบ้าน งอกงามเลื้อยขึ้นไปปกคลุมต้นมะขามหวานจนมองไม่เห็นต้นมะขามเลย กลายเป็นพุ่มใหญ่  นี่คือบ้านจัดสรรของเจ้ากะปูด ตัวนี้  วันนั้นเขาเปียกฝน เมื่อฝนหยุดเขาก็โผล่ออกมาตรงช่อง สลัดน้ำฝน แล้งยืนผึ่งขนปีกอยู่พักใหญ่ เมื่อเขารู้ตัวว่าเราแอบมองเขา และถ่ายรูปเขา ก็หลบเข้าไป

นกกะปูดจะอยู่ในพื้นที่ที่มีความอุดมของสัตว์เล็กสัตว์น้อยทั้งหลาย เพราะนกกะปูดจะกินสัตว์เล็กๆ …

การปรากฏตัวของนกกะปูด แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่บึงทุ่งสร้าง หลังบ้านพักผม..



Main: 0.069094896316528 sec
Sidebar: 0.093225002288818 sec